Article Interview

เมื่อเหล่านกน้อยได้รังใหม่ Tilly Birds บอกเล่าประสบการณ์สุดมันใน Band Lab

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Jiratchaya Pattarathumrong

การเปิดตัวค่าย Gene Lab ของ โอม Cocktail สร้างแรงกระเพื่อมในวงการเพลงได้ค่อนข้างมาก ด้วยผู้บริหารก็เป็นคนดนตรีที่โลดแล่นอยู่ในวงการมาหลายสิบปีแถมมีเพลงคุณภาพมากมายที่หลายคนร้องตามได้ รวมถึงวิธีการรับศิลปินหน้าใหม่เข้ามาอยู่ในค่ายก็แหวกแนวไม่เหมือนใครด้วยการเวิร์กช็อปแบบรวบรัดผ่านรายการ ‘Band Lab’ ที่ย่นย่อประสบการณ์ทำงานหลายปีให้เหลือแค่โจทย์การทำงานมีคุณภาพแบบศิลปินมืออาชีพใน 13 ตอน

และวันนี้ Fungjaizine อยู่กับ Tilly Birds หนึ่งในศิลปินหน้าใหม่ของค่าย Gene Lab และเป็นวงที่มีเงินสะสมเยอะที่สุดในรายการ ที่กว่าจะฝ่าฟันโจทย์ทั้ง 13 ข้อมาได้ต้องใช้พยายามแค่ไหน แถมมีดราม่าที่ทำให้เราฟังเพลง จากกันด้วยดี ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทำไมถึงมาสมัคร Band Lab

บิลลี่: เห็นว่ามันน่าสนใจดีครับ แล้วลึก ๆ พวกเราก็อยากมีค่ายอยู่แล้ว ที่ไม่เคยมีมาตลอดเพราะว่ากลัว แล้วก็ไม่มั่นใจว่าคนที่เข้ามาจะเป็นจะเป็นคนที่เราอยากทำงานด้วยจริงหรือเปล่า กลัววิธีคิดวิธีการทำงานที่เขาเป็นอยู่กับที่เราเป็นอยู่จะไม่ตรงกัน แล้วที่นี้พอเข้ามาสมัคร ได้ศึกษาเขาเบื้องต้นได้ดูไลฟ์ที่พี่โอมพูดก่อนว่าคืออะไร ได้ฟังแนวคิด แล้วส่วนตัวรู้จักกับพี่ภีม​ซึ่งรู้จักกับพี่โอม เลยมีความซุบซิบคุยกันลับ ๆ ได้ พอรู้ว่าเขาเป็นคนที่น่าสนใจและมีความคิดที่เหมาะกับพวกเรา ก็เลยมาบอกเติ๊ดกับไมโล ก็ชอบกันมาก ๆ

ไมโล: มันเป็นเรื่องที่ประมาณว่า วงดนตรีเรารู้สึกว่า มีความอยากจะสร้างสิ่งริเริ่มบางอย่างในวงการบ้านเราด้วย คือถ้าพูดถึง music industry ในไทย เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นศิลปินแบบเเมสหรือเป็นเพลงอินดี้อยู่ ซึ่งเป็นขั้นบันไดที่ห่าง เป็นสองช่วงที่มันมีอะไรมาคั่นกลางเยอะอยู่ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเกิดตรงนั้น แล้วตัววงเราเองก็อยากทำให้กำแพงที่กั้นระหว่างคนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยค่อย ๆ เจือจางไป ค่ายนี้เกิดขึ้นมาใหม่ มันเลยเหมือนเป็นการริเริ่มอะไรบางอย่างด้วยกัน ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์ด้วยครับ พอได้เข้าไปอยู่ในค่ายแล้วอีก 5 วงก็จะเหมือนกลายเป็นเพื่อน เหมือนเราสมัครเข้ามหาลัยใหม่ แล้วทุกคนเป็นเฟรชชี่กันหมด ไม่มีรุ่นพี่ในคณะด้วยซ้ำ เพราะเป็นคณะเปิดใหม่ ทุกวงเลยเหมือนเป็นเพื่อนกันหมดเลย แม้จะมีวงที่แบบอายุขึ้นเลข 30 เเล้วก็ตาม ก็ยังรู้สึกเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกัน สนิทกันมาก สมมติเราเข้าไปอยู่ Genie เราคงไม่รู้จะวางตัวยังไงถ้าเจอแบบพี่ตูนงี้ เราเลยรู้สึกว่าตรงนี้โอเคมากครับ

เเล้วพอไปเจอพี่โอมจริง ๆ แล้ว พี่โอมเป็นยังไง

เติ๊ด: พี่โอมบอกว่าเขาจำลองประสบการณ์ของเขาในฐานะคนดนตรี เช่นเดียวกับพี่อู๋ The Yers พี่หนุ่ม Kala แล้วก็พี่เจ๋ง Big Ass (FJZ: ก็คือศิลปินที่มาถูกเชิญเป็นโค้ชในโครงการนี้) ครับ ส่วนตัวรู้สึกพี่โอมเป็นคนที่มีความเป็นผู้นำสูงมาก ๆ ก็คอยไกด์คอยดูแลพวกเราตลอด ว่าต้องเดินยังไงนะ ต้องไปทางไหน เขาช่วยพวกเราหาตัวตน

บิลลี่: ก็เหมือนที่พวกเราศึกษาเขามาว่าเป็นยังไง พอเจอตัวจริงก็เป็นอย่างงั้น แต่อาจจะมีบางอย่างที่ไม่เหมือนที่เราคาดไว้ เช่นพอเขาเป็นกันเองขึ้น เล่นตลกขึ้น เราก็แบบพี่มาแบบนี้เลยหรอวะ ตามมุขเขาไม่ทัน นี่พี่เล่นอยู่ใช่ไหมครับ นึกว่าพี่จริงจังอยู่ (หัวเราะ) บางครั้งก็จะเป็นโหมดนี้บ้าง เพราะเรารู้สึกว่าพี่เขาจริงจังตลอด จากการศึกษามาในตอนเลือกค่าย

หลังจากที่ทำเพลงมาตลอดโดยที่ไม่มีค่าย พอได้มาทำงานกับค่ายที่มีมืออาชีพเยอะ ๆ มันแตกต่างอย่างไรบ้าง

ไมโล: ค่ายนี้จริง ๆ ถือว่าเป็นค่ายเปิดใหม่ อย่างที่บอกครับ ตัวโครงสร้างตัวบุคลากรมันเลยไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ไม่ได้เป็นออฟฟิศ นั่งกันเป็นร้อยคนอะไรขนาดนั้นครับ แค่จะเป็นผู้บริหารลงมาทำเอง (บิลลี่: ทำเองหมดเลย (หัวเราะ)) มันก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้ต่างจากเวลาที่เราทำกันเองขนาดนั้น แต่พวกผู้บริหารและพวกผู้ใหญ่ก็ช่วยได้เยอะมากเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแนะนำทางหรือคอนเน็กชัน เรารู้สึกว่าคอนเน็กชันเราเปลี่ยนไปเมื่อมีนามสกุลบางอย่างจากการรู้จักคน ๆ นี้ รู้สึกว่ามันเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยกลาย ๆ ด้วย ซึ่งทำให้พวกเราแบ่งเบาภาระจากที่ต้องทำกันเองหมด ก็อาจจะมีหกมือ แต่ตอนนี้มีมือของผู้บริหารมาช่วยอีก เป็นสิบเป็นสิบสอง มันก็เพียงพอและช่วยเราได้มากเลยครับ

ในรายการ Band Lab พวกเราต้องแต่งเพลง จากกันด้วยดี ตั้งแต่เทปที่สองเลย อยากรู้ว่ามีเคล็ดลับอะไรในการแต่งเพลงได้ในสามวัน

ไมโล: เอาจริง ๆ แล้วมันคือภายในวันเดียว สามชั่วโมง เพราะพวกเราไม่ว่างมาเจอกันเลย

บิลลี่: คือวันแรกและวันที่คือพวกเราไม่ว่างเจอกันเลยครับ เลยได้วันที่สองซึ่งก็สองทุ่มแล้ว เเล้วเราต้องส่งเพลงภายในเที่ยงคืน

เติ๊ด: เหมือนต้องปั่น ซึ่งเวลามันก็กระตุ้นให้พวกเราเขียนออกมาจนได้ ได้เดโม่มาตอนนั้น (ไมโล: ให้มันทันก่อนเดตไลน์ (หัวเราะ)) จริง ๆ ต้องขอบคุณโจทย์เลยนะ ไม่งั้นตอนนี้ก็ไม่มีเพลงใหม่หรอก

บิลลี่: คือเจอกันสองทุ่ม กว่าจะมีสติกันก็สามทุ่ม ตอนมาก็แบบ ‘จะแต่งอะไรกันวะ ไม่มีอะไรเลย’

เติ๊ด: ยิ่งแบบว่า เฮ้ย เดียวไม่ทันละ เอางี้เขียนไปก่อน

บิลลี่: เขาต้องถ่ายพวกเราอีกยิ่งกดดันไปอีก

ไมโล: ตอนที่ทีมถ่ายทำมาที่บ้านบิลลี่ก็มีความแบบ ยุ่ง ๆ อีกนิดหนึ่ง (บิลลี่: ชั่วโมงนั้นเลยหายไปฟรี ๆ แต่พอเขาไปปุ๊ป ก็เริ่มมานะ แต่มันเรื่องจริงนะพี่) ไม่อยากพูดให้เขาน้อยใจเลย พี่เขาเล่นเอากล้องเอาไฟมาตั้งในห้องบิลลี่ เลยวุ่น ๆ

เติ๊ด: คือเราก็ต้องทำให้เขารู้ว่าเราแต่งเพลงกันยังไง จะได้ไปใส่ในรายการ

บิลลี่: จริง ๆ มันแอบเป็นช่วงเวลาที่ส่วนตัวเหมือนกันนะ มันต้องมานั่งคุยว่ามันจะอะไร เป็นยังไง พอออกหน้ากล้องมันต้องหาสิ่งนั้น มันก็หาได้ไม่ง่าย ซึ่งผมก็กลัวว่าพี่เขาจะไม่ได้อะไรกลับไป

ไมไล: พอมีกล้องมีไฟมันเหมือนต้องแอ็กอะไรบางอย่าง มันเลยมั่ว ๆ

เติ๊ด: ทำเหมือนทำงานนิดหนึ่ง

บิลลี่: กลัวจริง ๆ ว่าเขาจะไม่ได้อะไรกลับไป นอกจากความไร้สาระของพวกเรา

จากกันด้วยดี จริง ๆ แล้วมีที่มาที่ไปยังไง

ไมโล: จริง ๆ แล้ว เรื่องราวของเพลงนี้มันไม่ได้มีแค่ตอนแต่ง มันกลายเป็นว่า มันมีช่วงที่แต่งเสร็จแล้ว ช่วงที่ไปอัด แล้วพอช่วงที่ปล่อยเพลงไปแล้ว ความหมายมันไม่เหมือนกันเลย

เติ๊ด: ถ้าที่มาเลย คือตอนนั้นวงเรามีสี่คน มีเบ๊บที่เป็นมือกีตาร์อีกคน แล้วตอนนั้นที่เราแต่งเพลงนี้ ตอนที่เขามาถ่าย มีเมโลดี้ท่อนฮุกที่ไมโลคิดได้ ไมโลก็มาขายพวกเรา เราก็โอเค มันดี ก็เลยลงคอร์ดลงอะไรกัน พอถึงพาร์ตเนื้อเพลง ก็คุยกันว่าจะแต่งเกี่ยวกับอะไรดี ไอเบ๊บก็พูดขึ้นมาด้วยความที่คาแร็กเตอร์เป็นคนชอบพูดกวนประสาท ก็เลยแบบ ไหน ๆ ผมจะออกจากวงแล้ว ไปทำงานประจำ ก็แต่งเรื่องคนแยกทางสิ ก็เลย อ้ะ เพราะเวลามันกดดัน ก็เลยลงไปเลยแล้วก็ ก็แต่งท่อนเมโลดี้ ท่อน verse ท่อนฮุกขึ้นมา แต่พอ episode ต่อมาที่ต้องไปเล่นจริง ๆ ให้กรรมการดู แล้วเบ๊บมาถ่ายไม่ได้ มันเหมือนเพลงนี้เป็นคำทำนาย แต่งเกี่ยวกับเบ๊บจริง ๆ เพราะเบ๊บไม่อยู่แล้ว

ไมโล: ก็เหมือนกับว่าถ้าเป็นเพลงที่เติ๊ดแต่งก็ถ้าเป็นเพลงอกหัก ก็จะเป็นเรื่องอกหักในชีวิต ถ้าเป็นคนทั่วไปก็จะเอาประสบการณ์ที่เจอมาในชีวิตหรือความทุกข์ความสุขใจมาแต่งเป็นเพลง แต่เพลงนี้เติ๊ดแต่งออกมา แล้วมันกลายเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอนาคต มันเป็นความรู้สึกที่แปลกมาก อยู่ดี ๆ ก็เศร้า คือ ตอนแต่งมันไม่เศร้า แต่พอออกมาจริง ๆ แล้วมันเศร้ามาก

บิลลี่: แล้วพอ episode 2 พวกผมกดดันมาก เพราะพวกผมคนไม่ครบ แล้วเรารู้สึกแบบพวกเราสามตัวจะรอดไหม เพราะเคยมีกันสี่ แต่พอเล่นไปก็เหมือนมีพลังบางอย่างส่งออกไป ก็เห็นได้ว่าพี่โอมก็รู้สึกเหมือนกันฮะ

เติ๊ด: เลยเป็นอุทาหรณ์ว่า มีสามคนก็ต้องรอดนะ ตอนที่เล่นตอนนั้นทุกคนน่าจะคิดเหมือนกัน คือคิดถึงเบ๊บอ่ะ

บิลลี่: จริง ชวนมันมา แต่มันบอกติดประชุม แล้วก็คือแบบ ตกลงกันแล้วว่าก่อนเข้าเบ๊บชัวร์นะว่าทั้งหมดจะไหว มันก็บอกไหว พอลาได้ แต่พออันแรกปุ๊บ มันก็ลาไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) เลยกลายเป็นแบบไหนบอกจะลาได้ไง ไหนว่าจะไม่หลอกกัน (ร้องเพลง) ก็คือแบบมันรู้สึกแบบ โอ้โห จะทำยังไงดี

เติ๊ด: นี้คือที่มาแบบ unfiltered เลย ไม่ได้เกี่ยวกับความรักอะไรทั้งนั้น เรื่องในวงล้วน ๆ

บิลลี่: สุดท้ายที่ออกมา เราเลยทำออกมาแบบปลายเปิดนิด ๆ แบบทุก ๆ ความสัมพันธ์เลย เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อน คนรัก คนในครอบครัว ได้หมดเลย

ไมโล: มันคือการจากกันด้วยความเข้าใจ พอเราเปิดใจหาเหตุผลซึ่งกันแล้วกันแล้ว การจากกันก็ไม่ใช่เรื่องเศร้าอย่างเดียว เราก็ต้องหาวิธีใช้ชีวิตต่อแบบที่ไม่มีเขายังไง

เหมือนเราต้องผ่านโจทย์ทุกสัปดาห์ โจทย์ไหนที่รู้สึกหินที่สุดสำหรับวงเรา

บิลลี่: คือถ้าให้มานึกใหม่แล้วพูดถึงเรื่องที่คุยกันไปเมื่อกี้ เราว่า EP2 นี้คือโหดสุดละ มันไม่โหดที่การคิดเพลงเพราะเราก็ทำตลอดอยู่แล้ว แต่เราต้องเล่นกับสามคนอะ เป็นครั้งแรกที่เล่นโดยไม่มีเบ๊บ มันเลยยาก

ไมโล: มันเป็นภาพที่คิดในจินตนาการแต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ เป็นภาพที่เราเคยเปิดใจกันที่ร้าน Burger King ตอนตีสอง แล้วเรานั่งกันยันเช้า ว่าจะเอาไง เพราะมันทำงานแล้ว เข้าไปในบริษัทแล้ว มันก็ร้องไห้ เพราะมันไม่คิดว่าคนเราจะทำสองสิ่งพร้อมกันไม่ได้ มันก็คิดว่าถ้าเลือกอันนี้ไปแล้วก็ต้องเสียอันนี้ไป มันเลยเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะไม่คิดว่าความคิดที่ Burger King จะเกิดขึ้นจริง ๆ ได้ แค่คิดเล่น ๆ ก็ดาร์กแล้วว่าถ้าถ่ายรูปวงแล้วเหลือสามคน ยังด่ามันบนโต๊ะว่า ‘มึงยอมหรอวะ จะเหลือสามคนนะเว้ย’ แล้วจากวันนั้นมาก็เหลือสามคนจริง ๆ EP2 เหมือนเป็นดาบแรกของความจริงนั้น เป็นการขึ้นเวทีแล้วมีคนแค่สามคน

บิลลี่: คือเหมือนกันว่าที่ Burger King ตกลงกันว่าจะเอายังไง แล้วสุดท้ายตกลงได้ว่า เบ๊บ จัดการไหวนะ ก็เลยปลื้มใจว่า มันน่าจะรอดแหละ แล้วอยู่ ๆ อีกสักพัก มันก็เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว อีกวันต้องเล่นแล้ว เลยโทรกันอีกสามคนว่า จะเอายังไงดีวะ จะเล่นไงดีวะ (ขำ)

เติ๊ด: เป็นการเริ่มต้นว่าต้องปรับตัวแล้วนะ อยู่กันสามคนแล้วนะ แต่สำหรับผมที่ยากสุดคือ EP5 ครับ ตอนนั้นเขาไม่บอกอะไรเราเลย ว่าต้องเจออะไร

ไมโล: EP5 เขาเรียกว่าเป็นการสอบมิดเทอมครับ มันจะมีโจทย์แบบแต่งตัวบ้าง แต่งเพลงบ้าง อยู่ดี ๆ ก็ให้เรามานั่ง แล้วมีรถตู้มารับ แล้วพอรถตู้จอดปุ๊ป คือร้าน 20 Something ที่มีคนในนั้น 200 คน ปูพรมแดง มีลูกค้า มีแบนเนอร์ มีผู้ใหญ่ค่ายนู้นค่ายนี้มานั่งดู เหมือนเป็นงานเปิดตัวค่าย Gene Lab แล้วไม่มีใครบอกอะไรเราเลย พอเราลงจากรถ เขาให้หยิบเครื่องดนตรี เล่นเลย 20 นาที รวมเซตอัพ ซาวด์เช็กแล้วเล่นเลย

เติ๊ด: เเล้วก็จะมีแบบว่า 200 คนดู จะต้องโหวตวงที่ชอบที่สุด ก็เลยกดดันว่าไม่ได้เตรียมการเตรียมตัวอะไรเลย น่ากลัวมาก ๆ สำหรับผมนะ

ไมโล: ในทางเทคนิคก็มีเพลงที่วงเคยซ้อมมาอยู่แล้ว ก็เลยพอเล่นได้อยู่ เล่นไปสองเพลง

แต่ก็รอด

เติ๊ด: ตอนแรกเหมือนไม่รอดเพราะลืมเช็กไมค์ ด้วยความตื่นตระหนก ไมค์ก็เลยดับไปเกือบครึ่งเพลง เลยใจเสียแล้วอะ ดีว่าได้แก้ตัวในเพลงที่สอง

ที่ได้ดูในนั้นเทปต่อมาเหมือนวงได้รางวัลไปเที่ยวระยอง?

บิลลี่: อันนั้นดันชนะขึ้นมา ไม่รู้เหมือนกัน ในใจเป็นเบอร์สองที่ยากที่สุด ผมส่วนตัวก็ไม่สันทัดกับการเล่นสดขนาดนั้นอยู่ ถนัดกับการแต่งเพลงอยู่ในห้องสตูดิโอมากกว่า

ไมโล: เหนือกว่านั้นคือเล่นสด เพราะอย่างปีที่แล้ว Tilly Birds โตมาในระบบอินดี้ กลุ่มคนฟังก็เลยเป็นแบบสังคมอินดี้ ก็จะมีแบบเคยมาสัมภาษณ์ Fungjaizine มาออก Cat Radio ไม่เคยแบบออกไปแมสเลย ซึ่งร้าน 20 Something ก็เป็นร้านที่แมส เราเลยแบบรู้สึกว่าไม่ได้เล่นให้กลุ่มคนดูเดิม ๆ ดูแล้วนี่หว่า นี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่ายาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้มีวิธีคิดเหมือนกัน ไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่าจะเจออะไร ซึ่งเราเองก็ไม่รู้จะเตรียมอะไรไปให้พวกเขาเหมือนกัน สุดท้ายเเล้วเราก็ได้แค่ทุบหม้อข้าวอีกทีนึงเหมือนกัน

บิลลี่: จริง ๆ ก็ทุบตลอดแหละ (หัวเราะทุกคนตบมือชอบใจ)

มันก็เหมือนกับว่าเราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองตลอดเวลา

บิลลี่: อ๋อ เสริมอีกอย่าง ตอน EP2 นอกจากเล่นอันนั้นน่ะ ที่ยากอีกอย่างคือ battle ซึ่งเป็นคู่แรกที่โดน

เติ๊ด: เป็นแบบว่าทีมไหนที่กรรมการให้ว่าแพ้ ต้องเลือกวงสักวงหนึ่งจากที่ชนะ มา battle กัน เพื่อจะเอาเงินรางวัลจากเขามาครึ่งหนึ่ง ก็คือวงที่ได้เงินน้อยสุด ก็จะแข่งกับวงที่ได้เงินรางวัลมากที่สุด เขาก็ให้ลิสต์เพลงมา 12 เพลงของเเกรมมี่ เลือกเพลงหนึ่งมา rearrange แล้วต้องเล่นด้วยกัน ซึ่งต้องมาร้องด้วยกันตอนสุดท้าย เป็นประสบการณ์เปิดโลกมาก คือต้องร้องเพลง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร ให้ได้ภายใน 20 นาทีอ่ะ

ไมโล: การแก้ปัญหาแรกคือโทรเรียกมือเบส เพราะรู้ว่าพวกมันไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ)

บิลลี่: แล้วเราไปเจอวงที่คนเยอะที่สุด Terrorbun มีตั้งแปดคน ไม่ไหวแล้ว

เติ๊ด: Battle พวกเราแพ้ คือเพลงเข้าทางพวกเข้ามาก พวกเขามาเป็นวงที่เป็นแบบสาย entertain เต้นกันยับเลย มีแร็ปเปอร์ด้วย แต่งแร็ปกันอีก แบบ โอ้โห! (บิลลี่: แล้วพวกเราเลือกหญิงลีกัน…) เพราะเป็นเพลงเดียวที่บิลลี่รู้จัก (หัวเราะ)

แล้วมีเพลงอะไรบ้าง จำได้บ้างไหม

เติ๊ด: มันมีแบบ เงียบ ๆ คนเดียว พี่เบิร์ด ธงไชย

ไมโล: จริง ๆ หลายแนวมากเลยครับ

เติ๊ด: เพลง Cocktail ก็มี เพลง Big Ass ก็เยอะ เพราะเขาเป็นโค้ชในรายการ

บิลลี่: Cocktail ก็มีเพลง ปราถนาสิ่งใดฤา ซึ่งก็เป็นเพลงที่ไม่ค่อยถนัดกันเท่าไรเนอะ

พูดถึงโค้ชแล้ว แต่ละคนมีโค้ชในดวงใจไหม

บิลลี่: ตอนแรกคิดว่าจะได้พี่อู๋

เติ๊ด: คือเรามองว่าพี่อู๋เหมาะกับวงเราสุด เพราะว่าเขามาจากซีนอินดี้เนอะ แต่เราได้พี่เจ๋ง ซึ่งจริง ๆ ก็ดี เพราะพี่เขาเป็นคนที่จะบอกตลอดว่า เราน่าจะเหมาะกับอะไร แล้วอันไหนที่ไม่เหมาะ เขาก็จะบอกเลยว่า พี่คิดว่าแบบนี้ดีกว่านะ อะไรงี้

แล้วได้เรียนรู้แนวคิดอะไรจากเขาบ้างไหม

เติ๊ด: คือมันมี episode นึง ที่ band mass ว่าแต่ละคนจากแต่ละวงต้องมาฟอร์มวงแข่งกันเอง แล้วผมก็ได้พี่เจ๋งอีกรอบหนึ่ง พี่เขาบอกไว้ประโยคหนึ่งว่า ‘ทำอะไร ทำไปเหอะ แต่ว่าให้รู้สึกมั่นใจว่าเป็นตัวเองที่สุด’ ก็เลยรู้สึกว่าจริง ๆ เราไม่ต้องพยายามอะไรมาก แค่ทำที่เราเป็นตัวเอง ทำออกไปแล้วสบายใจที่สุด

พอบิลลี่ไปเจอพี่อู๋แล้วรู้สึกยังไงบ้าง

บิลลี่: ส่วนเรา พอไปเจอพี่อู๋ก็รู้สึกว่า จริง ๆ พี่เจ๋งก็ดีแล้ว เพราะบางครั้งพี่อู๋ก็เหมือน เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน คนใส่ ๆ แล้วมันลน แต่พี่เจ๋งตบกันแล้วพอดี ซึ่งตอนนั้น Tilly Birds แยกง่ายมาก มีคนพอดี เลยแยกกันหมดเลย

แล้วไมโลไปเจอพี่หนุ่มด้วย

ไมโล: พี่หนุ่ม จริง ๆ เจอแล้วรู้สึกเขาเป็นคนใจดีครับ บางทีก็ใจดีเกินไป ทำอะไรก็บอกว่าดีไปหมด (FJZ: มันอาจจะดีจริง ๆ ก็ได้) แต่วงผมแพ้ครับ (หัวเราะ) วงที่ shuffle มาผมอยู่ที่น้อยสุดเลย ไม่ได้โทษเขานะครับ แต่โค้ชแต่ละคนจะแตกต่างกัน แล้วแต่ละคนเขามีเรื่องราวของเขามา ส่วนตัวชอบพี่เจ๋งเพราะเราจะเห็นน้ำหนักของเขาจากเรื่องราวที่รู้มา รู้ว่าเขาไม่ได้สร้าง Big Ass ตั้งแต่เเรก เขาก็มีเพลงที่ชื่อ เชิดสิงโต ที่เกี่ยวกับพี่เจ๋งว่าต้องเชิดสิงโต สู้ชีวิต พิสูจน์ตัวเองของเขา เราอินอะไรกับแบบนี้เลยรับอะไรมาจากเขาพอสมควร แค่ได้อยู่ใกล้เขา

เเล้วแต่ละคนไปทำงานกับวงอื่นแล้ว เป็นไงบ้าง

บิลลี่: วงเราดีละ (หัวเราะ)

เติ๊ด: พอเราไปปั๊ป ทุกคนช่วยกันคิดเลยว่าทำยังไงให้เพลงนี้เราร้องออกมาดี ก็เลยเหมือนปรับเข้าหาเขาว่าจะทำยังไงดี เราได้ไปเจอกับพี่เกม พี่แชมป์ Terrorbun พี่เต พี่เส็ง Three Man Down แล้วแต่ละคนเก่งมาก แต่ทุกคนให้ใส่ความเป็นตัวเองเข้ามาได้ มีพื้นที่ ๆ ให้คนอื่นใส่ความคิดมาด้วย เลยรู้สึกดีมาก

ไมโล: วงที่เติ๊ดไปอยู่ชนะด้วย (หัวเราะ)

บิลลี่: แต่ผมไปอยู่ทีมหน้าตาดี ฮ่า ๆ ผม กฤษฎิ์ พี่ทัตงี้ มีน้องหญิงด้วย สวย ๆ เข้ามา คือที่บอกว่าวงตัวเองดีสุด ก็คือแค่ความคุ้นเคย บางทีไม่ต้องพูดก็รู้ว่าจะต้องทำอะไร เเต่พอพวกนี้ต้องเซตเคมีใหม่หมด

เติ๊ด: ส่วนตัวในวง Tilly Birds คือไมโลคือคนที่แบบ ในหัวเรื่องดนตรีไวมาก แต่พอผมไปอยู่วงนั้น เหมือนเจอไมโลแยกร่างเป็น 5 คน ผมนี้ตามแทบไม่ทัน (หัวเราะ)

แล้วอย่างไมโลเป็นยังไง

ไมโล: ประสบการณ์จริง ๆ ก็พูดยากนิดหนึ่ง อยากพูดถึงสิ่งที่ได้รับมากกว่า คือเขาสอนให้เราได้รู้ว่า จริง ๆ แล้ว การเป็นวงดนตรีที่ดีเริ่มจากความมีน้ำใจ มันสำคัญสุด ไม่ใช่ความเก่ง ความฉลาดเลย มันคือการให้คุณค่าร่วมกัน เห็นใจซึ่งกันและกัน การไม่ทิ้งกัน การให้ความสำคัญของทุกคนเท่าเทียมกัน เรารู้สึกวงของเราทำดีที่สุดแล้ว ถึงให้หนีไปอยู่กับคนที่เก่งกว่าหรือฉลาดกว่าหรือเครื่องดนตรีแพงกว่าหรือหน้าตาดีกว่า มันไม่มีสิ่งไหนที่จะสร้างเป็นวงที่ดีกว่า ความที่พวกเราเข้าใจกันเลย มันเป็นความรู้สึกนี้จริง ๆ นะ มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ เป็นเรื่องที่สอนเราเลย

บิลลี่: อีกมุมหนึ่งพอเจอเวลาเจอเพื่อนตัวเองใน battle คือรู้เลยว่ามันจะมาไม้ไหน (ห้วเราะ) แต่เราไม่เจอไมโล เจอแต่เติ๊ด ก็สนุกดีฮะ

เติ๊ด: มันทำให้รู้จักกันมากขึ้นนะ จริง ๆ แล้ว เขาเป็นคนแบบนี้นะ แบบว่าเขามองเรายังไง เรามองเข้ายังไง

บิลลี่: อย่างตอนสัมภาษณ์ เขาถามว่าไม่อยากเจอใคร เราก็ไม่อยากเจอวงตัวเองนะ (ขำ) ไม่อยากเจอจริง ๆ ดีนะที่มีอยู่น้อย

เราทำแต่ละโจทย์ในรายการ มันเป็นเหมือนสิ่งที่ศิลปินต้องทำจริง ๆ พอเราได้ทำแล้วรู้สึกว่าสิ่งไหนที่สำคัญมาก แต่ศิลปินส่วนใหญ่มักมองข้ามไป

บิลลี่: การแต่งตัว styling ครับ ไม่ใช่ศิลปินทุกคนจะคิด อย่าง Tilly Birds คำนึงถึงเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว MV คำนึงอยู่แล้ว อีกอย่างคือตอนที่สามที่ต้อง rearrange เพลงใหม่ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าชีวิตนี้ต้องทำไปทำไมวะ rearrange ตามโจทย์ที่ abstract มาก เช่น สัตว์และสี ซึ่งเรารู้สึกว่ามันจำเป็นมาก มันเหมือน unlock ตัวเองเลย อย่างวง Commander งี้ เขาก็ได้เจอทางใหม่เลย จริง ๆ เขาได้ช้างสีน้ำเงิน จริง ๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทางที่เขาเจอ แต่การเล่นเพลงเดิมอีกวิธีนึงกับทำให้คนชอบกว่า เหมือนเป็นการฝึกตัวเองให้ไหลให้เป็นตัวเองมากที่สุด ใครอยู่กับที่ แพ้แน่นอน แต่บางคนไหลไปแล้วก็ไม่ make sense

เติ๊ดกับไมโล มีโจทย์ไหนที่คิดว่าศิลปินมองข้ามแต่สำคัญเหมือนกันไหม

เติ๊ด: เราคิดว่าโจทย์ที่บอกไปอะ band mass คือเป็นโจทย์ที่ไม่คาดคิดแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะเจอ บางวงคิดว่าทั้งชีวิตนี้ต้องอยู่แต่กับวงตัวเอง แต่ถ้ามันมีโอกาสที่เราได้ featuring หรือ ได้ไป cover เพลงใครแบบนี้ มันสอนให้เราทำงานร่วมกับคนอื่น ถ้าเราเจอมือกีตาร์แบบนี้ นักร้องแบบนี้ ต้องทำตัวยังไง ซึ่งมันเป็นการเกปิดประสาทตรงนี้สำหรับเรา ซึ่งเรามองว่ามันเป็นประสาทที่สำคัญในการดำรงอาชีพนักดนตรี

ไมโล: รู้สึกว่ามันคือตอนแต่งเพลงครับ เพราะว่าการสร้างเพลงของศิลปินมีหลายหลายแนวเพลงและความคิด มีตั้งแต่ฟังเพลงอะไรกันในวง อยากทำเพลงแนวไหน แล้วก็สร้างอะไรออกมาให้คนฟัง แล้วเราก็เห็นว่าสิ่งที่บางคนมองข้ามคือการเป็นตัวของตัวเองครับ ยกตัวอย่างในวงการดนตรี มีเพลงแนวที่ใหญ่ที่สุดในตลาดคือแนวป๊อป ซึ่งมันก็ป๊อปของคนไทยก็จะมีซาวด์แบบหนึ่ง ซึ่งมันก็มีเรื่องของเทรนด์ยุคสมัยด้วย บางช่วงก็เป็นยุคของเพลงร็อกก็มี หรือแนว easy-listening แนวชิล อูคูเลเล่ อย่างตอนนี้ก็มีแร็ปขึ้นมา เรามองว่าเพลงมันก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของวงการดนตรี ซึ่งใน EP2 การที่เราต้องแต่งเพลงเพลงหนึ่ง ต้องทำงานกับค่ายด้วย มันมีเรื่องให้คิดมากมาย​ซึ่งคิดว่าทุกวงในนั้นก็คิดเหมือน ๆ กัน เราได้เห็นว่าแต่ละวงนั้นมีวิธีคิด สร้างเพลงในโจทย์โจทย์นั้นแตกต่างกัน บางวงก็สร้างเพลงออกมาในแบบที่เป็นตัวเองสุด ๆ ไปเลย แต่ก็ไม่ได้แบบว่าถูกใจคนหรือกรรมการส่วนหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มก็จะทำเพลงที่ฟังง่ายขึ้น แต่ดูเหมือนไม่ใช่ตัวตนของเขา เรารู้สึกว่านี้มันเป็นสิ่งที่เป็นหัวใจของการเป็นศิลปิน ที่เราไม่ได้เป็นแค่นักดนตรี เล่นคัฟเวอร์อะไรแบบนี้ ถ้าเราเลือกเป็นศิลปิน เราต้องหาตัวเองให้เจอแล้วหนักแน่นกับมันไปจนตาย ไม่ว่าเทรนด์จะเปลี่ยนไปยังไง คนจะไปฟังแนวไหน Tilly Birds ยังจะมีจุดยืนอยู่ แล้วเอาตัวรอดต่อไปได้ครับ เพลง จากกันด้วยดี เป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งเหล่านั้นด้วย มีกลิ่นของตัวเองมาก แล้วคนก็มาฟังได้เยอะขึ้นด้วย ไม่ได้รู้สึกเป็นเรื่องของค่ายขนาดนั้น นี้คือเครื่องพิสูจน์ว่า Tilly Birds ไปต่อได้ แม้ว่าเทรนด์จะเป็นอะไรก็ตาม

แล้วส่วนตัวอีก 5 วงที่ร่วมรายการด้วยวงไหนน่าสนใจสำหรับเรา

บิลลี่: ส่วนตัว ตอนเข้ามา EP2 แล้วต้องเจอวงนี้ก็กลัวสุดแล้ว Terrorbun เพราะวงนี้มีกิมมิกแน่น มีคนเยอะด้วย ดูแล้วสนุกนะ ดูไปเต้นไป แล้วก็คิดว่าแบบ ‘จะเอาอะไรไปสู้วะ’ (หัวเราะ)

ไมโล: ผมจะชอบวง Methane ในแบบที่ว่า เหมือนว่าได้เห็นความฝันวัยเด็กที่ไม่เคยเป็นจริง แล้วมีน้อง ๆ กลุ่มนี้มาสืบทอด แล้วได้มาเจอในค่ายเดียวกัน เราเคยส่ง Hotwave ไปแบบสองปีก็ไม่ติด แล้วการที่ได้มารู้จักน้อง ๆ ที่เป็นแชมป์ Hotwave ปี 2017 ก็เลยรู้สึกเหมือนน้อง ๆ ไปเอาถ้วยนั้นมาให้พี่ดูนะ ก็เลยรู้สึกดี เหมือนว่าในวันหนึ่งที่เราไม่ได้ทำวงประกวดอะไรแล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักกับแชมป์ที่เป็นคนรุ่นใหม่

เติ๊ด: ตอนเราเห็น Methane เราแบบว่า น้องมัน ahead of us แล้วอะ คือตอนเราอายุเท่าน้องเราก็ทำไม่ได้ขนาดนี้ น้องไปไกลแน่นอน แต่ส่วนตัวคือ ตอน EP2 คือตอนที่ได้เห็นทุกวงเล่นสด ๆ ต่อหน้า แล้วเราชอบวง Three Man Down เล่น แล้วชอบ เพลงเขาติดหู รู้สึกว่าวงเนี้ย เก่งด้วย ขยันด้วย มีเพลงเก็บไว้เยอะ แล้วเขาก็เคยร้องให้เราฟัง วงเขาจริง ๆ คล้ายพวกเรานะ คือเคยอยู่ในซีนอินดี้ แล้วตอนนี้ก็กำลังพยายามมาอยู่ในตลาดแมส รู้สึกเขามีตัวตนชัดเจนแล้วก็เพลงติดหู ตอนนั้นก็เลยจับตามอง เพราะฟังเพลงเขารอบเดียวก็ร้องได้เลย

มีแพลนอัลบั้มเต็มหรือยัง

ไมโล: คืออย่างงี้ครับ วงการเพลง ค่ายเพลงในปัจจุบันก็จะรู้แล้วว่า การต่อสู้ของวงการเพลงมันดุเดือดมาก ยิ่งในซีนแมส เขาก็เลยบังคับให้ทุกคนปล่อยเป็น single by single ส่วนเรื่องอัลบั้มเรายังไม่สามารถคอนเฟิร์มได้เพราะยังไม่ได้คุยแบบเป็นจริงเป็นจังกับค่าย แต่เชื่อว่าถ้าเราทำซิงเกิ้ลต่าง ๆ ได้ดีพอ ค่ายก็จะสนับสนุนให้ออกอัลบั้มในท้ายที่สุดอยู่แล้ว ก็พยายามให้ได้ภายในปีหน้าครับ เรียกว่าเป็นความฝันเลย เพราะว่าทางค่ายยังไม่ได้อนุมัติอะไรขนาดนั้น แล้ววงการเพลงก็ไม่รู้จะเดินรวดเร็วไปแบบนี้ถึงเมื่อไร ตัวเราเองก็รู้สึกชอบฟังเพลงที่เป็นอัลบั้ม เรารู้สึกว่าดนตรีสากลเขาจะซีเรียสในความเป็นอัลบั้มมาก ๆ จนทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าได้ฟังตั้งแต่ 1 ถึง 10 จะเหมือนดูหนัง ได้รู้จักคน ๆ หนึ่งขึ้นมา เลยตั้งปณิธานว่า ตัวซิงเกิ้ลที่เราจะปล่อยออกไป เราต้องเริ่มสร้างอัลบั้มเลย ถึงแม้ว่า single by single จะเป็นระบบของทางค่าย ในช่องที่เขาให้ปล่อย 1 2 3 เราค่อยหยิบเพลงในอัลบั้มไปใส่ เราไม่อยากให้อัลบั้มเรากลายเป็นแบบรวมฮิตอะไรแบบนี้ เพราะว่าแบบนั้นมันก็รู้สึกขาดเสน่ห์ไป

บิลลี่: ถ้าเป็นแบบนั้นก็ถือว่าล้มเหลวสำหรับพวกเรา

การปล่อย จากกันด้วยดี เหมือนเป็นการแนะนำว่าต่อจากนี้ Tilly Birds จะเป็นอย่างไร

ทุกคน: ใช่ครับ ส่วนหนึ่งเลย

ฝากอะไรถึงพี่โอม Cocktail ไหม

บิลลี่: ขอผมปล่อยอัลบั้มเถอะพี่ (หัวเราะ)

ไมโล: ก็เอาจริงถ้าพี่โอมไม่ได้ทำค่าย Gene Lab พวกเราก็อาจจะยังไม่มีค่ายเลยตอนนี้ ก็รู้สึกขอบคุณมาก ๆ

เติ๊ด: ก็เป็นผู้ให้โอกาสมาก ๆ กับพวกเรา คือเรารู้สึกว่า Band Lab เป็นรายการ reality ที่จริงอะ แบบพี่โอมและทีมงานตั้งใจจะให้เรารู้สึกถึงประสบการณ์จริง ๆ ว่าการออกไปในโลกข้างนอกในฐานะศิลปินนั้นเป็นยังไง ก็รู้สึกซาบซึ้งมาก ๆ ที่พวกเขาทำให้เราขนาดนี้ เขาเชื่อในพวกเรามาก ๆ

ไมโล: คือในการสร้างรายการนี้ขึ้นมาเนี่ย ด้วยเงินจำนวนมาก ก็ไม่แน่ใจเรื่องข้างนอก พวกความพึงพอใจในแง่เรตติ้งอะไรต่าง ๆ แต่ข้างในพวกเรา คนในวงเนี่ย ได้อะไรไปมากไปกว่าที่ชีวิตนักดนตรีคนหนึ่งจะจินตนาการได้เลยล่ะ

เติ๊ด: เขาย่นจำนวนหลายปีของเขาให้มาเหลือเพียง 13 ตอน เป็นอะไรที่แบบ สุดยอด

เราคิดว่าเราได้อะไรจาก Band Lab ที่อยากส่งต่อให้วงดนตรีอื่น ๆ ไหม

ไมโล: ผมพูดเรื่องเดิมละกันครับ เรื่องตัวตน คือในฐานะที่เราได้เงินสะสมสูงสุดอะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่วงดนตรีที่เก่งอะไรเลยครับ ไม่ได้เป็น master of instrument หรือ master of voice อะไรแบบนั้น แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้เราผ่านมาได้จริง ๆ คือ การหาตัวตนที่เป็น core ของพวกเราออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอะ บางทีอาจจะไม่ใช่ข้างนอกเช่นการแต่งตัวหรือแนวเพลงที่เล่น จริง ๆ มันอาจจะมีสิ่งที่ลึกกว่านั้น ซึ่งเรา keep ตรงนั้นไว้ จริง ๆ อธิบายไม่ถูก ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร อาจจะเช่นการทำงานหรือ attitude หรือความกล้า ความทะนงตน และความรู้จักตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สิ่งนี้มา ก็คือเงินรางวัลสูงสุด เพราะงั้น ไม่ว่าจะมีรายการอีกมากกว่า 13 ตอน หรือว่าเป็นชีวิตจริงที่ไม่รู้จะมีอีกกี่ตอน เราอยากให้ทุกวงดนตรี keep ความสัมพันธ์ของเพื่อนไว้ แล้วก็มีน้ำใจต่อเพื่อน หาตัวเองกับเพื่อนให้เจอ แล้วก็มาอยู่ร่วมกันตรงกลางแบบเท่าเทียมกัน พุ่งไปข้างหน้าด้วยกัน แล้ววงดนตรีก็จะอยู่ได้นานที่สุด เหมือนที่พี่โอมบอกว่าวงดนตรีที่ชนะคือไม่ใช่วงได้เงินรางวัลเยอะที่สุด แต่คือวงที่อยู่ได้นานที่สุด

เติ๊ด: สิ่งที่อยากฝาก คืออยากให้เชื่อมั่นในตัวเองเยอะ ๆ ในวง ๆ หนึ่งมันต้องเจออะไรที่เยอะมาก จะมีความรู้สึกท้อเป็นธรรมดา จะคิดว่าสิ่งที่ทำมันดีไหมว้า ทำถูกไหมว้า ขอให้เชื่อว่า ทำไปก่อน ทำไปเถอะ อย่าพึ่งไปท้อไปเหนื่อยกับมัน เอาจริง ๆ Tilly Birds พอมาอยู่ค่ายก็เหมือนเริ่มใหม่ เหมือนเจอเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยลองเดินมาก่อน ไม่รู้อนาคตจะเป็นยังไง แต่สิ่งที่ยึดคืออย่าพึ่งท้อ สู้ไปก่อน แล้ววันหนึ่งความพยายามมันจะตอบแทนเราเอง

บิลลี่: ส่วนผมก็เรื่องตัวตนเหมือนกันฮะ แต่ขยายนิดหนึ่ง คือผมว่ามันสำคัญสุดของการทำวงแล้ว จะขยายว่า สำหรับวงที่เพิ่งเริ่มกัน บางอาจจะไม่รู้ว่าตัวตนเราเป็นยังไง เราชอบอะไรจริง ๆ แต่วงที่รู้เเล้วคือวงที่เริ่มเดินทางไปละ ความจริงตรงนั้นอาจจะอันตราย เพราะว่าเราไม่รู้ว่าสิ่งตรงนั้นที่เราชอบ เราชอบจริง ๆ หรือเปล่า เราต้องพิสูจน์ด้วยการออกจาก comfort zone ต้องพิสูจน์ด้วยการหาสิ่งอื่นอีก ที่อยู่ข้าง ๆ โซนที่เราปลอดภัย เช่น อย่างพวกเราชอบทำเพลงที่มันดูแบบ อลังการ ดาร์ก ๆ ถ้าเราอยู่แต่แบบนั้น เราก็จะเป็นแค่นั้น แล้วมันก็ไม่ใช่ จริง ๆ เพราะจริง ๆ Tilly Birds เป็นได้มากกว่านั้นอีก เราต้องหาว่า Tilly Birds สนุกเป็นยังไง เศร้าเป็นยังไง โกรธเป็นยังไง แล้วไม่ใช่ว่ามั่วซั่วนะ เราต้องหาจากตัวเองจริง ๆ เราต้องค้นออกมาจากตัวเอง ต้องทำสิ่งที่เราไม่กล้าทำ แล้วพอเรากล้าทำเเล้ว เราอาจจะเจอเราในมิติอื่น สำหรับเรามันไม่ใช่เปลี่ยนไป แต่เราเจอตัวเองมากขึ้น

ไมโล: ซึ่งมันก็มีในรายการหลาย ๆ ตอนเหมือนกัน อย่างตอนดนตรีไทย แบบว่าทุกคนจะได้อาจารย์ที่ถือเครื่องดนตรีไทยมาหนึ่งชิ้นแล้วต้องร่วมเล่นกับเขา ของเราก็อาจจะโชคดีด้วยที่วงเราได้ แคน แล้ววงเราก็มี DNA แบบอีสานอยู่ในเพลงได้ไงไม่รู้ แล้วก็มีอีสานเป็น reference แล้วเราก็ไปอย่างงั้น แล้วมันก็ได้ เเล้วตัวตนของเราก็ไม่เสียด้วย

บิลลี่: เหมือนบางคนก็ล้อ ๆ แซว ๆ เติ๊ดนะว่า เติ๊ด ad-lib ก็เลยเอาตรงนั้นมาสู้เลย ล้อก็ล้ออะ อีสานใส่เลย ก็กลายเป็นไม่มีใครเถียงเลย ทุกคนชอบ (ไมโล: ตอนนั้นก็ได้ที่หนึ่งเลย)

เติ๊ด: จริง ๆ เรื่องหาตัวตน ก็คือ กว่าจะมาเจอตรงนี้ ผมกับบิลลี่ที่ทำตอนแรกมาสองคน ก็มีหลายแบบมาก มีพังก์บ้าง ไปแนวนี้บ้าง แนวนู้นบ้าง แล้วแต่งเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษอยู่เลย ซึ่งมันก็ต้องคลำ ๆ กว่าจะเจอว่า จุดที่ลงตัวอยู่ที่ว่าเราอยู่จุดที่ลงตัวแล้วนะ

ไปฟังเพลง จากกันด้วยดี และติดตามการเติบโตของ Tilly Birds ได้ที่เพจ Tilly Birds

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา