ตะลอนทั่วกรุงกับ White Shoes & the Couples Company
- Writer: Montipa Virojpan
DAY 0
ช่วงสองสัปดาห์ก่อนเราได้รับข้อความจากคุณป๊อก วรรณฤทธิ์ พงศ์ประยูรแห่ง Stylish Nonsense ว่าจะมีศิลปินจากอินโดนีเซียมาแสดงที่บ้านเราในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน ซึ่งพอรู้ว่าวงนั้นคือ White Shoes & the Couples Company เราก็ดีใจและอยากดูมากเพราะยังไม่มีโอกาสได้ดูเล่นสดเลย เพราะเป็นวงที่ฟังสมัยเข้ามาฟังเพลงนอกกระแสใหม่ ๆ ตอนนั้นก็ประมาณช่วงจะเข้ามหาลัยได้มั้ง แต่พอรู้ว่าจริง ๆ แล้วจะมอบหมายให้เราไปช่วยดูแลวงในสองวันนี้ เราก็ช็อคดิครับ ไม่เคยทำงานดูแลศิลปินมาก่อนเลย ที่เคยทำก็เป็นงานติดต่อประสานวงมาเล่นเทศกาลดนตรีของที่คณะ ซึ่งตอนนั้นก็ทำตอนยังเป็นนิสิตที่ไม่เคยจับอะไรมาก่อนเลยเงอะ ๆ งะ ๆ มาก แต่ตอนนี้เราไม่มีคำว่า “นิสิต” คุ้มกะลาหัวแล้ว ถ้าพลาดคือพลาด แล้วนี่ยิ่งงาน international แถมเป็นวงที่มีชั่วโมงบินสูง ได้รับการยอมรับกว้างขวางทั่วโลกอีก โห ตอนแรกก็จะปฏิเสธแล้วเพราะกลัวทำได้ไม่ดี แต่อีกใจก็คิดว่า ไหน ๆ โอกาสมาหาขนาดนี้แล้วก็ลองดูสักตั้งก็แล้วกัน จะได้รู้ว่าเราจะเป็นมืออาชีพได้มากน้อยแค่ไหน
DAY 1
ก่อนหน้านี้เราได้รับอีเมลรายละเอียดต่าง ๆ จากคุณป๊อก ก็ได้ติดต่อกับอินดรา ที่เป็นผู้จัดการวง และริสโต้ซึ่งเป็นทีมซาวด์ ตอนแรกเราคิดว่าทุกคนจะมาเที่ยวบินเดียวกันหมด ลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไป ๆ มาๆ ก็มาโป๊ะเอาในเช้าวันแรกของการเป็น artist relation ว่าริสโต้จะมาลงที่สนามบินดอนเมืองคนเดียวเพราะเขามาจากจาการ์ตา ส่วนคนอื่นมาจากบริสเบน และริสโต้ก็ต้องการให้มีคนไปรับด้วย เอาแล้วไง ทำไงดีวะ จะแยกร่างยังไง ก็รีบขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าใครจะมาช่วยชีวิตได้เลย ตอนสาย ๆ ที่เราซ้อมดนตรีเสร็จแฟนก็บอกว่าให้พี่นิวคือพี่อีกคนในวงช่วยสิ เพราะก็พูดภาษาอังกฤษได้ เราก็รีบเข้าชาร์จอ้อนวอนจนพี่เขายอม ต้องกราบขอบคุณมาก ๆ มา ณ ทีนี้จริง ๆ
พอช่วงบ่าย เรียกว่าเป็นการเริ่มงานอย่างแท้จริง เรานัดแนะกับพี่คนขับรถตู้ที่จัดหามาให้อำนวยความสะดวกในการเดินทางของวงและทีมงานคนอื่น ๆ ให้มารับเราแล้วเดินทางกันไปที่สนามบิน ตอนก่อนจะไปถึงก็ขอคอนแทค Whatsapp อินดรา ผู้จัดการวงจากริสโต้ คือคนที่นี่เขาใช้ Whatsapp กันมากกว่า Line น่ะ แล้วก็พบว่าอินดราไม่ใช้ Whatsapp เราเลยได้คอนแทคของจอห์น มือกลองของวงมาแทน พอได้เวลาเครื่องลงเราก็พยายามติดต่อกับจอห์น ตอนแรกก็กลัวว่าเขาจะหาทางต่อไวไฟเพื่อติดต่อกับเราไม่ได้ แต่จนรอมาได้ 45 นาที เขาก็ตอบกลับมาและบอกว่ากำลังเดินมายังจุดนัดพบ จนจะครบชั่วโมงเราถึงจะได้เจอกับจอห์นที่เดินงง ๆ มาทางเราแล้วถามว่าใช่อิ๊กมั้ย ตอนนั้นคือโล่งใจมาก เราก็ออกไปเจอสมาชิกและทีมงานคนอื่น ๆ ของ WSATCC ที่ด้านนอกและพาพวกเขาเดินทางไปยังที่พัก
ก่อนหน้านี้คุณป๊อกจัดหาที่พักให้กับวงเรียบร้อยแล้วที่บ้านคุณนาย ถนนวังเดิม hostel เปิดใหม่อายุได้ 4-5 เดือน หน้าตาดีสะอาดสะอ้าน ซึ่งตรงนั้นเป็นทำเลที่ดีมาก ๆ เพราะใช้เวลาแค่ 10-15 นาทีเท่านั้นเพื่อเดินทางถึงสถานที่เล่น ซึ่งวันเสาร์จะเล่นที่ SoulBar เจริญกรุง 26 และวันอาทิตย์จะเล่นที่ Noise Market ที่ Museum Siam พอเราพาพวกเขาไปหย่อนก้นให้หายเหนื่อย และพี่นิวพาริสโต้มาถึงที่พักจนสมาชิกทุกคนมาเจอกันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ก็รีบพาไปกินข้าวเย็นที่ 2nd Yard Sandwich and Bar ที่อยู่ใกล้ ๆ SoulBar โดยร้านนี้มีเสียงร่ำลือมาว่าอร่อยสุดพลัง เราก็เลยพาพวกเขาไปโดนพร้อม ๆ กันซะเลย พอไปถึง พวกเราต้องทำเวลากันหน่อยเพราะอีกชั่วโมงจะต้องพาวงไปให้สัมภาษณ์กับ Channel [V] Thailandก่อนที่วงจะขึ้นเล่นตอน 5 ทุ่ม เรากับพี่นิวได้นั่งโต๊ะกับอินดรา ริคกี้ มือเบส และ ริโอ ที่เล่นกีตาร์โปร่ง พวกเราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่อง indie music scene ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและอินโดนีเซีย ก็พบว่าบ้านเขามี community ที่คล้ายเราเหมือนกันนะ คือวงดนตรีเขารู้จักกันและค่อนข้างเหนียวแน่น มีเทศกาลดนตรีสม่ำเสมอ แต่ก็ยังไม่กว้างขวางพอ นอกจากนี้ยังพูดคุยกันเรื่อง creative space ที่ทั้งบ้านเราและบ้านเขาต่างก็มีกันอย่างน้อยนิด คือเหมือนไม่ได้รับการสนับสนุนที่จริงจัง จนกลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์กำลังจะต้องผลักดันกันเอง พออาหารของแต่ละคนมา บทสนทนาของเราก็ชะลอลงและเปลี่ยนหัวข้อ ริคกี้บอกว่าเขาได้มาไทยอยู่บ่อย ๆ หลังจากดำน้ำที่กระบี่เขาก็จะขึ้นมากรุงเทพ ฯ คือก่อนหน้านี้ WSATCC เคยมาเล่นที่ไทยเมื่อ 9 ปีก่อน ที่งาน Melody of Life ซึ่งจัดที่ Central World โดยตอนนั้นดีเจนอร์ (รายการแมวนอก โดย DJ Sonny and Nor ใน Cat Radio) เป็นคนชวนพวกเขามาเล่น ริคกี้เล่าว่าเขาได้รู้จักกับ DJ Maft Sai (ณัฐพล เสียงสุคนธ์ ผู้ก่อตั้ง ZudRangMa Records และ Studio Lam) เขาจึงมีโอกาสได้ไปที่ร้านเพื่อแลกเปลี่ยนแผ่นเสียงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลง world music จากภูมิภาคอื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ ตอนเขาเล่านี่ดูอินกับอะไรเหล่านี้มาก แล้วก็มีพูดเรื่อง local beer กันด้วย ก็สนุกดีกับการเปรียบเทียบรสชาติเบียร์ยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ คือการนั่งรถแค่ไม่กี่ชั่วโมงกับคนกลุ่มนี้และมีบทสนทนาง่าย ๆ ทำให้เรารูว่าพวกเขาเป็นคนที่ไนซ์และเป็นกันเองมาก ตอนกินเสร็จเราถามว่าอาหารพอไหวไหม จอห์นบอกว่าไม่เคยกินอะไรที่อร่อยแบบนี้มาก่อน ไม่รู้อวยเกินไปหรือเปล่าแต่พอได้รู้ว่าเขาแฮปปี้กัน ในฐานะแค่เป็นคนพามากินก็ยังรู้สึกดีใจแทนเชฟกับเจ้าของร้านเหมือนกันนะ
พอถึงเวลาเราก็พาพวกเขาไปส่งให้ Channel [V] Thailand พูดคุยที่ SoulBar แล้วเข้าไปทักทายเจ้าของร้าน บาร์เทนเดอร์ และโยกกับการแสดงของวง Attention Please ที่บอกเลยว่าเป็น performance ที่ทรงพลังมาก แตงโม The Voice เป็น entertainer ที่เก่งมาก ๆ คนนึง ด้วยเสียงทรงพลัง และลีลาการร้องที่เท่ไม่เหมือนใครทำให้เราไม่สามารถละสายตาจากเธอได้เลย จนกระทั่งห้าทุ่ม หลังจากที่ทีมซาวด์เซตเครื่องดนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วงก็ขึ้นแสดง ซึ่งสิ่งตรงหน้าเราตอนนี้อัศจรรย์มาก คือกลุ่มคนหกคนที่ดู friendly สนุกสนานตลอดเวลา แต่พอพวกเขาขึ้นเวทีพร้อมคอสตูมที่เราคุ้นตาแล้วพวกเขาเปลี่ยนไปกลายเป็นมืออาชีพที่เอาคนดูอยู่หมัด ไม่ใช่แค่นักร้องนำอย่าง ซาริ แค่คนเดียว แต่คือทั้งวง ทุกคน energy ล้นเหลือมากและสามารถทำให้คนดูทั้งร้านลุกขึ้นมาเต้นอย่างไม่เคอะเขิน เป็นคืนที่อบอวลไปด้วยเพลงป๊อป ที่มีกลิ่นอายเจือจางของดนตรีแจ๊ส และฟังค์ที่ให้ความรู้สึกย้อนยุค และออก tropical หน่อย ๆ แต่เป็นโชว์ที่สนุกมากจริง ๆ เมื่อจบงานเราก็พาวงกลับไปส่งที่พักพร้อมนัดแนะกิจกรรมในวันรุ่งขึ้นก่อนจะแยกย้าย
DAY 2
เรามารับวงที่ที่พักแล้วพาไป soundcheck งาน Noise Market ที่ Museum Siam ตอนไปถึงปรากฏว่าทีมงานยังไม่พร้อมดีก็เลยพาวงไปซื้อขนมมากินรองท้องรอไปพลาง ๆ จอห์น ริสโต้ และอังกี ทีมซาวด์อีกคน เดินตรงไปยังแผงขายขนมไทย ความน่าตกใจคือเขาขายขนมพวกนี้แค่กล่องละ 10 บาท ต่างกับปริมาณที่มหึมา อเมซิ่งไทยแลนด์มาก ๆ แล้วก็แวะซื้อผลไม้ คือในวงสาว ๆ ชอบกินฝรั่งกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งจิ้มน้ำปลาหวาน คือค่อนข้างตกใจเพราะคิดว่าปกติมันจะเอาไว้จิ้มกับมะม่วง หรือเราไม่รู้อยู่คนเดียวหว่า แล้วก็ไปซื้อไก่ปิ้ง หมูปิ้ง หมูทอด ปลาหลด กัน คือกินอะไรบ้าน ๆ พื้น ๆ มาก เหมือนว่าอยากลองของที่มัน local จริง ๆ แต่ก็ช็อปกันไปเยอะอยู่นะ เราก็สงสัยว่าเยอะขนาดนี้จะกินกันหมดหรอ ปรากฎขากลับเข้าไปที่งาน สมาชิกวงพุ่งตรงเข้ามาที่ของกินแล้วจ้วงกันอย่างเอร็ดอร่อยและหมดในเวลาไม่นานนัก ซาเลห์ถามว่าสิ่งนี้คืออะไร เราบอกว่ามันคือหมูกระเทียมทอด เขาบอกว่า เขาเป็นมุสลิม กินหมูไม่ได้ แต่เขาจะลอง อันนี้ทำเอาทุกคนขำก๊าก สมาชิกบางคนระหว่างรอเซตเครื่องก็เอากีตาร์ขึ้นมาเล่นแบบชิว ๆ เมลา มือคีย์บอร์ดก็ร้องคลอไปด้วย จังหวะนี้เองเห็นว่าทุกคนดูไม่ได้รีบร้อนอะไร เราเลยถือโอกาสขอสัมภาษณ์พวกเขาถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของวงและความรู้สึกของการมาเล่นที่ไทยในครั้งนี้
อะไรทำให้วงอยู่กันมาถึง 10 ปี
ริคกี้: คือเราก็ไม่ได้ทำแต่ดนตรีด้วยกันแค่อย่างเดียวนะ เพราะพวกเราทำโปรเจคด้วยกันเยอะมาก ทำงาน ดูหนัง ทำอาหารด้วยกัน
ซาเลห์: ไม่ใช่แค่กิจกรรมยามว่างนะ เราทำนิทรรศการกันด้วย พวกงานศิลปะที่ผสมผสานเข้ากับดนตรี ประมาณ 2 ปีที่แล้วเราทำนิทรรศการเกี่ยวกับวงของเรา จริง ๆ เราชอบที่มันเป็นแบบนี้เพราะมันเหมือนเป็นครอบครัวกัน ไม่ใช่แค่ทำวงดนตรีเพื่อธุรกิจ
แล้วมาเจอกันได้ยังไง
ซาเลห์: เราหกคนเจอกันที่วิทยาลัยศิลปะในจาการ์ตา ที่ Cikini แต่เรามาจากคนละภาควิชากันนะ ริคกี้ เมลา จอห์น มาจากภาควิชาดนตรี ส่วนซาริ ริโอ แล้วก็ผมมาจากภาควิชาทัศนศิลป์ คือที่วิทยาลัยเล็กมากเราเลยรู้จักกันหมดทุกคน แม้จะอยู่คนละภาค คนละปี ก็ยังรู้จักกัน
เมลา: เราชอบไปเที่ยวด้วยกันนะ บางทีเราก็ไปที่สตูดิโอของพวกเขา แค่ไปนั่งคุยกัน ฟังเพลง ทำให้พวกเราสนิทกันแล้วก็รู้จักกันมากขึ้น
ซาริ: เราคอยสนับสนุนงานของกันและกันค่ะ
ริคกี้: แล้วก็นั่นแหละ ก็เลยเริ่มทำวงมาตั้งแต่ 2002
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกคุณทำเพลงที่ได้อิทธิพลจากยุค 60s 70s
ริโอ: สมัยนั้น ทุกคนในวิทยาลัยมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง แล้วตอนแรกเราก็ไม่อยากจะให้เพลงของเราเป็นแบบนั้น แบบนี้หรอก เราก็เล่นไปเรื่อย ๆ จนเรามีเพลงของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันเนี่ย เราก็มีเทปของวงเก่า ๆ ตั้งแต่สมัย 90s 80s 70s แล้วเราก็ดูหนังอินโดนีเซียยุค 60s กันเยอะ
ริคกี้: ซึ่งของพวกนี้ก็ให้แรงบันดาลใจให้พวกเราทำเพลงออกมาเป็นแบบนี้แหละ
หนังสมัยนั้นเป็นหนังแบบไหน
ริคกี้: ส่วนใหญ่จะเป็นมิวสิคัลนะ
ริโอ: ย้อนไปปี 60s 70s ถึงต้นปี 80s นี่เรียกว่าเป็นยุคทองของวงการภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะในอินโดนีเซียเลยนะ เขามีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวที่ชัดเจนมาก แบบ อินโด๊ อินโด พวกเนื้อเพลงอะไรแบบนี้
ยังไง
ริคกี้: Indonesiana (หัวเราะ) คือถึงแม้ว่าเราจะได้อิทธิพลมาจากฝรั่งเศส อเมริกา บราซิล แต่มันให้ความรู้สึกแบบอินโดนีเซียมาก ๆ บอกไม่ถูกเหมือนกัน
จุดเด่นในเพลงของพวกคุณคืออะไร
ริโอ: สมัยนั้นมีหลายวงในวิทยาลัยที่เล่น garage rock, indie rock, punk, hard core, metal เราก็อยากทำอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา อาจจะเพราะว่าเรามาจากวิทยาลัยศิลปะแล้วโดยพื้นฐานก็เป็นพวกหัวครีเอทิฟก็อยากจะทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร ถึงแม้ว่าวงร็อคแต่ละวงก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่เราก็อยากฉีกออกไปเลย อยากทำเป็นอะคูสติก มีวิโอลา เชลโล แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไมเวลาคนได้ฟังเพลงของเรา หรือได้ดูพวกเราแสดงสด หรือเวลามาพูดคุยกับเราก็จะชอบพูดว่า พวกคุณอินโด๊ อินโด แล้วผมก็งงว่า มันอินโดสำหรับพวกเขายังไง อาจจะด้วยภาษาที่เราร้อง คือซาริร้องเป็นภาษาอินโดนีเซีย บาฮาซาบ้าง นั่นอาจจะทำให้เราแตกต่าง เพราะเมื่อก่อนหลายวงก็ร้องอังกฤษกัน แบบ อยากจะเป็นวงอังกฤษ วงอเมริกัน ซึ่งพวกเราไม่อยากเป็นอะไรแบบนั้น เวลาเราไปเล่นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เขาก็บอกว่าพวกเราอินโดมาก นั่นแหละ ก็ไม่รู้ทำไม เพราะเราก็ได้อิทธิพลมาจากหลายอย่างมากที่มาผสมกัน แต่ตอนนี้วงอินโดนีเซียหลายวงก็ร้องเป็นภาษาถิ่นแล้วนะ ซึ่งผมว่าดีมาก
ไหนลองนิยามความเป็นวงของพวกคุณหน่อย
เมลา: Indonesian pop
ริคกี้: อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพลงป๊อปในวันแดดจ้า ให้กลิ่นอายแบบเขตร้อนชื้นในเมืองที่วุ่นวายอย่างจาการ์ตา เพราะคนคิดว่าถ้าเราไปเล่นต่างประเทศ คนก็จะคิดว่าเราเล่นเพลงพื้นบ้าน แต่จริง ๆ แล้วเราเล่นแบบอื่น เวลาเราไปทัวร์คนเขาก็เลยเรียกเราว่า ฮิปสเตอร์จาการ์ตา (หัวเราะ) ทั้งเสื้อผ้า เพลงของพวกเรา มันฮิปสเตอร์ไปหมด
เพลงป๊อป หรือเพลงแจ๊ส มีอิทธิพลกับพวกคุณยังไง
ริคกี้: เราชอบเพลงแจ๊ส big band, swing, bibop หรือเพลงแจ๊สยุค 50s สร้างแรงบันดาลใจมาก ๆ แล้วเพลงในอินโดนีเซียตอนนั้นก็แจ๊สมาก ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียเรียกทำนองดนตรีแบบนี้ว่า เรนโซ่หรือ อิลามาเรนโซ่ คือเดี๋ยวนี้คนก็หลงลืมอะไรแบบนั้นไปแล้ว เราก็พยายามที่จะทำเพลงแบบนั้นที่มีความ Indonesiana (หัวเราะ)
ริโอ: เหมือนพวกเขามีทักษะแจ๊ส แต่เวลาเล่นก็เล่นแบบป๊อป
อะไรทำให้คนฟังรักเพลงของพวกคุณ
ริคกี้: อาจเพราะเราทำเพลงแง่บวกมั้ง เป็นเพลงที่ให้กำลังใจ ทำให้คนมีความสุข เหมือนชีวิตหลายคนในจาการ์ตามันย่ำแย่อยู่แล้ว รถติด อากาศร้อน มลพิษ หางานทำยาก อกหัก เราก็อยากบอกทุกคนว่า ให้มองโลกในแง่ดีไว้
ถ้าคนไม่เคยฟังวงของพวกคุณมาก่อน จะแนะนำให้เขาฟังเพลงอะไร
ริคกี้: Senandung Maaf เรามีเพื่อนคนไทยคนนึงของเราที่เคยดูเราเล่นสดในปี 2006 เธอบอกว่าเธอไม่รู้ความหมายของเพลงนี้หรอกนะ แต่พอฟังแล้วเธอรู้สึกว่าเพลงนี้มอบความหวังให้กับเธอ หรือถ้าใครอยากเห็นวงเราในแบบบ้า ๆ กว่านี้ มีความ psychedelic นิดหน่อย ก็ลอง Tam Tam Buku
ซาริ: Tentang Cita ค่ะ เราว่ามันเป็นเพลงที่มีทำนองกับจังหวะดีนะ มันไม่จำเป็นจะต้องมาคำนึงถึงเนื้อเพลง แค่ฟังเราก็รู้สึกคิดบวกแล้ว แล้วก็ Tjangkurileung เราชอบเพลงที่เต้นได้น่ะ
เมลา: เพลง Matahari แปลว่าพระอาทิตย์ ชอบเพราะชอบน่ะ (หัวเราะ)
ริโอ: ผมชอบเพลง Selangkah Keseberang มันมีเนื้อเพลงภาษาอินโดนิเซียที่ดีมาก ก็เป็นเรื่องแง่บวกเนี่ยแหละ แปลว่า ให้ก้าวข้ามผ่านปัญหาหรือเรื่องหนักใจต่าง ๆ ไป แล้วก็เพลง Aksi Kucing
ซาเลห์: น่าจะ Hacienda มั้ง มันเต้นได้ แล้วก็มีความหลากหลายที่เราพยายามจะสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ๆ ในเพลงนั้น
แล้วทำไมต้องชื่อ White Shoes & the Couples Company
ริโอ: ชื่อวงแต่ละวงที่วิทยาลัยเรามีแต่ชื่อแบบ The Blue, The A, The U, The Adams เราก็อยากทำอะไรที่ไม่เหมือนอะ เลยตั้งให้มันยาว ๆ
เมลา: นี่น่าจะเป็นชื่อวงที่ยาวที่สุดในสมัยนั้นที่เคยได้ยินมาแล้วแหละ
ริคกี้: คนอาจจะคิดว่าเป็นวงฝรั่งนะ จากชื่อ แต่พอเราร้องเป็นภาษาอินโดนีเซียเท่านั้นแหละ (หัวเราะ)
ริโอ: แล้วสมัยนั้นร้านขายรองเท้ามันขาย Converse All Star สีขาว ลด 70% ที่วิทยาลัยก็เลยมีแต่คนใส่รองเท้าสีขาว (หัวเราะ)
ซาเลห์: แล้วเราก็คิดว่าคำว่า the Couples Company มันดูไม่ค่อยเหมือนชื่อวงเท่าไหร่ เหมือนเป็นโปรเจคอื่นมากกว่า อาจจะเป็นร้านขายน้ำหอม หรือร้านซักรีดก็ได้
ตอนที่ Rolling Stone ให้เป็น 25 วงที่ดีที่สุดบน MySpace เรารู้สึกอย่างไร
ริคกี้: มันช่วยให้เราได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นนะ แล้วทำให้เพลงของพวกเราได้ไปวางขายในอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จริง ๆ เราไม่ได้คิดถึงพวกรางวัลมากหรอก แต่ถ้าได้มันก็ดีแหละ (หัวเราะ)
ตั้งแต่ที่แสดงสดมา ชอบคอนเสิร์ตที่ไหนมากที่สุด
ริคกี้: ตอนไปเล่นที่ฟินแลนด์ ปี 2013 คนเกือบ 30,000 คนมาดูเราเล่น พวกเขาเต้นไปพร้อม ๆ กับเพลงของพวกเรา แล้วก็ที่งาน SXSW ที่ออสติน เท็กซัส
เมลา: คือมันค่อนข้างลำบากมากตอนไปที่นั่น แต่เราก็รอดชีวิตกันกลับมาได้ (หัวเราะ) คือมันหนาวมากเมื่อเทียบกับจาการ์ตา เราก็เลยต้องปรับตัวกับอากาศ
ริคกี้: ใช่ ตอนไปออสตินนี่บ้ามาก แล้วซาเลห์มากับเราไม่ได้เพราะวีซ่ามีปัญหา พอหลังจาก SXSW เราก็ไปเล่นที่ร้านขายซีดี Amoeba ที่ซานฟรานซิสโก แล้วซาเลห์ถึงตามมาเล่นกับเราได้ แล้วก็ในทัวร์อเมริกาครั้งที่สอง เราไปทัวร์สามเมืองด้วยกัน มีที่นิวยอร์ค ลอสแอนเจลิส วอร์ชิงตันดีซี กับอีกงานที่ Clockenflap ที่ฮ่องกง 2011 มันบ้ามาก แล้ว line-up ดีมาก มี Santigold, The Pains of Being Pure at Heart, Bombay Bicycle Club
ริโอ: ตอนนั้นหนาวมากอะ แต่ยังดีที่เราเล่นตอนห้าโมงมันก็เลยยังมีไออุ่นจากพระอาทิตย์บ้าง (หัวเราะ)
ริคกี้: มีที่อินเดียด้วย มันประหลาดมาก
ริโอ: ใช่ ๆ คือมีคนมากหน้าหลายตามาก ๆ เหมือนเป็นเทศกาลดนตรีในวิทยาลัยเทคโนโลยี Madras ชื่อ Saarang Festival แล้วเข้าดูฟรี คนก็มายืนดูเราแล้วทำหน้างง ๆ แบบ ไอ้พวกนี้มันทำอะไรกันวะ
โชว์ที่ SoulBar เมื่อคืนเป็นไงบ้าง
ริโอ: มันดีมาก คือเราไม่ค่อยมีโชว์ที่เล่นแล้วเหงื่อออกเท่านี้ โอเคอะ ร้านก็เล็กแหละ แต่คนดูเยอะมาก เต้นกันยับ enjoy กับพวกเรามาก ๆ
ริคกี้: เวลาเราไปเล่นต่างประเทศ แล้วคนในประเทศนั้นฟังเพลงภาษาเราไม่รู้เรื่อง แต่คนอินกับเพลงเรา ผมว่ามันดีมากเลย
แล้วโชว์ที่ Noise Market คืนนี้ล่ะ คาดหวังอะไรไว้ไหม
ซาริ: อยากให้เป็นช่วงเวลาที่ดี อยากให้คนดูสนุกไปกับโชว์ของเรา เราชอบที่จัดมาก ๆ นะ มันดูกันเองมาก แล้วก็อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ คือเราลองนึกภาพว่าจะมีครอบครัวพาลูก ๆ มาดูคอนเสิร์ตคงเป็นภาพที่น่ารักดี
ในการมาแสดงที่ไทยครั้งแรกในปี 2006 ไปเล่นที่ไหนมาบ้าง
ริคกี้: เราก็ไปที่ Melody of Life แล้วก็ไปอัด live session 4 เพลง ที่ Fat Radio คือเขาสัมภาษณ์เราด้วย คือดีเจนอร์เขาชวนเรามาเพราะตอนนั้นเขาไปเจอเราเล่นที่จาการ์ตา
ความแตกต่างระหว่างทัวร์ในบ้านกับนอกบ้าน
ริคกี้: ในอินโดนีเซียมันง่ายสำหรับเราตรงที่คนฟังเพลงของเรารู้เรื่อง แล้วก็คิดว่าต้องมีคนมาดูเราแน่ ๆ แต่ถ้าไปเล่นที่อื่น อย่างที่ไทยเราจะคิดว่า เพลงที่นั่นจะเป็นยังไงบ้างนะ เพราะเราแทบจะไม่ได้ฟังเลย ถ้าเทียบกับมาเลเซีย คนที่นั่นจะค่อนข้างคุ้นกับเพลงของเราเพราะเราใช้ภาษาใกล้เคียงกัน สิงคโปร์ก็เหมือนกัน แต่ที่ไทยเนี่ย ภาษาพูดก็ไม่เหมือน เขียนก็ไม่เหมือนกัน เราก็เลยสงสัยว่าเขาจะอยากดูเราไหม เราก็เลยรู้สึกว่ามันยากที่ไปเล่นที่เมืองนอก
โชว์บ่อยขนาดนี้มีเวลาทำเพลงใหม่ ๆ บ้างไหม
ริคกี้: เพลงใหม่น่ะมี แต่ไม่มีเวลาอัด (หัวเราะ) อัลบั้มแรกกับอัลบั้มสองห่างกันห้าปี แต่เดี๋ยวปีหน้าก็จะอัดชุดที่สามกัน
พวกอาร์ตเวิร์คของวงก็ทำกันเองหรอ
ริคกี้: ใช่ครับ ออกแบบกันเอง ในวงมีคนเป็นจิตรกรอาชีพ กับกราฟฟิกดีไซเนอร์ ก็ผลัดกันออกแบบ merchandise, ปกซีดี, โปสเตอร์
เคยฟังเพลงไทยบ้างไหม
ริคกี้: เคยสิ ผมชอบ Bear Garden, Yellow Fang แล้วก็ Part Time Musicians, Little Fox จีนมหาสมุทร, อพาร์ตเมนต์คุณป้า แล้วก็ดีเจนอร์กับ DJ Maft Sai จะชอบเอาเพลงมาให้ลองฟัง
คิดว่าวงการดนตรีอินดี้ใน South East Asia เป็นอย่างไรบ้าง
ริโอ: ผมว่ามันดีมากนะตอนนี้
ริคกี้: ในอินโดนีเซียกับประเทศไทยนี่ค่อนข้างดีเลยนะเมื่อเทียบกับสิงคโปร์หรือมาเลเซีย แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 90s ฟิลิปปินส์นี่ดีมากเลย
ซาริ: อาจจะเพราะว่าเดี๋ยวนี้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันด้วยมั้ง เราสามารถไปเล่นได้ในทุกที่ใน South East Asia เพราะมีเทศกาลดนตรีมากมาย อย่าง Rrrec Fest หรือเทศกาลดนตรีในมาเลเซียก็กำลังโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็จะเอาศิลปินต่างประเทศเข้ามา
ริโอ: ตอนนี้คือมันมีวงหลายประเทศมาก เกิดขึ้นมาเยอะมาก แต่ความยากคือเราสามารถเข้าถึงวงเหล่านี้ได้ยังไง น่าจะมีการแลกเปลี่ยนศิลปินเหมือนนักเรียนแลกเปลี่ยนกันบ้างนะ
เราจะมีวิธีทำให้ดนตรีอินดี้ในแถบเราเข้มแข็งเหมือนของประเทศทางอเมริกา ยุโรป ได้บ้าง
ริคกี้: เอาจริงว่าเราได้ไปเล่น SXSW แล้วก็เจอวงดี ๆ เยอะมาก แต่สำหรับเราเรารู้สึกว่าวงแถบเราเก่งกว่าเขาเยอะนะ อย่าง Stylish Nonsense หรือวงจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน แต่วงยุโรปสำหรับผมมันไม่ใช่สไตล์แฮะ อเมริกาด้วย มันดูน่าเบื่อ คือถ้ามีงานเล็ก ๆ ที่ผมจะจัดนะ ผมกะให้มี ASEAN night เอาวงพวกนี้มาเล่นน่ะ
แล้ววงการอินดี้อินโดนิเซียตอนนี้เป็นยังไง
ริคกี้: บ้าบอมาก (หัวเราะ) คือดีมากครับตอนนี้ มีเพลงดี คุณภาพดี อุตสาหกรรมก็สนับสนุนเรา สปอรเซอร์อะไรต่าง ๆ ก็ให้เงินมาจัดงานอินดี้เยอะมาก อย่างบริษัทบุหรี่ หรือบางทีงานเทศกาลใหญ่ ๆ ที่เป็นงานแมส เขาก็มีเวทีอินดี้ แล้วช่วงหลังมานี้คนสนใจเวทีพวกเราเยอะขึ้นมากเลยนะ ผมคุยกับพี่นอร์เรื่องความแตกต่างของอินดี้ไทยกับอินโดนิเซีย วงอย่างพวกเราที่โตในปี 2002 แล้วยังอยู่มาได้เป็นสิบปีเพราะเรามีโชว์ให้เล่นตลอด อย่างสมมติเรา ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เล่นที่จาการ์ตาตลอด แล้วก็มีคนมาดู แต่ในเมืองไทย ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วงเดียวกันเล่น คนก็ไม่ออกมาดูกันแล้ว ผมไม่รู้ว่าทำไมแต่คนอินโดนิเซียชอบที่จะมาดูไลฟ์กันนะ หรือแม้แต่เด็กมอปลายที่นั่นก็จัดเทศกาลดนตรีกันเองนะ แล้วเขาได้สปอนเซอร์ดีด้วย
มีวงอะไรจากอินโดนิเซียจะแนะนำไหม
ริคกี้: ก็มี SORE, Seringai, Deadsquad, มี Ramayana Soul เป็น psychedelic, Jirapah เป็น Brooklyn sound, Mocca เป็นอินดี้ป๊อป, Hightime Rebellion แล้วก็ Sentimental Moods เป็น ska jazz วงนี้เราเคยเล่นด้วยกัน เขามีแปดคน เรามีหกคน คับเวทีเลย
ซาริ: มีเยอะมาก จริง ๆ นี่ก็แค่ส่วนนึงนะ คือเราก็อยากโปรโมทให้ทุกวงนั่นแหละเพราะเขาก็เก่ง ๆ กันเยอะ พวกเราเป็นเพื่อนกันหมดถึงจะเล่นกันคนละแนว ต้องไปลองหาฟังดู
คิดว่าอะไรในวงการอินดี้ไทยที่น่าสนใจสำหรับพวกคุณ
ริคกี้: ความแปลก แบบ เรามีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากวงอื่น ๆ นะ หรือการเขียนเพลง การใช้สี หรือการออกแบบปกซีดี ผมเห็นวงที่บ้านก็พยายามจะอังกฤษจ๋า หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในไทยค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองน่ะ หรือเอาจริง วงการดีเจเปิดแผ่นที่บ้านผมกับไทยก็คล้ายกันนะ สองปีก่อน Maft Sai ไปจาการ์ตา คือไปเล่นที่ร้านคล้าย ๆ กับ Studio Lam ที่เปิดแต่เพลงแปลก ๆ เพลง African เร้กเก้ ลูกทุ่ง หมอลำ แล้วที่ไทยก็มีไง แล้วใหญ่กว่าด้วย พวก ZudRangMa Records มี Big Tiger หรือจตุจักร มันคล้ายกับที่จาการ์ตามาก คุณไม่สามารถหาที่ที่จะเปิดแผ่นเพลง Cuban หรือ world music อื่น ๆ ได้นอกจากสองที่นี้ มันกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนกัน
มีอะไรจะฝากถึงแฟน ๆ ชาวไทยไหม
ริคกี้: (พูดเป็นภาษาไทย) ขอบคุณครับ คุณผู้หญิงมากับผมไหม (หัวเราะ)
ซาเลห์: คือมันมีเพลงที่เราร้องแบบนั้น แล้วเราเปลี่ยนมันเป็นภาษาไทยตอนมาเล่นเมื่อปี 2006 คือผมก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นคนดูเกทกับพวกเราหรือเปล่า (หัวเราะ)
ระหว่างสัมภาษณ์ สมาชิกก็ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไป soundcheck อย่างจอห์นก็ขึ้นไปดูกลองจนไม่ทันได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ และเมื่อเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เราก็พาเขาไปกินร้านอาหารริมทางแถวนั้น ดูพวกเขาจะ enjoy กับความ local ของบ้านเรามากเพราะอาหารบ้านเรากับบ้านเขาค่อนข้างใกล้เคียงกันในความเข้มข้นในรสชาติ ประมาณว่า full flavored แล้วก็ใส่พวกเครื่องแกง กะทิ หรือได้อิทธิพลมาจากจีนเหมือนกัน อะไรแบบนี้ ซาเลห์กับริสโต้กินข้าวขาหมูกับเรา ส่วนคนอื่น ๆ กินเกาเหลาต้มแซ่บเครื่องในวัวกัน จากนั้นก็ได้เวลาพาพวกเขาไปเที่ยวจตุจักร บางคนบอกว่าอยากอยู่เฝ้าบูธขายของในงานก็เลยไม่ไปด้วย ทีมเราเลยรีบแยกออกมาเพราะเมลางอแงอยากจะไปเสียเต็มแก่
เราใช้เวลาเดือนทางเป็นชั่วโมงกว่าจะไปถึงจตุจักร เพราะวันนั้นดันปิดถนนเพื่อซ้อมปั่นจักรยานพอดี รถเลยทะลักมาอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน เราก็เครียดที่พวกนี้จะมีเวลาเดินเที่ยวกับแปปเดียวก็ต้องกลับมาเตรียมตัวแสดงสด แถมซาริกับเมลาก็ถามตลอดว่ามันไกลจากที่พักมากเลยหรอ เราก็บอกว่าไกล แต่เราก็เตือนแล้วนะ แถมรถยังมาติดอีก ฮือ แต่พอถึงที่หมาย ทุกคนก็ไม่ได้ดูอารมณ์เสียอะไร เราก็แยกกันเดินแล้วนัดกันว่าจะมาเจอกันที่ธนาคารฝั่งเจเจมอล เราแยกมากับทีมของจอห์นและซาเลห์ที่สนใจพวกของวินเทจ แต่ของวินเทจที่จอห์นอยากได้กลับเป็นพวกกล้องและนาฬิกา ใจเราก็คิดว่า พลาดแล้ว ยังงั้นต้องไปเดินเจเจกรีน แต่ระหว่างนี้เราก็ได้ความช่วยเหลือจาก คุณจิ๊บ แห่ง Channel [V] Thailand ที่ติดต่อขอสัมภาษณ์วงเมื่อคืนว่าจะมาเดินช็อปกับวงด้วย เรานัดเจอคุณจิ๊บที่โครงการ 5-6 ที่เป็นโซนของวินเทจ และพาพวกเขาเดินดูของ สองคนนี้ดูจะตื่นเต้นกับพวกนาฬิกาเก่ามาก แต่ก็ช็อคกับราคาของโรเล็กซ์วินเทจที่แพงระยับ (เราเองก็ช็อคเพราะไม่ได้เล่นสายนี้) แล้วสุดท้ายจอห์นก็ได้กระเป๋าหนัง เสื้อแจ๊คเก็ต ในราคาที่ถูกมาก ๆ เพราะต่อราคากันสนุกเลยล่ะ ส่วนซาเลห์ได้เสื้อกับกางเกงมวยไทยไปฝากลูกชาย กับกระเป๋าผ้าไปฝากภรรยา เป็นคุณพ่อและสามีที่น่ารักมาก ทีนี้ก็ใกล้เวลาที่นัดหมายกับคนอื่น ๆ แล้ว แต่จอห์นอยากดื่มน้ำมะม่วง เราก็เดินหาร้านกัน ปรากฏว่าก็ไปเจอร้านที่เป็นน้ำปั่น แต่เขาโอเคก็เลยได้มะม่วงปั่นมา 1 แก้วถ้วน นางชิมแล้วฟินสะใจเลยล่ะ ขาเดินกลับระหว่างที่ชิว ๆ กันจอห์นก็ถามหากระเป๋า เรากับคุณจิ๊บหน้าซีดแล้วรีบพุ่งกลับไปที่ร้านมะม่วงปั่น คือเราเดินมาไกลมาก ๆ แล้วพี่แกเพิ่งนึกขึ้นได้ เดชะบุญว่าเจ้าของร้านเก็บไว้ให้ ไม่มีใครหยิบไป ตอนนั้นน้ำตาพี่จะหลั่ง จอห์นเดินตามพวกเรามาไกล ๆ แล้วก็พูดขอบคุณพลางบอกว่า ทำไมพวกคุณดูตื่นตระหนกกว่าผมอีก สงสัยน้ำมะม่วงนี่ดื่มไปแล้วทำให้ผมรู้สึกสบายใจจนไม่สนอะไรเลยมั้ง คือก็เหมือนจะตลก แต่เราซีเรียสว้อยยย เพิ่งซื้อมาแถมต่อได้ราคาที่ถูกมากก็จะทำหายซะแล้วจอห์น
ทีนี้พอเจอกันครบทุกคน เราก็พาวงกลับไปที่ที่พักเพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อหลังจากลุยจตุจักรกันมาทั้งวัน เมื่อทุกคนเสร็จเรียบร้อยก็พากันกลับไปที่ Museum Siam ตอนนี้เราก็ซื้อน้ำกับขนมมาเตรียมไว้ก่อนวงเล่นแล้วก็ขอเดินสำรวจบรรยากาศภายในงานสักหน่อย
ที่งาน Noise Market ในปีนี้คึกคักมากเลยทีเดียว คือนอกจากจะมีวงใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมาแสดงแล้วยังมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์สั้น Underground Cinema และมีร้านค้ามากหน้าหลายตามาให้ผู้ร่วมงานได้เลือกซื้อกันอย่างเพลิดเพลิน น่าชื่นชมที่ปีนี้มีการจัดโซนร้านค้าอย่างเป็นสัดเป็นส่วน มีทั้งร้านของค่ายเพลงหรือศิลปินจะอยู่จุดเดียวกัน เสื้อผ้าเครื่องประดับจะอยู่อีกที่ ส่วนร้านซีดีแผ่นเสียงก็อยู่อีกมุม โซนร้านอาหารนี่คึกคักมากเพราะมีร้านดัง ๆ อร่อย ๆ ตบเท้ามารวมตัวกันอย่างคับคั่ง เรานี่เดินวนอยู่แต่โซนนี้แหละ ส่วนวงดนตรีที่น่าสนใจในช่วงที่เรามาถึงงานก็เป็นวง Strange Brew จากชลบุรีที่เล่นดนตรีแนว surf rock ที่สอดแทรกไปด้วยซาวด์ psychedelic สุดวินเทจ นึกถึงพวกเพลงยุคปลาย 60s 70s พวกนั้นเลย บันเทิงมาก แล้วก็มีวง Naked/Astronaught ที่เล่นงานสไตล์ trip hop เท่ ๆ ที่แอบมีกลิ่น electro jazz และ shoegaze ด้วย ยังสร้างสีสันให้กับงานได้ดีเหมือนเดิม บรรยากาศตอนนั้นคือคนยืนมุงและเต้นกันยับบริเวณทางเข้างาน อบอุ่นมาก ๆ
ถึงเวลาที่วงได้ขึ้นแสดงแล้ว ตารางแอบเลทไปชั่วโมงนึง ช่วงแรก ๆ ของโชว์ผู้ชมยังนั่งกันนิ่งอยู่ แต่พอวงเริ่มเล่นเพลงที่สอง ก็เห็นได้ว่าคนดูเริ่ม enjoy กันแล้ว ตบมือเกรียวกราว โยกกันสนุก พอเพลงที่สามสี่เนี่ยแหละที่วงเรียกให้ทุกคนลุกขึ้นมาเต้น ภาพตอนนี้มันเหมือนกับงานเต้นรำยุคเก่า ๆ ที่แต่ละคนไม่ได้เต้นเก่งอะไร แต่ก็เต้นด้วยความสนุกที่แท้จริง มีเด็ก ๆ ที่มากับพ่อแม่ชาวต่างชาติดูมีความสุขมาก แก๊งเด็กมอปลายก็เต้นกันท่าแปลก ๆ ดูไม่เข้ากับเพลงแต่ทำให้มีความรู้สึกว่าแนวเพลงมันไม่จำกัดกลุ่มคนฟังจริง ๆ ถ้าเราคิดอยากจะสนุกกับมันอะไรมันก็แฮปปี้ได้ เรายังแอบเต้นตามเด็กพวกนี้เลย แล้วมีเพลงนึงที่จอห์นโซโล่กลอง ตีหยั่งกะหนัง Whiplash เก่งไปไหน๊ คือจริง ๆ แล้ววงนี้ซาริ กับริโอทำงานกันเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ ส่วนซาเลห์เป็นจิตรกร และเมลา สอนร้องเพลง จอห์นสอนกลอง ริคกี้สอนเชลโล ก็ไม่แปลกใจที่ทุกคนสามารถสร้างสรรค์งานดี ๆ ที่แตกต่างจากคนอื่นและมีเอกลักษณ์แบบนี้ออกมา ตอนจบโชว์ คนดูก็อังกอร์อยากให้พวกเขาเล่นกันต่อ แต่ด้วยเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ต้องอดไปตามระเบียบ ตอนนั้นเองที่แฟนเพลงแห่กันมาที่บูธของ WSATCC แล้วซื้อซีดี เสื้อ ขอถ่ายรูป ขอลายเซ็นกันอย่างเนืองแน่น เราเห็นสายตาเป็นประกายของแฟน ๆ ที่ดูเป็นคนที่ติดตามพวกเขามานานแล้ว ตอนได้ใกล้ชิดกับศิลปินที่พวกเขาชอบแล้วดูได้เติมเต็ม แบบ เออ กูฟินแล้วอะ มาก ๆ อิ่มเอมใจอะ วงเองก็แฮปปี้ที่มีคนชอบและให้การตอบรับพวกเขาดีขนาดนี้ ต่อไปเป็นช่วงที่ Cyndi Seui กับ Gramaphone Children แสดง ริคกี้ ริโอ จอห์น และซาเลห์ก็ออกไปเต้นหน้าเวที เป็นภาพที่ตลกมากแต่ดีนะที่พวกเขาก็มีความประทับใจกับงานงานนี้ ช่วงที่เต้น ๆ กันอยู่ก็มาขอเราถ่ายรูปอีก เด๋อด๋ามาก ฮ่า ๆ ตอนจบงานพวกเราช่วยกันเก็บของ อินดรา ก็มาขอบคุณเราใหญ่แบบเราเกรงใจเขามากกว่าเพราะรู้สึกว่าน่าจะดูแลได้ดีกว่านี้ จอห์นแอบเอาเสื้อยืดให้ บอกว่า นี่ได้ไปหรือยัง เราก็บอกว่าอินดราให้แล้ว แถมเราก็อุดหนุนเขาไปแล้วตัวนึง แล้วจอห์นก็ว่า เอาไปอีกเหอะ จริง ๆ จะให้กระเป๋าผ้าด้วยแต่มันหมดก่อนน่ะ ขอบคุณมากนะ อะไรจะใจดีขนาดนั้น
ก่อนกลับที่พักเราก็พาพวกเขาไปแวะกินร้านข้าวต้มฟ้ามุ่ยกัน เป็นร้านที่เราชอบมาก ๆ และคิดว่าพวกเขาน่าจะได้ลองอะไร local แบบพีค ๆ ดูบ้าง น่าสนใจที่เขาไม่กินข้าวต้มกันนะ สั่งข้าวสวย แล้วเมนูที่ลองสั่งมาให้ชิมก็มี ต้มซุปเปอร์ขาไก่ ต้มยำกุ้งน้ำข้น ผัดกระเฉดไฟแดง ไข่เจียวไชโป้ว ไข่เยี่ยวม้ากะเพรากรอบ กุยช่ายขาวผัดเต้าหู้ ยำปลาสลิด ขาไก่ซีอิ้วหวาน แล้วคือทุกคนกินกันหมดเกลี้ยง ฟินมาก ประทับใจกันมาก ในตอนหลังมีคุณจูน Stylish Nonsense กับคุณติ Buddhist Holiday มาร่วมโต๊ะด้วย เรานั่งผึ่งพุงกันครู่หนึ่งก่อนจะพาพวกเขากลับที่พัก
แล้วช่วงสุดท้ายของหน้าที่ดูแลศิลปินในวันนี้ของเราก็มาถึง เราขึ้นรถ ฟังเพลง Rock & Roll ของ Velvet Underground ที่เราเปิด ซาริบอกว่าชอบวงนี้มาก ส่วนริคกี้ก็ขอเปิดเพลงบ้าง ก็เป็นเพลง Alter Ego ของ Tame Impalaก็สนุกดีที่ได้แชร์เพลงกัน พอถงที่พักเราช่วยวงย้ายเครื่องดนตรีลงจากรถ มานึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ถ่ายรูปรวม ๆ กับทุกคนเลย เมลา ซาริ ซาเลห์ ริคกี้ ริโอ อินดรา ริสโต้ อังกิ และซาวด์เอนอีกคนที่เราจำชื่อเขาไม่ได้ ทุกคนเข้ามาอยู่ในเฟรมเดียวกัน ยกเว้น จอห์น ที่ติดรถคุณจูนไปถ่ายรูปกรุงเทพ ฯ ยามค่ำคืนกันต่อ (ตอนนั้นประมาณตีสองแล้ว คุณพระคุณเจ้าช่วย เดินจตุจักรมาทั้งวัน เล่นสดมาอีก ไม่เหนื่อยเรอะ) ทุกคนดูเหนื่อยอ่อน แต่ก็รู้สึกได้เติมเต็มจากโชว์ที่เขาได้ถ่ายทอดความสุขในเสียงเพลงให้กับพวกเรา สาว ๆ เข้ามากอดลา ตอนนั้นเราอยากจะไปอาบน้ำมาก คือตัวเหนียวมาทั้งวัน เกรงใจทุกคน ฮ่า ๆ แต่ก็นะ รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสรู้จักคนกลุ่มนี้ คนที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ แล้วการได้ดูพวกเขาเล่นสดมันเหมือนเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานและพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้านของเรา ไม่รู้ทำไม ต้องขอบคุณวงมา ณ ตรงนี้ แม้เขาจะไม่ได้รู้สึกว่ามีส่วนได้ส่วนเสียอะไร สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณคุณป๊อกที่ไว้วางใจและให้โอกาสเราทำหน้าที่นี้ และจัดงานดนตรีดี ๆ อย่าง Noise Market มาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่างให้กับคนที่รักในเสียงดนตรีได้เปิดประสบการณ์ที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสที่ไหนมาก่อน ซาริบอกว่าเธอชอบบรรยากาศที่งานมาก เพราะมันเป็น children friendly เป็น family community ได้ดี แบบที่พ่อแม่พาลูกเล็ก ๆ มาเที่ยวดูงาน มาฟังเพลงกันในวันหยุดแบบนี้ หวังว่าเราจะได้มาร่วมงานแบบนี้ในปีต่อ ๆ ไปอีกนาน ๆ และอยากชวนให้ทุกคนติดตามผู้จัดที่ https://www.facebook.com/noisemarketfest แล้วลองมางานนี้กันดูสักครั้ง ไม่ผิดหวังแน่นอน ส่วนแฟน ๆ ของวงก็ตามไปฟอลโลวใน Instagram @WSATCC หรือ Facebook กับความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้