Article Guru

Another Side of Album Cover : เรื่องราวของปกอัลบั้มที่เป็นมากกว่าแค่หน้าปก

  • Writer: Geerapat Yodnil

ยังจำครั้งสุดท้ายที่ซื้ออัลบั้มเพลงกลับไปฟังได้อยู่รึเปล่า แล้วถ้าถามต่อว่าตอนนั้นซื้อด้วยเหตุผลอะไรจะมีใครตอบว่าซื้อเพราะปกสวยบ้างไหม? ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ใช่ยุคอนาล็อกรุ่งเรือง (1960 – 2000) หรือประชากรนักฟังเพลงหลายหมื่นล้านจะหันเหเทใจไปให้ iTunes หรือ Spotify ไปแล้ว แต่เราก็ยังเชื่อว่าจะต้องมีคนที่ฝันถึงการไปหอบซีดี (หรือไวนิล) เป็นกอบเป็นกำอย่างบ้าคลั่งจากร้านอย่าง Tower Records หรือ Disk Union อยู่แน่ ๆ และหน้าปกอัลบั้มที่สวยจะยังคงมีพลังต่อผู้ซื้อเสมอแม้ว่าพวกเขาหรือเธอจะไม่รู้จักเพลงที่ซ่อนอยู่ในนั้นแม้แต่น้อยเลยก็ตาม

เรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมันก็เต็มไปด้วยสีสันและดูสนุกสนานไม่แพ้กับตัวปกเลย เราจะพาไปดูเรื่องราวจุดกำเนิดของหน้าปกอัลบั้มเพลงทุกชิ้นบนโลกผ่านการขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน

ถ้าเปรียบพฤติกรรมการซื้อเพลงฟังเป็นการกินอาหารในช่วงยุคอนาล็อกรุ่งเรือง พวกเขาหรือเธอก็คงเป็นคนที่จะต้องเดินไปจ่ายตลาดเพื่อทำกับข้าวกินที่บ้าน แต่สำหรับผู้คนในยุคดิจิทัล ทุกคนกลับมีตู้หยอดเหรียญอยู่ในบ้านที่หน้าตาอาจต่างออกไป แต่ปลายทางของรสชาติแทบไม่ต่างกันพร้อมเอาใส่ปากทุกเมื่อ

1940 บิดาแห่งหน้าปกอัลบั้ม Alex Steinweiss

alex-steinweiss

สิ่งแรกที่คุณควรจะได้รู้ก่อนอะไรทั้งสิ้นคือที่มาของคำว่า อัลบั้ม นั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 1920 (33 ปีหลังจากที่ฟอร์แมตแรกของโลกอย่างไวนิลถูกคิดค้นสำเร็จในปี 1887) โดยได้แนวคิดมาจากหนังสือภาพถ่าย (photo album) ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมบรรจุภัณฑ์ซองแผ่นเสียงถึงเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างที่เราเห็นกันมาตลอด แต่การมาถึงของลวดลายบนหน้าปกอัลบั้มไม่ได้มาพร้อมกันในปีนั้นเลยหรอกนะ มันเกิดขึ้นในบรรทัดที่เรากำลังจะเล่าต่อไปหลังจากนี้ต่างหาก

ปี 1939 Columbia Records ค่ายเพลงใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกได้รับ Alex Steinweiss เด็กหนุ่มวัย 23 ดีกรีการศึกษาจาก Parsons School of Design (โรงเรียนศิลปะชื่อเสียงเจิดจ้าที่เต็มไปด้วยศิษย์เก่าอัจฉริยะมากมายเช่น Marc Jacobs และ Rob Zombie) ผู้เคยเป็นนักวาดภาพประกอบให้กับ PM Magazine ตั้งแต่อายุ 17 เข้ามาเป็น art director ด้วยความสามารถที่ไม่สามารถปล่อยให้เดินผ่านไปเฉย ๆ ได้ แต่สิ่งที่โคลัมเบียไม่มีทางรู้ได้เลยคืออเล็กซ์กำลังจะเปลี่ยนโลกแห่งศิลปะของเสียงเพลงไปตลอดกาล

หนึ่งปีหลังจากการทำงานในโคลัมเบียของอเล็กซ์ (1940) ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แผ่นเสียงกลายเป็นที่นิยมโดยคนหมู่มากในทันที ไวนิล ณ เวลานั้นอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า 78 rpm records เป็นไวนิลรุ่นแรกที่มีสามารถจุเพลงหน้า A side และ B side ได้ไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น) พร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเพียงซองกระดาษสีน้ำตาลหยาบ ๆ มีรูตรงกลางเพื่อโชว์ label และรายละเอียดต่าง ๆ เช่นชื่อเพลง หรือชื่อศิลปินบนตัวไวนิลนั้น ๆ ด้านงานกราฟฟิกก็จะโดดเด่นเรื่องการจัดเลย์เอาต์ของฟอนท์ (ซึ่งสวยและชดช้อยมาก แนะนำให้ไปหาภาพประกอบจากเน็ตมาดูกัน) ที่มาคู่กับภาพสัญลักษณ์ของบริษัทบันทึกเสียง เช่น RCA ก็จะเป็นรูปสุนัขนั่งมองเครื่องเล่นแผ่นเสียง Capital Records ก็จะเป็นรูปยอดตึกบริษัทที่ทรงสง่า หรือบางทีก็อาจจะมีรูปหน้าศิลปินเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง จบ  

แต่สิ่งที่อเล็กซ์มองเห็นในตัวของงานกราฟฟิกบนปก 78 rpm คืออีกมิติที่ควรจะไปได้ไกลกว่านี้และจะต้องเป็นตัวเขาเองที่พาไป

%e0%b8%9b%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%a5%e0%b8%81-b

อเล็กซ์เริ่มต้นวางเลย์เอาต์ใหม่ทั้งหมดซึ่งต่างจากขนบเดิมอย่างสิ้นเชิง เขาให้ค่ากับการวาดภาพประกอบซึ่งเดิมเป็นสิ่งที่ตนถนัดอยู่แล้ว มากกว่าเลย์เอาต์ของตัวอักษร โดยอารมณ์ของภาพวาดนั้นได้แรงบันดาลใจมากจากงานศิลปะบนโปสเตอร์ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ส่วนตัววัตถุหลักของภาพมาจากโรงละครในนิวยอร์คที่ชื่อ Marquee Theater’ จนในที่สุดก็เกิดเป็นอัลบั้มแรกของโลกที่มีหน้าปกอัลบั้มในชื่อ Smash Song Hits By Rodgers & Hart ของ Rodgers and Hart ศิลปินคู่หูดูโอเทพนักแต่งสกอร์ประกอบหนังและละครเวทียุค 30s ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนในเรื่องยอดขายของไวนิลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งยังส่งผลให้เกิดแผ่นเสียงในรูปแบบ LP  33 13  rpm ขึ้น บรรจุภัณฑ์ก็เปลี่ยนไปเป็นแบบมีปกแข็งข้างนอกก่อนที่จะมีซองกระดาษหยาบ ๆ ซ้อนข้างในอีกที ที่สำคัญคือกลายเป็นต้นแบบรากฐานให้กับทุกอัลบั้มทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

1950 เพลงแจ๊สกับภาพวาดสีฉูดฉาด

จุดสตาร์ตที่อเล็กซ์เริ่มต้นเอาไว้ได้ส่งไม้ผลัดต่อให้ The King Cole Trio อัลบั้มชิ้นสำคัญในปี 1945 ที่ทำให้การออกแบบปกอัลบั้มเป็นที่รู้จักในวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่ง ณ ตอนนั้นคือช่วงที่เพลงแจ๊สกำลังขับกล่อมคนทั้งโลกโดยไม่ว่าจะเดินหรือวิ่งไปที่ไหนก็จะได้ยินอยู่ทุกแห่งหน

the-king-cole-trio

งานศิลปะบนปกอัลบั้มโดยส่วนมากจึงจะมีรูปแบบที่คล้ายกับ Smash Song Hits ของอเล็กซ์ไปซะหมด คือเป็นการวาดภาพเหมือนของนักร้องหรือนักดนตรีคนนั้น ๆ แต่จะถูกเอามาใส่จินตนาการของผู้ออกแบบปกใหม่ให้ดูเหนือจริงด้วยโทนสีที่ผิดเพี้ยนเกินกว่าที่มนุษย์จะมี ปิดท้ายด้วยการวางเลย์เอาต์ตัวอักษรมัน ๆ ที่ฉูดฉาดไม่แพ้ตัววัตถุเลย (แนะนำ The Charles Mingus Quintet & Max Roach กับ In The Wee Small Hours ปี 1955)

แต่ก็ใช่ว่าทุกงานจะมาในทิศทางนี้ไปซะหมด เพราะช่วง 50s เป็นช่วงกำลังเจริญเติบโตของงานออกแบบปกอัลบั้ม ดังนั้นเราจึงจะได้เห็นงานแบบ abstract อย่างอัลบั้มแจ๊สสามัญประจำบ้านของ Dave Brubeck ชื่อ Time Out อยู่หลายชิ้น แถมช่วงเวลานี้ก็ยังเป็นเวลาเดียวกันกับตอนที่เริ่มมีการนำงานภาพถ่ายมาใข้เป็นส่วนสำคัญของการออกแบบปกอัลบั้มอีกด้วย เช่น What I’d Say ในปี 1959 ของ Ray Charles เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นปีที่วางแนวทางในหลาย ๆ แบบให้กับปกอัลบั้มจริง ๆ

1960 พื้นที่ของแฟชั่นบนปกอัลบั้ม

ช่วงปีนี้งานในทุกรูปแบบจะเต็มไปด้วยความเมามายชวนมึนจากอิทธิพลนิยมของไซคีเดลิก ซึ่งถ้าจะให้ยกตัวอย่างหน้าปกอัลบั้มที่เป็นตัวแทนของยุคนี้ก็คงจะเป็นอัลบั้ม Sgt Pepper’s Lonely Hearts Club Band ในปี 1967 ของ The Beatles อัลบั้มซึ่งงดงามไปด้วยสีสันและโดดเด่นด้วยการคอลลาจตัดแปะที่ลงตัว จนได้รับ Grammy Awards สาขาปกอัลบั้มยอดเยี่ยมประเภทกราฟฟิกอาร์ต ปี 1968 ไปครอง

และในช่วงเวลากันนี้เองก็เป็นตอนที่หน้าปกอัลบั้มสนิทกับคำว่า ‘แฟชัน’ มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเพราะวงดนตรีเริ่มมีการดึงศิลปินจากสายศิลปะโดยตรงมาร่วมออกแบบปกอัลบั้มให้ และเราจะขอเล่าเรื่องราวต่อจากนี้ผ่านงานของศิลปินหัวก้าวหน้าสามคน ผู้สร้างปกอัลบั้มที่มีความสำคัญต่อยุค 60s และสร้างแรงบันดาลใจต่อยุคหลัง ๆ มาเสมอ

1503428917-vu-stereo-fr

Andy Warhol ศิลปินป๊อปอาร์ตคนสำคัญของโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงานทางด้านดนตรีและใช้ศิลปะสร้างปรากฏการณ์ในรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยมีนักออกแบบปกคนไหนทำมาก่อน ผลงานชิ้นนั้นคือ Velvet Underground & Nico (1967) เราเชื่อว่าคนฟังเพลงหลาย ๆ คนต้องเคยเห็นปกอัลบั้มที่มีเพียงรูปกล้วยสีเหลืองอยู่บนปกนี้กันมาบ้าง โดยแรกเริ่มเดิมทีตัวกล้วยบนปกอัลบั้มนี้ถูกวางคอนเซ็ปต์เอาไว้เป็นสติกเกอร์พร้อมกับคำโปรยว่า ‘peel slowly and see’ เพื่อเซอร์ไพรส์ผู้ที่ซื้ออัลบั้มไปว่าพวกเขาจะได้เจอกับอะไรภายใต้เปลือกนั้น แต่หลังจากผลิตไปได้ไม่นานความคิดนี้ก็ต้องล้มไปเพราะต้นทุนที่สูงลิ่วและความล่าช้าในจำนวนอัลบั้มที่ผลิตได้ แต่ผลคือวอร์ฮอลกลายเป็นผู้คิดค้นสิ่งใหม่ในงานปกอัลบั้มที่เรียกว่า ‘คอนเซ็ปต์’

 

1970 ช่วงเวลาที่ปกอัลบั้มใกล้เคียงกับความฝัน

 

สิ่งที่วอร์ฮอลสร้างเอาไว้ได้กลายเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ดีไซเนอร์จากเกาะอังกฤษ Storm Thorgerson และ Aubrey Powell ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Hipgnosis (ชื่อที่ในวงการออกแบบน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี) ถนัดและใช้มันสั่นสะเทือนโลกของงานศิลปะและการออกแบบปกอัลบั้มในเวลาต่อมา  

พวกเขาทำให้ได้เห็นว่าพลังของงานภาพถ่ายไปได้ไกลกว่าที่เคยมีมากแค่ไหน หลาย ๆ ปกอัลบั้มที่พวกเขาออกแบบถูกใช้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของดนตรีในศัตวรรษที่ 20 อยู่บ่อยครั้ง ด้วยภาพที่งดงามและคอนเซ็ปต์ที่แรงอย่างรูปหมูบอลลูนบินบนฟากฟ้าเหนือโรงไฟฟ้า Battersea Power Station กรุงลอนดอน ในอัลบั้ม Animal ของ Pink Floyd ที่อิงมาจากวรรณกรรม Animal Farm ของ George Orwell แต่เอามาดัดแปลงเสียใหม่โดยต้องการสะท้อนให้เห็นภาพเสื่อมโทรมของลัทธิทุนนิยม

hipgnosis

สิ่งต่อมาที่เกิดขึ้นในยุค 70s คือความรุ่งเรืองของ prog music ด้วยจำนวนวงและผลงานเพลงที่ท่วมท้น ตรงนี้เองที่ชายที่ชื่อ Roger Dean สร้างภาพแห่งความฝันให้กับปกอัลบั้มของวงเหล่านั้น

roger-dean

ดีนเรียกงานของตัวเองว่าเป็น ‘otherworldly scenes’ และยังบอกต่อไปอีกว่า “ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นศิลปินสายจินตนาการแฟนตาซีหรอกนะ แต่จะเป็นจิตรกรภูมิทัศน์เสียมากกว่า” และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ งานออกแบบปกอัลบั้มทุกชิ้นของดีนคืองานที่เป็นภาพวาดทั้งหมด และเป็นภาพวาดที่มีรายละเอียดคมมากไม่ว่าจะเรื่องของสีหรือว่าลายเส้น ทุกงานจะแสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ที่เป็นโลกอีกใบ เป็นโลกในฝันที่เรียกให้ผู้ที่มองอยากจะเข้าไปอยู่ในนั้นเสียจริง ๆ ศิลปินโดยส่วนมากที่ดีนวาดให้คือหัวกระทิของยุค prog music เช่น Yes, Uriaheep เป็นต้น

 

2000s – ปัจจุบัน ปกที่ถูกออกแบบจากการต่อยอดของอดีต

blood-orange

ก็อย่างที่เราโปรยไว้เลยครับ ปกในยุค 00s เป็นต้นมาล้วนเต็มไปด้วยความหลากหลายโดยไม่ได้มีกระแสนิยมากเท่าแต่ก่อนอีกแล้ว แถมยังมีความก้าวไกลของเทคโนโลยีจากการมาถึงของคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เราสามารถเห็นปกสีสวยฟุ้ง ๆ ย้อนยุคอย่างในตอน 60s หรือคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่สร้างกิมมิกต่อผู้ซื้อได้ทุกเมื่อ และหนึ่งในสิ่งที่ยังแสดงให้เห็นว่างานออกแบบปกอัลบั้มยังมีความสำคัญมาเสมอคือ Grammy Award ยังคงมีรางวัลสำหรับ Best Recording Package ที่มีมาตังแต่ปี 59s จนถึงปัจจุบัน (ปก 22, A Million ของ Bon Iver ที่เข้าชิงสวยมาก)

bon-iver

ถึงแม้ตอนนี้โลกของเสียงเพลงจะหมุนและนำพาฟอร์แมตออนไลน์ที่สะดวกสบายขึ้นมาให้ทุกคน จำนวนคนที่ซื้อ CD หรือ Vinyl มีจำนวนน้อยลงไปทุกที ๆ และบางคนก็เลือกที่จะทำซ้ำเพื่อประโยชน์ (ส่วนตัว) อย่างไร้เยื่อใยต่อศิลปิน แต่เราก็เชื่อว่าไม่มีอะไรสามารถมาแทนที่สัมผัสจริง ๆ ที่เกิดจากมือของเรากับปกอัลบั้มของแท้นั้น ๆ หรือที่เกิดจากจมูกของเรากับกลิ่นที่แตกต่างจากประเทศผลิตที่ต่างกัน และเราก็เชื่อจริง ๆ คำว่าอัลบั้มซึ่งรวมไปถึงหน้าปกด้วยจะยังคงมีความหมายต่อผู้ที่รักในเสียงเพลงไม่ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปอีกแค่ไหนก็ตาม

 

เครดิต

http://www.vinylmeplease.com/magazine/the-10-best-grammy-award-winning-album-covers/
http://www.rnh.com/bio/168/Rodgers-%26-Hart
https://www.library.yale.edu/cataloging/music/historyof78rpms.htm
https://www.allmusic.com/artist/alex-steinweiss-mn0001695372/biography
http://illustrationchronicles.com/Alex-Steinweiss-and-the-World-s-First-Record-Cover
https://www.solopress.com/blog/art-design/a-brief-history-of-album-art/
https://www.udiscovermusic.com/features/history-album-artwork/

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน