Article Guru

I’ve Heard This Song Before! ศาสตร์แห่ง Sampling กับเพลงคุ้นหูที่ถูกใช้ในฮิปฮอป

  • Writer: Montipa Virojpan

เวลาที่กำลังฟังเพลงแร็ป ฮิปฮอป เคยรู้สึกไหมว่าเมโลดี้นี้ ท่อนนี้ ทำไมถึงฟังดูคุ้น เหมือนเคยได้ยินมาจากที่ไหน แล้วไม่เชิงว่าเป็นการนำมาทำใหม่ด้วยนะ แต่กลับเป็นการหั่นท่อนจากเพลงที่เรารู้สึกคุ้นมาทั้งดุ้นเลยต่างหาก!

อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่านี่คือการขโมยหรือลอกเลียนแต่อย่างใด นี่เป็นเหมือนวัฒนธรรมหนึ่งที่เรามักจะพบได้ทั่วไปในเพลงฮิปฮอปที่เราจะได้ยินคำว่าท่อนนี้คือแซมพ์’ ‘เขาแซมพ์มาจากเพลงนี้แล้วไอ้คำว่าแซมพ์เนี่ย มันหมายถึงอะไรหว่า

‘Sampling’ หรือที่เรียก แซมพ์กันเนี่ย มันคือการที่คุณเอาท่อนหนึ่ง หรือตัวอย่างของผลงานบันทึกเสียง มาใช้ใหม่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเพลงที่ทำขึ้นใหม่ โดยถูกพัฒนาขึ้นโดยนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส Pierre Schaeffer ผู้เป็นหนึ่งในดนตรีทดลองที่เรียกว่า musique concrète ในยุค 40s ที่เริ่มนำเอาเสียงจากธรรมชาติ หรืออัดจากบรรยากาศจริง ทั้งเสียงพูด เสียงรถไฟบดราง มาตัดแปะ วางซ้ำ หรือดัดแปลงด้วยเทคนิคต่าง เพราะพวกเขาได้เพิกเฉยต่อขนบดนตรีทั่วไปที่ต้องไพเราะ ฟังระรื่นหู อย่างในที่นี้พวกเขาอาจจะใช้เสียงที่อัดมาแล้วที่อยู่ในไวนิล เทปลูป หรือโฟโนกราฟ ซึ่งการแซมพ์เนี่ยไปฮิตมาก ในหมู่มวลคนทำดนตรีมินิมัลจากยุค 60s ที่แตกแขนงออกไปเป็นฟิวชันแจ๊สและไซคีเดลิกร็อกนั่นเอง สำหรับฝั่งฮิปฮอป การใช้แซมป์ก็เริ่มถูกนำมาใช้ในช่วงต้นยุค 70s สมัยที่กลุ่มดีเจในย่าน Bronx ของนิวยอร์ก ได้ให้กำเนิดแนวดนตรีฮิปฮอปโอลสคูลที่เหล่า wordsmith หรือ mc เขาพ่นคำร้องไปพร้อม กับ backing track เพลงโซล ฟังก์ r&b ที่ใช้การแทรกบีต หรือเสียงจากเพลงอื่นเข้าไปให้เกิดเป็นจังหวะใหม่ ขึ้นมา ผ่านการมิกซ์โดยใช้ turntable สองแชแนลเปิดสลับกัน ก่อนจะเป็นที่นิยมสุด ในยุค 80s แล้วเทคนิคดังกล่าวก็ถูกใช้มาจนถึงศิลปินร่วมสมัยในทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่ฮิปฮอปแต่ลามไปยัง r&b ร็อก อิเล็กทรอนิก แต่ก็ใช้เทคนิคที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีของยุคสมัยแหละนะ (สำหรับยุคก่อนถ้านึกไม่ออกว่าเขาทำยังไง ให้ลองไปดูซีรีส์เรื่อง ‘The Get Down’ ใน Netflix นะ เขานำเสนอซีนฮิปฮอปโอลสคูลได้น่าสนใจทีเดียว แล้วเราก็จะได้เห็นฉากที่ดีเจในตำนานอย่าง Grandmaster Flash, Kool Herc และ Afrika Bambaataa เปิดเพลงมิกซ์กันสด ด้วย)

เหตุผลของการแซมพ์เพลงอาจจะไม่ได้เป็นการลอกเลียนแต่อย่างใด มีความเชื่อว่าโปรดิวเซอร์ฮิปฮอปเลือกที่จะเอาท่อนหนึ่งของเพลงเก่า มาเป็นส่วนผสมในเพลงของเขาเป็นเพราะเขามองว่างานจากยุคเก่าเหล่านั้นจะถูกทำให้สดใหม่ขึ้นด้วยวิธีการคอลลาจของคนรุ่นใหม่ หรือเพราะอาจต้องการให้เพลงที่ไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนเป็นที่ถูกกล่าวถึง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบางเพลงที่ถูกหยิบมาใช้กลับเป็นรู้จักมากขึ้นกว่าตอนแรกที่มันถูกปล่อยออกมาด้วยซ้ำ แต่ขณะเดียวกันก็มีดีเจสมัยก่อนบางคนหวงของ โดยเอาฉลากที่แปะบนแผ่นไวนิลออกเพื่อเก็บวัตถุดิบในการมิกซ์เพลงของเขาไว้เป็นความลับ

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องการแซมพ์มักเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่ถูกนำมาใช้ เพราะมักจะไม่ได้มีการขออนุญาตจากต้นฉบับก่อน แถมการนำไปเป้นวัตถุดิบในเพลงใหม่ของพวกเขาบางครั้งก็ทำเพื่อการพาณิชย์แบบได้เงินเป็นฟ่อน ๆ ด้วยซ้ำ ก็เลยทำให้ต้นสังกัดของศิลปินผู้ผลิตงานต้นฉบับก็เริ่มตามไล่เก็บเงินจากคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเองล่ะจ้า ซึ่งในอเมริกาก็มีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่อะลุ่มอล่วยโดยอนุญาตให้มีการทำซ้ำในจำนวนจำกัด ‘เพื่อนำเสนอกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์และศิลปะอันเป็นประโยชน์’ ก็เป็นการคุ้มครองคนผลิตงานและแบ่งปันให้คนได้สร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

พอรู้ที่มาที่ไปของการแซมป์แล้ว เราก็จะพาไปฟังเพลงต้นตำรับที่ถูกเอาไปใช้แซมพ์บ่อย ซึ่งเรามักจะได้ยินแล้วต้องยกมือถือเปิด Shazam หรือ Soundcloud ฟังทุกครั้งไป แต่มันก็ไม่เคยได้เพลงลับที่ซ่อนอยู่ในแทร็คนั้นซักที ก็ต้องขอบคุณเว็บไซต์ https://www.whosampled.com/ ที่มีบรรดา contributor กว่า 19,000 ช่วยเราหาเบาะแสว่าเพลงนี้ใช้แซมพ์จากเพลงต้นฉบับเพลงไหน และนี่คือตัวอย่างเบา ที่เราต้องเคยได้ยินกันมาบ้างแน่นอน 

The Winstons – Amen, Brother

ขอเบิกทางให้กับเพลงที่ขึ้นชื่อว่าถูกแซมพ์มากที่สุดเป็นประวัติกาลด้วยจำนวนเพลงที่นำไปใช้ทั้งหมด 2946 ครั้ง งานโซล ฟังก์ ที่ดูนำสมัยด้วยลิกกีตาร์ฮาวายเอี้ยนและกลองสุดเร้าใจจากปี 1969 โทนดนตรีสว่างสดใสนี้ไปโผล่อยู่ในเพลง Straight Outta Compton ของ N.W.A (1988) และ Poison ของ The Prodigy (1994) รวมถึงแร็ปเปอร์สุดกวน Tyler, the Creator ในเพลง Pigs (2013) ซึ่งต้นฉบับเขาก็แซมพ์เพลง Theme From Lillies of the Field (Amen) และ We’re a Winner โดย The Impressions จากปี 1964 และ 1967 ตามลำดับอีกที

Sister Nancy – Bam Bam

เธอคนนี้เคยมาเล่นให้ชาวเร็กเก้ดูสด ที่กรุงเทพ เมื่อหลายเดือนก่อนด้วย เพลง Bam Bam จากปี 1982 มีทำนองและการร้องที่ติดหูสุด จากเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอเอง ทำให้ศิลปินดังหลายรายหยิบยืมเพลงนี้ไปใช้ ทั้ง Bomb โดย Chris Brown feat. Wiz Khalifa (2011) Famous ของ Kanye West feat. Rihanna และ Swizz Beatz (2016) และ Bam โดย Jay-Z feat. Damian Marley (2017) อย่างไรก็ดี เพลงของน้าแนนซี่เองก็ไปแซมพ์คนอื่นเขามาเหมือนกัน ตั้งแต่งานชื่อเดียวกันจากวงตัวพ่ออย่าง The Maytals และ Byron Lee and the Dragonaires (1966) และทำนองเพลงที่ได้ Stalag 17 ของ Ansel Collins (1974) มาเลย

Procol Harum – A Winter Shade of Pale

เพลงที่พี่ Mac DeMarco เคยเอาไปเล่นเป็นเพลงที่ร้องแซวให้สมาชิกในวงของเขา ซึ่งไอ้เราก็นึกตั้งนานว่าเอามาจากเพลงอะไร ที่แท้ก็คืองานจากปี 1967 ของ Procol Harum นั่นเอง ซึ่งเพลงนี้ก็ถูกนำไปใช้ในหลาย เพลง ทั้ง r&b TitiyoBefore the Day, The Story of My Life โดย Allniters feat. Sir Shawn และ Lady Knight (1998) และแทร็คแดนซ์ของ DJ Mental Theo Vs. C7Air

Dr. Dre – The Next Episode

แม้งานดั้งเดิมที่ถูกหยิบยกมาจะเป็นเพลงของ The Edge โดย David McCallum (1967) แต่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินบีตและโน้ตสุดติดหูที่เล่นคลอไปตลอดทั้งเพลงในฐานะผลงานของ Dr. Dre ซึ่งงานนี้ถูกแทรกซึมอยู่ในหลายงานฮิปฮอปทั้ง Power (Remix) ของ Kanye West feat. Jay-Z and Swizz Beatz (2010) Bang This in the Club ของ Girl Talk (2003) และงานเก๋จาก Arca ใน Anaesthetic ก็มีนะจ๊ะ ซึ่งเราก็คงได้ยินเพลงนี้เป็นเพลงที่ปรากฏอยู่ในมีม thug life หลาย อันด้วย ทำให้ความรู้สึกของการได้ยินเพลงนี้ผ่านหูไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Sade – Kiss Of Life

ปิดท้ายด้วยเพลงป๊อปสุดเซ็กซี่ไพเราะชวนฝันของแม่ Sade ซึ่งเพลงนี้คงเป็นเพลงโปรดของหลาย คน จนถูกนำไปเป็นส่วนผสมของงานตัวเองเพราะอยากจะเชิดชูในความงามของทั้งเมโลดี้และเสียงร้องของแม่ ทั้ง Doomsday ของ MF DOOM (1999) และ Live (Get Your Feet Wet) โดย Unity Committee (2008) แม้แต่งาน vapor wave ก็ยังต้องเอาเพลงของแม่ไปบูชา ใน LOBBY [ロビ] จาก MACBOOK PRO

และยังมีอีกหลาย เพลงที่ถูกนำมาใช้แซมพ์ เข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ที่เราทิ้งไว้ข้างบนแล้วจะค้นพบรากเหง้าของเพลงโปรดที่ถูกซุกซ่อนอยู่อีกมากมายเลยทีเดียวล่ะ ใครมีเพลงโปรดซุกซ่อนอยู่ในเพลงดังเพลงไหน เอามาแบ่งปันกันฟังได้เหมือนเดิมนะ

 

ที่มา
A Brief History of Sampling
A Brief History of Sampling
How Music Sampling Works
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้