Article Interview

‘ช่วยรับฟังในความเศร้าของฉัน’ กับ ‘ที่แล้ว’ อัลบั้มเต็มชุดแรกของ a.r.t

  • Writer: Yanabhus Suriyajai

ถ้าคุณรู้จักวง 7thSCENE คุณคงจำ แสตมป์ ชัช และอาร์ต ได้ ซึ่งนอกจากแสตมป์ที่ทำผลงานเดี่ยวแล้ว อาร์ต—กฤช วิรยศิริ มือกีตาร์ของวงก็มีโปรเจกต์เดี่ยวที่ชื่อว่า ‘a.r.t’ ที่ได้ร่วมงานกับศิลปินร่วมค่าย LOVEiS มาโดยตลอด ทั้งเพลง มัง ที่ร้องโดยน๊อต วรุตม์ หรือเพลง เท่านั้น  ที่ร้องโดย คิว Flure หรือล่าสุดที่ปล่อยไปเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้วอย่างเพลง ปัจจุบัน ที่ได้ featuring กับ ป๊อด Moderndog และ กอล์ฟ F. Hero ในปีนี้ a.r.t ก็ได้มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง ซึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจมากเพราะมาจากการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าที่อาร์ตได้ประสบมา

a.r.t

อาร์ตคิดคอนเซ็ปต์อัลบั้มนี้ได้ตั้งแต่เมื่อไหร่

คือตอนนั้นอกหักใหม่ๆ (หัวเราะ) แล้วสภาพเราก็แย่มาก ก็มาหาคนอยู่ด้วยที่นี่แหละ (LOVEiS) แล้วก็เจอพี่บอย โกสิยพงษ์ แล้วพี่บอยแกก็เห็นว่าเราเศร้า เลยพยายามจะหาอะไรอีกอย่างมาให้เราโฟกัสที่ไม่ใช่เรื่องความรัก แล้วเขาก็พูดขึ้นมาว่า ‘เฮ้ย อาร์ต ก็ใช้มันให้เป็นโอกาสในการทำอัลบั้มเลยสิ’ คือ ณ ตอนนั้นเรายังไม่สามารถทำอะไรออกเป็นชิ้นเป็นอันได้ จึงเลือกที่จะค่อยๆจดบันทึก (FJZ: เพลงแรกที่เริ่มทำในอัลบั้มคืออะไร?) คือเพลง มัง ครับ ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้น ระยะเวลาที่เราได้รับการมอบหมายให้ทำเพลง กับเพลง มัง มันผ่านมา 1-2 ปีได้ล่ะมั้ง

ณ ตอนที่อกหักทำให้อาร์ตเป็นโรคซึมเศร้าเลยหรือเปล่า

คือก็… เป็นเลย มันเหมือนกับเหตุการณ์นี้มาสะกิดอะไรสักอย่างที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว อย่างเช่น เราเป็นคนจริงจังและคิดมากกับทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยออกอาการ แล้วพอมาเจอกับเรื่องนี้มันเหมือนเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรามั้ง ไม่ใช่ว่าไม่เคยอกหักนะ แค่ครั้งนี้มันเป็นครั้งที่เราไม่คาดคิด คือเหมือนกับว่าเราจริงจังกับคนนี้มาก แต่พอมันเป็นแบบนี้เราก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ มันก็เป็นการเลิกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่จึงทำให้เราเศร้า เศร้าจนมันทำอะไรไม่ได้และรู้สึกว่ามันผิดปกติแล้วล่ะ จนที่บ้านต้องพาไปหาหมอ (FJZ: ซึ่งได้รับการรักษาตามที่แพทย์บอกเลยรึเปล่า?) ใช่ ก็ได้รับยาเลย คือตอนไปพบแพทย์แพทย์ก็วินิจฉัยออกมาอย่างง่ายดายว่า ‘มันเป็นแน่ ๆ’ (หัวเราะ)

คือคุณหมอบอกว่า ด้วยพื้นนิสัยที่เรามีความเป็นศิลปินสูง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงด้วยหน้าที่การงานนะ แต่หมายถึงจิตใจของคนประเภทนี้จะอ่อนไหวง่าย ความรู้สึกไว เวลามีเรื่องใด ๆ มากระทบก็เลยมีผลกับสภาวะอารมณ์ได้ง่าย บวกกับนิสัยส่วนตัวอีกอันหนึ่งของเราคือเป็นพวก perfectionist เป็นคนละเอียดและพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งข้อเสียของคนจำพวกนี้คือเราจะหาความสุขกับชีวิตได้ยาก เพราะเราจะไม่มัวชื่นชมหรือเอนจอยกับสิ่งที่มันดีอยู่แล้ว แต่จะโฟกัสไปที่สิ่งที่ยังไม่ดีพอ และจะพยายามแก้ไขสิ่งนั้นให้ได้ และเมื่อแก้ไขมันจนมันออกมาดีได้แล้ว เราก็จะวางมันทิ้งไว้อย่างนั้นแล้วหันไปมองหาสิ่งอื่นที่ยังบกพร่องอยู่ เพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขมันอีกต่อหนึ่ง เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น องค์ประกอบทั้งหมดทั้งมวลนี้เลยมาร่วมกันจุดประกายให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะเมื่อเจอเรื่องความผิดหวังครั้งนี้มากระแทก มันก็เลยเหมือนสิวเม็ดเต่ง ๆ ที่พร้อมจะทะลักออกมา

พอได้ยินคำวินิจฉัยนี้จากหมอ เราก็ยอมจำนนกับความจริงเลย เพราะมัน make sense เอามาก ๆ คือเรื่องความ perfectionist เนี่ย เราเองก็รู้ตัวมาก่อนแหละ เพื่อนร่วมงานหลาย ๆ คนเขาก็เคยบอก แต่ตอนนั้นเรามองแค่ข้อดีของมันไง คือมันทำให้เราได้รับความไว้วางใจในงานที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูง แต่เราไม่เคยตระหนักว่าข้อเสียของมันก็มี ซึ่งมันย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราอย่างหนัก เพราะเราดันใช้นิสัยนี้กับชีวิตด้านอื่นนอกจากเรื่องงานด้วย อย่างเรื่องอกหักที่เกิดขึ้น ที่เราเจ็บปวดแทบไม่รอดเพราะ ณ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าชีวิตรักของเราลงตัวแล้ว เราได้คนที่เราหมายปองที่สุดในชีวิตในตอนนั้นมาครอบครอง ถือเป็นการจบการเดินทาง ไม่ต้องไปมองหาใครอีก และแล้วพอเขาขอบอกเลิก มันเหมือนโดมิโน่ชิ้นแรกได้ถูกผลักให้เริ่มล้มลงละ แต่เราก็ยังพยายามสุดตัวที่จะแก้ไขมันนะตามพื้นนิสัยเดิม ซึ่งมันก็เครียดอยู่แล้ว และต่อมาสักพักพอเราได้รับรู้ความจริงเพิ่มเติมในส่วนที่เขาไม่บอกเรา ตอนนั้นมันเหมือนโลกแตกเลยล่ะ เพราะไม่เคยคิดว่าเขาจะทำแบบนั้นกับเรา และเราก็ยอมรับความจริงไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้เราแก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็เรียกได้ว่าล้มหมอนนอนเสื่อทันทีตั้งแต่วันนั้น

a.r.t

ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะกลับมาทำอะไรได้สักอย่าง

มันก็เป็นปีนะครับ คือหาหมออยู่ประมาณปีนึง แต่ถ้าทำอะไรที่แบบ fully function อะมันนานกว่านั้น โรคนี้เวลาเรารักษาไปถึงระยะนึงจะรู้ว่ายาหรือแพทย์เองจะส่งเสริมเราได้ระดับนึง แต่ส่วนที่เหลือจริงๆ ต้องเป็นตัวเราเองที่สู้ด้วย เรียกว่าเหมือนกับหมอทำให้เราอยากสู้น่ะ พอเราอยากสู้ได้แล้วเราก็ต้องเดินเอง จากปีนั้นที่เรารักษาได้ถึงจุดหนึ่งเราก็จะรู้ว่าหมอคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว ก็เลยพยายามตะเกียกตะกายลุกขึ้นมา

ช่วงรักษาอาร์ตทำอะไรได้บ้าง

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังงงเลยว่าเราเคยแบบ ‘นอนเป็นผัก’ วัน ๆ ไม่ทำอะไร ปกติคุณแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแต่เขาต้องกลับมาดูแลเรา (หัวเราะ) คือหาข้าวให้กินเพราะเราไม่ลุกจากเตียงไปไหน ถึงเวลาแม่เตรียมข้าวก็มากินข้าวแล้วกลับเข้าห้องไป

ตอนที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้าคุณอาร์ตต้องพยายามปรับวิธีคิดของตัวเองไหม

ณ ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรเลย คือเราคิดแต่เรื่องที่มันเกิดขึ้นกับเราว่าทำไมถึงเป็นอย่างงี้ ช่วงแรกๆที่เลิกกับแฟนเก่าก็เกิดความคิดที่ว่าจะแก้ไขยังไง แต่ท้ายที่สุดแล้วเรายิ่งทำอะไรมันก็ยิ่งแย่ คือคำพูดคำจาของเราตอนนั้นก็ไม่โอเค และเขาก็ตัดสินใจแล้ว ยิ่งไปยุ่งกับเขาเขาก็ยิ่งผลักไสเราในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยหยุดการติดต่อไปดีกว่า แต่การขาดกันไปแบบนี้มันก็มีอะไรค้างคาใจหลายอย่างให้คิด ดังนั้นสิ่งที่ต้องพยายามปรับไม่ใช่วิธีคิด แต่เราพยายามปรับให้ไม่คิดเลย ซึ่งการห้ามความคิดนี่มันยากมาก ถึงขั้นต้องเฝ้าระวังอยู่เป็นวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียว

อะไรที่ทำให้อาร์ตดีขึ้น

การรักษาอย่างหนึ่งแน่นอน คือมันมีการพบแพทย์แล้วก็ใช้ยาด้วย อย่างคุณหมอเนี่ยไม่ใช่จะจบแค่คนแรก จะต้องหาไปเรื่อยๆ จนเจอหมอที่เข้าใจสถานการณ์ของเราจริงๆ แล้วยาที่ใช้ในโรคซึมเศร้าเนี่ยมันมีอยู่หลายประเภท ก็ต้องดูว่ายาอันไหนเหมาะกับเคมีในร่างกายเราบ้าง แต่ละคนก็จะมียาที่เหมาะสมกับร่างกายไม่เหมือนกัน เราก็ต้องทดลองกันไปจนเจอ ซึ่งความยากของยาพวกนี้มันใช้เวลา มันไม่เหมือนเป็นหวัดที่กินยาแล้วรู้สึกดีขึ้นเลย คือต้องให้ฤทธิ์ยาไปอยู่ในระบบร่างกายเราก่อน ประมาณสองสัปดาห์กว่าจะออกฤทธิ์ แล้วฤทธิ์ยามันจะคลายความคิดเราและเราจะนิ่งขึ้น แต่ในอีกเชิงนึงด้วยที่เราเป็นศิลปิน เราทำงานเกี่ยวกับเรื่องเพลง เราไม่ได้ไวในการคิดงานได้เหมือนเมื่อก่อนเราจึงต้องปรับตัว แต่ถ้าเราไม่ได้กินยา เวลาที่ความคิดเราทำงานอะมันไม่ได้มาโฟกัสกับงาน มันกลับไปโฟกัสด้านลบหมดเลย เหมือนที่เขาบอกว่าจิตใจมนุษย์มักไหลลงต่ำ (หัวเราะ)

เมื่อคนใกล้ตัวเราเป็นโรคซึมเศร้า เราควรรับมือพวกเขายังไงบ้าง

บางคนอาจจะไปเจอเรื่องราวไม่ดีมา ซึ่งคนปกติอาจจะเศร้าแต่ไม่ถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือว่าบางคนไปเจอเรื่องแย่ ๆ มาแล้วเศร้าแล้วก็สงสัยกับตัวเองว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่าแล้วไปหาหมอ และหมอวินิจฉัยว่า ‘ไม่ได้เป็น คุณแค่เจอเรื่องแย่ ๆ แล้วเศร้าเป็นปกติมนุษย์’

