รสนิยมการฟังเพลง ของเรามาจากไหน

Article Guru

รสนิยมการฟังเพลงของเรามาจากไหน คำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ว่ายังไงบ้าง

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Tas Suwanasang

รสนิยมการฟังเพลง มาจากไหน สมัยก่อนที่เรายังไม่มีทางเลือกมากนัก ก็อาจต้องเริ่มฟังเพลงตามคุณพ่อบ้าง พอเริ่มโตพอจะได้จับรีโมตทีวีเพื่อเปลี่ยนช่องเองบ้าง ก็อาจทำให้เริ่มฟังอะไรใหม่ ๆ จากรายการทีวีบางช่อง จนตอนเรียนได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น มีเงินเริ่มซื้อซีดีเป็นของตัวเอง ก็เพิ่งได้ขยายขอบเขตการฟังของเรามากขึ้นจากการแลกซีดีกัน แต่เด็กสมัยนี้ที่โตมากับยุคสตรีมมิ่ง มีเพลงเป็นล้าน ๆ เพลงให้กดฟังได้บนมือถือเลย แถมโซเชียลก็กว้างขวางทางรสนิยมทางดนตรีมากขึ้น ทั้งได้ฟังเพลงใหม่ ๆ จาก Instagram หรือ TikTok ตลอดเวลา

แต่ทำไมเราถึงติดใจกับเพลงบางเพลงมากกว่าเพลงไหน ๆ เพลงบางแนวก็ทำให้เรามีความสุขมากกว่าแนวอื่น ๆ ด้วยเมโลดี้ที่มันแตกต่างโดนใจ เนื้อเพลงที่เหมือนเขียนมาจากชีวิตจริงของเรา หรือเพลงนั้นมันเข้ามาในจังหวะชีวิตที่ต้องการมันพอดีกันแน่ รสนิยมการฟังเพลง ของเรามาจากไหนกันนะ

บทความใกล้เคียง

ฟังเพลงไม่เหมือนกัน อาจทำให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นได้

การฟังเพลงด้วยกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของเราผูกพันแน่นแฟ้น

ทำไมเราถึงฟังเพลงที่เราชอบซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่มีวันเบื่อเลย งานวิจัยมีคำตอบ

คนที่จะมาให้คำตอบเราก็คงไม่ใช่ใครนอกจาก Nolan Gasser เขาอาจไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะนักดนตรีนักแต่งเพลงอะไรมากมาย แต่เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Pandora แอพฟังเพลงชื่อดังจากซีกโลกตะวันตก พ่วงด้วยตำแหน่งนักดนตรีวิทยาเจ้าของหนังสือ ‘Why You Like It: The Science and Culture of Musical Taste‘ และยังเป็นเจ้าของโปรเจกต์ที่น่าทึ่งอย่าง The Music Genome Project ที่ตั้งขึ้นมาโดยเชื่อว่าไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่มีรสนิยมทางการฟังเพลงเหมือนกันเลย พวกเขาจึงถอดรหัสเพลงทุกเพลงในสตรีมมื่งของพวกเขาอย่างเป็นระบบ ทั้งจังหวะ บรรยากาศ เมโลดี้ โครงสร้าง ห้องของเพลง เสียง เนื้อเพลงและโปรดักชันทั้งหมด เพื่อแยกประเภทอย่างละเอียด ทุก ๆ เพลงถูกจัดระเบียบโดยมนุษย์ทั้งหมดลงไปถึงระดับยีนส์ แล้วเชื่อมต่อเพลงแต่ละประเภทเข้าด้วยกันใหม่อีกครั้งเพื่อสร้างเพลย์ลิสต์เพลงใหม่ ๆ ในแบบที่ทุกคนต้องชอบ

Gasser บอกว่าสิ่งแรกที่ไม่ควรมองข้ามเลยในเรื่องรสนิยมการฟังเพลงคือ intraculture หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม การที่เราเกิดและเติบโตในส่วนหนึ่งของโลกมันมีผลกับรสนิยมการฟังเพลงของเราด้วยเหมือนกัน มันทำให้เราเลือกเพลงบางประเภทที่จะฟังโดยไม่รู้ตัว

แต่ความน่าสนใจของ “รสนิยมการฟังเพลง” คือเราค่อย ๆ ฟูมฟักมันขึ้นมา เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมความสามารถที่จะพูดได้ทุกภาษาบนโลก แต่หลังจากผ่านไปหลายปีก็มีข้อจำกัดมากมายเข้ามา เสียงที่ประมวลผลอยู่ในสมองของเราก็จะปรับตัวเข้ากับเสียงในภาษาเรา และตัดถอนเสียงอื่น ๆ ออกไป ซึ่งสมองของเราก็ทำแบบนี้กับเพลงเหมือนกัน ตอนหกเดือนแรกเด็ก ๆ สามารถโยกหัวตามดนตรีได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่จังหวะที่ซับซ้อนของเพลงตุรกีไปถึงเสียงเมเจอร์ของเพลงยุโรป

เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของเราเปลี่ยนไป สมัยเราเด็ก ๆ อาจเคยแลกซีดีกับเพื่อน แกะคอร์ดจากหนังสือเพลง แล้วทุกวันนี้เราก็เปลี่ยนมาใช้ Shazam ตามร้านเสื้อผ้าหรือตอนจบซีรีส์ที่เราชอบ แม้เด็ก ๆ จะมีวิธีตามมาวงที่ชอบเหมือนไม่กับเรา แต่พวกเขาก็ใช้เวลากับเสียงดนตรีเหล่านั้นฟังซ้ำไปซ้ำมาไม่ต่างจากเราเท่าไหร่เลย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เราก็ต่างพยายามทำความเข้าใจกับรสนิยมทางดนตรีที่ซับซ้อนของตัวเองให้ได้ แต่ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ชอบดนตรีแนวไหนซักแนว เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีถึงจะเข้าถึงความงดงามและจังหวะอันหอมหวานของเพลงแจ๊ส ทุกคนมีศักยภาพที่จะชอบเพลงทุกประเภท อยู่ที่เราจะทำลายกำแพงนั้นลงเองรึเปล่า

Gasser บอกอีกว่าเราสร้างรสนิยมการฟังเพลงขึ้นมาเพื่อสร้างตัวตนของเราขึ้นมา โดยเฉพาะการสร้างอัตลักษณ์ไม่ให้เหมือนพ่อแม่ของเรา เสียงดนตรีจากเพลงที่เราฟังก็ผูกพันกับความทรงจำของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเมื่อเราพลัดถิ่นหรือไปอยู่ในสังคมไหน เพลงคือเครื่องยืนยันว่าเราเคยเป็นใคร นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเพลงถึงสำคัญกับทุกคนมาก

อ้างอิง

Why You Like It

The Music Genome Project

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา