Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

บันทึก SXSW #1 รู้จักกับศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

  • Story and photos by Warut Duangkaewkad

SXSW 2019
Austin, Texas, United States of America

PART 1: SXSW คืออะไร ?

หลายคนคงเคยได้ยินหรือได้เห็นภาพจากงาน SXSW (South by Southwest) ที่เราพูดถึงไปบ้างแล้ว ส่วนตัวเคยได้ยินชื่อมานานมากแล้วแต่ยังไม่เคยมีเวลาศึกษาว่าเป็นมายังไง มีรายละเอียดแบบไหนบ้าง แต่ในปีนี้ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน SXSW 2019 มา ก็อยากมาเล่าให้ฟังกัน

เล่าแบบคร่าวๆ คือ งาน SXSW เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1987 ที่เมือง ออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเกิดทุก ๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคม ตอนนั้นยังเป็นเทศกาลขนาดเล็กที่มีคนเข้าร่วมเพียง 700 คน จนมาถึงปัจจุบันที่แต่ละปีมีคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่าแสนคน งานนี้ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลดนตรี แต่เอางานสัมมนา งานพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ การออกบูธแสดงผลงาน และนิทรรศการเข้ามารวมอยู่ในงานเดียว แบ่งออกเป็น interactive, ดนตรี, ภาพยนตร์ และเกม เพื่อตอบสนองผู้คนทั้งนักธุรกิจ นักลงทุน เหล่าครีเอทิฟ นักดนตรี หรือผู้เข้าชมทั้งหลาย เป็นงานที่มีความหลากหลายมากที่สุดงานหนึ่งของโลก

ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการแสดงงาน trade show และจัดคอนเสิร์ต showcase ของเทศกาล SXSW ผ่านการสนับสนุของ NIA (National Innovation Agency) และการร่วมมือระหว่าง ฟังใจ กับ Nylon Thailand โดยได้พาวงดนตรีไทยไปแสดงด้วย คือ Yellow Fang, Chanudom, DCNXTR แถมยังมี My life as Ali Thomas ที่ได้รับเลือกไปแสดงด้วย (ถ้าอยากรู้ว่าข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านได้ในนี้เลย)

มากกว่าเทศกาล?

ด้วยขนาดของงานที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เทศกาลนี้จึงไม่ได้ตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหน่วยงานรัฐบาลเมืองออสตินเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ อีกทั้งชาวเมืองทั้งหลายยังคงยินดีที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน จนก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนทั้งระบบกว่า 350 ล้านเหรียญ! ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับขนาดของเมืองออสติน ตัวเมืองออสตินเองนั้นมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก เทียบให้เห็นภาพก็เป็นย่านสยาม+สีลม+เพลินจิต ที่มีทุกอย่างครบถ้วนในละแวกใกล้ ๆ กัน แม้ว่างานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ Downtown แต่บริเวณโดยรอบนั้นก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับเทศกาลนี้ ถ้าจะให้อธิบายง่าย ๆ พื้นที่ที่ถือเป็นศูนย์กลางของงานทั้งหมดคือ Austin Convention Center เป็นที่จัดแสดงงานหลัก มีทั้ง exhibition hall นิทรรศการ และห้องประชุมต่าง ๆ และกระจายไปตามโรงแรมต่าง ๆ ทั่วเมือง

สำหรับกิจกรรมที่เป็น conference บ้านและร้านค้าหลาย ๆ หลังในเมืองถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ  ที่เรียกกันแบบง่าย ๆ ตามเจ้าของที่ เช่น บ้านญี่ปุ่น บ้านบราซิล บ้านเฟซบุ๊ก ฯลฯ ที่แทบจะเปลี่ยนหน้าตาของเมืองไปเลย ทางด้านดนตรีนั้น บาร์จำนวนมากถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต ซึ่งมีตั้งแต่สเกลหลักร้อยไปจนถึงหลายพัน รองรับศิลปินกว่า 2,000 กลุ่ม ซึ่งก็แบ่งแยกไปตามแนวเพลง ตามความเหมาะสม กระจายไปทั่วเมืองในหลาย ๆ ย่าน ซึ่งบาร์พวกนี้นี่แหล่ะ ที่เราต้องวางแผนวิ่งไปมาเพื่อตามวงที่อยากดู ที่แต่ละสถานที่ก็มีสเน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป จนทำให้ตื่นตาอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในโบสถ์ ในลานจอดรถโรงแรม ร้านอาหาร ในสวนสาธารณะ

พื้นที่ในแต่ละย่านสำคัญที่พอเล่าให้นึกภาพง่าย ๆ ได้แก่ 6th Street ที่ทั้งเส้นจะเป็นบาร์ทั้งสองฝั่ง คล้าย ๆ กับ ถนนข้าวสาร ซึ่งเส้นนี้ก็จะปิดถนนตลอดทั้งเทศกาล น่าจะเป็นถนนที่คึกครื้นที่สุดแล้ว ต่อมาถนน Red River จะตัดกับ 6th Street ขึ้นไปทางเหนือ เส้นนี้จะมีสถานที่จัดคอนเสิร์ตอยู่เยอะเลย สามารถเดินวนดูได้ทั้งคืน ถัดออกไปทางตะวันออกหน่อย ฝั่ง East St. จะเป็นพวกโรงแรม ลานต่าง ๆ ที่ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นงานคอนเสิร์ต บรรยากาศดีเลยทีเดียว อีกย่านนึงที่คึกคักคือ Rainey Street ที่ทั้งเส้นก็จะเป็นร้านเหล้า เป็นบาร์ และมีคอนเสิร์ตตลอดช่วงที่จัดงานเช่นกัน เรียกได้ว่า ไม่ว่าหลงไปทางไหนในช่วงสัปดาห์นี้ ก็ไม่พันเสียงดนตรีแน่นอน

ด้วยความหลากหลาย ช่วงเวลา และระยะทางที่ห่างกันออกไปของแต่ละสถานที่ การเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ นั้น ไม่ยากอย่างที่คิด ที่เมืองออสตินหากเดินตามถนนหนทาง เราจะเห็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจอดอยู่เต็มไปหมด มีอยู่หลายเจ้าเลยด้วย ซึ่งวิธีการใช้การง่ายเพียงแค่โหลดแอป ฯ แล้วแสกนเพื่อนเป็นการปลดล็อกตัวรถ หลังจากนั้นจะไถไปไหนก็ได้ตามใจ (แต่ต้องตามกฎจราจรนะ) พอถึงที่หมาย ก็จอดข้างทางได้เลย ในแอป ฯ ก็จะตัดเงินจากบัตรเราไปแบบง่ายดาย เดินกันตัวเบา ๆ ดูงานต่อได้ แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะหากไปจอดในที่ห้ามจอด หรือถนนที่ปิดอยู่ เราก็จะโดนปรับด้วย เพราะฉะนั้นต้องดูกันละเอียดหน่อย (มีคนโดนไปแล้ว ค่าปรับน่าจะประมาณ $20 ถ้าจำไม่ผิดนะ)

Music Badges?

โครงสร้างของงาน ด้วยความหลากหลายของเนื้อหาในแต่ละประเภท ทำให้ตัวงานกินเวลาการจัดยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็น การศึกษา, interactive, ดนตรี, ภาพยนตร์, และเกม อย่างละ 3-4 วันเหลื่อมกันไป ด้วยความหลากหลายนี้ทำให้มีคนจำนวนมากตามไปด้วย ทุกคนจึงถูกจำแนกออกเป็นบัตรต่าง ๆ แต่ละประเภท ซึ่งหากเป็น Platinum ก็จะสามารถเข้าดูทุก ๆ อย่างได้โดยถูกจัดเป็นกลุ่มหลัก ในขณะที่บัตรแบบ Interactive เน้นการเข้าฟัง conference ต่าง ๆ และการเข้าชมบ้านต่าง ๆ Music ก็เน้นการดูคอนเสิร์ต (ซึ่งเราได้เป็นบัตรประเภทนี้) Film ก็ดูหนัง ซึ่งหากไม่ใช้ป้ายแบบที่ตัวเองถืออยู่ ก็มีสิทธิ์ที่จะตกเป็นประชาชนชั้นสองในการเข้าดูอะไรต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งถึงขั้นหมดสิทธิ์เข้าเลย เพราะต้องรอจนกว่าคนที่ได้สิทธิ์นั้นเข้าไปก่อนจนหมด แต่ต่อให้เราเป็น Primary Access ที่ถือบัตรตรงกับงานที่จะเข้าไป แต่ถ้าไปสาย ก็มีสิทธิ์ที่จะพลาดได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องวางแผนกันล่วงหน้าดี ๆ เลย (ชะล่าใจจนพลาดไปหลายอย่างเหมือนกัน)

Festival?

คอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นในงานแบ่งออกได้เป็น 3 แบบคร่าว ๆ คือ เวทีหลักที่เป็นตัวงานเอง ซึ่งจะอยู่ภายในอาคาร Austin Convention Center เวทีตามบ้านต่าง ๆ เป็นเสมือน private party ที่แต่ละที่จะจัดขึ้นมา (อย่างที่บ้าน Facebook Art House ที่นำ Toro Y Moi มาเล่นปีนี้) และสุดท้าย เวที showcase ต่าง ๆ ของศิลปินที่ได้รับเลือกให้มาเข้าร่วม ซึ่งจะกระจายไปหลาย ๆ ที่ มีทั้งวงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และวงที่น่าจับตามอง ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ศิลปินหลายคนต้องการ เนื่องจากหลาย ๆ วงที่เรารู้จักกันทุกวันนี้เองก็ผ่านการแสดงที่ SXSW ก่อนที่จะมีค่ายเพลง แมวมองต่าง ๆ มาช่วยดันจนมีชื่อเสียง เช่น Amy Winehouse, Haim, John Mayer, Grimes, Foster The People, Katy Perry และอีกเพียบบบบบ

SXSW

จากศิลปินที่มีจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่จำกัด เทศกาลจึงกินเวลายาวนานเป็นสัปดาห์ ที่มีคอนเสิร์ตให้ดูแทบจะตลอดเวลา (เยอะมากแค่ไหนลองไล่ดูได้ https://schedule.sxsw.com/2019/artists/alpha ) เราจึงใช้เวลากว่า 10 วันในการดูคอนเสิร์ตให้มากที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะอำนวย ตั้งแต่วันที่ 8-17 มีนาคม จากวันแรก ๆ ที่เมืองยังเงียบอยู่ จนเริ่มมีความคึกคักขึ้นมาเรื่อย ๆ เมื่อใกล้ถึงวันงาน จนช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุด แทบจะเลือกไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าเวทีไหน ๆ ก็น่าดูไปหมด หลายวงก็เป็นความบังเอิญที่ได้เจอ มีแบบเซอไพรส์และประทับใจจนต้องตามไปดูซ้ำอีกที เดี๋ยวจะมาไล่เรียงว่าวงที่ได้ดูมาทั้งหมด มีอะไรบ้าง เป็นยังไง และมีเพลงไหนที่น่าสนใจที่อยากให้ลองฟังกันในตอนหน้า

Facebook Comments

Next:


warut duangkaewkart

ชื่นชอบการมองหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ รอบตัว และ สนใจในงานออกแบบมากพอๆ กับการฟังเพลงที่เนิบช้า