ระเห็ดเตร็ดเตร่

ตาม Yellow Fang ไปเทศกาลดนตรี RRREC FEST ที่อินโดนีเซีย

  • Writer: Piyoros
  • Photographer: Thapphawut Parinyapariwat, Chattip Metchanun and Piyoros

ครั้งแรกในอินโดนีเซีย

 จุดนัดพบก่อนเดินทาง
จุดนัดพบก่อนเดินทาง

บางครั้งการเดินทางก็เป็นเรื่องของโชคชะตา ตลอดทั้งปีนี้ผู้เขียนไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปไหนเลย จนกระทั่งคิดว่าพอจะมีเวลาในช่วงเดือนกันยายน และได้พบกับตั๋วเครื่องบินราคาย่อมเยา (สาเหตุหลักคือเรื่องนี้ ฮา) เลยวางแผนไปญี่ปุ่น หลังจากจองตั๋วได้ไม่กี่วัน เพื่อนชาวอินโด ฯ ที่เคยเจอกันในเทศกาลดนตรีประเทศมาเลเซียเมื่อหลายปีก่อนติดต่อมาชวนไปร่วมงานดนตรีที่เขาช่วยจัดในอินโดนีเซีย สัปดาห์แรกคือ Soundrenaline Music Festival ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซียที่บาหลี และอีกอาทิตย์ต่อมา RRREC FEST IN THE VALLEY 2016 เทศกาลดนตรีที่จัดบนภูเขา ปรากฏว่างานแรกตรงกับตอนที่เดินทางไปญี่ปุ่นพอดีชวดไป ส่วนงานที่สองก็เฉียดฉิวมาก เนื่องจากพอเดินทางกลับจากญี่ปุ่นแล้ววันรุ่งขึ้นต้องขึ้นเครื่องต่อไปจาการ์ต้าทันที เรียกว่าเป็น “กะทันหันทัวร์” อย่างแท้จริง

ทางเข้างาน

ทางเข้างาน

จากรายชื่อศิลปินที่ไปร่วมงาน RRREC FEST 2016 ศิลปินส่วนใหญ่เป็นวงท้องถิ่นของอินโดนีเซีย มองไปที่หนึ่งในไฮไลต์ของงานนี้ มีวง Yellow Fang จากเมืองไทยรวมอยู่ด้วย และบางทีน่าจะเป็นศิลปินต่างชาติที่รู้จักกันมากที่สุดของงานนี้ด้วยซ้ำ หลังจากไปถึงอินโดนีเซียในช่วงดึกของวันที่ 8 กันยายน เช้าวันรุ่งขึ้นผมกับนักข่าวของมาเลเซีย เดินทางไปยังจุดนัดพบด้วยกัน และได้เจอกับวง Yellow Fang พูดคุยกันเล็กน้อยก่อนจะนั่งรถบัสไปที่ Tanakita Camping Ground สถานที่จัดงานบนภูเขา Tanakita เมือง Sukabumi จังหวัดชวาตะวันตก (West Java) ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย และป้ายทางเข้างานเล็ก ๆ ที่ทำแบบเรียบง่าย

เทศกาลดนตรีบนภูเขา

Sonotanotanpenz

Sonotanotanpenz

อากาศที่เมืองจาการ์ต้ารวมถึงสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปค่อนข้างใกล้เคียงกับที่กรุงเทพ ฯ แต่เมื่อมาถึงที่งาน RRREC FEST 2016 บรรยากาศนั้นราวกับอยู่ที่เขาใหญ่ พื้นที่ทั้งหมดรายล้อมด้วยธรรมชาติ อากาศก็เย็นสบายตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน งานนี้มี 4 เวที ใช้วิธีสลับสับเปลี่ยนคิวขึ้นเล่นในแต่ละเวทีมากกว่าที่จะเล่นพร้อมกัน ในวันศุกร์ คืนแรกของงาน ประเดิมด้วยศิลปิน 2 สาวจากญี่ปุ่น Sonotanotanpenz ที่เล่นดนตรีแนวทดลอง มีทั้งเล่นกีตาร์โปร่งกับเครื่องเคาะหรือคีย์บอร์ดตัวเล็ก ๆ เท่าที่ได้คุยกับพวกเธอบอกว่ามีโอกาสได้มาเล่นที่อินโดนีเซียหลายครั้งแล้วและเริ่มมีแฟนเพลงที่นี่ด้วยเช่นกัน หลังจากจบโชว์ของศิลปินแล้ว ในช่วงดึกของทุกคืน จะเป็นคิวของเวทีด้านในสุดที่เป็นเหมือนการยกเอาผับแดนซ์มาสนุกกันแบบยาว ๆ พอตอนครึ่งเช้าของวันรุ่งขึ้นก็จะมีเวิร์คช็อปต่าง ๆ ให้เข้าร่วม มีเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ไปจนถึงการแสดงละครหุ่น ช่วงบ่ายจะเริ่มคอนเสิร์ต

Leanna Rachel

Leanna Rachel

วันเสาร์โชว์ของศิลปินเริ่มด้วยศิลปินสาวจากอเมริกา Leanna Rachel ที่บรรเลงดนตรีอะคูสติกป๊อปไปพร้อมกับเสียงร้องที่นุ่มละมุน ก่อนจะเริ่มแสดงมีฝนตกหนักก่อนจะเริ่มซาลงบ้าง คนดูก็ไม่ย่อท้อ ใส่เสื้อกันฝนที่ทีมงานแจกมาดูอย่างตั้งใจ นี่เป็นความน่าประทับใจของคนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงที่เข้าถึงยากอย่าง Dirgahayu วงดนตรีร็อคจัด ๆ ของมาเลเซีย หรือศิลปินที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อน ก็เปิดใจที่จะรอชมกัน

Yellow Fang ไฮไลต์ของงาน

วงดนตรีปิดท้ายของวันนี้คือ Yellow fang ที่ยังรักษามาตรฐานการแสดงสดที่ยอดเยี่ยม ถึงเพลงจะเป็นภาษาไทยแต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการสื่อสารออกมาด้วยภาษาดนตรี คนดูขออังกอร์ถึง 2 รอบ ซึ่งทั้ง 3 สาวก็จัดเต็มให้ตามคำเรียกร้อง หลังจบโชว์มีการถ่ายรูปร่วมกับแฟนเพลง ก่อนที่จะได้มานั่งคุยกันถึงการมาอินโดนีเซียในครั้งนี้

พูดถึงการมาร่วมงาน RRREC FEST ครั้งนี้หน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง

“ก็เป็นครั้งแรกค่ะ ที่มาอินโดนีเซีย ดีค่ะ สนุกดี ฝนตกด้วย ก็คือถ้าเป็นปกติ ที่กรุงเทพฝนตกก็คงจะวุ่นวายมากกว่า แต่เค้ามีการจัดการได้ดีมาก”

ทำไม Yellow Fang ถึงมาเล่นที่นี่ได้ มีที่มาที่ไปยังไงบ้าง

“จริง ๆ เรารู้จักกับวง The Adams เพราะเราเคยไปทัวร์ด้วยกันที่มาเลเซีย เมื่อ ปี 2 ปีนี้ละค่ะ และเมื่องาน Noise Market ล่าสุด ก็มีวง White Shoes & The Couples Company มาเล่น รวมถึงวง The Adams ด้วย เค้าก็ชวนเราไป hangout และก็ได้เจออาเม็ง ซึ่งอาเม็งเนี่ยก็คือผู้จัดการของวง White Shoes และอาเม็งเค้าก็บอกว่า เค้าจัดงานเยอะมาก และคิดว่าพวกเธอเหมาะที่จะไปเล่นมากเลย ตอนแรกเค้าก็ติดต่อมาแต่เรายังไม่ว่าง จนล่าสุดนี่เค้าติดต่อมาอีก เราก็ตกลงมาเลย เพราะว่ามันน่าจะสนุกดีนะ”

ก่อนหน้านี้ได้ข่าวว่าเพิ่งไปเล่นที่เกาหลีมา

“ใช่ค่ะ ก่อนหน้านี้ เราเคยรู้จักเกาหลีแต่ด้านเดียว พวก K-Pop พวกละคร อะไรพวกนี้ แต่พอเราไปเจอด้านอินดี้ ไปเจอพวกวงอินดี้ของเค้า มันเจ๋งมากเลย วงดี ๆ เล่นดี ๆ เยอะมาก แต่กระแส และความดังมันยังมาไม่ถึงบ้านเรา”

คนดูเป็นยังไงบ้างกับโชว์เมื่อกี้นี้

“คนดูที่นี่น่ารักนะคะ หลาย ๆ คนที่เห็น เค้าจะเป็นคนฟังเพลงจริงจัง ถ้าเทียบกับเรานะ คือเทียบกับตัวเองถือว่ารสนิยมใกล้เคียงกัน ดูเหมือนคนที่นี่ดูอินกับเพลง อย่างตอนที่ไปเล่นที่มาเลเซีย คนดูจะใส่เสื้อวงดนตรีกันหมดเลย ดูเค้าคลั่งมาก มีความรู้สึกว่ามีความคล้ายกันดี เค้าทุ่มเทกับดนตรี และคนที่อินโด ฯ นี่ กล้าแสดงออกมากกว่าคนไทย แต่รู้สึกดีไปกว่าก็คือเค้าเข้ามาคุยกับเรา โดยที่ไม่ต้องรู้หรอกว่าเราเป็นใคร เป็นศิลปิน หรือเป็นใครที่ไหน คือนั่งข้างกันก็คุยกันแล้วอะ สิ่งที่น่ารักของ festival นี้ก็คือเหมือนทุกคนมานัดเจอกันกินข้าวกัน ฟังเพลงกัน อย่างอาเม็งเคยเล่าให้ฟังว่าบางงานจะกันศิลปินให้อยู่หลังเวที จะมีพื้นที่ให้อยู่ในที่ส่วนตัว แต่ที่นี่ไม่มี มันทำให้ได้เจอกันหมด ซึ่งมันเป็นไอเดียที่ดีมาก กลายเป็นว่า เป็นการแลกเปลี่ยนเฟสบุ๊ก แอดกันเพลินเลย กลายเป็นมีเพื่อนเพิ่ม ถ้าเทียบกับเมืองไทย คนไทยจะไปกับกลุ่มเพื่อนตัวเอง ต่างคนต่างกิน เช่น อยู่เมืองไทยเราเล่น 2 ทุ่มเราก็ไปถึง 2 ทุ่ม เล่นเลย เล่นเสร็จก็กลับ แต่ที่นี่มันมีเวลาเจอกัน ก็ทักกัน และก็ได้เพื่อน และ คอนเน็คชั่นเพิ่มด้วย ซึ่งเราก็ไม่ได้หวังอะไร แต่มันก็ดีที่ได้เจออะไรใหม่ ๆ บางคนก็ไม่รู้ว่าเป็นศิลปิน คุยไปคุยมาก็ อ่อ ฉันเล่นพรุ่งนี้นะ โอเค ๆ เดี๋ยวมาดู ๆ อ่อ ๆ ฉันก็เล่นเหมือนกันวันนี้ กลายเป็นมีเพื่อนเพิ่มขึ้นมาอีก”

การไปต่างประเทศหลายครั้งได้ประสบการณ์หรือสกิลเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

“ประสบการณ์หรือสกิลด้านดนตรีไม่นะ แต่ได้เพื่อนเพิ่มเยอะขึ้น มันต่อยอดมาก ถึงกับเราไปบอกทุกคนว่า มาเมืองไทยเดี๋ยวเราพาเที่ยวเอง อย่างตอนเราไปเกาหลี ก็มีน้องคนนึงดูแลเราดีมาก และน่ารักมาก เราก็ชวนเค้ามาเมืองไทย คือเวลาทัวร์เราก็อยู่กินด้วยกันทุกวัน นอนด้วยกัน รู้นิสัยกันระดับนึง ก็เลยกลายเป็นสนิทกัน และพอไปหลาย ๆ ที่ ก็ได้เพื่อนเพิ่มอีกหลาย ๆ คน ในส่วนของดนตรี เราก็ได้ไปเจอวงที่เราไม่รู้จัก ได้ฟังวงแปลก ๆ แลกซีดีกันรัวเลย อย่างวงญี่ปุ่นเมื่อคืนก่อนเล่นดีมาก คือถ้าเราไม่มานี่ก็คงไม่มีโอกาสได้ฟังถ้าไม่ใช่ festival ส่วนใหญ่พอเล่นเสร็จ พวกงานจ้างตามร้านทั่วไป เจ้าของร้านก็พาไปเลี้ยงกินดื่ม และก็จะมีวงที่เล่นด้วยกันมานั่งคุยกันแลกเปลี่ยนกัน แลกซีดี นู่นนี่ และเวลามีใครจัดงาน หรือเพื่อนเราจัดงาน เราจะได้แนะนำได้พวกเค้าได้”

มาถึงจุดนี้ วงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งใน และนอกประเทศ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม เช่นลักษณะการทำเพลง หรือทำวง หรือวางมาตรฐานอะไรไว้บ้าง

“จริง ๆ ไปท่องเที่ยว ได้อะไรใหม่ ๆ มาก แต่พอกลับไปก็ลืม มันไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก มันเป็นโอกาสมากกว่า ถือว่าเราโชคดีมาก มันต่อยอดของมันเอง มันค่อยเป็นค่อยไป อย่างวงเราก็เป็นการบอกปากต่อปากกัน และงาน festival ในเอเซียเดี๋ยวนี้มันเยอะมากและเราก็ไม่จำเป็นต้องไปเอาวงฝรั่ง หรือยุโรปมาเล่นก็ได้ และเราก็มีโอกาสไปเล่นเมืองนอก ก็ทำให้มีคนพอรู้จักบ้าง ก็อาจจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่คนรู้จัก อย่างคนจัดงานที่เกาหลี ก็รู้จักกับคนจัดที่ญี่ปุ่นที่เราเคยทำงานด้วย ก็เลยวนเวียน ต่อยอดกันไป และก็แนะนำกันไป”

มีแพลนของวงยังไงบ้าง เช่นอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า

“ไม่ได้คิดค่ะ คือหลัก ๆ  ทุกคนก็มีงาน มีการรับจ้าง มีการทำมาหากินแตกต่างกันออกไป รับจ้างทั่วไป กับเพลงกับดนตรีเหมือนกับงานอดิเรก แต่พอมาถึงวันนึง เช่น ตอนไปญี่ปุ่น เล่นติดกันแบบวันเว้นวัน เป็นการวัดใจเรามาก ว่าเราจะตั้งใจทำได้มากแค่ไหน เพราะส่วนตัวแล้ว ทำอะไรขึ้นอยู่กับอารมณ์มาก อารมณ์ไม่ดี อะไรหน่อยก็หน้าบูดละ ซาวด์ไม่ดีก็เริ่มว่าทีมงาน เราก็เลยต้องปรับตัวเหมือนกัน ว่าเรามาเล่น เค้าให้ตังค์เรานะ และคนก็ตั้งใจมาดูเรานะ เราต้องตั้งใจมากขึ้น แต่ก่อนยืนเล่นแข็ง ๆ ทื่อ ๆ เดี๋ยวนี้มีโยกหน่อย ลองคิดกลับกันว่า ถ้าเราเป็นคนดู ไปยืนดูดนตรีที่คนเล่นทื่อ ๆ แห้ง ๆ ก็น่าเบื่อเหมือนกัน เราก็ค่อย ๆ ปรับกันไป แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้วค่ะ”

วันสุดท้ายในอินโดนีเซีย

ในวันอาทิตย์ ช่วงเช้ามีเวิร์คช็อปหลายงานให้เลือกชม ร่วมถึงการเสวนา South East Asia Music Network ที่วง Yellow Fang กับวงอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ไปเล่นในต่างแดนมาหลายครั้ง ต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง และต้องเตรียมพร้อมในเรื่องใดบ้าง ในช่วงบ่ายมีโชว์ของวงท้องถิ่นอีกหลายวงก่อนจะปิดด้วย The Adams วงร็อคของอินโดนีเซียที่มีทั้งความเก๋าและการแสดงให้ความรู้สึกถึงวงดนตรีท้องถิ่น หลังจากนั้นในช่วงเย็นเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันมื้อสุดท้าย ผู้จัดมากล่าวถึงงานในครั้งนี้ ก่อนจะเดินทางกลับสู่จาการ์ต้า ซึ่งต้องขอสารภาพเลยว่าวันแรกที่มาถึงงาน คิดในใจว่าไม่น่าหาเรื่องเลย ด้วยการเตรียมข้าวของที่ไม่พร้อมของตัวเองไปจนถึงความลำบากในการเดินขึ้นลงเขา แต่สุดท้ายความไม่สมบูรณ์แบบในเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นเหมือนภาพที่นึกขึ้นมาเมื่อใดก็เป็นสีสันครั้งหนึ่งที่จะไม่มีวันลืมในชีวิตของคนรักในการเสพดนตรี

ใครที่สนใจ เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของงานนี้ได้ที่นี่ครับ

Facebook Comments

Next: