Article Guru

แนวเพลงนี้ท่านได้แต่ใดมา? รวมนานาที่มาของชื่อเรียกแนวเพลงร่วมสมัย

  • Writer: Piyakul Phusri

คุณคิดว่าตอนนี้โลกของเรามีแนวเพลงร่วมสมัยทั้งหมดกี่เพลง?

การศึกษาของ Glenn McDonald ในเว็บไซต์ EveryNoise.com ระบุว่า ตอนนี้มีแนวเพลงร่วมสมัยอยู่ 1,682 แนวเพลง แต่เชื่อว่าขณะที่นั่งพิมพ์บทความชิ้นนี้ ก็น่าจะมีแนวเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ทั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘แนวเพลง’ (genre) และ ‘แนวเพลงย่อย’ (subgenre) เนื่องจากเทคโนโลยีในการทำเพลงที่สะดวกมากขึ้น ทำให้การสร้างสรรค์ดนตรีแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และไม่ถูกผูกขาดจากค่ายเพลงเหมือนในอดีต

แต่เคยสงสัยบ้างมั้ยว่าใครเป็นคนกำหนดชื่อให้แนวเพลงต่าง ๆ และชื่อเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร

เราคงไม่มีเวลามากพอที่จะไปหาที่มาของทั้ง 1,682 แนวเพลง แต่เราพอที่จะรวบรวมที่มาของชื่อแนวเพลงบางแนวมาให้ได้อ่านกัน

———-

Ambient

แนวดนตรีที่โดดเด่นด้วยเสียงบรรยากาศ และเสียงของธรรมชาติ จะยังไม่มีชื่อเรียกว่าแอมเบียนต์ จนกว่าจะถึงปี 1975 หลังจาก Brian Eno โปรดิวเซอร์มือทองของวงการถูกรถชนและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล Judy Nylon ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นแฟนสาวของเขาได้มาเยี่ยมอีโนที่โรงพยาบาล และเปิดเสียงพิณ (harp) จากศตวรรษที่ 18 คลอไปกับเสียงฝนที่ตกอยู่ข้างนอกห้องพักผู้ป่วย การผสมผสานกันของเสียงทั้งสองนี้ทำให้อีโนปิ๊งไอเดียในการทำเพลงแนวใหม่ขึ้น จนเกิดเป็นอัลบั้ม Ambient 1: Music For Airports ในปี 1978…. อัจฉริยะจริง ๆ

Acid house

มีที่มาจาก Acid Tracks ซึ่งเป็นชื่อซิงเกิ้ลของ Phuture วงอิเล็กทรอนิกจากชิคาโก้ ในปี 1987 และต่อมาคำว่า acid house ก็หมายรวมไปถึงเพลงอิเล็กทรอนิกเพลงใดก็ตามที่ใช้เสียงจากซินธีไซเซอร์ Roland Tb-303

Bluegrass

บิดาผู้ให้กำเนิดแนวดนตรี Bluegrass คือ Bill Monroe นักร้อง และ นักเล่นแมนโดลิน ส่วนที่มาของชื่อ bluegrass มาจากชื่อวงแบ็กอัพของ Monroe ที่ชื่อ The Blue Grass Boys ซึ่งชื่อวงนี้ก็มาจากคำว่า The Bluegrass State ซึ่งเป็นชื่อเล่นของรัฐเคนตักกี้อีกทีนึง

Bossa Nova

เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า ‘new wave’ นักประวัติศาสตร์ดนตรีชาวบราซิลเลี่ยน Ruy Castro ระบุว่า คำนี้ปรากฏตัวครั้งแรกเพื่อใช้โฆษณาคอนเสิร์ตที่จัดโดย Grupo Universitário Hebraico do Brasil ในปี 1958

Dubstep

คำนี้ปรากฏตัวในสื่อครั้งแรกในข้อเขียนของ Dave Stelfox ที่เขียนถึง Horsepower Productions โปรดิวเซอร์จากอังกฤษ ตีพิมพ์ในนิตยสาร XLR8R ในปี 2002

Gospel

ในปี 1932 Thomas A Dorsey นักดนตรีแจ๊ส และบลูส์จากจอร์เจีย ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิ้ล และใช้ไบเบิ้ลเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ ซึ่งต่อมาเพลงแบบนี้ได้รับความนิยมไปทั่วอเมริกา และวงของ Dorsey มีชื่อว่า The University Gospel Singers เพลงแบบนี้เลยมีชื่อเรียกว่าแนว ‘gospel’ ไปโดยปริยาย

Heavy metal

คำนี้ไม่ได้มาที่มาจากเหล็กอะไรที่ไหน แต่มีที่มาจากนวนิยายของ William S Burrough เรื่อง ‘The Soft Machine’ ตีพิมพ์ในปี 1962 โดยในนวนิยายมีตัวละครชื่อ Uranian Willy และมีสมญานามว่า ‘The Heavy Metal Kid’ต่อมาในปี 1968 John Kay แห่งวง Steppenwolf ก็ร้องคำว่า ‘heavy metal thunder’ ในเพลง Born to Be Wild คำนี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรกในรีวิวอัลบั้ม As Safe as Yesterday Is ของวง Humble Pie ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Rolling Stone ปี 1970

Hip Hop

มีข้อมูลที่หลากหลายว่าใครกันแน่ที่เป็นคนคิดคำนี้ขึ้นมา บ้างก็ว่า Keith ‘Cowboy’ Wiggins แร็ปเปอร์ชาวอเมริกันร้องคำว่า ‘hip, hop, hip, hop’ เพื่อกวนตีนเพื่อนที่เพิ่งเป็นทหาร เป็นการร้องล้อเลียนจังหวะการเดินสวนสนามของทหาร บ้างก็เชื่อว่า คำว่าเกิดขึ้นในปี 1979 ในเพลง Rapper’s Delight ของ The Sugarhill Gang โดยมีท่อนที่ร้องว่า ‘I said a hip hop. Hippie to the hippie. The hip, hip a hop, and you don’t stop, a rock it out’ ขณะที่บางส่วนก็เชื่อว่าดีเจ Lovebug Starski ใช้คำนี้เป็นคนแรกในงานปาร์ตี้ ก็สุดแท้แต่จะเลือกเชื่อละกันนะ

Industrial

แนวดนตรีที่ฟังแล้วชวนให้รู้สึกถึงเสียงกิจกรรมในโรงงานอุตสาหกรรม มีที่มาตรงไปตรงมา โดยนำเอาชื่อค่ายเพลง Industrial Records ที่ก่อตั้งในปี 1976 มาใช้เรียกแนวเพลงแบบนี้

Punk

นักข่าวในต้นยุค 1970s ใช้คำว่า ‘punk’ เพื่อเรียกเพลงแบบ garage rock โดยคำว่า punk มีความหมายว่า มือใหม่ สื่อความไปถึงรูปแบบดิบ ๆ และ ไร้โครงสร้างของดนตรี punk และ Dave Marsh ได้เขียนรีวิวถึงการแสดงสดของวง Question Mark and the Mysterians ลงในนิตยสาร Creem ฉบับเดือนพฤษภาคม ปี 1971 ว่าเป็น ‘a landmark explosion of punk rock’

Reggae

ก่อนที่คนส่วนใหญ่จะเรียกแนวเพลงนี้ว่า ‘reggae’ ชื่อดั้งเดิมของเพลงทำนองนี้คือ ‘Reggay’ ซึ่งในตอนแรกมันไม่ใช่ชื่อของแนวเพลง แต่เป็นชื่อเรียกกระแสความนิยมในการเต้นรำที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศจาไมก้าในช่วงทศวรรษที่ 1960s และมันก็ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกแนวเพลงหลังจากวง Toots and The Maytals ออกเพลง ‘Do The Raggay’ และเป็นเพลงฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองในปี 1968

Rhythm & Blues (R&B)

ในปี 1947 Jerry Wexler นักเขียน ที่ต่อมาเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Billboard ใช้คำนี้เพื่อกล่าวถึงเพลงป๊อปของคนผิวดำยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และคำนี้ก็ปรากฏเป็นชื่อแนวเพลงใน Billboard Chart ครั้งแรกในนิตยสารฉบับเดือนมิถุนายน ปี 1949

Techno

ชื่อเรียกแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกที่เกิดขึ้นในเมืองดีทรอยต์ในช่วงปลายทศวรรษ 1980s มาจากการกร่อนคำว่า technology ให้สั้นลง ซึ่งก็สื่อไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเพลงแนวนี้ คำว่า techno ถูกเรียกเพื่อสื่อถึงแนวดนตรีแนวนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในชื่ออัลบั้มรวมเพลงชุด Techno! The New Dance Sound of Detroit ที่ออกในปี 1988

World music

ในการประชุมครั้งหนึ่งของแวดวงอุตสาหกรรมเพลงในปี 1987 ที่ประชุมต้องการหาคำเรียกแนวดนตรีที่ไม่ได้อยู่ในโลกของภาษาอังกฤษ เพราะไม่รู้ว่าจะทำการตลาดขายเพลงกลุ่มนี้ที่ยังไม่มีชื่อเรียกแนวเพลงว่าอย่างไร จนสุดท้ายก็เกิดคำว่า world music ขึ้นมาด้วยประการฉะนี้…

ที่มา
From charred death to deep filthstep: the 1,264 genres that make modern music
Genre busting: the origin of music categories
The Origins Of Your Favourite Music Genres
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี