Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

The Sounds Between นิทรรศการศิลปะ ดนตรี ชวนหนีฝุ่นและความวุ่นวายไปสูดอากาศที่ป่ากลางเมือง

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Montipa Virojpan, Lalita Limpapoch and Parkpume Charoenviriya

ในวันที่ความแน่นหนาของฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพ เริ่มเข้าขั้นวิกฤตจนเริ่มหายใจไม่ออก เราเห็นค่าย Tomato Love Records ประกาศว่ากำลังจะมีเวิร์กช็อป The Sounds Between ที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ The Place Between แล้วเราก็ติดใจและเห็นด้วยกับคำกล่าวของ Keigo Torigoe ที่อยู่ในหน้าอีเวนต์ว่า

สุนทรียภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเสียงนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการฟังดนตรีเท่านั้น เสียงในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สุนทรียภาพให้กับชีวิต และเอาเข้าจริง แล้วเสียงในชีวิตประจำวันดูจะเป็นประสบการณ์ส่วนใหญ่ของผัสสะการได้ยินของมนุษย์

จากรายละเอียดของงานและองค์ประกอบหลาย อย่างที่จะเกิดขึ้นภายในวันนั้นทำให้เราตัดสินใจลงทะเบียนไปแบบไม่ต้องคิดมาก แม้จะไม่คุ้นเท่าไหร่ว่าสถานที่จัดงานในย่านบางกระเจ้าอยู่บนพิกัดไหนของแผนที่

The Place Between คือนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Among Others ที่อยากทดลองจัดงานขึ้น โดยชวนเพื่อน ศิลปินมาบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางของการค้นหาตัวตนและความสงบสุขในขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ผ่านงานรูปแบบต่าง ที่ไม่จำกัด และเพื่อเป็นการได้กลับมาสำรวจตัวเองและสิ่งรอบ ใกล้ตัวอีกครั้งหลังจากที่มองข้ามไปเพราะถูกรบกวนโดยความวุ่นวายของโลก

คอนเซ็ปต์ที่พวกเขาต้องการจะนำเสนอเป็นอะไรที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการในทุกวันนี้ เพราะในแต่ละวันชีวิตเราวนอยู่กับตัวหนังสือ หน้าจอคอม มลพิษ รถติด คอนเสิร์ต และปาร์ตี้ ซึ่งถ้าเราต้องทำมันซ้ำ ในทุกวัน จากอะไรที่เราคุ้นชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันมากจนเกินไปก็ทำให้เกิดอาการเฉาหรือหมดพลังขึ้นมาได้เหมือนกัน แล้วการที่เราเห็นว่าในงานนี้ก็จะมีกิจกรรม The Sounds Between ซึ่งเป็น soundwalk workshop ที่จะให้เราได้เดินสำรวจเสียงรอบ บางกระเจ้าเพื่อจะอัดและนำเสียงบรรยากาศพวกนั้นกลับมาทำเพลง ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก แม้ความรู้ทางทฤษฎีดนตรีเป็น 0 แต่เราก็อยากลองไปเรียนรู้และทำอะไรที่ไม่เคยทำ เผื่อว่าจะได้พบอะไรใหม่ ที่ช่วยเติมไฟให้เราได้บ้าง

Sounds Between

โดยก่อนจะได้เวิร์กช็อป ทีม Tomato Love Records ก็ให้เราเข้าไปลงทะเบียน เพราะเขาจำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 12 คนเท่านั้น แล้วโชคดีเหลือเกินที่เราก็สมัครทันและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม (ปรากฏว่าเห็นรายชื่อคนที่ผ่านการคัดเลือกนี่คือมีเพื่อนที่สนิทกันต่างคนต่างสมัครเข้าไปโดยไม่ได้นัดหมายอยู่หลายคน) เมื่อเราได้รับโทรศัพท์ยืนยันสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมจากทีมงาน และอีเมลแจ้งรายละเอียดต่าง ของเวิร์กช็อปและการเดินทางมายัง Hiddenwoods สถานที่จัดงานในครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็ตื่นเต้นมาก อยากให้เช้าวันเสาร์มาถึงเร็ว

23 กุมภาพันธ์ 2562

ไม่คิดว่าความตื่นเต้นจะทำให้เรากะเวลาผิดไปหมด! เวิร์กช็อปเปิดให้ลงทะเบียนตอน 10 โมง และเราจะเริ่มบรรยายตอน 11 โมง แต่เวลาที่กำลังอ้อยอิ่งอยู่นั้นคือ 9 โมงนิด แล้วววว เรารีบพุ่งออกจากบ้านและขึ้น BTS หมอชิตไปลงสถานีบางนา พอถึงก็เป็นเวลาใกล้ 11 โมงแล้ว ว่าจะต่อมอเตอร์ไซค์วินให้ไว แต่ดันไม่มีสักคัน!!! เลยต้องโบกแท็กซี่แทน ดีที่รถไม่ติดมาก พอถึงท่าเรือหน้าวัดบางนานอก ก็เจอป้ายที่ให้ขึ้นเรือข้ามฟากไป Hiddenwoods ตอนแรกเห็นฝรั่งสองคนเดินสวนมาหน้าหวาด ก็งงว่ามีอะไร ลุงที่ท่าก็ถามเราว่า ไปร้านอาหารใช่ไหม เนี่ย 30 บาท เราก็คิดว่า น่าจะใช่แหละ แต่ทำไมไม่เห็นเรือข้ามฟากลำใหญ่ เลยหว่า แต่มีคุณลุงอีกคนนั่งเงียบ อยู่ด้วย แล้วลุงคนแรกก็พูดขึ้นมาว่า ฝรั่งกลัวเรือเล็ก เขาไม่เคยขึ้น ตอนนั้นความรีบและแพนิกของเราทำให้จับต้นชนปลายยังไม่ถูก แล้วพอเขาบอกให้จ่ายเงินให้ลุงอีกคน 30 บาท เราก็แอบงงว่า เอ้า ไปได้เลยหรอ ไม่เห็นมีเรือจอด ปรากฏว่า ลุงที่นั่งเงียบลุกขึ้น เดินนำไปตรงโป๊ะ แล้วปีนลงไปยังเรือเล็ก ของลุงที่จอดอยู่ใต้ท่าเรือ เราเห็นแล้วก็ช็อปไปแปป คือเรือเล็กมากกกกก จริง ไม่แปลกที่ฝรั่งจะกลัวเพราะเราก็กลัว! แต่จุดนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว กลัวไปไม่ทันฟังบรรยายมาก โดดลงเรือแล้วลุงก็จัดสปีดโบ๊ต fast and furious ยิ่งกว่าโทเร็ตโต ความเร็วมันก็แรงพอที่จะให้เรือที่มีผู้โดยสารเพียงสองคนมันเบาจนกระทบคลื่นแต่ละลูกแบบรุนแรง (ไม่เคยต้องนั่งเรือแล้วเกาะกาบเรือแน่นขนาดนี้) น้ำกระเซ็นเข้าหน้าหนูไปหมดแล้วลุ้งงงงง

แต่ความรวดเร็วทันใจสุด มาถึง Hiddenwoods ตอนสิบเอ็ดโมงนิด วิ่งไปลงทะเบียน แล้วเจอคุณน็อต Lab 5 Soundworks ถามว่าทำไมโผล่มาจากทางนั้นคือทางที่เราเดินมาเขามีไม้กั้นห้ามผ่าน แต่เราก็ไม่รู้จะเดินยังไงต่อเพราะก็ขึ้นเรือมาจากทางนั้น เลยต้องข้ามมาก็บอกพี่เขาไปงี้ ก็ได้ความว่า อ้อ ฉันมาเรือคนละลำกับชาวบ้าน แต่เอานะ มาถึงแล้ว รีบซื้อกาแฟแล้วเข้าไปนั่งฟังบรรยายได้ทันเวลาแบบฉิวเฉียด

เล็กเชอร์ในวันนี้เป็นไปอย่างกันเองมาก เพราะคนที่บรรยายไม่ใช่ใครที่ไหนแต่คือเต๊นท์ Summer Dress / Game of Sounds ที่ถ้าใครติดตามเขามาในระดับหนึ่งจะพอทราบว่าเขาเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีโปรเจกต์เดี่ยวที่ทำเป็นดนตรีแอมเบียนต์ ซึ่งทีแรกเรากลัวว่าการบรรยายในวันนี้จะต้องมึนตึ๊บไปด้วยศัพท์เทคนิค แต่เอาเข้าจริงแล้วเขาก็อุตส่าห์เลี่ยงสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ส่วนตัวเราเองก็ตั้งใจเรียนเป็นพิเศษเพราะคิดถึงบรรยากาศในคลาสเล็กเชอร์มหาลัย (กะจะเอาท็อปเซคไปเลยงี้) ซึ่งเราก็เอาเนื้อหาเท่าที่จดได้มาเล่าให้อ่านกัน

เต๊นท์เริ่มอธิบายหัวใจสำคัญของเวิร์กช็อปนี้นั่นคือการสำรวจ ‘soundscape’ ปกติเราจะได้ยินคำว่า ‘landscape’ ซึ่งคือภูมิทัศน์ พื้นที่ ธรรมชาติ สิ่งของที่เห็นรอบ ตัวเรา แต่พอเป็น soundscape มันก็จะหมายถึงเสียงที่มีผลกับพื้นที่รอบ เรานั่นเอง (ตอนนั้นเราก็แอบแซวว่า Soundscape ไม่ใช่ชื่อเพลงของวง Summer Dress หรอกหรอ ฮา) แล้วเขาก็เล่าต่อว่า R. Murray Schafer ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘The Tuning of the World’ เป็นทั้งนักประพันธ์เพลงและนักสิ่งแวดล้อม ได้ไปลองนั่งฟังเสียงในเขตพื้นที่ British Columbia และทำสำรวจว่าเขาได้ยินเสียงของสิ่งมีชีวิตว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนไหน ฤดูกาลไหน หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา ทำให้พบว่าในแต่ละยุคสมัย การเกิดเสียงต่าง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการของพื้นที่นั้น อย่างถ้าสมมติยุคที่ยังเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด สิ่งที่เราได้ยินก็อาจจะเป็นเสียงลำธารที่ไหลผ่าน หรือเสียงลมในทุ่ง แต่พอเกิดสิ่งปลูกสร้างต่าง ขึ้นมา เกิดวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เราก็จะได้ยินเสียงของคนใช้ชีวิต เสียงเครื่องจักร เสียงการทำกิจกรรมต่าง มากขึ้น

Soundscape ก็สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ นั่นคือ referential listening และ reflective listening โดยแบบแรกคือการฟังเสียงรอบตัวเพื่อหาความสัมพันธ์กับสภาพความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ของพื้นที่นั้น ซึ่งความน่าสนใจของการฟังแบบนี้จะทำให้ได้สังเกตว่า ยุคหนึ่งในอดีตที่เสียงของพื้นที่นั้นมีลักษณะแบบนี้ ในปัจจุบันเสียงที่ได้ยินในพื้นที่นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม ซึ่งหลายครั้งผลการศึกษาก็ทำให้พบว่าเสียงมีการเปลี่ยนผ่าน

ส่วนอย่างหลังคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวิร์กช็อปวันนี้ นั่นคือการฟังเสียงรอบตัวสามารถสะท้อนความเป็นตัวตน หรือความรู้สึกของเราได้อย่างไรบ้าง ส่วนมากอาจใช้ฟังเพื่อความสำราญใจ หรือเพื่อทำให้เกิดความพึงพอใจ เช่น บางคนอาจจะชอบบรรยากาศการทำงานในร้านกาแฟ บางคนชอบที่จะฟังเสียงคลื่น หรือบางคนก็หยิบเสียงนั้นมาตีความใหม่เพื่อความสุนทรีย์ อย่างบีโธเฟ่น นักประพันธ์ก้องโลก เคยแต่งซิมโฟนีชิ้นหนึ่งขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากเมโลดี้ของเสียงนกร้อง

จากแนวคิดด้านบนนี้ ได้ทำให้ Schafer ได้ตั้งกลุ่มศึกษา soundscape ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ‘The World Soundscape Project’ ที่เขาและทีมจะพากันออกเดินเพื่อสำรวจเสียงในพื้นที่ต่าง ทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในทีมนี้ก็มี Hildegard Westerkamp เป็นผู้ริเริ่มการ soundwalk หรือการเดินในระยะสั้นเพื่อเปิดมิติการได้ยินของหู รับฟังสภาพแวดล้อมเพื่อให้ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา โดยเธอเคยกล่าวว่า ‘เราจะมีประสบการณ์โดยตรงกับเสียงรอบตัว และมันจะสอดคล้องกับตัวเราเป็นเวลานาน’ ซึ่งเต๊นท์ก็เสริมว่าเวลาที่เราลองบันทึกเสียงบางอย่างเอาไว้แล้วกลับมาเปิดฟัง เราจะสามารถนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนั้นได้ไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับตอนที่เราถ่ายภาพแล้วย้อนกลับมาดูนั่นแหละ

ขั้นตอนการ soundwalk ก็สามารถทำได้ง่าย เริ่มจากการฟังเสียงตัวเองซึ่งเป็นเสียงที่ใกล้ตัวเราที่สุด เสียงเรานี่แหละที่เป็นบทสนทนาแรกกับสภาพแวดล้อมภายนอก อย่างเสียงที่เราเคลื่อนไหวร่างกาย การหายใจ หรือการเดินเหยียบก้อนกรวดก็ตาม เราจะใช้เสียงที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อปรับไม่ให้ทำเสียงดังหรือเบาจนเกินไปที่จะไปขัดกับเสียงที่มีอยู่แล้วในละแวกนั้น เพราะการทำ soundwalk เสียงของเราจะเป็น dialogue ที่มีผลมากกับพื้นที่ที่เรากำลังจะเข้าไป คนที่อยู่แถวนั้นอาจจะทำเสียงแบบหนึ่งอยู่ แต่พอเราเข้าไปเขาอาจจะเปลี่ยนไปทำเสียงอีกแบบก็ได้ (อย่างนี้เหมือนเวลาคุยกับเพื่อนเสียงแบบนึง แล้วอยู่กับแฟนเปลี่ยนไปใช้เสียงสองหรือเปล่านะ?) ดังนั้นหัวใจของการทำ soundwalk คือการตั้งใจฟังสิ่งรอบ มองหา aural perspective หรือมิติของเสียง (สูง ต่ำ สั้น ยาว ใกล้ ไกล) แล้วดูว่าเสียงไหนที่เราสนใจหรือดึงดูดเราเป็นพิเศษ

จากนั้นเต๊นท์ก็ลองเปิดเสียงแบบต่าง ให้เราได้ลองฟัง ไปจนถึงอธิบายการบันทึกเสียงด้วยฟอร์แมตต่าง ว่าไฟล์ลักษณะไหนเหมาะจะไปใช้กับงานแบบใด และแนะนำเครื่องมือในการทำ soundwalk และ field recording เบื้องต้น ปกติเราจะใช้เครื่องอัดเสียง หูฟัง ด้ามจับ แบตเตอร์รี ที่กันลมไว้ครอบหัวไมค์ที่อัดอีกที แต่ถ้าไม่สามารถหาเครื่องอัดได้ก็ใช้โทรศัพท์มือถือได้ นอกจากนั้นก็เป็นเทคนิคต่าง ในการอัด การตั้งค่าเครื่องมือ และข้อควรระวังต่าง หลังจากนั้นเราจะนำเสียงที่อัดได้มาประพันธ์ใหม่ โดยการเขียนเพลงขึ้นมาก็เป็นการตีความใหม่เสียงนั้น ทั้งในแง่ของการอธิบายลักษณะพื้นที่ที่ลงไปสำรวจ อารมณ์ การให้ความหมาย หรือจะทำออกมาให้ฟังยาก/ง่าย ก็ตามแต่จุดประสงค์ของผู้ประพันธ์ ในที่นี้เต๊นท์ยกตัวอย่างงานของ Westerkamp ว่าเธอทำผลงานชื่อ Into the Labyrinth ขึ้นมา เป็นงานที่เธอนำเสียงบรรยากาศในอินเดียที่อัดไว้มาเรียบเรียงใหม่ โดยเธอรู้สึกว่าการไปอยู่ที่อินเดียซึ่งเป็นสถานที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคยทั้งผู้คนและภาษา ทำให้เธอเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในเขาวงกตอันน่าพิศวง

ส่วนงานของเต๊นท์เองเป็นงานชื่อ Welcome to Bangkok จาก EP Bangkok Noise ที่เขาอยากหยิบมลภาวะทางเสียงซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของเมืองมาบอกเล่าความเป็นกรุงเทพ ผ่านการเรียบเรียงโดยใช้สุนทรียศาสตร์ 

เต๊นท์ได้อธิบายการใช้โปรแกรมการทำเพลงเบื้องต้น (ในที่นี้ใช้ Logic Pro กับ Garage Band) และสอนการเลือกวิธีที่จะเขียนเพลงเพลงนึงขึ้นมา หลังจากจบการบรรยาย ทุกคนที่เข้าอบรมก็ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่ม เพื่อเดินไปยังสามเส้นทางรอบ บางกระเจ้าและตลาดบางน้ำผึ้ง หลังจากนั้นทุกคนต้องนำเสียงที่บันทึกได้มาช่วยกันเรียบเรียงออกมาเป็นเพลงภายใต้โจทย์เรื่องระหว่างทางก่อนแยกกันเต๊นท์ก็ย้ำให้พวกเราลองบันทึกเสียงตั้งแต่ก้าวออกไปเป็นเวลาสิบนาที เพื่อให้ฝึกการโฟกัสเสียงที่จะได้ยิน หลังจากนั้นก็เลือกบันทึกเฉพาะเสียงที่สนใจได้

เราออกจากห้องเวิร์กช็อปตอนประมาณบ่ายโมงนิด สวมหูฟัง แล้วเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ ตั้งใจฟังเสียงที่ได้ยินผ่านไมโครโฟนของเครื่องอัด สารพันเสียงตีกันว้าวุ่นในโสตประสาท รวมถึงอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวทำให้เราต้องตั้งสมาธิพอสมควร เราได้ยินเสียงฝีเท้าของตัวเอง ฝีเท้าของเพื่อนในทีม เสียงคลื่นกระทบตอไม้ เสียงเรือยนต์วิ่งหึ่งอยู่ไกล เสียงนกร้อง เสียงลมพัดให้ใบไม้เสียดสีกัน จนเรามาหยุดอยู่ตรงกอไผ่สูงใหญ่กอหนึ่ง และเราถูกเสียงโอนเอนออดแอดของมันดึงดูด การเคลื่อนไหวเอื่อย ราวกับจะล้มลง แล้วกระทบกับไผ่อีกลำ แล้วเอนกลับสลับไปมาช้า มันทำให้เราเกิดความรู้สึกของความไม่แข็งแกร่งมั่นคง แต่ยังต้องยืนหยัดอยู่เพราะโครงสร้างของตัวมันก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะผุพัง

จากนั้นเราก็ออกเดินต่อ ได้ยินเสียงเบรกและเสียงล้อจักรยานของนักท่องเที่ยว เสียงเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ เสียงโทรทัศน์ในบ้านของชาวบ้านละแวกนั้น เสียงเด็ก วิ่งเล่นกัน จนมายังตลาดบางน้ำผึ้ง เราได้ยินเสียงโฆษกพูดประชาสัมพันธ์ให้ทำบุญ เสียงแม่ค้าเร่ขายของ เสียงระฆังลมในร้านขายโมบาย เสียงเครื่องปั่นน้ำผลไม้ เสียงเครื่องคั่วถั่ว เสียงปลาดำผุดดำว่ายในบ่อ ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาจับจ้องเรากับท่าทีประหลาดที่ถือเครื่องอัดยื่นไปทางซ้ายทีขวาที ยอมรับว่าทำให้เสียสมาธิไปจากสิ่งที่ฟังอยู่บ้าง แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เราต้องโฟกัสกับเสียงที่เราต้องการจะอัดมากขึ้น ตอนนั้นเราก็นึกถึงสิ่งที่เต๊นท์พูดก่อนที่เราจะออกมาจากห้องเวิร์กช็อปอีกครั้งว่าที่เราอยากให้ทุกคนได้รู้คือ จริง แล้วบางกระเจ้าก็ไม่ได้สงบขนาดนั้น มันมีธรรมชาติก็จริง แต่ถ้าเดินเข้าไปในเขตชุมชนหรือในตลาดก็จะพบว่ามันยังมีความวุ่นวายอยู่ดีมันเป็นอย่างนั้นจริง

พวกเรากลับมาถึงที่เวิร์กช็อปประมาณสองโมงครึ่ง มีเวลาประมาณ 40 นาทีในการเอาสิ่งที่อัดมาได้ของแต่ละคนมาปะติดปะต่อเป็นเพลงความยาวขั้นต่ำ 1 นาที ก่อนอื่นก็เริ่มคุยกันถึงคอนเซ็ปต์ว่าอยากจะทำเพลงแบบไหนจะทำให้เป็นงานทดลอง เน้นเอาเสียงบรรยากาศที่อัดมาได้มาเป็นส่วนประกอบของดนตรีอย่างการทำบีต หรือทำนอง หรือจะใช้มันถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างออกมา พวกเราสรุปได้ความว่าจะเล่าเรื่องการใช้ชีวิตของคนที่ต้องอยู่ร่วมกับทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยเราจะเขียนออกมาเป็นเพลงที่ผสมผสานระหว่างบีตของเครื่องจักร คลื่นน้ำ กับแอมเบียนต์ธรรมชาติที่พอจะเป็นเมโลดี้ได้ เริ่มเล่าเรื่องจากการทำสิ่งซ้ำ จนรู้สึกถึงความตึงเครียด วุ่นวาย เหนื่อยหน่ายกับระบบ และต้องการหาทางออกไปสู่ธรรมชาติอันสงบสุขอีกครั้ง ด้วยความคิดเท่านี้ก็ดึงเอาพวกเราหัวหมุนกันไปหลายตลบเพราะต่างคนต่างมีภาพในหัวไม่เหมือนกัน และด้วยเวลาเพียงเท่านั้นทำให้ไม่สามารถสำรวจ source ที่ทุกคนมีได้ครบถ้วน แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็นงาน industrial ที่ใช้ได้ทีเดียว ต้องขอบคุณบุ๊ค สต๊าฟประจำทีมเราที่สามารถตัดแปะวัตถุดิบของพวกเราได้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ขนาดนี้ (ถ้าไม่มีน้องพวกพี่ตายแน่ อ๊อก)

เมื่อทุกคนทำเพลงของตัวเองเสร็จแล้ว แต่ละกลุ่มก็ได้ออกมานำเสนอคอนเซ็ปต์และผลงาน ซึ่งแต่ละทีมก็มีไอเดียการเล่าที่ต่างกันไป รวมถึงเสียงที่บันทึกมาแม้จะเป็นเสียงจากละแวกเดียวกัน แต่ด้วยเวลาที่บันทึก หรือเสียงที่แต่ละคนสนใจก็แทบจะต่างกันทั้งสิ้น รูปแบบการเรียบเรียงเพลงก็ไม่เหมือนกันแม้แต่นิดเดียว ยิ่งเป็นการยืนยันทฤษฎีที่เต๊นท์เล่าไปตอนต้นว่าแม้ทุกคนจะอัดเสียงมาจากที่เดียวกัน แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เสียงที่อัดมานั้นจะมีลักษณะตรงกันทุกประการและช่วงท้ายสุดของเวิร์กช็อป เต๊นท์ก็สรุปให้พวกเราฟังว่า จริง แล้วจุดประสงค์ของเวิร์กช็อป The Sounds Between นี้ก็เพื่อให้เราที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกวุ่นวาย มีการเปลี่ยนแปลง และถูกปลูกฝังให้ต้องแข่งขันกับระบบ ได้หันกลับมาตั้งใจฟังสิ่งใกล้ตัวที่เรามักจะมองข้าม และเราก็จะพบกับความสงบภายใน ซึ่งหลังจากที่เราผ่านการเวิร์กช็อปนี้แล้ว มันก็เป็นอย่างที่เขาว่าจริง (ตอน soundwalk เนี่ยใช่ แต่ตอนคิดว่าจะเขียนเพลงออกมายังไง อันนี้เค้นหัวแทบจะระเบิดเลยจ้า ฮือ)

ตอนเวลาประมาณสี่โมงครึ่ง แดดร่มลมตกพอดี ก็เป็นช่วงแสดงดนตรีแอมเบียนต์จากศิลปินที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ทั้ง Flower Dog หรือโปรเจกต์เดี่ยวของแนท มือกีตาร์ Summer Dress ร่วมกับ ณป่าน มือกีตาร์ Hariguem Zaboy และเต๊นท์ กับน็อต มาเป็นดูโอ้โมดูลซินธิไซเซอร์ในชื่อ Tomato Lab 5 เพลงของพวกเขามีทั้งการบรรเลงกีตาร์ฟังสบาย เล่นออกมาเป็นโน้ตโดด สอดประสานซินธ์ล่องลอย ไปจนถึงการทำ looping guitar ผสมกับแอมเบียนต์ที่ให้ความรู้สึกเป็นเลเยอร์ของเสียงหนา มีทั้งเสียงน้ำผ่อนคลาย ไปจนถึงพาร์ตที่ให้ความรู้สึกตึงเครียด พิศวง ราวกับล่องลอยอยู่ในอวกาศไร้การควบคุม บางช่วงก็มีการใส่เสียงบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างพวกเขา นัดหมายว่าจะไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ เป็นการเรียบเรียงเพลงที่เหมือนจะอิมโพรไวส์ แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาน่าจะออกแบบโชว์มาแล้วประมาณนึง ซึ่งสำหรับเราแล้วโชว์ในวันนั้นก็หลากอารมณ์ ครบรส ทว่าเข้ากับบรรยากาศของสถานที่ และผู้ชมเองก็ตั้งใจฟังพวกเขามากทีเดียว

จบจากการแสดงนี้ไปแล้วก็ต้องพักรอการแสดงต่อไปเซ็ตเครื่องไม้เครื่องมือกันก่อน เราเลยลุกไปดูนิทรรศการอีกส่วนของ The Place Between ที่เป็นการนำเสนองานศิลปะไม่จำกัดรูปแบบของศิลปิน illustrator ที่มาทั้งแบบภาพวาด เพนติ้ง ประติมากรรม ซึ่งน่าสนใจและนำเสนอตัวตนของแต่ละคนได้ดีมาก

จนเวลาเกือบหกโมง ก็เป็น session ดนตรีสดของวงดนตรีที่กำลังน่าจับตามองมาก แบบที่พูดชื่อแล้วทุกคนต้องร้องอ๋อ เริ่มกันที่วงน้องใหม่ไฟแรง แต่ปุปับก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 15 นั่นคือ Soft Pine แต่วันนี้เมี่ยงมือเบสไม่มาเพราะติดสอบทำให้ได้เพื่อนอีกคนมาเล่นแทน เปิดมาด้วยอินโทรสุดนุ่มละมุนกับซาวด์กีตาร์น่ารักให้เราได้ปรับหูจากโชว์แอมเบียนต์ที่แล้วเข้าสู่ความมีจังหวะจะโคนบ้าง ต่อด้วยเพลงกีตาร์ย้วย เบสหนุบหนับอย่าง Morning และเพลงทำนองน่ารัก เนื้อหาเศร้า ใน Lido แต่บอกเลยว่าทุกคนจะติดใจลิกกีตาร์ แต่วแน้ว ของเพลงนี้แน่ เพราะเป็นจังหวะโจ๊ะ แต่ยังฟังสบายตามสไตล์อินดี้ป๊อป และโซโล่ก็น่ารักมาก จบเพลงนี้ เอ๊กซ์ ฟรอนต์แมนกล่าวขอบคุณแต่ยังไม่จบครับ อยากพูดเฉย จากคนขี้อายกลายเป็นกวนขึ้นมาซะงั้น เขาเล่าว่านี่เป็นงานแรกของ Tomato Love Records ที่จัดขึ้นร่วมกับ Among Others และเล่าส่วนต่าง ภายในงาน จากนั้นก็แซวไวกิ้ง มือกีตาร์และคีย์บอร์ดว่ามีอะไรจะพูดหรือเปล่า เห็นกระซิบ อยู่ ไวกิ้งเลยบอกว่าเพลงต่อไปชื่อ เผลอนอนต่อได้เวลาของเพลงแรกที่พวกเขาปล่อยออกมาและทำให้หลายคนโดนตกไปตาม กัน ก็เนื้อหาเพลงตรงใจวัยรุ่นขนาดนั้น แล้วต่อด้วยเพลงบรรเลง My Sweet Egg เล่นกีตาร์สลับคอร์ดกุ๊งกิ๊ง แต่บีตท่อนฮุกหนักแน่นดีมาก แล้วอยู่ดี พวกเขาก็ดึงย้วยเล่นช้ากว่าปกติ อยากเอนหลังเลยค้าบ ส่วนช่วงท้ายเพลงเอ๊กซ์ก็สลับมาใช้เอฟเฟกต์อีกตัวให้เสียงสดใสกว่าเดิม และปิดท้ายด้วยซิงเกิ้ลใหม่ที่พวกเขาเพิ่งปล่อย Indoor Plant ซึ่งช่วงอินโทรก็จัดเป็นแอมเบียนต์ที่เพลินมาก ตอนขึ้นเวิร์สนี่ยังคงความย้วยได้อย่างดี และเราก็พบว่าเพลงนี้เมื่อถูกนำมาเล่นที่ Hiddenwoods แล้วคือเข้ากับบรรยากาศมากจริง

เมื่อวงแรกแสดงจบไป แจนณัฐนิช โรจนถาวร หนึ่งในตัวแทนของ Among Others ผู้จัดงานก็ออกมาเล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดนิทรรศการนี้ เธอเล่าว่าตั้งแต่ที่เธอและเพื่อน เรียนจบด้านศิลปะมาก็ยังไม่เคยได้ทำงานด้านนี้เลย และเนื่องจากรู้จักกับเจ้าของสถานที่และเห็นพื้นที่นี้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างใหม่ ก็คิดไว้ว่าถ้ามีโอกาสได้ทำอะไรสักอย่างกับพื้นที่นี้ก็คงจะดี ซึ่งสิ่งที่เธอทำก็ตรงกับจุดประสงค์ของนิทรรศการที่อยากให้ทุกคนได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง ได้ลองใช้ความคิด หรือได้พักจากสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันอย่างเช่นงานประจำ มาเจออะไรแปลกใหม่ในพื้นที่ว่างแห่งนี้ นี่แหละคือ The Place Between

เวลาประมาณ 6.45 ก็ถึงคิวของวงป๊อป Folk9 ที่เพิ่งมีงานเปิดอัลบั้มเต็มชุดที่สองไปเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเราเสียดายมาก ที่พลาดงานครั้งนั้นเพราะจัดชนกับอีกงานนึง ดังนั้นนี่จะเป็นครั้งแรกที่เราได้มาฟังงานใหม่ในอัลบั้ม Chinese Banquet ของพวกเขาแบบสด เริ่มกันที่เพลงแรกที่แค่ขึ้นอินโทรซาวด์จีน มาก็ต้องรู้เลยว่านี่คือ แว่นกันแด อย่างแน่นอน จะบอกว่ามีช่วงนึงที่เพลงนี้ติดอยู่ในหัวเราไปทั้งวัน และในวันนี้ก็มีผู้ชมบางคนสามารถร้องตามได้ เสียดายที่ไลน์กีตาร์เด่น ของเพลงในโชว์นี้เบาไปหน่อย ส่วนเพลงต่อไปก็ยังมีความจีนอยู่ด้วยซาวด์ของคีย์บอร์ด ซึ่งแต่เดิมพัดเป็นคนเล่นกีตาร์ ก็ย้ายไปเล่นตำแหน่งนั้นแทน และได้เอ๊กซ์ Soft Pine มาเล่นกีตาร์แทนเขา นี่คือเพลง The Waiter ที่เป็นเพลงจังหวะสนุก ภาษาอังกฤษที่น่าเอ็นดูเสียเหลือเกิน จบเพลงนี้ กราฟ ฟรอนต์แมนบอกว่าพวกเขาจะเล่นเพลงจากอัลบั้มใหม่ทั้งหมด เพลงต่อไปก็เลยเป็น เงือก เพลงช้า ฟังแล้วพาซึม เหมือนพวกเขากำลังเล่าเรื่องเปรียบเทียบผู้หญิงคนนึงที่ดูจะไม่เปิดใจกับเขาขนาดนั้น ว่าเหมือนนางเงือกที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษ ไม่เหมือนใคร แต่ก็มีความลึกลับ ระหว่างที่กำลังฉงนในความพิศวงของเธอ เราอาจจะไม่รู้ตัวในวันที่เธอหายไปจากชีวิตเรา และถ้าเราพยายามตามหาเธอก็คงจะหาไม่พบ เพลงนี้มีความเป็นแจ๊สที่รื่นรมย์อยู่ในช่วงโซโล่ซึ่งเราชอบมาก ต่อกันด้วยเพลงนุ่ม เซ็กซี่ อย่าง Kiss ที่เมโลดี้กีตาร์ย้วย ในเพลงดีงามเหลือเกิน คีย์บอร์ดก็น่ารักมาก และตามด้วยเพลงโปรดของเราในอัลบั้มนี้นั่นคือ Plant มาเป็นจังหวะดิสโก้เท่ แต่มีซาวด์ซินธ์ขี้เล่น กุ่งกุงกุ๊งกุงกุง เหมือนเป็นเพลงประกอบวิดิทัศน์การสอนปลูกต้นไม้ ตามด้วยเพลง Romantic Scene และ Erotic Scene ตามลำดับ เอ้อ พอฟังเพลงอัลบั้มนี้แล้วก็รู้สึกว่ากลมกล่อมและชัดเจนในแนวทางของชุดใหม่นี้ดีจังเลย

แล้วก็ถึงเวลาของวงสุดท้ายในงานนี้อย่าง Supergoods ซึ่งในโชว์นี้เห็นว่าพวกเขาไม่มีมือคีย์บอร์ด เราก็นึกสงสัยแล้วว่าจะทำโชว์ออกมาแบบไหน เพราะทุกทีที่ได้ดูวงนี้จะมีความกรูฟโซลชัดมากก็เพราะคีย์บอร์ดเนี่ยแหละ เปิดมาด้วยเพลงแรกในเวลาทุ่มครึ่งกับ Come Rain or Come Shine เพลงจังหวะสนุก ที่เราชอบมาก ของพวกเขา ซึ่งพอไม่มีคีย์บอร์ดแล้วก็ไม่ชินจริง แต่ก็เพราะดีไปอีกแบบ ต่อด้วยเพลง Blue Dream เพลงแรกที่พวกเขาปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการ ถูกเอาไปรีอะเรนจ์จนหวานขึ้นมาก ซึ่งเราชอบเวอร์ชันนี้จัง มันดูไม่ระทมแบบออริจินัล แต่เป็นอะไรที่ชวนฝัน คืออันนั้นจะเหมือนแบบ ฉันตื่นขึ้นมาแล้วพบว่านั่นคือความฝันนะ ไม่อยากตื่นเลย เซ็งจังวะ แต่อันใหม่นี่คือฝันเมื่อคืนดีจัง คงจะดีนะถ้าได้ฝันต่อ คือความเข้มข้นในความรู้สึกจะต่างกันประมาณยึง และเวอร์ชันที่เล่นสดที่งานนี้ก็ทำเอาเราร้องไห้ไปเลย ตอนท้ายเกิดการอัพบีตขึ้นมาได้เท่มาก มีท่อนอิมโพรไวส์ร้องว่าแม้แต่นอนหรือหลับตา ทุกครั้งเห็นภาพเธอ’ คือดีมากกก ไม่ไหวแล้วววว จากนั้นพวกเขาก็คัฟเวอร์เพลง Please ของอะตอมได้ละมุนมาก ตามด้วยงานจากตะแม่ Sade ใน Love is Stronger Than Pride เสียงของมาย นักร้องนำคือสะกดเราไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงจังหวะกลองในเพลงนี้ก็โดดเด่นเอามาก ๆ และส่งท้ายงานในค่ำคืนนี้ไปด้วย Bye Bye ซิงเกิ้ลล่าสุดที่ปล่อยออกมา มายบอกเรื่องราวในเพลงนี้คร่าว ๆ ประมาณว่าความสัมพันธ์อะไรที่ไม่ดีก็ให้ตัดทิ้งไปซะ เลือกอะไรที่มัน sparks joy เราดีกว่า ซึ่งเพลงนี้ก็หยิบมารีอะเรนจ์เป็นเพลงนุ่ม ๆ ที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ คือสน็อปกับเอิมมือกีตาร์ได้มาช่วยกันคอรัสด้วย (ก็เพราะว่าไม่มีคีย์บอร์ดก็ต้องหาทางลงกันเด้อ) แล้วมีท่อนหลังโซโล่ที่ขึ้นผิดจังหวะ แต่วงก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เนียนมากแบบถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่าขึ้นผิดท่อน เนียนขนาดนี้คือเซียนแล้ว ส่วนช่วงหลัง ๆ ของเพลงก็เปลี่ยนสไตล์เพลงมาเป็นประมาณดรีมป๊อปจนเราเหวอไปเลย ยิ่งช่วงท้ายสุดก็สลับมาเป็นเร็กเก้ เซอร์ไพรส์เยอะมากกกก เป็นโชว์ที่อิ่มและประทับใจมาก ๆ เพราะเราไม่เคยฟัง Supergoods เล่นออกมาในเวอร์ชันนี้แล้วก็สร้างบรรยากาศแบบใหม่ที่ดีคนละแบบไปเลย

ได้เวลาอันสมควรที่จะกลับเข้าเมืองกันแล้ว คนร่วมงานหลาย คนที่มาด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็เริ่มแยกย้ายกัน ส่วนคนที่มาทางเรืออย่าง เรา ที่งานเขาก็จองเรือข้ามฟากลำใหญ่ไว้ให้รอบแรกตอนสามทุ่มครึ่ง ทำให้เราได้นั่งชิลกันต่ออีกพักใหญ่ นั่นเลยทำให้เราได้มานั่งทบทวนถึงกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในหลายปีที่เราได้กลับมาทำอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นการรีเฟรชเราที่ล้าจากงานที่ผ่าน มาได้ดีมาก ได้ลองทำสิ่งใหม่ ได้แชร์ความคิดกับคนอื่น แล้วก็ได้ฟังดนตรีดี ได้ดูงานศิลปะที่หลากหลาย ได้สำรวจพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ได้ค้นพบว่าบางกระเจ้าไม่ได้มายากอย่างที่คิด แถมยังเป็นทางเลือกให้เราได้มาสูดอากาศฟอกปอดกันก่อนจะกลับไปต่อสู้กับชีวิตในเมืองกันต่อแหละนะ ขอบคุณ Among Others และ Tomato Love Records ที่จัดงานลักษณะนี้ขึ้นมา งานน่ารัก ร่มรื่น และกันเอง ดีใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้นะ ส่วนใครที่อ่านแล้วสนใจว่าสองกลุ่มนี้เขาจะทำอะไรสนุก ขึ้นมาอีกก็ต้องรอติดตามในแฟนเพจของพวกเขาไว้ได้เลย 🙂

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้