Emo

Article Guru

ประวัติศาสตร์อีโมฉบับกะทัดรัด ย้อนดู 4 ยุคทอง ตั้งแต่เกิดจนฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

  • Writer: Malaivee Swangpol

ไม่ว่าตอนนี้จะชิค ๆ คูล ๆ กันขนาดไหน หลาย ๆ คนน่าจะเคยมีช่วง ’emo’ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย กับยุครุ่งเรืองของวงอย่าง Jimmy Eat World, Weezer, Story of the Year, Thursday, At The Drive-In, Fall Out Boy, My Chemical Romance ยุคที่ทาตาดำ หวีผมเป๋ เจาะจมูก เจาะปาก แต่พอถึง พ.ศ. นี้ ช่วงเวลาเหล่านั้นก็เหมือนจะผ่านมานานแล้ว เราขอพาย้อนไประลึกกันซักหน่อย ว่าอีโมจริง ๆ คืออะไร เกิดมาจากไหน และตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

กำเนิดอีโม (80s)

ยุค 80s เป็นยุคแรกที่ดนตรีอีโมแตกแขนงออกมาจากดนตรีฮาร์ดคอร์ เริ่มจากในปี 1984 Hüsker Dü วงร็อกจากมินนิโซต้าที่ไปเซ็นสัญญากับค่ายทางฝั่งแคลิฟอร์เนีย ปล่อยอัลบั้ม Zen Arcade ที่ฉีกแนวไปจากดนตรีฮาร์ดคอร์ที่พวกเขาเคยเป็น ออกไปเป็นอัลเทอร์เนทีฟร็อก/เมโลดิกโพสต์ฮาร์ดคอร์ สร้างแนวทางใหม่ให้ดนตรีฮาร์ดคอร์ ทั้งการเพิ่มความไพเราะลงไปในดนตรี และการเขียนเนื้อร้องที่พูดเรื่องส่วนตัวมากขึ้น โดยในปีเดียวกันนั้นเองที่วอชิงตัน ดีซี วง Rites of Spring ผู้เบื่อหน่ายความรุนแรงในซีนดนตรีฮาร์ดคอร์ก็หันมาเขียนเพลงที่พูดเรื่องภายในจิตใจแทนการก่นด่าสังคมอย่างที่วงในซีนดนตรีฮาร์ดคอร์ทำ ใส่เมโลดี้กีตาร์มากขึ้น และทำเพลงให้ยาวขึ้น ซึ่งอีกวงที่เดินตามแนวทางนี้อย่างรวดเร็วคือ Embrace ทั้งสองวงเป็นผู้ทำให้เกิดชื่อเรียก emotional hardcore ในซีนดนตรีฮาร์ดคอร์ของวอชิงตัน ดีซี จากนั้นย่อมากลายเป็นอีโมคอร์ และเป็นอีโมในที่สุด

จริง ๆ แล้วอีโมไม่ได้เป็นชื่อที่ดีนักในตอนนั้น วงดนตรีส่วนมากไม่ได้ต้องการที่จะโดนเรียกว่าเป็นอีโม เพราะจริง ๆ แล้วคำนี้เหมือนเป็นคำเอาไว้แซะวงที่ทำเพลงฉีกออกไปจากแนวเดิม แถมยังมาพูดเรื่องอารมณ์ ความอ่อนแอ ฯลฯ จนเกิดการล้อเลียนด่าทอจากพวกฮาร์ดคอร์สายทรู จนทำให้มีนักร้องอีโมยุคนั้นบางคนถึงกับร้องไห้ออกมากลางเวที นอกจากนี้ในยุคนั้นยังไม่มีการจำกัดความชัดเจน ว่าจริง ๆ แล้วอีโมคืออะไร แถมยุคนั้นยังเป็นยุคก่อนอินเทอร์เน็ต เลยทำให้แต่ละเมืองในสหรัฐอเมริกาจำกัดความอีโมออกมาแตกต่างกัน

จนในปี 1985 วงในซีนฮาร์ดคอร์ได้ร่วมกันสร้างแรงกระเพื่อมจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Revolution Summer’ ช่วงแห่งการคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ อย่างการเพิ่มสำเนียงที่แปลกใหม่ลงไปในเพลง รวมถึงการกระตุ้นให้คนในซีนหันมาสนใจการถกเถียง การเรียนรู้สิทธิมนุษยชน และการออกไปแสดงจุดยืนทางการเมือง

โดยในช่วงนั้น Dischord ค่ายของ Ian MacKaye จากวง Embrace ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่เพลงอีโมในยุคนั้น ซึ่งต่อมา Guy Picciotto จาก Rites of Spring และ MacKaye ก็ไปตั้งวง Fugazi ซึ่งถึงแม้วงจะไม่ใช่อีโม แต่กลายเป็นว่า Fugazi เป็นแรงบันดาลใจให้ซีนดนตรีใต้ดินอย่างมาก อย่างเรื่องการต่อต้านการแสวงหากำไรที่ทำให้พวกเขาขายบัตรคอนเสิร์ตในราคาแค่ 5 ดอลลาร์​และขายซีดีแค่ 10 ดอลลาร์เท่านั้น

ระลอกสอง (90s)

ยุคนี้เป็นยุคที่อีโมปรากฏสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยแต่ละวงจะมีแนวทางเป็นของตัวเอง ซึ่งทุกวงก็ได้ร่วมวางรากฐานไว้ให้กับดนตรีอีโมในยุคนี้ขึ้นมา ซึ่ง Sunny Day Real Estate จากซีแอตเทิลผู้ผสมซาวด์กรันจ์และโปรเกรสซีฟร็อกลงไปในเพลง และ Jawbreaker ที่มากับซาวด์พังก์ ก็ถือเป็นเรือธงของยุคนี้ที่ทำให้ดนตรีอีโมเข้าใกล้ความเป็นเมนสตรีมมากขึ้น อีกเหตุผลที่ทำให้อีโมยุค 90s เริ่มเป็นที่นิยม ต้องขอบคุณ Nevermind จาก Nirvana ที่ทำให้ซีนดนตรีใต้ดินทั่วสหรัฐอเมริกาเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีทัวร์​ มีการวางจำหน่ายซีดีไปทั่วประเทศ

ใน ซาน ดิเอโก้ วง Antioch Arrow และ Swing Kids รับแนวทางของ Rites of Spring มาทำให้หนักหน่วง ดุดันมากขึ้น เพิ่มเสียงตะโกนและว้ากลงไปในเพลง จนกลายมาเป็นแนวเพลง screamo ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้สร้างแนวทางให้กับวงรุ่นต่อมาอย่าง Thursday, The Used, Silverstein ฯลฯ

American Football,​ The Get Up Kids และ Dashboard Confessional ก็คือหนึ่งในวงที่เป็นหัวหอกให้กับดนตรี emo ยุค 90s เช่นเดียวกัน คำว่า Midwest Emo มาจากบ้านเกิดของพวกเขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมักจะมีอากาศหนาว ซึ่งแนวเพลงนี้ก็ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ โดยอีกจุดสังเกตเด่น ๆ คือ วงเหล่านี้จะเล่นดนตรีที่ซอฟต์ลงจากยุค 80s มาก ๆ จะเริ่มเป็นสายเกาคอร์ด ริฟฟ์กีตาร์ซ้ำ ๆ เดินเบสง่าย ๆ กับร้องก็ไม่ได้ดีมาก คือมีความเป็นวงดนตรีเด็กมหาลัยสุด ๆ

ในขณะเดียวกันที่ใน ซาน ฟรานซิสโก เมืองที่วงพังก์อย่าง Green Day และ Rancid เข้าสู่ดนตรีเมนสตรีม Jawbreaker ก็รับเอาทั้งสำเนียงพังก์และจิตวิญญาณฮาร์ดคอร์ที่เกิดขึ้นใน ‘Revolution Summer’ มาสร้างแนวดนตรีอีโมในแบบของตัวเอง ซึ่งพวกเขาก็ได้เขียนเนื้อเพลงที่พูดเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ และการก่นด่าตัวเอง จนเป็นต้นแบบในกับวงอีโมรุ่นต่อมา

หลังจากนั้นอีโมก็เหมือนเป็นซีนของเด็กที่รู้สึกแปลกแยกจากสังคม พวกเขาเปิดอกรับ Weezer ซึ่งทำให้เพลงแบบลูเซอร์เขิน ๆ และเซนส์การแต่งตัวเฉิ่ม ๆ ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในเอกลักษณ์ของอีโม ยิ่งไปกว่านี้ พวกเขายังยอมรับอัลบั้ม Pinkerton ซึ่งดาร์กแบบสุด ๆ  และคนเมนสตรีมไม่ชอบใจเลย

ยุคเมนสตรีม (00s)

มิลเลนเนียมคือยุคของวงอีโมเมนสตรีมอย่าง Thursday หรือ At The Drive-In ที่เติบโตมาในซีนใต้ดิน แต่กลายเป็นว่า mv ของพวกเขาได้รับความนิยมมากในรายการโทรทัศน์ หรืออย่างเพลงของ Dashboard Confessional ที่ฮิตในวิทยุ ส่วน The Middle จาก Jimmy Eat World ถึงกับติดชาร์ต Top 10 เพลงยอดนิยม

สิ่งที่สำคัญของวงเหล่านี้คือ พวกเขามีซาวด์ที่แตกต่างกันมาก อย่าง Dashboard Confessional ก็มาทางอะคูสติก​ Coheed And Cambria ยำดนตรีอีโมไปรวมกับเรื่องราวแฟนตาซีและดนตรีโปรเกรสซีฟร็อก ขยายซีนดนตรีอีโมให้ไปสู่สายกีตาร์ฮีโร่ Anniversary และ the Faint นำซินธีไซเซอร์เข้ามา หรือจะเป็น Atreyu และ Avenged Sevenfold ที่เอาซาวด์เมทัลเข้ามาผสม

เริ่มมีเว็บไซต์ออกมาพูดกันไปในทำนองที่ว่า ‘อีโมน่ะตายไปแล้ว’ ทำให้มีการเอาแนวดนตรี screamo มายัดเยียดใส่วงอย่าง The Used และ Senses Fail เพียงแค่เพราะว่ามีเสียงว้ากในเพลง เหล่าวงใต้ดินจึงหนีไปนิยามตัวเองว่า skramz แทน screamo แต่อย่างไรก็ดี ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในปี 2002 อีโมกลายเป็นแนวดนตรีฮิตระดับชาติไปแล้ว โดยหลังจากนั้น 3 ปี ก็ถึงจุดที่อีโมกลายเป็นสินค้าอย่างเต็มตัว ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่วงอีโมมาครองไลน์อัพในงานที่เคยมีแต่เด็กพังก์อย่าง Warped Tour ส่วนเทศกาลดนตรีอย่าง The Bamboozle ก็พิสูจน์ว่าอีโมเป็นแนวดนตรีที่แข็งแรงพอจะจัดเฟสติวัลได้ อย่างไลน์อัพของปี 2005 ก็ประกอบไปด้วย Paramore, Fall Out Boy, The Academy Is…, The All-American Rejects, Underoath, Saosin, Plain White T’s, Funeral For A Friend และอีกมากมาย

นอกจากนี้ ในปี 2006 My Chemical Romance ก็เริ่มโด่งดังจนขายตั๋วคอนเสิร์ตในฮอลล์ขนาดยักษ์หมดเกลี้ยง แถมอัลบั้ม The Black Parade ก็ขายได้กว่า 240,000 ก็อปปี้ตั้งแต่สัปดาห์แรก Fall Out Boy ก็ไต่ชาร์ตเพลงด้วยซาวด์เมโลดิก ฮาร์ดคอร์และป๊อปพังก์ ซึ่งทั้งอัลบั้ม From Under the Cork Tree (2005) และ Infinity On High (2007) ก็ขายดีเป็นเทน้ำเท่า หรือจะเป็น Underoath วงอีโมรุ่นใหญ่ในตอนนั้น ก็ได้ซึ่งเปิดทางให้กับวงร็อกคริสเตียนไปต่อในวงการเพลงด้วยอัลบั้ม They’re Only Chasing Safety (2004) 

ในปี 2005 การทาอายไลเนอร์ดำและการย้อมผมก็เป็นกระแสไปทั่วอินเทอร์เน็ต  เด็กวัยรุ่นพากันมาใส่เสื้อวงที่ตัวเองไม่รู้จักด้วยซ้ำ ทั้งนี้น่าจะเพราะอัลบั้มของวงอีโมก็เริ่มเข้าไปอยู่ในร้าน Hot Topic ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา จนมีคำเหยียด ๆ การแต่งตัวอีโมตามกระแสว่าเป็นพวก mall punk ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในยุคนี้ วงอีโมต้องมีทั้งลุคและทั้งเพลงที่เป็นที่จดจำ ซึ่งเหมือนจะหลุดไปจากผู้บุกเบิกเรื่อย ๆ เรื่องจิตวิญญาณการไม่ค้ากำไร แต่ถ้าพูดกันเรื่องซาวด์​ ก็ยังมีส่วนที่เชื่อมกันอยู่อย่างมาก

ฟื้นคืนชีพ! (10s)

หล้งจากต้นยุคมิลเลนเนียม กระแสอีโมเมนสตรีมจะค่อย ๆ ตกลงไปเรื่อย ๆ วงหัวหอกแห่งยุคอย่าง Paramore, Fall Out Boy, Panic! At The Disco หมุดหมายสำคัญของยุค ก็ฉีกแนวไปจากเดิมจนภาพจำอีโมเลือนหายไปเกือบหมด ย้ายไปทำเพลงป๊อป นิวเวฟ อิเล็กทรอกนิก ฯลฯ อย่างอัลบั้ม Save Rock And Roll ของ Fall Out Boy ที่เพิ่มซินธิไซเซอร์และซาวด์อิเล็กทรอนิกเข้ามา ก็เหมือนจะไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจแฟน ๆ ซักเท่าไหร่ และอีกประเด็นคือ วงดัง ๆ อย่าง My Chemical Romance, Alexisonfire และ Thursday ก็วงแตกไปเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ดี ความหวังก็ยังมีอยู่ ในปี 2010 เริ่มมีกระแสของวงอีโมใต้ดิน โดยวงอย่าง Snowing และ Algernon Cadwallader ได้ปลุกกระแสอีโมขึ้นมาอีกครั้ง

ซาวด์ของวงยุค emo revival มักจะมาพร้อมกับความ DIY เพราะพวกเขาซึมซับซาวด์ของดนตรีอีโมยุค 90s อย่างวง Cap’n Jazz, Braid และ American Football มาอย่างเต็มที่ ซึ่งในยุคนั้นวงเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมอีกแล้ว การที่วงรุ่นใหม่หวนกลับมาเล่นแนวอีโมเก่า ๆ เลยกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ซึ่งอีโมยุคนี้ก็ยังคงคอนเซ็ปต์การนำเอาซาวด์ดนตรีแนวอื่นมาผสม อย่าง The Front Bottoms มากับซาวด์อะคูสติก​ The World Is a Beautiful Place & I Am No Longer Afraid to Die วงอีโม-โพสต์ร็อก, Into It. Over It. ที่ผสมความเป็นเมโลดิกร็อกลงไปในเพลง หรือจะเป็น Citizen ที่ใช้ซาวด์ดุดันอย่างวงรุ่นก่อนอย่าง Brand New แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาทั้งหมดก็ยังคงร้องเพลงที่มีเนื้อหาส่วนตัวอย่างการระลึกความหลัง ไปจนถึง coming of age คล้าย ๆ กับอีโม 3 รุ่นที่ผ่านมา

เมืองหลักในกระแสครั้งนี้คือฟิลาเดลเฟีย บ้านเกิดของวงอย่าง Modern Baseball และ Marietta รวมถึง Snowing และ Algernon Cadwallader ผู้ปลุกกระแสอีโม ซึ่งนอกจากวงจากฟิลาเดลเฟียแล้ว ก็ยังมีวง Tiny Moving Parts, Turnover, Touché Amoré, Tiger Jaws, the Hotelier ฯลฯ ร่วมฟื้นคืนชีพครั้งนี้ด้วย

โดยการฟื้นคืนชีพครั้งนี้ก็มีการถกเถียงกันเล็กน้อย เนื่องจากวงและสื่อบางเจ้าก็ออกมาแสดงจุดยืนในทำนองว่า ‘อีโมไม่ได้ตายไปไหน พวกคุณแค่เลิกสนใจมันเท่านั้นแหละ’ ‘มันไม่ใช่การฟื้นคืนชีพ มันคือการที่อยู่ดี ๆ สื่อก็หันมาสนใจอีโม จบนะ’ ‘ก็แค่เด็กมิลเลนเนียลอีโมโตขึ้นเท่านั้นเอง มันไม่ได้ตายไปซะหน่อย’ ซึ่งการถกเถียงครั้งนี้น่าไม่จะหาผู้แพ้ผู้ชนะได้ เราก็เลยต้องรอดูกันต่อไปว่า ในทศวรรษต่อไป เขาจะเรียกอีโมว่าอะไรกันบ้าง

รู้หมือไร่

หลาย ๆ คนอาจเห็นการเรียกดนตรีอีโมว่าโพสต์-ฮาร์ดคอร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ผิดอะไร เพราะโพสต์-ฮาร์ดคอร์หมายถึงดนตรีที่มีรากฐานมาจากฮาร์ดคอร์ ไม่ว่าจะเป็นอีโม, สครีโม, ป๊อป พังก์จ้า

ชวนอ่านต่อ

Gerard Way ฟรอนต์แมนแห่งวงอีโม My Chemical Romance กับบทบาทนักเขียนการ์ตูนอัจฉริยะที่หลายคนไม่เคยรู้

 

อ้างอิง
THE SECRET HISTORY OF EMO MUSIC
The Bamboozle
Midwest emo
WHAT IS EMO, ANYWAY? WE LOOK AT HISTORY TO DEFINE A GENRE
Zen Arcade
Emo
Emo
Post-Hardcore – A Definition
3 Reasons The Emo Revival Is Bullshit
Emo Revival Heroes Algernon Cadwallader Are Back (In Print)
Rites of Spring and the summer that changed punk rock
Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่