Article Guru

2019: การกลับมาของ Drum and Bass ดนตรีอิเล็กทรอนิกจาก 90s ที่จะยังคงอยู่

  • Writer: Montipa Virojpan

เราเกือบลืมไปแล้วว่าบีตความเร็ว 160 bpm เข้ามาโลดแล่นในชีวิตของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มารู้ตัวอีกทีคือเมื่อได้ยินกลองเร้า เบสหนัก ก็หยุดที่จะเต้นไปกับเพลง drum and bass ไม่ได้

ลองนึกดูดี น่าจะเป็นตอนที่เปิด Channel [V] Thailand แล้วไปเจอรายการ [V] Rewind ที่มักจะเปิดมิวสิกวิดิโอเพลงในอดีตให้เราได้ดูกัน แล้วตอนนั้นเองที่เราก็ได้รู้จักกับเพลง ปรัชญาขี้เมา ของ Eclextic Suntaraporn ซึ่งเราไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับศิลปินกลุ่มนี้เลย เพลงมีความแปลกเพราะเป็นเพลงสมัยก่อน แต่ดันมีกลองลูปเร็ว  เรียกว่าอะไรไม่รู้ รู้แต่ชอบแบบนี้มาก (แถม mv เท่ด้วย)

จนเมื่อประมาณปีที่แล้ว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ ก็ตั้งใจจะเขียนบทความถึง Eclextic Suntaraporn ทำให้ได้รู้ว่านี่เป็นโปรเจกต์ของ DJ Seed นรเศรษฐ หมัดคง และไบรอัน ยมจินดา ที่หยิบเพลงของคณะสุนทราภรณ์มารีอะเรนจ์ให้มีความร่วมสมัยเผื่อว่าคนรุ่นใหม่จะได้รู้จักกัน ที่คาดไม่ถึงเลยคือดนตรีของเพลง ปรัชญาขี้เมา เป็นฝีมือของ Stylish Nonsense ส่วนเสียงพูดในเพลงก็คือเสียงของแก๊ป T-Bone!

ช่วงที่ลองกระเถิบไปทำความรู้จักกับ underground dance music มากขึ้น เวลาไปปาร์ตี้บางทีก็จะได้ยินเพลงบีตกลองเร็ว เบสหนัก แบบเพลง ปรัชญาขี้เมา เด๊ะ เราเลยถามเพื่อนดีเจไอหยั่งงี้มันเรียกว่าอะไรวะมึงก็ถึงบางอ้อว่า นี่คือเพลง ‘drum and bass’

Drum and bass (ต่อไปนี้จะขอเรียกเป็น dnb) คือแขนงหนึ่งของดนตรีอิเล็กทรอนิกที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรช่วงปี 90s ยุคที่เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรม underground ต่าง นอกจากเราได้รู้จักกับรากของวงอัลเทอร์เนทิฟร็อก, oldschool hiphop, หรือ Spice Girls แล้ว หลายคนก็คงจะนึกถึง rave scene ปาร์ตี้ผิดกฎหมาย วัยรุ่นใช้สารเสพติดกันอย่างสุดเหวี่ยงแบบในหนังเรื่อง ‘Trainspotting’ รวมถึงการถือกำเนิดของแนวย่อยในเพลงแดนซ์มากมาย และ dnb ก็เป็นหนึ่งในนั้น

DnB มีจุดเด่นอยู่ที่มักจะมีความเร็วจังหวะ 160-180 bpm บีตกลองเป็นแบบเร็ว เน้นไปที่จังหวะยก (syncopated breakbeat) ประกอบกันกับไลน์เบสหนัก ความโดดเด่นนี้เลยกลายมาเป็นชื่อเรียกของแนวดนตรีด้วย แต่ต้นกำเนิดของมันมาจากคาดว่าจะมาจากเพลงแดนซ์ที่ชื่อ ‘jungle’ ซึ่งเป็นการผสมผสานฮิปฮอป การสแครชแผ่น และใช้ sampling เพลงฝั่งจาไมกันทั้งดั๊บและเร็กเก้ยุคเก่า เน้นความเร็วของจังหวะกลองและความหนักของเบส บรรยากาศของเพลงทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่แวดล้อมด้วยสัตว์ป่า ชนเผ่า ชวนให้ปลดปล่อยท่วงท่ากันตามสัญชาตญาณดิบ จึงอาจเป็นที่มาของการเรียกแนวเพลงด้วยคำนี้

Simon Reynolds เขียนไว้ในหนังสือ ‘Energy Flash: a Journey Through Rave Music and Dance Culture’ ว่า หากมองในเชิงวัฒนธรรม dnb อาจเป็นการพัฒนามาจากการปลดแอกทางวัฒนธรรมของวัยรุ่นชนชั้นล่างในลอนดอนช่วงปี 90s คนรุ่นใหม่ในอังกฤษถูกจำกัดสิทธิ์และสิ้นหวังกับโครงสร้างสังคมที่สั่นคลอน จึงทำดนตรีออกมาให้ความมืดหม่น แตกต่าง และดูรื่นเริงน้อยกว่า dance music แนวอื่น และยังสังเกตว่าซีน dnb เป็นแหล่งรวมตัวของคนหลากชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกับคนที่มีเชื้อสายแอฟริกันเมื่อเทียบกับ rave scene หลัก เช่นเทคโน ฮาร์ดคอร์ ซึ่งต้นเหตุของความนิยมนี้น่าจะมีผลพวงจาก jungle อันเป็นการผนวกรวมความเป็นตะวันตกกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจาไมกัน เช่นเดียวกับหลาย แนวเพลงในอังกฤษตั้งแต่ประมาณปี 60s ทั้ง two tone ska หรือ ska punk, dancehall, rocksteady, raggamuffin ก็รับมาจาก Jamaican music ที่เป็นรากวัฒนธรรมของผู้อพยพเข้ามาในอังกฤษทั้งสิ้น

ประมาณครึ่งทศวรรษหลัง โปรดิวเซอร์ที่เคยใช้เพลงดั๊บหรือเร็กเก้เริ่มก็หันไปใช้ sampling เป็นเพลงแนวอื่น ทั้งคลาสสิก โซล ฟังก์ หรือแจ๊ส เพื่อพยายามจะหาอัตลักษณ์ให้กับแนวเพลงใหม่ที่ต่อมาเรียกว่า drum and bass และเกิดเป็น subgenre ต่าง มากมาย โดย DJ Hype, Micky Finn, Roni Size, Shy FX คือบุคคลแรก ที่พัฒนาให้ dnb มีความแตกต่างออกไปจาก jungle ซึ่งซาวด์จะมีความร่วมสมัยมากขึ้นจากทั้งซาวด์และอุปกรณ์ที่ใช้ทำเพลง แต่ยังคงหัวใจของ jungle ไว้ คือจังหวะเร็ว และไลน์เบสหนัก และอีกคนที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ Goldie เขาเป็นผู้ก่อตั้งค่าย jungle ค่ายแรกชื่อ Metalheadz ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการ dnb ในปัจจุบัน รวมถึงเขาเพิ่งมาเล่นที่ Beam ทองหล่อ และรับหน้าที่คอนดักเตอร์ร่วมกับวงดนตรีที่เป็นดนตรี dnb สด ใน Wonderfruit Festival ในปีที่ผ่านมาด้วย

ในเวลาต่อมา dnb ไม่ได้อยู่แต่ในซีน underground อีกต่อไป หากแต่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งผลพวงจากยุคโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การเชื่อมต่อไร้พรหมแดน แพลตฟอร์มและรูปแบบการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป (จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล) หรือการเข้าสู่สื่อกระแสหลักเมื่อศิลปิน dnb มีเพลงขึ้นชาร์ต อัลบั้ม Timeless ของ Goldie ขายได้ 150,000 ก็อปปี้ในสหราชอาณาจักรในปี 1995 หรือในปี 1997 อัลบั้ม Earthling ของ David Bowie ที่กระเถิบจากดนตรีร็อกมาผนวกรวมกับอิเล็กโทรนิก้าซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในขณะนั้น ก็ใส่บีต dnb เข้าไปในเพลง Little Wonder

ในแวดวงสื่อสารมวลชนก็มีการใช้เพลง dnb มาประกอบสกู๊ปข่าวกีฬา หรือใช้เป็นซาวด์แทร็คในเกมแข่งรถ เช่น ‘Need For Speed’ และช่วงต้นยุคมิลเลนเนียมซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองของ dnb บรรดาโปรดิวเซอร์แต่ละคนสร้างสรรค์เพลงให้มีความเฉพาะตัวสูงมาก และทุกคนพยายามผลักดันให้ซีนไปได้สุดจนเพลงสามารถขึ้นชาร์ต top 10 ใน BBC Radio 1 หลังจากที่ทุกคนได้ยินเพลง LK ของ DJ Marky ก็ไม่มีใครไม่รู้จัก dnb อีกต่อไป

ทั้งยังมีการสร้าง subculture ขึ้นมาเป็นท่าเต้น อย่าง x-outing หรือ dnb step คือการเต้นแบบเต้นกระโดดโหยงเหยงไปมาโดยใช้ส้นเท้าและปลายเท้า กับขาที่ไขว้สลับกันพร้อม กับจังหวะเพลง เดิมที่ยังไม่ค่อยมีคนจริงจังกับลักษณะการเต้นรูปแบบนี้เท่าไหร่ แต่ช่วงปลายสองพันทางฝั่งยุโรปตะวันออกก็มีคนพัฒนาสเต็ปขึ้นมาจริงจัง ถึงขั้นมีวิดีโอสอนเต้นกันเลยทีเดียว

อีกหนึ่ง subculture ที่น่าสนใจของ dnb คือบางโชว์จะมี mc มาร่วมแสดง เป็นการพูดบิลด์อารมณ์คนในปาร์ตี้ตามจังหวะให้มีส่วนร่วมกับเพลงมากขึ้น (บางคนจะเรียกว่า jump up) ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ loop และมีท่อนดรอป หรือ rewind ทำให้โชว์นั้นมีไดนามิก จากประสบการณ์ที่ได้ไปดู dnb ที่ Wonderfruit ครั้งล่าสุดที่มี DJ Dragon, DJ Pichy เปิดสลับกันและมี ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เป็น mc เล่นยาวไปตั้งแต่ตีสองจนตีสี่ครึ่ง แต่คนที่เต้นอยู่ (รวมถึงเรา) ก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อยเลย แถมยังรู้สึกสนุกขึ้นเรื่อย จนไม่อยากให้หยุดเล่นด้วยซ้ำ

ในเมื่อเราพูดถึงซีนในเมืองไทยแล้ว ก็ขอย้อนประวัติคร่าว ของการถือกำเนิด dnb ในบ้านเรากันบ้าง ตอนที่เรารู้ว่าเพลงแนวนี้เรียกว่าอะไรใหม่ เพื่อนดีเจคนที่ว่าก็บอกว่ามึงต้องชอบพี่มังกรแน่นอนจนเรามีโอกาสได้ไปดูเขาเล่นที่ after party ของงานเปิด De Commune เมื่อประมาณกลางปีที่แล้วครั้งแรก ก็ต้องขอยืนยันในสิ่งที่เพื่อนพูดไว้จริง

มังกร ทิมกุล หรือ DJ Dragon ปัจจุบันนอกจากจะเป็นดีเจแล้วเขายังเขียนคอลัมน์ดนตรีลงใน Khaosod English แต่ในอดีต เขาคือคนแรก ที่เริ่มสร้างซีน dnb ให้เป็นที่รู้จักในกรุงเทพ และยังคงเคลื่อนไหวผลักดันดนตรีอิเล็กทรอนิกมาจนถึงทุกวันนี้

ย้อนไปช่วงประมาณปี 1991 ขณะที่เขาอายุประมาณ 15 ปีก็ได้ค้นพบกับเพลง dnb โดยบังเอิญในร้าน HMV ที่อังกฤษ จากเดิมที่เขามีความชอบในเพลงฮิปฮอปเลยตั้งใจไปหาแผ่นเสียงในร้านโดยไม่รู้ว่าศิลปินคนที่หยิบมานั้นเป็นใคร แค่เห็นว่าปกเป็นลายกราฟฟิตีเลยคิดว่าเป็นฮิปฮอปอังกฤษสักวง แต่เมื่อกลับมาเปิดฟังกลับได้ค้นพบดนตรีแนวใหม่ที่คล้ายฮิปฮอป แต่มีความเร็วระห่ำแบบที่เขาไม่เคยฟังที่ไหนมาก่อน

คือมันเร็วมากจนผมงง เขาชอบกันเข้าไปได้ยังไง ทีแรกก็ไม่ได้อินหรอก จนถึงปีสองปีหลังจากนั้นก็ได้ไปงาน rave ก็เริ่มชอบอิเล็กทรอนิก แล้วไปเอาแผ่นที่ซื้อที่อังกฤษตอนนั้นกลับมาฟังอีกรอบก็รู้สึกวาใช่ นี่แหละเป็นสไตล์ของผม และอีกอย่างที่ผมชอบ dnb เพราะว่ามันไม่มี image อย่างคนที่ไปงาน rave ที่เปิดพวกเฮาส์ บางทีเขาไม่ได้เข้าใจเพลงนี้ แต่อยากไปเพราะเพลงเก็ตง่าย ดูคูล สมัยนั้นคนไปงาน jungle หรือ dnb มีแค่ 5-6 คนก็ดิ้นกระจายแล้ว แต่พวกนั้นเขาเป็นคนมาฟังเพลง ชอบดนตรีจริง เป็น culture ที่ไม่สนว่าฉันจะต้องเท่ คนทำเพลงก็เพราะรักและต้องการที่จะพัฒนาดนตรีโดยไม่ต้องประนีประนอมคนฟัง ผมคิดว่าเป็นดนตรีที่ถูกต้องสำหรับผม

ปี 1997 หลังจากที่เขาศึกษาจบและกลับมาจากแคนาดา เขาก็ได้พบกับ เหวิ่น หรือ DJ OneEye ที่สีลมซอย 4 ซึ่ง ขณะนั้นถือเป็นย่านที่เด็ก rave ไทยยุคแรก ไปปาร์ตี้กัน เหวิ่นเองก็เรียนที่อังกฤษเลยมีความเข้าใจและชื่นชอบ dnb หลังจากแลกเปลี่ยนเพลงกันฟังมาสักพักเลยชักชวนกันทำ collective ที่ชื่อ Homebass Communication ขับเคลื่อนซีน dnb ให้คนกรุงเทพ ได้รู้จักกันมากขึ้น

ถ้าอยากรู้ว่า dnb ต้นตำรับเป็นยังไง ต้องไปฟังของยุค 90s ที่เพลงไม่มีอะไรเลย มีแต่กลองเร็ว เสียงร้องน้อย เบสหนัก ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น อาจจะเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ถ้าฟังป๊อปหรือ edm มันเข้าใจง่ายกว่าก็จริง แต่พอเรารู้จักกับ dnb ก็จะมีอะไรให้เราค้นหาอีกเยอะ และนั่นคือความสวยงามของมัน

ปี 2000 มังกร เหวิ่น ที่ต่อมาก็ได้พบกับ mc ชาวญี่ปุ่นชื่อ Abu ไม่อยากให้ Homebass Communication เป็นแค่ปาร์ตี้เพียงอย่างเดียว แต่อยากสร้างซีนขึ้นมาอย่างจริงจัง โดยมีการพยายามเข้าถึงคนหมู่มากด้วยการจัดรายการวิทยุชื่อเดียวกันบนคลื่น Click Radio (ต่อมาเป็น Fat Radio) ยึดช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีสามของทุกวันเสาร์เพื่อนำเสนอแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกให้กับคนฟังเป็นเวลากว่าห้าปี และเกิดเป็นซีนที่มีความเหนียวแน่นขึ้นมา มีดีเจกลุ่มใหม่ เกิดขึ้นมากมาย จนในปี 2002-2004 ถือว่าเป็นปีที่พีคที่สุดของซีน dnb ในกรุงเทพ เพราะทุกครั้งที่พวกเขาจัดปาร์ตี้ก็สังเกตได้ว่ามีคนเต็มตลอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อทุกคนถึงคราวที่มีภาระความรับผิดชอบมากขึ้นก็ทำให้แต่ละคนในกลุ่มต้องแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ แต่มังกรยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในซีน

ปี 2007 ที่เขาเริ่มรู้สึกว่า dnb มีความเป็น commercial มากขึ้นจึงหันมาจัดงาน Dubway Session เพื่อนำเสนอแนวดนตรี underground อื่น โดย ขณะนั้นก็เป็นยุคของ dubstep นั่นเองเดี๋ยวนี้ความนิยมมันก็ขึ้น ลง มันมีหลายอย่างที่มาไวไปไวและน่าตื่นเต้นไปหมด ผมเลยเลือกจะเปิดเพลงอะไรก็ได้ที่น่าสนใจ dubstep, dnb, techno ไม่ได้เน้นแนวเดียวแล้ว

จากการที่มังกร เหวิ่น และ Abu ได้หว่านเมล็ดเอาไว้อยู่หลายปีก็ทำให้มีคนเริ่มติดตามซีน dnb กันมากขึ้น ไปจนถึงการเริ่มมีดีเจกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ประกอบกับช่วงนั้นที่กลุ่ม Homebass Communication เริ่มแยกย้าย โน้ต—สุเมธ กิจธนโสภา หรือ Yaak Lab ก็เห็นว่าไม่ควรจะปล่อยให้ซีนนี้เงียบหายไปเพราะไม่มีใครรับช่วงต่อเลยจัด Yaak Party ร่วมกับ DJ Kingkong ในปี 2005

“เวลาเราจัดงานส่วนใหญ่จะมีคนประมาณ 60-100 คน ครั้งแรกจัดที่ DDM อยู่ใต้สะพานปิ่นเกล้า เป็นเกสเฮาส์ขายอาหารเกาหลี ช่วงหลัง ๆ จะมีดีเจ underground ไปเล่นที่นั่นกัน พอเริ่มเล่นไปก็มีเด็ก ๆ ตาม แต่ก็ต้องหยุดเล่นเพราะเริ่มมีเด็กตีกันตาย เลยย้ายมาเล่นที่ Cafe de Moc แต่ถ้าบุ๊กดีเจนอกมาก็จะมูฟไป Club Culture จัดทีก็ 400-500 คน สมัยนั้นมีพวก DJ Azek, DJ DeLorean, DJ Orawan, DJ Pichy มาเล่นด้วยกัน มีกลุ่ม Jiving Tribe ด้วย แต่เขาจะเล่นที่พะงันเป็นหลัก”

ช่วงปี 2010 ด้วยความที่โน้ตได้ขยับขยายมาทำโปรดักชันเฮาส์ของตัวเองเลยไม่สามารถลุยปาร์ตี้ได้ต่อ ทำให้ DJ Kingkong แยกไปทำ Zoo Studio แต่ระหว่างนั้นที่ Cafe de Moc จะมีวันที่ให้ Yaak Party เล่นประจำ ก็เลยเปลี่ยนไม้ผลัดให้ DJ Azek, DJ DeLorean และ DJ Orawan มาทำต่อในชื่อ Phatfunk 

DJ Orawan หรือ แอลอรวรรณสรรพศุภวัฒน์ปัจจุบันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปาร์ตี้ BassClef ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่จัดอีเวนต์ dnb อยู่เรื่อย แอลเล่าให้เราฟังว่าดีเจกลุ่มแรกที่บุกเบิกซีน dnb ในไทยคือดีเจแข้ง และดีเจสิทธิ์แห่ง Orchid Bar ที่เกาะพะงัน สถานที่อันเลื่องลือใน full moon party ซึ่งไม่แปลกที่จะเป็นพิกัดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คงเป็นแนวดนตรี dnb ช่วงประมาณปี 2000 เธอได้ไปที่นั่นและได้รู้จักกับ dnb เป็นครั้งแรกสมัยนั้นก็มีเทคโน แต่เรารู้สึกว่า dnb มันไม่เหมือนใคร ไม่ใช่บีตที่น่าเบื่อ ก็ตั้งใจเป็นดีเจเปิดแต่แนวนั้นมาโดยตลอดแอลเล่าอีกว่าสถานที่ที่พวกเขาไปรวมตัวกันในขณะนั้นคือ Cafe De Moc ของ ตุ๋ยอภิชาติ ชัยแก้ว อีกผู้คร่ำหวอดในซีน underground dance music ที่ต่อมาเขาก็ย้ายมาเปิด Astra ซึ่งก็กลายมาเป็นแหล่งรวมตัวที่สำคัญของเด็กปาร์ตี้ยุคนั้น

เราเริ่มสะสมแผ่นเสียง แล้วก็ได้มารู้จักกับพิชชี่ประมาณปี 2004 ก็จัดปาร์ตี้ด้วยกันที่ Cafe De Moc ตอนหลังพี่ตุ๋ยก็ย้ายมาเปิด Astra ฝั่ง Homebass ก็เริ่มที่จะเงียบ แต่มี Jazzbah Records ที่เป็นร้านแผ่นเสียงของพี่ตี้ที่เราทำงานอยู่กับพิชชี่ ก็เป็นอีกกลุ่มที่บุ๊คดีเจมาจากอังกฤษเยอะเหมือนกัน แต่สักพักก็เลิกไป แล้วปี 2008 เราก็มาทำ Zoo Studio ทำทั้ง house, breakbeat, dnb แล้วก็มีจัดปาร์ตี้เรื่อย ช่วง Astra ใกล้ปิดก็เริ่มมีดีเจหลายกลุ่มมาก  แต่ก็รวมกลุ่มกันเพื่อ remind ว่ายังมี dnb อยู่ ตอนหลังพี่ตุ๋ยก็ย้ายมาเปิด Club Culture ที่ถนนศรีอยุธยาเราก็ตามมา แต่มันไม่ใช่ยุคทองของ dnb อีกแล้ว เพราะมีดนตรีอย่างอื่นมาแทน electroclash, nu rave คือดีเจก็ยังมี แต่คนเที่ยวน้อยลง” นี่คือคำบอกเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของ dnb ในแต่ละช่วงหลังผ่านยุคที่คึกคักที่สุดมาแล้วจาก ปอนด์กฤษฎา วดีศิริศักดิ์ อดีตนักร้องนำวง ปลื้ม แต่ในแวดวง underground dance music เขาคือ DJ Kingkong ซึ่งต่อมาก็มีโปรเจกต์ industrial techno ในชื่อ Marmosets และยังมีผลงานอยู่ ขณะนี้

ในช่วงปี 2014 จากปาร์ตี้ที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 300-400 ชีวิต ก็ต้องหลีกทางให้กับเพลงอิเล็กทรอนิกแนวอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่กระแส edm ปะทุอย่างรุนแรงและครอบคลุมทั้งฝั่ง underground และ mainstream แต่กลุ่มคนรัก dnb ก็ยังคงจัดปาร์ตี้อยู่เรื่อย แม้คนจะน้อยลง ในทางกลับกันการที่มีชาวต่างชาติเป็นกลุ่มหลักที่คอยผลักดันซีนทำให้คนมาร่วมงานในช่วงหลังเป็น expats หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย และมีคนไทยรุ่นใหม่ ๆ ฟังแนวดนตรีนี้น้อยลงไปโดยปริยาย “กระแส edm มาแรงมากทั่วโลก จนคนรุ่นหลังอาจจะไม่เข้าใจเพลงที่มีแต่บีต เนื้อร้องน้อย ๆ กลุ่ม Jiving Tribe เขาก็โฟกัสที่งานฟูลมูนเลยทำให้ซีนในกรุงเทพ ฯ แผ่ว ๆ ไป พอไม่มีฮีโร่ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่มาฟัง dnb ก็เลยกลายเป็นว่าคนที่มาตามฟังน้อยลงไปด้วย” โน้ตเล่า

แต่จากคนที่มองดูอยู่ภายนอกอย่างเรากลับพบว่า drum and bass ไม่ได้หายไปไหนเลย เพียงแต่ว่าจังหวะและเวลาที่รอให้เรามาค้นพบกับดนตรีแนวนี้ (หรือแม้แต่แนวอื่น ) อาจจะไม่ได้มาพร้อมกัน จำนวนคนที่บังเอิญผ่านมาพบก็อาจจะไม่ได้เป็นมวลหมู่มาก แต่ทุกคนต่างหลงรักและพยายามทำให้ซีนมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ ยิ่งช่วงปลายปีที่ผ่านเราได้พบว่าโปรดิวเซอร์เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจกับ dnb หยิบบีตเร็ว เบสหนัก พวกนั้นไปใส่ให้กับเพลงของศิลปินป๊อป แม้ดนตรีจะดูเป็น commercial มากขึ้นแต่ก็ส่งให้ dnb ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของ UK chart บวกกับการได้ป๊อปสตาร์ Rita Ora มาร่วมงานด้วย

ปลายปีที่ผ่านมา Rudimental ศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่อง dnb ก็ยังดึงสาวคนนี้มาร่วมงานในอัลบั้มล่าสุด Toast To Our Differences

แม้แต่แร็ปเปอร์หัวขบถคนโปรดของเรา Princess Nokia ก็หลงเสน่ห์เพลงแนวนี้และบรรจุมันลงไปใน Metallic Butterfly อัลบั้มเดบิวต์ของเธอ ซึ่งก็เพิ่งหยิบมา reissue เมื่อไม่นานมานี้

ฝั่งไทยเองเราก็ได้ฟังเพลงของวง Supergoods ที่หยิบสไตล์ jazzy dnb มาใส่ในงานที่ชื่อ Blue Dream

และ DCNXTR อิเล็กทรอนิกดูโอ้สุดเท่ที่ห่างหายไปพักนึงก็กลับมาพร้อมกับเพลงที่มีพาร์ตของ dnb

และในปี 2019 เราเชื่อว่า drum and bass จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง แม้ว่าแก่นของมันจะถูกเบลนด์เข้ากับดนตรีร่วมสมัย หรือถูกพัฒนาให้มีรูปแบบที่ฉีกไปจากต้นตำรับ แต่นี่อาจเป็นวิธีที่ทำให้รากของดนตรีอยู่รอดได้ตามยุคที่เปลี่ยนไป อย่างล่าสุดเราก็ได้รู้จักกับ halftime หรือ halfstep ซึ่งเป็นการหารครึ่งของ bpm เดิมของ  dnb ฟังโดยรวมแล้วจะมีความคล้ายคลึงฮิปฮอป แต่เบสหนัก ลึก และหม่นกว่า ศิลปินที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวเอกของ halfstep คือ Dub Phizix

ส่วนใครที่อยากไปสัมผัสกับดนตรี drum and bass ด้วยตัวเอง ลองติดตามปาร์ตี้ของกลุ่มหรือดีเจต่อไปนี้ไว้ให้ดี เพราะพวกเขาจะไม่ปล่อยให้ดนตรีแนวนี้ล้มหายไปอย่างแน่นอน

DJ Orawan (BassClef)
DJ Azek, DJ DeLorean, DJ Instinct (PhatFunk)
DJ Yutharu, DJ Sweed (More Rice)
DJ Dragon, DJ Krush, DJ Macka B, DJ Goth Trad, DJ Vadim (Dubway Session)
DJ Kingkong (Zoo Studio)
DJ Pichy (Quay Records)
DJ Dai, DJ Gishiyama, DJ MeeHaa (Beass)
DJ Bunnyman (Code-Naa)
DJ D-Goose, DJ Goo (Jiving Tribe)
Kontraband
Yaak Party
FilthySolid
Evolver

ขอขอบคุณ
DJ Dragon, DJ Orawan, DJ Kingkong, DJ Sweed, DJ Kova O Sarin, DJ Jirus
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://haenfler.sites.grinnell.edu/subcultures-and-scenes/drum-n-bass/
https://www.globaldarkness.com/articles/history%20of%20drum%20and%20bass%202.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Music_of_Jamaica
https://www.youtube.com/watch?v=6j7-nxdqSyk
http://www.transformationsjournal.org/wp-content/uploads/2017/01/Transformations03_Quinn.pdf
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้