Article Interview

ฉีกทุกกรอบดนตรี สู่โปรเจกต์เพลง 8 Bit สุดจริงจังของ ‘นะ Polycat’ ในชื่อ ‘SleepTwice’

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Chavit Mayot

คนที่ติดตามวงการดนตรีญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อนน่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของวง YMCK ซึ่งเป็นเหมือนวงบุกเบิกในการทำเพลงแนว chiptune หรืออีกชื่อที่คุ้นหูกว่าเรียกว่า 8 bit แต่สำหรับในไทยมีน้อยวงที่จะหยิบเพลงสไตล์นี้มาสร้างสรรค์ผลงานอย่างจริงจัง และเมื่อไม่นานมานี้เราก็ได้พบกับเพลง Cake ผลงาน 8 bit ที่มีซาวด์ร่วมสมัย ใส่ส่วนผสมของฮิปฮอป r&b จากศิลปินที่ชื่อ SleepTwice ซึ่งอันที่จริงแล้วนี่คืออีกโปรเจกต์ของ นะ Polycat ที่ได้นำเสนอแง่มุมสนุก ๆ และสร้างสรรค์เพลงได้แบบไร้ข้อจำกัด จนไม่น่าเชื่อว่าจุดเริ่มต้นจะสร้างขึ้นมาจากเสียงของ Game Boy เครื่องเดียว ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับเขาในด้านนี้ให้มากขึ้น รวมถึงไปรู้เบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานในโปรเจกต์นี้กันดีกว่า

นะดูเป็นคนสนใจเพลงหลายแนวมาก ก่อนหน้านี้ก็ทำเพลงแนวสกา ต่อมาก็เป็นซินธ์ป๊อป แล้วก็ 8 bit ใครเป็นคนเปิดโลกการฟังเพลงให้นะ

จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ก็ฟังหมดครับ ก็มีที่มาจากหลายที่ จากตัวเองก่อน จากพี่สาวบ้าง แรก ๆ ก็ฟังเพลงไทยทั่วไป กับอีกหนนึงคือตอนนั้นเล่นเกม ชื่อ ‘Soulcalibur’ แล้วพี่ชายผมบอกว่าเพลงของเกมเนี้ย วง X-Japan ทำเพลง ผมก็ไปหาซื้อเทป จนแล้วจนรอดก็ไม่เจอเพลงที่อยู่ในเกม มารู้ความจริงทีหลังว่าน่าจะผิดวง มันน่าจะเป็น Luna Sea หรือว่า Glay อะไรเงี้ยครับ แต่ว่าตอนนั้นก็เป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้ได้ฟังนอกจากเพลงไทย ตอนนั้นร้านเทปหน้าโรงเรียนเอาอะไรมาขายก็ฟังหมดครับ มีทั้ง new age, hiphop, J-rock, nu-metal, hardcore จนมารู้ตัวว่าชอบดนตรีพังก์ ชอบ Operation Ivy ชอบ Rancid เราก็เล่นพังก์มาเรื่อย ๆ แล้วในเพลงเหล่านั้นมันมีสกาอยู่โดยที่เราไม่ทันสังเกต พอมารู้ว่ามันมีศัพท์ที่เรียกการเล่นแบบนี้ว่าสกา ก็ชอบสกาไปด้วยโดยปริยาย ส่วนฮิปฮอปไม่ได้ชอบการแร็ปของมันนะ ชอบที่จังหวะจะโคน ชอบกรูฟของมัน ถ้าเป็นเพลงป๊อปอย่าง อาวรณ์ มันก็จะมีกรูฟอยู่ในนั้น ถึงแม้จะเป็นเพลงช้า แต่กรูฟส่วนมากมันมาจากฮิปฮอป แล้วตอนเด็กก็ชอบฟังโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยว่ามันคือจังหวะแบบฮิปฮอป

นะ ไม่ได้เพิ่งมาทำเพลง 8 bit แต่ SleepTwice เป็นโปรเจกต์แรกในชีวิต

ผมชอบเล่นเกม ก่อนที่จะทำเพลงทั้งหมด เพลงส่วนมากก็มาจากสิ่งที่ได้ยินในเกม อย่าง ‘Rockman’, ‘Castlevania’ เพลงของสองเกมนี้มันสุดมากครับ หรือว่าเกมใน PlayStation ก็ฟังนะ แต่เราชอบติดอะไรที่มัน simple มากกว่า เพราะเพลงในยุค Game Boy หรือ Super Famicom มันมีได้แค่ 4 แทร็คครับ เพลงสมัยใหม่อาจจะใช้คนเล่นได้ 7-8 คน แต่ว่าในยุคนั้นมันมีแค่ 4 ดังนั้นมันก็ใช้คนเล่นได้แค่ 4 คน ถ้าไลน์มันจะซับซ้อนก็ต้องจัดสรรให้มันอยู่แค่ใน 4 แทร็คให้ได้ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก ก็เลยชอบ

แล้วผมเริ่มทำเพลง 8bit โดยใช้ชื่อ SleepTwice มาตั้งแต่แรกเลยครับ คือตอนนั้นก็เล่นกลางคืนไปด้วย ไอ้เพียว ไอ้โต้ง (Polycat) ก็อยู่ด้วยกัน แล้ววันนึงมี No Signal Input เป็นโปรเจกต์ของค่าย Minimal Records ที่เชียงใหม่ บอกว่าอยากให้ส่งเพลงเข้ามาช่วยกันออกไปเล่นสด รันวงการ ผมก็เลยส่งไปสองวงเลย ทั้ง SleepTwice และ Skarangers (เมื่อก่อน Polycat ใช้ชื่อว่า Skarangers—FJZ) แต่ว่าเขาเลือก Skarangers เพราะมันมีความเป็นไปได้ที่จะเล่นสดมากกว่า ตอนนั้นก็เบรก SleepTwice ไปเลย มาทำกับวง แล้วก็เริ่มแต่งเพลงของตัวเองส่งค่าย Smallroom กลายมาเป็น Polycat มาจนถึงทุกวันนี้ พอ Polycat มาถึงจุดที่โอเค เราก็มีเพลงสต็อกไว้ประมาณนึงแล้ว เริ่มมีเวลาว่างด้วยเลยขุด SleepTwice กลับมาทำใหม่

ความแตกต่างระหว่าง SleepTwice กับ Polycat

SleepTwice เราจะทำอะไรก็ได้ครับ ความจริง Polycat มันก็มีความทำอะไรก็ได้อยู่ประมาณนึง แต่ว่ามันก็ต้องอยู่ในธรรมเนียมของเพลงป๊อป ต้องมีเรื่องราวที่โดนใจคนสักนิด ไม่ใช่เราจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ แต่ SleepTwice ถ้าเราอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเค้ก อย่างเพลงที่ปล่อยไป (Cake) verse 2 ก็จะพูดว่า ‘ขนาดที่มีของบางตัวที่ต้องหลบตำรวจ ของที่ว่านั้นยังทำให้เธออารมณ์ดีไม่ได้เลย แต่ว่าเค้กทำให้เธออารมณ์ดีได้’ ผมก็จะเขียนเกี่ยวกับกัญชาก็ยังได้เพราะว่ามันไม่มีใครมาบังคับเรา แล้วเราก็ไม่ได้ต้องคิดว่าต้องทำเพลงไปเสิร์ฟใคร แล้ว Sleep Twice จริง ๆ ก็เป็นเพลง 8 bit ความจริงผมก็พยายามจะทลายกำแพงของ 8 bit ด้วยตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ คือที่อย่างที่ญี่ปุ่นคนทำเพลง 8 bit ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเนิร์ดครับ ไม่ได้ว่านะ จริง ๆ เด็กเนิร์ดเท่ ๆ ก็มี แต่คนส่วนมากจะเป็นบุคลิกแบบที่เรารู้กัน แล้วก็ชอบแต่งตัวประหลาด ผมอยากจะให้คนธรรมดาอย่างเรา ๆ หรือคนที่ชอบดนตรีหลาย ๆ แนวได้มีโอกาสฟัง 8 bit ด้วย ไม่อยากให้เป็นดนตรีเฉพาะกลุ่มสำหรับเนิร์ด ผมก็เลยทลายกำแพงด้วยการเอาฮิปฮอปมารวม เอา samp จากในแผ่นเสียงมารวมกับซาวด์ 8 bit เหล่านั้น แล้วก็เรื่องที่เขียนก็จะไม่เกี่ยวกับเกม คือเพลง 8 bit ที่เกิดขึ้นในไทยอย่างเพลงปรัชญา 8 bit ของ ETC ก็จะร้องว่า ‘จะตายกี่ครั้งก็ไม่เป็นไรเพราะมีสูตรอมตะ’ หรืออย่างพี่แสตมป์ เพลง Game Over ร้องว่า ‘game over อยากพบเธอ กระโดดลงเหวฆ่าตัวตาย’ พอเขาใช้เพลง 8 bit เขาก็ต้องพูดเรื่องเกี่ยวกับเกม ผมอยากทลายกรอบของมัน เสียงมาจากเกมแต่เนื้อหาไม่ต้องเกี่ยวกับเกมก็ได้ อันนี้ก็ได้ทำลายกำแพงของตัวเองประมาณนึงด้วย

คอนเซ็ปต์เพลงต่อ ๆ ไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร อย่างเพลงแรกนี่เกี่ยวกับเค้ก

ก็จะออกทะเลเลยครับ ไปไกลมาก อย่างเช่น พูดถึงเกี่ยวกับแมว เหมือนกับเรามีแฟนแล้วก็เลิกกันไป แต่มีแมวที่เลี้ยงด้วยกันแล้วมันก็อยู่กับแฟนเก่าเรา มีวันนึงเราเจอกันโดยบังเอิญ แล้วแมวจำเราได้ เราก็เลยพูดกับแมวว่าขอบคุณนะที่ยังจำกันได้ถึงแม้ว่าเจ้านายแกจะทำกับฉันเหมือนกับคนไม่รู้จักกันอีกแล้ว ก็จะประมาณนี้ครับ แต่มันจะไม่ได้เศร้ามาก มันมีความกวนตีนอยู่ แซะเจ้าของนิดนึง เป็นความเศร้าที่อยากต่อยกลับอะ ก็ทำเพลงออกไปในทางสนุกได้ เป็นจังหวะกลาง ๆ คือมันยังไงก็ได้แหละผมว่า อีกอย่างคืออยากให้เพลงไทยมีเพลงรักที่เลอะเทอะมากขึ้น จริง ๆ แล้วในเพลงฝรั่งมันมีเยอะมาก เพลงที่ไม่เกี่ยวกับรัก 100% แต่อยู่บน Billboard แล้วคนเก็ตกันอยู่ทุกวันนี้ครับ อย่างเพลงชื่อ Side To Side ของ Ariana Grande กับ Nicki Minaj เกี่ยวกับ มามีอะไรกันให้ฉันเซจาก side to side อะครับ มันคือเพลงป๊อปบ้านเขา ป๊อปบ้านเราสมัยนี้ก็ต้องตามครรลองคลองธรรมกันไป ฉันคิดถึงเธอ เธอทำฉันเจ็บ ฉันปล่อยให้เธอเดินไปแต่โดยดี

Artwork ของ Sleep Twice ก็ไม่เหมือน 8 bit ทั่วไป

เหมือนเป็นนิสัยของผมแล้วที่เห็นอะไรที่เคยมีมาก็พยายามหนีจากสิ่งนั้น วง chiptune ส่วนมากจะเป็นการ์ตูน เป็น pixel art เหลี่ยม ๆ ผมก็ไม่ทำอย่างนั้น ไปหา illustrator ช่วยวาดขึ้นมา

แล้ว 8 bit, ซินธ์ป๊อป, ซิตี้ป๊อป เหมือนหรือต่างกันยังไง

อธิบายอย่างง่ายคือ 8 bit ความจริงมันเรียกว่าดนตรีแนว chiptune แต่เครื่องดนตรีที่ใช้มันคือเครื่องดนตรีที่มีความละเอียดระดับ 8 bit ก็คือใช้เครื่องดนตรีจากเกมก็ว่างั้นเหอะ เลยเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ แบบนั้น ซินธ์ป๊อปคือเพลงป๊อปที่ใช้เครื่องดนตรีที่เรียกว่าซินธิไซเซอร์เท่านั้นเอง ส่วนซิตี้ป๊อปใช้เรียกรวม ๆ เป็นภาพใหญ่ของซีนดนตรีในญี่ปุ่นช่วง 70s ปลาย ๆ ถึง 90s ที่จะพูดถึงชีวิตหรูหราในเมือง การไปเที่ยวชายทะเล แต่ถ้าเป็นเพลงช้าก็เป็นความเหงาในเมืองครับ ซึ่งมันก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกเป็นซินธ์ป๊อปได้ครับถ้าอันไหนถ้าใช้ซินธิไซเซอร์เยอะ

การทำเพลง 8 bit มีข้อจำกัดหรือมีอิสระในการสร้างสรรค์ยังไงบ้าง

ข้อจำกัดคือตัวเครื่องดนตรีครับ มันแล้วแต่ว่าแต่ละคนจะใช้อะไร แต่อย่างผมจะใช้ Game Boy คือมันไม่สามารถทำแทร็คเยอะได้ อย่างที่บอกว่ามันทำได้แค่ 4 แทร็ค เพลงจะซับซ้อนขนาดไหนต้องผ่านการจัดสรรมาให้ดี สมัยนี้จะทำเพลงซับซ้อนกี่แทร็คก็ได้ แบ่งเครื่องดนตรีละแค่ 1 บาร์ก็ได้ แต่ใน 8 bit มันทำได้แค่ 4 แทร็ค ดังนั้นในแทร็คเดียวมันอาจจะรวมเบสกับเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่เหมือนกับกีตาร์ เปียโน อยู่ด้วยกันภายในอันเดียว มันใช้การวางแผนมากกว่าการทำเพลงธรรมดาในสมัยนี้ อีกอย่างคือมันมีความล้าสมัยอยู่นิดนึงเหมือนการใช้เครื่องดนตรีเก่า ดังนั้นไม่สามารถที่จะสร้างโน้ตที่หวือหวาแบบสมัยนี้ได้ เสียงที่ Game Boy ผลิตได้มันจะตรงจังหวะเป๊ะ ๆ มันจะไม่สามารถทำ lay back เป็นเพลงโซลหรือเพลงสมัยใหม่ได้

ส่วนอิสระในการสร้างสรรค์คือผมจะใช้ศักยภาพทุกอย่างที่มันมีอยู่ทำให้เป็นเพลงที่ดีออกมาให้ได้ ภายในข้อจำกัดที่มีมาก ๆ ครับ คือการสร้างเสียงเนี่ยเราต้องกดเกมทั้งวัน ไม่สามารถที่จะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้ ต้องผลิตมาจากเครื่องเกมเท่านั้น บางทีก็ใช้ plug in เปลี่ยนเสียงจากเสียงเปียโนทั่วไปในคอมให้เป็นเสียง 8 bit แต่ถ้าคนไม่มีความเข้าใจมันก็จะเหมือนกับว่าเอาเปียโนมาเล่นให้เป็นเสียงกีตาร์ คือจะไม่เข้าใจธรรมชาติว่าการจัดเรียงโน้ตเป็นยังไง ในทำนองเดียวกันคือถ้าไม่เคยเล่นเครื่องดนตรีท่ีมาจาก Game Boy มาก่อน แค่เล่นเปียโนให้เป็นเสียง 8 bit เฉย ๆ ก็ทำได้ แต่ธรรมชาติมันยังไม่ใช่ เพราะ Game Boy ไม่สามารถผลิต 2 3 4 เสียงพร้อมกันได้ มันผลิตได้แค่ทีละเสียง

ตอนที่ไปเล่นที่ญี่ปุ่นมาเป็นยังไงบ้าง

สนุกครับ มันมีคนที่เปิดใจรับอะไรแบบนี้ อันที่จริงมันเป็นแนวดนตรีที่เกิดมาจากที่บ้านเขาอยู่แล้ว มันอยู่มายาวนานมาก ซึ่งอยากจะให้คนเห็นตรงนี้ เราก็พยายามจะเป็น pioneer อีกครั้งหลังจากที่ทำกับ Polycat มาแล้ว ที่ตอนนั้นเราเป็นวงใหม่ที่เอาซาวด์เก่ามาใช้ คราวนี้เราก็จะพยายามนำเสนออีกซาวด์นึงให้คนลองรับฟังกันดู

นะเคยทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นและออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นด้วย ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

เรื่องการทำงานเวลาเขาตกลงกับเราแล้วไม่ว่าไอเดียเราจะเป็นยังไง เขาจะเคารพงานของเรา เขาจะไม่เอาอีโก้ส่วนตัวในหัวมาใส่งานของเราว่าต้องออกมาเป็นแบบนี้นะ ดังนั้นเราจะมีอิสระเต็มที่ที่จะได้เป็นตัวของเราเอง อีกอย่างคือ คนบ้านเขาขยันเเละจริงจังมาก ช่วงงานก็งาน เต็มที่ไม่มีเล่น แต่พอช่วงปาร์ตี้ก็ปาร์ตี้สุดเลย (หัวเราะ)

ถ้าอยากฟังเพลงแนว chiptune มีวงไหนอีกที่แนะนำ

ของไทยเนี่ยมี The Photo Sticker Machine มีพี่แสตมป์ทำเพลง นักเลงคีย์บอร์ดGame Over แล้วก็มีวงที่ชื่อ Handicat ของญี่ปุ่นมี YMCK เป็นเจ้าพ่อทางด้านนี้ อีกคนที่ชอบชื่อ Robot Prints

เคยมีช่วงที่ท้อไหม อุปสรรคที่เจอระหว่างทำเพลง

ไม่เจอครับ ถ้าทำไปแล้วไม่ดัง ใช้เวลาทำตั้งเยอะ คนไม่เก็ต เราไม่เคยรู้สึกท้อเลย เพราะว่า จุดประสงค์ที่ผมทำเพลงคือ ตอนที่มีความสุขมาก ๆ คือตอนที่มันเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ไลน์เบสต้องแบบนี้ กรูฟแบบนี้ จังหวะแบบนี้ แล้วเราจะทำมันขึ้นมา มันเป็นจังหวะที่ฟินที่สุดในโลกแล้ว ตอนเริ่มอัด ตอนประกอบสร้าง กลองต้องเป็นงี้หน่อย แต่สแนร์ต้องใบเล็ก มันสนุกมากเลย แล้วก็เอาเนื้อเพลงใส่เข้าไป พอเสร็จกลายเป็นเพลง หน้าที่ของผมจบแล้ว ดังไม่ดังผมไม่คิดเลย

จำเป็นไหมที่ศิลปินต้องแตกต่างจากคนอื่น

จำเป็นมากครับ เพราะว่า คนเราสุดท้ายแล้วเราก็ต้องมีอะไรที่เป็นของตัวเอง ถ้าถามผมเองนะ อยู่ดี ๆ เดินถนนแล้วมีคนมาถามว่า คนเราจำเป็นต้องมีความเป็นตัวของตัวเองรึเปล่าวะ ผมก็จะตอบว่าต้องมี แต่ถามว่าเพราะอะไร ไม่รู้ แต่มันต้องมีอยู่แล้วหรือเปล่าวะ จะไปซ้ำคนอื่นทำไม

คิดยังไงกับการที่ทุกคนเอะอะก็ทำซินธ์ป๊อป

คิดว่าสุดท้ายแล้วมันก็ต้องต่าง ผมก็ไม่ใช่คนแรกที่ทำซินธ์ป๊อป แล้วมันก็ไม่ใช่เพลงเด็กแนวด้วย นับไป 30 ปีที่แล้ว มันคือเพลงแมสมาก ๆ ของสมัยนั้น เราไม่ได้คนค้นพบมัน เราแค่เอากลับมาเล่นใหม่ แต่ถ้าเจอคนทำตาม เราก็จะแบบ ทำเลย แต่ว่าผมจะรู้สึกแย่ตรงที่ว่า เขาไม่ได้รู้จักมันจริง ๆ ได้ยินบางเพลง มันก็คือเพลงป๊อปไทยทั่วไปที่อยู่ในวิทยุ แค่เอาเสื้อผ้ายี่ห้อซินธ์ป๊อปมาใส่ แต่ผมก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ได้ไปยุ่มย่ามกับเขา

กว่าจะหาตัวเองเจอ ใช้เวลานานไหม หรือคิดว่าตัวเองยังหาได้เรื่อย ๆ

หาได้เรื่อย ๆ ครับ แต่ถ้าจะพูดในพอยต์ว่า ค้นหาตัวเองจนถึงจุด 80 Kisses ที่ชอบซินธ์ป๊อปอะครับ นานมาก แต่ว่าเราฟังแบบนี้อยู่แล้ว แค่ยังไม่กล้าทำซินธ์ป๊อป 100% คือก่อนหน้านั้นมีอัลบั้ม 0557 ก็คือซินธ์ป๊อปเหมือนกัน แต่ว่าเป็นซินธ์ป๊อปที่หยิบมาแปลงอีกที ว่านี่แหละ คือซินธ์ป๊อป ซิลลี่ฟูลส์เนี่ยแหละ ตีคอร์ด อยากได้เพลงแบบวงนี้แล้วห่มด้วยเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิก ตอนนั้นผมคิดอย่างนั้นเลย แต่ว่าเราก็ฟัง A-Ha, Thompson Twins, Michael Jackson ฟังมาเรื่อย ๆ เพียงแค่เราไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่เราชอบจริง ๆ สักที จนจบอัลบั้มแรกไปแล้ว สมาชิกวงลาออกสองคน วงก็พักเบรกอยู่ มันไม่มีอะไรต้องเสียแล้วปะวะ เราก็แค่เล่นสิ่งที่เราชอบจริง ๆ แค่นั้น ไม่เห็นต้องไปแคร์คนอื่นเลย จนมันกลายมาเป็นแบบนี้ครับ

ข้อดีข้อเสียของวงการดนตรีไทยตอนนี้

ข้อดีคือมีคนเก่ง ๆ เด็ก ๆ เกิดขึ้นมาใหม่เร็วมาก เยอะมาก ถ้าคุยกับใจตัวเองดี ๆ แล้วก็ซื่อสัตย์กับดนตรี ทำให้พิถีพิถันขึ้น วงการเพลงไทยจะดีมาก ๆ ครับ แต่ข้อเสียคือ มันบวกกับกระแสเพลงในยุคนี้ด้วยครับที่มันกำลังมา มันเลยทำให้เพลงทุกเพลงดูฉาบฉวย ทำขึ้นมาง่าย ขอแค่มีฮุกร้องง่าย ๆ บิดปาก นอกนั้นจะเป็นอะไรก็ได้แล้วครับ เอาคนมาเปลี่ยนสามสี่คน คือ ลงแรงไปน้อยมาก ถ้าผมเป็นคนฟังผมโกรธมากนะ ทำแค่นี้เองหรอ เพราะผมก็ทำเยอะแล้วรู้สึกว่า หรือว่าน้อย ๆ แค่นั้นก็ได้วะ ไม่ได้เว่ย นะ มึงต้องเข้มข้นแบบที่มึงเคยเข้มข้นเงี้ยแหละตลอดไป การที่มีเพลงง่าย ๆ มาเยอะแบบนี้ก็ทำให้ผมสั่นคลอนนิดนึง ซึ่งมันคงไม่หมดไปครับ แต่จะมีกลุ่มที่รู้สึก ขอแค่นั้นก็พอแล้ว แล้วกลุ่มนั้นเขาจะหาสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่มีสารอาหารอีกสักพักมันจะมี เพิ่งรู้ตัว มันก็เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการดนตรี ไม่ได้ว่าไปในทางที่แย่ลงหรือดีขึ้น

ศิลปินต้องการการซัพพอร์ตจากคนฟังยังไงบ้าง

ผมเป็นคนไม่เรียกร้องจากคนฟัง ผมยังทะเลาะกับที่ค่ายอยู่เลยว่ามึงต้องทำเพลงให้ดีก่อน ก่อนที่จะไปโทษว่าคนฟังเขาไม่ยอมมาซื้อ หรือร้านไม่ซื้อโชว์ หรือคนฟังไม่มาดูเพลงเรา ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร ผมจะเริ่มที่ มึงทำเพลงไม่ดี แต่ถ้าให้ตอบคำถามแทนนักดนตรีคนอื่น ๆ ถามว่าต้องการอะไรจากคนฟัง ผมว่า ซื้อซีดีคือสิ่งที่ฟินที่สุดของนักดนตรีครับ ไปดูโชว์รองลงมา ถ้าชอบกันก็ช่วยบอก มันมีพวกที่ชอบแล้วเก็บไว้คนเดียว ไม่อยากให้วงแมส ถ้าแมสไม่ชอบแล้ว เอาความคิดนี้ออกไปได้แล้ว

หลังจากนี้มีโปรเจกต์อะไรให้แฟน ๆ ติดตามอีกบ้าง

คิดว่าจะทำ SleepTwice เรื่อย ๆ จนมีซีน 8 bit ในไทย นี่คือความคาดหวังอย่างน้อยที่สุดนะครับ ถึงไม่มีซีนแต่ก็คงมีสักวงหยิบเสียง 8 bit เข้ามาสักนิดก็ยังดีครับ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้มีโปรเจคต์ที่อยากให้ติดตามอยู่คือ การทำเพลงครั้งเเรกของ SleepTwice ร่วมกับ Roshan Jamrock เขาเป็นแร็ปเปอร์จากมาเลเซีย ซึ่งทาง Marshall เจ้าของโปรเจกต์ให้โจทย์เราว่า ทำอะไรก็ได้ที่เราไม่เคยทำมาก่อน เเต่ยังมีความเป็นตัวเองอยู่ ก็เรียกว่าเป็นอีกความสนุกของ SleepTwice ที่จะได้มี การร่วมงานกับศิลปินต่างชาติ ต่างแนวเพลง ซึ่งการทำงานก็สนุกมาก ๆ อยากให้รอติดตามครับ

รู้แบบนี้ก็น่าดีใจแล้วที่เราจะมีแนวดนตรีใหม่ ๆ จากศิลปินไทยให้ฟังเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งราย ตอนนี้ก็ได้เเต่ตั้งตารอฟังผลงาน ที่ SleepTwice จะสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ร่วมกับ Roshank Jamrock กับเพลงที่จะทลายทุกข้อจำกัดของดนตรียุคปัจจุบันออกมาให้เราได้ฟังกันในโปรเจกต์ของ Marshall เร็ว ๆ นี้

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้