Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

เมื่อ MDC วงดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ยุคบุกเบิกมาบุกที่แกเลอรี่ย่านตลาดน้อย

  • Writer: Kisd Pormjairux
  • Photographer: Kisd Pormjairux and Cold Black Vines

27 มกราคม 2560

15578179_1843450635868353_7894536215641547410_o

เป็นอีกคอนเสิร์ตที่เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายมาก ๆ สำหรับแฟนเพลงฮาร์ดคอร์/พังก์ในบ้านเรา กับการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรกของ MDC (Millions of Dead Cops) วงดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ยุคบุกเบิกจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งวงในปี 1981 ที่เมือง ออสติน รัฐเท็กซัส รุ่นราวคราวเดียวกับโคตรวงในสายนี้ที่แฟนเพลงบ้านเราน่าจะคุ้นหูกันอย่าง Black Flag, Dead Kennedys ในการทัวร์เอเชียครั้งแรกกับชื่อทัวร์ที่เข้ากับสถานการณ์ในบ้านเกิดเมืองนอนของวงว่า “Escape From America : East Asia Tour 2017” ที่มาทัวร์ร่วมกับ The Elected Officials วงพังก์ร็อกสายการเมืองบ้านเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นโชว์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเราได้อย่างเหนือความคาดหมายมาก ๆ แล้ว คอนเสิร์ตนี้ยังให้ความรู้สึกเหมือนงานรียูเนียนของผู้คนในซีนฮาร์ดคอร์ยุคแรกของบ้านเราอีกด้วย

ss1

ด้วยบริเวณถนนเจริญกรุงช่วงตลาดน้อยจะค่อนข้างเงียบในตอนกลางคืน ทำให้ผมได้ยืนเสียงอึกทึกจากในงานตั้งแต่ยังไม่ถึงปากทางเข้าร้าน Soy Suce Bar ดี นอกจาก MDC และ The Elected Officals งานนี้ยังมีวงดนตรีอิสระฝั่งบ้านมาเราร่วมเล่นด้วยอีก 3 วง ได้แก่ License to Kill, Lord Liar Boots และ Cold Black Vines ผมเดินทางไปถึงบริเวณงานประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ทำให้พลาดโชว์ License to Kill ไปอย่างน่าเสียดาย ถือได้ว่าวงนี้เป็นหนึ่งในวงฮาร์ดคอร์พังก์บุกเบิกไม่กี่วงของบ้านเราที่ยังเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าทางวงจะไม่ได้มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องนัก แต่ก็ยังพอกล่าวได้ว่า วงดนตรีวงนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของซีนดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ในประเทศไทยและเป็นแรงบัลดาลใจให้กับวงฮาร์ดคอร์รุ่นหลังอีกหลายวง

llb2

Lord Liar Boots เริ่มเล่นไปได้สักพักในตอนที่ผมเข้าไปในงาน วันนี้พวกเขามาแปลกตั้งแต่คอสตูมยันบทเพลงที่หยิบมาเล่น สำหรับคนที่เป็นแฟนเพลงขาประจำของวงนี้ โชว์นี้น่าจะเป็นโชว์ทำให้พวกคุณแปลกใจและตื่นตลึงไปกับพวกเขาแน่ ๆ เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกที่วงสลัดคอสตูมมนุษย์ป้าที่เป็นกิมมิกสร้างสีสันให้กับการแสดงสดของวงมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา สู่เสื้อกั๊กยีนส์ที่เต็มไปด้วยหมุดเหล็กและอาร์มโลโก้ของวงฮาร์ดคอร์/แทรชเมทั่ลยุค 80s ของ อั๋น มือกีต้าร์  การถอดเสื้อเล่นและร้องตะโกนในแบบที่เรียกได้ว่าถึงของของ จิมมี่ ฟรอนต์แมนของวง แก้ว และ บลู ที่ขึ้นโชว์ในลุคเด็กสเก็ตพังก์ยุคมิลเลนเนียม กับเซ็ตลิสต์ที่หนักหน่วงและเกรี้ยวกราดที่สุดของวง ด้วยการหยิบเอางานเพลงจากวงฮาร์ดคอร์/พังค์ฝั่งอเมริกาหลาย ๆ เพลงมาเล่นกันอย่างดุเดือด ลีลาและดีกรีความมันทำให้นึกถึงวงอย่าง D.R.I ผสมกับ Motorhead ไปอีก ถือว่าวงทำการบ้านมาดีในการออกแบบโชว์ให้เข้ากับงานที่มาเล่น สนุกและเข้ากับบรรยากาศ คนดูในงานต่างพร้อมใจกันโยกไปกับวงด้วยความมัน เสียดายที่ทางวงเล่นเพลงออริจินัลของตัวเองน้อยไปหน่อย (ขี้งอน และเพลงใหม่ของวงที่หยิบมาเล่นหลายโชว์แล้วแต่ก็ยังไม่มีชื่อ) ทางวงจบโชว์ด้วยเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องอย่างเกรียวกราว พวกเขาน่าจะได้เพลงแฟนเพลงกลุ่มใหม่เพิ่มจากงานนี้เยอะทีเดียว

cbv1

Cold Black Vines เป็นวงที่ขึ้นทำการแสดงเป็นลำดับที่ 3 ของงาน ซึ่งน่าจะเป็นอีกวงดนตรีของบ้านเราที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นวง super group ที่รวมสมาชิกจากหลากหลายวงอาทิ Abuse The Youth, Texas Massacre ,Deadtown Trash ถ้าจะให้นิยามสไตล์ดนตรีของวงนี้ตามความเข้าใจผมก็คงจะเป็นวงดนตรีลูกผสมระหว่างความดิบและก้าวร้าวของดนตรีฮาร์ดคอร์กับริฟกีต้าร์แบบฮาร์ดร๊อก/เฮฟวี่เมทัลแล้วตบด้วยจังหวะกลองที่ชวนโยก ผู้ชมวันนี้ถือว่าเยอะพอสมควรถ้าเทียบกับหลาย ๆ งานแนว ๆ นี้ที่ผมได้มีโอกาสได้ไปดูมา แม้กว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติแต่ก็ไม่ถือว่ามากกว่าผู้ชมชาวไทยมากนัก ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนแบบหยาบ ๆ ก็น่าเป็น 60/40 เปอร์เซนต์  โดยส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่อยู่ในวัยทำงาน ทำให้ปฏิกิริยาและการแสดงออกภายในงานจะค่อนข้างจะนิ่งหน่อย โยกกันพองาม แต่ยังไม่ถึงกลางโชว์ดีปรากฎว่าคนดูก็เริ่มเครื่องติดกันแล้ว เอ็ดดี้ ฟรอนต์แมนขอลงมาแหวกฝูงชนเพื่อเปิดวงมอชพิท  เริ่มมีการแท๊ก มอชพิทกันบ้างแบบพองามและไม่รุนแรงนักแต่ก็เป็นไปอย่างสนุก ทางวงกดไปร่วม 10 เพลงในเวลาครึ่งชั่วโมง เพลงสั้น กระชับ มันส์ตามสไตล์ ถือเป็นการวอร์มคนดูให้พร้อมสำหรับสองวงเฮดไลน์จากสหรัฐอเมริกา

handbook

ระหว่างช่วงที่รอวงที่มีลำดับการแสดงต่อไปกำลังเซ็ตเครื่อง ผมเลือกจะใช้เวลาส่วนนี้แวะไปดูบูธขายสินค้าที่วงต่าง ๆ ได้นำมาขายและเสพบรรยากาศรอบ ๆ งาน นอกจากการแสดงดนตรีที่ถือหัวใจสำคัญของการนิยามความหมายของคำว่า คอนเสิร์ต งานนี้ยังเป็นเสมือนพื้นที่ที่เปิดกว้างในการแชร์ความคิด อุดมการณ์และความเห็นทางการเมืองอีกด้วย การได้พบและทำความรู้จักผู้คนใหม่ ๆ ที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารและแนวคิด ในช่วงระหว่างรอ มีชายชาวชาติผิวขาวร่างท้วมคนหนึ่งหยิบหนังสือทำมือขนาดกระทัดรัดปึกเล็ก ๆ ออกจากกระเป๋าและเดินแจกจ่ายให้แก่ผู้ชมในงานอย่างสุภาพ ผมรับมาและลองพลิกอ่านดูก็พบว่ามันคือบทความวิชาการเกี่ยวกับอนาธิปไตยและทฤษฎีเกี่ยวการทำอารยะขัดขืน (civil disobedience) สิ่งนี้คืออีกสิ่งหนึ่งที่ซีนดนตรีและวัฒนธรรมพังก์ทั่วโลกยืนหยัดและปกป้อง เสรีภาพทางการแสดงออก ดนตรีฮาร์ดคอร์/พังก์มีพื้นที่นี้สำหรับทุกคนได้แสดงออก ทำให้คอนเสิร์ตฮาร์ดคอร์เปรียบเสมือน safe spaceในโลกที่เต็มไปด้วยการปิดปั้นทางความคิดและการแสดงออก

teo1

ไม่นานหลังจากนั้นก็ถึงคิวของ The Elected Officials ก็ถึงคิวแสดง ผมเคยชมการแสดงสดของวงนี้ครั้งหนึ่งเมื่อตอนที่ Pistols99 ได้ไปร่วมเล่นในเทศกาลดนตรี Mohawk Fest ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา พวกเขาและเธอเป็นวงสตีทพังก์ดิบ ๆ วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองของประเทศบ้านเกิดอย่างตรงไปมา ภายใต้การนำของฟรอนต์วูแมน โซฟี ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันซีนดนตรีพังก์ในบ้านเราในยุคเริ่มแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีนพังก์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่เจ้าตัวเคยอาศัยอยู่หลายปีในฐานะเจ้าของและผู้ก่อตั้ง Chaos City บาร์พังก์แห่งแรกในเชียงใหม่รวมถึงเป็นโปรโมเตอร์จัดงานดนตรีพังก์อยู่หลายงาน โชว์นี้จึงเปรียบเสมือนการกลับมาเยี่ยมบ้านของโซฟีที่มีเพื่อนเก่าที่เคยร่วมสร้างซีนกันมาคอยต้อนรับอย่างอบอุ่น ให้อารมณ์เหมือนงานเลี้ยงรุ่นประมาณนึง

ss4

อีกทั้งวีธีการดำเนินโชว์ของ The Elected Officials ยังคงให้ความรู้สึกเช่นนั้น ก่อนที่จะเริ่มทำการแสดงในแต่ละเพลง โซฟีจะพูดที่มาและความหมายของเพลงก่อนทำการแสดงเสมอทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่เธอพูดสื่อสารได้ค่อนข้างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในวงพังก์ยุคหลัง ๆ ที่เน้นความกระชับของโชว์มากขึ้น ในขณะ The Elected Officials นำเสนอรูปแบบของคอนเสิร์ตพังก์ในยุคหนึ่งที่การแสดงของแต่ละวงเคยเป็นเหมือนการชุมนุมทางการเมืองขนาดย่อม ๆ มีให้เห็นในโชว์ของวงนี้ คนดูเริ่มกระแทกกันหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงกลางโชว์รวมถึงตัวของโซฟีเองยังพุ่งจากเวทีลงมาร่วมแท๊กกับคนดูอีกด้วย แม้โครงสร้างของเพลงต่าง ๆ ที่เล่นจะเป็นเพลงเรียบ ๆ ดิบ ๆ แต่บรรยากาศและเข้าเพลงทำให้ทางวงสามารถดึงคนดูให้อยู่ในโชว์ได้ตลอด

mdc2

และแล้วก็มาถึงเฮดไลน์เนอร์และไฮไลต์ของงาน MDC หรือ Millions of Dead Cops ในการมาเยือนเอเชียครั้งนี้ไลน์อัพประกอบไปด้วย เดฟ ดิ๊กเตอร์ ฟร้อนต์แมนและผู้ก่อตั้งวงวัย 65 แท๊คทีมร่วมทีมกับ อัล ซีลวิทซ์ มือกลองยุคออริจินอล ที่ปีนี้อายุปาเข้าไป 62 แล้ว, ไมค์ สมิธ ในตำแหน่งเบส และ บิล คอลลินค์ ในรับหน้าที่สับกีต้าร์ เหมือนเห็นหน้าคร่าตาของเดฟ เป็นที่แน่นอนแล้วว่านี่คือวงพังก์ร็อกที่เก่าแก่ที่สุดที่ผมเคยดูมาในชีวิต นับถือสปิริตที่ทางวันยังคงออกทัวร์และเล่นดนตรีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี2000หลังจากลับมารวมวงกันอีกครั้ง ดนตรีของ MDC เป็นสไตล์แบบโอลสคูลฮาร์ดคอร์ที่กระชับ หนักหน่วง เกรี้ยวกราดและรุนแรง แต่ยังแอบมีความโจ๊ะและมีจังหวะจากโคน ที่ทางวงซัดกันแบบลืมอายุ อัล ซีลวิทซ์ ซัดกลองได้หนักและรุนแรงไม่แพ้มือกลองหนุ่ม ๆ แม้จะอายุมากแล้วเช่นกัน ผู้ชมต่างให้การต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดีด้วยการเปิดวงมอชพิทกันตั้งแต่เริ่มโชว์ ที่ทำเอาผมที่ยืนดูอยู่ไกลๆถึงกับต้องเข้าไปร่วมวงที่หน้าเวทีกับเขาด้วย คล้าย ๆ กับ The Elected Officials ทางวงหยุดระหว่างเพลงเป็นระยะเพื่อเล่าที่มาและสาระของบทเพลง ไฮไลท์น่าจะอยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์โดนัล ทรัมป์ ของเดฟ ก่อนขึ้นเพลง No Tump! No KKK! No Fascist USA พร้อมกับปลุกระดมให้ทุกคนร่วมตะโกนเนื้อร้องท่อนคอรัสซึ่งเป็นประโยคกับชื่อเพลงในการเปิดเพลง และเพลง John Wayne is A Nazi วงมอชและแท๊คเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่แม้จะมีการกระทบทั่งแต่ไม่มีการโกรธเคืองอะไรกัน เมื่อใครก็ตามล้มลงจะมือของใครอีกคนยื่นเข้าไปและดึงคนที่ล้มให้ลุกขึ้นมาใหม่เสมอ รวมทั้งหลาย ๆ คนยังคอยกันผู้ชมทันอื่น ๆ ที่เลือกยืนดูสบาย ๆ เป็นบริเวณรอบครึ่งวงกลมอีกด้วย บรรยากาศเป็นอย่างอบอุ่นแบบแปลก ๆ ดี

mdc3

จะเรียกว่าเป็นคอนเสิร์ตที่แฟนเพลงต่างรอคอยก็คงไม่ใช่ ถ้าจะเรียกให้ถูกน่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่ไม่คาดคิดว่าจะได้ดูมากกว่า ด้วยอายุของวงและตัวสมาชิก ประกอบกับเป็นวงอันเดอร์กราวน์คงเป็นการยากที่จะวงแบบนี้จะผ่านให้ดูได้อีกเป็นครั้งที่สอง โดยรวมแล้ว MDC Live in Bangkok เป็นอีกคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ที่จะติดตาตรึงใจผู้เขียนและผู้ชมในงานไปอีกนาน อาจจะมีรอยซ้ำติดแขนติดขากลับไปเป็นที่ระลึกบ้าง และทุกคนต่างกลับบ้านด้วยรอยยิ้มและความทรงจำ ๆ ดี

 

Facebook Comments

Next:


Krit Promjairux

kicking and screaming in Pistols99 อยากใช้ชีวิตเหมือน William Miller ในหนังเรื่อง Almost Famous.