ไขข้อข้องใจ Lo-Fi Hip Hop เข้าไปรู้จักถึงใจกลางความชิล

Article Guru

ไขข้อข้องใจ Lo-Fi Hip Hop เข้าไปรู้จักถึงใจกลางความชิล

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Sanhanut Tiracheep

ถ้าคุณกำลังทำงานอยู่ในออฟฟิศที่วุ่นวาย หรืออยากจะโฟกัสกับหนังสือตรงหน้าให้ได้ก่อนที่จะสอบในอีกไม่กี่วัน เราก็มักจะเลือกฟังเพลงที่แล้วผ่อนคลายมากกว่า หลายคนอาจเลือกเสียงจากธรรมชาติทั้งเสียงฝน เสียงในสวนหรือเสียงในร้านกาแฟสร้างบรรยากาศที่ไม่กดดันเราจนเกินไป แต่หลายคนเพิ่งค้นพบว่ามีดนตรีอีกแนวหนึ่งที่ผ่อนคลายเราได้ดีอย่างน่าประหลาด แถมยังฮิตกันอยู่บน YouTube ตอนนี้นั่นคือ lofi hip-hop

แนวเพลงฮิปฮอปบรรเลงถูกเชิดชูและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นหลังจากอัลบั้ม 2001: Instrumentals Only ของ Dr. Dre ออกสู่หูประชาชน ประกอบด้วยเสียงเครื่องดนตรีอันน่าทึ่งมากมายแถมยังมีความเป็นคอนเซ็ปชวลอาร์ตประมาณหนึ่ง กลายเป็นคลื่นใต้น้ำผลักดันให้นักทำดนตรีรุ่นใหม่ ๆ กล้าที่จะทดลองกับสไตล์ดนตรีใหม่ ๆ มากขึ้น อย่างการใช้เสียง lo-fi หรือเครื่องดนตรีจากยุคก่อนมาผสมเข้ากับการร้องฮิปฮอปหรือการร้องแบบโซล ทำให้เกิดการวิวัฒนาการแนวดนตรีที่น่าสนใจ

โปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดในด้านการทำเพลงแนวนี้คือ Nujabes ที่ถ่ายทอดเสียงขีดเขียนบนแผ่นไวนิลอันอบอุ่นกับเสียงซ่า ๆ ของเครื่องดนตรีที่อัดมาไม่ได้ประณีตอะไรมากมาย ซึ่งบันดาลใจให้กลุ่มคนหันมาสนใจเพลง lofi hiphop ส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจากซาวด์ยุค 90s ที่น่าตื่นเต้น นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ lo-fi hip-hop มักจะพวงไปกับภาพอนิเมะบนปกอัลบั้ม หรือเหล่าตัวการ์ตูนอนิเมชันที่ได้อิทธิพลมาจากญี่ปุ่น ในช่วง 90s ที่การ์ตูนญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้าไปในอเมริกา แน่นอนต้องมี ‘Samurai Champloo’ ที่ดังสุด ๆ ด้วย ทำให้ซาวด์แทร็ก lo-fi เท่ ๆ ของ Nujabes ที่ทำประกอบการ์ตูนเรื่องนี้ เข้าถึงหูเด็กวัยรุ่นอเมริกาไปด้วย อีกหนึ่งคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาสนใจดนตรีแนวนี้คือ J Dilla ที่เป็นผู้บุกเบิกแนวเพลง lo-fi hiphop คนแรก ๆ เลยก็ว่าได้ จากการนำเสียงกลองแบบ boom bap มาผสมกับการแร็ปได้อย่างลงตัว หรือบางทีก็ใส่บทสนทนาที่ไม่เกี่ยวกับเพลงลงไป แต่กลับทำให้เกิดบรรยากาศเหงา ๆ ขึ้นมาได้ กลายเป็นแนวทางในการทำดนตรีที่น่าสนใจมาก

เนื่องจากอิทธิพลของเพลงแนวนี้มากับการ์ตูน ทำให้ศิลปินที่หลงเสน่ห์ของ lofi hiphop ส่วนใหญ่อายุยังไม่ถึง 20 กัน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงานเลยเพราะพวกเขาสามารถทำทุกอย่างได้บนคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันก็มีโปรแกรมมากมายที่สามารถนำมาแต่งเพลงเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะเป็น Ableton หรือ FL Studio แถมเสียงขีดบนไวนิลก็มีแซมเปิ้ลให้โหลดได้บนเน็ต lo-fi ยังเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าสำหรับศิลปินที่ไม่เคยฝึก mixing มาก่อน แค่ทำให้มันเป็น lo-fi ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพเสียงแล้ว เมื่อเหล่านักทำดนตรีที่หลงใหลใน lofi hiphop ล้วนไปกระจุกตัวอยู่ใน Soundcloud เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ก่อนจะเข้าถึงหูคนฟังทั่วไปบน YouTube จนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีนี้

หนึ่งในนั้นคือช่อง NEOTIC ที่เปิดเพลง lofi hiphop ตลอด 24 ชั่วโมง กลายเป็นวิทยุชุมชนที่คอยสร้างบรรยากาศชิล ๆ ไปทั่วบ้านทั่วเมืองเพราะจะเปิดฟังเมื่อไหร่ก็ได้ แม้เพลงแนวนี้ยังมีความเป็นดนตรีทดลองอยู่มาก แต่ช่วงยุคหลัง ๆ หลายเพลงมักจะประกอบขึ้นมาจากเสียงกลองนุ่ม ๆ และดนตรีคลาสสิกแจ็ซที่ทำให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลายได้ โปรดิวเซอร์หลายคนก็ตั้งธงไว้ในใจเลยว่าจะทำเพลงแนวนี้ขอให้ฟังแล้วรู้สึกสบายใจไว้ก่อน

Dazed นิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมได้ไปสัมภาษณ์ Steven Gonzalez เจ้าของช่อง NEOTIC บน YouTube ที่มีเพลงแนว lo-fi hip-hop กว่าพันเพลงและไลฟ์เพลงเหล่านี้ทั้งวันทั้งคืน โดยเขาบอกว่า “ผมต้องจมอยู่กับความเครียดมากมายและค้นพบว่าเพลงแนว lo-fi hip-hop สามารถดึงความสนใจผมออกจากเรื่องแย่ ๆ เหล่านั้นได้ ผมเลยเริ่มศึกษาการทำวิชวลประกอบเพลงเพื่อให้ทุกคนถ่ายทอดความรู้สึกทั้งรัก ยาเสพติด เกมและหนังด้วยวีดีโอที่สัมพันธ์กับเพลง” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกับ Luke Pritchard และ Jonny Laxton เจ้าของช่อง College Music ที่เบื่อกับชีวิตประจำวันจนเสิร์ชเน็ตไปเจอเพลงเหล่านี้และอยากไลฟ์ให้ทุกคนได้ลองฟัง “lo-fi hiphop ควรมีที่ยืนบนสตรีมมิ่ง ยิ่งมีภาพเคลื่อนไหวบนวีดีโอยิ่งทำให้รู้สึกเหมือนมันมีชีวิตและตอบโต้กับคนฟัง ยิ่งเป็นวีดีโอจากการ์ตูนหรือหนังที่พวกเขาชอบก็ยิ่งทำให้กล่องแชตมีการโต้ตอบกันมากขึ้น”

Ninjoi หนึ่งในนักทำดนตรีแนว lo-fi hiphop แถวหน้าก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าการใช้ปกอัลบั้มเป็นภาพอนิเมะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นสิ่งจำเป็นมาก “ความตลกก็คือถ้าคุณใช้ภาพอนิเมะเป็นปกเพลงของคุณจะทำให้เพลงนั้นถูกฟังมากขึ้นบน Soundcloud ผมเคยทดลองครั้งหนึ่งแล้ว และเพลงนั้นถูกฟังมากกว่าเพลงอื่น ๆ ของผมจริง ๆ” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเขาคิดถึงการ์ตูนที่เคยดูเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่งที่ศิลปินใช้รูปจากการ์ตูนญี่ปุ่นเพราะการ์ตูนเหล่านั้นมักมีช่วงเวลาซึมเศร้าหรือตอนเหงา ๆ มากมาย เมื่อเอาประกอบกับเพลงที่มีจังหวะหว่อง ๆ แบบนี้แล้วก็ทำให้มันเข้ากันได้อย่างน่าประหลาด

Drippy Jo เจ้าของช่อง ChilledCow สตรีมมิง lo-fi hip-hop ชื่อดังอีกแห่งที่โด่งดังจากการใช้คลิปวีดีโอเด็กผู้หญิงนั่งทำการบ้านเวอร์ชั่นใหม่ (เวอร์ชั่นเก่าเคยเป็นของช่อง Chillhop Records แต่ถูกแบนเพราะติดลิขสิทธิ์ของค่าย ‘Studio Shizu’ จากการเอาอนิเมชั่นของค่ายนี้เรื่อง Wolf Children มาใช้เป็นวีดีโอ ซึ่งเป็นซีนที่แม่ของเด็กทั้งสองในวัยรุ่นกำลังทำการบ้านเหมือนกัน) พูดไว้ได้น่าสนใจว่า “คนฟังกล้าที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้าในทุกสิ่งที่นึกได้ผ่านกล่องแชต เหมือนคนที่กำลังฟังเพลงด้วยกันเป็นครอบครัวเดียวกันเลยทีเดียว” ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยไว้ปลดปล่อยอารมณ์ขุ่น ๆ ของเราบนอินเทอร์เน็ตได้แบบนี้อยู่บ้าง ก็คงจะดีไม่น้อยเหมือนกันนะ

 

HOCKHACKER หนึ่งในกลุ่ม Rap Against Dictatorship ตีแผ่รัฐบาล ท.บริหาร

Hip Hop and Drug Dealers : เรื่องยา ๆ ของผู้ค้าและผู้เสพในเพลงฮิปฮอป

 

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา