Article Guru

เอาอีก!!! เรื่องราวของ Encore ที่เป็นมากกว่าการสนองนี้ดในการฟังดนตรีสด

  • Writer: Piyakul Phusri

“เอาอีก ๆ ๆ ๆ ๆ!!!!!”

เชื่อว่าแฟน ๆ Fungjaizine ผู้มีใจรักเสียงเพลง และไม่เคยอิ่มกับการฟังดนตรีทุกคนต้องเคยขอ ‘อังกอร์’ (encore) ในงานคอนเสิร์ต หรือ แม้แต่ตามร้านเหล้าที่เล่นดนตรีสดกันมาแล้วทุกคน เพราะถึงแม้ว่าวงจะเล่นจบแล้ว แต่ในใจผู้ฟังยังไม่จบ มันก็ต้องขอให้เล่นอีก ๆๆๆๆ

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็ไม่มีมาตรฐานตายตัวว่าผู้ชมผู้ฟังจะต้องขออังกอร์ถ้าวงเล่นดี หรือวงดนตรีจะต้องตอบสนองด้วยการเล่นเพลงเพิ่มตามที่คนดูข้างล่างเวทีขอ เพราะในเมื่อวงก็เล่นจบไปแล้ว อังกอร์จึงเป็นเรื่องที่ ‘ถ้าได้ก็ดี ไม่มีก็ได้’ อย่างที่เรารู้ ๆ กันดี และสำหรับบางวง เราก็คาดหวังได้ว่า จะมีอังกอร์ เพราะเป็นสูตรหนึ่งในการเรียกร้องความสนใจการแสดงคอนเสิร์ตไปแล้ว

แต่เรื่องของอังกอร์ที่ไม่ใช่ปราสาทหิน และไม่เกี่ยวกับละครเสือสมิงสิงร่างคน มันยังมีอะไรมากกว่านั้น…

———-

คำว่า encore หรือ อังกอร์ หรือ อองกอร์ หรือ เอนคอร์ แล้วแต่สำเนียงภาษา (ในบทความนี้จะเขียนคำอ่านว่า อังกอร์ ตามแบบที่คนไทยนิยมเรียกเพื่อความเข้าใจง่าย) เป็นภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายหลากหลายทั้ง ‘ยังคง’ หรือ ‘ยังเหลือ’ หรือ ‘อีกครั้ง’ หรือ ‘เอาอีก’ อย่างไรก็ดี คนฝรั่งเศส อิตาเลียน หรือเยอรมัน ไม่นิยมพูดว่า encore เวลาจะขอให้นักดนตรีเล่นต่อหลังจบเซ็ต แต่นิยมพูดว่า ‘bis’ ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่า ‘ครั้งที่สอง’ มากกว่า คำว่า encore ไปปรากฏในโลกภาษาอังกฤษราวต้นศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่มผู้ชมละครโอเปร่าอิตาเลียนในลอนดอนที่พูดว่า ‘ancora’ ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า ‘อีกครั้ง’ ก่อนที่จะเพี้ยนมาเป็น encore ในที่สุด

การขออังกอร์มีที่มาจากการแสดงดนตรีคลาสสิกหรือโอเปร่า ซึ่งสามารถสืบย้อนไปได้ก่อนศตวรรษที่ 19 เมื่อผู้มีอิทธิพลในสังคม เช่น กษัตริย์ หรือ ขุนนางชั้นสูง ไปชมการแสดงและรู้สึกพึงพอใจจึงขอให้นักแสดงทำการแสดงบางช่วงบางตอนซ้ำอีกครั้งหลังจากการแสดงทั้งหมดจบลงแล้ว ในยุคแรกของการแสดงละครบรอดเวย์ การขออังกอร์จะอยู่ในรูปแบบของการเรียกให้นักแสดงออกมาโค้งคำนับรับเสียงปรบมืออีกครั้งหลังจากม่านเวทีปิดไปแล้ว ขณะที่ในการแสดงดนตรีคลาสสิกที่มีการเผยแพร่โปรแกรมเพลงล่วงหน้า แม้ว่าบางครั้งจะมีการวางแผนไว้แล้วว่าจะเล่นอังกอร์ แต่ก็จะไม่มีการตีพิมพ์ลงไปในโปรแกรม เช่น การแสดงคอนเสิร์ตต้อนรับปีใหม่ของ Vienna Philharmonic Orchestra ในเพลง Radetzky March และ The Blue Danube แม้ว่าจะไม่ได้ระบุไว้ในโปรแกรมว่าจะมีการเล่นอังกอร์ แต่ก็เป็นธรรมเนียมว่าวงจะต้องเล่นอังกอร์สองเพลงนี้ทุกปี

– Radetzky March

– The Blue Danube

จากจุดเริ่มต้นในการแสดงดนตรีคลาสสิก การขออังกอร์ก็แพร่ลามมาถึงวงการดนตรีแขนงอื่น ๆ โดยเฉพาะดนตรีร็อก ที่การแสดงออกของแฟนเพลงร็อกก็มักจะตรงไปตรงมากว่าแฟนเพลงแนวอื่นที่เบากว่านี้อยู่แล้ว ศิลปินหลายวงทำให้อังกอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ด้วยการไม่เล่นเพลงดังของตัวเองจนกว่าจะปิดไฟแล้วรอให้คนดูตะโกนขออังกอร์ถึงจะออกมาเล่น บางวงถึงกับยืนรอบนเวทีเพื่อให้คนดูขออังกอร์ (ซึ่งก็น่าคิดว่าถ้าคนดูกลับบ้านกันหมดจะเป็นยังไงต่อไป?)

แต่อังกอร์เป็นกิจกรรมที่เป็นที่พึงพอใจทั้งฝั่งนักดนตรีและผู้ชมจริง ๆ เหรอ? คำตอบคือ อาจจะไม่เสมอไป และการขออังกอร์อาจจะนำความอึดอัดใจมาให้นักดนตรีมากกว่าที่ผู้ฟังด้านล่างเวทีจะเข้าใจ

นักดนตรีคลาสสิกหลายคนรู้สึกไม่มีความสุขนักกับการเล่นอังกอร์ ขณะที่วาทยกร (conductor) ยืนยิ้มแฉ่งถือไม้บาตอง และให้สัญญาณกับนักดนตรีเพื่อเตรียมเล่นอังกอร์ ฝั่งนักดนตรีก็ไม่มีสิทธิปฏิเสธ แม้ว่าจะผ่านการเล่นดนตรีมาหลายชั่วโมงจนเหนื่อยล้า Fritz Spiegel นักดนตรีชาวออสเตรียถึงกับเคยกล่าวว่า ‘ผู้ฟังพวกนี้ไม่มีบ้านให้กลับกันหรือยังไง?’ Vladimir de Pachmann นักเปียโนชาวรัสเซียเคยกล่าวกับคนดูที่ขออังกอร์ในคอนเสิร์ตเมื่อปี 1896 ว่า ‘ไม่! ไม่! พวกคุณนี่ไม่รู้อะไรบ้างเลยว่าวันนี้ผมเล่นดนตรีได้แย่มาก แล้วยังจะขอให้เล่นซ้ำอีกเหรอ!’ และในการแสดงโอเปร่าเรื่อง Marriage of Figaro เมื่อปี 1786 จักรพรรดิโจเซฟที่สอง แห่งออสเตรีย ก็ถึงกับต้องประกาศจำกัดการขออังกอร์ เพราะทำให้การแสดงยาวขึ้นอีกเป็นสองเท่า

– Marriage of Figaro

ในกลางศตวรรษที่ 19 การขออังกอร์ในการชมโอเปร่าหรือดนตรีคลาสสิกถูกแบนอย่างเป็นทางการในทางตอนเหนือของอิตาลี โรงละครระดับโลกอย่าง La Scala ในอิตาลี หรือ Metropolitan Opera ในนิวยอร์ก ก็ไม่สนับสนุนให้ผู้ชมผู้ฟังขออังกอร์กับนักแสดง โดยเฉพาะท่อนขับร้องเดี่ยว ขณะที่คีตกวี และวาทยากรหลายคนรวมถึงอย่าง Wagner ก็ต่อต้านการขออังกอร์ เพราะเป็นสิ่งที่ขัดขวางความต่อเนื่องราบรื่นของการแสดง

ในแวดวงร็อกที่ผู้ชมผู้ฟังนิยมการขออังกอร์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และนักดนตรีส่วนใหญ่ก็ตอบสนองด้วยดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับการอังกอร์เสมอไป Colonel Tom Parker ผู้จัดการของ Elvis Presley ห้ามไม่ให้ราชาร็อกแอนด์โรลเล่นเพลงอังกอร์สนองความต้องการแฟน ๆ เป็นอันขาด ถึงกับมีสำนวนว่า ‘Elvis has left the building’ เพื่อสื่อให้แฟนเพลงรู้ว่าไม่ต้องรอ พี่เค้าออกจากตึกไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ส่วน Elvis อีกคนคือ Elvis Costello ก็เคยให้ผู้จัดการเปิดเสียง noise ดัง ๆ ผ่านลำโพงเพื่อไล่คนดูที่ไม่ยอมกลับบ้าน และรอฟังเพลงต่อ ให้ออกไปจากฮอล

The Beatles เป็นอีกวงที่ไม่เคยเล่นอังกอร์เนื่องจากเหตุผลว่ากลัวจะคุมแฟนเพลงไม่อยู่จนเกิดจลาจล ส่วน The Who จะเล่นอังกอร์เฉพาะโชว์ที่ทางวงรู้สึกว่า ‘พึงพอใจ’ เท่านั้น

นักดนตรีที่ไม่ชอบการขออังกอร์และแสดงความเห็นได้เผ็ดร้อนสุด ๆ คงจะหนีไม่พ้น Peter Hook ฟรอนต์แมนของวง New Order ที่เปรียบเทียบการขออังกอร์กับการมีเซ็กส์ว่า ‘เหมือนการถูกบังคับให้มีเซ็กส์อีกรอบหลังจากน้ำแตกไปแล้วอะ’

แต่ไม่เป็นไรหรอก เราเชื่อว่านักดนตรีที่ลงเพลงกับ ฟังใจ ส่วนใหญ่น่าจะใจดีพอที่จะเล่นอังกอร์อีกซักเพลงสองเพลงถ้าคุณชอบ และขอฟังต่ออีกซักหน่อย

แต่ถ้าขอแล้วถูกเฉยเมย อันนี้เราก็ไม่รู้ด้วยแล้วล่ะนะ….

 

ที่มา:
‘More!’ The surprising history of the encore
Why Do Bands Still Perform Encores?
Encore
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี