Taiwan Metal: An Insider Intro เมทัลไต้หวัน

Article Import

เมทัลไต้หวัน 101: ประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกโดยคนในซีน!

  • Writer: Joe Henley and Taiwan Beats
  • Translator: Malaivee Swangpol

ถ้าพูดถึงซีนเมทัลใหญ่ ๆ ในเอเชีย เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องนึกถึงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ (แต่ต้องลองไปถามนักดนตรีเมทัลในญี่ปุ่นว่าจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไรนะ) ซึ่งสำหรับสายเมทัลตัวจริงก็จะรู้ว่าตัวท็อปของวงการเมทัลเอเชียคืออินโดนีเซีย พิสูจน์ได้จากการที่พวกเขามีวงเดธเมทัลในเมืองบันดุงเมืองเดียวกว่า 200 วง! ต่อจากนั้นก็ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีวัฒนธรรม D.I.Y. มีรากฐานมายาวนาน แล้วก็เป็นไทย สิงคโปร์ มาเลย์เซีย…

อย่างไรก็ดี ไต้หวันมักจะถูกลืมไปจากลิสต์เสียดื้อ ๆ

เมทัลไต้หวัน ประวัติศาสตร์จากคนในซีน

ซีนเมทัลไต้หวัน 101: ประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกโดยคนในซีน!

Freddy Lim (ขวาสุด) และวง Chthonic

ซึ่งตั้งแต่กฎอัยการศึกที่บังตาประเทศถูกยกเลิกไปเมื่อ 30 ปีก่อน ซีนเมทัลก็ค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องบนเกาะอันงดงามแห่งนี้ มันเริ่มก่อตัวบนเว็บบอร์ดในยุคเริ่มต้นของเว็บไซต์ช่วงกลางค่อนไปถึงปลายยุค 90s หนึ่งในนั้นคือเว็บบอร์ด “Skull Kingdom” ที่ก่อตั้งโดย Freddy Lim ในวัยหนุ่ม ก่อนที่เขาจะกลายเป็นหัวหอกของวง Chthonic หนึ่งในวงเมทัลไต้หวันที่ชาวโลกยอมรับมากที่สุด ซึ่งนักดนตรีเมทัลและแฟนเพลงก็ได้แลกเปลี่ยนเพลงรวมถึงไอเดียในแชทรูมของเว็บบอร์ดนั้น ก่อให้เกิดเป็นวงเดธและวงแบล็กเมทัลวงแรกในประวัติศาสตร์ซีนดนตรีอิสระของไต้หวันที่ขณะนั้นยังเตาะแตะอยู่

Lim และวง Chthonic คือผู้ก่อร่างโชว์เมทัลและทัวร์เล็ก ๆ ในไต้หวันเป็นครั้งแรก รวมถึงได้ปล่อยอัลบั้มแรกในช่วงปลายยุค 90s เขาเล่าให้ฟังว่าตอนที่เขาแวะไปร้านขายซีดีเพื่อสอบถามยอดขาย เขาก็ไปพบว่ามันถูกเขี่ยไปอยู่ในกระบะลดราคาเสียแล้ว ต่อจากนั้นไม่นาน Lim ก็ได้ร่วมก่อตั้ง Zeitgeist ที่เป็นเวนิวแรก ๆ ของซีนเมทัล ซึ่งในตอนนั้นผับและบาร์ของไต้หวันก็ยังหวาดหวั่นกับพวกนักดนตรีนอกรีตสายพันธุ์ใหม่ที่มากับเสียงดนตรีดังลั่นสุดบาดหู

แต่อย่างไรก็ดี กุหลาบดำแห่งซีนตัวจริงก็ค่อย ๆ เบ่งบาน โดยขณะที่ชื่อเสียงและชื่อเสียของ Chthonic รวมถึงวงยุคบุกเบิกอย่าง Manum, Forbidden Tomb และ South of the Heaven ค่อย ๆ เริ่มแผ่ไปไกล (จริง ๆ แล้วก่อนพวกเขาก็มีวงแฮร์แบนด์อย่าง Assassin แต่เราขอโฟกัสเฉพาะวงสายหนักกระโหลกอย่างที่กล่าวมา) ก็ทำให้เกิดถึงเวนิวที่สร้างบรรยากาศอบอุ่นให้กับซีนเมทัลอย่าง Vibe ขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นเวนิวสายร็อก – แดนซ์ ซึ่งตั้งโดยคนสายร็อกในตำนานอย่าง Ling Wei โดยได้ทำให้เด็ก ๆ กล้าโผล่หน้าเอา blast beat กับ sweep picking ไปเล่นที่ห้องซ้อมกันมากขึ้น

ซีนเมทัลไต้หวัน 101: ประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกโดยคนในซีน!
งาน Formoz Festival

โดยช่วงต้นจนถึงกลางยุค 00s เมืองไทเปมักจะตกสำรวจจากทัวร์ของศิลปินระดับโลก แต่ศิลปินต่างชาติจำนวนหยิบมือก็ค่อย ๆ เริ่มแทรกซึมมาในประเทศ โดย Lim เคยเป็นผู้จัดที่พาวงอย่าง Megadeth และ Biohazard มาเยือนงาน Formoz Fest ของเขาในปี 2001 (ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาขาดทุนอย่างรุนแรง) และในปีต่อมา Dark Funeral ก็ได้เฮดไลน์งาน Metal Immortal Fest ในไทเป ซึ่งวงซิมโฟนิคแบล็กเมทัลอย่าง Anthelion ก็ได้ขึ้นแสดงในงานนั้นด้วย พวกเขานี่แหละคือหนึ่งในศิลปินที่ต่อมาจะเป็นหัวหอกของวงการที่กำลังเติบโตนี้

แม้หลังจากนั้นประตูสู่โลกภายนอกอาจไม่ได้เปิดกว้างมากนัก แต่อย่างน้อยโลกก็รู้ว่าในเอเชียยังมีอีกที่หนึ่งที่สามารถไปทัวร์ได้ ที่นั่นมีวงดนตรี มีแฟนคลับ และทั้งสองก็ล้วนกระหายอยากจะแสดงออกว่าไต้หวันมีอะไรดีที่จะโชว์ให้ประชาคมเมทัลโลกได้เห็น

ห้วงเวลายกระดับที่แท้จริงของวงการ ‘เมทัลไต้หวัน’ ก็มาถึง

ในปี 2007 หลังจาก Chthonic ผู้ที่ผ่านความผิดหวังจากการทัวร์ในภูมิภาคมากนับไม่ถ้วน ผ่านการเปลี่ยนสมาชิกมาหลายครั้ง รวมถึงเป็นผู้ลงแรงฉุดซีนเมทัลขึ้นมาอย่างยากเย็น ได้รับเลือกให้แสดงในเวทีสองในงาน Ozzfest ซึ่งเป็น Metal Festival ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือในตอนนั้น โดยความพิเศษก็คือเจ้าชายแห่งรัตติกาลอย่าง Ozzy Osbourne คือเจ้าของงานนี้

ซีนเมทัลไต้หวัน 101: ประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกโดยคนในซีน!
Chthonic ขณะเล่นที่ Ozzfest

และนี่คือคำประกาศไปถึงวงไต้หวันทุกวงว่าศิลปินสามารถโผล่จากซีนแคบ ๆ ในประเทศได้ หากเรายืนหยัดนานพอ มันก็จะทำให้เราได้ไปทัวร์กับศิลปินตัวท็อปของวงการ เหตุการณ์นี้จุดไฟในใจให้กับวงไต้หวัน ทำให้ซีนเมทัลในไทเปไปถึงจุดสูงสุด ด้วยการมีคอนเสิร์ตที่ Underworld ในย่านหอพักนักศึกษา Shida อย่างต่อเนื่อง หรือจะเป็นที่ CBGBs ในเวอร์ชั่นไทเปอย่าง APA 808 ใน Ximending รวมถึง The Wall ของ Lim ที่สร้างขึ้นด้วยคุณภาพระดับสากล ทำให้ที่นี่กลายเป็นเวนิวในฝันของนักดนตรีสายร็อก เมทัล และอินดี้ทั่วประเทศ

โดยซีนเมทัลก็ได้ผ่านช่วงขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอดปีต่อ ๆ มา จนไม่นานมานี้ที่การบังคับเกณฑ์ทหารสร้างหายนะในกับอาชีพนักดนตรี ทำให้หลาย ๆ วงต้องพักไปปีกว่า ๆ ในขณะที่สมาชิกไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งสำหรับบางวงก็ต้องชี้ชะตากันเลยว่าจะอยู่หรือไปในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีข้อบังคับเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้นักดนตรีเมทัลไต้หวันหลาย ๆ คนเลิกเล่นดนตรี นั่นก็เพราะพวกเขาถูกกดดันให้หางานที่มีเงินเดือนมั่นคง ส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ ตั้งครอบครัว และทำตัวน่านับถือเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดา (ไม่ไว้ผมยาว ไม่เจาะร่างกาย) ซึ่งสุดท้ายก็ทำลายตัวตนของพวกเขาไปเลย

อย่างไรก็ดี ชื่อศิลปินในคอนเสิร์ตและเฟสติวัลทุกวันนี้ก็ยังประกอบไปด้วยผู้พิทักษ์วงการเมทัลรุ่นใหญ่ ผู้ยังคงต้านทานแรงลมเพื่อผลักดันซีนออกไปทั่วประเทศและในภูมิภาค ยังคงปล่อยเพลงใหม่ ๆ ออกมา และยังคงไม่ยอมแพ้แม้ซีนจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แค่ไหน

ซึ่งวง Bazööka (สปีดเมทัล/ เมทัลพังก์) เพิ่งได้ชุบชีวิตงานมินิเฟสติวัล Raw Noise Attack ขึ้นมาเป็นครั้งที่ 14 ซึ่งงานนี้ก็จัดมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้ว แถมตอนนี้วงก็กำลังทำอัลบั้มอยู่อีกด้วย

วง Bazööka เมทัลไต้หวัน 101
วง Bazööka

Beyond Cure หนึ่งในตัวพ่อแห่งวงการเดธคอร์ไต้หวันที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงสมาชิกมาหลายครั้งตั้งแต่ก่อตั้งในช่วงต้นปี 2000 ซึ่งถึงแม้สมาชิกหลักจะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง แต่วงก็ยังคงครอบครองตำแหน่งเฮดไลเนอร์และยังครองเวทีทุกที่ที่พวกเขาไป

อีกวงหน้าใหม่แห่งซีนบรูทัลเดธเมทัลเล็ก อย่าง Maggot Colony ก็เป็นหนึ่งในวงเมทัลที่แอคทีฟมากที่สุดในซีนในหลาย ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ไปทัวร์ยุโรปและสหรัฐอเมริกา และยังปล่อยเพลงใหม่ออกมาเรื่อย ด้วยคำมั่นต่อวงมากมายทั้งในและนอกประเทศผ่านค่าย Fat Tub of Lard ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของเขา

นอกจากนี้ก็เป็นซีน grind ซึ่ง Sleazy Derek ได้ร่วมก่อร่างขึ้นมาในเมือง Taoyuan ซึ่งห่างออกไปจากเมืองหลวงอย่างไทเปประมาณ 45 นาที เขาคือเจ้าของค่าย Rotten Pyosis และผู้จัดคอนเสิร์ต Meat Griends ซึ่งยังคงจัดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เขาก็ยังคงรันวงการด้วยการเป็นสมาชิกวงเมทัลสุดดิบบาดแก้วหูอย่าง Brain Corrosion รวมถึงวงสาย noise grind อย่าง Hotel Carrefournia

ถึงแม้ซีนเมทัลในไต้หวันจะเล็ก แต่ก็มีหลายวงที่ยืนหยัดเล่นแนวของตัวเองอยู่แค่วงเดียว อย่าง Bloody Tyrant ก็เป็นวงโฟล์ก เมทัลเพียงวงเดียวของไต้หวัน หรืออย่าง Desecration หนึ่งในวงแบล็กเลือดแท้เพียงหยิบมือในเกาะไต้หวัน และอย่าง Miser วง sludge เพียงวงเดียวในประเทศในขณะนี้

เมทัลไต้หวัน 101 Raw Noise Attack
งาน Raw Noise Attack

ซึ่งถึงแม้ซีนเมทัลจะมีอุปสรรคมากมายทั้งเรื่องภูมิประเทศ วัฒนธรรม การเงิน และอีกมากมาย แต่ก็ยังสามารถผลักดันตัวเองไปข้างหน้าได้ โดยซีนนี้จะพยายามเต็มที่เพื่อทำให้โลกหันมาสนใจ รวมถึงนำวงระดับโลกเข้ามาแสดงและฟูมฟักศิลปินมากฝีมือชาวไต้หวันให้พร้อมยืนหยัดต่อไปอีกยาวนาน

ชม mv ของวงเมทัลในบทความนี้ได้ด้านล่าง

 

หยุดเข้าใจผิด! Death Metal สร้างความสุข และไม่ได้ปลูกฝังความรุนแรงอย่างที่คิดกัน

How to tour Taiwan for Thai bands ทำไงวงไทยจะได้ไปทัวร์ไต้หวัน?

Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่