Article Guru

เห็ดyoung 10: โลก (โรค) ซึมเศร้าของนักดนตรี

  • Writer: Chawanwit Imchai

ในช่วงปีที่ผ่านมา ศิลปิน นักดนตรีระดับโลกหลายคน รวมถึงประชากรโลกอีกกว่า 800,000 คน ตัดสินใจจากโลกนี้ไปพร้อมกับความเจ็บป่วยของโรคซึมเศร้า  

งานเสวนา เห็ดyoung ครั้งที่ 10 ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า สาเหตุของการเกิดโรค วิธีการประเมินตัวเองเบื้องต้น วิธีการรักษา วิธีการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นศิลปิน นักดนตรี โดย ฟังใจ ได้จัดช่วงเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และตัวแทนศิลปินที่เข้าใจโรคนี้ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อศิลปิน นักดนตรี รวมถึงคนทั่วไป

img_5350

ทำไมนักดนตรีถึงเป็นโรคซึมเศร้า

พญ. สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 1 เริ่มการตอบคำถามด้วยการแก้ไขความเข้าใจผิดว่า “โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอของตัวบุคคล แต่เกิดจากความผิดปกติของวงจรการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง” ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความคิดด้านลบมากผิดปกติ

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอของตัวบุคคล แต่เกิดจากความผิดปกติของวงจรการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง

ควรเข้าใจว่าโรคซึมเศร้า คือ อาการเจ็บป่วยทางร่างกายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากหลาย ๆ สาเหตุประกอบกัน ทั้งความกดดันแวดล้อม (สภาพเศรษฐกิจและสังคม), บุคลิก/ตัวตน (เช่น เกิดความเครียดง่ายกว่าคนปกติ) รวมถึงการเกิดความผิดปกติทางชีววิทยาของร่างกาย เช่น ตัวรับ-ส่งสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ, ระบบต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ, ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ, พันธุกรรม, หรือผลของการใช้ยาบางอย่างที่กระทบการทำงานของสมอง ซึ่งศิลปิน นักดนตรีเองก็มีสาเหตุของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่ต่างจากคนทั่วไป

มีวิธีการประเมินตัวเองอย่างไร และอะไรคือสัญญาณเตือนว่าควรเข้าพบแพทย์

พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ แนะนำว่าควรเริ่มจากการสังเกตตัวเราก่อนว่า ที่ผ่านมามีความรู้สึก เศร้า ท้อแท้ และสูญเสียความสนใจจากสิ่งที่ชอบ นานต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์หรือไม่ โดยอาจใช้แบบประเมินโรคซึมเศร้าเพื่อวัดผลด้วยตัวเองเพิ่มเติม เช่น แบบประเมินโรคซึมเศร้าของกรมพัฒนาสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (http://www.prdmh.com/แบบประเมินโรคซึมเศร้า-9-คำถาม-9q.html) ซึ่งถ้าผลการประเมินบ่งชี้ว่ามีอาการซึมเศร้า ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาอย่างถูกวิธี โดยแพทย์จะสัมภาษณ์ และ/หรือให้ทำแบบทดสอบ เพื่อวินิจฉัยโรคในลำดับถัดไป

ความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ หมดหวังและไร้ค่า ถือเป็นกลุ่มลักษณะอาการสำคัญที่สะท้อนว่าเรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า หากรู้สึกติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาทางป้องกันและรักษาอย่างถูกต้อง

อะไรที่ทำให้ศิลปิน นักดนตรี มีความเกี่ยวข้อง และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

ถึงแม้จำนวนของผู้ตอบแบบสอบถาม และกลุ่มของผู้ตอบแบบสอบถามโดย ฟังใจ จะยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนมุมมองทั้งหมดของคนในวงการดนตรีของไทยได้ทั้งหมด แต่ผลของการทำแบบสอบถามก็สะท้อนว่าอาชีพศิลปิน นักดนตรี นั้นเกี่ยวข้องและเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าจริง โดยศิลปิน นักดนตรีที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าปัจจัยที่นำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรค คือ ‘ลักษณะของอาชีพ/การทำงาน’ และ ‘ตัวตน และทัศนคติ’ ของตัวศิลปิน นักดนตรีเอง

การทำงานเพลง ซึ่งเป็นงานครีเอทีฟ ทำให้คนเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

แม้ว่าจะมีบทความอ้างถึงว่าคนทำงานสร้างสรรค์ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคไบโพลาร์มากกว่าคนธรรมดาถึง 8% แต่คุณกุ่ย—กวีไกร ม่วงศิริ นักจิตวิทยาการปรึกษา ให้คำตอบว่า “การทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรืองานครีเอทีฟ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวช” และควรระวังการจับคู่เชื่อมโยงปัญหาผิดคู่ โดยคุณกุ่ยกล่าวว่า “ถ้ามองว่างานครีเอทีฟนำไปสู่ความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เรามีแนวโน้มที่จะมองปัญหาหรือแก้ปัญหาผิดจุด ปัจจัยที่เชื่อมโยงไปซึมเศร้าไม่ใช่ความครีเอทีฟ” นอกจากนี้ยังเสริมว่า “การเผชิญความกดดัน ความเครียด ความพยายามที่จะพิสูจน์ตัวเอง เป็นสิ่งที่ทุกอาชีพรวมถึงนักเรียนนักศึกษาต้องเจออยู่แล้ว แต่การฝืนเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นต่างหาก คือปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ไม่เฉพาะแค่กับศิลปิน นักดนตรี”

ถ้ามองว่างานครีเอทีฟนำไปสู่ความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เรามีแนวโน้มที่จะมองปัญหาหรือแก้ปัญหาผิดจุด ปัจจัยที่เชื่อมโยงไปซึมเศร้าไม่ใช่ความครีเอทีฟ

ศิลปิน นักดนตรีที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะรับมือกับโรคนี้อย่างไร

พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ กล่าวว่าการรับมือกับโรคคือการรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะเป็นผู้รักษาโดยการใช้ยาปรับสารเคมีในสมองให้กลับมาสมดุล ร่วมกับการทำจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนและลดความเครียดให้กับสมองควบคู่กันไป ผู้ป่วยควรติดตามการรักษาและปรับยาตามที่แพทย์สั่ง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต การกิน การนอน การออกกำลังกาย การหยุดใช้สารเสพติด จะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำและลดความเสื่อมของสมองจากโรคซึมเศร้าได้ การทำสมาธิก็อาจช่วยให้ระบบการลำดับความคิดของผู้ป่วยดีขึ้น ที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเอง การปรับยาควรเป็นไปตามที่แพทย์สั่ง

ที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเอง การปรับยาควรเป็นไปตามที่แพทย์สั่ง

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น นึกถึงการฆ่าตัวตายตลอดเวลา ก็อาจจะต้องใช้วิธีการที่รุนแรงขึ้น เช่น การช็อตไฟฟ้า Electroconvulsive Therapy (ECT)

บุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยอย่างไร

พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ ชี้ว่าการให้กำลังใจอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น คนดูแล เพื่อนและคนใกล้ชิดควรเข้าใจอาการของโรค รับฟังความรู้สึกของผู้ป่วย หรือพูดเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากแพทย์

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้อาการป่วยแย่ลง ขณะที่ผู้ดูแลผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรที่จะเข้าใจอาการและธรรมชาติของโรค พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือคำพูดให้กำลังใจบางอย่างที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดและกดดัน รวมถึงคอยช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำและเป็นผู้รับฟังที่ดี

สำหรับประเด็นอื่น ๆ สามารถรับชมงานย้อนหลังได้ที่ (https://www.facebook.com/events/360764440995949/)

Facebook Comments

Next:


Chawanwit Imchai

เจมส์ มองอะไรก็เป็นหนัง ฟังอะไรก็เป็นเพลง เลยทำมันทั้งสองอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด ระหว่างนี้ก็ค้นหาความหมายของ sex, drugs, rock n' roll ว่าทำไมคำเหล่านี้ถึงมาอยู่ด้วยกัน