Article Guru

เมื่อเธอเศร้า..จงหยิบเราขึ้นมาฟัง: บางส่วนของเครื่องดนตรีเสียงเศร้าจากทั่วโลก

  • Writer: Piyakul Phusri

คุณเชื่อเหมือนกันหรือเปล่าว่า ความตลกไม่ใช่สิ่งที่เป็นสากล แต่ความเศร้าเป็นภาษาสากล

ถึงแม้จะเป็นเรื่องอัตวิสัยอยู่พอสมควรว่าเสียงของเครื่องดนตรีอะไรที่ทำให้คนที่ได้ยินรู้สึกเศร้าได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะไม่ใช่ทุกเสียงจะทำให้ทุกคนที่ได้ยินรู้สึกได้เหมือนกัน อารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังที่เกิดขึ้นจากเสียงดนตรีขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ตั้งแต่ประสบการณ์ชีวิตของผู้ฟังว่าเคยพบเจออะไรมาบ้าง ตัวโน้ตที่เรียงร้อยกันออกมาเป็นเพลง ทักษะการเล่นของนักดนตรี ไปจนถึงสถานที่ที่ฟัง คุณภาพของเสียงที่ได้ยิน หรือความเชื่อที่ว่า เสียงไมเนอร์ (minor) เป็นเสียงที่ทำให้เพลงเศร้าก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่จากการศึกษาของนักวิจัยหลายสาขาวิชาทำให้เราพอเห็นเค้าลาง ๆ ของคุณสมบัติพื้นฐานของความเศร้าที่มาพร้อมกับเสียงดนตรีอยู่พอสมควร

Emil Kraepelin จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ได้จำแนกคุณสมบัติของเสียงพูดที่มีความเศร้าไว้เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนว่าประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่ เสียงมีความเบา มีอัตราการเปล่งเสียงช้า มีระดับเสียง (pitch) ต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงระดับเสียงที่แคบ (หรือมีความ monotone) และเปล่งเสียงออกมาอย่างพึมพำไม่ชัดเจน ซึ่งต่อมานักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ได้เพิ่มคุณสมบัติของเสียงพูดที่มีความเศร้าว่ามีคุณลักษณะของเสียง หรือมีเนื้อเสียงที่เศร้าหมอง (dark timbre) ซึ่งมีนักวิจัยจำนวนไม่น้อยได้นำคุณลักษณะเหล่านี้ไปเทียบเคียงกับเสียงเพลงหรือเสียงดนตรี และพบว่า เสียงเพลงหรือเสียงจากเครื่องดนตรีที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเศร้ามีคุณสมบัติค่อนข้างคล้ายกับคุณสมบัติของเสียงพูดที่มีความเศร้า

เมื่อโฟกัสมาที่งานศึกษาเรื่องความเศร้าจากเสียงเครื่องดนตรี งานวิจัยของ David Huron แห่ง School of Music, Ohio State University และคณะ ที่ให้นักเรียนดนตรี 21 คนทำแบบสอบถามเพื่อหาว่าในบรรดาเครื่องดนตรีตะวันตกที่คัดเลือกมา 44 ชิ้น (รวมถึงเสียงร้อง) ชิ้นไหนที่เสียงของมันทำให้นักเรียนดนตรีเหล่านี้รู้สึกเศร้ามากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด พบว่า เครื่องดนตรีที่มีค่าคะแนนความเศร้ามากที่สุด 5 ชิ้น ได้แก่ เชลโล เสียงร้อง ไวโอลิน วิโอลา และเปียโน ส่วนเครื่องดนตรีที่มีค่าคะแนนความเศร้าน้อยที่สุด 5 ชิ้น ได้แก่ triangle (เครื่องเคาะโลหะรูปสามเหลี่ยม) wood block (เครื่องเคาะทำจากไม้ที่ด้านในเจาะกลวง) ฉาบ แทมบูริน และกลองสแนร์ ซึ่งน่าสังเกตว่าบรรดาเครื่องดนตรีที่คะแนนความเศร้าน้อยล้วนเป็นเครื่องเคาะที่ให้เสียงแบบเดียวทั้งหมด

นอกจากเครื่องดนตรีตะวันตกที่ผลการศึกษาข้างต้นระบุว่าเป็นเจ้าของสุ้มเสียงแห่งความเศร้าแล้ว เรายังอยากจะแนะนำให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับเครื่องดนตรีเสียงเศร้าที่น่าสนใจจากดินแดนต่าง ๆ เพราะความเศร้าไม่ใช่ความไม่น่าดู หรือ ไม่น่าฟังเสมอไป แต่ความเศร้าคือความจริงที่เกิดกับชีวิตของมนุษย์ทุกคน และมนุษย์ก็รู้จักที่จะถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบดนตรีเพื่อแสดงความเศร้าและผ่อนคลายความโศกเศร้า ลองฟังให้ดี แล้วจะพบว่าในท่วงทำนองแห่งความเศร้าจากเสียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองจากส่วนต่าง ๆ ของโลกนั้น ล้วนแล้วแต่มีความงามทั้งด้านเสียงและรูปลักษณ์ในรูปแบบของตัวเอง

Cello

helen-money-by-jim-newberry-1-1000x616

เชลโล หรือเรียกอย่างเต็มยศว่า วิโอลอนเชลโล เป็นเครื่องสายในวงออร์เคสตร้า วงเครื่องสาย (string) และวงแชมเบอร์ (chamber) ทั้งยังไปปรากฏตัวเป็นเครื่องดนตรีส่วนเสริมในเพลงแจ๊ส บลูส์ หรือเพลงป๊อปจำนวนมาก เชลโลเป็นเครื่องสายที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคปี 1500 แต่ได้รับความนิยมและถูกพัฒนาให้มีหน้าตาและขนาดมาตรฐานอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้เมื่อราวยุคปี 1700 โดย Antonio Stradivari ช่างทำไวโอลินชาวอิตาลี ในวงเครื่องสายขนาดเล็ก เช่น วง string quartet ที่ประกอบด้วยเครื่องสาย 4 ชิ้น (2 ไวโอลิน 1 วิโอลา และ 1 เชลโล) เชลโลจะเป็นเครื่องดนตรีที่โอบอุ้มเพลงส่วนเบสทั้งหมด ด้วยโทนเสียงที่ต่ำและมีความกังวานสูง ทำให้เสียงเชลโลถูกนำมาใช้ในเพลงประกอบภาพยนตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะในฉากที่สื่อถึงความเงียบเหงาวังเวง หรือการเดินทางไปสู่ความเวิ้งว้างห่างไกล

 

Viola

violin-and-viola-1399019071

วิโอลา เป็นเครื่องสายรูปร่างคล้ายไวโอลินที่ถูกพัฒนาขึ้นในปลายยุคเรอเนซองส์-ต่อเนื่องต้นยุคบาโรค มีขนาดใหญ่กว่าไวโอลิน แต่เล็กกว่าเชลโล และดับเบิลเบส มีระดับเสียงต่ำกว่าไวโอลิน แต่สูงกว่าเชลโล และดับเบิลเบส วิโอล่านิยมใช้เล่นในวงออร์เคสตร้า วงเครื่องสาย และวงแชมเบอร์ โดยจะตั้งสายเป็น C-G-D-A ต่ำกว่าไวโอลินที่ตั้งเป็น G-D-A-E วิโอลายังเป็นเครื่องดนตรีที่มีขนาดหลากหลายที่สุดในเครื่องดนตรีตระกูลเดียวกัน โดยตัวที่มีขนาดเล็กจะมีเสียงสูงกว่าตัวที่มีขนาดใหญ่

 

Erhu

erhu_001

เอ้อร์หู เครื่องสีคล้ายซอที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี เชื่อกันว่าเป็นเครื่องดนตรีของชนพื้นเมืองในเอเชียกลางก่อนจะเข้าสู่จีนในศตวรรษที่ 10 เอ้อร์หูมีลำตัวสั้น คอยาว ทำจากไม้ มีสองสาย ตั้งเสียงเล่นเป็น 5 คู่ หน้าของเอ้อร์หูขึงด้วยหนังงู สายทำด้วยหางม้า ส่วนคันชักทำจากไม้ไผ่ขึงด้วยหางม้าเช่นกัน ให้เสียงกังวานลึก นุ่มนวล และยังสามารถจำแนกแยกย่อยออกไปได้อีกหลายชนิด

หลายคนอาจจะคุ้นหูกับเสียงเอ้อร์หูในภาพยนตร์จีนกำลังภายใน แต่เชื่อว่าเพลงจากเอ้อร์หูที่ติดหูคนไทยที่สุดน่าจะเป็นเพลงประกอบโฆษณาชุด ‘ปู่ชิว’ ของบริษัทประกันแห่งหนึ่งแน่นอน เพราะทั้งภาพและเสียงถือว่าเป็นโฆษณาที่บิ๊วอารมณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของไทยเลยทีเดียว

 

Uilleann pipes

up_44_csharp_ennis_big

ปี่ uilleann (อ่านว่า อุลเลียน อะไรประมาณนี้แหละ) เป็นเครื่องดนตรีประเภทปี่ของชาวไอริช แนวเดียวกันปี่ถุง หรือปี่สก็อต หรือ bagpipe ที่หลายคนคงเคยเห็นเคยฟังกันมาบ้าง ขณะที่ปี่สก็อตต้องใช้ปากเป่า แต่ uilleann เป็นเครื่องเป่าที่ไม่ต้องใช้ปากเป่า มันมีวิธีการเล่นที่ซับซ้อนมาก โดยตัวปี่จะเชื่อมต่อกับถุงเก็บลม ผู้เล่นจะต้องใช้แขนขวาบีบตัวเป่าลมให้เข้าไปในถุงเก็บลมที่อยู่ใต้ซอกแขนซ้าย (ถ้าผู้เล่นถนัดซ้ายก็ทำสลับข้างกัน) เมื่อแรงดันลมจากถุงผ่านตัวปี่ก็จะเกิดเสียง ผู้เล่นที่เชี่ยวชาญสามารถใช้มือทั้งสองข้างและสันมือในการกดรูและปุ่มต่าง ๆ บนตัวปี่เพื่อสร้างเสียงที่หลากหลาย uilleann มีเนื้อเสียงที่ค่อนข้างจะเศร้าอยู่พอตัว ชวนให้นึกไปถึงเพลงไอริชเหงา ๆ กับบรรยากาศซึม ๆ ในหน้าหนาวที่ไม่มีแสงแดด

Kithara หรือ cithara

mousikhxoros13

เป็นพิณโบราณในสมัยกรีก และเป็นรากศัพท์ของเครื่องดนตรีกีตาร์ในปัจจุบัน ในภาพเขียนยุคโบราณแสดงให้เห็นว่า kithara มี 7 สาย แต่นักเล่นพิณที่มีความชำนาญอาจจะเพิ่มจำนวนสายเข้าไปให้มากกว่า 7 สาย kithara เล่นด้วยการดีดปิ๊กที่ทำจากไม้ไปบนสายที่ขึงพาดบนตัวพิณที่ทำจากไม้ โดยแต่ละสายสามารถปรับความตึง-หย่อนได้ เสียงของ kithara จะมีมิติที่ลึก ก้อง แต่คมชัด

Kithara เป็นหนึ่งในสองเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในสังคมกรีกยุคโบราณ (อีกชิ้นหนึ่งคือ lyre ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทพิณเหมือนกันแต่ที่ให้เสียงใสกว่า) โดยใช้ตั้งแต่การเล่นประกอบการเต้นรำ การแสดงละครโศกนาฏกรรม และการขับโศลก

Native American flutes

flute-15

ขลุ่ยของชนพื้นเมืองอเมริกัน มีชื่อเรียกแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่ละชนเผ่าจะตั้งชื่อ แต่องค์ประกอบของขลุ่ยก็จะคล้าย ๆ กันคือทำจากไม้ ภายในตัวขลุ่ยถูกแบ่งออกเป็นสองบล็อกโดยมีสลักไม้เป็นตัวคั่น ลมจากปากผู้เป่าจะเข้าสู่บล็อกแรกของตัวขลุ่ย และถูกบีบให้ผ่านช่องลมเล็ก ๆ เข้าสู่บล็อกที่สองซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียง โดยทั่วไปแล้วจะมีรูสำหรับวางนิ้วเพื่อบังคับเสียง 5-6 รู แต่ก็อาจจะมีขลุ่ยแบบพิเศษที่อาจจะไม่มีรู ไปจนถึงมี 7 รู เสียงขลุ่ยของชนพื้นเมืองอเมริกันมีเอกลักษณ์ที่ความนุ่มนวลและความก้องกังวาน ทำให้จินตนาการไปถึงแผ่นดินอเมริกาอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังการมาเยือนของคนผิวขาว

Sarangi

sarangi

เป็นเครื่องสายคลาสสิกของอินเดีย นิยมเล่นกันในแถบอินเดียตอนเหนือไปจนถึงเนปาล คำว่า sarangi แปลว่า ‘ร้อยสี’ สื่อถึงการเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นได้หลากหลายแนว หลายอารมณ์ sarangi สร้างจากแกะท่อนไม้สนชิ้นเดียวให้เป็น chamber 3 ห้อง หุ้มด้วยหนังแพะ มี melody strings 3 สาย และ sympathetic strings ที่ทำจากโลหะทำให้เกิดเสียงกังวานอีกราว 35 สาย sarangi สามารถปรับจูนโทนเสียงได้ด้วยลูกบิดจำนวนมาก การเล่นทำได้ด้วยสีคันชักไปตามสายเหมือนไวโอลิน แต่คันชักของ sarangi จะมีน้ำหนักมากกว่าคันชักไวโอลินหรือเชลโล sarangi ให้เสียงก้องของเครื่องสีที่ทำจากไม้ แต่แฝงความกังวานแหลมที่เกิดจากการสั่นของสายโลหะ ทำให้เสียงมีมิติที่ซับซ้อนอย่างมาก

 

ที่มา

Which musical instrument produces the saddest sound?
Sad And Happy Instruments?
“You Can’t Play a Sad Song on the Banjo:” Acoustic Factors in the Judgment of Instrument Capacity to Convey Sadness

 

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี