Article Guru

They Sang Before They Were Killed เรื่องราวบางเสี้ยวของบทเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง

  • Writer: Piyakul Phusri

เช้าตรู่ของวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เขมรแดง’ กรีฑาทัพเข้าสู่กรุงพนมเปญ ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวพนมเปญที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนในอนาคต เพราะหลังจากนั้นเขมรแดงก็ได้สังหารประชาชนไปกว่า 3 ล้านคน ในระยะเวลาเพียง 4 ปี นับเป็นห้วงเวลาแห่งการสังหารหมู่ที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษที่ 20

หลังจากเช้าวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศกัมพูชาก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลจากการถูกเขมรแดงลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์ รวมไปถึงวงการดนตรีร่วมสมัยของกัมพูชาที่ครั้งหนึ่งเคยโดดเด่นและน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค

———-

หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 เจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ทรงนำดนตรีมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศเกิดใหม่นี้ด้วยการให้การอุปถัมภ์นักดนตรีประจำราชสำนักหลายคนให้สร้างผลงานสไตล์ใหม่ ๆ เช่น Sinn Sisamouth ซึ่งเริ่มต้นอาชีพนักดนตรีหลวงด้วยการเป็นนักร้องแนวบัลลาดในพระราชวัง ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฉายา ‘ราชาร็อกแอนด์โรลแห่งกัมพูชา’ ในปลายยุค 1960s เจ้านโรดม สีหนุ นำเข้าดนตรีตะวันตกหลากหลายแนวสู่กัมพูชา ควบคู่กับการนำเข้ามาโดยชาวกัมพูชาที่ร่ำรวยซึ่งสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส ในยุคนั้นมีค่ายเพลงผุดขึ้นมากมายในกัมพูชา และมีไนต์คลับสำหรับการฟังดนตรี-เต้นรำอยู่ทั่วไปในกรุงพนมเปญ

ปัจจัยอีกประการที่เป็นตัวขับเคลื่อนวงการดนตรีร่วมสมัยของกัมพูชาในขณะนั้นคือการเกิดขึ้นของค่ายทหารอเมริกันในเวียดนามที่มีสถานีวิทยุตั้งอยู่ด้วย สถานีวิทยุเหล่านี้ทำให้นักดนตรีชาวกัมพูชาได้รู้จักกับ Jimi Hendrix, The Doors, Janis Joplin และ ศิลปินแนวร็อก, อาร์แอนด์บี, โซล และคันทรี่ คนอื่น ๆ อีกมากมาย แนวดนตรีตะวันตกจากอเมริกันเหล่านี้ รวมไปถึงอิทธิพลดนตรีละติน และอื่น ๆ ได้เข้าไปผสมกลมกลืนกับเนื้อร้อง และเครื่องดนตรีพื้นถิ่นของกัมพูชา จนเกิดเป็นดนตรีที่มีกลิ่นอายเฉพาะตัวแบบตะวันตกพบตะวันออก

และเมื่อเข้าสู่ยุคเขมรแดงครองเมือง ดนตรีตะวันตกก็ถูกแบนไปโดยสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่ประชาชนชาวกัมพูชาจะฟังและเล่นได้คือดนตรีพื้นเมืองดั้งเดิมของกัมพูชา โดยต้องมีเนื้อหาเชิดชูอุดมการณ์ของเขมรแดงเท่านั้น

———-

ในยุครุ่งเรืองของดนตรีกัมพูชาช่วงปี 1960s – 1970s ซุปเปอร์สตาร์ฝ่ายชายที่โด่งดังที่สุดของประเทศในขณะนั้นคือ สิน ศรีสมุทร เจ้าของฉายา ‘ราชาร็อกแอนด์โรลแห่งกัมพูชา’ ส่วนซุปเปอร์สตาร์ฝ่ายหญิงของประเทศคือ Ros Serey Sothea เจ้าของฉายา ‘ราชินีเสียงทอง’

 

สิน ศรีสมุทร เกิดที่จังหวัดสตึงเตรงทางตอนเหนือของประเทศในปี พ.ศ. 2478 เขามีความสามารถด้านการเล่นดนตรี และร้องเพลงตั้งแต่ยังเด็ก แต่เนื่องจากความคาดหวังของครอบครัว เขาจึงเดินทางเข้ามาศึกษาที่โรงเรียนแพทย์ในกรุงพนมเปญตอนอายุ 16 ปี ก่อนจะทำงานเป็นบุรุษพยาบาลที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญควบคู่ไปกับการเริ่มแต่งเพลงด้วยตนเอง

และโชคชะตาก็นำพาเขาเข้าสู่วงการดนตรี หลังจากสถานีวิทยุแห่งชาติกัมพูชามองเห็นแววในการเป็นนักร้อง จึงได้จ้างให้เขามาเป็นนักร้องประจำวงของสถานี ความสามารถด้านดนตรีของเขาเป็นที่โปรดปรานของราชสำนักกัมพูชา สินจึงถูกเรียกตัวเข้าวังให้ไปเป็นนักร้องในงานของราชสำนักและงานเลี้ยงรับรองระดับชาติ ในช่วงแรกของชีวิตการเป็นนักร้องอาชีพ สินร้องเพลงแนวบัลลาดหวานซึ้ง และเพลงที่ทำให้เขาดังเป็นพลุแตกคือเพลง Violon Sneha

เพลง Violon Sneha เวอร์ชั่นของ Thet Sambath ไม่สามารถหาเวอร์ชั่นของ สิน ศรีสมุทร ได้

เสียงของ สิน ศรีสมุทร มีเอกลักษณ์ตรงการฮัมคล้าย ๆ Frank Sinatra หรือ Nat King Cole ในปลายยุค 1950s เขาได้เปลี่ยนแนวมาร้องเพลงป็อป ถือเป็นศิลปินผู้สร้าง พัฒนา และเผยแพร่เพลงป็อปที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ฟังมากที่สุด สิน ศรีสมุทร เป็นเป็นนำเทรนด์ดนตรีใหม่ ๆ จากตะวันตก เช่น ละตินแจ๊ส ชะชะช่า ไปจนถึงไซคีเดลิกร็อก เข้าสู่หูผู้ฟังชาวกัมพูชา และยังเอาทำนองเพลงดัง ๆ จากตะวันตกมาใส่เนื้อเป็นภาษากัมพูชา หรือ ‘เพลงแปลง’ เชื่อว่าตลอดชีวิตการทำงาน เขาได้แต่งเพลงไว้มากกว่า 1,000 เพลง ทั้งสำหรับให้ตัวเองร้อง และให้ศิลปินคนอื่น ๆ นำไปร้อง

— Champa Battambang ‘จำปาพระตะบอง’

— Srolanh Srey Touch ‘Black Magic Woman แบบขแมร์’

— Prous Teh Oun กรุ่นกลิ่นไซคีเดลิก สำเนียงกัมพูชา

ระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชาในช่วงต้นทศวรรษ 1970s สิน ศรีสมุทร เป็นฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐเขมร โดยการนำของนายกรัฐมนตรีลอน นอล ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อถึงตอนจบของสงคราม ฝ่ายสาธารณรัฐเขมรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยที่ฝ่ายผู้ชนะคือ ‘เขมรแดง’ หลังยุคเขมรแดง สิน ศรีสมุทร ก็หายตัวไป เชื่อได้ว่าน่าจะถูกสังหารโดยฝ่ายเขมรแดง และไม่มีผู้ใดพบศพของเขาจนถึงปัจจุบัน…

———-

สำหรับชีวิตของ รส เสรีโสธา ไอดอลฝ่ายหญิงแห่งยุค 60s – 70s ของกัมพูชา เธอเกิดราวปี พ.ศ. 2491 ในครอบครัวยากจนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพระตะบอง รส มีความสามารถด้านการร้องเพลงตั้งแต่ยังเด็ก แต่ความสามารถของเธอปรากฏต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อเพื่อนคะยั้นคะยอให้เธอลงประกวดร้องเพลงระดับท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2506 การประกวดครั้งนั้นทำให้เธอมีชื่อเสียงไปทั่วจังหวัด และได้งานร้องเพลงที่ภัตตาคารในท้องถิ่น ก่อนที่จะถูกเชิญให้เข้าร่วมวงดนตรีของสถานีวิทยุแห่งชาติในปี พ.ศ. 2510 โดยมีเพลงฮิตเพลงแรกคือเพลง Stung Khieu

เสียงที่สูง และน้ำเสียงที่ใสของ รส เสรีโสธา ทำให้เธอได้รับความนิยมไปทั่วประเทศในเวลาไม่นาน และได้ร้องเพลงคู่กับ สิน ศรีสมุทร หลายเพลง จนกลายเป็นคู่ไอดอลที่โด่งดังที่สุดของกัมพูชาในยุคนั้น ในช่วงแรกของอาชีพนักร้อง รส ร้องเพลงบัลลาดกัมพูชาเหมือนกับ สิน เมื่ออิทธิพลของแนวดนตรีจากตะวันตกเข้าสู่กัมพูชามากขึ้น เธอก็เป็นนักร้องให้กับวงดนตรีแบ็กอัพที่มีกีต้าร์ไฟฟ้า กลองชุด และออร์แกน เป็นเครื่องดนตรี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเพลงที่เจ๋งมาก ๆ ด้วยกลิ่นอายไซคีเดลิก ร็อก ที่ร้องด้วยภาษากัมพูชา

— Jam 5 Kai Theit

— Chnam Oun 16

นอกจากการเป็นนักร้อง รส เสรีโสธา ยังมีความสามารถด้านการแสดงโดยได้ร่วมแสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง (น่าเสียดายที่ภาพยนตร์จำนวนมากถูกเขมรแดงทำลายไม่เหลือ) และเช่นเดียวกับ สิน ศรีสมุทร ระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา รส เสรีโสธา ก็เป็นฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐกัมพูชา โดยได้ร้องเพลงปลุกใจให้กองทัพฝ่ายสาธารณรัฐกัมพูชาหลายเพลง หลังจากเขมรแดงปกครองประเทศกัมพูชา ก็ไม่มีผู้พบเห็นเธออีกเลย สันนิษฐานว่าชะตากรรมของเธอคงไม่ต่างจากศิลปิน นักดนตรี และนักวิชาการของประเทศ ที่ถูกเขมรแดงนำตัวไปกำจัด…

———-

แม้ว่าผลงานต้นฉบับของ สิน ศรีสมุทร และ รส เสรีโสธา ตลอดจนศิลปินกัมพูชาคนอื่น ๆ จะถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ แต่ก็ยังมีนักสะสมผลงานของศิลปินเหล่านี้ และนำมาผลิตซ้ำหลังสิ้นสุดยุคเขมรแดง วงดนตรีกัมพูชายุคใหม่ ยังคงขับขานเสียงเพลงของพวกเขาผู้จากไปด้วยไฟสงคราม และสตูดิโอในต่างประเทศก็นำเพลงกัมพูชามาตีความใหม่ และ remix ใหม่ให้มีรสชาติที่ร่วมสมัยมากขึ้น

พวกเขาอาจจะตายเพราะร้องเพลง แต่เพลงที่พวกเขาร้อง จะไม่มีวันตาย…

ฟังเพลงประกอบภาพยนตร์สารคดี Don’t think I’ve forgotten กำกับโดย John Pirozzi ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับวงการดนตรีกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง และได้คัดสรรเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดงมาประกอบสารคดีได้อย่างน่าฟังที่

 

ที่มา
Cambodian Surf Rockers Were Awesome, but the Khmer Rouge Killed Them
The Nearly Lost Story Of Cambodian Rock ‘N’ Roll
CULTURE-CAMBODIA: Pre-War Khmer Music Making a Comeback
Ros Serey Sothea
Sinn Sisamouth
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี