รวมศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับการจัดคอนเสิร์ต

Article Guru

รวมศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับการจัดคอนเสิร์ต ศึกษาไว้ก่อนจัดงานของตัวเอง

เดี๋ยวนี้ใคร ๆ อาจจะคิดว่าการจัดคอนเสิร์ตจริง ๆ ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่มีเงินซักก้อนพร้อมคอนเน็กชันซักหน่อยก็สามารถจัดได้ สังเกตว่ามีคนจัดคอนเสิร์ตเจ้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งวงไทยและวงนอก แต่เอาเข้าจริงการจะจัดงานทั้งทีต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดและค่าใช้จ่ายทั้งหมดซะก่อนว่า มันมีหลายชีวิตที่เข้ามามีส่วนร่วม และต้องมีการเตรียมงานเบื้องหลังเยอะมากกว่าจะทำให้เกิดงานหนึ่งขึ้นมาได้

นอกจากใจรักในเสียงดนตรีแล้ว เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับซีนนี้ด้วยเหมือนกัน ไหน ๆ เราก็จัดคอนเสิร์ตมาบ่อยแล้ว เลยอยากแชร์คำศัพท์น่ารู้ในการจัดคอนเสิร์ต มีประดับตัวไว้จะได้เข้าใจการทำงานบนเวทีมากขึ้น

Billing ไม่ได้เกี่ยวกับการแจ้งหนี้หรือคิดตังอะไรทั้งนั้น ‘bill’ แปลได้อีกความหมายหนึ่งได้ว่า ‘โปสเตอร์’ และ ‘billing’ แปลว่า ‘โฆษณา’ ได้เหมือนกัน ในวงการบันเทิงเปรียบเสมือนการจัดอันดับ หรือตำแหน่งในวงการ billing ในที่นี้จึงหมายถึงศิลปินคนไหนอยู่ลำดับไหนในเทศกาล เช่น เป็น headliner หรือวงหลักของงานที่มีคนอยากดูกันเยอะมาก มักเล่นเป็นวงสุดท้ายและโชว์อลังการสุด มี sub-headliner ที่ใหญ่รองลงมาและมีชื่อเสียงพอตัว หรือมีชื่อตัวเล็ก ๆ อยู่ท้ายโปสเตอร์เรียกว่า mid-tier ศิลปินที่ยังมีชื่อเสียงไม่มากหรือเป็นศิลปินท้องถิ่นที่เจ้าของงานอยากดัน

สำหรับศิลปินบางรายที่ยังไม่มีตัวแทนหรืออำนาจต่อรองยังไม่มากนัก บางผู้จัดก็จะยื่น ‘landed offer’ ให้แทน ซึ่งเป็นค่าตัวในราคาที่วงบินมาถึงสนามบินแล้ว โดยศิลปินต้องจัดการค่าเดินทางทั้งหมดก่อนหน้านี้ด้วยตัวเอง พอมาถึงงานผู้จัดก็จะคอยเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ส่วนหนึ่งเพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยรวมนั่นเอง

Front of House FOH

เติมความรู้รอบตัวกันไปแล้ว เติมความรู้ด้านเทคนิกกันหน่อย สิ่งที่เราจะเห็นได้ในทุกคอนเสิร์ตเลยคือเต๊นท์หรือคอกใหญ่ ๆ ที่อยู่ตรงข้ามเวทีเลย โซนนี้เรียกว่า ‘front of house’ (FOH) คือจุดคอนโทรลโดยรวมของคอนเสิร์ตเกือบทั้งหมด สำหรับคนทำงานควบคุมโปรดักชั่นจะมารวมกันที่จุดนี้ เหล่า sound engineer ที่ควบคุมเสียงโดยรวมทั้งหมดที่ทุกคนจะได้ยินในงาน เป็นหัวใจหลักของงานเลยก็ว่าได้ monitor engineer คนมิกซ์เสียงที่นักดนตรีจะได้ยิน เป็นคนกลางให้พวกเขาได้ถ่ายทอดดนตรีออกมาอย่างถูกต้อง และ visual designer / lighting designer ที่คอยกดไฟหรือวิชวลบนเวที เป็นอีกคนที่ต้องออกแบบโชว์โดยรวมให้ลงตัวกับศิลปินเหมือนกัน

สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในแต่ละคอนเสิร์ตคือ rider มันคือไบเบิลจากศิลปินที่ใช้แจ้งแต่ละคอนเสิร์ตว่าพวกเขาต้องการอะไร ในนั้นจะเต็มไปด้วยลิสต์เครื่องดนตรี อุปกรณ์ เครื่องเสียง ฯลฯ ที่ศิลปินมีหรือต้องการ โดยใส่รายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่นยี่ห้อ รุ่น กำลังไฟไว้ทั้งหมดเลย ละเอียดถึงขั้นมี stage plot ระบุตำแหน่งชัดเจนของสมาชิกแต่ละคนว่าใครจะยืนตรงไหนบ้าง กีตาร์ยืนตรงไหน คีย์บอร์ดยืนตรงไหน แล้วแต่ละคนต้องการมอนิเตอร์หรือตู้แอมป์กี่ตัว วางตรงไหนบ้าง เพื่อให้ทีมงานออกแบบเวทีหรือจัดวางได้ถูกต้องตามที่ศิลปินต้องการ ซึ่งเวลาทีมงานพูดถึงอุปกรณ์ทั้งหลายบนเวทีจะเรียกกันติดปากว่า backline

rider stage plot

ตัวอย่าง Tech Riders by The Tame and The Wild

บนเวทีก็งานยุ่งไม่แพ้กัน ที่ขาดไม่ได้เลยคือเหล่า technician ผู้ปิดทองหลังพระอีกคนที่สำคัญมาก อย่าเข้าใจผิดว่าพวกเขามีหน้าที่แค่ยกของให้ศิลปินเท่านั้น พวกเขาอำนวยความสะดวกช่วยเหลือนักดนตรีในด้านเทคนิค ตั้งแต่ซาวด์เช็ก ต่ออุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงตอนแสดงสดที่จะต้องช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นบนเวที เสียงไม่ออก สายขาด ปลั๊กหลุด หรืออื่น ๆ อีกมากมาย หลังแสดงสดก็จะเป็นคนดูแลเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ของวงให้เรียบร้อย โดยจะมี stagehand ลูกมือคอยช่วยหยิบจับโน่นนี่อีกทีนึง ทุกงานนี่ขาดพวกเขาไม่ได้เลย

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องรู้ก็ได้คือ riser ใช้เรียกแท่นหรือแผ่นที่ยกตัวศิลปินหรืออุปกรณ์ให้สูงขึ้นจากพื้นเวทีปกติ เพื่อความสวยงามของเวทีหรือศิลปินบางคนก็อยากดูโดดเด่นขึ้น ถ้าแบบมีล้อเลื่อนได้เรียก rolling riser ทีมงานใช้เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องดนตรีได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลด changeover หรือระยะเวลาระหว่างเปลี่ยนวงบนเวทีเดียวกันให้น้อยลงได้

บางคอนเสิร์ตที่เราเห็นว่ามีหน้าจอถ่ายทอดสดอยู่ข้างเวที สิ่งนี้เรียกว่า กล้อง OB ย่อมาจาก ‘outside broadcasting’ หรือการถ่ายทอดสดนอกสถานที่ มักจะมี 2 ตัวขึ้นไปเพื่อตัดสลับภาพระหว่างกล้องไปมาให้ดูไม่น่าเบื่อเกินไป หรือแทรกภาพกับวีดีโอสำหรับอธิบายจากอีกทีหนึ่งเข้ามา ซึ่งบางงานอาจมีกล้องมากถึง 40 ตัวเลยก็ได้ เช่นการแข่งฟุตบอลรายการสำคัญ ๆ แล้วมีระบบกลางที่จะตัดภาพไปมาจากทุกกล้อง แถมยังถ่ายทอดสดขึ้นทีวีหรือไลฟ์บนโซเชียลได้ทันที

ก่อนหน้านี่เราพูดถึง rider กันไปแล้ว แต่มันเรียกแบบลงลึกว่า techincal rider โดยมันถูกแยกย่อยออกมาให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นสิ่งของที่ศิลปินต้องการบนเวที แต่การทัวร์หรือไปเล่นในประเทศที่ไม่คุ้นเคยศิลปินหลายคนก็ต้องการความผ่อนคลายบ้าง พวกเขาจึงส่ง hospitality rider มาล่วงหน้าด้วย เรียกง่าย ๆ มันคือลิสต์ของสิ่งที่จะทำให้ศิลปินมีความสุข เช่น เบียร์ ไวน์ อาหารขนมผลไม้ที่พวกเขาชอบ ฯลฯ ซึ่งอาจจะระบุยี่ห้อและวิธีการเตรียมอย่างละเอียด บางคนไปต่างบ้านต่างเมืองก็อยากจะกินอาหารท้องถิ่น ก็สามารถร้องขอกับผู้จัดได้เหมือนกัน แต่ในลิสต์ศิลปินระดับโลก ก็มีของที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาให้เหมือนกัน เช่น อ่างจากุซซี่ หรืออยากได้แมว 20 ตัวในห้องพัก

Maho Rasop Festival เคยรวบรวม hospitality rider ของศิลปินในปี 2018 ไว้เหมือนกัน ไปเดาเล่น ๆ ว่าวงไหนรีเควสอะไรบ้าง

สุดท้ายแล้ว ขอแถมโบนัสคำศัพท์ที่คนชอบจำสลับหรือชอบลืมให้จ้า ก่อนอื่นเลยคือ line up คือรายชื่อศิลปินทั้งหมดที่จะมาในงานนี้ ไม่ได้ใช้เรียกตารางโชว์ ตารางเวลาของงานเรียกว่า show schedule ส่วน setlist คือรายชื่อเพลงที่ศิลปินจะเล่นหรือมี sequence ลำดับโชว์พิเศษที่จะแสดง อย่างโซโล่เบสหรือเต้นคัฟเวอร์โชว์ door open คือเวลาที่ประตูงานเปิด ไม่ใช่ชื่อวง แฮ่ และ smoking area คือพื้นที่ที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ รบกวนสูบในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ไม่ใช่สูบในงานนาจา ฉันขอร้อง

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา