Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

Boy Imagine x มาโนช พุฒตาล สองคนสองคม ที่ผสมอย่างกลมกลืน ใน อิมเมจิ้น’บ้านสวน ปีที่11

  • Story and photos by Piyakul Phusri

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่เชียงใหม่มีงานดนตรีดี ๆ อิมเมจิ้น’บ้านสวน ปีที่11 ที่เป็นการโคจรมาพบกันของสองคนดนตรีที่มีความโดดเด่นด้านความลุ่มลึกของเนื้อหา และฝีมือทางดนตรี คือ รงค์ ดรุณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Boy Imagine และ มาโนช พุฒตาล บุตรของนายเฉลียว นางอำไพ

งานนี้จัดที่ร้าน Imagine’s House บ้านสวน ของ Boy Imagine ถ้าใครที่เคยไปคงจะรู้ว่าเป็นร้านที่บรรยากาศดีมาก อยู่ริมทุ่งนา มีไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหาร และแมววิ่งไปมาในร้าน พื้นที่หน้าร้านเป็นสนามเด็กเล่นของลูกพี่บอย ซึ่งวันนี้ถูกเปลี่ยนเป็นเวทีเฉพาะกิจที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าเก้าอี้ไม้ เครื่องเสียง และหลอดไฟ

ผู้ชมทยอยเข้ามาจับจองที่นั่งตั้งแต่ก่อนเวลาเริ่มงานที่กำหนดไว้ตอนห้าโมงเย็น จนถึงเวลาห้าโมงยี่สิบนาที Boy Imagine และ ฟีฟ่า มือกีตาร์คู่ใจ ก็ขึ้นมาทักทายแฟน ๆ บนเวที พี่บอยออกตัวว่าวันนี้อาจจะไม่พร้อม 100% เพราะไม่ได้เล่นเพลงของตัวเองนานแล้ว และปกติต้องมีเวลาซ้อม 1-2 วัน ก่อนเล่น แต่พอเป็นงานที่ตัวเองจัด ต้องเตรียมสถานที่ ทำให้ไม่มีเวลาซ้อม เลยต้องปริ้นท์เนื้อเพลงของตัวเองมาเตรียมพร้อมไว้เพื่อสแตนด์บาย วันนี้เลยจะขอเล่นดนตรีไปตามความรู้สึก แต่เราเชื่อว่าคงไม่มีใครว่าพี่บอยหรอก เพราะโอกาสที่จะได้ฟังพี่บอยเล่นเพลงของตัวเองที่ร้าน Imagine’s House ก็มีน้อยมาก ๆ และเชื่อว่าทุกคนที่มาในวันนี้ตั้งตารอฟังเพลงของพี่บอย ไม่ว่ามันจะออกมาอย่างไรก็ตาม

เริ่มต้นเพลงแรกกับ Postmodern เพลงที่ว่าด้วยการทำงานในฐานะสถาปนิกของตัวเอง เปรียบเปรยการออกแบบชิ้นงาน กับ การออกแบบชีวิต ที่เราต้องการออกแบบให้มันเป็นไปตามที่ใจต้องการ แต่หากมีใครสักคนที่เข้ามาในชีวิต ใครสักคนที่สมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องการการออกแบบล่ะ มันจะดีขนาดไหน ตามมาด้วยเพลง วาบิ & ซาบิ เพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากการเรียนวิชา landscape ว่าด้วยความสัมพันธ์ของปรัชญาเต๋า-เซนเรื่องความร่วงโรยของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด มีสิ่งหนึ่งที่เป็นความสวยงามในความไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งนั้นก็คือ ‘ความรัก’ นั่นเอง

ดำดิ่งลงไปในความล้ำลึกของความรักกับเพลง ความรักความงาม ที่อธิบายถึงการตีความสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงความสวยงาม และความรัก ว่าเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก นำมาสู่การให้ความหมาย และความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ภายในจิตใจ หรือ ‘ความงามเกิดขึ้นที่ตา แต่ความรักเกิดขึ้นที่ใจ’ นั่นเอง จากนั้นก็เป็นซีรีส์เพลงจากปรัชญา หนังสือ และบทกวีจีน อย่าง หยั่งฟ้าถามทะเล จากบทสนทนาระหว่างท่านอ๋อง กับ นักปราชญ์ ว่าด้วยความเล็กจิ๋วเหลือเกินของชีวิตมนุษย์กับความยิ่งใหญ่ของจักรวาล (จบเพลงนี้พี่บอยเล่นท่อนฮุคของเพลงใหม่ที่ยังไม่เปิดตัวให้ฟัง บอกได้เลยว่าหวานละมุนมาก ๆ ปังแน่นอน) เพลง จั๊กจั่นรินเบียร์  ที่มาจากปรัชญาของ จวงจื่อ อุปมาอุปมัยถึงนกยักษ์ชื่อ ต้าเผิง ที่มีปีกกว้างเป็นพันลี้ ขยับปีกบินทีหนึ่งก็สะเทือนเลื่อนลั่นไปหมด กับนกน้อย และจั๊กจั่น ที่บินได้เพียงระยะไม่ไกล และมีอายุสั้น สิ่งใดกันเล่าคือความยิ่งใหญ่ ผู้ยิ่งใหญ่มีความสุขจริงไหม หรือ จั๊กจั่นที่กำลังรินเบียร์กับเพื่อนรู้ใจคือผู้ที่มีความสุข และเพลง พระจันทร์ของฉัน ที่แต่งขึ้นเพื่อคารวะ หลี่ไป๋ โดยนำบางท่อนของบทกวีว่าด้วยดวงจันทร์ และสุรา มาแต่งเป็นเพลง ที่เข้ากับบรรยากาศในตอนนั้นมาก ๆ เพราะแสงอาทิตย์สุดท้ายจากไปแล้ว และพระจันทร์ที่ซ่อนตัวอยู่หลังบ้านสวนกำลังรอที่จะเคลื่อนตัวขึ้นมาฉายแสงอาบราตรี

พี่บอยเล่นดนตรีไป คุยไป จนมาถึงเพลงที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง ความรัก ตู้ปลา กับสุราหนึ่งป้าน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะเคยได้ยินเพลงนี้ตามผับตามบาร์มาหลายต่อหลายครั้ง แต่การได้มาฟังต้นฉบับเล่นให้ฟังต่อหน้า ทำให้ผู้ฟังนิ่งเงียบตั้งใจฟังจนคนร้องถึงกับแซวตอนจบเพลงว่าคนฟังดูจริงจังกันมาก ต่อเนื่องกับเพลง โจโฉ ว่าด้วยบุคคลในสามก๊กผู้มีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ แต่ความยิ่งใหญ่นั้นต้องแลกมาด้วยสิ่งใด และการเป็นผู้ปกครองคนทั่วหล้า แต่ไร้ครอบครัวที่ห่วงใยกันอย่างแท้จริง มันคือความสุขจริง ๆ หรือไม่ เขาชวนให้เราตั้งคำถามผ่านบุคคลในพงศาวดารจีน

พอเดินมาถึงครึ่งทางของโชว์ พี่บอยบอกกับผู้ฟังว่ามีอาการปวดหลังเพราะนั่งนาน แต่ด้วยสปิริต บทเพลง มูซาชิ และ อาฮุย ก็หลั่งไหลออกมาจากสายกีตาร์ และคำร้องที่ลึกล้ำกินใจ จบเพลง อาฮุย เจ้าของบ้านเรียกหาแขกให้มาร่วมแจมเพื่อจะได้ลุกยืดเส้นยืดสายผ่อนคลายอาการปวดหลัง ภาระนี้จึงไปตกอยู่ที่ เรืองฤทธิ์ บุญรอด หรือ แสตมป์ดอย มาขับขานบทเพลง หมา และ ฤดูกาล ที่ทำร่วมกับ Warin เป็นการผ่อนคลายบรรยากาศมาฟังเพลงสบาย ๆ และให้เจ้าของบ้านได้พักร่างด้วย (ตอนเจอกันหน้างาน เรืองฤทธิ์บอกว่าวันนี้มาฟัง ไม่ได้มาเล่น)

พี่บอยกลับมาในช่วงท้ายของโชว์กับเพลงความหมายดี ๆ ที่ทุกคนในงานร้องตามได้อย่างเพลง ยินดี ที่เจ้าตัวบอกว่าแต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจจากหนังสือ ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน เพลงรักเศร้า ๆ อย่างเพลง Untitled และปิดท้ายด้วยเพลง โปรดเรียกขานฉันด้วยนามที่แท้จริง ที่แม้ว่าจะไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่โคราชที่จบลงในตอนเช้าของวันที่จัดงานอย่างตรงไปตรงมา แต่เนื้อหาของเพลงมันบีบหัวใจของเรามาก ๆ โดยเฉพาะท่อน “ผู้ที่มีรักคือผู้เข้มแข็ง ผู้เข้มแข็งคือไม่มีความกลัว ผู้ที่ยังมีความกลัวไม่อาจมีความรักและให้อภัย”

เราร้องไห้ และคนที่นั่งฟังข้างเราก็นั่งปาดน้ำตา…..Boy Imagine ลงจากเวทีพร้อมเสียงปรบมือ และปล่อยให้เราอยู่ในความรู้สึกมากมายที่เกิดขึ้นจากเพลงของเขา


พักเบรกด้วยเพลงสบาย ๆ จาก บันทึกของปิติ ที่วันนี้เอาเพลง ฝากฟากฟ้า และ ความฝัน คืนวัน ฉันจินตนาการ มาสร้างความอบอุ่นให้ผู้ฟัง ท่ามกลางอากาศที่เริ่มเย็นลงในช่วงหัวค่ำ ก่อนที่ พี่ซัน มาโนช พุฒตาล จะปรากฏตัวบนเวทีพร้อมเสื้อเชิ้ตแบะอกสีเนื้อ นักร้อง นักดนตรี นักเขียน นักดนตรี พิธีกร และเจ้าของเรื่องเล่ามากมายวัย 64 ปี นั่งลงบนเก้าอี้ แสงไฟในสถานที่จัดงานถูกดับลงให้เหลือเพียงหลอดไฟสีเหลืองที่แขวนอยู่บนเวทีเพียงตัวเดียว พี่ซันกล่าวกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ในความมืดว่า “ผมเตรียมทุกสิ่งมาเพื่อให้พวกคุณมีความสุข ถ้าไม่มีความสุข มาเอาเงินที่ผมได้ ผมพูดจริง” และเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับความสุข และความทุกข์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากประสบการณ์การรับรู้ที่แตกต่าง และลื่นไหลไปตามความรู้สึกของแต่ละคน บทเพลงแรก บอกดวงจันทร์ฉันเหนื่อย ดังขึ้นระหว่างบทสนทนา ทุกอย่างเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งเรื่องเล่า และเสียงดนตรี พี่ซันชวนให้เราเปิดประสาทสัมผัสด้วยคิดถึงสีของเสียงที่ได้ยิน ก่อนจะชวนให้นึกถึงสัมผัสของป่าไม้ และเล่นเพลงเกี่ยวกับป่าอย่างเพลง เชนมีคู่หูเป็นลิง ที่เขียนถึงการทำงานของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่ามือต้น ๆ ของประเทศ และของเอเชีย

Imagine's House

ออกจากป่า พี่ซันเล่าเรื่องการจีบสาวสมัยยังเป็นวัยรุ่นอยู่ที่อยุธยา โดยการใช้ฝีมือกีตาร์เล่นเพลงฝรั่งจีบสาว ซึ่งเพลงที่พี่แกใช้เล่นโชว์สาวตอนนั้นคือเพลง Little Wing ของ Jimi Hendrix เพลง Hey You ของ Pink Floyd และเพลง Behind the Blue Eyes ของ The Doors ลีลาการ picking และโซโล่ที่คล่องแคล่วว่องไว หมายจะมัดใจสาวที่ชื่อ ‘อีเหมียว’ ผลสรุปคือการถูกตะคอกใส่หน้าง่า ‘เสือก!’ เจ้าตัวบอกอย่างขำ ๆ ว่านี่เป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ทั้งชีวิตว่าอย่าเอาดีทางจีบสาว

Imagine's House

ต่อเนื่องเรื่องอยุธยากับซีรีส์เล่าเรื่องไปร้องเพลงไป กับเพลง อยู่อยุธยา ว่าด้วยสภาพชีวิตคนอยุธยาสมัย 60 ปีก่อน ที่ยังพึ่งพาอาศัยแม่น้ำอย่างเต็มที่ อยากกินต้มยำกุ้งก็ลงแม่น้ำไปจับกุ้งก้ามกราม ก๋วยเตี๋ยวเรือแท้ ๆ ที่พายไปจอดขายริมท่าน้ำของบ้านแต่ละหลัง และไม่ใส่น้ำปลาเด็ดขาดเพราะจะทำให้เสียรส แต่ความเปลี่ยนแปลงมาถึงเมื่อเกิดเขื่อน แม่น้ำที่ไม่เคยมีเจ้าของก็มีเจ้าของ มีคนควบคุมการไหลของน้ำ วิถีชีวิตของคนริมน้ำก็เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการตัดถนนอย่างทั่วถึง ทำให้จากเดิมหน้าบ้านที่เคยหันลงแม่น้ำ ก็หันออกสู่ถนน ภูมิทัศน์ที่เคยเป็นทุ่งนากว้างไกล ก็มีปล่องควัน มีเสาสัญญาณต่าง ๆ ผุดขึ้นมา เหลือไว้เพียงความสงสัยของชายวัย 64 ปี ที่สงสัยไปหมดทุกอย่างถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตาตัวเอง

เรื่องเล่าเคลื่อนย้ายจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ป่าห้วยขาแข้ง กับเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร และบทเพลง คนพิทักษ์ป่า ที่เขียนขึ้นเพื่อเชิดชูการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สิ่งละอันพันละน้อยจากประสบการณ์การเป็นนักท่องป่าของพี่ซันพรั่งพรูออกมามากมาย และเคลื่อนย้ายเข้าสู่เพลง ลำธาร สุดยอดเพลง progressive rock ระดับขึ้นหิ้งของประเทศไทย ที่ได้ เอ้—รงค์ สุภารัตน์ มาร่วมแจม ขยับเข้าสู่สายลึกด้วยเพลงที่ปลุกให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของการมีชีวิตอยู่อย่างเพลง ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย ที่ทำให้เราน้ำตาไหลอีกครั้ง และสะกดให้คนฟังเงียบไปทั้งงาน

Imagine's House

ดึงบรรยากาศยามดึกในเบาลงด้วยเรื่องเล่า และเพลงที่เกี่ยวกับครอบครัว และเพลงที่แต่งให้กับ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลที่อยู่ไกลสุดหล้าฟ้าเขียวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดในทุกพื้นที่ จบเพลงนี้ พี่ซันขอบคุณผู้ชมและเอ่ยย้ำข้อความที่พูดไว้ก่อนเริ่มเล่นว่า “ถ้าไม่มีความสุข มารับเงินคืนได้” มีผู้ชมขอ แต่ไม่ได้ได้ขอเงินคืน เขาขอให้พี่ซันเล่นเพลง คนฟังเสียงฝน ที่เขียนให้กับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรท์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนหันมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ก่อนที่จะจบการแสดงช่วง main artist ลงอย่างสมบูรณ์

———-

แต่งานยังไม่จบง่าย ๆ เพราะ เอ้—รงค์ สุภารัตน์ ก้าวขึ้นมาบนเวที ตั้งสายกีตาร์ และพูดกับผู้ฟังว่า “ผมผ่าตัดมา และไม่ได้เล่นกีตาร์มา 2 ปี ทุกครั้งที่ผมจับกีตาร์สายเหล็ก มันเจ็บ เจ็บไปหมด จนผมต้องเปลี่ยนมาเล่นกับสายไนลอน” ก่อนที่จะเริ่มเล่นเพลง อารมณ์ ด้วยกีตาร์สายเหล็ก เรียกเสียงปรบมือได้อย่างเกรียวกราว พอจบเพลง พี่เอ้พูดอีกครั้งว่า “ผมเจ็บ แต่ผมจะพยายามเล่นอีกเพลงเพื่อพวกคุณ” บทเพลง มังกร ถูกกรีดผ่านสายกีตาร์ สะกดทั้งหูและสายตาของคนทั้งงานให้อยู่กับชายร่างผอมที่เกากีตาร์อยู่บนเวที เป็นสองเพลงที่รู้สึกขอบคุณพี่เอ้มากจริง ๆ ที่ยอมทนเจ็บมาเล่นดนตรีให้ได้ฟัง

Imagine's House

ปิดท้ายงานด้วยการแสดงของ บันทึกของปิติ, ชา—วิชา เทศดรุณ ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษที่ได้มือกีตาร์ยุคดั้งเดิมของวง ฮาร์โมนิกาซันไรส์ มาเล่นร่วมกันหลังจากห่างหายไปหลายปี แถมยังมี ดวงดาวเดียวดาย และ เจสซี่ เมฆวัฒนา สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาเล่นดนตรีไปจนถึงดึกดื่นค่อนคืน

Imagine's House

นับเป็นงานที่เต็มอิ่มทั้งจิตใจ และได้เติมเต็มบางสิ่งบางอย่างให้จิตวิญญาณของตัวเองในค่ำคืนนี้

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี