Article Interview

บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัยลงในคอร์ด กับบทเพลงของ วงสามัญชน

  • Writer: Piyakul Phusri
  • Photographer: Chavit Mayot

ถ้าจะถามว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ คืออะไร คำตอบอาจจะเป็นไปได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าจะเอาคำถามนี้ไปถามใคร บางคนอาจจะตอบเป็นชื่อวงเพื่อชีวิตระดับค้างฟ้าที่มีอยู่ไม่กี่วงในประเทศนี้ บางคนอาจจะตอบว่าเป็นเพลงอะไรก็ได้ที่ต้องโจ๊ะ ๆ มีกลิ่นอายลูกทุ่งซักหน่อย ในขณะที่บางคนอาจจะตอบว่า ต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาพูดถึงการต่อสู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะคนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องปากกัดตีนถีบ ฯลฯ

คงไม่มีคำตอบไหนถูกต้องที่สุด แต่เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเพื่อชีวิตแนวโฟล์กร็อก ลูกทุ่ง หรืออะไรก็ตาม แต่เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถบันทึกสภาพสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน โดดเด่น รวมไปถึงบันทึกความรู้สึกของนักแต่งเพลง หรือนักดนตรีที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น ๆ ไว้อย่างลึกซึ้ง

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงสามัญชน คือวงดนตรีที่เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมจากต่างภูมิลำเนา และมีการเติบโตทางความคิดจากการทำกิจกรรมทางสังคมการเมืองร่วมกัน ชวนให้เรานึกไปถึงจุดกำเนิดของวงดนตรีเพื่อชีวิตยุคก่อน ๆ ที่บ่มเพาะความคิดของตนเองจากการทำกิจกรรมร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การยึดมั่นในแนวคิดและต่อสู้อุดมการณ์บางอย่าง ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นบทเพลงเพื่อบอกเล่าถึงสภาพสังคม ความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความปรารถนาที่จะเห็นพลังทางสังคมจากภาคประชาชน

น่าสนใจว่าเพลงของ วงสามัญชน ไม่ได้พูดถึงการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง หรือการหาญหักกันด้วยกำลังระหว่างมวลชนกับฝ่ายผู้มีอำนาจตามอย่างขนบเพลงเพื่อชีวิตไทยยุคบุกเบิก แต่เพลงของสามัญชนพูดถึงความหวัง กำลังใจ ความคิดคำนึงถึงมิตรสหายนักกิจกรรม โดยใช้ทั้งภาษาและคอร์ดที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจและกระแสแห่งความคิดที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างตัวโน้ต

นี่คือบทสนทนาระหว่าง Fungjaizine กับ วงสามัญชน ในบ่ายวันศุกร์ที่กรุงเทพ ฯ มีฝนตกหนักจนประชาชนคนกรุงนับแสนถูกขังไว้บนถนนที่รถทุกชนิดจอดติดเครื่องอย่างนิ่งสงบเท่าเทียมกัน

img_6050

สมาชิก
แก้วใส—ณัฐพงษ์ ภูแก้ว (กีตาร์, ร้อง)
เจ—ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ (กีตาร์, ร้อง)
ไผ่—จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (พิณ)

เริ่มฟอร์มวงกันตั้งแต่เมื่อไหร่

เจตั้งแต่ปี 2557 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร เราไม่ถึงกับเป็นนักดนตรีอาชีพ แค่เคยหากินด้วยดนตรีอยู่บ้าง เมื่อก่อนก็เล่นในร้านอาหาร พวกเพลงโฟล์กซองเบา ๆ กับกีตาร์ตัวเดียว

แก้วใสส่วนผมไม่เคยเล่นดนตรีกลางคืนครับ

สมาชิกแต่ละคนมารู้จักกันได้ยังไง

เจเราเป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกันผ่านค่ายเรียนรู้ปัญหาสังคม จริง ๆ ก็อยู่คนละกลุ่ม คนละภาค แต่ก็มารู้จักกันเพราะนักกิจกรรมค่อนข้างจะมารวมตัวกันบ่อย พอมาเจอกันก็มีการเล่นดนตรี แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เลยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน และได้ลองแต่งเพลงร่วมกัน ขึ้นเล่นดนตรีด้วยกัน ตอนแรกก็ไม่ถึงกับเรียกตัวเองว่าเป็นวงดนตรี แต่พอขึ้นเวทีไปแล้วมันก็ต้องมีชื่อวง เลยทำให้มีวงตามมา (หัวเราะ)

แต่ละคนเรียนจบจากที่ไหนกันมา

แก้วใสผมเคยเรียนพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่เรียนไม่จบ เจ จบกายภาพบำบัดจากมหิดล ส่วน ไผ่ เพิ่งจะเรียนจบนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น

วงสามัญชนเป็นวงดนตรีแนวไหน

เจเราคุยกันว่าเราเป็นวงเพื่อชีวิตยุคใหม่ แต่คำว่าเพื่อชีวิตมันดันไม่ใช่แนวเพลง เลยเป็นคำถามที่ตอบยากว่าแนวเพลงอะไร และการทำเพลงของเรามีทีมที่เข้ามามีส่วนร่วมเยอะ อย่างมือกีตาร์ของวง อมตะ ซึ่งเป็นวง progressive rock ก็เข้ามาช่วยเรียบเรียงดนตรีให้ แต่โดยเนื้อตัวเราจริง ๆ ก็คงเป็นโฟล์กแหละครับ เพราะเราร้องเพลง แต่งเพลงด้วยกีตาร์ตัวเดียว แต่ก็ค้นหากันไปเรื่อย ๆ ไม่อยากผูกมัดตัวเองเร็วนัก

แก้วใสเพลงของเราถูกใช้ในหลายพื้นที่ หลายสถานการณ์ ถ้าเราไปเล่นให้พี่น้องชาวบ้านฟัง ก็จะมีเพลงอีกส่วนที่มีกลิ่นอายอีกแบบหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเล่นนอกเหนือจากเพลงที่เราเอามาลงใน ฟังใจ  อย่างถ้าเราไปเล่นแถบอีสานก็จะมีกลิ่นอายของดนตรีอีสาน

ตอนนี้มีเพลงออกมากี่เพลง

เจที่อัดเสียงและเรียบเรียงแล้วมีสี่เพลง กำลังทำอยู่เพลงนึง จริง ๆ ก็มีอีกหลายเพลงที่เราไปเล่นตามงานต่าง ๆ และยังไม่ได้บันทึกเสียง เราแต่งเพลงกันเรื่อย ๆ วันไหนนั่งเคลิ้ม ๆ หน้าบ้านก็แต่งเพลงใหม่ เรื่องอัดเพลงเราจะทำร่วมกับ Triple H Music ที่เป็นค่ายของเรา ก็ช่วยกันเลือกว่าถ้าจะอัดเพลงที่เราเคยเล่นเพื่อทำซีดีขายตามงานกิจกรรม เราก็คัดเพลงที่เวลาไปเล่นตามกิจกรรมทางการเมืองแล้วมีแฟนเพลงของเราพอติดหูหรือเขาร้องตามได้บ้าง

แก้วใสบางเพลงเราแต่งไว้แล้วก็คิดว่าน่าจะใช้มันกับสถานการณ์แบบนี้ แต่มันยังไม่ถึงเวลา หรือยังไม่มีสถานการณ์ที่เราจะใช้เพลงนั้นให้เหมาะ เราก็ยังไม่ได้ปล่อย ไม่ได้ทำก็มี เราอ่านกลุ่มคนฟังรวมเข้ากับสถานการณ์ เหมือนเพลง บทเพลงของสามัญชน ทำไมฟังแล้วติดหู และเกิดการร้องต่อ เพราะเพลงมันอยู่ในช่วงที่มัน match กับสถานการณ์ และคนฟัง (สืบเนื่องจากสถานการณ์การจับกุมแกนนำนักศึกษา นักคิด นักกิจกรรม ที่ต่อต้านรัฐบาลหลังเกิดเหตุรัฐประหาร 2557)

แสดงว่าวงสามัญชนค่อนข้างให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่อินกับเพลงนั้น ๆ

เจใช่ครับ บางเพลงเราอธิบายสถานการณ์บางสถานการณ์ที่เราก็รู้ว่าในประเทศนี้มันไม่ได้อินกันทุกคนหรอก บางเรื่องก็เลยต้องสื่อสารกับกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะพอสมควร แต่เราก็พยายามแต่งเนื้อให้มันคุยกับทุกคนได้แหละครับ แล้วค่อยให้เขาค้นหาความหมายที่มันซ่อนอยู่ พยายามอยากทำแบบรุ่นใหญ่ พยายามจะซ่อนอะไรเท่ ๆ แต่ยังไม่สำเร็จ (หัวเราะ)

เพลงของวงสามัญชนยังไม่มี digital download นอกจากให้ฟังฟรีบน ฟังใจ  YouTube กับซื้อซีดีตามงานกิจกรรม แล้วแบบนี้วงจะสร้างรายได้จากเพลงของตัวเองได้ยังไง

เจเราไม่เคยคิดเลยครับว่าจะหารายได้จากมันยังไง

แก้วใสมันเริ่มมาจากการที่เราทำเพราะอยากทำ และเราเห็นว่าเราควรจะทำ เบื้องต้นเราไม่เคยคิดว่าจะหาเงินจากตรงนี้ เพราะเราอยากเผยแพร่วิธีคิดออกไปสู่คนอื่น ๆ แต่ถามว่าเคยคิดอยากได้ตังค์จากตรงนี้มั้ย มันก็เคยคิด เพราะต้องยอมรับว่ามันก็ใช้ทุนในการทำ ถ้าเราใช้ทุนหมดไป เราจะทำอะไรต่อได้ถ้ามันไม่มีทุนมาสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะได้กำไรร่ำรวย ขอแค่ได้เงินกลับมาทำงานแบบนี้เพื่อขยายมันออกไปอีก

แบบนี้รายได้หลักของวงก็มาจากการแสดงสดตามงานกิจกรรมต่าง ๆ หรือเปล่า

เจส่วนใหญ่ได้น้อยมาก

แก้วใสถ้าเขาว่าบอก ‘เฮ้ย สามัญชน มาเล่นให้หน่อย’ เราก็รับปากว่าไปไว้ก่อน จะได้เงินหรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง บางทีคนจัดเขาก็เลี้ยงข้าว บางทีก็ได้ค่ารถ บางทีเจ้าภาพเขามีตังค์เขาก็ให้มา คือเราไม่ได้อยู่ในระบบที่ซื้อขายงานกันแบบนั้น เราไปเล่นตามงานกิจกรรมทางสังคมการเมืองเป็นปกติของเรา

พอจะพูดได้ไหมว่านักกิจกรรมชอบทำเพลงเอามันไว้ก่อน

เจก็ได้นะ เราทำเอามันไว้ก่อน เล่นให้เพื่อนฟัง กรอกหูมันจนมันร้องตามและเอาไปใช้ต่อ ซึ่งต้องให้เครดิตกับ Triple H ว่าเป็นค่ายเพลงที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากทำเพลงเพื่อสื่อสารกับสังคมมารวมตัวกัน และเกิดเป็นชุมชนที่แลกเปลี่ยนความคิดกัน ซึ่งชุมชนแบบนี้มันทำให้เราตั้งคำถาม และท้าทายเราว่ามันจะมีเพลงไหนที่เป็นเพลงของยุคสมัยของเรา จะมีเพลงไหนที่สื่อสารถึงประวัติศาสตร์ และบันทึกข้อความในช่วงนี้ ประกอบกับช่วงนั้น (ช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องจนถึงการรัฐประหาร 2557) ศิลปินรุ่นใหญ่ในวงการเพื่อชีวิตก็ถูกตั้งคำถามเยอะเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง ถึงกับเลิกร้องเพลงกันไปมากมาย เราก็ตรวจสอบตัวเองว่าแล้วเราจะทำอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เพลงเขาเราก็ไม่อยากร้อง เพลงใหม่ ๆ ก็ไม่มี งั้นกูทำเพลงเองก็ได้วะ

img_6062

คงปฏิเสธไม่ได้ว่านักกิจกรรม หรือเด็กค่าย ส่วนใหญ่คงเติบโตมาจากการฟัง และเล่นเพลงเพื่อชีวิตสไตล์ซ้าย ๆ ยุคคนเดือนตุลา พอถึงตอนนี้วงรู้สึกว่าเพลงเหล่านั้นมันไม่ตอบโจทย์กับสังคมปัจจุบัน หรือมันเชยไปแล้วหรือเปล่า

เจไม่นะ ผมยังร้องมันได้ แต่ว่าการผลิตซ้ำมันก็เป็นอำนาจแบบหนึ่ง เวลาที่เราให้ความชอบธรรมกับบางเพลง ก็แสดงว่าเรากำลังให้ความชอบธรรมกับอำนาจที่อยู่ใน message ในเพลงนั้น และมันไม่ใช่แค่สนับสนุน message ของเพลง มันยังเป็นการสนับสนุนตัวศิลปินด้วย มันเป็นเรื่องที่ทับซ้อนกันและแยกไม่ออก เวลาเราจะปาร์ตี้ เล่นเพลงกันขำ ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่เวลาเราขึ้นเวที เราก็จะระแวดระวังกับการใช้งานเพลงเหล่านั้น

แก้วใสไม่ได้บอกว่าเพลงสมัยก่อนมันไม่ตอบโจทย์หรือเชยซะทีเดียว เพราะคนในยุคนี้บางกลุ่มก็ยังฟังและใช้งานมันอยู่ แต่เราไม่ได้ฟังแค่เพลง เราถามถึงชุดความคิดและอุดมการณ์ที่มันฝังอยู่ในเพลง ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ชุดความคิดตอนนี้ผมก็ไม่ใช้ ถ้าเราสังเกตว่าทำไมสมัยก่อนเพลงพวกนี้ถึงดัง เพราะมันตอบโจทย์กับบริบทสังคมในตอนนั้น แต่ปัจจุบันมันเป็นเพลงที่เล่นกันในผับในร้าน แล้วมันเป็นเพลงที่ตอบโจทย์การทำงานด้านสังคมได้จริงหรือ หลายคนที่เคยคิดเคยเชื่อแบบนั้น ปัจจุบันเขาคิดยังไง มันเห็นนัยยะว่าทำไมเพลงที่มันเคยมีคุณค่าแต่ทำไมปัจจุบันมันเสื่อมลง ในขณะที่การทำงานด้านสังคมมันยังต้องเคลื่อนต่อไป แล้วเราจะหยิบเพลงที่เราคิดว่ามันเสื่อมลงมาขับเคลื่อนในบริบททางสังคมที่มันเข้มข้นตอนนี้ได้อย่างไม่กระดากใจได้ยังไง เราเลยรู้สึกว่าเราต้องผลิตเพลงกันใหม่แล้วล่ะ

เจคนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบนั้นแรง ๆ แล้ววันหนึ่งเขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น เราก็เริ่มตั้งคำถามที่จะใช้เพลงเหล่านั้นแหละครับ เลยทำเพลงของเราขึ้นมา แต่เราก็ไม่กล้าหาญพอที่จะบอกว่ามันตอบสนองสังคมหรือเปล่า ผมคิดว่าคนที่จะตอบคำถามนี้คือคนฟังที่จะตรวจสอบเรา วันหนึ่งเราอาจจะเป็นแบบเดียวกับพวกรุ่นใหญ่ก็ได้ที่หลุดจากวิธีคิดเดิมแล้วโดนรุ่นเด็กด่า

แก้วใสหรือรุ่นใหญ่เขาไม่เคยคิดอย่างนี้ตั้งแต่ต้น แต่เราไปคาดหวังกับเขาเองมากกว่า (หัวเราะ)

เพลงของวงสามัญชนมีเนื้อหาที่พูดถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม การตั้งคำถามกับสังคม และการต่อสู้… วงกำลังต่อสู้กับอะไร

เจก็แล้วแต่เพลงนะครับ อย่างบทเพลงของสามัญชน มันต่อสู้กับบรรยากาศของความหวาดกลัวที่ปกคลุมอยู่ในช่วงที่มีคนโดนจับบ่อย ๆ เราจะพาคนทะลุความกลัวช่วงนั้นออกไปยังไง ส่วนเพลง ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ มันคือภาวะที่เราดึงความรู้สึกของเพื่อน ความรัก ความห่วงใย เข้าสู่บรรยากาศของการต่อสู้ เพราะหลายครั้งที่เราคุยเรื่องการต่อสู้ เรานึกถึงภาพการฟาดฟันปะทะสังสรรค์ทางอุดมการณ์ ซึ่งความรู้สึกมันหายไปจากเรื่องราว แต่เราเชื่อว่าความรู้สึกคือสิ่งที่ขับเคลื่อนทุกอย่าง แม้แต่เพลง วังวน ก็ทำงานกับความรู้สึก ความกลัว เรื่องราวที่มันหมุนวนกลับมา สถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ คนกำลังต้องการกำลังใจ เพลงส่วนใหญ่เลยเป็นการให้กำลังใจคนที่ทำงานด้านสังคม เพราะตอนนี้เขากลายเป็นผู้ร้าย เป็นคนสร้างความไม่สงบไปเสียแล้ว

แก้วใสอย่างเพลง ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ มันเป็นการต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองว่า กูจะทำให้สังคมมันดีขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งกูถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย ถูกเบียดขับออกไปจากประเทศนี้ ไม่ได้เจอหน้าคนรัก ไม่ได้เจอหน้าครอบครัว ต้องอยู่อย่างลำบาก ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง มันก็ไม่แปลกหากจะคิดถึงบ้าน เราเห็นเพื่อนคนที่ทำแบบนั้น บางคนก็ติดคุก บางคนก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมาด้วยความคิดถึงกัน ถ้าเทียบกับเพลง เดือนเพ็ญ ผมก็นึกภาพ นายผี–อัศนี พลจันทร ที่ต้องลี้ภัยไปฝั่งลาว มองข้ามฝั่งโขงแล้วคิดถึงเมียที่ชื่อ ป้าลม และก็อยากส่งความคิดถึงไปให้คนในประเทศ ให้คนในครอบครัว

แล้วทางวง balance ระหว่างเนื้อหาหนัก ๆ กับคนฟังที่อยากฟังเพลงเพื่อความบันเทิงยังไง

เจเป็นสิ่งที่เรายังทำได้ไม่ดีครับ แต่เราเลือกใช้คำง่าย ๆ คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พยายามลดคำใหญ่คำโต ความไพเราะภาคดนตรีเราก็พยายามดึงเพื่อน ๆ มาช่วย backup เพราะเรื่องทักษะทางดนตรีของเราถือว่ายังไก่กาเมื่อเทียบกับนักดนตรีทั่วไป

แก้วใสเพลงของเรามันจะทำให้คนชอบกระแสหลักมาชอบยาก เพราะอย่างที่เจบอกว่าเราไม่เก่งเรื่องดนตรี เราฟังเพลงของศิลปินใน ฟังใจ หลาย ๆ เพลงแล้วก็รู้สึกว่า ‘ไอ้เหี้ย ทำไมมันทำได้วะ’ รู้สึกว่าเขามีไอเดียทางดนตรี และมีเนื้อหาซ่อนอยู่ ซึ่งเรายัง balance ได้ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ เราจะคิดเรื่องเนื้อหา และการสื่อสารมากกว่า

เจอีกเรื่องหนึ่งคือเพลงที่ร้องในการจัดกิจกรรมทางการเมือง คำร้องมันต้องสั้น เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมบางเพลง อย่างเช่น เราคือเพื่อนกัน เนื้อหามันนิดเดียว และเนื้อมันต้องซ้ำ เพราะฟังก์ชันของมันคือการร้องในกิจกรรมทางการเมือง เลยต้องทำให้มันง่ายที่สุดแต่ได้อารมณ์ คือคุณจะไปสอนให้คนที่มาร่วมกิจกรรมทางการเมืองวัย 40-50 ร้องอะไรเร็ว ๆ รัว ๆ เขาจะไม่อิน ในขณะที่เรามีหน้าที่ต้องโอบทุกช่วงวัยเข้าด้วยกัน เลยเป็นเรื่องที่ยากอยู่ครับ แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นที่เสพเพลงเรา เอาเพลงเราไปเปิดไปใช้ในค่ายอยู่ครับ

img_6042

อุปสรรคในการทำและเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองในประเทศไทยในตอนนี้คืออะไร

เจมันก็หลายระดับครับ ทั้งเรื่องบรรยากาศทางการเมืองที่ยากกับการพูดอะไรตรง ๆ เพลงเสียดสีสังคมแม้แต่วงใหม่ ๆ ก็น้อยมากที่จะกล้าเสียดสีถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจ แตะขอบได้มากสุดก็ตำรวจ นักการเมือง นายทุน แต่ยั้ง ๆ มือที่จะไปไกลกว่านี้ ที่เห็นโดดเด่นขึ้นมาหน่อยก็ mv เพลง เผด็จเกิร์ล ของ Tattoo Colour อันนี้ฉลาดมาก ขอชื่นชมเลย เรื่องต่อมาคือช่องทางในการเผยแพร่ เพลงคนอื่นอาจจะมีช่องทางเผยแพร่ที่หลากหลาย แต่เพลงของเราส่วนใหญ่จะเผยแพร่ตามการจัดกิจกรรมทางสังคมการเมืองและในค่ายกิจกรรม ซึ่งมันมีอุปสรรคเฉพาะหน้าและช่องทางเผยแพร่มันแคบกว่า อีกเรื่องก็คือฝีมือเราเองที่เป็นอุปสรรคใหญ่ (หัวเราะ) และการจัดการเวลาของเราเองด้วย เพราะผมก็มีครอบครัวแล้ว

แก้วใสเรื่องทุน แรงสนับสนุน การเข้าถึงโอกาสของคนที่จะสามารถโปรโมทเราได้ ผมมองว่าบางครั้งเพลงของเราอาจจะอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กับสมัยก่อนที่เพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองมันไม่มีทางไปอยู่บนค่ายใหญ่ ๆ ได้ เพราะมันเป็นเพลงที่อยู่กับงานเคลื่อนไหว งานการเมือง งานชาวบ้าน มันเหมือนเพลงใต้ดินที่ถูกห้ามร้องด้วยซ้ำ แต่พอถึงยุคหนึ่ง เพลงพวกนี้มันก็กลับมาอยู่กับค่ายเพลง คือสถานการณ์มันยังไม่เอื้อกับการได้รับการเผยแพร่ มันมีคนพยายามทำเพลงแหย่อำนาจรัฐ อย่างเพลงแร็ป เพลงเมทัลใต้ดิน แล้วถามว่าเพลงพวกนี้มันดังได้แค่ไหน มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายในการใช้ชีวิตสำหรับการทำเพลงแบบนี้

เจ: ถึงในแง่หนึ่งถึงเราจะออกตัวบ่อย ๆ ว่าฝีมือทางดนตรีของเราไม่ถึงขั้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เรารักจริง ๆ เราจับกีตาร์ และแต่งเพลงได้ทุกวัน 5-6 ปีมานี้เราแต่งเพลงใหม่กันได้ตลอด จดบ้าง ไม่จดบ้าง ลืมบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีเป็นหนทางหนึ่งในการปลดปล่อยความรู้สึกของเราอย่างแน่นอน ซึ่งผมไม่ได้กำหนดโครง คอร์ด หรือ เนื้อก่อนแต่งเพลง มันมาพร้อมกัน ซึ่งเพื่อน ๆ หลายคนบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่งแบบอื่นไม่เป็น และไม่ค่อยจดเนื้อเพลง ต้องให้เครดิตพี่ในค่ายเลยว่าทุกเพลงที่อัดกันขึ้นมาได้เพราะพี่เขาเป็นคนหยิบกระดาษมาจดเนื้อ ถ้าไม่จดเราจะไม่มีเพลงอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

อยากให้ฝากอะไรไปถึงคนฟังเพลงของวงสามัญชนหน่อย

เจอยากให้ลองเปิดใจฟังเพลงของพวกเราดูนะครับ ลองสำรวจสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ต่อให้มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันหรือไม่ตรงกัน ผมคิดว่าดนตรีก็ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเราได้ ถ้าไม่เห็นด้วย อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักกันมากขึ้น ถ้าเห็นด้วย ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะได้ร้องเพลงพวกนี้ด้วยกัน

แก้วใสเพลงของเราไม่ใช่เพลงรักกระแสหลักแน่นอน ผมเชื่อว่าคนฟัง ฟังใจ ส่วนหนึ่งก็หันเหจากการฟังเพลงกระแสหลักมาฟังดนตรีทางเลือก ทั้งเชิงเนื้อหาและสไตล์ดนตรี ของเราเนี่ย สไตล์ดนตรีไม่รู้ยังไง แต่เรามีเนื้อหาที่ถอดมาจากการทำงานจริง ๆ และถ่ายทอดมันออกมา อยากให้คนอื่นได้ฟังวิธีคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ของเรา มันไม่ได้บอกว่าปลายทางสุดท้ายคืออะไร แต่ในเพลงของเราพวกเราตั้งคำถามกับตัวเอง กับสังคม ถ่ายทอดชุดประสบการณ์ บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มันเป็นอยู่ปัจจุบันในยุคของเรา ถ้าเพลงของเรามันเข้าไปถึงจิตใจคุณได้ และคุณคิดตั้งคำถามกับตัวเองได้ แค่นั้นผมก็รู้สึกโอเคมาก ๆ และขอบคุณที่ฟังเพลงของพวกเรา

เจอีกเรื่องหนึ่งคือ ฝากผู้ฟังเพลงใน ฟังใจ และผู้อ่าน Fungjaizine ลองมาทำความรู้จักกับ ไผ่ สมาชิกอีกคนของพวกเราที่ไม่ได้นั่งให้สัมภาษณ์อยู่ตรงนี้ ว่าเขาโดนคดีอะไร และอยู่ในสถานการณ์แบบไหน

สุดท้ายแล้ว ‘สามัญชน’ คือใคร

เจผมตอบตรงไปตรงมาเลยนะ อย่างไรก็ตาม พี่ไม่มีทางเอาไปเขียนได้ (หัวเราะ) มันคือความหมายเดียวกับคำว่า commoner น่ะครับ ลองไป google กันดู

แก้วใสสามัญชน คือ คนที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ที่บังเอิญเล่นกีตาร์เป็น

img_6057

 

ฟังเพลงของ วงสามัญชน ได้แล้วที่ ฟังใจ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ วงสามัญชน ได้ ที่นี่

 

*หมายเหตุ – ปัจจุบัน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน สมาชิกอีกคนหนึ่งของวงสามัญชน ถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังจากเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไผ่ เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่เคยทำงานเรียกร้องสิทธิร่วมกับภาคประชาชนในหลายพื้นที่ โดยได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 จัดโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ประเทศเกาหลีใต้ และเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้ต่อจากนางอังคณา นีละไพจิตร ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2549

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี