Article Interview

โจ๊ะ ๆ มัน ๆ กับดนตรีและวิธีทำงานแบบอนาล็อกของ ‘คณะสุเทพการบันเทิง’

  • Writer: Piyakul Phusri
  • Photographer: Pattana Khuncheun and Jarudet Chailert

กระแสการโหยหาความเก่าอบอวลในบ้านเรามาพักใหญ่ ความวินเทจ เรโทร โอลดี้ เข้าไปแทรกตัวอยู่ในความเคลื่อนไหวทางสังคมในทุกระดับ จนดูเหมือนว่ายิ่งความเป็นดิจิทัลมันทรงพลังมากขึ้นเท่าไหร่ ความโหยหาอดีตก็กลับมามีพลังรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

วงการเพลงไทยไม่ว่าจะนอกหรือในกระแส ก็ยังได้รับอิทธิพลของ ‘กลิ่นเก่า ๆ’ ที่อบอวลมาเป็นระยะอยู่โดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2561 ที่เทรนด์ย้อนกลับไปสู่ยุค 80s มาแรงตลอดปี ศิลปินเบอร์ดังหลายคนทำเพลงและนำเสนอภาพลักษณ์ตัวเองในแบบที่ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนที่คุณพ่อยังหนุ่ม คุณแม่ยังสาว และใครต่อใครก็สนใจในการทำเพลงใหม่ให้เก่า หรือมีคราบไคลของความเก่าซักนิดนึงก็ยังดี

เชียงใหม่ หนึ่งในสถานที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องของการผลิตเพลงและคนอินดี้ของประเทศไทย มีศิลปินสี่คนที่มีประสบการณ์ทางดนตรีอย่างโชกโชนได้รวมตัวกันเป็นวงดนตรีสนุก ๆ ในนาม คณะสุเทพการบันเทิง ที่กลิ่นเก่าโชยมาตั้งแต่ชื่อวง โดยตั้งใจนำเสนอดนตรีแนวสนุกสนาน บ้าน ๆ ตรงไปตรงมา แต่มีสไตล์และร่วมสมัย โดยเป้าประสงค์หลักก็เป็นไปตามชื่อวงคือ ‘เพื่อความบันเทิง’ เป็นสำคัญ

แต่นอกจากภาคดนตรีที่อบอวลไปด้วยความเก่าแบบโจ๊ะ ๆ มัน ๆ แล้ว วิธีคิดและวิธีทำงานของวงถือว่าทั้งเก๋า เก่ง และเต็มเปี่ยมไปด้วยลูกบ้าอย่างล้นเหลือเลยทีเดียว

คณะสุเทพการบันเทิง

สมาชิก
ชา—วิชา เทศดรุณ (กีตาร์, ร้องนำ)
เพชร—เพชรสุวรรณ วรรณโชดก (กลอง)
นล นาคนาคา (เบส)
โบ—ต้องจักษ์ ศุภผลศิริ (กีตาร์)

ทราบว่าแต่ละคนก็มีประสบการณ์เล่นดนตรีกันมาอย่างโชกโชนกว่าที่จะมาฟอร์มกันเป็นคณะสุเทพการบันเทิง อยากรู้ว่าแต่ละคนเล่นอะไรที่ไหนกันมาบ้าง

ชา: ก็เริ่มจากวง Harmonica Sunrise ตั้งแต่ปี 51 แล้วก็มีไซด์โปรเจกต์ใช้ชื่อว่า ชฮม. แล้วก็มีไปร่วมกับกลุ่มเพื่อน ๆ ที่อื่นเป็น คณะพวงรักเร่ ไปทัวร์กับพวก ต่าย อภิรมย์ แต่หลัก ๆ ก็เล่นดนตรีทำวงกันมานานตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว

โบ: ผมมีวงที่ออกอัลบั้มก็ Redking Palace เป็นวงแรกตอนปี 2008-2009 ทำกับพี่นล แล้วก็เพื่อนอีกสองคน แล้วก็ไปทำวงชื่อ Sustainer มีออกมาหนึ่งอัลบั้ม สังกัด Minimal Records ที่เชียงใหม่ อีกวงคือวง Foxy เป็นวงเพลงบรรเลง ทำกับเพื่อน ๆ ที่เชียงใหม่

นล: ของผมที่เป็นชิ้นเป็นอันออกสู่หูฟังประชาชน อันแรกทำ No Signal Input กับเพื่อน ๆ แล้วก็ Redking Palace กับโบนี่แหละ จากนั้นก็เป็น Sustainer กับโบเหมือนกัน แล้วก็มีแต่งเพลงโฆษณา เพลงสถาบันบ้าง

เพชร: ถ้าทำเพลงเป็นจริงเป็นจังและมีอัลบั้ม วงแรกเลยชื่อวง คูเมือง ออกมาสองอัลบั้ม นอกจากคณะสุเทพการบันเทิงก็มี The Stereo Boys ทำกับคุณอ้น เกิดสุข ก่อนหน้านี้ก็เป็นมือปืนห้องอัด เป็นแบ็คอัพให้ Rasmee Isan Soul

ตอนนี้ทุกคนก็อยู่เชียงใหม่กันหมด แล้วเป็นคนเชียงใหม่หรือเปล่า

โบ: ไม่ใช่ซักคนเลย ผมคนแพร่ พี่ชา นครสวรรค์ พี่เพชร พิจิตร พี่นล เชียงราย แต่มันมาเจอกันเพราะเราเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยกัน คนละคณะ มาเจอกันที่ชมรมดนตรีสากล

ชา: พี่เข้ามาเรียน มช. ปี 40 นล กับ เพชร มาปี 41 โบมาปี 42 ก็มากอง ๆ กันอยู่ที่ชมรม เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมา เมื่อก่อนก็เล่นดนตรีตามงานในคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ร้านเหล้ามันไม่ได้เยอะแบบตอนนี้ เรายังไม่ได้ไปเป็นนักดนตรีกลางคืน

แล้วเรียนคณะอะไรกันมาบ้างถึงมาเป็นนักดนตรีอาชีพกันหมด

ชา: พี่เรียนวิศวะ

โบ: ผมจบนิเทศศาสตร์

นล: ผมเคยเรียนวิศวะ แล้วก็มาเรียนสื่อสารมวลชน

เพชร: ผมวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา (หัวเราะทั้งวง)

แล้วมารวมกันเป็นคณะสุเทพการบันเทิงได้อย่างไร

ชา: เราเห็นหน้ากันมานาน บางครั้งก็ทำงานกลางคืนด้วยกัน เล่นวงนั้น ร้านนี้ ตั้งแต่รู้จักกันมันก็เล่นดนตรีด้วยกันมาเรื่อย ๆ แต่ขณะที่เราทำวงกันคนละวง มันก็ไปเล่นงานเดียวกันอยู่เรื่อย ๆ ก็ยังเจอกันอยู่ อย่าง Harmonica Sunrise กับ Redking Palace ก็ออกอัลบั้มอยู่ใน No Signal Input เล่นงานเดียวกันทั้งปี คราวนี้ คณะสุเทพการบันเทิงเนี่ย จริง ๆ มันไม่ใช่ทีมนี้ เมื่อก่อนมันเป็นวงที่รวมกันเพื่อไปเล่นในงานสงกรานต์ งานบันเทิง งานร่าเริง เพราะส่วนตัวพี่เป็นคนชอบแนวลูกทุ่ง-ลูกกรุง พวกนี้ก็เล่นร็อกกันไปต่างต่างนานา แต่วงนี้เรารวมตัวกันรับงานเพื่อเล่นเพลงโจ๊ะ ๆ

นล: รวมตัวกันเล่นสงกรานต์ปีละครั้งมาสามปีละ

ชา: มือเบสก็มีสองคน มีนักร้องหญิง มีแซ็กโซโฟน ก็สลับกันไปเรื่อย ๆ อย่างเพชรนี่ไม่เคยตีกลองให้สุเทพการบันเทิงเลย แต่พอดีปีนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มือกลองไม่ว่าง เพชรก็เลยมาตี แล้วพอดีวันสงกรานต์ปีนี้เรารับสองงานเลย กลางวันงานหนึ่ง เย็นอีกงานหนึ่ง ก็รู้สึกว่าวงประมาณเรามันก็หารายได้ได้เนาะ คนมันก็สนุก เจ้าของร้านที่เอาเรามาเล่นในอีเวนต์ทุกปีก็ถามว่า ‘ทำไมพี่ไม่มาเล่นประจำเป็นร้าน?’ เพราะทุกทีเราไม่ได้เล่นประจำด้วยกัน พอมีสงกรานต์ทีก็มารวมกันที จนเจ้าของร้านเค้าให้มาเล่นประจำที่ร้านตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เล่นอาทิตย์ละวัน เดือนละสี่ครั้ง แล้วก็รู้สึกว่ามีเพลงแต่งค้างไว้ที่มันไม่เข้ากับ Harmonica Sunrise แล้วเราก็เสียดายที่จะทิ้งไป และมันก็เข้ากับวงนี้ เลยชวนกันทำเพลง แค่นี้แหละ

โบ: ชื่อวงสุเทพการบันเทิงนี่ก็เพราะเราพักอาศัยกันอยู่ในตำบลสุเทพ แค่นั้นเลย

คิดนานมั้ยชื่อนี้

โบ: มันมาจากพี่ชาตั้งกรุ๊ปคุยกันว่าจะรวมวงไปเล่นงานสงกรานต์นะ ก็ใช้ชื่อกรุ๊ปว่า ‘สุเทพการบันเทิง’ เวลาเค้าถามว่าชื่อวงอะไรก็ตามนี้แหละ

ชา: อย่างที่บอกว่าวงนี้มันรับงานสงกรานต์มาสามปีแล้ว เล่นอยู่ร้านเดียวด้วยนะ ปีหนึ่งรวมกันครั้งเดียวก็เกินพอ แล้วพอเราตกลงเริ่มเล่นในร้านด้วยกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พอเดือนมิถุนายนก็มองว่ามีเพลงที่แต่งค้าง ๆ ที่มีกลิ่นลูกทุ่ง-ลูกกรุงอยู่สามสี่เพลง ก็เลย ‘เฮ้ย เรามาทำกันเลยดีกว่า’ แต่จะทำยังไงกันดีวะ? ตอนนั้นเราซ้อมดนตรีกันที่บ้านอยู่แล้ว ก็เลยอัดมันที่บ้านนี่แหละ แล้วเราก็นัดกันวันวิสาขบูชา เพราะเป็นวันที่เราไม่ต้องทำงานกลางคืน วันนั้นก็ซัดเลย มีอยู่สามเพลง ก็ทำกันสามเพลง

โบ: ก็ทำกันตั้งแต่บ่าย ล่อไปจนถึงกลางคืน เอาให้มันเสร็จ

ชา: ผ่านไปอาทิตย์นั้น เราก็เสร็จไปสามเพลง แล้วเพชรก็ไปขุดเอาเพลงนั้นเพลงนี้ขึ้นมา แต่งเพลงขึ้นมาใหม่บ้าง ตั้งแต่ปลายมิถุนายน จนถึงพฤศจิกายน เราก็ทำเสร็จอัลบั้มหนึ่ง สิบเพลง

โบ: เพราะนัดซ้อมกันทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละสองวัน วันพุธซ้อมเพลงไปเล่นที่ร้าน ก็ขึ้นโครงเพลงใหม่ อาทิตย์ก็อัด เดือนหนึ่ง เราได้อย่างต่ำก็สี่เพลงละ

ชา: มันมีทั้งเพลงที่แต่งใหม่ขึ้นมาเลย และเพลงที่มีอยู่แล้ว ไอ้เพลงที่มีอยู่แล้วก็จะไปเร็วหน่อย แต่หลายเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ ๆ บางทีก็มานั่งเขียนเนื้อกันสด ๆ เลย แล้วก็อัด แจมกันในห้อง ได้ดนตรีปุ๊บ ก็อัดคร่าว ๆ ไว้ แล้วพี่ก็เอามาฟัง แล้วเขียนเนื้อยัด ๆๆ เข้าไป เจ็ดนาทีเสร็จ อีกวันก็มาอัดกันต่อ

สไตล์ดนตรีของสุเทพการบันเทิงคืออะไร

ชา: อย่างพี่ก็จะได้อิทธิพลมาจากเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง หรือพวกสตริงเก่า ๆ ยุคแบบ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล, ชาตรี เรารู้สึกว่าเพลงยุคนั้นมันเป็นเพลงในยุควินเทจ คือทุกแนวที่อยู่ก่อน 70s เราถือว่ามันเป็นเพลงวินเทจ แต่พอเราเอามาทำ มันจะไม่ใช่เพลงวินเทจ มันไม่ได้ออกมากลิ่นเก่าจ๋า มันจะมีอะไรใหม่ ๆ มีทางคอร์ดแบบแปลก ๆ มีซาวด์เอฟเฟกต์ เราก็เลยนิยามว่าพวกเราเป็น ‘โมเดิร์น วินเทจ’ ละกัน

เพชร: เวลาเราเล่นเราก็รู้สึกว่ามันโมเดิร์นไปเอง

ชา: ใช่ ๆ เพราะด้วยความที่แต่ละคนก็เล่นดนตรีมาหลายแนว ก็เอามาแชร์กัน แต่อย่างที่บอกว่ามันก็ไม่ได้ซีเรียส มีมุขไหน ลูกไหน ที่โผล่เข้ามาแล้วเข้าท่าเข้าทางก็เอาเลย ไม่ได้คิดอะไรเยอะเลยครับ อย่างบางเพลงอยากประสานเสียงเยอะ ๆ ก็ใส่ ๆ ๆ เข้าไป

เพชร: หลัก ๆ ที่ผมมองว่าเก่าคือภาษา

นล: เป็นคำที่พวกลูกทุ่ง-ลูกกรุงเค้าใช้กันน่ะ แต่ซาวด์เราใหม่ แต่อาจจะไม่ใหม่ขนาดอิเล็กทรอนิกอะไรอย่างนั้น แต่เป็นแนวที่เล่นดนตรีสด

อัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มชุดแรกของวง แล้วทำไมถึงใช้ชื่อชุดว่า รวมฮิต

ชา: ก็กะว่าทุกเพลงมันฮิตน่ะ อีกมุมหนึ่งที่ตอนนั้นคิดก็คือ ยุคนี้มันไม่ค่อยมีคนทำอัลบั้ม ก็ทำซิงเกิ้ลแล้วลุ้นกันเป็นซิงเกิ้ลไป เพลงนี้จะดังมั้ย ถ้าดัง กูก็ต้องมีเพลงต่อไป แล้วเมื่อไหร่มึงจะออกอัลบั้มวะ? อะไรอย่างนี้ คือมันคนละโมเดลกับเมื่อก่อน สมัยยุคที่เป็นเทป เค้าออกเทปมาม้วนหนึ่ง มันอาจจะฮิตซัก 4-5 เพลง พอออกมาสามชุด เค้าก็เอามารวมฮิตอีกอัลบั้มหนึ่ง แต่ยุคนี้มันขายแผ่นไม่ได้ เค้าเลยคิดเป็นซิงเกิ้ล ซึ่งเราก็รู้สึกว่า ในเมื่อเราก็ไม่มีอะไรจะเสีย เราไม่ได้มีค่ายใหญ่ที่ต้องลงทุนให้เรา ต้นทุนทำอัลบั้มนี้คือศูนย์บาทถ้าไม่นับค่าปั๊มแผ่นนะครับ คือห้องอัดก็ไม่เสีย มิกซ์เอง มาสเตอร์ริ่งเองกันหมด ก็รู้สึกว่าเราจะต้องไปกลัวอะไรวะ ก็ทำเป็นอัลบั้มไปเลย แล้วก็คิดว่ามึงจะต้องมาห่วงทำไมว่าเพลงไหนจะไม่ดัง เราไม่ได้ลุ้นเป็นเพลง ๆ ก็เลยบอกว่าทุกเพลงกูแม่งฮิตหมดเลย ก็ใช้ชื่ออัลบั้มว่า ‘รวมฮิต’ ไปเลย แล้วเดี๋ยวชุดต่อไปจะเป็น ‘ชุดหนึ่ง’ ซึ่งก็จะมีเพลงพวกนี้บางเพลงอยู่ในนั้น (หัวเราะ)

หลังจากที่ปล่อยอัลบั้มรวมฮิตมาแล้ว ตอนนี้ถือว่าฮิตหรือยัง?

ชา: ก็ปล่อยมาประมาณสามสี่เดือน แปดเพลง ยอดวิวรวมกันยังไม่ถึงสองหมื่นเลย (หัวเราะทั้งวง) นี่เอาแปดเพลงมาบวกกันแล้วนะ ก็ช่างมันครับ เพราะใน YouTube เราไม่ซีเรียสนะ คือในความคิดพี่ มีใน YouTube มันดีอยู่แล้ว เพราะมันก็เป็นช่องทางหนึ่ง แต่ในใจจริงที่เราวางแผนกันมาหลังจากอัลบั้มเสร็จ เราจะใช้โมเดลแบบเก่า คือเราต้องพาตัวเองไปเล่นให้คนเห็น มารอให้มันดังจาก YouTube แล้วมีคนมาจ้างก็รอไปเถอะ อีกกี่ปีก็ไม่รู้กว่ามันจะทำงาน

เพชร: ค่อนข้างที่จะสวนกับสมัยใหม่

ชา: ตั้งแต่วิธีคิดอัลบั้มแล้วล่ะ เราก็ไม่ได้คิดเหมือนคนอื่นเค้า เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่มีอะไรจะเสีย ก็เลยเอาวะ คอนเนคชั่นทั้งหมดที่เรามี ร้านนั้น จังหวัดนี้ เรารู้จักใครเราก็ไปเล่นไปเรื่อย ๆ

คือถึงคนฟังจะไม่รู้จักเพลงของวงก็เป็นเรื่องของเค้า

ชา: สิ่งที่เรารู้สึกชอบในวงเราคือมันมีความ ‘โฮะ’ มั้ง เพราะต่างคนก็ต่างมีประสบการณ์การเล่นดนตรีมาหลากหลายแนว มันทำให้เพลงเก็บที่เป็นเพลงคัฟเวอร์ของเราเยอะ และค่อนข้างอยู่ในหลายพื้นที่ได้ จะอยู่บนงานที่เป็นกิจจะลักษณะ เป็นการเป็นงาน หรืออยู่กับชาวบ้านก็ได้ เล่นเพลงฝรั่งก็ได้ เล่นงานแต่งงาน หรือ ร้านอาหารนิ่ง ๆ ก็ได้ พอได้โอกาสเล่นงานดนตรีคัฟเวอร์ พี่ก็พยายามเอาวงไปเล่น บอกเค้าเลยว่านี่คือวงเรา และเรามีเพลงตัวเองนะ แล้วพกแผ่นซีดีไปด้วย ถ้าเทียบว่าคนมันกรี๊ดกร๊าดเฮฮาขนาดนั้นมั้ย? ก็ไม่หรอก เพราะคน 90% ก็จะ ‘เพลงอะไรวะ?ง แต่มันจะมีซัก 1-2% ที่แบบว่า ‘พี่..ผมชอบเพลงพี่’ แบบนี้เราก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมันเหมือนเราพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนฟัง สมมติมีร้อยคน ฟังเราซักสองคนก็โอเคแล้ว แต่ถ้าเราอยู่แต่ใน YouTube เราอยู่ท่ามกลางคนเป็นล้านก็จริง แต่ก็อยู่ท่ามกลางเพลงเป็นล้านล้านเพลงเหมือนกัน

เหมือนตอนเราเอาเพลงไปลงฟังใจก็ไม่หวังอะไรเลย เพราะเพลงในฟังใจวันนึงก็โคตรเยอะ ถ้าช่วงไหนเพลงเราเป็นเพลงที่ฟังใจเลือกมา ช่วงนั้นเพลงนั้นยอดมันก็จะขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ถามว่าศิลปินในฟังใจวัน ๆ หนึ่งมีเยอะมาก แต่ถามว่าใครจะมีโอกาสไปเล่นต่อหน้าคนจริง ๆ ขายแผ่นจริง ๆ มันก็มีไม่เยอะ เราก็เลยคิดว่าเราจะไม่รอออนไลน์ละ เราต้องพยายามผลักตัวเราออกไปอยู่โลกออฟไลน์

ทำไมถึงยังเอาจริงเอาจังกับการขายซีดี ในยุคสมัยที่วงดนตรีส่วนใหญ่มุ่งไปทางสตรีมมิ่ง หรือแม้แต่ขายเพลงในแฟลชไดรฟ์ก็ยังมี

โบ: ผมว่ารายได้จากพวกยอดวิว หรือ สตรีมมิ่ง มันสู้เอาซีดีไปขายไม่ได้ อันนี้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า เราทำก็ขาย ได้เงินมาเลย ไม่ต้องรอโน่นนั่นนี่ เค้าชอบก็ซื้อ แล้วก็เอาเงินค่าขายซีดีมาเป็นต้นทุนทำอย่างอื่น เก็บไว้เป็นค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในวงได้ ก็ถือว่ามีรายได้จากเพลงตัวเอง

ชา: คือเรารู้สึกว่าถ้าเรารอคนร้อยคนมาโหลดสตรีมมิ่ง ก็ขอคนเดียวซื้อแผ่นกูเนี่ย ได้ละ 350 บาท เต็ม ๆ

โบ: แล้วมันมีฟิลของความจับต้องได้ ถึงเค้าจะไม่เปิดฟัง ก็ยังมีเก็บไว้ เปิดดูหน้าปก มีขอลายเซ็น มันมีอะไรให้นึกถึง มันมีคุณค่ามากกว่าเป็นแค่ไฟล์ ไฟล์เราเซ็นลายเซ็นให้เค้าไม่ได้ แต่ซีดีเราเซ็นให้เค้าได้ ข้างในก็มีเนื้อเพลงพร้อมเครดิต

ชา: พอโลกเรามันเป็นดิจิทัล เพลงมันเป็นไฟล์หมด พฤติกรรมคนฟังมันก็ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะอ่านปกเทป มันก็หายไป แต่เดี๋ยวนี้กระแสมันก็เริ่มกลับมา คนเริ่มกลับมาทำไวนิล ทำเทป แต่โอเค มันอาจจะไม่ได้ 100% เหมือนเมื่อก่อน แต่สมมติร้อยคน ซื้อซีดีซักยี่สิบห้าคน เราก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์กว่าปล่อยเพลงไปในสตรีมมิ่ง มีคนได้ยินห้าร้อยคน แต่คนจะซื้อเพลงเราเท่าไหร่ มันสู้ไม่ได้กับคนร้อยคนรู้ว่าเรามีซีดี แล้วมีคนซื้อซีดีซักสิบคน

ตอนทำซีดี อย่างที่บอกว่าเราไม่มีต้นทุน แต่ตอนจะปั๊มแผ่นมันมีต้นทุนเป็นหมื่นเลย ก็ใช้วิธีโง่ ๆ ขอสปอนเซอร์ ขอตังค์จากบริษัทห้างร้านอะไรที่มันไม่ได้เกี่ยวกับวงการเพลงเลยนะ ก็ไปขอรุ่นพี่ที่เค้ารวย ๆ เอาโลโก้บริษัทเค้ามาใส่แล้วขอเงินห้าพัน

เพชร: เบิกมัดจำงานแต่งมาก่อนด้วย (หัวเราะ)

ชา: ถ้าเปิดปกมาจะรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์นี่มันไม่ได้เกี่ยวกับดนตรีเลยซักอย่าง มีบริษัทกำจัดขยะ มีร้านอาหาร คาร์แคร์ เพราะอย่างน้อยเรารู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนเรา เค้ารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เค้าอาจจะชอบดนตรีบ้าง ก็อาจจะ ‘เอาไปเถอะ ห้าพัน’ แต่ถ้าเราไปขอสปอนเซอร์ใหญ่ ๆ กระบวนการมันวุ่นวาย คุณต้องทำเบิกโน่นนั่นนี่ เราใช้วิธีแบบเนี้ย พี่มีพัน สองพัน ก็เอามารวม ๆ กัน จนมันได้ต้นทุนปั๊มแผ่น ปั๊มปก หลังจากนี้ทุกแผ่นของเราก็คือกำไรเต็ม ๆ ละ ไปเล่นงานหนึ่ง ขายได้สิบแผ่น เราก็ได้สามพันห้า ก็หารห้า ส่วนหนึ่งเข้าวง ตอนนี้เงินเก็บของวงก็พอที่จะปั๊มแผ่นอัลบั้มต่อไปได้ละ พร้อมที่จะทำชุดหนึ่งละ (หัวเราะ) ก็รู้สึกสนุกดีที่เราทำอะไรกันเองหมด

วิธีการทำงานหลายอย่างของวงมันสวนทางกับชาวบ้านมาก ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปหาคนดู การเน้นขายแผ่นซีดี ในยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่มองดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในการปล่อยเพลง

เพชร: พูดถึงตอนปล่อยเพลง พี่ชาเลือกที่จะปล่อยทีหนึ่งห้าเพลง

ชา: วันเดียวปล่อยพร้อมกันห้าเพลงเลย เลือกเอาว่าจะฟังเพลงไหน คงชอบซักเพลง อย่างที่บอกว่าเราไม่มีอะไรต้องลุ้น ต้องเสีย ต้องเสี่ยง

โบ: บางเพลงทำเสร็จปุ๊บก็เอาลงฟังใจเลย

ชา: สำหรับพี่นะ เรามาหาลู่ทางในโลกออฟไลน์ดีกว่า ตอนนี้ถือว่าสะใจมากเลยนะ แผ่นเราเสร็จตอน 30 กันยายน จริง ๆ ตอนนี้แผ่นเราขายไป 200 แผ่นแล้ว ซึ่งทำออกมา 500 แผ่น ออกมาสามเดือน ขายไป 200 เหลือ 300 เอง มันก็โอเคนะ แล้วเราก็ใช้วิธีอย่างที่ว่า คือมีคอนเนคชั่นอะไรก็พยายามไปก่อน ออกอัลบั้มมาหนึ่งเดือนก็ได้ไปเล่นกรุงเทพฯ ระยอง จันทบุรี อยุธยา แล้วโชคดีเราไปออกรายการ ‘นักผจญเพลง’ แล้วก็ที่ฟังใจ ก็รู้สึกว่าเราได้ขยายพื้นที่สื่อ มีสื่ออื่นให้เราไปแปะตัว อย่างไปออกนักผจญเพลงมา คนดูทีเซอร์เป็นหมื่น ยอดไลก์เพจเพิ่มมาสี่คน (หัวเราะทั้งวง) สรุปคนมันดูทีวีอยู่มั้ยวะ

อันนี้เป็นเรื่องที่พี่กำลังจะพิสูจน์เหมือนกัน ว่ามีคนบอกว่าทุกวันนี้สื่อมันออนไลน์หมดแล้ว แต่จริง ๆ แล้วคน 80% ของประเทศเราก็ยังดูทีวี ก็จะมาวัดกันว่าคืนนี้ (16 ธันวาคม 2561) จะได้ออกทีวี ดูซิว่ามันจะ….

นล: ได้ข่าวว่าชนกับแดงเดือดนะพี่

ชา: เอ๊า…. (FJZ: บอลเตะห้าทุ่มครับ ออกพร้อมนักผจญเพลง (หัวเราะทั้งวง)) บอกเค้าเลื่อนเป็นอาทิตย์หน้าได้มั้ย (หัวเราะ) แต่ไม่ ๆ คนฟังเพลงเค้าก็ดูเพลงไป คนไม่ดูบอลก็มี

เนื้อหาเพลงในอัลบั้มรวมฮิตของสุเทพการบันเทิงเรียกได้ว่าหลากหลายมาก ๆ ได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงจากอะไรบ้าง

ชา: จริง ๆ สิบเพลงนี่มันมาจากสิบอัลบั้มในอนาคต เพราะมันเป็นอัลบั้มรวมฮิต ในอัลบั้มต่อ ๆ ไปมันจะกลมกลืนกันมากขึ้น คือเราหาข้อแก้ตัวไง (หัวเราะ) เพลงเรามันรวม ๆ ไปเรื่อย ๆ เป็นเพลงที่รุ่นพี่แต่งไว้ รุ่นน้องแต่งไว้ เพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ก็เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาแบบไม่ได้คิดมาก

เพชร: เป็นเรื่องที่บางคนเค้าอาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอามาแต่งเพลง แต่พี่ชารู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องเอามาแต่ง

โบ: อย่างโชเฟอร์คนขับรถตู้ (เพลงโชเฟอร์นักรัก) ก็เอาเรื่องเค้ามาแต่งเพลง..จบ ไม่ได้คิดว่าเพลงนี้มันต้องมี target มันจะทำงานรึเปล่า แต่งไปมันเพราะเหรอ ทำไมไม่เกี่ยวกับเรื่องความรักเลย

ชา: คือไม่ได้ fix อะไรกับสุเทพการบันเทิงเลยครับ อย่างเพลงหมอครับ..ผมชอบหมอครับ ก็ไม่มีอะไร คือชอบหมอ จะไปจีบหมอ แล้วจะจีบยังไงดี มันก็จะมีคำพูดว่า ‘เวลาเราจีบใคร เราก็มอบหัวใจให้’ ถ้างั้นจีบหมอเราก็ต้องให้ทั้งตัวไปเลย สมัครเป็นอาจารย์ใหญ่ ก็ได้มุขมา ที่เหลือก็เอามาแต่งต่อ อย่างเพลงหัวใจหล่น(อยู่สกลนคร) ตอนนั้นไปสกลนครบ่อย ก็ไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่คิดจะแต่งเพลงนะ แต่อยู่ดี ๆ ก็มีคำว่า ‘หัวใจหล่นอยู่สกลนคร’ เออ..มันเหมาะที่จะเป็นชื่อเพลงว่ะ ก็เลยตั้งใจว่าเดี๋ยวจะแต่งเพลงชื่อนี้ เพลงบุหลันดั้นเมฆ ก็ชอบความคล้องจองของคำ

โบ: จริง ๆ มันก็เหมือนเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุงเมื่อก่อน ว่ายน้ำไปจีบกัน แค่เนี้ย ไม่ต้องคิดอะไรมากว่าต้องใช้คำซับซ้อน ไม่ต้องตีความอะไรเยอะ

ชา: หลาย ๆ เพลงมันก็มาจากชื่อเพลงก่อน อย่างบุหลันดั้นเมฆ ก็ชอบคำก่อน แล้วค่อยมาสร้างเรื่องสร้างราว แต่ก็จะมีโจทย์ให้ตัวเองนะว่ากูจะต้องใช้สัมผัสนั่นนี่ ต้องคล้องจอง

โบ: มันก็สนุกนะ มันก็เหมือนแก้เลี่ยนเพลงไทยสมัยนี้ที่มันจะมีชุดคำอินดี้เป็นบล็อก ๆ ออกมาวนเวียนอยู่ จะเบลอ ๆ ฟังยากนิดหนึ่ง

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสุเทพการบันเทิงได้ไปทัวร์มาหลายจังหวัด (อยุธยา จันทบุรี กรุงเทพ ฯ ระยอง) กระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

ชา: จริง ๆ มันเป็นทริปที่เราจัดกันมาเอง มันเกิดมาจากรุ่นน้องคนหนึ่งที่อยู่จันทบุรี จะจ้างพี่ไปเล่นงานแต่งงานคนเดียว เราก็รู้สึกว่างานแต่งงาน มึงอยากได้วงมั้ย สนุก ๆ แล้วพอดีมันรวยไง มันก็บอก ‘เอามาเลยพี่’ แล้วเจ้าบ่าวกับเราก็รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เราก็เอาวงไปเล่น แทรกเพลงตัวเองไป แต่วันนั้นได้เล่นอยู่เพลงสองเพลง แล้วเราก็มาคิดว่าจากเชียงใหม่นั่งรถไปมันนาน มันเหนื่อย ก็เลยแวะอยุธยา เราก็ใช้คอนเน็กชันเดิมของพวงรักเร่ไปเล่นที่ร้าน Junk House แวะกรุงเทพ ฯ ก็มาเล่นที่ Play Yard ก็แชตไปว่าขอเล่นหน่อยละกัน โดยที่ความคาดหวังก็ไม่ได้มอะไรเลย แค่ได้ไปเล่น ได้ตังค์บ้าง และเอาแผ่นไปขาย ผลตอบรับแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน เพราะธรรมชาติแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นวงที่มีชื่อเสียง เราจะคาดหวังอะไรเยอะไม่ได้ ไปโดยที่ไม่มีความคาดหวังจะดีกว่า ถ้าคาดหวังจะผิดหวังได้

โบ: ไปเล่นให้สนุกอะ คนมากคนน้อยก็เล่นเหมือนเดิม เค้าก็สนุกกับเราด้วย

ชา: รวมแล้วทริปนั้นขายแผ่นได้ 17 แผ่น ก็ได้ตังค์นิดหน่อย แต่ได้คนตามเพจ มันจะเยอะจะน้อยก็ได้ละ คืออย่างที่บอกว่าเราปล่อยเพลงไปใน YouTube คนเค้าอาจจะชอบเพลงเรา แต่เค้าก็อาจจะชอบเพลงอื่นที่มันโผล่มาช่วงนั้นสิบเพลงเหมือนกัน เค้าอาจจะไม่ได้แชร์ก็ได้ เค้าก็อาจจะฟังของเค้าคนเดียว แต่คนที่มาดูเราต่อหน้า เรารู้สึกเค้าชอบจริง ๆ เค้าซื้อแผ่น อีกวันเค้าเอาเพลงเราไปแชร์ หรือมากดไลก์เพจ คือรู้สึกว่ามันแข็งแรง มันจับต้องได้มากกว่า

เป็นวงที่รับงานหลากหลายมาก ตั้งแต่งานแต่งงาน อีเวนต์ต่าง ๆ ร้านเหล้า คอนเสิร์ต จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ละคนมีสถานที่ไหนที่ชอบไปเล่นดนตรีมากที่สุด

ชา: พี่ชอบไปเล่นเปิดหมวด ชอบสเปซที่เอาดนตรีของเราไปเจอกับคนที่ไม่ได้อยู่ที่ร้านเหล้า แบบเล่น ๆ อยู่แล้วเค้าหยุดฟัง เดินมาฟัง แล้วเค้าพอใจ ให้ตังค์ในกล่อง พี่รู้สึกว่าแบบนั้นมันมีปฏิสัมพันธ์จริง ๆ หรือถ้าเป็นสเปซของความเป็นร้าน ก็เป็นที่ที่คนเค้าฟังเพลง ไม่ใช่เอาดนตรีมาประกอบการกินเหล้า หรือแค่รอเพลงที่มันติดปากแล้วก็ร้องตามเต้นตาม อย่างของเรา โอเค..เต้นได้ เล่นงานอะไรก็เล่นได้ งานวัดก็เล่นได้ แต่ถ้าเราจะเล่นเพลงเราเองจริง ๆ นะ เราคาดหวังว่า เฮ้ย..เค้าจะมาฟัง มาดูเราเล่น ดูเรา performance ตรงหน้าแล้วชอบ แล้วหยุดดู อยากเล่นในที่ที่ไม่ได้เหมือนบังคับเค้ามาดู เค้าต้องเลือกที่จะมาดู

โบ: คล้าย ๆ กันครับ เหมือนกัน

นล: เอาจริง ๆ ชอบเล่นในงาน after party ที่คนพร้อมจะสนุกสนานโดยไม่ต้องบังคับ เพราะเป็นคนประมาณนั้น

เพชร: ถ้าพูดถึงสถานที่ สำหรับผมมันคือสิ่งปลูกสร้างเนาะ ที่ไหนก็ได้ แต่สำคัญที่บรรยากาศข้างในมากกว่า หมายถึงคนที่เข้ามาฟัง คือผมชอบเซอร์ไพรส์ ฟีลอาจจะคล้าย ๆ พี่ชา คือคุณไม่ต้องรู้จักเพลงของวงสุเทพฯ ก็ได้ แต่ขอโอกาสผมหน่อยได้มั้ย ขอโอกาสให้คุณมาฟังก่อนได้มั้ย ถ้าชอบ ก็ดีสำหรับเค้าและพวกเราด้วย ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่ก็อยู่ที่ตัวเค้าด้วยว่าเปิดใจรึเปล่า

ชา: เราก็รู้สึกว่าเรามีของ ไม่ได้แปลว่าเราเก่งนะ แต่หมายถึงว่าเรามีของบางอย่างที่มันน่าสนใจนะ อยากนำเสนอด้วยการแสดงสดให้ดู เราอยู่ในสนามที่มาคนจริง ๆ ก็ดูว่าที่ยิงไปมันจะไปโดนใครบ้าง

มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในซีนดนตรีนอกกระแสในเชียงใหม่ในตอนนี้บ้าง

นล: ปีนี้รุ่นใหม่ ๆ เหมือนจะไม่ค่อยมีเนาะ เงียบมากเลย ปีนี้เหมือนจะมีรุ่นแก่ ๆ อย่าง สุเทพการบันเทิง Chiang Mai Blues ที่เล่นบลูส์มานานหลายปีละ ก็ทำอัลบั้มกำลังจะออก

ชา: ถ้ามองโดยรวม กระแสทั้งประเทศเราในปีกว่าที่ผ่านมาสายโฟล์กกำลังมาแรงและเหนียวแน่นมาก มีเทศกาลเยอะมาก เชียงใหม่เองก็มีตัวแทนชาวโฟล์กเยอะมาก แต่ที่ออกอัลบั้มไม่ค่อยมี แต่ชอบซีนของปีที่ผ่านมาอย่าง คลีโพ ที่ไม่ใช่แค่ดนตรี แต่เอาวัฒนธรรม เอาตัวตนมาพรีเซนต์ และมันเข้าถึงคนได้ง่าย สามารถไปอยู่บนเวทีระดับประเทศได้หลาย ๆ เวที ถ้าให้พี่มองว่าปีนี้ทำไมเงียบ ๆ พี่ว่ามันเป็นไปด้วยมวลของอารมณ์ความรู้สึกรวมของคนทั้งประเทศ อย่างเศรษฐกิจไม่ดี อะไรหลาย ๆ อย่างมันไม่ค่อยมีความสุข ฟิลมันออกไปทางการหนีโลกความจริง มันเลยไปทางอินดี้โฟล์ก พาตัวเองไปผ่อนคลาย ดนตรีประมาณนั้นอ่ะ มันเลยออกมารับใช้คนเยอะหน่อย แม้แต่ศิลปินที่ทำเพลงโฟล์กก็จะไม่ไปพูดเรื่องความซับซ้อนของการ arrange ดนตรี อาจจะเพราะคนมันเบื่อสังคมตอนนี้อยู่ อยากจะทำอะไรง่าย ๆ ทั้งคนเล่นคนฟัง น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่พี่เชื่อว่าหลาย ๆ วงกำลังทำงานและรอจังหวะกันอยู่ เพราะมันเกี่ยวข้องกันหมดทั้งสังคมและการเมืองอย่างสุเทพการบันเทิงก็เหมือนกัน ชุดรวมฮิตนี่ก็ตั้งใจจะไร้สาระ บันเทิงอย่างเดียว ทั้งที่จริง ๆ อาจจะอยากแต่งเพลงที่มีสาระก็ได้ แต่ปล่อยออกมาตอนนี้ก็อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่

ฝากอะไรถึงแฟน ๆ ในฟังใจซักหน่อย

ชา: ซื้อซีดีสิครับ สั่งซื้อทางเพจได้เลย ถ้าอยากได้น้ำพริกหนุ่มก็แถมใส่ไปให้ด้วยก็ได้ (หัวเราะ) และถ้าฟังใจมีงานอย่างเห็ดสดก็ฝากวงเราไปเล่นด้วยครับ

ฟังเพลงของสุเทพการบันเทิงบนฟังใจได้ที่ https://www.fungjai.com/artists/suthep-entertainment ติดตามสุเทพการบันเทิงได้ที่ https://www.facebook.com/suthepentertainment/

 

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี