Article Story

Apichat Pakwan รู้จักกับวง Esantronic การปรับตัวของวัฒนธรรมอีสานร่วมสมัย

  • Writer: Montipa Virojpan

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาทุกคนพอจะทราบดีว่าเป็นวันที่มีอีเวนต์ชนกันอิรุงตุงนังจนทำให้พลาดหลาย งานไปอย่างน่าเสียดาย แต่พอเราจบจากงานหัวค่ำแล้ว เราก็ได้มีโอกาสไปต่อที่อีกงานหนึ่งในคืนเดียวกันเพราะสถานที่จัดใกล้กันมาก คือคืนนั้นรุ่นพี่เราบอกว่าที่ร้านของเขาจะมีวงที่น่าสนใจมาก มาเล่น เราเลยแวะเข้าไปดูอีเวนต์เพจคร่าว ก็พบว่าเป็นวง Apichat Pakwan (อภิชาติ ปากหวาน) วงหมอลำดั๊บที่พักนี้เริ่มจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขาบ่อยขึ้น และ Govinda Bhasya ที่แฟนเพลงเวิร์ลมิวสิกจะต้องเคยได้ยินชื่อมาบ้าง แต่ด้วยเวลาอันคาบเกี่ยวจึงทำให้เราไปดูทันในช่วงสุดท้ายของโชว์แล้ว

เมื่อไปถึงก็ได้พบว่าทุกคนกำลังดิ้นกันสนุก เต้นกันแบบไม่ลืมหูลืมตา ตอนนั้นในใจก็คิดแล้วว่าเสียดายที่มาไม่ทันตั้งแต่วงแรก เพราะเพียงแค่สองเพลงท้ายก็ทำให้เรารู้สึกม่วนคัก แล้ว ถ้าได้ดูทั้งโชว์จะต้องสนุกครบรสกว่านี้แน่ มีหลักฐานการันตีได้เป็นอย่างดีจากบรรดาผู้ชมฟรอนต์โรวที่น่าจะโดนฤทธิ์ยาดองไปพอสมควร ก็เซิ้งอย่างออกรสเชียวล่ะ แถมช่วงท้ายก็ยังมีอังกอร์และ after party ที่จัดเพลงดิสโก้ ดั๊บ ดีพเฮาส์ ให้ได้เต้นกันต่อ ด้วยเหตุนี้เองเราถึงกับออกปากถามโปรดิวเซอร์ตัวตั้งตัวตีที่มาจากอัมสเตอร์ดัมว่าโชว์ต่อไปของพวกเขาจะไปเล่นที่ไหน ปรากฏว่างานหน้าคือคืนวันอาทิตย์ซึ่งจะมีเล่นกับวงเร็กเก้/รักกามัฟฟินที่ Jam สุรศักดิ์ ไอเราก็คิดว่าควรจะพักร่างบ้าง แต่ไป มา กลับมีจังหวะให้ต้องไปแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เลยได้ดูโชว์เต็ม ของพวกเขาในที่สุด

Apichat Pakwan เกิดจากการรวมตัวกันของ Olivier Shreuder โปรดิวเซอร์ฮิปฮอปเร็กเก้จากเนเธอร์แลนด์ที่มีความสนใจและหลงรักในเสียงอีสานขณะที่เดินทางมาท่องเที่ยวแถบนี้เมื่อปี 2004 “ผมว่าผมเกิดผิดที่” คือประโยคที่เขาพูดกับเพื่อนของเราในคืนวันอาทิตย์

หลังจากนั้นเขาก็ได้รู้จักกับ นุ่ม—อังคนางค์ ที่มหาวิทยาลัยของแก่นในปี 2015 จนเริ่มทำวงดนตรีร่วมกันกับนักดนตรีพื้นบ้านอีกหลายคน พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นดนตรีแนว ‘Esantronic’ (มาจากการเล่นกับคำว่าอีสาน+อิเล็กทรอนิก) โดยเป็นการใช้วัตถุดิบจากหมอลำพื้นบ้าน ทั้งเครื่องดนตรีอีสานอย่างพิณ โหวด เครื่องเคาะประกอบจังหวะต่าง ๆ รวมไปถึงท่อนร้องลำที่มาจากเพลงที่เราคุ้นหูกันดีไม่ว่าจะเป็น หงษ์ทองคะนองลำ หรือแม้แต่แหล่สีกาสั่งนาค และมีเพลงที่พวกเขาร่วมกันเขียนขึ้นมาใหม่ และใช้การขับร้องแบบลูกทุ่งไทยอีสาน/หมอลำที่หวานหยดย้อย รวมเข้ากับการดั๊บ บีตฮิปฮอป เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่างดั๊บแมชชีน ซินธิไซเซอร์ ทั้งแบบดิจิทัลและอานาล็อก ซึ่งการที่ใช้ทั้งส่วนผสมดั้งเดิมและร่วมสมัยนี้เองจึงทำให้รสชาติของดนตรีที่ออกมามีทั้งความพิเศษ โดดเด่น และเข้าถึงได้ง่ายในหลายบริบททางสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่งานแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นไปจนถึงปาร์ตี้สุดมัน หรือจะเปิดฟังเพลิน ที่บ้านก็ไม่ได้ผิดที่ผิดทางเท่าไหร่ เพลงของพวกเขามีทั้งความสุขุมลุ่มลึก น่าค้นหา มีชั้นเชิง ชวนดำดิ่งไปกับเลเยอร์ซับซ้อนของท่วงทำนอง หรือถ้าใครคิดถึงเพลงลำซิ่งสนุก แบบดั้งเดิม พวกเขาก็มีมาสนองตอบโดยสามารถเก็บองค์ประกอบไว้ได้ครบถ้วน เพียงแต่จะมีซาวด์อิเล็กทรอนิกเพิ่มเข้ามา พูดได้เต็มปากว่าเราสามารถนำเพลงของ Apichat Pakwan ไปอยู่ได้ในแทบทุกที่ทุกเวลา และล่าสุดพวกเขาได้รับเกียรติไปแสดงที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์มาแล้วในปี 2017

Apichat Pakwan

โชว์ในคืนวันอาทิตย์ที่ Jam แม้บรรยากาศของงานนี้จะค่อนข้างแตกต่างจากงานในคืนวันเสาร์ที่ NOMA เนื่องด้วยกลุ่มคนดูเป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น ทำให้บางทีพวกเขาอาจไม่สามารถซึมซับองค์ประกอบของเพลงได้ทั้งหมด เพราะแน่นอนว่าหากผู้ชมเป็นเจ้าของภาษาก็จะเข้าใจถึงความหมายในเพลงที่ถูกร้องออกมาได้มากกว่า ผู้ชมชาวไทยบางคนถึงขนาดออกปากว่าอินกับเนื้อหาในเพลงด้วยซ้ำ (เพลงส่วนใหญ่จะเป็นการรำพึงถึงคนรักที่อยู่ไกล ความเหนื่อยล้าที่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองจนนึกคิดถึงท้องทุ่ง หรือการเล่าถึงกิจวัตรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำเป็นประจำในชีวิตแบบที่ลงลึกถึงรายละเอียดและขั้นตอนเช่นการบวช การทำนา เป็นภาพจำในเพลงลูกทุ่งอีสานหรือหมอลำที่คนทั่วประเทศคุ้นเคยกันดี) แต่ถึงแม้ผู้ชมบางคนจะฟังภาษาไทยอีสานไม่ออก พวกเขาก็ไม่ได้เหนียมอายหรือวางมาดจนไม่ยอมโยกย้ายไปกับเพลงสนุก เหล่านั้น ซึ่งหลาย คนพยายามเลียนท่าฟ้อนรำ หรือเซิ้งแบบไทย ไปพร้อมกับนักร้องนำที่กำลังวาดลวดลายชดช้อยงดงามเสียด้วยซ้ำ นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของดนตรีที่กำแพงภาษาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ซึ่งเพลงที่ได้ใจเราไปเต็ม ๆ คือเพลงที่คุณจะได้ฟังด้านล่างนี้

ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยก็มีศิลปินหลายกลุ่มที่เริ่มหยิบจับเอาดนตรีพื้นถิ่นท้องที่ต่าง ๆ มาผสมผสานกับดนตรีสากลที่ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยหันมาสนใจดนตรีดั้งเดิมเหล่านี้แล้ว ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจกับชาวต่างชาติที่ไม่เคยได้ยินสรรพเสียงจำพวกนี้มาก่อน ดังเช่น หมอลำฟังก์ Paradise Bangkok Molam International Band หมอลำร็อก ตุ้มเติ่นหมอลํากรุ๊ป หมอลำบลูส์ โซล Rasmee Isan Soul หมอลำเร็กเก้แบบ เสียงหองไลออนส์ หรือ Isan Jah ฟังก์ทองแดง Boyjozz หรือแม้แต่ซีนฮิปฮอปก็มีศิลปินอย่าง สิงห์เหนือเสือใต้, ปู่จ๋านลองไมค์VKL และ Southside ก็แทรกซึมเอาภาษาถิ่นมาอยู่ในไรห์มแร็ป ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าดนตรีท้องถิ่นคือสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะกับคนต่างจังหวัดเท่านั้น ให้กลายเป็นว่าภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้ไกลตัวอย่างที่หลายคนเคยคิด แม้แต่เพลงที่มียอดฟังสูงสุดใน YouTube ก็ยังเป็นเพลงลูกทุ่งหรือหมอลำทั้งสิ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าการหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพ ฯ ของคนต่างจังหวัดถือเป็นการนำเอาอัตลักษณ์จากท้องที่นั้น ๆ เข้ามาโดยอัตโนมัติ และทำให้เกิดการปรับตัวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแวดล้อมสังคมเมือง เพราะไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในส่วนใดของกรุงเทพ ฯ ก็จะต้องได้ยินเพลงลูกทุ่งหมอลำดังขึ้นมาจากสักที่เสมอ ๆ รวมถึงโปรดิวเซอร์ค่ายเพลงลูกทุ่งเองก็มีการปรับให้เพลงเข้ากับยุคสมัยไปโดยปริยาย ไม่เพียงแต่การพยายามเอาส่วนผสมของดนตรีสากลหรือดนตรีสมัยใหม่มาผนวกรวมกับดนตรีแบบเก่า แต่บริบทต่าง ๆ ในเนื้อเพลงกลับเชื่อมโยงกับคนยุคปัจจุบันได้ง่ายขึ้น จากแต่ก่อนที่สรรพนามแทนตนในเพลงเป็น ‘พี่’ ‘น้อง’ ‘อ้าย’ ‘เจ้า’ กลายเป็น ‘ฉัน’ ‘เธอ’ หรือวิวัฒนาการเทคโนโลยีการสื่อสารในเพลงจากเขียนจดหมาย โทรศัพท์ กลายมาเป็นการติดต่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีทั่วไปในเพลงลูกทุ่งสมัยนี้

แม้ว่าการที่ Apichat Pakwan นำเอาดนตรีดั๊บ เร็กเก้ ฮิปฮอป มาผสมผสานเข้ากับเพลงอีสาน อาจเป็นการตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้สร้างสรรค์ที่จะปรับตัวให้เพลงหมอลำมีฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน แต่ที่แน่ ๆ ในฐานะคนฟัง เราก็เชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำนับเป็นความสำเร็จในการต่อลมหายใจให้ดนตรีพื้นถิ่น และได้สะท้อนถึงความหลงใหลในเสียงอันมีเอกลักษณ์ของดนตรีหลากแนวโดยไม่จำกัดขอบเขตทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และความใส่ใจในรายละเอียดของดนตรีผนวกรวมพวกมันเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว จนทำให้ดนตรีทางเลือกที่ปกติก็เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มไปได้ไกลกว่าเดิมแบบที่เราคาดไม่ถึง

 

รับฟังผลงานอื่น ๆ ของ Apichat Pakwan ได้ >ที่นี่< และติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ >ที่นี่

อ้างอิงข้อมูลจาก
Mor Lam Takes A Dub, Hip-hop Turn This Weekend
อีสานป๊อป (1) – เมื่อเพลงอีสานทลายกำแพงวัฒนธรรม
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้