Article Guru

ฉันไม่ชอบดูคอนเสิร์ต : 9 เหตุผลที่คนรักดนตรีเลือกจะฟังเพลงอยู่ที่บ้าน

  • Writer: Montipa Virojpan

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหล่านักชมคอนเสิร์ตหลายคนต่างประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง จากการที่บรรดาศิลปินต่างประเทศพากันตบเท้ามาจัดคอนเสิร์ตในบ้านเราแทบจะทุกวีค ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงโปรโมตงานจะมีเสียงตอบรับ(กรีดร้อง)ที่ดีมว้ากกก จนโปรโมเตอร์ต่างใจชื้นว่าบัตรต้อง sold out แน่ ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ เมื่อถึงเวลาเช็กจำนวนคนที่กดซื้อบัตรยอดกลับไม่กระเตื้องสักนิด นอกจากหลาย ๆ สำนักจะตั้งข้อสังเกตถึงการที่บัตรขายไม่ออกนี้อาจจะเกิดขึ้นจาก กลุ่มเป้าหมายของคนที่เสพวงดนตรีเหล่านี้เป็นคนเดียวกันบ้าง หรือเป็นสายรอของฟรีไม่ยอมควักเงินใช้จ่ายให้กับดนตรีบ้าง หรือถ้าเป็นงานเฟสติวัลก็จะเจอปัญหา รู้จักวงเดียว ไม่ไปดีกว่าไม่คุ้มค่าบัตรบ้าง

ตัวอย่างย้อนไปไม่ใกล้ไม่ไกล สักห้าปีที่แล้วมักจะมีคนบ่นว่าวงนี้โฉบมาแถวบ้านเราแท้ ๆ ไม่เห็นมีใครชวนมาเล่นเลย ซึ่งกรณีนี้มีปัจจัยที่อธิบายได้ สมัยก่อนที่ศิลปินวัดค่าความนิยมในต่างประเทศได้จากยอดขายเทปซีดีเพื่อประกอบการตัดสินใจในการมาโชว์ในประเทศนั้น ๆ แต่อย่างที่รู้กัน ยุคเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกมาเป็นดิจิทัลก็เกิดการแพร่ไฟล์ mp3 ทำให้คนบริโภคเพลงแบบ physical กันน้อยลง จากเดิมการที่คนฟังเพลงทางเลือกก็ยังเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยเพราะคนจะหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยากอยู่แล้ว หรือหาเพลงต่างประเทศฟังก็ต้องไป Tower Records หรือป้าโดเรมีเท่านั้น เลยยิ่งทำให้ศิลปินไม่เสี่ยงจะมาบ้านเราเท่าไหร่

แต่พอสมัยนี้เด็กรุ่นใหม่ ๆ เริ่มฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้น ศิลปินเริ่มปรับตัวกับวัฒนธรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนผันตามเทคโนยีทั่วโลกได้แล้ว สำหรับในไทยอันนี้ก็ต้องขอบคุณโปรโมเตอร์เจ้าแรก ๆ ที่พยายาม approach ไปยัง booking agency อยู่บ่อยครั้งจนศิลปินเกิดความไว้วางใจที่จะให้ออกาไนเซอร์นั้นนี้นำเข้าโชว์ของตัวเองมากขึ้นด้วย ต่อมาจึงเริ่มมีคนกล้าเป็นโปรโมเตอร์กันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ๆ เลยสามารถกระจายการลงทุนให้นำเข้าโชว์ศิลปินมาให้ได้ดูหลาย ๆ วง แต่ผลสุดท้ายความที่อุปทานมากกว่าอุปสงค์ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผลพวงที่ทำให้ยอดขายบัตรคอนเสิร์ตไม่เวิร์คเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันก็มีอีกปัจจัยที่น่าสนใจและอาจมีผลกับการตัดสินใจซื้อบัตรไม่น้อย เราอาจจะมองข้ามกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญอีกกลุ่มนึง—กลุ่มคนที่คุณไม่มีวันจะได้เจอพวกเขาในงานแสดงสดไหน แต่หารู้ไม่ว่าพวกเขาอาจ(เคย)เป็นกลุ่มทุนสำคัญที่ทำให้ศิลปินเบอร์ใหญ่หลาย ๆ คนยอมมาเล่นสดที่บ้านเรา (นี่ไงเลยขายบัตรไม่หมดซักงาน) น่าสงสัยเหลือเกินว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนรักเสียงเพลงเหล่านี้ยอมซื้ออัลบั้มหรือฟังสตรีมมิงอยู่บ้าน โดยปฏิเสธประสบการณ์แสง สี เสียง ในคอนเสิร์ตที่จะให้ความรู้สึกไม่เหมือนกับฟังในแผ่น

จากการสำรวจทำให้เราพบทั้งคนที่เป็นแฟนศิลปินตึกใหญ่ ศิลปินนอกกระแส และศิลปินต่างประเทศ เราจึงขอเลือกสโคปเพียงข้อมูลจากสองกลุ่มหลังเพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายของเราแล้วกัน ปัจจัยหลักที่ทำให้คนที่ชอบฟังเพลงนอกกระแสทั้งไทยและเทศหลายคนที่เคยโอเคกับการไปคอนเสิร์ต ไม่ยอมไปงานพวกนี้อีกแล้วเพราะ

1. ไม่มีเพื่อนไป

notgoingtogigs-07

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พวกเขาคงไม่โอเคแน่ ๆ ถ้าจะต้องไปยืนเจื่อนรายล้อมไปด้วยคนไม่รู้จัก เพื่อนฟังไม่มีแล้ว เพื่อนเต้น เพื่อนเม้า เพื่อนถ่ายรูปก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นพวกเขาเลยยอมที่จะอยู่บ้านเหงา ๆ แม้อยากจะไปกรี๊ดศิลปินโปรดจนหน้าสั่นก็ตาม

2. สถานที่จัดไกล

notgoingtogigs-03

screen-shot-2560-04-07-at-3-19-00-pm

อาจจะไม่ใช่ว่าสถานที่จัดไกลบ้าน แต่คงเป็นเพราะสภาพการจราจรและระบบขนส่งมวลชนบ้านเราไม่ค่อยเอื้ออำนวยการเดินทางที่เร่งรีบจนกลายเป็นสิ่งที่หลายคนประสบปัญหา ถ้าคอนเสิร์ตไหนจัดที่อิมแพคหรือราชมัง ฯ นี่ โอ้โห ไหนจะเดินทางลำบาก รถติด ร้อน อารมณ์เสีย หาที่จอดรถก็ยาก ใครมีรถต้องคิดแล้วคิดอีก คนไม่มีรถยังไม่อยากจะคิด เพราะค่าเดินช่วงรถติดนี่ไม่ธรรมดาแน่ ๆ คนบ้านไกลหรอ อย่าหวังเล้ย

screen-shot-2560-04-07-at-3-19-25-pm

3. ไปดูเฉพาะวงที่ชอบจริง ๆ /หาโอกาสดูที่ไหนไม่ได้แล้ว

notgoingtogigs-02

จากที่เล่ามาข้างบนว่าค่าครองชีพบ้านเราไม่ส่งเสริมให้คนเสพวัฒนธรรมราคาแพง เพราะบัตรวงต่างประเทศส่วนมากจะมีเรนจ์ราคาอยู่ที่ 500-5000 แต่แค่บัตรคอนเสิร์ตหลักร้อยบางคนยังไม่มีความสามารถที่จะจ่ายด้วยความที่การใช้จ่ายส่วนนี้จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นพวกเขาจำเป็นจะต้องเลือก ถ้าได้ไปก็คงไปแค่วงที่ให้ความรู้สึกว่า ถ้าพลาดไปฉันจะนอนตายตาไม่หลับแน่ ๆ

4. คนเยอะ

notgoingtogigs-06

อีกปัจจัยที่ทำให้สายคอนเสิร์ตปันใจได้เพราะคนเยอะเกิ๊น พอคนเยอะแล้วในฮอลก็เบียด อึดอัด บางคนไม่เคารพกติกาก็สูบบุหรี่กันในฮอลแบบหน้าตาเฉยทั้งที่คอนเสิร์ตส่วนใหญ่เป็น no smoking area เวลาเข้าห้องน้ำก็ต้องต่อคิวกันนาน พอจะกลับบ้านทีก็ต้องฝ่ารถติดออกมาจากขบวนมหาชน ดังนั้น พี่จะไม่สู้ค่ะ ขอฟังเพลงเปิดแอร์อยู่บ้านชิว ๆ ต่อไป

5. รำคาญฮิปสเตอร์

notgoingtogigs-08

นี่คือเหตุผลล่าสุดที่เราพบมากในช่วงนี้จากบรรดาคอนเสิร์ตโกเออร์ยุคบุกเบิก ห้าคนจากบรรดาคนที่เราไปสอบถามมาพูดเรื่องนี้กับเรา ซึ่งเราไม่ได้ถามเขาต่อว่าคำจำกัดความของฮิปสเตอร์ในความหมายของเขาคืออะไร แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลที่น่ารำคาญที่คนเหล่านี้รับรู้ร่วมกันคือ ไปคอนเสิร์ตเพื่อแต่งตัวปัง ๆ ให้ได้ลงนิตยสาร หรือเพื่อปาร์ตี้สังสรรค์เข้าสังคม ถ่ายรูป เช็กอินว่าอยู่ด้วยกัน เดินไปเดินมาระหว่างที่ศิลปินกำลังเล่นอยู่ ที่หนักสุดคงจะเป็นการคุยเม้ากันเสียงดังว่า ‘กูชอบวงนี้มาตั้งแต่ปี 20xx’ ‘กูรู้จักนักร้องด้วย’ ‘เขาเล่นแนวลอย ๆ อะมึง โห โคตรดีพ’ หรือวิจารณ์การแสดงของโชว์แทบจะตลอดเวลา แบบนี้ก็ทำให้คนที่ตั้งใจไปดูโชว์และฟังเพลงเฉย ๆ เอือมได้เหมือนกัน

6. ซาวด์ไม่ดีเท่าในแผ่น

notgoingtogigs-05

แต่ละคนมีความคาดหวังกับการฟังดนตรีที่ต่างกัน บางคนตั้งใจจะไปดู performance ที่ทำให้เพลงของวงดูมีชีวิตชีวาไปอีกแบบ บางคนก็คาดหวังสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ว่าก็อยากจะฟังเพลงที่ชัดเหมือนแผ่นด้วย ปัจจัยนี้เป็นปัญหาที่แก้ได้ยากมาก เพราะนอกจากความสามารถการเล่นสดของวงที่จะต้องมีชั่วโมงบินสูงประมาณนึงถึงจะเล่นนิ่ง พลาดน้อย เป๊ะแบบใน audio แต่ก็น้อยวงมากที่อยากเล่นเป๊ะ ๆ เพราะพวกเขาเข้าใจธรรมชาติของการเล่นสดที่มีความ improvise ที่ทำให้โชว์มีสเน่ห์หรือมีสีสันกว่าในแผ่น (นี่คือเหตุผลที่คนชอบดูคอนเสิร์ตเลือกที่จะมากัน)

ข้อจำกัดบางอย่างนอกจากตัวศิลปินก็น่าจะเป็นระบบเสียง การจัดอีเวนต์แต่ละครั้งนอกจากจะมีค่าจ้าง ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พักของศิลปินแล้ว ต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์ ค่าเช่าสถานที่ ซึ่งเมื่อโปรโมเตอร์มีงบประมาณจำกัด บัตรไม่วิ่ง ก็เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ชมจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในโชว์นั้น คนที่เป็นนักฟังที่ concern กับเสียงที่เพอร์เฟกต์แบบ studio version เลยเลือกที่จะอยู่บ้านฟังจากไฟล์แทน

7. สังขารไม่เอื้ออำนวย

notgoingtogigs-01

เหล่า die-hard fans ที่เมื่อก่อนอาจจะบุกน้ำลุยไฟไปดูทุกคอนเสิร์ตที่ขวางหน้า แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปพวกเขาก็ไม่สามารถฟาดฟันแย่งชิงบัตรหรือไปยืนเป็นระยะเวลานานเพื่อเบียดกับแฟนเพลงรุ่นเล็กที่ยังมีพละกำลังเต็มร้อยได้อีกต่อไป มีความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจที่บอกว่า ยิ่งเราโตขึ้นจะได้รับข้อมูลมากขึ้น บางทีก็ตามฟังไม่ไหว และมันจะยิ่งคัดกรองความสนใจให้ไปดูในสิ่งที่ชอบจริง ๆ มากกว่า หรือถ้าไปคอนเสิร์ตก็ไม่แคร์ว่าจะต้องยืนแถวหน้าติดขอบเวทีอีกต่อไป เลือกแค่จุดที่ย่านเสียงโอเค เช่น หน้าคอนโทรลเลอร์ อะไรแบบนั้นมากกว่า

8. I don’t belong here

notgoingtogigs-09

What the hell am I doing here? อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่เพิ่งลองฟังเพลงวงนั้นวงนี้แล้วอยากเข้าไปทำความรู้จักกับซีน แต่ในซีนก็มักจะมีคนที่เห็นหน้าค่าตาหรือรู้จักกัน เรียกว่าเป็น ‘สัตว์หน้าเดิม’ เดินไหล่ชนไหล่ก็ทักได้ตามปกติ แต่เมื่อคนในซีนไม่ให้การต้อนรับผู้เข้าใหม่ด้วยการมองด้วยสายตาแปลก ๆ มีบทสนทนาที่ดูแคลนไม่เป็นมิตร หรือมีคำถามว่า ‘มาทำอะไรที่นี่’ เพราะไม่เคยเจอคนหน้าใหม่คนนี้มาก่อน ก็ทำให้เขารู้สึกไม่อยากมางานแบบนี้อีกแล้วก็ได้ หรือบางทีก็เป็นงานที่รวมกลุ่มคนที่ไลฟ์สไตล์ต่างกับเรามากจนเกินไปจนจูนไม่ติดก็มี

9. วงซ้ำ

notgoingtogigs-04

ถ้าพูดในสโคปของวงดนตรีบ้านเรา ทุกวันนี้มีวงดนตรีผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทำให้การสร้างฐานแฟนเพลงในสมัยนี้เป็นอะไรที่ยากเมื่อผู้ฟังสามารถเลือกฟังได้มากขึ้น จำนวนวงที่มีศักยภาพพร้อมที่จะเล่นสด หรือสปอตไลต์จะส่องไปถึงก็ยังมีน้อย พอบางวงที่แม้จะเพลงดีหรือเล่นดีแค่ไหน แต่ไม่มีใครรู้จักก็ไม่คิดจะเปิดใจไปดูเพราะรู้สึกว่าเสียเงินแล้วจะไม่คุ้ม หรือคนจัดอีเวนต์เองก็เลือกวงที่พอจะเป็นที่รู้จักขึ้นมาหน่อยจะได้มีคนอยากมาดู ไลน์อัพเลยซ้ำ ๆ ทำให้บางคนคิดว่า วงนี้มีเล่นบ่อยแล้วเดี๋ยวค่อยดูก็ได้

เหตุผลที่ว่าอาจเป็นปัญหาของการที่ซีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ฯ เพราะในทางกลับกันถ้าให้วงไปทัวร์ต่างจังหวัด แม้จะมีการสำรวจแฟนเพลงที่สนใจอีเวนต์นี้เป็นอย่างดีแล้วบุกไปเล่นก็มีความเสี่ยง เพราะเราไม่สามารถเชื่ออะไรจากตัวเลขที่เกิดขึ้นมาจากการคลิกที่ไม่เสียเงินสักบาทได้ มันจึงเป็นความวนลูปย่ำอยู่กับที่ที่แก้ไม่ตกสักที


นี่คือ 9 เหตุผลส่วนใหญ่ที่สรุปได้จากการสอบถาม 45 คนที่ให้ความร่วมมือในการศึกษาของเรา ถือเป็นการสำรวจซีนดนตรีนอกกระแสที่พอจะทำให้เรารับรู้ถึงภาพรวมในมุมหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าวงไหนจะ sold out บ้าง (แม้จะดังเป็นพลุแตกแต่บางวงก็มียอดขายบัตรที่น่าใจหาย) แต่อาจจะตอบข้อสงสัยและนำเสนอปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้บัตรคอนเสิร์ตไม่วิ่ง ซึ่งอาจเป็นอีกจุดที่โปรโมเตอร์จัดงานต่าง ๆ อาจต้องให้ความสนใจเพื่อใช้ในการปรับแผนการตลาดของตัวเองได้ 

แต่ก็ไม่ต้องวิตกไปเพราะยังไงก็แล้วแต่ยังมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่รอจะสนับสนุนการนำวงนอกเข้ามาอยู่ คนกลุ่มนี้เชื่อว่า การไปดูคอนเสิร์ตเป็นการปลดปล่อยและคลายเครียด หรืออาจจะมองว่าการแสดงสดเป็นศิลปะอีกรูปแบบนึงที่มีแรงเร้าสูง ซึ่งแตกต่างจากการฟังเพลงอยู่บ้านพอสมควร เพราะการไปดูคอนเสิร์ตก็เพื่อไปดูว่าวงดนตรีนั้น ๆ จะมีวิธีสื่อสารกับคนดูอย่างไรบ้าง perform แบบไหน ต่างจาก studio version ยังไง ด้วยความที่สดจึงทำให้รู้สึกว่ามีพลังงานที่มีเสน่ห์มากทีเดียว (แต่สำหรับบางวง ถ้าฟังเพลงอยู่บ้านอาจจะดีกว่าก็ได้)

แล้วคุณล่ะ ชอบหรือไม่ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะอะไร ?

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้