Article Guru

ทำไม Michael Jackson ถึงไม่เคยตายไปจากความทรงจำของเรา

  • Writer: Piyakul Phusri

ถ้าจะพูดถึงศิลปินที่เป็นปรากฏการณ์ของความเป็น ‘ที่สุด’ ในทุกด้านในยุคสมัยของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการร้อง การเต้น การแต่งเพลง การแสดงที่มีมนต์สะกดและตื่นตาตื่นใจ เครื่องแต่งกายที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ชีวิตส่วนตัวที่มีทั้งด้านดีในระดับที่เปลี่ยนโลกได้ และด้านที่ฉาวโฉ่จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล พฤติกรรมส่วนตัวที่แปลกประหลาด แต่ก็สร้างความสนใจใคร่รู้ให้กับสาธารณชนได้เสมอ เราคงต้องยกตำแหน่งนี้ให้กับ Michael Jackson หนึ่งเดียวคนนี้เท่านั้นจริง ๆ

แม้แต่ความตายของเขาในปี 2552 ก็ยังเป็นที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นคดีความที่ค่อนข้างซับซ้อนและยืดยาวซึ่งนำพาไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดมากมาย ในสัปดาห์แรกของการเสียชีวิตของราชาเพลงป๊อป มีแฟนเพลงของเขาฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายตามศิลปินที่รักถึง 12 คน และในพิธีศพของเขาที่จัดขึ้นที่ Staples Center มีผู้ลงทะเบียนแสดงความต้องการเข้าร่วมพิธีกว่า 1.6 ล้านคน!

เรียกได้ว่า MJ เป็นศิลปินที่มีแฟนเพลงเหนียวแน่น และอุทิศชีวิตให้อย่างยอมตาย เหมือนเป็นพระเจ้าสำหรับกลุ่มแฟนก็คงจะว่าได้ทีเดียว ลองดูคลิปการแสดงเพลง Man in the Mirror ต่อหน้าผู้ชม 90,000 คน ในคอนเสิร์ต ‘Dangerous Tour’ ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ปี 1992 แล้วจะเข้าใจว่า คำว่า ‘กรี๊ดสลบ’ ไม่ได้เป็นแค่คำเปรียบเปรย แต่พลังการแสดงของ MJ ทำให้แฟน ๆ ของเขาเข้าขั้นคลุ้มคลั่งไปจนถึงหมดสติเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทย คอนเสิร์ต ‘Dangerous Tour’ เมื่อปี 1993 จัดที่สนามศุภชลาศัย ถือเป็นคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศที่ดังที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยจัดมา เพราะสื่อทุกแขนงในเวลานั้นพร้อมใจกันลงข่าวของ MJ ติดต่อกันเป็นเดือนตั้งแต่ก่อนแสดงไปจนถึงหลังแสดง ทุกย่างก้าวของเขาในกรุงเทพ ฯ ล้วนเป็นข่าว โชว์สุดอลังการที่ขนอุปกรณ์ทุกอย่างมาจากอเมริกา สนนราคาบัตรเริ่มต้นที่ 500 บาท ไปจนถึง 2,500 บาท ซึ่งในเวลานั้น ราคาบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินไทยที่ดังสุด ๆ ในขณะนั้นอย่าง ใหม่ เจริญปุระ หรือ ติ๊นา แพงที่สุดอยู่ที่ 500 บาท และพลังอันมหาศาลของแฟน ๆ MJ ทำให้หลังคอนเสิร์ตแสดงเสร็จ สนามศุภชลาศัยถึงกับต้องปิดซ่อมใหญ่เพราะได้รับความเสียหาย

9 ปีแล้วที่ราชาเพลงป๊อปได้จากโลกนี้ไป เหลือไว้เพียงผลงานบันลือโลกให้พวกเราได้เสพ แต่แฟนเพลงของเขาก็ยังคงทำงานเผยแพร่ผลงานศิลปินอันเป็นที่รักของตัวเองต่อไป แต่ที่แฟนคลับของ MJ ไปไกลกว่าแฟนคลับศิลปินผู้ล่วงลับคนอื่น ๆ ก็คือยังมีแฟนพันธุ์แท้ที่เชื่อว่าเขายังไม่ได้ตายจริง ๆ แต่เป็นเพียงการจัดฉาก บางคนเชื่อว่าคดีการตายของ MJ ไม่ได้จบลงแค่แพทย์ประจำตัวของเขาเป็นผู้กระทำผิด แต่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขปริศนาของคดีนี้ให้กระจ่าง…

แล้วอะไรคือแรงขับเคลื่อนให้ Michael Jackson มีแฟนคลับที่จงรักภักดีอยู่ทั่วโลก เราคงต้องมาดูกันเป็นข้อ ๆ ไป ตั้งแต่ผลงาน ชีวิตส่วนตัว ไปจนถึงมิติด้านวัฒนธรรมที่เขาส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม

การเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุยังน้อย และมีชื่อเสียงตั้งแต่เด็ก

ไมเคิล แจ๊กสัน ฉายประกายความสามารถด้านการร้องเพลงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และเมื่อมีอายุ 8 ขวบ เขาก็เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกวง The Jackson 5 ซึ่งเป็นการรวมตัวของเขา และพี่น้องอีก 4 คน The Jackson 5 เป็นวงป๊อปวงแรกในประวัติศาสตร์ที่มีเพลงฮิตติดอันดับ 1 บนชาร์ตถึง 4 เพลง ได้แก่ I Want You Back, I’ll Be There, The Love You Save และ ABC

Thriller อัลบั้มเขย่าโลก

ไมเคิล แจ๊กสัน เปิดตัวอัลบั้มเดี่ยวชุด Got To Be There ในปี 1972 และตามมาด้วยอัลบั้ม Ben, Music & Me, Forever, Michael และ Off The Wall ทุกอัลบั้มล้วนประสบความสำเร็จอย่างดี แต่อัลบั้มที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการบันเทิงโลกมากที่สุดก็คือ อัลบั้ม Thriller ซึ่งวางแผงในปี 1982 เป็นอัลบั้มแรกที่ส่งเพลงฮิตติด Top 10 Hits บนชาร์ต Billboard Hot 100 ได้ถึง 7 เพลง Yoshiaki Sato อาจารย์ด้านวรรณกรรมอเมริกันและดนตรีป๊อปจากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า อัลบั้มนี้คือนิยามของวัฒนธรรมป๊อป และได้ทำลายความคิดเดิม ๆ ที่ว่า ‘ดนตรีมีไว้เพื่อฟังเท่านั้น’ ไปตลอดกาล เพราะ MJ ตลอดจนศิลปินคนอื่นในยุค 80s ได้ทำให้เพลงป๊อปเป็นสิ่งที่สามารถดูได้ (ซึ่งจะขยายความต่อไปในเรื่องมิวสิกวีดีโอ)

Moonwalk ท่าเต้นที่น่าจดจำ และความสามารถในการเต้นระดับเหนือมนุษย์

ท่าเต้นที่ถือเป็นลายเซ็นของ ไมเคิล แจ๊กสัน คงหนีไม่พ้นท่า ‘มูนวอล์ก’ เขาเผยแพร่ท่าเต้นนี้ให้โลกรู้จักเป็นครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ฉลองครบรอบ 25 ปีของค่าย Motown ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1983 หลังจากนั้น ดูเหมือนว่ามนุษย์ครึ่งค่อนโลกต่างพยายามที่จะเดินถอยหลังด้วยลีลามูนวอล์กให้ได้อย่างน้อยซักครั้งในชีวิต และเคยเป็นหนึ่งในท่าเต้นยอดฮิตของตลกคาเฟ่เมืองไทย!

MJ เป็นคนที่ใช้ความสามารถของร่างกายได้อย่างถึงขีดสุด การเต้นของเขามีทั้งความสวยงาม รวดเร็ว เซ็กซี่ และใช้พลังงานอย่างมาก สำหรับเขา การเต้นจึงไม่ได้เป็นเพียงการแสดงลีลาประกอบการร้อง แต่มันคือการแสดงออกถึง ‘เนื้อหา’ ของเพลงผ่านภาษากายอีกด้วย

บิดาแห่งมิวสิกวีดีโอ อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

ก่อนหน้าวันที่ 2 ธันวาคม 1983 มิวสิกวีดีโอ ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าคลิปที่ใช้งบถูก ๆ ที่ผลิตมาเพื่อโปรโมตซิงเกิ้ลเพลง แต่หลังจาก ไมเคิล แจ๊กสัน ปล่อยมิวสิควีดีโอเพลง Thriller ที่มีความยาวเกือบ 14 นาที ออกมา ก็เป็นเป็นการปลดล็อก และทลายกำแพงนิยามเก่า ๆ ของมิวสิกวีดีโอจากคลิปง่อย ๆ สู่การเป็นศิลปะรูปแบบใหม่ที่รวมเอา mass media ทุกอย่างในศตวรรษที่ 20 เข้าไว้ด้วยกัน MJ ทำให้มิวสิกวีดีโอเล่าเรื่องและถ่ายทำแบบภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์อย่างเต็มตัว มิวสิกวีดีโอของเขาเป็นการผสมผสานกันระหว่างเพลงและการเต้น แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบละครเวทีบรอดเวย์ และแม้ว่าจะฉายผ่านโทรทัศน์ แต่มันก็เป็นอะไรที่แปลกและแตกต่างไปจากสิ่งที่อื่น ๆ ที่มีฉายอยู่บนโทรทัศน์ในตอนนั้น เรียกได้ว่า มิวสิกวีดีโอเพลงนี้ และเพลงอื่น ๆ ของ MJ อย่าง Bille Jean และ Beat It ได้เปลี่ยนวงการอุตสาหกรรมดนตรีไปตลอดกาล

รางวัลมากมายและยอดขายมหาศาล

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527 ไมเคิล แจ๊กสัน เป็นศิลปินคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลแกรมมี่มาครอบได้ถึง 8 รางวัลในคืนเดียว รวมถึงรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจาก Thriller และรางวัลเพลงยอดเยี่ยมจาก Beat It ตลอดทศวรรษ 80s เขาสามารถคว้ารางวัลแกรมมี่ไปครองได้ถึง 11 รางวัล และเป็นศิลปินคนแรกที่ได้ประทับฝ่ามือลงบน Hollywood Walk of Fame ถึง 2 ครั้ง ทั้งในนาม ไมเคิล แจ๊กสัน และ The Jacksons 5

Thriller เป็นอัลบั้มแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงแพลตินั่มถึง 30 ครั้ง จากยอดขาย 30 ล้านชุดในสหรัฐอเมริกา และผลงานต่าง ๆ ในชื่อ ไมเคิล แจ๊กสัน ยังมียอดขายรวมทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านก็อปปี้! แม้แต่ความตายก็หยุดสถิติความหลั่งไคล้ในตัวของเขาไม่ได้ เพราะภายในหนึ่งสัปดาห์หลังการเสียชีวิต MJ ก็เป็นศิลปินคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถขายเพลงผ่านระบบดิจิตอลได้เกินหนึ่งล้านก็อปปี้ ภายในหนึ่งสัปดาห์ MJ เป็นศิลปินคนแรกที่มีอัลบั้มติดชาร์ตยอดขายสูงสุดถึง 6 จาก 10 อัลบั้ม และเขายังเป็นศิลปินคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีเพลงติด 1 ใน 10 อันดับ Billboard Hot 100 ติดต่อกันตลอด 5 ทศวรรษ โดยเพลงที่เข้ามาติดชาร์ตหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วคือ Love Never Felt So Good

ศิลปินผู้ใจบุญ

John Lennon และ Bob Dylan อาจจะร้องและแต่งเพลงเพื่อเรียกร้องสันติภาพ แต่ ไมเคิล แจ๊กสัน นอกจากจะแต่งเพลงเพื่อสังคมแล้ว เขายังใช้ชื่อเสียงของเขาเพื่อระดมเงินบริจาคจากแฟนเพลง และคนดังทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือปัญหาเกี่ยวกับเด็กและภาวะขาดแคลนอาหาร ประมาณการกันว่า เงินบริจาคจากตัว MJ เอง และเงินบริจาคที่อาศัยชื่อเสียงของเขาระดมทุน น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะเพลง We Are The World ก็สามารถระดมเงินบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารในแอฟริกาได้ถึง 63 ล้านเหรียญเข้าไปแล้ว ปัจจุบัน แฟนคลับของ ไมเคิล แจ๊กสัน ที่มีอยู่ทั่วโลกก็ยังคงดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลต่าง ๆ เพื่อสืบสานแนวคิดของศิลปินที่ตนเองชื่นชอบต่อไป

ชายผิวดำผู้ยิ่งใหญ่

ก่อนหน้า ไมเคิล แจ๊กสัน สหรัฐอเมริกาอาจจะมีนักดนตรีผิวดำผู้ยิ่งใหญ่มาแล้วจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Louis Armstrong, Ray Charles, Ella Fitzgerald, Miles Davis หรือศิลปินแจ๊สคนอื่น ๆ แต่ไม่มีใครที่จะทำให้โลกยอมรับและรักได้มากเท่ากับไมเคิล แจ๊กสัน เขาถือเป็นศิลปินผิวดำคนแรกที่ทำลายกำแพงสีผิว และพาผลงาน รูปลักษณ์ และความเป็นตัวตนของตัวเองไปทั่วโลกผ่านวิทยุและโทรทัศน์ ผู้ชมทั่วโลกเห็น MJ ‘เป็นประจำ’ ผ่าน MTV และได้ฟังเพลงของเขาเป็นประจำผ่านสถานีวิทยุ ซึ่งไม่เคยมีศิลปินผิวดำคนไหนเคยทำได้มาก่อน

วงการอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกันถูกควบคุมด้วยคนผิวขาวมาโดยตลอด และในอดีตแม้นักดนตรีผิวดำจะมีความสามารถหรือมีชื่อเสียง แต่พวกเขาก็ได้พื้นที่บนสื่อกระแสหลักน้อยกว่านักดนตรีผิวขาวอยู่ดี แต่ MJ ตระหนักถึงความสามารถของตัวเองเป็นอย่างดี และพิสูจน์ให้สื่อดนตรีอเมริกันได้เห็นผ่านการทำงานอย่างหนัก ในปี 1979 นิตยสาร Rolling Stone เคยกล่าวว่า MJ ไม่คู่ควรที่จะขึ้นปกนิตยสาร เขาตอบโต้ด้วยการให้สัมภาษณ์อย่างอหังการว่า “ผมได้ยินหลายต่อหลายครั้งว่าการเอาคนผิวดำขึ้นปกนิตยสารทำให้นิตยสารขายไม่ออก แต่คอยดูเถอะ ซักวันนิตยสารพวกนั้นจะต้องมาขอร้องให้ผมให้สัมภาษณ์กับพวกเขา”

และสุดท้าย ไมเคิล แจ๊กสัน ก็เป็นฝ่ายชนะในที่สุด เมื่อเวลาต่อมา บรรณาธิการของ Rolling Stone ส่งจดหมายเป็นการส่วนตัวไปหา MJ เพื่อตำหนิตัวเองที่เคยแสดงความเห็นแบบนั้น และ MJ ก็ได้ลงปก Rolling Stone ในที่สุด

John McWhorter จาก Manhattan Institute แสดงความเห็นเกี่ยวกับการย้อมสีผิวและศัลยกรรมของ MJ ว่า ในมุมมองของคนผิวดำ การกระทำดังกล่าวอาจจะแสดงออกถึงการปฏิเสธตัวเองอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่ง MJ ก็เป็นคนผิวดำที่ทำให้คนผิวขาวมีมุมมองที่เปิดรับคนผิวดำมากขึ้น ทำให้หลังจากยุคของ MJ ศิลปินดาราผิวดำก็มีที่ทางในวงการบันเทิงสหรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วได้มีการเปิดเผยว่า เหตุที่ MJ ย้อมสีผิวตัวเองเพราะเขาเป็นผู้ป่วย ‘โรคด่างขาว’ (vitiligo) ซึ่งเป็นความบกพร่องทางพันธุกรรมจากครอบครัวของเขาเอง โดยเขาก็ดันเป็นคนส่วนน้อยที่ได้รับความผิดปกติชนิดรุนแรง ทำให้เกิดรอยด่างขาวอยู่ทั่วร่างกาย ซึ่งโรคนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายกับผิวหนังแต่ยังมีผลต่อระบบภายในร่างกายของเขาแม้ก่อนหน้าเขาจะใช้วิธีการแต่งหน้าหรือทาสีลงบนผิวเพื่อให้ทั้งร่างมีสีเสมอกัน แต่เวลาผ่านไปนานเข้าเขาก็เหลืออดที่จะต้องคอยทาตัวเพื่อออกงานแทบทุกครั้ง ทำให้ต่อมาเขาเลือกวิธีการรักษาด้วยการขจัดเซลล์ผิวสีเข้มออกไปให้หมด ส่วนเรื่องที่เขาทำศัลยกรรมก็คล้ายกับว่า ไหน ๆ ผิวจะขาวแล้วก็ทำให้ดูเป็นคอเคเชียนเข้าที่เข้าทางไปซะเลย เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้จากแพทย์ที่ชันสูตรรวมถึงแพทย์ผิวหนังประจำตัวของเขาได้

ชีวิตส่วนตัวที่ชุลมุนวุ่นวายเป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใครก็อยากเสือก

การสอดรู้สอดเห็นชีวิตของเซเลบ ฯ เป็นเรื่องปกติของโลกในยุคปัจจุบัน เมื่อครั้งที่ ไมเคิล แจ๊กสัน ยังมีชีวิต หรือแม้แต่จะตายไปแล้วก็ดี เรื่องราวชีวิตของเขายังเป็นสิ่งที่สังคมและสื่อมวลชนสนใจเสมอ

ชีวิตของเขาถูกเล่าซ้ำ ๆ ถูกขุดคุ้ย หลายเรื่องยังคงเป็นคำถามว่า ‘นี่เป็นเรื่องจริงหรือหลอก?’ คงไม่มีศิลปินคนใดที่จะน่าเม้าท์มอยไปมากกว่า MJ เพราะเรื่องราวชีวิตของเขาเป็นยิ่งกว่านวนิยายเรื่องยาว เพราะมีทั้งเรื่องราวความยากลำบาก ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตส่วนตัวที่ลับ ๆ ล่อ ๆ เรื่องที่ยังเป็นปริศนา คดีความ ความคลั่งใคล้เด็ก(ที่มาพร้อมกับคำถามว่าคลั่งไคล้แบบไหน?) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมีอยู่ในชีวิตของไมเคิล แจ๊กสันเพียงคนเดียว

ไมเคิล แจ๊กสัน คือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อปข้ามพรมแดนที่แท้จริง

Mark Anthony Neal ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมป๊อปคนผิวดำแห่งมหาวิทยาลัย Duke กล่าวว่า ทั้งไมเคิล แจ๊กสัน และ The Jacksons 5 เอง เป็นผลผลิตของกระแสการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนหลังทศวรรษ 60s และไมเคิล แจ๊กสัน ได้พาตัวเองไปไกลกว่านั้น สู่การเป็นเซเลบ ฯ ที่มีชื่อเสียงข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม ข้ามเชื้อชาติ และข้ามกลุ่มชนต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ ในช่วงพีคสุด ๆ ไมเคิล แจ๊กสัน คือชื่อที่คนส่วนใหญ่บนโลกนี้รู้จัก ไมเคิล แจ๊กสัน จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ ‘ชุมชนโลก’ (global community) ที่พรมแดนต่าง ๆ ถูกละเลยหรือลบเลือนไป ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ดนตรีและตัวตนของเขาแพร่กระจายไปทั่วโลกก่อนที่โลกจะมีอินเตอร์เน็ตหลายสิบปี

ไมเคิล แจ๊กสัน ยังได้สร้างชุมชนทางจินตนาการขึ้นในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบดนตรีของเขา การได้รับฟัง แสดงความคิดเห็น และแบ่งปันเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่พูดถึงเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการจะเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับคนอื่น และแบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่น เมื่อ MJ ตาย การได้แสดงออกถึงความเศร้า การแชร์เพลง การพูดถึงเรื่องราวของ MJ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางจินตนาการนี้ หรือ เข้าร่วมในขบวนความโศกเศร้าของผู้คนทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย

ที่มา
10 Reasons Michael Jackson Became The King Of Pop
Jackson death sparks wave of fan suicides
Michael Jackson’s ‘Thriller’ Becomes First-Ever 30 Times Multi-Platinum Album: Exclusive
Michael Jackson’s Unparalleled Influence
The Misunderstood Power of Michael Jackson’s Music
Why Are Michael Jackson’s Fans So Devoted?
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี