Big Data อาจบอกได้ว่าเพลงไหนจะดัง

Article Guru

Big Data อาจบอกได้ว่าเพลงไหนหรือศิลปินคนไหนกำลังจะดัง สิ่งที่ศิลปินต้องรู้

กว่าศิลปินคนหนึ่งจะสะสมชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เก็บยอดวิวบน YouTube ได้เป็นล้าน มีงานเล่นไปทั่วประเทศหรือต่างประเทศ และมีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเองได้ จุดเริ่มต้นของมันก็คงต้องมาจากเพลงที่ดีก่อน ซึ่งตอนก็มีเครื่องมือที่ช่วยให้ศิลปินหรือค่ายเพลงพอคาดเดาได้แล้วใครจะดังหรือเพลงไหนจะมา ทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จในการเป็นศิลปินได้ คำตอบคือ ‘data’ หรือข้อมูลอันมหาศาลนั่นเอง

ตัวเลขคือวัตถุดิบที่ดีที่สุดซึ่งถูกนำมาใช้วิเคราะห์ในธุรกิจดนตรีมานานแล้ว

ทั้งยอดขายอัลบั้ม ยอดฟังบนสตรีมและยอดการขอเพลงบนหน้าปัดวิทยุ รวมไปถึงอันดับบนชาร์ตเพลงฮิต ในยุคดิจิทัล ที่มีเพลงให้เราฟังแบบนับไม่ถ้วน มันคือข้อมูลที่มีค่ามาก ๆ สำหรับนักดนตรีที่อยากก้าวหน้าในอาชีพของตัวเอง หรือค้นหาสไตล์ดนตรีที่ใช่สำหรับเรา โดยหยิบเพลงดังต่าง ๆ มาชำแหละให้กลายเป็นตัวเลขซะ Ankit Desai เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์อยู่ในมหาลัยสายดนตรีที่สวีเดน ก่อนจะไปเปิดค่ายเพลงของตัวเองในชื่อ Snafu Records ซึ่งไม่ใช่ค่ายเพลงธรรมดา ๆ แต่เขาคือนักลงทุนที่พร้อมจะผลักดันศิลปินทุกคนที่พวกเขาเห็นว่ากำลังจะเป็นซูเปอร์สตาร์ในอนาคต

Desei คือคนดนตรีไม่กี่คนบนโลกที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาอย่างเข้มข้น ก่อนจะกระโดดเข้ามาอยู่ในตลาดที่มีสายธารแห่งความสร้างสรรค์หลั่งไหลตลอดเวลา ทีมงานของเขาวิเคราะห์เพลงกว่า 150,000 เพลงทุกอาทิตย์ เพื่อมองหาศิลปินหรือเพลงที่สามารถสร้างแรงสั่นสะท้านให้วงการดนตรีได้ และทำทุกอย่างให้แน่ใจว่าเพลงเพลงนั้นจะทำงานได้สุดกำลังความสามารถของมัน ค่ายเพลงของเขาอยู่เบื้องหลังเพลงฮิตของศิลปินมากมายอย่าง Ariana Grande, Martin Garrix, Avicii, Nicki Minaj, The Weeknd, Taylor Swift, Foster The People, The Fray ฯลฯ กับอีกหลายเพลงที่ติดชาร์ตบิลบอร์ดอยู่ตอนนี้

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Spotify จนเห็นว่าตัวเลขการฟัง 1-800-273-8255 ของ Logic มันน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะคนฟังจะสร้างเพลย์ลิสต์ที่มีเพลงนี้เพลงเดียวและฟังวนไปเรื่อย ๆ (เป็นวิธีฟังเพลงที่เราชอบวิธีหนึ่ง เพราะถ้าใช้ Spotify เวอร์ชันฟรีจะไม่สามารถเลือกเพลงในเพลย์ลิสต์หรืออัลบั้มฟังได้) ดึงดูดให้ Desei เลือกที่จะลงเงินทำการตลาดกับเพลงนี้มากขึ้น สุดท้ายเพลงก็ขึ้นไปอยู่อันดับ 3 บนบิลบอร์ดชาร์ต top 100 ประจำปีพร้อมแผ่นเสียงแพลตินัมการันตีความเจ๋งของเพลงนี้

หรือการที่ Desai ไปพบว่ามีตัวเลขน่าสนใจในยอดฟังของ Tove Lo มีแฟนเพลง EDM ในสวีเดนที่หยุดฟังเพลงบางเพลงของเธอไม่ได้เลย สองเดือนต่อมา เธอจึงปล่อยเพลง Heroes (We Could Be) ที่ทำร่วมกับ Alesso ศิลปิน EDM ชื่อดัง จนทำให้มันขึ้นอันดับ 1 ชาร์ตบิลบอร์ด US Dance Club Songs ทันที

Data กลายเป็นเครื่องมือหลักสำหรับค่ายเพลงหรือนักจัดคอนเสิร์ตไปแล้ว ใครเดาได้ก่อนว่าศิลปินคนไหนจะดังก็โชคดีไป โลกนี้ยังมีแพลตฟอร์มน่าสนใจอีกมากมายเช่น Indify ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘music data platfrom’ ให้ศิลปินทุกคนเข้าไปสร้างโปรไฟล์พร้อมใส่รายละเอียดทั้งหมด รวมถึงทุกเพลงที่เรามี เพื่อหานักลงทุนที่จะมามอบโอกาสให้กับเรา แถมยังมีระบบแคมเปญที่ระดมทุนให้เราออกอัลบั้มหรือทำโปรเจกต์อะไรใหม่ ๆ เหล่านักลงทุนก็จะสามารถดูตัวเลขทั้งหมดเกี่ยวกับเราได้ว่ามีคนฟังเยอะในประเทศไหน เพลงไหนของเราที่คนฟังเยอะที่สุด เผื่อจะได้ร่วมจัดงานกับเราในโอกาสต่อไป

แค่ยอด follower บน YouTube, Instagram หรือ Spotify ก็สามารถบอกอะไรได้เยอะมากและควรเอาไปวิเคราะห์ต่อ Khalid ก็เป็นศิลปินเบอร์แรก ๆ ที่แพลตฟอร์มนี้ช่วยผลักดันเขาตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกจนมีชื่อเสียงเลย

ตามค่ายเพลงเดี๋ยวนี้ก็จะมีนักวิเคราะห์โซเชียลมีเดีย นอกจากหน้าที่ในการรายงานสถิติตัวเลขทั้งหมดบนโซเชียลของศิลปินแล้ว เขาจะเป็นแนะนำเองว่าศิลปินอยากไลฟ์สดทำอาหารจะเวิร์กมั้ย ศิลปินรีทวิตแฟน ๆ ที่กำลังตื่นเต้นกับอัลบั้มใหม่จะช่วยให้ follower เพิ่มขึ้นรึเปล่า หรือพวกเขาควรไลฟ์วีดีโอคุยกับแฟน ๆ ที่ไหนถึงจะเหมาะที่สุด รวมไปถึงเขาควรไปทัวร์ที่ประเทศไหนหรือแชร์เพลงตัวเองบนสตรีมมิ่งอะไรเป็นพิเศษถึงจะมีคนฟังเยอะที่สุด หรือการลงทุนการตลาดในช่องทางต่าง ๆ ด้วย เพราะสุดท้ายแล้วยอด engagement บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็จะกลับมาเป็นยอดฟังเพลงบนสตรีมมิงอยู่ดี และตามมาด้วยเม็ดเงินมากมาย

ตัวเลขยังช่วยบอกได้อีกว่าศิลปินควรจะเอาตัวเองไปอยู่ที่ไหน

ศิลปินบางคนได้ยอดฟังและยอดแฟนถล่มทลายหลังจากให้คนดังใน Tiktok ช่วยใช้เพลงพวกเขาเพื่อสร้างเทรนด์ใหม่ ๆ ทำให้คนนับแสนได้ลองฟังเพลงของเขาทันที เมื่อเทรนด์ติดลมก็ทำให้เพลงของเขาถูกใช้นับแแสนครั้งได้เลยทีเดียว ยังไม่นับจำนวนวิดีโอบนเทรนด์นี้ที่ไปอยู่บนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ก่อนจะย้ายตัวเองไปอยู่บน YouTube อย่างรวดเร็วเพื่อรอรับยอด engagement ที่กำลังจะตามมา บางคนอาจมีฐานแฟนอยู่บน Spotify ก็ได้ ถ้าศิลปินเรียนรู้ที่จะได้ลองวิเคราะห์ดูบ้างก็ทำให้พวกเขาเจอแฟนเพลงเร็วขึ้น และพอเดาได้ว่าควรจะไปโชว์หรือไปทัวร์ที่ไหน

เน็ตไอดอลบางคนที่ชอบอัดวีดีโอตัวเองเต้นกับเพลงหลากสไตล์บน IG story ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้ศิลปินบางคนดังในชั่วข้ามคืนได้เหมือนกัน คนแต่ละประเทศก็มีพฤติกรรมการฟังเพลงไม่เหมือนกันด้วย จากสถิติ ถ้าคุณดูแลศิลปินละตินละก็ คุณควรจะเอาเพลงของเขาไปปล่อยบนเฟซบุ๊กเพราะคนละตินใช้เวลาบนเฟซบุ๊กเยอะที่สุด ตัวเลขของกลุ่มผู้ฟังก็สำคัญ เพราะมันช่วยพยากรณ์อะไรได้หลายอย่าง เพราะกลุ่มคนฟังที่อายุเยอะ ๆ มักจะไม่ค่อยออกมาดูคอนเสิร์ตกันเท่าไหร่แล้ว ศิลปินก็ควรจะต้องหาช่องทางไปทำการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นด้วย

ในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้กำลังจะพาพวกเราไปถึงจุดที่ว่า ต้องเขียนเนื้อยังไงถึงจะทำให้กลุ่มเป้าหมายชอบเพลงนี้ ต้องใช้คำไหนบ่อย ๆ หรือต้องเขียนเครื่องดนตรีทุกชิ้นยังไงให้เป็นเพลงฮิต เมื่อทุกสิ่งที่ศิลปินทำก็เพื่อให้ตัวเองดังและได้เงินเยอะ ๆ อย่างที่ต้องการเท่านั้น ถึงตอนนั้นมันจะยังมีคุณค่าของการเป็นงานศิลปะอยู่รึเปล่าก็ต้องเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป แต่สิ่งที่ค่ายเพลงหลายประเทศกำลังทำงานกับ data ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจให้ศิลปินไทยหันมาลองศึกษาด้วยตัวเองบ้าง อย่างน้อยให้เราได้เจอกลุ่มคนฟังที่พร้อมจะซัพพอร์ตเราก็เพียงพอแล้ว

อ้างอิง
wired.com
lineate.com
complex.com
channels.theinnovationenterprise.com
tunecore.com

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา