Article Guru

คนหูหนวกนอกจากจะได้ยินเสียงแล้ว ยังรู้สึกถึงดนตรีได้มากกว่าคนธรรมดาอีกนะ

  • Writer: Montipa Virojpan

Music, to me, also was, and is, about the body, about what happens when what we call sound escapes its vacuum and creates ripples in the world.

ทุกวันที่เราฟังเพลงหรือไปคอนเสิร์ตกันเป็นปกติ ยังมีคนกลุ่มนึงที่อาจไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นมาก่อนในชีวิต เคยลองคิดเล่น ไหมว่าคนที่หูหนวกโดยกำเนิด จะรับรู้การมีอยู่ของเสียงเพลงได้ยังไง

หลังจากที่ปล่อยให้สงสัยมานาน ในที่สุดเราก็พบกับคำตอบ พวกเขารับรู้เสียงต่าง ได้ หากแต่ไม่ใช่การได้ยินเสียงเพียงอย่างเดียว พวกเขาสามารถรู้สึกถึงการมีอยู่ของเสียง และเพลิดเพลินไปกับดนตรีได้อีกด้วย

Jason Johnson ประธานร่วมของกลุ่ม Chicago Deaf and Hard of Hearing Cultural Center เขาหูหนวกแต่กำเนิด วันหนึ่งเขาได้ไปชมคอนเสิร์ตของวง Mucca Pazza ความพิเศษของวงดนตรีวงนี้คือพวกเขาถ่ายทอดความรู้สึกของเสียงเพลงได้เกินความคาดหมาย พลังงานอันล้นเหลือของการแสดงและความเต็มที่ของนักดนตรีทำให้ผู้พิการทางการได้ยินรู้สึกสนุกไปกับโชว์ รวมถึงมีการแสดงอื่น ร่วม ไม่ว่าจะเป็นการเต้น เชียร์ลีดเดอร์ แสง สี เสียงตระการตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประกอบสร้างให้คอนเสิร์ตไร้เสียงของเจสันถูกเติมเต็ม เชื่อหรือไม่ว่าเขาคือคนที่มาเต้นอยู่ด้านหน้าสุดของเวที เขาบอกว่าช่วงที่ทรอมโบนกับกลองเล่นประสานกันนั้นเป็นช่วงที่เร้าใจเขาที่สุด

ท่ามกลางสายตาเคลือบแคลงสงสัยของคนที่ได้ยินดนตรีตามปกติ เพราะสงสัยว่าเขามีความสุขได้ยังไงทั้งที่ไม่ได้ยินเสียงดนตรี Dean Shibata นักศึกษาปริญญาโทคณะแพทยศาสตร์จาก University of Rochester School of Medicine ในนิวยอร์ก ได้ศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิด 10 คน กับคนที่หูได้ยิน 10 คน ให้พวกเขาถือท่อชิ้นหนึ่งในมือ แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของท่อในมือจะต้องบอกนักวิจัย ระหว่างนั้นก็จะมีการใช้อุปกรณ์สแกนสมองเพื่อจับสัญญาณความรู้สึกร่วมด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองก็พบว่าคนหูหนวกจะรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ที่สมองส่วนเดียวกับที่คนหูปกติใช้ในการฟังไม่มีผิด ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่คนหูพิการจะสนุกกับดนตรีผ่านแรงสั่นสะเทือนนั้น เขายังแนะนำอีกว่า ผู้ปกครองควรให้ลูกที่หูพิการแต่กำเนิดได้ฟังดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อที่ศูนย์การรับรู้ดนตรีที่อยู่ที่สมองของพวกเขาจะเกิดการพัฒนาเพื่อรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่พยายามเสาะแสวงหาสิ่งทดแทนความบกพร่องในความสามารถทางร่างกายให้กลับมาใช้ได้อย่างปกติครบถ้วนสมบูรณ์ โดยการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือการได้ยินแก่ผู้มีความพิการทางหู หลายคนที่ไม่ได้สูญเสียการได้ยินไปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลือกที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง แต่กับผู้ที่ไม่เคยได้ยินเสียงมาก่อนในชีวิต พวกเขาจะทำอย่างไร

Rachel Kolb นำเสนอเรื่องราวการได้ยินเสียงเพลงของเธอหลังจากปลูกถ่าย *โคเคลียร์ (cochlear) เมื่อ 7 ปีก่อนลงในวิดิโอและบทความของ New York Times ที่ผ่านมาเธอมักจะพบกับคำถามว่า ‘ได้ยินเพลงไหม’ ‘มันเป็นยังไง’ ‘เธอชอบมันไหม’ หรือแม้แต่คำพูดที่ว่า ‘เธอไม่ได้ยินเสียงเพลงหรอ น่าเศร้าจัง’ แต่เธอไม่คิดว่านั่นเป็นเรื่องเศร้าเพราะชีวิตของเธอดีอยู่แล้วแม้ไม่ได้ยินดนตรี จนเมื่อวันหนึ่งเธอได้ปลูกถ่ายโคเคลียร์สำเร็จ เธอเริ่มได้ยินเสียงดนตรีต่าง เสียงแหลม เสียงเบส ทุกอย่างเหมือนเป็นสัญญาณอันแปลกใหม่และวุ่นวายที่ผนวกเข้าด้วยการสั่นสะเทือน ทั้งหมดส่งผลโดยตรงกับร่างกายของเธอ ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นผลดีเสมอไปเธอต้องปรับตัวกับสุ้มเสียงต่าง ที่ผ่านเข้ามา ตอนนั้นเองเธอรู้สึกกลัวและตื่นเต้นในขณะเดียวกัน จนสุดท้ายแล้วเธอก็เลือกเรียนรู้ที่จะต้องร่วมกับมัน ค่อย ๆ ฟังดนตรีมากขึ้นและเริ่มชมคอนเสิร์ตออเคสตร้า ไปจนถึงการเต้นรำ! ตอนนี้เองที่เธอบอกว่าเธอไม่ได้ยินแค่เสียงดนตรี แต่เธอรู้สึกได้ถึงการมีอยู่ของมันจริง นี่อาจเป็นคุณสมบัติที่น่าอิจฉาที่เรเชลได้เห็นรูปแบบของดนตรีในฟอร์มที่ต่างออกไป

ช่วงชีวิตที่เรเชลยังใช้เครื่องช่วยฟังนั้น เธอยังหัดเล่นเครื่องดนตรีอย่างเปียโนและกีตาร์อีกด้วย เธอบอกว่าเธอชอบความรู้สึกที่ปลายนิ้วกดลงบนคีย์ หรือการรับแรงสั่นสะเทือนจากสายกีตาร์ผ่านมายังซาวด์บอร์ดก็ทำให้เธอรู้สึกตื่นเต้น และในกิจกรรมประจำวันแต่ละอย่าง เธอก็สนุกกับการสร้างจังหวะให้การกระทำเหล่านั้นด้วย

I discovered that, even though I undeniably enjoyed listening to the music, my favorite songs were the ones that thrummed with a deep rhythm, that sent the bass vibrating through my body. I danced not only by what I heard, but also by what I felt.

ไม่เพียงแต่การได้ยินหรือรู้สึกกับเสียงดนตรีเท่านั้น คนทั่วไปอาจไม่รู้มาก่อนว่าคนหูหนวกสามารถเรียนทฤษฎีดนตรีได้ พวกเขาจะสามารถทำความเข้าใจดนตรีได้เพียงแค่เคาะให้เกิดจังหวะ หรือคนหูหนวกบางคนก็สามารถเป็นแร็ปเปอร์ได้

Sean Forbes คือคนคนนั้น เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง D-PAN (The Deaf Performing Arts Network) ที่มักทำมิวสิกวิดิโอ ASL (American Sign Language ภาษามือเวอร์ชันอังกฤษ) ออกมาให้ผู้พิการทางการได้ยินเรียนรู้ที่จะสัมผัสดนตรี และยังเรียกตัวเองว่าเป็นนักดนตรีสำหรับคนหูหนวก (a deaf musician)

เขามองว่าการที่คนหูหนวกไม่สามารถได้ยินเสียง แต่สามารถใช้การรับรู้ทางอื่นเช่นการมองเห็น หรือการสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนมากน้อย เมื่อสิ่งเหล่านี้มาประกอบกันก็จะทำให้พวกเขาเข้าใจและสนุกไปกับจังหวะที่สร้างโดยเขาได้ นอกจากนี้ยังมีวงเมทัล/เซิร์ฟร็อกที่ชื่อ Beethoven’s Nightmare ถือเป็นวงร็อกผู้พิการทางการได้ยินวงแรกและวงเดียว ก่อตั้งเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว มาลองดูสิว่าเพลง deaf rock ของพวกเขาเป็นแบบไหน

การได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้ว่า คนที่หูได้ยินเสียงดนตรีบางคนอาจจะได้ยินมันเพียงแค่เป็นเสียงสูงต่ำ ดังเบา ผ่านหูเพื่อสร้างความบันเทิงในแต่ละวัน แต่น้อยคนนักที่จะ ‘รู้สึก’ ถึงการมีอยู่ของมันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในบางครั้ง พาร์ตของดนตรีที่เราไม่ได้ยินนั้นอาจจะเป็นตัวช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าเสียงของมันด้วยซ้ำไป แล้วคุณล่ะ รู้สึกถึงดนตรีบ้างหรือยัง

*โคเคลียร์ คือโครงสร้างรูปเกลียวขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วที่อยู่บริเวณหูชั้นใน ทำหน้าที่แปลงเสียงจากแรงสั่นสะเทือนเชิงกล (mechanical vibration) เป็นสัญญาณซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังสมองทางประสาทรับเสียง

อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2017/11/03/opinion/cochlear-implant-sound-music.html
http://gapersblock.com/transmission/2010/07/22/beyond_vibrations_the_deaf_musical_experience/
http://www.medel.com/th/show/index/id/122/titel/Maximise+the+Potential+of+the+Entire+Cochlea
https://www.webmd.com/a-to-z-guides/news/20011128/deaf-people-can-feel-music
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้