Article Interview

คุยเรื่องดนตรีและวัฒนธรรมกับ The Paradise Bangkok Molam International Band

  • Writer: Peerapong Kaewthae

นอกจากดนตรีสามารถก้าวข้ามทุกกำแพงของภาษาได้แล้ว พวกมันยังช่วยเชื่อมต่อวัฒนธรรมอันหลากหลายเข้าด้วยกัน บ้างหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวจนเกิดเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ใจฟัง The Paradise Bangkok Molam International Band คือผู้ส่งสาส์นเพลงหมอลำไปทั่วโลกโดยประยุกต์เข้ากับดนตรีสมัยใหม่อันไร้พรมแดน จนเกิดเป็นซาวด์ที่เข้าถึงง่ายแต่ยังแฝงวัฒนธรรมอันสนุกสนานของความเป็นไทยเข้าไปได้อย่างเนียนกริ๊บ เพลงของพวกเขาจึงได้รับการยอมรับและการันตีด้วยรางวัลมากมายจากสื่อทั่วโลก

ไม่ง่ายเลยที่เราจะได้มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับพวกเขาหลังจากที่พลาดไปใน ‘เห็ดสด 3’ จากการทัวร์ที่แน่นขนัดทั้งปี Fungjaizine จึงบุกไปหลังเวทีงาน Thailand Cultural Music Festival ที่พัทยาเพื่อพูดคุยกับเขาซักครั้งให้ได้ แต่สิ่งที่เราโดนแซวคำแรกเลยคือ “ทำไมเราไม่คุยกันที่กรุงเทพ ฯ” ล่าสุดว่าวงกำลังกลับมาโฟกัสกับอัลบั้มที่สามแล้ว เสียดายที่ครั้งนี้ Chris ไม่ได้อยู่กับเราด้วยแต่มันก็ยังเป็นบทสัมภาษณ์ที่เป็นกันเองแบบสุด ๆ และน่าจะบันดาลใจใครหลายคนได้เหมือนกับที่เรารู้สึกเลย

สมาชิก
คำเม้า เปิดถนน (หมอพิณ)
ไสว แก้วสมบัติ (หมอแคน)
ปั๊ม—ปิย์นาท โชติกเสถียร (หมอเบส)
นัท—ณัฐพล เสียงสุคนธ์ (หมอฉิ่ง)
อาร์ม—ภูษณะ ตรีบุรุษ (หมอกลอง)
Chris Menis (หมอเคาะ)

พาราไดซ์ ฯ ออกมาสองอัลบั้ม เราได้ฟังแล้วว่าหมอลำถูกพัฒนามาได้ไกลมากแล้ว อยากรู้ว่าจริง ๆ ยังไปไกลกว่านี้ได้อีกไหม

คำเม้า: จังหวะหมอลำยังมีอีกเยอะ มี ‘ลำเต้ย’ ‘ลำเดิน’ ‘ลำเพลิน’ ‘ลำแพน’ มีจังหวะช้าเร็วอีกเขาเรียก ‘กลอนลำ’ อีกหลายจังหวะ มันไปเป็นดนตรีอื่นได้อีกหลากหลายถ้าใส่ดนตรีของปั๊มกับอาร์มลงไป ร้องหมอลำใส่ลงไปก็อาจจะมีจังหวะแปลก ๆ ขึ้นมาอีก ยังได้อีกเยอะ

ปั๊ม: ในอัลบั้มต่อไปของเราเนี่ย พี่คำเม้าเขาได้ไปครุ่นคิดเตรียมแต่งลวดลายใหม่ ๆ มาทำเพลง กำลังอยู่ในช่วงเบรนสตอร์ม สะสมความคิดใหม่ ๆ กันอยู่ครับ

อัลบั้มที่สามจะออกในปีนี้เลยไหม

นัท: น่าจะเป็นปีหน้าเลยครับ

เอาหมอลำมาผสมแล้ว อยากลองเอาดนตรีแนวอื่นมาผสมดูบ้างไหม

ปั๊ม: จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเอามาผสมเนี่ยก็เป็นสิ่งที่เราฟังอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้ไปเลือกว่าจะเอาแบบนี้มาผสม บางทีมันออกมาเองแบบธรรมชาติด้วย อิมโพรไวส์ด้วย

นัท: ช่วงไหนเราฟังเพลงแบบไหนเยอะ เราก็ได้อิทธิพลจากเพลงแนวนั้นมากกว่า

ปั๊ม: เพราะฉะนั้นขออุบไว้ก่อนละกันครับว่าชุดหน้าเป็นยังไง เดี๋ยวจะไม่ตื่นเต้น (หัวเราะ) แต่มีแอมเบียนต์แน่นอน

เพลงส่วนใหญ่ที่วงทำมักจะอิมโพรไวส์เป็นหลักหรือมีแรงบันดาลใจเบื้องหลังทุกเพลง

ปั๊ม: เวลาเราทำเพลงให้มันสนุกเนี่ย เราจะคุยเรื่องลวดลายนั้น ๆ หรือจินตนาการเหตุการณ์ขึ้นมา สถานที่ ตัวละครในเพลงนั้น ๆ อย่าง Lam San Disco ในอัลบั้มแรกเนี่ย เหมือนเพลงเปิดด้วยพี่ไสวกับพี่คำเม้าเล่นด้วยกันก่อน เราจินตนาการว่าเราขับรถไปรับพี่ไสวกับพี่คำเม้ามาจากต่างจังหวัด แล้วเราพาไปเที่ยวในเมืองกรุง เจอแสงสีเสียง รับประทานอาหารอร่อย ๆ ท่องเที่ยวอย่างมีความสุข พูดคุยกันแล้วค่อยกลับไปส่งแก มันจะมีเรื่องราวน่ะครับ

นัท: แล้วมันจะมีลายดั้งเดิมที่เราเลือกมาใช้เพลงนี้ก็มีลาย ‘ลำสั้น’ เป็นแพตเทิร์นของลายพื้นบ้านแล้วเอาดนตรีแนวอื่นมาผสมสร้างเรื่องราว (ปั๊ม: ต่อยอดขึ้นไปจากลวดลายเดิม ๆ ที่มีอยู่) เหมือนอัลบั้มสองเพลง The Adventure of Sinsai ก็จะเป็นพี่คำเม้ารับบทสินไซไปเดินดง (FJZ: สินไซ หรือ ศิลป์ชัย ตัวเอกจากวรรณคดีเรื่อง ‘สังศิลป์ชัย’ เกี่ยวกับการออกเดินทางเพื่อไปช่วยอาของตัวเองจากเงื้อมมือของเหล่ายักษ์) ด้วยความเร็วของเพลงก็เหมือนพี่คำเม้ากำลังจะตกรถไฟ อยู่ในยุโรป พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ทุกคนขึ้นรถไฟหมดแล้วก็ต้องรีบวิ่งไปขึ้น (หัวเราะ) อารมณ์ของเพลงก็ตื่นเต้นขึ้น

ปั้ม: เราจะจินตนาการเหตุการณ์ขึ้นมาแล้วสื่อสารด้วยเรื่องราวเหล่านี้ฮะ

คำเม้า: ทีนี้ปั๊มมีลูกแล้วนะ ก็จะมีไลน์กล่อมลูกนะ แต่งขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว เขาจะมีเพลงตามหาลูกอีกนะ ลูกหายอะไรเงี้ย มันวิ่งหนีไง แบบว่าทั้งเศร้า ทั้งเรียก ทั้งเหนื่อยหอบ มีในจังหวะทั้งหมด

นัท: เขาไม่ยอมให้ลูกหายหรอก โคตรอัปมงคลเลยพี่ (หัวเราะ)

เคยมีคนพูดรึเปล่าว่าเพลงของพาราไดซ์ ฯ ไม่ใช่เพลงหมอลำ

ปั๊ม: ก็มีนะฮะ

นัท: เพราะจริง ๆ เราก็ไม่ได้มองว่าพวกเราเป็นหมอลำแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เราไม่ได้บอกว่าของเราคือตัวแทนหมอลำ มันเป็นหมอลำในเวอร์ชันของพวกเรา อย่างอัลบั้มแรก 21st Century Molam ก็คือบอกแล้วว่าไม่ใช่ traditional หมอลำ มันเป็นหมอลำในรูปแบบใหม่ อย่างอัลบั้มสอง Planet Lam เป็นดาวพระเคราะห์ของเรา เราสร้างขึ้นมาเอง ซาวด์ประมาณนี้ แต่จริง ๆ คำว่าหมอลำมันพูดยาก เพราะว่าหมอลำจริง ๆ ไม่ใช่การบรรเลงด้วยซ้ำอะ หมอลำมันคือการร้อง คำว่า ‘หมอ’ ในภาษาอีสานเขาไว้เรียกคนที่เป็น expert ในด้านนั้น ๆ ส่วนคำว่า ‘ลำ’ แปลว่าร้อง มันก็จะเป็นอีกความหมายหนึ่ง ถามว่าหมอลำมั้ย พอวงเราไม่มีนักร้องก็ไม่ใช่หมอลำ ถึงเราจะเล่นดนตรีหมอลำพื้นบ้าน แต่เราต้องการทำซาวด์ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพราะเรารู้สึกว่า วงที่เป็นหมอลำดั้งเดิมก็มีเยอะแยะ ถ้าเราอยากดูก็หาเสพได้ไม่จำเป็นต้องมาเล่นเอง แต่ถ้าเราอยากจะทำอะไรแล้วก็อยากได้ซาวด์ที่เราอินด้วย ให้อิทธิพลกับพวกเราด้วย

ปั๊ม: การที่ผมกับอาร์มเป็นคนกรุงเทพ ฯ จะให้ไปเล่นดนตรีอีสานเหมือนคนอีสานก็คงไม่ใช่ เพียงแต่เราสัมผัสได้ว่าดนตรีอีสานมีเสน่ห์ ฟังแล้วได้แรงบันดาลใจ และเราเชื่อว่าจิตวิญญาณของเสียงพิณเสียงแคนเนี่ยมันต่อยอดได้ เหมือนต้นไม้อะครับ คุณตัดกิ่งไปแต่ไปปักชำที่กรุงเทพ ฯ หรือต่างประเทศเนี่ย มันก็เติบโตขึ้นได้ในบริบทที่แตกต่างจากอีสาน แล้วสามารถผสมผสานกับสิ่งที่แตกต่างรอบตัวได้  ทำให้ผมคิดออกว่าจะนำความรู้สึกตัวเองหรือจินตนาการตัวเองเข้าไปผสมผสานเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมายังไง

ในฐานะที่ ปั๊ม กับ อาร์ม เป็นคนกรุงเทพ ฯ การฟังหมอลำมีอิทธิพลกับชีวิตคนเมืองของเราไหม

ปั๊ม: เราเกิดมาก็ได้ยินหมอลำแล้วนะ คนไทยทั่วไปก็สัมผัสความสนุกสนานในดนตรีอีสานได้อยู่แล้ว มันก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราด้วย

นัท: ด้วยคนจากอีสานย้ายเข้ามาในกรุงเทพ ฯ เยอะ สมัยก่อนตั้งแต่ยุค 70s-80s เวลาเขาขายแผ่นเสียงก็ไม่ได้ขายให้ต่างจังหวัดเป็นหลัก เขาอาจจะขายให้ร้านอาหาร แต่คนอีสานในกรุงเทพ ฯ เป็นคนที่ซื้อเยอะที่สุด ในกรุงเทพ ฯ เลยจะมีเพลงหมอลำอะไรเยอะตั้งแต่สมัยก่อนอยู่แล้ว ค่ายแผ่นเสียงทองคำ เสียงสยาม กรุงไทยที่ทำเพลงหมอลำก็อยู่กรุงเทพ ฯ หมดไม่ได้อยู่ที่อีสาน

ถ้าเด็กยุคนี้อยากทำเพลงหมอลำประยุกต์บ้างต้องเริ่มยังไง

คำเม้า: ต้องรู้จักดนตรีอีสานก่อน อย่างนัทเนี่ยเขาก็ศึกษาค้นแผ่นมาฟังหลายปีกว่าจะทำวงนี้ได้

นัท: ต้องศึกษาดนตรีอีสานก่อนเลยครับ แต่ผมไม่อยากบอกให้ทำแค่ดนตรีอีสานอย่างเดียวนะ เมืองไทยมีตั้งหลายภาคทั้งเหนือ ใต้ มีกลาง (ปั๊ม: อีสานเหนือกับอีสานใต้ก็ไม่เหมือนกัน) อีสานใต้ก็มี ‘กันตรึม’ มีอีกหลายแนว ไม่อยากให้ต้องมาคิดว่าต้องเป็นอีสานอย่างเดียว แต่ไม่ว่าสนใจด้านไหนก็ตามก็ควรศึกษาว่า traditional เป็นยังไง ที่มาเป็นยังไง มีซาวด์ยังไงบ้าง ลายของดนตรีพื้นบ้านมีอะไรบ้าง ถ้าเรารู้ตรงนี้เราก็มีตัวเลือกมาเล่นในการทำเพลง ทำแนวใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ผมซื้อแผ่นหมอลำเก็บเกือบสิบปีกว่าจะเริ่มทำโปรเจกต์ ตอนแรก ๆ รู้จักกับพี่คำเม้าถึงคุยเพลงหมอลำกันรู้เรื่องเพราะรู้จักเพลงเดียวกัน ไม่งั้นพี่คำเม้าไม่ฟังหรอก (หัวเราะ)

คนต่างชาติสนุกกับเพลงเราก็จริง แต่เขาสนใจวัฒนธรรมไทยจริง ๆ หรือเปล่า

ปั๊ม: คงไม่น่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมนะ จากการไปทัวร์มา 90 กว่าโชว์ในยุโรปและอีกหลาย ๆ ที่เนี่ย คนที่มาฟังเพลงเนี่ยเขามาเพื่อฟังเพลง มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ เขาอาจจะเคยได้ยินวงเราจากสื่อต่าง ๆ มาแล้ว หรือเคยซื้ออัลบั้มเรามาแล้ว เขาชอบเขาก็คงมา คงไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมแต่เป็นเรื่องของดนตรีมากกว่า

นัท: คนที่ชอบฟังร็อกก็ไม่ได้แปลว่าต้องไปศึกษาวัฒนธรรมอเมริกา เขาอาจแค่ชอบแนวร็อกเพราะฟังแล้วถูกโฉลก ฟังแล้วรับรู้ถึงอารมณ์มากกว่า มุมมองผมนะ มันแล้วแต่งานอะครับ ถ้าเป็นเทศกาลดนตรีจริง ๆ คนจะโฟกัสที่เพลงจริง ๆ ไม่ค่อยแคร์วัฒนธรรมเท่าไหร่เพราะเพลงคือภาษาสากลแล้ว

แล้วคิดว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร

คำเม้า: คือของโบราณเนี่ยแหละครับที่ให้คนรุ่นใหม่ไม่ลืมของเก่า ถ้าไม่มีสิ่งนี่คนคงลืมพ่อแม่ปู่ย่าตายายและดนตรีเก่า ๆ ไป

นัท: ความรู้ที่สืบทอดกันมา วิถีการใช้ชีวิต

ปั๊ม: วัฒนธรรมหรือประเพณีเป็นสิ่งที่สังคมใดสังคมหนึ่งเนี่ยใช้ชีวิตไปแล้วมีการสร้างอะไรขึ้นมาให้มันเหมาะกับสิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ความรู้สึกอะไรอย่างเงี้ย มันก็พูดยากนะ ผมก็ศึกษาเรื่องพวกมาบางทีให้คนนอกมาพูดน่าจะชัดเจนกว่าว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร คนไทยอาจจะอธิบายยาก ผมโตมาเนี่ยถูกสอนให้มองว่าเราเป็นประชากรของประเทศนี้ ของหมู่บ้านนี้ ของเมืองนี้ ของภาคนี้ ของโลกนี้ ถ้าเราไม่รู้จักรากของตัวเอง เราไม่รู้ว่าเรามาจากไหน เราคงไม่รู้ว่าเราจะเดินไปทางไหนได้ดี แน่นอนมันคือเสน่ห์อะ ถ้าเราทำงานด้านศิลปินเนี่ยเราก็ต้องรู้จักมันเองและยอมรับในความเป็นเรา นำออกมาประยุกค์ใช้กับวิถีชีวิตที่มันเปลี่ยนไป สองร้อยปีก่อนคนอาจจะนุ่งโจงกระเบน ผู้หญิงอาจจะถอดเสื้อเดินทั้งบ้านทั้งเมือง วันนี้โลกมันเปลี่ยนไปวัฒนธรรมมันก็ถูกวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย สำคัญคือว่าอย่างน้อยก่อนที่จะทิ้งอะไรไปหรือเลือกอะไรใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เราอาจจะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าที่มาที่ไปของเราคืออะไร เรามีอะไรดี อะไรที่ควรจะเก็บไว้หรืออะไรที่ควรจะทิ้งไป (นัท: ตึกไหนที่ควรจะทุบหรือตึกไหนควรจะเก็บ) อาหารจานไหนที่ควรจะกิน จานไหนไม่ควรจะกิน

คำเม้า: ไก่เป็นห่าพี่ยังกินเลย (หัวเราะ)

กังวลไหมที่คนรุ่นใหม่ใช้กันแต่เครื่องดนตรีต่างชาติ

ปั๊ม: อันนี้ต้องไม่มองเรื่องวัฒนธรรมละ ต้องมองในเรื่องศิลปะ ถ้าเรามองว่าดนตรีคือศิลปะเครื่องดนตรีก็เป็นแค่สื่อในการนำเสนอศิลปะของคุณ ไม่ต่างอะไรกับพู่กันหรือผืนผ้าใบ สุดท้ายแล้วมันไม่ได้อยู่ที่เครื่องดนตรีทั้งหมดหรอก อยู่ที่คุณนำศิลปะหรือความรู้สึกในตัวคุณเองออกมาได้รึเปล่า ต่อให้คุณเล่นพิณแล้วไม่มีความรู้สึกก็ไม่ประโยชน์

นัท: ปลาย 70s ต้น 80s เอาคีย์บอร์ดเอาแซ็กโซโฟนมาเล่นลายลำเพลิน เขาก็ทำกันเยอะแยะทั่วไป (ปั๊ม: แล้วก็ทำออกมาได้ดีด้วย) แล้วแต่รสนิยมมากกว่า อยากเล่นลายลำเพลินแล้วต้องการความดิบต้องเป็นแคน ต้องการความหวานเอาแซ็กไป มันแล้วแต่จุดประสงค์ของเขามากกว่าว่าเขาต้องการสื่ออะไร สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่รสนิยมของคน ๆ นั้น ถ้าทุกคนทำเหมือนกันมีความคิดเหมือนกัน ซีนดนตรีก็คงไม่มีอะไรแปลกแตกต่าง

ปั๊ม: ถ้าคุณเล่นกีตาร์แล้วรู้สึกว่ามันเอาความรู้สึกออกมาได้มากกว่า คุณก็เล่นกีตาร์เถอะครับ อย่าเล่นพิณเลย คุณหาเครื่องดนตรีที่เหมาะกับคุณดีกว่า (อาร์ม: ประเด็นคือเล่นของตัวเองให้ดีที่สุด)

คำเม้า: ทุกวันนี้เขาเล่นพิณกันเนี่ย เขาไม่ได้เล่นพิณจริง ๆ เขาใช้ชื่อพิณแต่ว่าทำเป็นลักษณะกีตาร์หมดเลย เสียงก็กีตาร์เฟร็ตก็กีตาร์ (ปั๊ม: เหมือนกีตาร์ที่เสียงไม่ดี)

นัท: กีตาร์บางรุ่นที่คนเล่นพิณใช้อะ มันเหมือนกีตาร์เลยฮะ แค่ติดหัวเป็นลายไทย ของพี่คำเม้าเนี่ยเกรดก็จะไม่เหมือนกีตาร์ วัสดุอะไรยังงี้ สายก็ใช้สายเคเบิ้ล สายไฟหรือสายโทรศัพท์ (คำเม้า: เฟร็ตผมก็ใช้ไม้พยุง ไม่ได้ใช้เหล็ก เสียงมันต่างละ ลูกบิดก็เป็นไม้)

ปั๊ม: พี่คำเม้าเอาปิ๊กมาโชว์หน่อย ถ้าใครสังเกตพี่คำเม้าเล่นเนี่ยจะเห็นว่ามันคือปิ๊กเขาควาย (คำเม้า: อันนี้แทงคนได้เลย (หัวเราะ)) เสียงมันถึงต่างไง

นัท: สายพิณก็จะแข็งกว่าสายทั่วไป เลยต้องใช้ปิ๊กแบบนี้

คำเม้า: ทำไมคนญี่ปุ่นต้องมาเรียนพิณกับผม เขาก็บอกว่าเสียงไม่เหมือนกันไง วิธีเล่นก็ไม่เหมือนกันอีก เด็กทุกวันนี้เล่นแบบกีตาร์ไปเลย เอาคาโป้มาหนีบเป็นกีตาร์เลย พิณจะไม่มีอย่างนั้น (ปั๊ม: พี่คำเม้าเรียกพิณตาร์ (หัวเราะ)) ของผมพิณแท้ ๆ แล้วผมทำถูกต้องด้วยมี 12 เฟร็ต ในประเทศไม่มีใครทำพิณ 12 เฟร็ตมีแต่ขาดแล้วก็เกิน ทำไม 12 เพราะปีหนึ่งมีสิบสองเดือน ทำเป็นแบบโบราณเลย พิณไทยหรือพิณพุทธแท้ ๆ ก็มีสองสาย ปกติพิณพุทธมีสามสายเพราะตึงไปมันขาดไงเลยเหลือสองสายเหมือนพระอินทร์ดีดพิณตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วมี 12 เฟร็ต 29 คำ พบ พิณ เพชร โพธิ์ พื้น เพ พอ เพียง พ่อ พี่ พรรค พวก เพื่อน พ้อง พร้อม พูด พิณ เพชร โพธิ์ เพราะ พริ้ง เพลิด เพลิน เพิ่ม พูน พ้น ภัย (หมายเหตุ: พี่คำเม้าบอกว่ามี 29 คำแต่ทางเราถอดเทปได้แค่ 27 คำ ถ้าผิดพลาดยังไงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ) ผมพยายามจะไม่ทำให้เหมือนกีตาร์ไง คนจะทำให้เป็นพิณตาร์ตัวละสามหมื่น ผมก็งงเหมือนกัน พวกหัวอีสานคิดกันแบบเนี้ย พิณผมตัวละหมื่นหนึ่งหรือห้าพัน พวกหัวนอกเขาถึงมาซื้อกับผม แต่คนรุ่นใหม่บางทีเขาไม่รู้เรื่องไงก็อยากได้แบบฝรั่งไง (ปั๊ม: เสียงมันต่างกันมากเลยนะ) 

ไปมาหลายประเทศแล้ว สนใจหรือเคยไปเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของประเทศอื่นบ้างไหม

ปั๊ม: เคยฮะ ที่เมืองกูชิง เกาะบอร์เนียว ชื่องาน Rainforest World Music Festival ครับ เป็นงานที่ดีมากฮะ มีเวิร์กช็อปมีสอนเล่นเครื่องดนตรี

นัท: พี่คำเม้ายังเคยไปเล่นเลยไอ้เครื่องดนตรีของมาลีอะ เล่นแล้วร้องเพลงของพระพุทธเจ้าอยู่เลย (หัวเราะ)

แล้วอย่างนี้อยากลองเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาติอื่นมาผสมในเพลงของวงไหม

คำเม้า: มันเข้ากันได้หมดแหละ จูนหากันได้หมด

อาร์ม: ถ้าหาคนเล่นเป็นก็น่าลองเหมือนกัน

นัท: ถ้าเกิดเราไม่ถนัดเราก็คงไม่อยากฝืน

แบบนี้เหมือนรับสมาชิกเพิ่มแบบกลาย ๆ รึเปล่า

ปั๊ม: ถ้ามีอะไรน่าสนใจมาติดต่อ Studio Lam ได้ฮะ

ขอบคุณภาพจาก Thailand Cultural Music Festival

ไสวกับคำเม้า มีความคิดอยากจะเผยแพร่วิชาพิณหรือแคนให้เด็กรุ่นใหม่บ้างไหม

ไสว: ผมเนี่ยอยากจะสอนอยากถ่ายทอดนะ แต่ผมประชาสัมพันธ์ตัวเองไม่เก่งเลยไม่ค่อยมีลูกศิษย์ ถ้าผมถ่ายทอดให้ก็ไม่คิดเงินคิดทองแล้วเอาวิชาการไปให้ลูกหลานเขาได้คิดถึงว่าเรามีจิตใจบริสุทธิ์ที่จะให้จริง ๆ ทุกวันนี้นะถ้าสอน โทษที ทบทวนแล้วว่าสอนคนที่โตแล้วไม่ค่อยเป็นผลมาก เขามีภาระไม่เหมือนเด็กที่มีเวลามากตั้งใจเรียน มือเขายังอ่อนอยู่ ผลลัพธ์ได้เร็วกว่า คนมีอายุแล้วแต่งงานแล้วมีลูกแล้ว ทำงานด้วยเรียนไปด้วยผลมันได้น้อย ต้องใช้เวลามาก ถ้าเราไปเก็บเงินเขาคงเสียใจถ้าเขาไม่ได้ดั่งใจ บางคนมาแตะ ๆ แล้วกลับไป ถ้าเอาเงินเขามาคงไม่เหมาะสม เราก็ไม่อยากเป็นคนอย่างนั้น ถ้าใครอยากเรียนก็มาหาได้ จะแนะนำหลักสูตรให้ การเรียนแคนมันใช้เวลานานเพราะมันละเอียดอ่อน มองไม่เห็น ใช้มโนภาพ ใช้เวลานานมาก มันถึงจะได้บทเรียนไป อย่างผมเป่าเนี่ยก็เป็นมโนภาพเลย แต่ไม่ได้นึกถึงเมโลดี้แล้ว นึกถึงแต่วิญญาณที่จะสื่อให้คนฟังได้มีความรู้สึก ถึงจะเป็นหมอแคนได้ แต่ถามว่ารังเกียจมั้ย ขี้เกียจมั้ย ไม่มีหรอก จะบอกทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมที่เอาไปโซโล่คนเดียวได้ เพราะแคนเป็นอาวุธโซโล่ ที่เอามาผสานเสียงกับคนอื่นนี่รองลงมา มันจะออกมาด้วยการสื่ออารมณ์ เป็นภาษาเพลงลึกซึ้งมากไม่มีใครรู้ อย่างที่ผมเล่นกับทุกคนก็ต่างคนต่างเป็นมาสเตอร์ด้านโน้นนี้ คนนั้นก็ซูเปอร์เบส (ชี้ที่ปั๊ม) คนนี้ก็ซูเปอร์กลอง (ชี้ที่อาร์ม) คนนี้ก็ซูเปอร์ฉิ่ง (ชี้ที่นัทแล้วหัวเราะ) ทุกคนเก่งหมด เราคุยกันด้วยคำเจ็ดคำ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที เล่นกันมาปั๊บทุกคนรู้หมดเลย มันรู้กันด้วยภาษาเพลง

นัท: ส่วนพี่คำเม้านี่เขาพูดไม่เก่งฮะ แต่มีลูกศิษย์เยอะทั่วฟ้าประเทศไทย (ไสว: เป็นสิบเป็นร้อยอะ) เป็นพัน! แกเป็นอาจารย์สอนพิณอยู่ที่มหิดลด้วย อย่างวง ตุ้มเติ่นหมอลํากรุ๊ป ที่เล่นที่ Studio Lam ทั้งวงก็ลูกศิษย์พี่คำเม้าหมด

คำเม้า: ผมคนอีสานไง เขามาหาคนอีสานก่อน ผมสอนมาแล้ว 26 ปี 2528 อะ เราชอบพิณเราก็ถือมาเป็นอาวุธของเรา เหมือนพิณขอทาน (นัท: ไม่ต้องเล่น แค่พกมาอยู่ใกล้ ๆ ตัวก็สบายใจละ) เล่นไปเล่นมาก็มีคนมาเรียน ก็เลยสอนมาตั้งแต่ตอนนั้น ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ลืมดนตรีเก่า ๆ โบราณ ไม่ลืมทางสายกลางไง พ่อบอกว่านี่คือพิณพระอินทร์นะ ตึงไปมันขาด หย่อนมันไม่เพราะ เราก็เอามาเป็นชีวิตจิตใจไว้สอนคนด้วย ตอนนี้ผมสอนที่มหิดลมา 11 ปีละ เขาพูดกันว่าพิณขอทานเราก็ไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น อยากให้คนภาคกลางรู้จักบ้าง ตอนนี้อยากให้คนต่างชาติรู้จักละ (นัท: ตอนนี้ก็เหลือแต่ต่างดาวละ (หัวเราะ)) อยากให้มันเป็นเหมือนมวยไทยอย่างเงี้ย

นัท: พี่คำเม้าเคยเป็นนักมวยด้วย ชื่อสมิงดำสายฟ้าแลบ ฉายาไอ้หมัดรีโมต กดปุ๊บต่อยปั๊บ (FJZ: อันนี้จริงใช่มั้ยครับ) อันนี้เรื่องจริง! (หัวเราะ)

ไสว: เดี๋ยวนี้วัยรุ่นอีสานนี่ถือพิณกันหมดแล้ว ไม่ค่อยมีใครถือกีตาร์แล้ว ไปดูในเฟซบุ๊กเลย เขาเล่นกันเก่งเหมือนกันนะ

เคยได้ยินว่าคนเล่นดนตรีพื้นบ้านก็ยังปากกัดตีนถีบอยู่ มันยังจริงอยู่ไหม

คำเม้า: อันนี้จริง มันจะไม่ทันของสากลเขาหรอก ผมสอนมหาลัยมหิดลมีเด็กผู้หญิงมาเรียน เทอมสองแม่บอกว่ามันเป็นดนตรีพื้นบ้านอีสาน แม่ไม่ชอบ ให้ไปเรียนกีตาร์คลาสสิก เขาทิ้งพิณเลยเขาบอกว่าไม่กว้างไม่อะไร มันเป็นสากลเขากว้างกว่าอยู่แล้ว แต่ว่าอยากให้เล่นดนตรีไทยเราบ้างไง ไม่อยากให้ไปเห่อของเขามาก

ไสว: กีตาร์มันก็ไปลบพิณลบแคนไม่ได้หรอกครับ กีตาร์มันก็เป็นภาษาหนึ่ง พิณมันก็ให้อารมณ์ไม่เหมือนกันนะ มันหวานกว่าอร่อยกว่ากันเยอะ

ภาครัฐมีส่วนจะช่วยดนตรีพื้นบ้านให้เป็นที่นิยมมากขึ้น

ไสว: น้อง ๆ ในวงผมนี่เขาเป็นนักเรียนนอกนะ ผมต้องฟังเขาเพราะเขาเก่งในจังหวะของเมืองนอก ผมนี่รู้จังหวะที่เป็นของไทย ๆ ภาคอีสาน ในเมื่อเราเอามาผสมกันแล้วเนี่ย ซูเปอร์แต่ละคนมารวมกันกลายเป็นซูเปอร์ซูเปอร์ (หัวเราะ) มันเลยออกมาเป็นซาวด์ใหม่ที่ไม่ใช่หมอลำ เราจะสร้างซาวด์ใหม่ ๆ ไม่ให้มันเซ็งไง ไม่ให้อยู่ที่เดิมไง เอาของใหม่ ๆ มาเสนอ

รัฐก็อาจจะต้องมีพื้นที่ที่คนจากหลากหลายสาขาได้มาเจอกัน

ไสว: ใช่ ๆ ทุกวันนี้ซาวด์กลองใหม่ ๆ จากอังกฤษหรือยุโรปมาเรื่อย ๆ เป็น 10 แบบ ผมก็พัฒนาลายแคนของผมให้เป็นเพลงไปด้วย พยายามอ่านจังหวะเขาให้ได้แล้วเราจะหยอดลูกแคนของเราลงห้อง แล้วให้น้อง ๆ เขาพิจารณาว่าใช้ได้มั้ย

นัท: พี่ไสวชอบฟังเพลงหลายแนว อาจจะไม่ได้เยอะมากแต่หลัง ๆ เขาต้องการรู้ว่าเพลงจังหวะเร็กเก้เป็นไง จังหวะร็อกหรือ experimental เป็นยังไง พี่ไสวเป็นคนไม่หยุดเรียนรู้

ไสว: ฟังไม่ออก แต่ก็พยายามถามน้อง ๆ เขาเกิดทีหลังแต่เขาเก่งกว่า เราก็ต้องเชื่อเขา (หัวเราะ)

พอเราไปเห็นซีนดนตรีหลาย ๆ ประเทศมาแล้ว คิดว่าซีนดนตรีของประเทศไทยยังขาดอะไรอยู่

นัท: ขาดผู้เสพ หลัง ๆ มีอีเวนต์ มีศิลปินบินมาจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าประเทศอื่นเลย มันมีอะไรให้เสพเยอะขึ้นถ้าเทียบกับห้าปีสิบปีที่แล้ว แต่คนเสพมันน้อยลงไปเรื่อย ๆ หรือมีแค่กลุ่มเล็ก ๆ

อาร์ม: เอาที่ผมประสบกับตัวละกันฮะ คนส่วนใหญ่ของนี้เวลามีศิลปินจากต่างประเทศเนี่ยไม่ฟรีไม่ดู ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกัน ชอบจะดูแต่งานฟรีเท่านั้นแล้ว งานนี้ใครมาเล่นก็ตามค่าบัตรเกินพันก็ไม่ไปดูละ ทำไมวะ การซัพพอร์ตศิลปินก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งเหมือนกัน

ปั๊ม: คุณไปทานข้าวเนี่ยคุณยังต้องจ่ายเงินเลยใช่มั้ยฮะ การทำอาหารเป็นต้นทุน นักดนตรีก็มีต้นทุนเหมือนกันในการประกอบอาชีพ

นัท: ดีเจก็มีต้นทุนเหมือนกัน อีกเรื่องหนึ่งที่ผมห่วงมาก ๆ คืออะไรที่ไม่รู้จัก อะไรที่ลึกเกินไป แตกต่างเกินไปจากสิ่งที่คุ้นเคยก็อาจจะมีคนกลุ่มน้อยที่เปิดรับ วงอะไรแปลก ๆ ขึ้นมาถ้าไม่ได้เป็นกระแส ไม่ได้เป็นเทรนด์ คนไม่พูดถึงกันแต่เพลงแม่งดี คนก็ไม่ไปซัพพอร์ตงานเขา อาจจะไม่ได้รู้จักหรืออะไร เหมือนความกระหายในการอยากรู้อยากฟังเพลงอยากเสพเพลงมันน้อยลง

ปั๊ม: เพราะคนไทยส่วนใหญ่เนี่ย ไม่ใช่ทุกคนนะ มองดนตรีเป็นแค่ความบันเทิงเป็นหลักอย่างเดียว ไม่ได้มองว่ามันเป็นศิลปะ ไม่ได้มองดนตรีเป็นการเสพความรู้สึกอื่น ๆ บางครั้งเพลงที่เศร้าหรือบรรยากาศเนี่ยอาจจะพาจินตนาการของคุณไปท่องเที่ยวที่อื่นก็ได้ แต่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเรามองดนตรีเป็นเรื่องความบันเทิงเท่านั้น

คิดว่ามีวิธียังไงที่จะบิ๊วคนฟังให้ฟังเพลงหลากหลายหรือเปิดรับอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น

ปั๊ม: พูดยากอะ คงไม่มีสูตรสำเร็จหรอกนะ แต่ว่าสมัยก่อนที่ผมฟังเนี่ยก็ดูวีดีโอคอนเสิร์ตไปด้วย ผมโตมากับพ่อที่ชอบดนตรีมาก ๆ ได้อ่านเกี่ยวกับประวัติของศิลปินนั้น ๆ ด้วย เราก็รู้ที่มาที่ไปเรื่องของดนตรียุคต่าง ๆ ปลาย 60s ยุค Woodstock เงี้ยมันเป็นเรื่องการต่อต้านสงคราม มันมีมุมอะไรบ้าง การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นยังไง มันก็ทำให้เราซึมซับเข้าใจมากขึ้น (นัท: เข้าใจ sub-culture มากขึ้น) พอเราได้อ่านได้ดูมากขึ้นเกี่ยวกับที่มาของงานศิลปะนั้น ๆ เนี่ย เราก็จะเข้าใจมันมากขึ้น ทำไม Jimi Hendrix ถึงเล่นแบบนี้ นี่สำหรับผมนะมันก็คงสะสมมาเรื่อย ๆ อะครับ

นัท: เหมือนผมฟังเพลงผมจะไม่ค่อยฟังเพลงในแนวของการหาเพลงที่ nostagic ไม่ใช่ฟังเพลงเพราะทำให้ผมคิดถึงยุคนี้ยุคนั้น ฟังเพลงนี้เพราะเคยโตในยุคนี้ ผมฟังเพลงอะไรก็ได้แต่ขอให้ทุกครั้งที่เราฟังเนี่ยมันเป็นสิ่งใหม่ ๆ เป็นซาวด์ใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยฟัง เหมือนการกินข้าวแล้วได้เจอเมนูใหม่ ๆ ที่ไม่เคยกิน บางที comfort food ก็โอเค แต่ถ้าจะกินอาหารเดิม ๆ ทุกวันไม่ได้เสพอะไรใหม่ ๆ มันก็มีความเบื่อกับการฟังเหมือนกัน พักหนึ่งผมซื้อแผ่นไทย พักหนึ่งผมซื้อเอธิโอเปีย หาแผ่นอีสต์แอฟริกัน มิดเดิ้ลอีสต์ เซาธ์อีสต์เอเชีย ให้เราได้เสพแนวเพลงใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยคิดว่ามันมีด้วยหรอวะ 40 ปีที่แล้วเขาทำซาวด์นี้ขึ้นมาทำไมเขาถึงทำแบบนี้ มันก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจแล้วไปต่อยอดเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ทำไมซาวด์อาราบิกมาถึงเซาธ์อีสต์เอเชีย มาอยู่ที่อินโดหรือมาเลได้ยังไง เมืองไทยซาวด์หมอลำมาจากไหน ซาวด์อีสต์กับเวสต์แอฟริกันแตกต่างกันยังไง อีสต์แอฟริกันได้แรงบันดาลใจจากตะวันออกกลาง มันก็มีเรื่องราวที่ทำให้เราเริ่มหาฟัง เราก็ยิ่งเริ่มอยากรู้ไปเรื่อย ๆ ได้รสชาติใหม่ ๆ จากการฟังเพลงไปเรื่อย ๆ

ปั้ม: แน่นอนดนตรีมันมากับความเคลื่อนไหวของสังคมอยู่แล้ว จะเป็นการเมือง การล่าอาณานิคม การเป็นเมืองขึ้น การต่อต้านสงคราม แฟชัน ความขบถต่ออะไรบางอย่าง การต่อต้านอำนาจรัฐหรืออะไรบางอย่าง การที่เราได้เข้าไปรับรู้ประวัติศาสตร์ เราก็ได้รับรู้ว่าศิลปะเหล่านั้นเนี่ยทำไมมันออกมาเป็นแบบนั้น ก็อาจจะได้อรรถรสในการฟังมากขึ้น

มีความเป็นไปได้ไหม ที่ประเทศไทยจะจัดเทศกาลดนตรีระดับโลก

ปั๊ม: อย่าง Java Jazz Festival ที่จาการ์ตา เป็นงานที่ดีมาก ๆ ผมไปมาหลายครั้งละ รัฐบาลช่วยจ่ายเงินแล้วดึงศิลปินระดับโลกมา อยู่ที่ความช่วยเหลือของรัฐบาลเราด้วย อาจเป็นความโชคดีที่ประเทศเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าท่องเที่ยวเยอะมากเลยจนเราไม่ต้องทำอะไรมากในการดึงนักท่องเที่ยวมา (นัท: ไม่จำเป็นต้องใช้เงินรัฐช่วย ต่างชาติก็มากันอยู่แล้ว) ถ้าจะมีความหวังก็ถ้ารัฐมองว่าสิ่งที่เรามีดีเนี่ย พม่าก็มี เขาเปิดประเทศแล้ว ฟิลิปปินส์หลาย ๆ ประเทศเขาก็มี พม่ามีเกาะเป็นพัน ๆ เกาะอะ ถ้าเขาเปิดประเทศปุ๊บเกาะเขาสวยกว่าเราเนี่ย เราอาจจะสูญเสียตรงนี้ไปก็ได้ แต่มิวสิกเฟสติวัลหรือศิลปะแขนงอื่นเนี่ย มันทำเงินแล้วก็สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในประเทศมากมาย อังกฤษเกาะนิดเดียวเนี่ยแต่รายได้ที่ประเทศได้จากภาษีของศิลปินมหาศาลเลย ติดหนึ่งในสามเลย

นัท: ถ้าถามผมว่าเมืองไทยจะจัดงานแบบนี้ได้มั้ย ผมว่าได้ ไม่ต้องรัฐก็ได้แต่ขอแค่มีสปอนเซอร์ที่เห็นคุณค่าตรงนี้ หลัง ๆ สปอนเซอร์ก็เห็นคุณค่าตรงนี้เยอะเพราะเทรนมันมา ไม่รู้อาจจะมีก็ได้

ปั๊ม: แน่นอนถ้ารัฐบาลช่วยอาจจะทำให้มันไปได้เร็วขึ้น อย่างน้อยก็อำนวยความสะดวกในหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น

ถามนัทหน่อย ยังอยากจัดปาร์ตี้ Paradise Molam อีกไหม

นัท: เมื่อก่อนผมจัดเยอะมาก จัดมาตลอดก่อนจะเป็นดีเจก็แยกเป็นอีสานแดนซ์ฮอล ก่อนจะมีวงอีก จัดตอนเปิด Studio Lam แล้วหลังจากนั้นเราต้องดูไลน์อัพดูทุกอย่าง จากสมัยก่อนจัดสองสามเดือนครั้ง พอเปิดร้านเราก็ต้องดูแลอีเวนต์อาทิตย์ละหกวัน พอจะจัดงานใหญ่ ๆ เราเลยมีเวลาให้น้อยลง เลยไม่จัดดีกว่าเพราะถ้าจัดมาแล้วมันไม่ได้จริงจังหรือไม่ได้อย่างที่เราต้องการ ก็อย่าจัดเลยดีกว่า จัดเล็ก ๆ คุมคนง่าย ๆ ไป แต่ก็คิดเหมือนกันว่าอยากจัดอะไรใหญ่ ๆ บ้าง

ช่วยแนะนำวงดนตรีหรือดีเจที่เอาเพลงไทยไปประยุกต์

นัท: ถ้าเป็นประยุกต์หรอ Chris Menist ที่อยู่ในวงด้วยเขาก็เป็นดีเจอยู่ ถ้าเป็นดีเจในเมืองไทยที่ใหม่ก็จะมี Kanehbos เป็นดีเจสายฮิปฮอปแต่ตอนนี้ตัดระหว่างฮิปฮอปกับหมอลำ แล้วก็เพลงใต้ผสมกัน แล้วก็วง ตุ้มเติ่นหมอลํากรุ๊ป คอนเซ็ปต์เป็นบรรเลงเหมือนพาราไดซ์ ฯ แต่จะเป็นอีกรูปแบบ ของเราพยายามทำซาวด์ใหม่ ๆ แต่ตุ้มเติ่นทำซาวด์จากยุค 70s ขึ้นมาแต่เน้นเพอร์คัสชันกับกลองตุ้ม ที่มีแนะนำนะ ต่างประเทศก็มีคนสะสมหมอลำเยอะ เพื่อนผมหลายอย่าง Dan วง Caribou ก็สะสมหมอลำ Shaun Peterson หรือ Sam Floating Points ก็สะสมหมอลำ คนที่ทำแนวอื่นก็สะสมหมอลำแต่พวกนี้เขาไม่ได้มาทำโชว์ เป็นแค่ความสนใจส่วนตัวเฉย ๆ มีอีกค่าย Soundway ที่เราทำ The Sound of Siam ด้วย ก็เปิดซาวด์ใหม่ ๆ ให้ตลาดอีกกลุ่มหนึ่ง Soi48 เมื่อก่อนก็เคยทำงานกับเขา สมัยที่ผมไปจัดงานที่ญี่ปุ่น 2010 สมัยนั้นเขายังไม่มีชื่อขึ้นมา เพิ่งเริ่มเก็บ แก๊งนี้เขาออร์กาไนซ์งานทัวร์ผมก็ไปกับคริสในตอนนั้น พอเราเริ่มทำวงแล้วทัวร์ยุโรปเนี่ยเลยไม่มีเวลาไปญี่ปุ่นเลย เขาเลยทำโปรเจ็กต์ของเขาขึ้นมาเหมือนเป็นอีเวนต์เดือนละครั้งเพื่อแนะนำซาวด์หมอลำในชินจูกุ ในเยอรมันเขาก็มีคนที่จะผลักหมอลำขึ้นมาเป็นดีเจ แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มนี้มันเป็น niche market ไม่มีทางไประดับแมสขนาดอิเล็กทรอนิก เฮาส์ หรือฮิปฮอปได้ ถ้าคนที่ทำเพลงแนวอื่นมาดรอปเพลงเวิลด์คนก็จะหยิบขึ้นมา แต่คนที่เปิดแนวนี้จริง ๆ เขาจะอัดลึกลงไปเรื่อย ๆ ก็จะได้เฉพาะกลุ่มที่สะสมแผ่นเสียงสะสมซาวด์แปลก ๆ ก็จะไม่ใช่กลุ่มแมสขึ้นมาละ กลายเป็นดีเจคนละสาย คนก็สะสมหมอลำหรือพื้นบ้านไทยเยอะขึ้น

จริง ๆ ทาง Zudrangma Records ปีนี้จะออก compilation 2 ชุด กำลังผลิตแผ่นเสียงอยู่ จะมีชุดหนึ่งคือ สุนทร ชัยรุ่งเรือง เป็นหมอลำ 70s ต้น ๆ ที่ผสมซาวด์ดิสโก้ ดั๊บ และทุกอย่างทำผ่าน Roland Space Echo กับหมอลำ เป็นโปรดักชันในครอบครัวเลย คนที่ร้องทั้งอัลบั้มเนี่ยเป็นเขา น้องสาว ผัวน้องสาว คือในครอบครัวมาก แล้วไม่มีใครทำซาวด์แบบนี้ในยุค 70s ต้น ๆ เขาทำขึ้นมาเพราะงานหมอลำเริ่มน้อยลง ดิสโก้เริ่มเข้าไปฮิตในอีสานละ หลังจากอันนั้นจะมี compilation เพลงแหล่ เพราะจริง ๆ เพลงแหล่เป็นอีกแนวหนึ่งที่ผมสนใจมานานแต่ยังไม่ได้โปรโมตหรือแนะนำเพลงนี้ออกไป น่าจะออกประมาณช่วงกรกฎาหรือสิงหาประมาณนั้น แน่นอนหมอลำเราก็ชอบอยู่แล้วแต่เมืองไทยมีซาวด์อีกหลายซาวด์ที่ไม่อยากให้มองข้าม อย่างเพลงจากทางใต้ที่ลึกมากตั้งแต่ตะลุงลากไปถึงมลายู ภาษายาวีลากไปถึงเพลงจากมาเล ออเคสมลายูถึงแกมบุส ลากไปถึงอินโด แล้วก็ย้อนกลับไปว่าเพลงมาจากเยเมนสมัยยุคแลกเปลี่ยนกาแฟ มันเลยร่ำรวยวัฒนธรรมมาก ผมเลยเริ่มอยากจับซาวด์มาพรีเซนต์ให้คนได้ยินมากขึ้น เผื่อใครได้แรงบันดาลใจไปทำวงใต้ ถ้าทำเพราะชอบก็โอเค แต่ถ้าทำเพราะหมอลำขายได้หรือเป็นเทรนด์ ยังงี้ไปหาดีกว่าว่าตัวเองชอบอะไร เพราะมันมีอีกหลายอย่างของวัฒนธรรมที่มันน่าเสพมาก

ฝากอะไรถึงนักดนตรีรุ่นใหม่หน่อย

ปั๊ม: แต่ละคนก็มีทางของตัวเองนะครับ มีสิ่งที่ตัวเองชอบ การที่จะทำงานได้ประสบความสำเร็จคงไม่มีสูตรสำเร็จอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าไม่มากก็น้อยเนี่ย ถ้าเราทำงานที่เรามีความสุข มีความรู้สึกกับงานศิลปะของเรา เริ่มจากตรงนั้นก่อนเนี่ย มันเป็นจุดเริ่มที่ดี

นัท: ฟังเพลงเยอะ ๆ หาเพลงมาเสพเยอะ ๆ ไม่ต้องฟังอะไรที่เราเคยฟังก็ได้ ไปเที่ยวก็ต้องหาอะไรที่ไม่เคยฟัง สร้างความรู้เรื่องเพลงถ้าชอบเพลงจริง ๆ เหมือนคนชอบทานอาหารอะ ออกไปก็ต้องไปกินอะไรใหม่ ๆ ให้รู้จักเมนูมากขึ้น รู้จักรสสัมผัสใหม่ ๆ ผมว่าเป็นรากฐานของการฟังเพลงเลย คุณไม่ฟังเพลงแล้วจะมาพัฒนาเพลงของยากอะ มันต้องเสพก่อนว่ามีเพลงแนวไหนบ้าง ให้รู้ว่ามีอะไรอยู่บนโลกนี้บ้าง บางคนทำอะไรนิดเดียวประกาศเลยว่าเป็นคนแรกที่ทำเลยนะ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่มีคนทำหรือคุณยังไม่รู้ สมัยนี้จะหาอะไรที่ยังไม่มีคนทำมันแทบเป็นไปไม่ได้ อย่างพาราไดซ์ ฯ เนี่ยเอามาผสมไม่เคยมีใครทำมาก่อน เขาก็ผสมในแบบของเขาโดยใช้เครื่องดนตรีตะวันตกกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านตั้งแต่ยุค 70s มาแล้ว ยุคนี้แค่คนอาจจะลืมไป ไม่เคยรู้จัก เราไม่ใช่สิ่งใหม่ถ้าคุณฟังมากพอ ฟังหลาย ๆ อย่าง คุณจะรู้ว่าเป็นเรื่องทั่วไปมากในการผสมเครื่องดนตรี

ปั๊ม: คำถามก่อนหน้านี้ที่บอกว่าทำไงให้บิ๊วคนได้เนี่ย ผมว่ามันต้องเริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากสิ่งที่คุณชอบก่อนแล้วย้อนกลับไปดูว่าคนที่คุณชอบเนี่ย เขาชอบอะไรบ้าง

นัท: เขาร่วมงานกับใครบ้าง มันก็จะต่อยอดไปโปรดิวเซอร์คนนี้ วงนี้ ศิลปินคนนี้ออกกับค่ายไหน ค่ายก็จะรวมซาวด์ใกล้เคียงให้เราไปต่อ จะหาข้อมูลเดี๋ยวนี้มันง่ายมากขึ้นอยู่กับความพยายามแล้วอะ เมื่อก่อนจะซื้อแผ่นเสียงในเน็ตก็ไม่มี ต้องเก็บตังไปซื้อกลับมาฟังเป็นร้อย ๆ รอบจนจำได้ ถึงไปซื้อแผ่นใหม่ สำหรับเราการเสพเพลงมันเหมือนมี passion เราตั้งใจเพื่อที่จะได้เสพ มันไม่ได้ได้มาง่าย ๆ เลยเห็นค่ามากกว่า ผมมองว่าถ้าคุณจะบิ๊วคนอื่นให้ได้คุณต้องบิ๊วตัวเองให้ได้ก่อน คุณต้องอินกับมันก่อน อย่างพี่คำเม้าถ้าเขาไม่อินพิณเนี่ยเขาไม่มานั่งคิดไอ้ พอ พอ พอ อะไรของเขา 29 คำนั่นหรอก (หัวเราะ)

ติดตามข่าวสารของวงได้ที่เพจ The Paradise Bangkok Molam International Band หรือเปิดหูเปิดใจหาดนตรีหมอลำแปลกใหม่ฟังได้ที่ Studio Lam และ Zudrangma Records Online Shop

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา