Article Guru

Industrial Music เสียงแห่งกระแสสำนึกเพื่อตอบโต้ยุคสมัยแห่งจักรกล

  • Writer: Piyakul Phusri

หนึ่งในแนวดนตรีแนวทดลองที่ส่งอิทธิพลต่อแนวดนตรีร่วมสมัยในปัจจุบันมากที่สุด แต่แทบจะไม่ถูกกล่าวถึงเลยคงหนีไม่พ้นแนวดนตรีอินดัสเทรียล (industrial music) ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นการเอาสรรพเสียงในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเสียงโลหะกระทบกัน เสียงการเจาะสว่าน เสียงพังกำแพง เสียงอ๊อกเหล็ก หรือเสียงตอกตะปู มามิกซ์รวมกันกับไลน์เบส กีตาร์ กลอง ซึ่งก็มีทั้งส่วนถูก และส่วนผิด เพราะจริง ๆ แล้ว ที่มาของดนตรีอินดัสเทรียลเกี่ยวพันกับศิลปะแขนงอื่น และยังนำเสนออีกด้านของโลกที่เราเรียกว่าเป็น ‘โลกสมัยใหม่’ ได้เป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 1976 คำว่า industrial music ถือกำเนิดขึ้นบนโลกดนตรีเป็นครั้งแรกเมื่อนักดนตรี และศิลปิน ได้แก่ Genesis P-Orridge Cosey, Fanni Tutti, Peter ‘Sleazy’ Christopherson และ Chris Carter รวมตัวกันตั้งวง Throbbing Gristle ขึ้นที่อังกฤษ พร้อมกับตั้งค่ายเพลง Industrial Music ที่มีสโลแกนว่า ‘industrial music for industrial people’ ทำให้เพลงของวงนี้ และเพลงแนวคล้าย ๆ กัน ถูกเรียกว่าเป็นดนตรีแบบ ‘อินดัสเทรียล’ ตามชื่อของค่ายเพลงนั่นเอง นอกจากที่อังกฤษแล้ว ดนตรีอินดัสเทรียลได้ขยายตัวไปลงหลักปักฐานมีศูนย์ใหญ่ข้ามน้ำข้ามทะเลอยู่ที่เมืองชิคาโก้ โดยมีค่ายเพลง Wax Trax! Records เป็นหัวหอก

อัลบั้ม The Second Annual Report ของ Throbbing Gristle ถือเป็นอัลบั้มที่ทำให้ดนตรีแนวอินดัสเทรียลปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกบนโลกดนตรี

KMFDM หนึ่งในศิลปินเบอร์ต้น ๆ ของค่าย Wax Trax!

ลักษณะเฉพาะของดนตรีแนวอินดัสเทรียลคือ การใช้ซาวด์ดนตรีหยาบกระด้าง แต่รุกเร้าประสาทการได้ยินของผู้ฟัง ใช้การตัดต่อเทปเสียงเพื่อสร้างจังหวะที่ต่อเนื่องแต่มีการใช้เอฟเฟคทำให้เสียงบิดเบี้ยว มีการใช้ซินธิไซเซอร์ ใช้เสียง noise และบ่อยครั้งก็นำเครื่องดนตรีมาเล่นในรูปแบบที่ไม่ธรรมดา เช่น การตั้งเสียงกีต้าร์ให้เล่นออกเหมือนเสียงแก้วแตก เคาะสายกีต้าร์เหมือนเล่นเครื่องเคาะจังหวะ การเล่นดนตรีด้วยเสียงที่ดังมาก ด้วยคลื่นความถี่เสียงที่ทั้งสูงมาก และต่ำมาก เพื่อให้เกิดปฏิกิริยากับร่างกายของผู้ฟัง บ่อยครั้งมีเนื้อร้องกระจัดกระจาย ไม่ได้มาเป็นท่อน verse-chorus-verse เสียงร้องถูกนำไปปรับแต่งจนไม่เหมือนเสียงนักร้องจริง ๆ การแสดงของวงอินดัสเทรียลยุคแรก ๆ มักจะยั่วล้อกับมาตรฐานทางศีลธรรม เช่น การนำเสนอภาพแนวคิดแบบฟาสซิสม์ หรือ ค่ายกักกันเชลยชาวยิวของนาซีบนเวที หรือ การแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศแบบซาดิสม์-มาโซคิสม์ที่รุนแรง รวมไปถึงการยั่วยุ หรือ แม้กระทั่งจู่โจมทางกายภาพใส่คนที่มาดูคอนเสิร์ตโดยตรง เช่น การแสดงของ Throbbing Gristle ที่ฉายไฟแรงสูงอัดใส่ผู้ชม

– การแสดงสดของ Throbbing Gristle เมื่อปี 1980

ดูเหมือนดนตรีอินดัสเทรียลจะไม่มีความน่ารื่นรมย์เอาเสียเลยทั้งทางด้านเสียง ภาพ และ การแสดง ซึ่งก็สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของกลุ่มนักดนตรีอินดัสเทรียลยุคบุกเบิกที่ต้องการทำให้ดนตรีของตนเป็น ‘anti-music’ ด้วยการตีความหมายของดนตรีไปให้ไกลกว่าดนตรีร็อก และดนตรีเต้นรำที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น เพราะแรงบันดาลใจในการสร้างดนตรีอินดัสเทรียลยุคบุกเบิกส่วนหนึ่งมาจากงานศิลปะที่ยั่วล้อกับมาตรฐานของสังคม หรือ หลุดพ้นจากคุณค่าทางศิลปะแบบดั้งเดิม เช่น ศิลปะอาวองการ์ด แนวดาด้า แนวเหนือจริง (surrealism) ดนตรีแนวทดลองต่าง ๆ บทกวีแนวบีทของ William S. Burroughs ไปจนถึงความคิดด้านปรัชญาของ Friedrich Nietzsche นักปรัชญาชาวเยอรมันที่มองว่าสังคมยุคใหม่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยศีลธรรมอีกต่อไป แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม แม้แต่ศีลธรรมเอง ก็เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น P-Orridge แห่ง Throbbing Gristle ถึงกับเคยกล่าวว่า ‘ดนตรีแต่เดิมนั้นวางพื้นฐานอยู่บนเรื่องราวของความทุกข์ และการเป็นทาส เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะอัพเดทมันซักหน่อย อย่างน้อยก็ให้เป็นยุควิคตอเรีย ซึ่งเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม’ อย่างไรก็ตาม ดนตรีอินดัสเทรียลไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่องโลกแห่งอุตสาหกรรม หรือ โลกสมัยใหม่ที่ก้าวพ้นจากสังคมเกษตรกรรม แต่พยายามสื่อสาร และกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังเข้าถึงความน่ากลัว ความแปลกแยก และความบิดเบี้ยว ที่เกิดจากเทคโนโลยีการผลิต และเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่แม้ว่าจะก้าวหน้าขึ้น แต่มันก็ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของผู้คนด้วยวิธีการที่แยบยลมากขึ้นเช่นกัน และผู้ที่สามารถควบคุมการเข้าถึง และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ก็คือผู้มีอำนาจตัวจริงของโลกยุคปัจจุบัน

– ภาพ L.H.O.O.Q. ของ Marcel Duchamp ศิลปินแนวดาด้า ที่ตีความภาพโมนิลิซ่าใหม่ด้วยการจับมาเติมหนวดเติมเครา

– William S. Burroughs นักเขียนยุคบีทเจ้าของบทกวี Naked Lunch ที่โด่งดัง (ภาพจาก Loomis Dean—Time & Life Pictures/Getty Images)

– Friedrich Nietzsche นักปรัชญาเจ้าของวลีสุดท้าทายความเชื่อ ‘พระเจ้าตายแล้ว’ (Gott ist tot)

John Savage ผู้สื่อข่าวสายดนตรีกล่าวถึง 5 องค์ประกอบสำคัญของดนตรีอินดัสเทรียล ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘คำประกาศของดนตรีอินดัสเทรียล’ (industrial manifesto) ว่าต้องประกอบไปด้วย

1) การเข้าถึงข้อมูล

หนึ่งในแนวคิดหลักของดนตรีแนวอินดัสเทรียลคือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ อย่างเสรี สามารถเข้าถึงสิ่งที่โทรทัศน์ หรือ สื่ออื่น ๆ (ในห้วงยุค 70s ซึ่งเป็นเวลาที่ดนตรีแนวนี้กำเนิดขึ้น) ไม่สามารถมอบให้ได้ การแสดงของวงอินดัสเทรียลยุคบุกเบิกจึงมักจะนำเสนอสิ่งที่สื่อสมัยนั้นหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง เช่น แนวคิดฟาสซิสม์ การลักพาตัว ความต้องการทางเพศในรูปแบบแปลก ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมิติที่ซับซ้อนของเทคโนโลยีที่มีความย้อนแย้ง เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะก้าวหน้าขึ้น แต่เนื้อหาที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ก็ยังถูกปิดกั้น และดนตรีอินดัสเทรียลก็ได้นำสิ่งที่ถูกปิดกั้นนั้นกลับมาให้เห็นอีกครั้ง

2) การเล่นกับความช็อก

เป็นเทคนิคที่ศิลปินแนวอินดัสเทรียลได้รับมาจากงานศิลปะแนวเหนือจริง (surrealism) ด้วยการสื่อสารกับผู้ฟัง และผู้ชมด้วยเนื้อหา รูปแบบ และเทคนิคที่พวกเขาคาดไม่ถึงมาก่อน แม้ว่าจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ผู้รับสารบ้างก็ตามที แต่เป็นการพาผู้รับสารข้ามพ้นข้อจำกัดของสื่อยุคใหม่ไปอีกระดับหนึ่ง

3) การจัดการองค์กรโดยเอกเทศ

ค่ายดนตรีอินดัสเทรียลยุคบุกเบิกทั้ง Industrial Records และ Wax Trax! แยกตัวเองออกมาจากธุรกิจดนตรีกระแสหลักอย่างเด็ดขาด โดยดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ไม่สนกระแสดนตรีแนวอื่น

4) ใช้องค์ประกอบพิเศษอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับดนตรีมาร่วม

การแสดงของวงดนตรีแนวอินดัสเทรียลไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเล่นดนตรีให้ดูให้ฟัง แต่ยังมีการนำเอามัลติมีเดียต่าง ๆ เข้ามาช่วยเสริมเพื่อสร้างประสบการณ์การรับสารให้ผู้รับสาร เช่น การใช้คลื่นความถี่เสียงสูง-ต่ำเป็นพิเศษ การฉายภาพเคลื่อนไหวประกอบ ไปจนถึงการออกแบบแนวคิดทางศาสนา และปรัชญาเป็นของตัวเอง

5) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเป็น Anti-Music

ดนตรีอินดัสเทรียลใช้เทคโนโลยีเพื่อฉีกตัวเองหนีไปจากดนตรีกระแสนิยม (โดยเฉพาะดนตรีร็อก) ด้วยการใช้เทคโนโลยีทำให้เสียงน้องบิดเบี้ยวจนบางทียากที่ผู้ฟังจะเข้าใจได้ว่าเนื้อร้องคืออะไร แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้ผู้ฟังตีความสิ่งที่ฟังด้วยตนเองไปให้ไกลกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับดนตรีร็อกตามกระแสนิยมอย่างชัดเจน

ดูเหมือนว่าดนตรีอินดัสเทรียลจะเป็นอะไรที่ฟังได้วิบากยากเย็น และเรียกร้องอะไรต่อมิอะไรจากคนฟังมากเหลือเกิน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของดนตรีอินดัสเทรียลเกิดขึ้นเมื่อปี 1988 เมื่อ Ministry วงดนตรีจากชิคาโก้ ออกอัลบั้ม The Land of Rape and Honey ซึ่งได้นำเอากีต้าร์แบบเมทัล มาผสมกับ noise แบบดนตรีอินดัสเทรียล และจังหวะแบบเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการสร้างข้อต่อระหว่างดนตรีอินดัสเทรียล กับ ดนตรีเมทัล ขึ้นเป็นครั้งแรก และดนตรีอินดัสเทรียลก็ได้เข้าไปผสมผสานกับดนตรีแนวอื่น ๆ จนแตกเครือญาติออกมาเป็น industrial rock (ที่มีศิลปินดังอย่าง Nine Inch Nails เป็นตัวชูโรง) และ industrial metal (เช่น วง Rammstein) เสียงสังเคราะห์แบบอินดัสเทรียลยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของดนตรี EDM แนว dubstep trap hardstyle และแนวอื่น ๆ อีกมากมายที่เน้นเสียงสังเคราะห์กระซวกหู

The Land of Rape and Honey จาก Ministry

Hurt จาก Nine Inch Nails

– การแสดงสดของ Rammstein

โลกกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industrial 4.0 ที่เทคโนโลยีจะยิ่งเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์มากขึ้น สวนทางกับสภาพสิ่งแวดล้อมโลกที่ย่ำแย่ลงทุกวัน และประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจนเกินกำลังที่โลกใบนี้จะรับไหว

ไม่แน่ว่า ตอนนี้อาจจะมีนักทำเพลงอินดัสเทรียลสายลึกกำลังพัฒนา industrial music 4.0 เพื่อปลุกกระแสสำนึกของพวกเราอยู่ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้…

ที่มา:

Industrial music
Industrial music
Assimilate: A Critical History of Industrial Music
What exactly is industrial music?

 

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี