D.A.N. Live in Bangkok

Article Import

ทำความรู้จักกับสามหนุ่มแห่ง D.A.N. หลังโชว์ครั้งแรกของพวกเขาในไทย

  • Writer: Kunchanit Liengudom
  • Photographer: Jiratchaya Pattarathumrong

D.A.N. Live in Bangkok เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงไปรวมตัวกันที่ Play Yard เพื่อดูโชว์จากวงดนตรีสัญชาติญี่ปุ่นคุณภาพเยี่ยมอีกหนึ่งวงอย่าง D.A.N. ซึ่ง Fungjaizine ก็ได้ขอเวลาพูดคุยกับพวกเขาสามหนุ่มสุดเท่เล็กน้อยก่อนขึ้นแสดงด้วย เผื่อใครยังอินกับคอนเสิร์ตอยู่ ลองมาอ่านบทสัมภาษณ์และทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้นกันเถอะ

ฮิคารุ คาวาคามิ (เทรุ) – กลอง

จินยะ อิชิคาวะ – เบส

ไดโกะ ซากุรากิ – ร้อง, คีย์บอร์ด และกีตาร์

D.A.N. ย่อมาจากอะไร

ไดโกะ: ไม่ได้ย่อมาจากอะไรเลย ผมแค่ชอบเวลาออกเสียงมัน

จินยะ: ไม่ได้มีความหมายอะไรในแต่ละตัวเลยครับ

แล้วเริ่มไปทำเพลงที่ลอนดอนกันได้ยังไง

ไดโกะ: เราได้เจอกับ Floating Points ตอนที่เขามาเล่นที่เกียวโตครับ D.A.N. ได้ไปเล่นเป็นวงเปิด จากนั้นเราก็ได้ทำความรู้จักกับเขาและตัดสินใจไปอัดเสียงที่สตูดิโอของเขาในลอนดอน

แล้วการทำเพลงที่ญี่ปุ่นแตกต่างกับที่อังกฤษอย่างไรบ้าง

ไดโกะ: คือที่อังกฤษใช้ไฟ 240 โวลต์ แต่ที่ญี่ปุ่นใช้ไฟแค่ 100 โวลต์ ซึ่งพวกเราเชื่อว่ายิ่งแรงดันไฟฟ้ามากเสียงดนตรีที่ได้ก็จะออกมาดีกว่าแรงดันไฟฟ้าที่น้อยกว่า ก็เลยตัดสินใจไปบันทึกเสียงที่นู่นกันครับ

พวกคุณได้รับแรงบันดาลใจในการทำเพลงจากดนตรีทางแถบแอฟริกามาส่วนหนึ่งด้วย ช่วยเล่าถึงความสนใจในดนตรีประเภทนี้ให้ฟังหน่อย

ไดโกะ: เราชอบ Tony Allen ที่เป็นคนให้กำเนิด Afrobeat แล้วก็ Fela Kuti ด้วย เราเริ่มฟังเพลงของศิลปินเหล่านี้ แล้วก็ฟังดนตรีประเภทนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

แล้วสมาชิกแต่ละคนมีความชอบในดนตรีที่เหมือนหรือต่างกันแค่ไหน

เทรุ: เราชอบฟังเพลงคล้าย ๆ กันครับ เวลามีเพลงใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเราก็มักจะเอามาแชร์กันฟังเสมอ

คิดยังไงกับวงการเพลงอินดี้ในญี่ปุ่นบ้าง มันมีการพัฒนาหรือเติบโตอย่างไรจากแต่ก่อนบ้างไหม

ไดโกะ+จินยะ: จริง ๆ แล้ววงการเพลงในญี่ปุ่นค่อนข้างหลากหลายและมีเอกลักษณ์มาก ๆ ด้านคนฟังเองพวกเขาก็ฟังเพลงกันหลากหลาย ไม่ค่อยมีการแบ่งแยกกันหรอกครับว่าใครฟังเพลงอินดี้หรือไม่อินดี้ เพลงมันก็อยู่ของมันแบบนั้น แล้วแต่ว่าใครจะเลือกฟังเพลงไหนที่ตัวเองชอบมากกว่า ดังนั้นมันก็เลยไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากเลย

สถานที่ในฝันที่คุณอยากจะไปเปิดคอนเสิร์ตมากที่สุด

เทรุ: อยากไปทัวร์ที่ยุโรปและอเมริกาครับ

ไดโกะ: ของผมเป็นแถบบราซิล อาเจนติน่า แล้วก็เม็กซิโกครับ

จินยะ: ตอนเหนือของยุโรปครับ คือจริง ๆ แล้วเราชอบดูฟุตบอลมาก

แสดงว่าตอนไปทำเพลงที่อังกฤษก็ได้ไปดูฟุตบอลด้วยน่ะสิ

เทรุ: แน่นอนครับ (FJZ: แล้วทีมโปรดของคุณล่ะ) มันเยอะเกินไปอะครับบอกไม่หมด

อินโทรเพลง Ghana เป็นคำพูดจากบทกวีของ Allen Ginsberg ชื่อว่า Kral Majales (King of May) มีความเกี่ยวข้องกับเพลงอย่างไร มีความหมายแฝงอะไรหรือเปล่า

ไดโกะ: จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องบังเอิญครับ ผมแค่สุ่มเลือกมันขึ้นมา คือรู้สึกชอบเสียงที่เปล่งออกมา ทั้งพยางค์และจังหวะในการพูดบทกวีนี้ออกมา มันดีและเข้ากับเพลงมาก จริง ๆ ตอนแรกไม่ได้คิดอะไรมากเลย แต่พอได้ดูควาหมายและคำแปลของมันแล้วก็รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เพลงอยากจะสื่อพอดี

คิดว่าอะไรที่ทำให้เราพา D.A.N. มาถึงจุดนี้ได้ทั้ง ๆ ที่สมาชิกทุกคนยังอายุเพียงแค่ยี่สิบกว่า ๆ กันอยู่เลย

เทรุ: พวกเราทุกคนเคยทำวงมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็เลยค่อนข้างมีประสบการณ์ พอมาเริ่มทำ D.A.N. ก็เลยเหมือนมีภาพในหัวอยู่แล้ว พวกเรารู้ว่าอยากทำดนตรีแบบไหน น่าจะเป็นตรงนี้ที่พาให้พวกเรามายืนอยู่จุดนี้ได้ครับ

แล้วยังทำวงอื่นอยู่ด้วยไหมหรือว่าทำแค่ D.A.N. อย่างเดียวแล้ว

จินยะ: ตอนนี้ก็ทำแค่ D.A.N. กันแล้วครับ

เป้าหมายต่อไปของวงล่ะ

จินยะ: พวกเราแค่อยากเล่นดนตรี อยากเขียนและทำเพลงดี ๆ ออกมาแค่นั้นเลยครับ

ไดโกะ: พวกเราไม่อยากหยุด อยากทำวงและเล่นดนตรีต่อไปเรื่อย ๆ ครับ

ในฐานะศิลปินที่อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ คุณอยากบอกอะไรกับวัยรุ่นบ้าง

เทรุ: ก็แค่ทำสิ่งที่คุณอยากทำน่ะครับ

ไดโกะ: จริง ๆ แล้วเราไม่ได้มีอะไรที่อยากจะบอกกับคนฟังผ่านเพลงของเราขนาดนั้น มันไม่ได้เป็นเพลงประเภทที่มีความหมายอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น ถ้าคนฟังฟังแล้วชอบ ฟังแล้วมีความสุขก็คงดี เราแค่อยากให้พวกเขาผ่อนคลายเมื่อได้ฟังดนตรีของเรา

จินยะ: ผมคิดว่าวัยรุ่นควรได้ออกไปลอง ออกไปเล่น ออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราเองก็ทำเพลงในแบบที่เราอยากทำ ไม่มีใครมาบอกว่าพวกเราควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ประมาณนั้นครับ

มีแฟน ๆ ต่างชาติคิดว่าเพลงหรือวงดนตรีญี่ปุ่นเนี่ยค่อนข้างเข้าถึงยากนะ ส่วนใหญ่ก็มักจะรู้จักกันแค่ภายในประเทศ เห็นด้วยไหมกับเรื่องนี้

เทรุ: ผมก็คิดว่ามันยากเหมือนกันครับ ที่จะเข้าถึงคนฟังชาวต่างชาติมากกว่านี้

จินยะ: สำหรับพวกเรามันยากกว่าประเทศอย่างอเมริกา หรือประเทศในยุโรปที่เป็นประเทศศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดนตรี ผมคิดว่าประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเองก็ประสบปัญหานี้เหมือนกันที่จะพาให้เพลงของตัวเองออกสู่ภายนอกไปถึงคนฟังในต่างประเทศได้ อย่างสมมติว่าผมฟังเพลงจีนเพลงหนึ่งแล้วชอบ มันก็ยากเหมือนกันที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับเพลงหรือศิลปิน เพราะทุกอย่างก็เป็นภาษาจีน นั่นเลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเราตัดสินใจออกไปเล่นดนตรีในประเทศอื่น ๆ เพื่อที่จะแนะนำตัวเองและทำให้เราเป็นที่รู้จัก แฟน ๆ ของเราก็จะได้ไม่ต้องพยายามมากเกินไปที่จะเข้าถึงเพลงของเราฝ่ายเดียว เราเองก็ต้องออกมาด้วย

คิดจะเขียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษบ้างไหม เพราะตอนนี้ D.A.N. ก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในต่างประเทศแล้ว

ไดโกะ: อาจจะแค่บางท่อนครับ พวกเราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อยู่แล้ว มันรู้สึกไม่ค่อยชินปาก ผมคิดว่ามันสำคัญนะที่จะร้องเพลงของเราเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะมันคือภาษาแม่ของเรา ผมว่ามันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นที่จะต้องใส่ภาษาอังกฤษเข้ามาในเพลง เพลงทุกเพลงไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษจริงไหม เราต้องมีความออริจินัล

สำหรับใครที่พลาดดู D.A.N. Live in Bangkok คราวหน้าก็ติดตามข่าวให้ดี จะได้ไม่พลาดอีกนะจ๊ะ

Facebook Comments

Next:


Kunchanit Liengudom

นิดหน่อย อินเทิร์น ณ ฟังใจ, สิงหา-กันยา ปี 61 ช่วงที่เพื่อนฝึกงานออกกันไปหมดแล้ว รักการดูหนัง ชื่นชอบการฟังเพลงที่ร้องตามได้เป็นพิเศษ