Article Guru

เราจะฟังเพลงที่ชอบสมัยวัยรุ่นวนไปอีกนานแค่ไหน

  • Writer: Sy Chonato
  • Illustrator: Thanaporn Soookthavorn

ไม่ว่ารสนิยมจะพัฒนาไปลึกลํ้าซับซ้อนแค่ไหน แต่ทำไมเวลากลับมาฟังเพลงเก่าแล้วมีความสุข รู้สึกอบอุ่นในหัวใจทั้งที่เพลงมันก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น เพราะเราจะสลัดเพลงที่เรารักตอนวัยรุ่นออกไปจากหัวไม่ได้ นอสตัลเจียจากเพลงสมัยวัยรุ่นจะหลอกหลอนเราไปตลอดชีวิต ช่วยด้วย!

ยกตัวอย่างที่ออฟฟิศ ฟังใจ เอง ทุกคนที่เข้ามาอยู่ที่นี่ล้วนแต่รักดนตรี หลายคนที่เป็นทั้งผู้ฟังและศิลปินก็ย่อมมีแนวเพลงที่ชอบหลากหลายต่างกัน ทุกคนอาจจินตนาการว่าเราเปิดเพลงอินดี้สุดคูลสายลึกตลอด 24 ชม. แต่ในความเป็นจริง เมื่อเปิดเพลง Dojo City พี่เบิร์ด ธงไชย Big Ass หรือ Bodyslam ขึ้นมาทีไร ทุกคนก็สามารถร้องได้ สนุกได้ หวนนึกถึงวัยรุ่นเพราะเราต่างเติบโตมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน

เพราะวัยรุ่นยังสร้างไม่เสร็จ

หากชีวิตคนคือแอปพลิเคชันในมือถือ ช่วงวัยรุ่นคงเหมือนช่วง beta รุ่นทดลองที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีติดขัด ขลุกขลัก แฮงก์ และ error ไปบ้าง แต่ก็เพื่อการเรียนรู้และการเติบโต

ฮอร์โมนและสารเคมีในสมองเป็นกลไกทางชีวะของร่างกาย ส่งผลให้วัยรุ่นว้าวุ่น เต็มไปด้วยความรู้สึกถาโถมที่หลีกหนีหรือควบคุมไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวซึมเดี๋ยวเศร้า ยิ่งกว่าพายุฝนในเขตร้อน

เมื่อก่อนเคยมีความเชื่อว่าสมองคนเราหยุดโตตั้งแต่วัยเด็ก แต่วิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสมองจะเติบโตดีในช่วงวัยรุ่นไม่ต่างจากร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในส่วน prefrontal cortex เหตุนี้ความทรงจำในช่วงวัยรุ่นจะติดตรึงฝังไปในสมองได้ดีมากกว่าช่วงอื่น ๆ ในชีวิต เพราะเกิดขึ้นขณะที่สมองกำลังสร้างตัว และได้ถูกผนวกไว้กับความทรงจำในช่วงที่เราจดจำได้มากที่สุด คือสมัยวัยรุ่น โดยดูดซึมหยิบเอาประสบการณ์และสิ่งที่พบเจอมาสะสมไว้ในสมอง

งานศึกษาโดย Schulkind, Hennis, and Rubin (1999) บันทึกไว้ว่า เพลงแต่ละเพลงมีพลังที่จะดึงเอาความทรงจำเหตุการณ์ที่เฉพาะเจาะจงกลับมาได้ เพราะมันได้ถูกบันทึกไว้ร่วมกับความทรงจำนั้น สมองเก็บเพลงไว้มากมายพร้อมกับความทรงจำที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการฟังเพลงจึงทำให้เราย้อนเวลาได้

นอกจากนี้การฟังเพลงยังทำให้สมองเราสร้างโดปามีนและสารเคมีอื่น ๆ ที่ทำให้รู้สึกดี การหวนกลับไปฟังที่เคยทำให้รู้สึกดีที่บันทึกเอาไว้แล้ว แม้ปัจจุบันจะรสนิยมแตกต่างไปมาก ก็ทำให้เรามีความสุขได้ง่าย ๆ

ให้เพลงพูดแทน

การฟังเพลงจึงมีบทบาทต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของวัยรุ่นมาก ๆ เป็นเครื่องมือในการปลดแอกจากวัยเด็กสร้างตัวตน ต่อต้านโรงเรียนหรือผู้ปกครอง หาเพื่อน เพลงช่วยพูดสิ่งที่วัยรุ่นไม่กล้าพูด แสดงความรู้สึกที่ไม่กล้าบอกตรง ๆ วัยรุ่นโพสเพลงเพื่ออธิบายชีวิตแบบอ้อม ๆ หากลุ่มคนที่ชอบเหมือนกัน

ทั้งชีวิต การเรียน และความรัก วัยรุ่นพยายามเข้าใจความเป็นไปของโลกเพราะพวกเขาเพิ่งมาใหม่ หลุดจากวัยเด็กก้าวสู่โลกของผู้ใหญ่ เมื่อพบเพลงที่ชอบ เพลงเหล่านั้นอาจพูดแทนเขาได้ตรงใจ เพลงที่หลากหลายแสดงสเปกตรัมความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงตรงกับชีวิตที่พบเจอ ไม่ว่าจะพบรัก อกหัก เหงาจัง โดดเดี่ยว กลัว คิดถึง ตามหาฝัน ทำไมโทรไปไม่รับสาย เราช่างต่างกัน ฉันจะทำตามสัญญา อยากกอด ฯลฯ

ไม่แปลกที่เพลงจะมีอิทธิพลจะมีผลต่อวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น ๆ แล้วสมองในช่วงนี้ก็เก็บความทรงจำไว้ได้ดีเสียด้วย

ไม่ว่าจะพัฒนารสนิยมการฟังไปแค่ไหน เพลงที่ฟังสมัยวัยรุ่นจะจับใจเสมอ

นักฟังหลายคนคนอาจงงตัวเอง ว่าทำไมเราพัฒนาการฟังจนเกิดรสนิยมที่ชัดเจนและซับซ้อนกว่าสมัยวัยรุ่นมาก รู้จักแนวเพลงใหม่ ๆ ที่คนทั่วไปสะกดไม่ถูก หลายเพลงกลับไปฟังแล้วงงว่าชอบไปได้ไง แต่สมองเรากลับโหยหาและรู้สึกดี แม้รสนิยมเปลี่ยนอย่างไร เพลงที่เคยฟังตอนอกหักครั้งแรกก็ยังตราตรึงในใจ กลับไปคิดถึงได้ยันแก่ชรา

อีกหลายคนอาจจะบ่นว่าเพลงสมัยนี้ดีสู้สมัยก่อนไม่ได้ จริง ๆ แล้ว เพลงอาจไม่ใช่แย่ลงอย่างที่เราคิด แต่อาจเป็นเราเองที่โตขึ้นและเปลี่ยนไปช้า ๆ

เมื่อผ่านการฟังมามาก เราอาจไม่ได้ประทับใจตื่นเต้นได้ง่ายเหมือนตอนนั้น เพลงอาจไม่สามารถสะเทือนความรู้สึกและอารมณ์เราได้เหมือนตอนวัยรุ่น เพราะสมองเราได้เปลี่ยนไปแล้ว

นอกจากนี้ เวลาคืออุปสรรคสำคัญของการหาเพลงฟัง เพราะเมื่อโตขึ้น มีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต ยิ่งต้องทำงาน ก็อาจไม่มีเวลาขุดค้นหาเพลง จึงติดอยู่ในเพลงที่คุ้นเคยซํ้า ๆ วน ๆ ไป เพราะฟังทีไรก็รู้สึกดี ไม่มีเวลาค้นหา ค้นพบ ขุดค้นเพลงเหมือนแต่ก่อน คนส่วนมากจึงฟังเพลงที่ตัวเองค้นพบเมื่อสมัยวัยรุ่น เพื่อความสะดวก

แม้เราฟังเพลงเก่าแล้วรู้สึกดีก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปต่อต้านหรือเปลี่ยนแปลง ให้มันเป็นวัตถุดิบแห่งการหวนอดีตที่ทรงพลัง ยังไงไทรอัมพ์คิงดอมก็ยังอยู่ในใจไม่ว่าตอนนี้จะมีวงใหม่ ๆ เข้ามาแทน แค่ระลึกไว่ว่าเพลงใหม่ดี ๆ ก็มีเหมือนกัน อย่าปิดกั้นเพียงเพราะมันไม่เหมือนฟังเพลงเก่าสมัยวัยรุ่น

สมองของเรามีศักยภาพที่จะชอบวงต่าง ๆ ที่แตกต่างกันมากได้มีมีที่สิ้นสุด การชอบวงใหม่ก็ไม่ได้มาแทนที่วงเก่าแต่อย่างใด

10 ปีผ่านไปก็เก่าพอแล้วให้เราคิดถึง

Club 90s เกิดขึ้นมาเพื่อย้อนความหลังสมัย Backstreet Boys และ NSYNC โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เรารับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและมากมายในแต่ละวัน 10 ปีที่แล้วรู้สึกเป็นเหมือนอดีตแสนไกล

แนวเพลงยุค 90s 80s ถูกพากลับมาได้เรื่อย ๆ ที่ Los Angeles มีงาน Emo Night LA ให้วัยรุ่นยุคสมัย Myspace ไปปาร์ตี้รวมตัวกันเพื่อรำลึกความหลังครั้งอายุ 10 กว่า ๆ แต่งตัวเป็นเด็กอีโมที่ฮิตมากสมัยเราเป็นวัยรุ่น พีคในช่วง 2005 หรือประมาณ 10 ปีที่แล้ว เปิดเพลงอย่าง Blink-182, Taking Back Sunday, AFI, My Chemical Romance ปาร์ตี้นี้นำเพลงในยุคนั้นมาทำให้เต็มขึ้นเพราะสมัยนั้นคนยังไม่เข้าถึงการ remix บัตร 1400 ใบขายหมดง่าย ๆ เพราะหนุ่มสาวชาวอเมริกันก็คิดถึงช่วงวัยรุ่นที่พอโตมาก็ไม่ได้เป็นเด็กอีโมอีกแล้ว

หากยังไม่ตายอย่าเพิ่งหยุดหาเพลงฟัง

มีแต่คนที่ตายแล้วที่จะอายุ 17 ปีตลอดไป

ประโยคนี้อยู่ในหนังสือ Norwegian Wood ของ Haruki Murakami ที่ทุกคนคงรู้จักกันดี ประโยคนี้จะหลอกหลอนเราไปตลอดชีวิตเพราะเราหยิบอ่านในสมัยวัยรุ่น แล้วมันคอยย้อนกลับมาเตือนเราเสมอว่า อย่าหยุดอยู่กับที่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ เปิดใจรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ถ้าไม่อยากแก่ไวก็ต้องเปลี่ยนแปลงและค้นพบต่อไปเรื่อย ๆ

วัยรุ่นยังสร้างไม่เสร็จ แต่ชีวิตเราไม่ได้สร้างเสร็จหลังจากอายุ 20 ปี ยังมีต่อไปตราบจนสิ้นอายุขัย ถ้าฟังแต่เพลงที่ค้นพบช่วง 13-18 ซํ้าไปจนตายคงจะน่าเบื่อและเสียโอกาสไปมาก ๆ

หากโตมาแล้วพัฒนาความชอบไปอีกขั้น ไม่ว่าจะสูงขึ้น หรือลึกลงไป ก็ไม่เห็นจะต้องรังเกียจเพลงแมส เพลงตลาด เพลงง่าย เพราะเพลงเหล่านี้อาจเป็นประตูด่านแรกของหลาย ๆ คนเพื่อรับเพลงเข้ามาในชีวิตก็ได้

เราไม่ควรแซะใครว่าเห่อหมอยหรือวอนนาบี เพราะทุกคนเองก็เคยเป็นคนที่มาใหม่

ไม่มีใครที่ฟังโพสต์ร็อกมาตั้งแต่อยู่ในท้อง (หรืออาจจะมีแต่โอกาสเกิดได้น้อย ยังไม่เคยเจอ) ไม่ว่าเราจะระบุตัวเองว่าเป็นคนประเภทไหน แนวไหน คนอินดี้ คนแมส คนทั่วไป วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ อย่าให้สิ่งเหล่านั้นมาจำกัดรสนิยมของเรา เพราะเราไม่ใช่ตัวละครในหนังที่แบนราบ เป็นไปตามแบบเป๊ะเหมือนพิมพ์มา ทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลที่สร้างมาไม่เหมือนกัน

แล้วเราจะฟังเพลงโปรดสมัยรุ่นวนซํ้าไปอีกนานแค่ไหน ก็คงนานเท่าที่ใจต้องการนั่นแหละ เพราะสมองเราบันทึกเพลงเหล่านี้ไปแล้ว มันบังเอิญผ่านมาในชีวิตช่วงเวลาที่อ่อนไหว และสมองกำลังสร้าง

คนที่เกิดมาก่อนเราชอบพูดว่าเพลงสมัยนี้ไม่มีอะไรดี ไม่น่าค้นหา จริง ๆ อาจจะเป็นเพราะเพลงไม่สามารถสะเทือนอารมณ์เขาได้เหมือนตอนสมัยวัยรุ่นอีกแล้ว เพราะสมองไม่ได้สดใหม่เปิดรับสิ่งใหม่ได้เหมือนตอนนั้น เพลงไหนที่มาก่อนตอนนั้นก็โชคดีไป ได้ครองส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองไปแล้ว แต่ก็ยังมีที่เหลืออีกเยอะให้รับสิ่งใหม่ ๆ อย่าได้ถอดใจ อาจมีเพลงใหม่ที่เราชอบได้ถ้าเราตั้งใจค้นหามากพอ

เพลงดี ๆ นั้นอาจมีอยู่เยอะมากจนไม่รู้จะฟังเท่าไหร่หมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีเวลาจะใส่ใจหามันเจอรึเปล่า

 

Reference

Music-Evoked Nostalgia Why do certain songs send us back?

Neural Nostalgia: Why do we love the music we heard as teenagers?

Music Nostalgia: There’s a Scientific Reason You Love that Blink 182 Song So Much

Why Are Millennials Already Nostalgic for Music from 10 Years Ago?

Facebook Comments

Next:


Sy Chonato

Sy is a messy designer and a curious internet explorer. She falls in love with the category of ‘Scientific Romantic’. She loves information overload and enjoys existential crisis.