Article Guru

POLYCAT ศิลปินที่ทำให้เทปคาสเซ็ตกลับมามีชีวิตอีกครั้งในไทย

คาสเซ็ตเป็นฟอร์แมตการฟังเพลงที่ทุกคนคิดว่าได้ตายไปแล้วหลังจากโลกได้รู้จักกับซีดี ด้วยข้อจำกัดของเทปที่ดูแลรักษาก็ยาก คุณภาพเสียงก็ไม่ได้ดีที่สุด ต้องเก็บให้พ้นแสงและความร้อน ถ้าฟังบ่อย ๆ เทปยืด ยาน ขาด ต้องเอาเข้าตู้เย็น ฯลฯ (แต่มีวิธีซ่อมแซมเขียนไว้แล้ว ที่นี่) แต่อยู่ดี ๆ มันก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และกำลังเป็นที่นิยมมาก ๆ

มากขนาดไหน? ตอนนี้ตลาดซื้อขายเทปในไทยกำลังลุกเป็นไฟ เรียกว่าเทปกลายมาเป็น ‘the new พระเครื่อง’ ที่ราคาขึ้นเอา ๆ และเปลี่ยนมือกันเป็นว่าเล่น (โคตรเทปที่แพงที่สุด ณ เวลานี้คือ EP ชุด แค้นผีนรก ของ Paradox สนนราคาสูงสุด 40,000 บาท เร็ว ๆ นี้เราจะมาเล่าเรื่องราวของเทปที่ว่าให้ฟัง) บางคนก็ว่าการกลับมาฮิตอีกครั้ง มาจากวงอินดี้หน้าใหม่ย้อนไปทำเทป เพราะให้ความรู้สึกเหมือน mixtape ที่เรามักจะอัดเพลงส่งให้เพื่อน หรือส่งให้คนที่แอบปิ๊งฟัง (วงเหล่านั้นก็ เช่น Anatomy Rabbit, t_047, เขียนไขและวานิช และอีกมากมาย) แต่เวลาทำออกมาก็ทำในจำนวนจำกัด ทำให้แฟนเพลงหูตาเหลือกต้องรีบจับจอง เป็นการเพิ่มมูลค่าของเทปเข้าไปอีกที ทั้งที่แต่ก่อนเทปคือฟอร์แมตที่ราคาถูก พกพาง่าย ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ (และพังง่ายด้วย)

ในช่วงนี้เลยได้รับรู้ประเด็นดราม่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เทปที่เอามาปั่นขายจนราคาพุ่งสูงทะลุเพดาน การจองซื้อไม่ทัน ฯลฯ หลังจากคุยไปได้หลายเรื่องก็มีชื่อของ POLYCAT โผล่เข้ามาในบทสนทนา โดยต้นเรื่องคือล่าสุดมีคนมาขายเซ็ต 80 Kisses ในราคาเริ่มต้นต่ำกว่าที่เขาหมุนกันในตลาด พอคนขายมารู้ว่าราคาปิดขายต่ำกว่าราคาที่เขา bid กัน ก็เลยตัดสินใจไม่ขายซะงั้น คนที่ปิดขายได้ กับคนในกลุ่มซื้อขายก็มาโวยวายกันยกใหญ่

นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เรานึกขึ้นมาได้ว่า จริง ๆ แล้ว POLYCAT เนี่ยแหละ คือวงที่ทำให้กระแสเทปคาสเซ็ตจุดติดในไทยเป็นวงแรก แต่ไม่ใช่จากอัลบั้ม 80 Kisses 

POLYCAT เคยเป็นวงดนตรีที่ชื่อ Ska Rangers เล่นดนตรีแนวเร็กเก้ สกา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น POLYCAT และเปลี่ยนแนวดนตรีมาเป็นอิเล็กทรอนิก อัลเทอร์เนทิฟ สังกัด Smallroom ออกอัลบั้มชุดแรก 05:57 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

แต่เมื่อพวกเขากลับมาอีกครั้งพร้อมกับแนวดนตรีใหม่ ที่ได้อิทธิพลจากซินธ์ป๊อป 80s ปล่อยมิวสิกวิดิโอที่ใช้ฟุตเทจของภาพยนตร์เรื่อง ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ มาเล่าเรื่องประกอบ 3 เพลง คือ เพื่อนไม่จริง, เวลาเธอยิ้ม และ พบกันใหม่? (มียุคนึงที่ค่ายเพลงหรือศิลปินไทย ใช้วิธีโปรโมตเพลงให้เป็น ‘ซีรีส์’ มีความเชื่อมโยงกัน หรือทำให้มิวสิกวิดิโอเพลงนึง เป็นภาคต่อของอีกเพลง คนจะได้ติดตามดู) การมาพร้อมกันเป็นแพ็คเกจ ทั้งภาพ เสียง และเนื้อหาที่แข็งแรงในชื่อ The Ordinary Love Story ก็ทำให้ทุกสายตาหันมาจับจ้องพวกเขาอีกครั้ง และประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และปรากฏการณ์นั้นก็ทำให้ดนตรีซินธ์ป๊อป 80s city pop แพร่หลายกลายเป็นต้นแบบของวงอินดี้และเมนสตรีมอีกหลาย ๆ วง

ปลายปี 2014 ฟังใจ ได้จัดงานคอนเสิร์ตครั้งแรกชื่อว่า ‘เห็ดสด’ ชวนวงหน้าใหม่ วงในตำนานหาดูยาก และวงแห่งยุค มาร่วมแสดงบนเวทีเดียวกัน โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2015 ไลน์อัพนั้นก็มีวง POLYCAT อยู่ด้วย ซึ่งอีกกิมมิกของงานคือศิลปินต้องคิดสินค้า exclusive มีที่งานนี้งานเดียวมาจำหน่ายด้วย (Srirajah Rockers เคยทำเขียงมาขาย) POLYCAT ก็มีไอเดียจะทำเทปคาสเซ็ต The Ordinary Love Story บรรจุ 3 เพลงดังกล่าวในเวอร์ชันพิเศษ แต่เนื่องจากเทปหาได้ยากมากในเวลานั้น เลยทำให้พวกเขาผลิตออกมาในจำนวน 50 ม้วน และออกจำหน่ายในราคา 200 บาท (ในยุคนั้นมี The Ordinary Love Story เวอร์ชัน exclusive ฟังได้บนฟังใจเท่านั้น)

ในหน้า A มีเพลง พบกันใหม่?, พบกันใหม่? Backing Track และ เวลาเธอยิ้ม  ส่วนหน้า B ก็มี เพื่อนไม่จริง, เพื่อนไม่จริง Backing Track และ ปล่อยให้ตัวฉันไป ซึ่งงานต้นฉบับเป็นของวง Moving and Cut เพราะในคอนเสิร์ต ‘เห็ดสด’ จะมีกิมมิกว่า ศิลปินที่มาเล่น ต้องคัฟเวอร์งานของใครก็ได้ในฉบับของตัวเอง POLYCAT ก็เลยเลือกเพลงดังเพลงนี้มาทำในเวอร์ชันของพวกเขา


ปี 2016 POLYCAT จะออกอัลบั้มเต็ม 80 Kisses พวกเขาก็เห็นว่าจะทำออกมาในฟอร์แมตเทปคาสเซ็ตด้วยเช่นกัน ดังที่พวกเขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ อ่านบทสัมภาษณ์เต็ม ๆ ได้ ที่นี่

นะเราจะทำเทปออกมาขายด้วยครับ มันจะได้ถูกยุคสมัยเพลงของเราด้วย อีกอย่างตอนที่เราทำเทปขายที่งานเห็ดสด กระแสมันตูมตามมาก

เพียว: มีคนถามทักมาถามในเฟสบุ๊กผม 2 คนว่า ขอซื้อเทปเพลง POLYCAT หน่อยได้มั้ย เดี๋ยวให้ราคาประมาณ 2,000 หรือ 3,000 เนี่ยแหละ ตัวผมก็ไม่ค่อยเชื่อนะ แต่มีโอกาสได้ไปเจอนักเล่นเทปเพลงคนนึง เขาบอกว่ามีคนอยากได้จริง ๆ นะ ยังมีอยู่หรือเปล่า เลยรู้สึกว่ามันต้องทำแล้วแหละ

นะ: ซึ่งการทำเทปออกมาขายในยุคสมัยนี้มันยากนะครับ การเรียงเพลงทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเลย มันไม่ใช่การเรียงตามอารมณ์เพลงเหมือนในซีดีสมัยนี้ มันต้องเรียงให้เวลาในหน้านึงมันพอดีกัน

เพียว: มันเป็นเรื่องของ logic มากกว่าเรื่องอารมณ์เพลงมาก ๆ เวลาในเทปมันค่อนข้างมีจำกัดด้วย

นะ: ยกตัวอย่างแบบง่ายเลย เช่น เทปหน้า A เราอัดเสียงไปพอดีคุ้มทุกนาที แต่อีกเทปหน้า B เหลือ 5 นาที คนฟังเขาเหมือนต้องฟังอากาศเปล่า ๆ  ความรู้สึกมันก็ไม่ได้แล้ว เราก็ต้องทำ interlude ยัด ๆ เข้าไปอีกให้ครบ เพราะฉะนั้นในเทปมันจะแตกต่างในซีดีเยอะ

เพียว: การผลิตเทปในเมืองไทยปัจจุบันมันไม่มีบริษัทไหนผลิตแล้วครับ เรียกว่า สาบสูญไปหมดก็ว่าได้ ตอนที่เราทำเทปในงานเห็ดสด ผมก็พลิกแผ่นดินหาร้านทำเลยนะ สุดท้ายก็ทำออกมากันสำเร็จ

สำหรับการทำเทปในอัลบั้มเต็มครั้งนี้ เราส่งไปทำที่ต่างประเทศ พร้อมแน่นอนจะผลิตออกมาจำนวนเท่าซีดี มันน่าจะเพียงพอต่อทุกคนที่อยากได้ แต่ช่วงตอนงานเห็ดสด ตอนนั้นมันมีข้อจำกัดมากจริง ๆ เราก็อยากทำ 500 ม้วนเลยนะ แต่ด้วยการผลิตเราสามารถทำได้เท่านั้นจริง ๆ ต้องขอโทษทุกคนในงานวันนั้นด้วยครับ

แต่ ณ เวลานั้น อัลบั้ม 80 Kisses ก็ไม่ได้ทำเทปคาสเซ็ตออกมาขายแยกเดี่ยว ๆ เพราะความนิยมของเทปยังไม่ได้ถล่มทลายเท่าปัจจุบัน ที่สามารถการันตีได้ว่าทำเทปออกมาแล้วขายหมดแน่นอน พวกเขาเลยแยกขายเป็น 2 เซ็ต คือ SET A : Tape + CD + Vinyl + Fabric tote bag (ราคา 2,500 บาท) และ SET B : Tape + CD + Fabric clutch ราคาปกติ 599 บาท เพราะซีดี กับไวนิล ยังเป็นฟอร์แมตที่มีคนมีเครื่องเล่น และมีโอกาสนำไปเปิดฟังจริง ๆ มากกว่า รวมถึงให้คนได้สะสมกระเป๋าน่ารัก ๆ ไปด้วย


ต่อมาก็มีวงดนตรีหลายวงที่เริ่มตามหาเทปคาสเซ็ตมาอัดทำอัลบั้มของตัวเองบ้าง เท่าที่ทราบมาส่วนมากโรงงานผลิตเทปจะอยู่ที่ไต้หวัน ไม่ก็แคนาดา โดยเราต้องส่งไฟล์ไปให้โรงงานที่นั่นทำ แล้ว ship กลับมาที่ไทยอีกที อย่างที่ POLYCAT เล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ด้านบน แต่ถึงตอนนั้นแล้ว จำนวนการผลิตของเทปก็ยังไม่ได้กลับมาบูมเท่าทุกวันนี้อยู่ดี เพราะมันต้องผ่านการปะทุในตลาดอีกหลายระลอกจนเกิดความต้องการซื้อจำนวนมาก ๆ จาก pop culture ที่เริ่มแพร่อยู่ในประเทศที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกบริโภค และแทบจะผูกขาดสื่อหรือการรับรู้ฝั่งภาพยนตร์และดนตรีของคนทั่วโลกอย่างอเมริกา

วงดนตรีต่างประเทศหลาย ๆ วงก็มีการผลิตใน format นี้ ไม่ใช่กับแค่งาน remastered อัลบั้มในตำนาน แต่ชุดล่าสุดของวงใหม่ ๆ บางวงก็ทำออกมาในรูปแบบเทปคาสเซ็ต เคียงคู่มากับซีดี และแผ่นเสียง ที่ก็เป็นฟอร์แมตที่วนกลับมาฮิตในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ส่วนนึงเพราะผลพวงจากหนัง ‘Guardians of the Galaxy’ (2014) ที่ออกอัลบั้มเพลงประกอบ Awesome Mix มาหลาย volume ในช่วงนั้น โดยมีภาพของแคสเซ็ตเทปอันเป็นตัวแทนของยุคสมัยในภาพยนตร์ และเพลงส่วนใหญ่ในนั้นก็เป็นเพลงที่คุ้นหูสมัยเราเด็ก ๆ หรือพ่อแม่เป็นวัยรุ่นทั้งสิ้น ต่อมาในปี 2016 ก็มีซีรีส์ ‘Stranger Things’ ที่เป็นอีกผลผลิตของความหลงใหลยุค 80s ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่คนจะโหยหา อยากจับต้องเทปแบบบรรยากาศของคนยุคนั้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ก็มีเหตุผลอื่น ๆ ที่เคยเขียนอธิบายไว้แล้วใน บทความนี้ ก็น่าจะตอบข้อสงสัยว่าอะไรถึงทำให้ฟอร์แมตที่ว่ากลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง แล้วก็ย้อนกลับมาฮอตฮิตในไทยอีกที

ไม่ว่า ‘นักเล่นเทป’ หรือคนที่หาซื้อเทปคาสเซ็ตในปัจจุบัน เขาจะหามาเพื่อสะสมไว้ จะตั้งบนชั้นเฉย ๆ จะเอามาหยิบฟังเพื่อนึกย้อนถึงวันเก่า ๆ หรือจะเอามาทำทุนในช่วง lockdown แบบนี้ (ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าส่วนนึงก็มีคนที่ว่างงานจนต้องเอาเทปเก่ามาขายเพื่อหาเงินไปซื้อข้าวกิน) ก็เป็นสิทธิของผู้ซื้อขาย ไม่ว่าอย่างไรเทป หรือฟอร์แมตฟังเพลงไหน ๆ หรือแม้แต่สิ่งของอื่น ๆ หรือความคิด ความเชื่ออะไรก็ตาม ในแต่ละยุคสมัยมันก็ถูกให้คุณค่าต่างกันแหละนะ

อ่านต่อ

เทป 101: อยากเริ่มเล่นคาสเซ็ตเทปต้องรู้อะไรบ้าง
‘Rewind Forward กรอกลับหลังไปข้างหน้า’ …เมื่อเทปคาสเซ็ตกลับมาเป็นวัตถุแห่งกระแสอีกครั้ง
POLYCAT: อนาคตย้อนยุค กับซินธ์ป๊อปยุค 80s
การขยับย้ายทศวรรษจาก 80s สู่ 90s ของ Polycat กับเพลงใหม่ ‘อาวรณ์’
7 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ดนตรีนอกกระแสของเราเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้