ส่วนการรับมือผมว่ามันคล้าย ๆ กับตอนที่เราเจอเรื่องแย่ อย่างแรกเราจะไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นมาทำกับเราแล้วมันไม่เวิร์ก คือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือเศร้าเฉย ๆ พวกเขาต้องการแค่ ‘คนรับฟัง’ และต้องฟังจริงๆ นะไม่ใช่ฟังผ่านๆ เพราะของพวกนี้มันรับรู้ได้ แล้วก็ดูว่าเราช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง แต่ถ้าเกิดว่ามันอยู่ในเคสที่นอกเหนือความสามารถเรา เราก็จะไม่พยายามบอกกับเขาว่าควรทำอะไร เพราะอย่างนั้นมันจะยิ่งทำให้สถานการณ์มันแย่ลง จากประสบการณ์ตรงพอเรารู้สึกแย่แล้วมีคนมาบอกให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ และอันที่แย่ที่สุดคือ ‘ดูอย่างเขาสิ…’ อย่างบางคนเลิกกับแฟนตอนมัธยมแล้วมาบอกว่าต้องทำยังไง แต่อย่างเราคือคนที่จะแต่งงานด้วยนะเว่ย (หัวเราะ) คือมันคนละระดับมาก ๆ โอเค เข้าใจในความหวังดีของเขาแต่พอยิ่งแสดงถึงความไม่เข้าใจเราก็จะยิ่งต่อต้าน ยิ่งถ้าเขาพูดเยอะอีกเราก็ยิ่งอยากออกจากตรงนั้น (หัวเราะ) ก็เลยเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้ ถ้าเราไม่เข้าใจสถานการณ์ของเขาเราก็จะไม่ลงลึกเลย แค่ทำให้เขารู้ว่าเราจะอยู่เป็นเพื่อนเขาแบบจริงใจ สมมติมีอะไรอยากคุยก็โทรมาเลย หรือว่าไปกินข้าวด้วยกันอะไรอย่างงี้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ไง (FJZ: คือแค่คอยรับฟังในสิ่งที่เขาอยากจะพูดก็พอ?) ใช่ ๆ คือเขาอยาจะพูดตลอดแหละเวลามีเรื่องแบบนี้ แค่ถ้ามีอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับเขาเราก็จะพูด แต่เราก็จะพูดจากมุมของคนที่มองเข้าไปในเหตุการณ์ของเขานะ ไม่ใช่มุมของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ มิฉะนั้นมันจะเหมือนลงไปคลุกวงในกับเขา มันไม่ช่วยให้เขาเห็นภาพรวม และไม่น่าจะเกิดผลดี แต่ที่สำคัญคือเราจะอยู่ข้าง ๆ เขา ไม่ใช่เข้าข้างเขานะ เราจะไม่แสดงอาการอิน หรือโกรธแค้น มีอารมณ์ร่วมไปกับเขามากเกินไป ถึงแม้มันจะทำให้เขารู้สึกเหมือนว่ามีพรรคพวก แต่ผลเสียคือมันยิ่งไปกระตุ้นให้อารมณ์เขา swing ปั่นป่วนขึ้นไปอีก ความคิดเขาก็จะตกตะกอนได้ช้าลง ผมว่าถ้าเราจะช่วย เรามาช่วยให้เขาสงบนิ่งลงดีกว่า พอเขาสงบได้ในระดับนึง เขาก็จะหาทางไปต่อเองได้ละ

อาร์ตคิดว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะแต่งเพลงเศร้าได้ดีกว่าคนที่ปกติไหม

อืม… ไม่แน่ใจ เพราะว่ามันก็มีเพลงเศร้า ๆ หลายเพลงที่มันเศร้าจังแต่คนแต่งก็ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า ผมว่ามันเป็นเรื่องของประสบการณ์มากกว่าว่าเจออะไรมา อย่างของผมด้วยการที่เราป่วยเราอยู่กับมันนานก็เลยใช้เวลาในการซึมซับความรู้สึกพวกนี้เยอะ แล้วเราก็เป็นคนชอบจดบันทึก ซึ่งทุกวันนี้ยังเก็บสมุดเล่มนั้นไว้อยู่เลย บางข้อความ บางไอเดียมันไม่ได้ถูกเอามาใช้ทำเพลง แต่เรากลับไปอ่านเราจะรู้ว่าเราเคยคิดแบบนั้น และมันจริงว่ะ

ในอัลบั้มนี้อาร์ตนิยามแนวดนตรีว่าอะไร

Electronic rock ละกัน คือถ้าเราทำเพลงของตัวเองยังไงมันต้องกลิ่นร็อกแน่ ๆ เพราะว่าเราโตมากับเพลงแนวนี้ ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ก็จะชอบเพลงอัลเทอร์เนทีฟ หรือเพลงฝั่งอังกฤษ คือเป็นเด็กยุค 90s อะ  (หัวเราะ) (FJZ: ชอบศิลปินคนไหนบ้าง) ชอบ Radiohead หรือไม่ก็ชอบวงยุค Oasis กับ Blur ตีกันอะ แล้วก็ฟังสองวงนี้ด้วย ถ้าฝั่งอเมริกันก็จะฟังพวกกรันจ์ Nirvana, The Smashing Pumpkins อะไรอย่างงี้ฮะ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงมันก็คือร็อก (FJZ: แล้วได้ดนตรีอิเล็กทรอนิกมาจากไหน) ได้จากการที่เราโตขึ้นและสนใจด้านการทำเพลงและเป็นยุคที่เราใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำเพลง มันก็จะมีซอฟต์แวร์พวกซินธิไซเซอร์ต่าง ๆ เราก็เริ่มจากนั้น แล้วมัน เฮ้ย! สนุกดีอะได้บิดนู่นนี่นั่น แต่เราก็ไม่อยากจะทิ้งพื้นเพที่เป็นร็อกของเรา พอเราเลยเถิดไปเรื่อย ๆ จากที่เล่นซอฟต์แวร์บนคอมเราก็ไปซื้อซินธ์ของจริงที่เป็นฮาร์ดแวร์ ก็เอามาปรับเสียงนู่นนี่นั่นเล่น ๆ สำหรับผมรู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างนึง คือเราสามารถดีไซน์ซาวด์ได้ การอัดเสียงทุกอย่างมันเริ่มจาก sine wave ที่เรียบง่ายมาก อยู่ที่ว่าเราจะผสมหรือดัดแปลงอะไรลงไป ซึ่งอันนี้มันสนุกเหมือนกับเราเอากระดาษเปล่ามาวาดอะไรก็ได้ลงไป (FJZ: แล้วในอัลบั้มนี้อาร์ตได้ reference จากอะไรบ้าง) เรามี reference แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยากทำแนวของใครเป็นพิเศษ ผมว่ามันคือการสะสมตั้งแต่เด็กเลยมั้ง จากการเป็นนักฟังแล้วพอมาทำเองนี่ มันเหมือนกับว่าจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้าจะให้เราระบุว่ามันน่าจะมีอิทธิพลมาจากวงนี้ ก็คิดไม่ออกอะว่าคือวงอะไร (FJZ: แล้ววิธีการทำงานเพลงของอาร์ตเป็นยังไง) จริง ๆ แต่ละเพลงมันไม่มีแพตเทิร์นเลย แต่จะพูดถึงรูปแบบที่เราใช้บ่อยสุดละกัน ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชอบซาวด์ชอบดนตรีอะไรอย่างงี้ มันก็อาจจะกลับทางกับหลาย ๆ คนนะ (หัวเราะ) คือชอบทำดนตรีมาประมาณนึงก่อนให้มันเก็ตถึงอารมณ์ คือนักดนตรีบางคนอาจจะมีเครื่องดนตรีประจำตัว เช่น กีตาร์โปร่งหนึ่งตัวแล้วฮัมทำนองออกมา หรือบางคนเล่นเปียโนแล้วก็ฮัมออกมา กระบวนการนี้ผมมีแต่อาจไม่ได้ทำจนเสร็จทั้งหมด คือจะคิดไว้ประมาณนึงก่อน อย่างตอนทำวง 7thSCENE ผมทำดนตรีมาเป็น backing track แล้วเอามาแชร์ให้แสตมป์กับชัชฟัง ซึ่งสองคนนี้จะถนัดเรื่องเมโลดี้และเนื้อเพลง แล้วสองคนนี้ก็ใส่เมโลดี้และเนื้อเพลงเข้าไปใน backing track ของเรา หรือว่าบางทีสองคนนี้ก็ทำดนตรีมาประมาณนึงและมีเนื้อเพลงอยู่แล้ว แล้วเราค่อยไปจับฟีลว่าดนตรีนี้เขาทำมาแบบไหนแล้วเราก็ไปต่อยอด แต่พอมาถึงชุดนี้เราทำคนเดียวไง โดยเรื่องเนื้อหาเป็นเรื่องของตัวเองและเขียนเพลงเองด้วย อย่างแรกสุดก็จะคิดว่าเพลงนี้เกี่ยวกับอะไร อย่างน้อยเราต้องมีสักหนึ่งประโยคที่สรุปใจความ เนื้อเพลงอาจจะยังไม่ครบแต่ต้องรู้ก่อนว่าเราจะสื่ออะไร ต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ก่อนแล้วค่อยทำดนตรีมาครอบมัน เราก็จะรู้ว่ามู้ดมันควรเป็นยังไง แล้วทำเมโลดี้คร่าว ๆ ไว้แล้วทำดนตรีให้เร็วที่สุด (หัวเราะ) มันอาจจะแปลกจากคนอื่น พอเราเริ่มทำดนตรีให้พอเห็นภาพอะมันสามารถทำให้เราเขียนเนื้อเพลงได้เข้มข้นสมน้ำสมเนื้อกับดนตรี มันก็คล้าย ๆ กับการทำหนังอะ หนังก็จะมีกราฟของอารมณ์อะไรอย่างงี้ ซึ่งทำดนตรีก็จะมีกราฟอะไรแบบนี้เหมือนกัน เนื้อเพลงก็จะเป็นไปตามกราฟของอารมณ์นั้น ๆ

คาดหวังอะไรกับคนที่ได้ฟังอัลบั้มนี้บ้าง

อย่างแรกก็คาดหวังอย่างที่ศิลปินทุกคนคาดหวังคือให้เพลงของเราไปถึงหูคนให้ได้มากที่สุด แล้วก็ชอบมัน อันนี้คิดว่าคงเป็นพื้นฐาน และอันที่คาดหวังส่วนตัวก็คือว่าชุดนี้มันแต่งขึ้นจากตัวเราล้วน ๆ ตอนแรกก็คิดหนักเหมือนกันว่าเราจะเอาเรื่องนี้มาถ่ายทอดดีไหม เพราะมันเหมือนเป็นปมด้อยอะ (หัวเราะ) แต่พอคิดไปเราก็อยากให้คนเห็นว่าไอ้สิ่งที่เราว่ามันดูแย่ในโรคซึมเศร้า คือเราสามารถหามุมเอามาใช้ประโยชน์ได้เสมอ เคยได้ยินว่า ‘อะไรที่มันเกิดขึ้นแล้วมันดีเสมอ’ ซึ่งตอนที่กำลังซึมเศร้าได้ยินแล้วไม่เชื่อเลย มันดียังไงวะ (หัวเราะ) แล้วพอเวลาผ่านมามันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ไอ้สิ่งนี้ถ้าเราถ่ายทอดได้ถูกวิธี แทนที่เราจะถ่ายทอดว่ามันฟูมฟายขนาดไหน เรามาถ่ายทอดในลักษณะที่ว่าเราผ่านมันมาได้ยังไง เพื่อให้ความคิดบวกแก่คนฟัง คนที่เศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าคนอื่นเขาอาจจะทำผลงานต่าง ๆ ตามสายอาชีพของเขา เพื่อแปลงสิ่งที่เขาเศร้าผ่านงานที่เขาถนัดให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้าง อย่างชิ้นงานนี้ผมก็แปลงออกมาเป็นเพลงทั้งอัลบั้มเลย

เพลงกับทฤษฎีขั้นของการสูญเสียของ Elisabeth Kübler-Ross

มันเป็นเรื่องบังเอิญมาก ตอนเราทำอัลบั้มเสร็จไม่รู้เลย แต่พอเราวางแผนกับพี่บอยโกว่าจะมีอะไรมาซัพพอร์ตเนื้อหาของอัลบั้มนี้ได้บ้าง เขาก็นึกถึงจิตแพทย์ แล้วให้การบ้านกับจิตแพทย์ไปฟังมาทั้งอัลบั้ม ปรากฎว่าเขาก็บอกว่ามันตรงกับทฤษฎีของ Elisabeth Kübler-Ross เลย ซึ่งมันเป็นลำดับขั้นตอนของความรู้สึกคน คือเพลงผมก็เรียงตามลำดับเหตุการณ์และความรู้สึกของเรา ซึ่งพอเอามาเทียบกับทฤษฎีมันก็ตรงกันเป๊ะเลย (หัวเราะ)

ขั้นแรก เพลง ปัจจุบัน

คือเพลงปัจจุบัน ถ้าพูดตามทฤษฎีมันเป็นขั้นของการปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง เราย้อนไปนึกถึงความรู้สึกตอนนั้นมันสับสนวุ่นวายไปหมดเลย ทั้งพยายามจะคืนดีกับเขาหรือพยายามนึกย้อนอดีตว่ามีอะไรไม่ดีเพื่อที่จะแก้ไขมันเพื่อเขา หรือว่าคิดถึงอดีตที่มันดี ๆ ก็ยิ่งเจ็บ กับคิดถึงอนาคตว่าเราจะทำยังไงดีเมื่อมันไม่เป็นไปตามแผน คือในแผนมีผู้หญิงคนนี้อยู่ตลอด พอมันผิดแผนก็ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับอนาคต ก็เลยออกมาเป็นเพลง ปัจจุบัน ที่พูดถึงจิตใจเราเองไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเลย เราข้ามไปข้ามมาระหว่างอดีตกับอนาคต แต่เพลงนี้ไม่ได้แต่งออกมาได้ ณ ตอนนั้นนะ คือตอนนั้นเราโฟกัสแต่ว่าเราจะทำยังไงดี และไม่ยอมรับว่ามันแก้ไขไม่ได้แล้ว เราก็เอาแต่ตามง้อและทำทุกอย่างที่คิดว่าจะทำได้ อันนั้นคือการไม่ยอมรับหรือปฏิเสธความจริง  แต่ตอนที่แต่งเพลงมันผ่านมาหลายปีแล้ว เพราะตอนที่เหตุการณ์มันอยู่ตรงหน้าเราไม่สามารถเห็นภาพรวมได้หรอกว่าเราเป็นอะไร แต่ตอนนี้พอเรามองกลับไป เรามองเห็นความมั่ว ๆ ซั่ว ๆ วุ่นวายและชีวิตก็ไม่ได้มีความสุข พอเวลาผ่านไปก็หาสิ่งที่มาเยียวยาก็ไปเจอหนังสือธรรมะของพุทธศาสนา ซึ่งเขาพูดถึงการมีสติ คือนึกถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบัน คือเจ้าความทุกข์ที่มาจากคนอื่นเขาทำเราแค่ครั้งเดียว แต่ว่าตัวเราเองที่เอาความทุกข์พวกนั้นมาเล่นซ้ำในหัว อย่างถ้ามีคนเอามีดมาแทงเรา แล้วเขาก็จากไป แต่เรากลับเอามีดเล่มเดิมมาแทงตัวเองซ้ำ ๆ ก็เหมือนกับเราที่ replay ภาพเก่า ๆ คือมันเกิดจากตัวเราทั้งนั้นเลย (หัวเราะ)

ขั้นที่สอง เพลง เท่านั้น

เพลง เท่านั้น เขียนตอนที่เรากำลังอิน เพราะขั้นสองในทฤษฎีคือเกรี้ยวกราดละ จะไม่โทษตัวเองแต่จะโกรธว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นกับเรา พอมาเป็นเพลงเท่านั้น เนื้อหาจะมีความประชด ‘เธอไม่ได้เสียคนที่ดีพร้อม เธอไม่ได้เสียคนที่เลอเลิศ เธอไม่ได้เสียอะไรเลย แต่ว่าเธอแค่เสียคนที่รักเธอทั้งหมดในชีวิตไป’ ก็เท่านั้น บางคนโกรธอาจออกอาการเยอะ แต่ถ้าเป็นเราจะประชด เพลงก็เลยจะประชดประชัน  แต่ประชดในเชิงที่สะท้อนขึ้นมาว่า ถึงแม้จะประชดประชันแต่เราก็ไม่ได้หลุดมาจากเขา ไม่ใช่แบบว่าโกรธกันแล้วไปไกล ๆ ไป แต่เราโกรธและก็ยังต้องการให้เขากลับมา เพลงนี้ดาร์กสุดในอัลบั้มแล้วมั้ง อารมณ์เพลงก็จะมีตั้งแต่น้อย ๆ จนโวยวาย นักร้องจึงเป็นใครไปไม่ได้ (หัวเราะ) นอกจากคิว Flure ด้วยน้ำเสียงและวิธีการถ่ายทอดของเขามันสามารถทำให้ถึงได้ คือตอนเราทำเพลงอารมณ์โกรธเรากะไว้ประมาณนี้ก็พอละ แต่พอคิวมาร้องต้องกลับไปแก้ดนตรีใหม่ เพราะรู้สึกว่าเสียงร้องมันดี มันโหด มันบาด ชนิดที่ดนตรีเราไม่ได้บาดขนาดนั้น คือมันสู้เสียงร้องเขาไม่ได้ ก็เลยต้องกลับไปนั่งทำดนตรีให้มันดุดันขึ้นจะได้โอบอุ้มเสียงร้องขนาดนี้ได้ (หัวเราะ)

ขั้นที่สาม เพลง คนใหม่ และ มัง

มันเป็นขั้นที่ยอมรับแล้วล่ะแต่มันก็เศร้า คือเรายอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วมันก็เกิดรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น คือเมื่อก่อนมีบางอย่างที่เราทำไม่ดีกับอดีตแฟนเราจนวันที่ทุกอย่างมันสายไปแล้วเราก็มาสำนึกได้ แล้วแก้ไขตัวเองทำตนเองเป็นคนใหม่ แต่เป็นคนใหม่ก็ไม่มีความหมายอะไร คือคนที่เราอยากจะเป็นคนใหม่ให้ไม่อยู่แล้วอะ  มันก็เลยเศร้าและเสียดาย คือเขาไปไกลแล้ว มันเป็นเพลงที่รำพึงรำพันกับตัวเอง (FJZ: แล้วขั้นที่สี่คือเพลงมังเหรอ?) จริง ๆ เพลง มัง มันอยู่ในขั้นเดียวกับคนใหม่ คือสองเพลงนี้เนื้อหาคือเธอทำให้ฉันอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิม แต่เพลงมัง มันเป็นอีกมุมมองนึง ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นรึเปล่า แต่เราเป็นในลักษณะที่ว่า เวลาชีวิตมันแย่จนไม่รู้จะแย่กว่านี้ยังไงแล้ว  มันจะมีโมเมนต์ที่มองตัวเองเป็นสิ่งของไร้ความรู้สึกอะ (หัวเราะ) คือสามารถเล่นตัวเองได้ ประชดล้อเลียนตัวเองได้ อย่างเพลง มัง การแก้ปัญหามันต้องใช้เวลาประมาณนึงและยากสำหรับคนที่เพิ่งเจอเรื่องราวแย่ ๆ มาหมาด ๆ วิธีการให้กำลังใจตัวเองอย่างง่ายที่สุดก็คือ ลองเปลี่ยนอะไรที่มันเปลี่ยนง่ายก่อน แล้วเราก็เป็นคนไม่กินผัก เวลาสั่งอาหารมาแล้วมีผักก็จะเขี่ยออก คราวนี้เราเลยพยายามกินมันหน่อย หรืออย่างคนไม่กินเผ็ด คือไม่พยายามกินเผ็ดเลย  ลองนึกว่าไปกินข้าวกับแฟน เช่น อาหารอีสานหรือส้มตำ เขาก็ต้องยอมลดระดับความเผ็ดเพื่อมากินกับเราได้ แต่คราวนี้จากที่ไม่เคยกินเผ็ดเลยพยายามกินเผ็ดมากขึ้นเพื่อให้เข้ากับเขาได้ ท่อนฮุกก็เลยบอกว่า เราจะปรับปรุงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวันที่เราไม่มีกำลังมากพอที่จะเปลี่ยนเรื่องใหญ่ ๆ ค่อย ๆ ทำสะสมไปทีละเรื่อง จนวันนึงพอเราทำมันดีขึ้นหลาย ๆ เรื่องรวมกัน มันก็จะเริ่มเห็นภาพใหญ่ที่ดีขึ้นในที่สุด มันเหมือนเป็นเพลงอกหักและเศร้า แต่เราพยายามเสแสร้งให้มันไม่เศร้า คือมันก็ตามโจทย์นะ เพลงมันไม่ได้ออกมาแบบฟูมฟาย แต่มันออกมาแล้วรู้เลยว่าคนนี้มันเศร้าแต่มันพยายามกลบเกลื่อนด้วยเรื่องต่าง ๆ ให้ดูขำขันหน่อย

ขั้นที่สี่ เพลง ฉันไม่ได้รอ

อันนี้เป็นเพลงที่เวลาผ่านไปมาสักปีนึงแล้วและเรารู้ว่าเขาไม่กลับมา ส่วนเราก็เลิกพยายามไปแล้วที่จะให้เขากลับมา แต่เหตุการณ์มันเกิดจากที่ว่าเราก็คิดถึงเขาอยู่บ้าง โดยเดิมทีเราไม่ได้โทรหาเขาเลยเพราะมันไม่ดีต่อตัวเขาเอง และอีกอย่างคือเราไม่อยากโทรไปแล้วเราต้องรู้สึกเจ็บตอนที่ต้องวางสาย แต่เราก็จะส่งข้อความไปบ้าง อาจจะเดือนละครั้งสองครั้งแต่ทุกข้อความเราไม่เคยบอกว่ากลับมาเหอะ แต่เราจะบอกว่า ‘คิดถึง’ หรืออะไรที่เราบอกไปโดยไม่ต้องการคำตอบ สมมติว่าช่วงไหนที่อากาศไม่ดีเราก็บอกว่า ‘ดูแลสุขภาพดี ๆ นะ’ อะไรอย่างงี้ คือเราส่งแค่ความหวังดีอย่างเดียว ไม่คาดหวังจะให้เขากลับมาเลย แล้วจนวันนึงเชื่อว่าเขาคงไม่อยากรับสิ่งพวกนี้แล้ว  จากที่เขาไม่เคยตอบเลยมาเป็นปีๆ แล้วอยู่ ๆ ก็ตอบกลับมาว่า ตอนนี้ชีวิตเขาลงตัวมากแล้ว อย่างไรก็ตามเขาคงไม่กลับมาหาเราแน่ ๆ และเขาก็บอกว่า ขอให้เราเจอคนที่เรารักและเขารักเราตอบ ตอนนั้นเราก็มีความอึ้งไป แต่ก็ทำให้เกิดเพลงนี้ขึ้นมา ฉันไม่ได้รอ โดยเนื้อหาเพลงก็บอกว่า  ทั้งหมดทั้งปวงที่เธอเข้าใจว่าฉันรอเธออยู่ จริงๆแล้วไม่ใช่ คือเราเข้าใจและไม่ได้รอเธอกลับมาหรอก แต่เราก็ยังรักเขาอยู่อะ แล้วไอ้ที่เรายังรักเขาอยู่เนี่ย ขอให้เขามองว่ามันเป็นส่วนของเรา  คือจะให้เราเลิกรักเขา ณ ตอนนั้นอะมันทำไม่ได้ คือมันอยู่ในตัวเราไม่ได้อยู่ในตัวเขา มันเป็นข้อความที่บอกว่าคุณจะใช้ชีวิตอะไรยังไงก็ตามสบาย ไม่ต้องมานึกเลยว่าไอ้หมอนี่มันยังรอคุณอยู่ คือเราไม่ตื๊อไม่ตอแยอีกแล้ว แค่มาแสดงความหวังดีเฉยๆ ซึ่งหลังจากนั้นเราก็ไม่ติดต่ออะไรไปเลย ก็ปล่อยให้เวลามันผ่านไป เราน่าจะไปต่อได้และเจอคนที่เหมาะสมกับเราได้เอง แต่ ณ โมเมนต์นั้นยังมาไม่ถึงจุดนี้นะ ก็เลยเป็นเพลงเศร้าและช้า

ขั้นที่ห้า เพลง เนิ่นนาน

อันนี้คือเพลงของการข้ามผ่านจริง ๆ เพลงมันจะสว่าง เนื้อหาคือพูดกับตัวเองวันนี้ฉันควรต้องปล่อยวางแล้วล่ะ เพราะตอนที่เรายึดติดกับเรื่องราวนี้อะคือเราไม่ปล่อยวาง  คิดแต่ว่าทำไมเขาต้องทำกับเราแบบนี้ ซึ่งตอนนั้นมันก็กลายเป็นปมว่าทำไมเธอทำแบบนี้กับเรา ทำไมเธอไม่ยอมรับในสิ่งที่ทำนะ ทำไมต้องทำให้เราเชื่อว่าตัวเราเป็นคนเล้วเลวจนหมดความมั่นใจในตัวเอง (หัวเราะ) ทำไม ๆๆ เต็มไปหมด โคตรดาร์กเลย  ทำไมเธอใช้คำพูดแรงๆกับเราที่มันติดตัวเราไปจนตาย อย่างเช่นเขาบอกว่า ‘อย่างพี่อะ จะให้เป็นลูกที่ดีของแม่… ยังทำไม่ได้เลย’  พอเขาพูดใส่มาอย่างงี้เราก็เฮิร์ตว่าทำไมมาพูดแบบนี้กับเราวะ จนตอนนั้นเราก็ดันเชื่อและเศร้าใหญ่ ถึงขั้นกลับไปถามแม่เลยว่าจริงเหรอ (หัวเราะ) ซึ่งคำตอบก็คือไม่ใช่ มันเป็นเพียงแค่กลไกในการป้องกันตัวของเขาไม่ให้ตัวเองดูเป็นคนผิดทั้งหมด มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ บางอย่างเราไปทำผิดมาแล้วเรายอมรับผิด แต่เราก็ยังมีข้ออ้างอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้ดูผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นถ้าเรามาสายเราก็จะมีข้ออ้างว่ารถติดงี้ แต่พอดีว่านี่คือเรื่องใหญ่และเราไปตอแยเขาเยอะไง เขาเลยพูดแรง มันเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับในแบบของเขา พอมาถึงเพลงเนิ่นนาน  คำถามต่างๆ อย่างทำไมเขาถึงทำแบบนี้กับเรา มันเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งใจเราเอาไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าตัวเขาเองจนถึงวันที่ผมเขียนเพลงนี้เขาคงลืมไปแล้วว่าเคยพูดคำนี้ แล้วเราจะไปหาคำตอบได้ยังไงถูกมั้ย ก็คือมันไม่มีคำตอบหรอก  ก็เลยเขียนขึ้นมาว่า โอเคช่างมัน คำถามที่มันค้างคาบางเรื่องมันก็ไม่มีคำตอบหรอกจนกว่าที่ตัวเราเองจะหยุดถาม แล้วใช้ชีวิตของเราต่อ เขาไม่มานั่งตอบเราแน่นอน ถึงจะได้คำตอบแล้วมันเปลี่ยนอะไรที่ผ่านมาได้มั้ย ปลายทางก็เหมือนเดิมคือเราต้องใช้ชีวิตต่อไป

เรื่องนี้มันจบได้ด้วยใจเราเอง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขาเลยตั้งแต่แรก แต่กว่าเราจะตระหนักได้ ว่ากลไกมันเป็นแบบนี้ก็เสียเวลาไปหลายปีเหมือนกัน

การเลือกเสียงนักร้องในแต่ละเพลง

จริง ๆ ก็วางแผนไว้แล้วแหละว่าจะมีใครมาร้องบ้าง คือตอนเราทำดนตรีเราจะนึกถึงนักร้องคนนั้น ๆ ไว้ในหัวเพื่อเวลาเขาร้องมันจะได้กลมกลืนอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคาแรกเตอร์ของเขาก็ต้องเข้ากับเนื้อหาในเพลงนั้นด้วย อย่างแสตมป์สิ่งที่เขาแสดงออกมาในโลกภายนอกคือเป็นคนสบาย ๆ แต่ถ้าคุ้นเคยกับเขา เขาเป็นคนคิดเยอะเหมือนกันนะ มีหลายแง่มุมหลายมิติในตัวเอง แต่ถึงจุดหนึ่งเขาจะทำเพลงอารมณ์ดีออกมาได้ จริง ๆ แล้วเขาก็ต้องผ่านการคิดเยอะมาก่อน แล้วพอถึงเวลาก็จะปล่อยแล้วพูดออกมา พอใช้คาแรกเตอร์ของแสตมป์กับเพลง เนิ่นนาน มันทำให้น่าเชื่อ ก็คือถ้ามันเป็นเพลงของเราแต่ให้คนอื่นร้องก็ต้องเลือกคนที่ร้องเพลงนั้นแล้วคนฟังเชื่อด้วย อย่างเพลง ปัจจุบัน เราเลือกพี่ป๊อด Modern Dog กับกอล์ฟ F. Hero คือสองคนนี้ไม่มีใครมาแทนได้อะ ถ้ามีเหตุให้สองคนนี้มาร้องให้ไม่ได้ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ (หัวเราะ) คือเพลงนี้มันเป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องสัจธรรมคนที่จะพูดเรื่องนี้ได้ควรจะมีวุฒิภาวะหน่อย เลยเลือกที่จะเชิญพี่ป๊อดกับกอล์ฟมาช่วยร้อง ก็ถือว่าโชคดีที่เขามาร้องให้และส่วนตัวผมก็คุ้นเคยกับสองคนนี้อยู่แล้ว อย่างพี่ป๊อดจะชอบศึกษาเรื่องศาสนา แต่ในเพลงนี้ไม่ได้พูดตรงๆ ถึงเรื่องศาสนาหรอก แต่มันพูดถึงสติมากกว่า ซึ่งพอให้พี่ป๊อดดูเนื้อเพลงแล้วเขาก็โอเคมาร้องให้ เพราะเราก็เล่าให้พี่เขาฟังตั้งแต่แรกว่า ผมจะเขียนเนื้อเพลงในเชิงที่ไม่ได้ไปสอนคนฟังว่าต้องทำยังไงกับชีวิตนะ  แต่จะเขียนในสิ่งที่เราเคยประสบมา เพื่อให้ผู้ฟังที่เขามีประสบการณ์ร่วมคล้าย ๆ กัน สามารถประเมินได้ว่าควรทำยังไงต่อดี คือผมมองตัวเองว่า เราไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่จะมาสอนใครได้ เลยขอถ่ายทอดในมุมที่มัน humble หน่อยดีกว่า ส่วนกอล์ฟก็จะเป็นกวี ในท่อนแร็ปเขาก็จะเขียนหมดเลยตามธรรมเนียมแร็ปเปอร์ คือเราทำเพลงไว้คร่าว ๆ และทำที่ว่างไว้เพื่อให้กอล์ฟโซโล่เลย ตอนแรกก็จะให้ลองอัดเล่น ๆ ดูก่อนแล้วค่อยมาอัดจริงอีกที ปรากฏว่าในเทคเดโม่มันใช้ได้จริง ไม่รู้ว่าอัดใหม่จะดีขนาดนี้มั้ยวะ ก็เลยเอาเลย (หัวเราะ) กอล์ฟยังถามเลยว่าจะอัดจริงเมื่อไหร่  ก็บอกไปว่าไม่ต้องแล้ว โอเคแล้ว (หัวเราะ) อย่างเพลง คนใหม่ คือใหม่ No One Else ที่ร้องเพลง ฉันดีใจที่มีเธอ ของพี่บอย อันนี้เลือกจากเสียงเขาคือใหม่เป็นคนที่เสียงเศร้า และไม่ได้เศร้าแบบโวยวาย จะเป็นเศร้าแบบซึมๆ เพลงนี้เลยเหมาะกับใหม่  และผมมองว่าใหม่เป็นคนถ่อมตัวสุภาพ ถ้าคนแบบนี้พูดถึงเรื่องเศร้าเขาจะโทษตัวเอง คือในเพลงที่ผมแต่งก็จะโทษตัวเอง

เพลงฉันไม่ได้รอ ด้วยความที่ว่าฉันไม่ได้รอเนี่ย ถึงมันจะเขียนจากเรื่องจริง  แต่เราว่าตอนเอาเนื้อร้องมาพูดแล้วมันเท่อะ (หัวเราะ) คนร้องก็ควรหล่อๆเท่ๆหน่อย และในเพลงนี้แทบจะไม่ร็อกเลย คือเราใช้จังหวะช้าๆ และมีความ r&b นิดหน่อย และตู่จะร้อง r&b ได้ดี เขาใช้เทคนิค lay back เก่ง ลูกเล่นการดึงจังหวะการร้องมันลงตัว มันจะค่อนข้างตามอารมณ์เลย ซึ่งตู่ร้องแบบนี้ได้ดีและพอร้องกับเพลงนี้มันโอเคเลย เราว่าในแต่ละเพลงเราเลือกนักร้องมาโอเคเลยนะ มันเป็นไปตามที่เราอยากได้ (หัวเราะ) (FJZ: อย่างเพลง มัง เลือกน็อตมาร้องเพราะไม่อยากให้เพลงมันเศร้าเหรอ?) ใช่ เบาสมองกันหน่อย ก็ต้องเป็นน็อตแหละคือเพลงของเขาจะมีความยิ้มๆ อะอย่างเพลงเศร้าก็ยังมีความยิ้มๆ อยู่

ทำไมจึงเกิดโปรเจกต์ artinstereo ขึ้นมา

คืออย่างอัลบั้มเพลงซึมเศร้าเนี่ยมันถูกกำหนดไว้แล้วว่าเพลงควรเป็นยังไง พอเราทำอัลบั้มนี้เสร็จมันก็เคว้งพอสมควร เพราะเราใช้เวลาทำเพลงหลายปีเลยทีเดียว 6-7 ปีได้มั้ง คือบางเพลงมันต้องใช้กระบวนการคิดหน่อยกว่ามันจะตกผลึก พอทำเสร็จ มันมีความสมบูรณ์ในตัวแล้ว เราคงเพิ่มเติมอะไรลงไปไม่ได้แล้ว และเราคงไม่เล่นเนื้อหาเกี่ยวกับซึมเศร้าอีกแล้วเพราะมันก็ผ่านมาแล้ว และเราก็มีชีวิตในภาคต่อไปเรียบร้อยแล้ว ในภาคต่อไปเนี่ย เราก็มีเรื่องราวที่อยากจะเล่าเหมือนกัน ก็เลยทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา และตอนที่ทำโปรเจกต์อัลบั้มซึมเศร้าเสร็จใหม่ๆ ก็เกิดกลัวความสับสนว่า มีสองชื่อศิลปินแต่เป็นคนคนเดียวกัน จึงทำอีกอันเป็นเพลงภาษาอังกฤษไปเลย และร้องเองด้วยจะได้แยกกันง่ายๆ คือเราไม่ใช่คนร้องเพลงเก่งหรอก แต่เราสามารถหาจุดหรือขอบเขตที่ทำให้เราร้องได้ พอเราฟังเพลงวงฝรั่งหลายๆ วงก็รู้สึกว่า บางวงก็ไม่ได้ร้องแนวเพราะพริ้งนะ แต่เขามาสายร้องเก๋ ๆ แค่เรารู้กรอบประสิทธิภาพของตนเองและทำอยู่ในกรอบนี้ แต่งเพลงในแบบที่เราสามารถร้องได้ อีกเหตุผลที่ทำเพลงภาษาอังกฤษคือการแต่งทำนองมันง่ายกว่าภาษาไทย เพราะในภาษาไทยมันมีคำเป็นคำตายไง บางทีก็ต้องโกงคำให้อยู่ในเมโลดี้นั้น ซึ่งตอนร้องไกด์ในชุดภาษาไทยแรก ๆ มันยากจังเลย อีกอย่างยังมีคำเสียงสั้นเสียงยาว ปัญหามันเยอะแยะไปหมดเลย ก็เลยไว้วันนึงค่อยมาทำละกัน ตอนนี้เลยทำเพลงภาษาอังกฤษไปก่อน (FJZ: แล้วโปรเจกต์นี้จะทำต่อไปเรื่อย ๆ ไหม) เรื่อยๆ ครับ และคิดว่าหลังจากอัลบั้มชุดซึมเศร้าปล่อยไปแล้ว ก็จะเอาโปรเจกต์ภาษาอังกฤษนี้ขึ้นมาทำต่อเลย หรืออาจจะทำแนวนี้แต่เป็นภาษาไทยก็ได้เพื่อสื่อสารกับคนไทยในกลุ่มที่กว้างขึ้น (FJZ: ในโปรเจกต์เพลงภาษาอังกฤษฟังดูแล้วมีความบริตร็อกมาก) ใช่ ๆ คือคอนเซ็ปต์เชิงดนตรีจะเป็นดนตรีที่เราฟังสมัยเด็กๆ คือจะดึงความเพียวของตัวเองออกมา

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับอาร์ตมากขึ้นก็ทำให้รู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดาจริง ๆ และที่สำคัญเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับใครที่กำลังเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าให้มีความหวังว่าชีวิตยังสามารถดีขึ้นได้เสมอ มันคือสัจธรรมที่ชีวิตคนเราจะดีขึ้นและแย่ลง แต่สุดท้ายทุก ๆ เรื่องราวมันก็ต้องผ่านไป หวังว่าถ้าคุณผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวของผู้ชายคนนี้จะมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ขอให้มีความหวังและสู้ต่อไป อย่างที่อาร์ตได้บอกไว้ สุดท้ายชีวิตจะเป็นไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองอยู่ดี

Facebook Comments

Next: