Article Import

เรียนรู้วิถี smooth music ในแบบของ PREP วงดนตรีสุดเก๋าจากลอนดอน

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Chavit Mayot

คืนนี้ เราจะได้พบกับโชว์จากวงดนตรีสี่ชิ้นจากลอนดอนอย่าง PREP ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราสงสัยมากว่าคนพวกนี้คือใครกันแน่ เพราะนอกจากจะมีแค่หน้า Soundcloud ให้ฟังเพลงอิเล็กทรอนิกเก๋า ๆ ย้อนยุคเพียงไม่กี่เพลงแล้ว เราก็ไม่พบเบาะแสเกี่ยวกับตัวตนที่แท้ของพวกเขาเลย (ฮือ) แต่วันนี้ Tom, Lou, Dan และ Guillaume มานั่งอยู่ตรงหน้าเราแล้ว เราก็ขออาสาไขข้อข้องใจให้กับทุกคนในย่อหน้าต่อไปนี้ (ขอสปอยล์นิดนึงว่า พอเรารู้ว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนเท่านั้นก็ถึงกับกรี๊ดแตกไปสามสี่ตลบเลยทีเดียว)

img_0935

พวกคุณเริ่มทำเพลงด้วยกันได้ยังไง

แดน: สามปีที่แล้วครับ ซึ่งถือว่าใช้เวลานานมากนะเทียบกับจำนวนเพลงที่พวกเราปล่อยออกไป (หัวเราะ)

ทอม: มันเป็นขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไปและระมัดระวังครับ 

กิลวอม: ลูกับผมอยากจะทำวง smooth music เราก็อีเมลหาเพื่อนนักดนตรีที่เราสนใจอยากจะร่วมงานด้วย 

ลู: มันตลกดีเพราะผมไปหาแดนที่สตูดิโอของเขา พอผมลองเปิดเพลงนึงที่ทำไว้ให้เขาฟัง เขาบอกว่า เฮ้ย มันเหมือน Yacth Rock เลยว่ะ แล้วผมก็แบบ มันคืออะไรวะ ไม่เห็นเคยได้ยินมาก่อนเลย 

ทอม: ย็อทร็อกคือ สมูธมิวสิกสมัยปลายปี 70s ต้น 80s จากอเมริกา อย่างวง The Doobie Brothers หรือ Michael McDonald

แดน: แต่จริง ๆ แล้วเพลงเขามีความเป็นวง Metronomy มากกว่านะ แต่มันมีองค์ประกอบของสมูธมิวสิกอยู่ในนั้น 

ลู: จากนั้นเราสามคนก็มารวมตัวกันทำเพลงไปได้หน่อยนึงแล้ว ทีนี้ทอมทำงานเป็นนักแต่งเพลงด้วยกันกับแดน ก็ตามมาแจมทีหลัง 

ทอม: เขาชวนผมไปร้องเพลงสมูธมิวสิก แล้วผมก็ตอบตกลง 

แดน: คือผมเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วทอมก็เป็นนักแต่งเพลงทีทำงานด้วยกันในลอนดอน เขียนเพลงให้ศิลปินคนอื่น ๆ แต่ทอมก็คิดอยู่ว่าอยากจะทำโปรเจกต์ของตัวเอง ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่กิลวอมกับลูกำลังทำเพลงอยู่กับผม เลยคิดว่าก็น่าจะให้เขามาเป็นนักร้องของวงเราเพราะเขามีเสียงที่เพอร์เฟกต์

ลู: เพอร์เฟกต์มาก ๆ ครับ

ทอม: เพอร์เฟกต์มาก ๆ ครับ (หัวเราะ) ขอโทษที ผมนี่ไม่ถ่อมตัวเลย

img_0953

อะไรทำให้พวกคุณทำเพลงกันช้า

กิลวอม: การหาเวลาให้ทุกคนว่างพร้อม ๆ กันครับ 

ทอม: ก่อนจะมีสมาชิกแบบทุกวันนี้ ก็มีนักดนตรีคนอื่น ๆ หมุนเวียนกันมาเล่น แต่เราก็พยายามจะหาคนที่เล่นด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์หรือแซ็กโซโฟนที่เข้ากันได้ มันก็เสียเวลาตรงนี้เพราะเราพยายามจะทำเพลงของเราให้ดีที่สุด เพลงนึงเราทำออกมาหลายเวอร์ชันมาก คือแม้ว่าจะดูเหมือนเสร็จแล้วก็จะมีคนอยากเปลี่ยนมันอยู่เสมอ

งานที่ผมทำกับแดนทำคือการเขียนเพลงให้คนอื่น ซึ่งมันมักจะต้องเร็ว วันนึงต้องเสร็จละ แต่การทำงานของตัวเองนี่มันสนุกนะ ได้มานั่งทำด้วยกัน เพลงท่อนนึงบางทีใช้เวลาถึงหกเดือนเลยก็มี ก็เพื่อจะให้มันออกมาแบบถูกใจทุกคนที่สุด 

คุณเขียนเพลงให้ใครบ้าง

ทอม: แดนกับผมทำเพลง R&B ให้กับ Sinéad Harnett แล้วก็ Kwabs ที่เคยร่วมงานกับ Disclosure แล้วก็ทำเพลงแดนซ์

แดน: เราทำเพลงทรานซ์ drum&bass

ทอม: อย่าพูดถึงดรัมแอนด์เบสได้ปะ (FJZ: ทำไม) ผมไม่ชอบอะ ไม่อยากให้มันเข้ามาในโลกของ PREP ของพวกเราเลย (หัวเราะ)

แดน: คือเราโปรดิวซ์เพลงเยอะมาก หลายแนวมาก ผมทำเพลงโซล ฮิปฮอป อะไรพวกนั้นด้วย

ลู: จริง ๆ ผมมาจากฝั่งเพลงคลาสสิกนะ บางทีผมเขียนเพลงคลาสสิกด้วย แต่ผมก็มีโปรเจกต์เพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากเกมคอมพิวเตอร์ ฮิปฮอปญี่ปุ่น 

กิลวอม: ส่วนผมก็เป็นดีเจกับโปรดิวเซอร์เพลงเฮาส์ แต่ผมอินกับเพลง 70s มาก ๆ จนอยากจะทำเพลงของตัวเองขึ้นมา ผมก็พยายามที่จะรวมอิทธิพลจากเพลงที่ผมชอบหลาย ๆ แนวเข้าด้วยกันในงานนี้ ซึ่งตอนแรกที่เริ่มทำกัน เราตัดสินใจเร็วมากว่าจะทำเพลงอิเล็กทรอนิก 70s แต่จะไม่ให้ซาวด์มันออกมาย้อนยุค จะให้โปรดักชันมันออกมาฟังดูสมัยใหม่หน่อย แต่ก็จะยึดการเขียนทำนองแบบเพลงป๊อปสมัยก่อน 

ทำไมพวกคุณถึงสนใจเพลงโซล ฟังก์ R&B กันมาก

กิลวอม: ผมเริ่มสะสมแผ่นเสียงพวกนี้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น แล้วก็หัดเล่นกลองในสไตล์เพลงที่ผมชอบ ฟังก์ ดิสโก้ โซล

แดน: ผมด้วย ชอบเพลงคนอเมริกันผิวสี เดี๋ยวคุยกับคุณเสร็จแล้วเราจะไปช็อปไวนิลที่ฟอร์จูนทาวน์เนี่ย

img_0921

พอเราฟังเพลงของพวกคุณแล้วจะนึกถึง city pop ของญี่ปุ่นทันที

แดน: ใช่ ๆ city pop เป็นอะไรที่ผมกับกิลวอมชอบมาก พวกเพลงป๊อปญี่ปุ่นยุค 70s 80s เนี่ย 

พวกคุณได้เอาแผ่นไปขายที่ญี่ปุ่นด้วย ได้รับเสียงตอบรับยังไงบ้าง

กิลวอม: เพิ่งวางขายไปหมาด ๆ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง พวกผมไม่ได้ไปวางขายด้วยตัวเองนะ เห็นแต่รูปเขาถ่าย ๆ กัน แต่มันดูดีมาก (หัวเราะ)

ทอม: เราให้ที่ญี่ปุ่นส่งแผ่นมาให้ที่อินโดนีเซียเพื่อจะขายในช่วงที่มาทัวร์แถวนี้ แต่ดันติดศุลกากรที่นั่น เราก็เลยบินมานี่แบบเกือบจะตัวเปล่า เพราะมีไวนิลติดมาด้วยแค่ 7 แผ่น

แดน: ซึ่งนี่จะเป็น 7 แผ่นสุดท้ายในโลกแล้วนะครับ มาซื้อกันนะ

ทอม: แต่เดี๋ยวเราจะปั๊มกันใหม่อีกรอบลงไวนิลขาว เดี๋ยวออกมาเร็ว ๆ นี้แหละ 

พูดถึง art direction ทำไมมันถึงเข้ากันดีกับเพลงขนาดนี้

ลู: เราพยายามจะเลี่ยงความเรโทรไม่ให้มาโผล่โปรเจกต์นี้ เราได้กราฟฟิกดีไซเนอร์ที่มาจากอีสต์ลอนดอน แล้วก็บอกคอนเซปต์นี้กับเขา ซึ่งเขาก็ส่ง artwork นี้กลับมาซึ่งมันดูไม่เหมือนใครดี แล้วเราชอบมันมาก 

แดน: คือเขาทำออกมาได้ดูเป็น artwork ของเพลงร่วมสมัยดี งานส่วนใหญ่ที่เขาทำให้ก็จะเป็นของ Ne-Yo, Bondax คือทำให้พวกศิลปินอิเล็กทรอนิกได้ดีเลย 

ทอม: จริง ๆ เราบอกเขาว่าอยากได้แบบ David Hockney ศิลปินอังกฤษที่เราดูงานเขาบ่อยมาก ตอนนี้มีงานเขาจัดแสดงที่ Tate Britain งานเขามาจากช่วงปลาย 70s ต้น 80s นั่นแหละ แล้วเราก็ให้กราฟฟิกดีไซเนอร์คนนี้ทำงานสไตล์นั้นให้หน่อย ซึ่งมันก็ใช้เวลาพักนึงเหมือนกันเพราะเขาต้องไป ๆ มา ๆ ในการคุยเรื่องปกกับเราจนกว่าเราจะพอใจ พวกเราค่อนข้างเรื่องมาก (หัวเราะ) แต่มันก็ออกมาเยี่ยมยอดครับ เขาขยันมาก

img_0928

ถ้าจะให้เลือกระหว่างทำเพลงในสตูดิโออย่างเดียวกับออกมาเล่นสด จะเลือกอะไร

กิลวอม: คำถามน่าสนใจมากครับ คือเราเป็นวงที่อยากทำอัลบั้ม ทำเพลงในสตูดิโอ ที่พอทำเพลงจบแล้ว ก็จบไป แต่ พอเราเริ่มเล่นสดเมื่อนั้นแหละ 

แดน: คือมันใช้เวลานานมากในการทำไซด์โปรเจกต์ของพวกเรา (PREP) เพราะเราต้องทำอย่างอื่นไปด้วย แต่เราก็อยากที่จะพักการทำเพลงไว้บ้างแล้วมาทำอย่างอื่น จนเรามาเล่นสด การที่เราได้ยินเพลงที่เล่นออกมากว่า 45-50 นาที มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจมากกับสิ่งที่พวกเราทำ ซึ่งการที่อยู่ในสตูดิโอทำให้เราไม่ค่อยได้รับความรู้สึกแบบนี้ เราเลยชอบการเล่นสดด้วย

ทอม: ตอนที่เราทำเพลงกันในสตูดิโอ เราไม่ได้เล่นสดกันมานานมาก แล้วพอเราได้มาเล่นจริง ๆ มันทำให้เราได้ฟังเพลงที่เราอยากจะทำออกมา มันก็ทำให้เรารู้ว่าควรจะเล่นโดยใส่ความมีชีวิตชีวามากขึ้นในเพลง จากที่เล่นกันช้า ๆ มาตลอด ผมชอบเล่นสดนะ เพราะเราได้รับพลังงานจากคนดู ผมชอบที่จะได้เจอผู้คน เราดูใน Spotify แล้วเห็นว่ามีคนฟังเพลงของพวกเราอยู่ในหลายประเทศมาก ๆ ซึ่งมันก็ทำให้เราอยากจะไปเจอพวกเขาและถามว่าชอบมันไหม

ลู: คือคุณจะนึกอะไรไม่ออกเลยจนเมื่อคุณได้ไปสัมผัสกับคนดูของคุณจริง ๆ ถึงแม้ว่าทัวร์นี้จะเป็นทัวร์สั้น ๆ แต่มันยอดเยี่ยมมาก 

แดน: เราอยากไปญี่ปุ่นมาก เพราะได้ยินมาว่าพวกเขามีวัฒนธรรมการดูที่ต่างจากเรา ๆ ก็อยากจะไปรู้ว่าเป็นไง แต่การได้มาที่นี่ก็ดีครับ จะได้ดูทุกคนร้องเพลงของพวกเรา 

มีคนบอกว่าลอนดอนเป็นที่ที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกเฟื่องฟูมาก ๆ และเป็นที่ที่เจ๋งที่สุดในการทำเพลงอิเล็กทรอนิก จริงไหม

ลู: จริงครับ คือมันเป็นเมืองที่น่าสนใจสำหรับการทำเพลง เพราะเรามีสภาพอากาศที่ย่ำแย่มาก มันหนาวและดูหม่น ๆ อาหารก็ไม่ค่อยได้เรื่อง รถก็ติดชิบหาย ผู้คนที่นั่นเลยต้องหาอะไรที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น ซึ่งสิ่งนั้นก็คือเสียงเพลงครับ 

แดน: มันเป็นเมืองที่ให้แรงบันดาลใจเยอะมากนะ แต่ค่าครองชีพก็สูง แล้วเราหารายได้จากการทำเพลงค่อนข้างยาก 

ทอม: ผมว่ามันเป็นเมืองที่มีการแข่งขันสูงนะ ในเมืองอื่นของสหราชอาณาจักรเป็นซีนดนตรีที่ดีนะ พวกเขามีสังคมที่อบอุ่น มีการร่วมงานกัน ขณะที่ในลอนดอนทุกคนโฟกัสกับโชว์ของตัวเอง คอยดูว่าใครทำอะไรบ้าง แล้วเอามาปรับโชว์ตัวเองให้ดีกว่า บางครั้งผมรู้สึกว่ามันเย็นชาและเลวร้าย แต่ขณะเดียวกันมันทำให้คนตั้งใจทำงานกันมากขึ้น พยายามหาซาวด์ดนตรีใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

ลู: ซึ่งนั่นก็ทำให้ลอนดอนมีซีนดนตรีที่เข้มแข็งนะ อย่างดนตรีอิเล็กทรอนิกหรือวัฒนธรรม rave จากยุค 80s คนจัดงานปาร์ตี้ผิดกฎหมายกันบ่อย ๆ มันถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในสหราชอาณาจักรและคงทำให้ซีนอิเล็กทรอนิกมันยังตื่นตัวจนถึงทุกวันนี้ 

กิลวอม: ผมว่าเขาเปิดใจกันพอสมควรนะ ผมเป็นคนฝรั่งเศสที่ย้ายมาเป็นนักดนตรีในลอนดอนตอนอายุ 20 มันทำให้ผมเห็นความแตกต่างของซีนดนตรีฝรั่งเศสกับอังกฤษว่า ที่นี่มีความหลากหลายกว่ามาก ไม่ว่าคุณจะชอบเดธเมทัลหรือการาจร็อกแบบอังกฤษ คุณจะมีซีนที่รองรับคุณได้เสมอ นี่แหละทำให้ลอนดอนเป็นเมืองที่เจ๋งและน่าสนใจสำหรับผม มันมีพื้นที่ให้ดนตรีทุกแนวจริง ๆ 

แดน: ถึงแม้ว่าเพลงแดนซ์จะไม่ได้ถือกำเนิดในสหราชอาณาจักร แต่ธุรกิจเพลงแดนซ์ที่นี่เฟื่องฟูมากจริง ๆ ซีนมันใหญ่ และเป็นที่นิยมมาก มีการแข่งขันสูง มีหลายแนว 

แล้วพอมีการแข่งขันสูงแบบนี้ เราจะประสบความสำเร็จหรืออยู่รอดได้ยังไง

ทอม: ในแง่ธุรกิจมันหาเงินยากขึ้นแหละ มีคนบ่นเยอะมากเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับคนสายครีเอทีฟต้องดิ้นรนกันมากขึ้น หลายคนคิดเกี่ยวกับการย้ายไปเมืองอื่น มันจะทำให้เมืองนี้น่าสนใจน้อยลงแน่ ๆ ในอีก 5 – 10 ปี แต่ตอนนี้มันก็ยังเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจนะ 

กิลวอม: นักดนตรีอาชีพที่รุ่นใหญ่หน่อยเขาพบว่ามันง่ายขึ้นในการทำเพลงนะ มันไม่ได้ใช้เงินเยอะขนาดนั้นแล้ว

img_0922

เคยได้ยินพวกศิลปินรุ่นใหม่ ๆ จากเซาธ์ลอนดอนไหม อย่าง King Krule หรือ Cosmo Pyke คนพวกนี้กำลังมาแรงมาก

ทอม: King Krule ทำเพลงในสตูดิโอคอนเทนเนอร์ข้าง ๆ สตูดิโอของผมเองเมื่อสามเดือนก่อน ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้ชื่อจริงแทนแล้ว Archy Marshall 

แดน: เพลงที่ผมชอบช่วงนี้มาจากเซาธ์ลอนดอนนะ ผมเคยทำงานกับ Tom Misch และเป็นโปรดิวเซอร์ให้ Loyle Carner พวกเขาเจ๋งมาก เพิ่งอายุ 20 กันเองแต่เพลงที่พวกเขาฟังคือ A Tribe Called Quest ผมไม่รู้ว่าพวกเขาไปหาฟังกันจากไหนเพราะวงพวกนี้มีมาก่อนทีพวกเขาจะเกิดกันอีก ซึ่งผมคิดว่าการเกิดคลื่นลูกใหม่เล็ก ๆ พวกนี้มันจะทำให้ซีนนักดนตรีในลอนดอนกลับมาน่าสนใจขึ้นอีก แม้ว่าตอนนี้เพลงที่ใช้กีตาร์บรรเลง หรือพวกวงเล่นเครื่องดนตรีสดจะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก หลายคนหันมาทำบีทเพลงอิเล็กทรอนิกหรือเป็นดีเจกันมากขึ้น แต่เด็กพวกนี้เริ่มหวนกลับมาหาความเป็นดนตรีเพียว ๆ แบบเดิม ได้ใช้การผสมผสานของดนตรีแจ๊สมาอยู่ในเพลงสมัยใหม่ คือหลายคนอาจจะคิดว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ต้องทำแต่เพลงแบบใหม่ แต่เอาเข้าจริงเราก็มีรากมาจากดนตรีพวกนั้นนั่นแหละ 

ทอม: คือมันก็ไม่ได้ตายขนาดนั้นนะ มีโรงเรียนศิลปะในเซาธ์ลอนดอนที่ดังมากชื่อ Goldsmiths ที่คนเลือกเรียนเป็นนักดนตรีกีตาร์กันจริงจัง แต่ถ้าเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้ว ตอนนี้บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเท่แล้ว แต่การที่เด็กพวกนี้หยิบจับมันมาผสมผสานกับของใหม่เพื่อให้ศาสตร์พวกนั้นยังอยู่รอดต่อไปมันเป็นอะไรที่เจ๋งมาก

ลู: เอาจริงสมัยนี้มีศิลปินรุ่นใหม่ที่เอาอิทธิพลแจ๊สไปใส่ในเพลงของตัวเองเยอะมาก 

คนพวกนี้ถือเป็นความหวังใหม่ของลอนดอนได้ไหม

แดน: มันยังไม่ถือว่าเป็นกระแสหลักนะ อย่าง Loyle Carner ก็ไม่ใช่อันดับหนึ่ง แต่เพลงของเขามันดีสำหรับคนอย่างพวกเราแหละ มันก็ต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไปจะให้คนส่วนใหญ่ได้ลองย่อยมัน ก็ต้องรอให้คนเริ่มทำเพลงที่ออกแจ๊ส ๆ กันมากขึ้นกว่านี้ แล้วเด็กพวกนี้ก็คงจะกลายเป็นดาวดวงใหม่ในลอนดอนได้

โชว์ที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียเมื่อสองวันก่อนเป็นไงบ้าง

แดน: ดีมากครับ สองโชว์ก่อนหน้าก็ให้บรรยากาศที่ไม่เหมือนกัน เราได้เล่นในเฟสติวัล คนเยอะมาก ๆ บนเวทีใหญ่ กับอีกงานก็เล่นในคลับเล็ก ๆ ใน Johor ที่ที่เราได้รับพลังจากคนดูอย่างล้นหลาม คืนนี้เราก็ตื่นเต้นมากที่จะได้เล่นที่ไทยและคาดหวังมาก ๆ จะได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ที่นี่ครับ

img_0926

แปลกใจไหมที่คนไทยฟังเพลงของพวกคุณเยอะมาก

PREP: มากกกก (หัวเราะ)

ลู: ดีใจมาก ๆ ครับ

ทอม: โห เหมือนฝันเลยครับ พวกเราไม่เคยมีใครมาที่นี่ ก็เลยกะว่าจะอยู่ต่ออีกสักหน่อย อากาศแม่งทรงพลังมาก (หัวเราะ)

คุณจะเลือกให้เพลงไหนของ PREP เป็นเพลงคลายร้อนสำหรับตอนนี้

กิลวอม: เกือบทุกเพลงครับ เพลงเราก็ค่อนข้างช้านะ

ทอม: Future EP เนี่ยเหมาะสุดแล้วครับ 

ลู: เพลงเราชิวมาก แต่เดี๋ยวพอท่อนแซ็กโซโฟนขึ้นเนี่ย อากาศจะระอุเลยเพราะซาวด์มันร้อนแรงมาก (หัวเราะ)

ฝากอะไรถึงแฟน ๆ หน่อย

ทอม: เรามีความสุขและดีใจมาก ๆ ที่เพลงของพวกเราพาเรามาไกลถึงขนาดนี้ เหมือนฝันครับ แล้วดีใจที่ได้มาเจอผู้คน ได้พูดคุยกับพวกเขา และได้รู้ว่าพวกเขารู้สึกกับเพลงของเรายังไง หรือหาเพลงของเราเจอได้ยังไง รู้สึกโชคดีเหมือนกันครับ 

ลู: บางทีการดูยอดคนฟังใน Spotify อย่างเดียวมันก็เหมือนจะไม่ช่วยอะไรนะ คือเราไม่ได้รู้ว่าคนที่ฟังเพลงเราชอบหรือไม่ชอบเพลงของเรายังไงบ้าง แต่การได้มาเล่นสดทำให้เรารู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คนรู้สึกกับเรายังไง

แดน: ตอนนี้เราอาจจะมีเพลงน้อยอยู่ แต่เดี๋ยวเราจะปล่อยเพลงออกมาอีกในอนาคตแน่นอน 

กิลวอม: ขอบคุณมาก ๆ ครับ

img_0950

เอ้า อ่านจบกันแล้วก็เตรียมไปสนุกกับเพลงของพวกเขาได้เลย

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้