Article Guru

ใครดังกว่าชนะ : สงครามการใช้เสียงในอุตสาหกรรมดนตรี

  • Writer: Malaivee Swangpol

Loudness War หรือ Loudness Race คือสงครามที่ศิลปินพยายามทำให้เพลงเสียงดังกว่าคนอื่นเมื่อเปิดต่อ ๆ กัน จนเสียงออกมาไม่ธรรมชาติ และดังจนขาดความไพเราะของดนตรีไป สงครามนี้เริ่มตั้งแต่ยุค 40s จนเข้ามาสู่วงการเพลงอย่างจริงจังในยุค 90s-00s โดยที่วันนี้เราจะมาเล่าที่มาที่ไปและผลของ Loudness War แต่ก่อนจะไปอ่านบทความอยากให้ชมคลิปนี้เพื่อทำความเข้าใจกับสงครามเสียง ซึ่งอธิบายอย่างเข้าใจง่ายและเปรียบเทียบให้เห็นผลเสียของมันอย่างชัดเจน

หมายเหตุ: ในบทความนี้จะมีการใช้คำว่า dynamic range ซึ่งหมายถึงช่วงกว้างของเสียงในเพลง โดยอัลบั้มที่มีช่วงกว้างมากกว่าก็จะฟังดูมีมิติ และเป็นธรรมชาติมากกว่า อย่างเช่นเพลงคลาสสิกมักจะมี dynamic range มากกว่าเพลงเมทัลหนัก ๆ หรืออัลบั้มป๊อปที่มีการ compress ให้เสียงดังขึ้น ทั้งนี้ แต่ละแนวเพลงจะมี dynamic range ที่เหมาะสมไม่เท่ากัน

40s-70s

จริง ๆ แล้วสงครามความดังเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1940 ที่ยังเป็นยุคของไวนิล jukebox และสารพันสิ่งอานาล็อก ซึ่งเจ้าของร้านที่มีตู้เพลงตั้งอยู่ก็มักจะปรับเสียงไว้แค่ระดับความดังเดียว แล้วให้ลูกค้ามาจ่ายตังเลือกเพลงเล่นไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเพลงหัวใสก็เลือกที่จะมิกซ์เพลงให้ดังกว่า เพื่อให้เวลาเปิดเพลงออกมาดังกว่าคนอื่น โดยในยุค 50s เป็นต้นมาโปรดิวเซอร์ก็เริ่มขอให้ทำแผ่นซิงเกิ้ลที่ดังกว่าคนอื่นเพื่อให้โดดเด่นเวลาประกวดกันไปเข้าคลื่นวิทยุ เช่นเดียวกับอัลบั้มรวมฮิต ที่อาจมีการขอให้มาสเตอร์ใหม่ เพื่อให้เพลงของตัวเองดังเท่า ๆ หรือดังกว่าคนอื่น

80s

ซีดีเพิ่งได้รับความนิยมในช่วงปลาย ๆ ยุค 80s ดังนั้นการแข่งขันความดังยังไม่ได้มีมากเท่าไหร่ โดยการมิกซ์เพลงในยุคนี้ก็จะไม่ให้ signal ดังเกิน 0 dBVU หรือว่า red zone (ดูที่รูป) เพราะว่าเพลงในรูปแบบดิจิทัลอย่างซีดีในยุคนั้นไม่สามารถทำให้ดังเกิน 0 dBFS ได้

90s

ในยุคนี้เพลงเริ่มจะแข่งกันดังขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอัลบั้มเพลงร็อก หรือเพลงป๊อปก็เริ่มจะมี signal ที่ใกล้ 0 dB แล้ว คนในวงการดนตรีเริ่มเชื่อกันว่าคนสนใจอัลบั้มที่เสียงดัง ๆ ซึ่งมันไม่จริงเลย sound engineer  และนักดนตรีก็เริ่มหาวิธีให้เพลงดังที่สุด แต่ในทางกลับกัน ในปี 1994 ตัว limiter สำหรับกันไม่ให้เสียงในเพลงดังเกินไปเวลามิกซ์เพลงก็เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ทั้งนั้น การมิกซ์เพลงให้มี dynamic range ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมี limiter หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับวิถีในการมิกซ์ของแต่ละคน

00s

(บน) Soundwave ของอัลบั้ม Death Magnetic (2008) ที่ดังมาก ๆ จนฟังไม่เพราะ (คำว่า brick wall มาจากเวฟของเพลงที่ดูแน่นไปหมด) และเมื่อเทียบกับเวอร์ชันเกม Guitar Hero III (ล่าง) ของอัลบั้มนี้ ก็พบว่ายังมี Dynamic Range ที่ปกติอยู่ 

ในปี 2008 อัลบั้ม Death Magnetic ของ Metallica ได้รับการวิจารณ์ว่าดังจนเกินไป ซึ่งเป็นผลจาก Loudness War โดยตรงที่ทำให้วงเลือกที่จะบีบอัดไฟล์เพื่อลด dynamic range และทำให้เพลงออกมาดังที่สุด Ted Jensen มือมาสเตอร์ชื่อดัง บอกว่าตอนไฟล์มาถึงเขามิกซ์ก็ดังจนเกินไปแล้ว (brick walled) แต่ในทางกลับกัน Guns n’ Roses เลือกมาสเตอร์ Chinese Democracy ในเวอร์ชันที่มี dynamic range มากที่สุด ซึ่งออกมาฟังดีกว่า ในช่วงปี 2000 ก็เป็นช่วงที่เริ่มมีการออกมาต่อต้าน Loudness War บ้างแล้ว

10s

“Dynamic music sounds better”

ในปี 2010 Ian Shepherd mastering engineer ได้ตั้ง Dynamic Range Day แคมเปญออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้สนใจ dynamic range ในเพลง ซึ่งปัจจุบันก็ยังจัดแคมเปญนี้ต่อในเว็บไซต์ dynamicrangeday.co.uk และยังมีการมอบรางวัลในทุก ๆ ปีให้กับอัลบั้มที่มี dynamic range ยอดเยี่ยม ซึ่งในปี 2017 อัลบั้มที่ได้รางวัลนี้คือ The Stage โดย Avenged Sevenfold วงเฮฟวีเมทัล ซึ่งเห็นได้ว่า อัลบั้มเมทัลในปัจจุบันก็เริ่มทำให้เพลงของพวกเขามี dynamic range ที่กว้างขึ้น ต่างจาก Death Magnetic ของ Metallica ที่มี dynamic range แค่ 3 เท่านั้น (หมายถึงมีความดังแค่สามระดับในเพลง) ซึ่ง Shepard บอกว่า เสียงดังไม่ได้ทำให้เพลงขายได้มากขึ้นเลย มันเป็นเพียงความเชื่อที่ผิด ๆ เท่านั้น โดยอัลบั้มอย่าง Random Access Memories ของ Daft Punk ที่เลือกไม่ใช้เสียงบีบอัดจนมิติของเพลงหายไปก็สามารถขายได้ระดับแพลตินัมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายถึงยอดขายกว่าหนึ่งล้านแผ่น และยังได้รับ Grammy Awards 5 รางวัล รวมถึง Best Engineered Album (Non-Classical) อีกด้วย mixing engineer ของอัลบั้มนี้บอกว่า เขาไม่เคยพยายามให้เสียงมันดังเกินและเขาคิดว่ามันทำให้ฟังดีกว่าเยอะ

มีการวิเคราะห์ว่า Loudness War ไปถึงจุดพีคในปี 2005 และค่อย ๆ ลดน้อยลงตามลำดับ สามารถดู infographic เกี่ยวกับอัลบั้มที่มี dynamic range น้อยสุดไล่ไปจน dynamic range กว้าง ๆ ได้ด้านล่าง

แคมเปญ Dynamic Range Day ได้ออกมาต่อสู้กับ Loudness War ด้วย 5 ข้อนี้ 

1. มีผลการวิจัยว่าเสียงที่ดังไม่มีผลต่อการขายเพลง

 

2. คนไม่รู้สึกถึงความดังของเสียงเวลาที่เปิดเพลงต่อกัน

 

3. เพลงที่มี dynamic มากกว่าย่อมฟังเพราะกว่าเวลาเปิดต่อกันในวิทยุ

 

4. ระบบฟังเพลงออนไลน์ต่าง ๆ มีการจัดการ compress เสียงอยู่ดี

 

5. คนฟังก็เบาเสียงเพลงอยู่ดี!

ตัวอย่างของอัลบั้มที่อยู่ในยุค Loudness War

Arctic MonkeysWhatever People Say I Am, That’s What I’m Not (January 23, 2006)
Bob DylanTogether Through Life (April 28, 2009)
The Cure – 4:13 Dream (October 27, 2008)
Depeche Mode Playing the Angel (October 17, 2005)
The Flaming Lips – At War with the Mystics (April 3, 2006)
Lily Allen – Alright, Still (July 13, 2006)
MetallicaDeath Magnetic (September 12, 2008)
Oasis – (What’s the Story) Morning Glory? (October 2, 1995)
Paul McCartney – Memory Almost Full (June 4, 2007)
Queens of the Stone Age – Songs for the Deaf (August 27, 2002)
Red Hot Chili Peppers – Californication (June 8, 1999)

ถ้าใครสนใจเรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ dr.loudness-war.info เว็บไซต์นี้จะบอกคุณว่าอัลบั้มไหนดังมากสุด โดย 1-7 คือแย่ 8-13 คือปานกลาง และ 14-20 คือกำลังดี

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: The Loudness Wars: Why Music Sounds Worse และ ‘Dynamic Range’ & The Loudness War

อ้างอิง

Loudness War  What is 0 dB in digital audio?

อ้างอิงรูป

#1 / #2 / #3

Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่