ยอดฟังมีความหมาย! หลากหลายวิธีที่สตรีมมิ่งช่วยเหลือศิลปินในวิกฤติโควิด

Article Story

ยอดฟังมีความหมาย! หลากหลายวิธีที่ Music Streaming ช่วยเหลือศิลปินในวิกฤติโควิด

โควิดกระทบกับซีนดนตรีไปทั่วโลกในหลาย ๆ ทางจนเราคาดไม่ถึง งานหด อดโชว์ แถมยอดสตรีมมิ่งยังตกลงในช่วงโรคระบาดอีกด้วย แม้แต่ศิลปินดัง ๆ ยังขาดรายได้จนน่าใจหาย แล้วศิลปินตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีงานทัวร์บ่อย ๆ คงเจอผลกระทบที่หนักหนากว่า จนอาจต้องยอมทิ้งอาชีพนักดนตรีไปเลย

ศิลปินหลายคนก็ต้องออกมาไลฟ์บนโซเชียลเพื่อรับบริจาคเงินเพื่อเลี้ยงปากท้อง ทำโชว์บนโลกอินเทอร์เน็ตให้น่าสนใจเพื่อติดต่อกับแฟน ๆ ที่ไม่ได้เจอกันหลายเดือน หรือขายสินค้าของวงเพื่อนำเงินมาจุนเจือความฝันของตัวเองต่อ แน่นอนว่า มันทดแทนรายได้ที่หายไปเพราะโรคระบาดไม่ได้แน่ ๆ

แม้ยอดสตรีมมิ่งหลายเจ้าจะลดลงไปบ้าง แต่พวกเขาต่างรู้อยู่เต็มอกว่า ถ้าไม่มีศิลปินแล้วพวกเขาก็คงไม่มีทางรันแพลตฟอร์มของตัวเองต่อไปได้แน่ หลายที่จึงออกมาตรการมาซัพพอร์ตซีนดนตรีไม่ให้ล่มสลายไปซะก่อนที่วัคซีนจะมาถึง

marshmello บริจาคเงินจากยอดฟังเดือนละ 12 ล้านให้องค์ช่วยศิลปิน

ทันทีที่เกิดการระบาด Apple Music และ Spotify ต่างแบ่งพื้นที่ในหน้าแรกให้กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดในแต่ละประเทศ เพื่อให้ความรู้กับคนฟังเพลงทุกคนถึงการห่างไกลโรคระบาด โดยเฉพาะ Spotify ที่งดรับสปอตโฆษณา แล้วให้หมอหรือผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำวิธีปฏิบัติตัวในช่วงโรคระบาด แทรกลงไประหว่างฟังเพลงแทน เพื่อให้ความรู้หรือข้อมูลสำคัญเข้าถึงคนรักการฟังเพลงมากขึ้น

ส่วนแบ่งค่าตอบแทนจากยอดฟังในสตรีมมิ่ง ก็ยังนำไปบริจาคให้กับ MusiCares องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ออกมาเยียวยาเหล่าคนในอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลก และอีกหลาย ๆ องค์กรทั้งในซีนและนอกซีนดนตรี เพื่อช่วยกันเยียวยาผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้

ล่าสุด Spotify ก็เพิ่งเปิดให้ศิลปินสามารถรับบริจาคเงินผ่านหน้าโปรไฟล์ศิลปินบนสตรีมมิ่ง ซึ่งเป็นบัญชีตรงไม่ต้องผ่าน Spotify หรือตัวกลางใด ๆ มั่นใจได้ว่าศิลปินที่เรารักจะได้เงินไปเต็ม ๆ Marshmello คือศิลปินคนแรก ๆ ที่เปิดฟีเจอร์นี้บนหน้าโปร์ไฟล์ของตัวเอง แต่เป็นช่องทางที่พาคนฟังไปบริจาคเงินให้องค์กรต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น หลังจากที่ตัวเองยกค่าตอบแทนจากยอดฟังเดือนละ 33 ล้านครั้งให้กับองค์กร MusiCares เพื่อนำไปช่วยศิลปินคนอื่นที่เดือดร้อน แต่ศิลปินคนไหนจะเปิดรับบริจาคเองก็ทำได้เหมือนกัน เรียกว่า Spotify ก็พยายามช่วยทุกวิธีที่ทำได้จริง ๆ

ฝั่ง Amazon Music เอง ก็ผนึกกำลังกับ Twitch วีดีโอสตรีมมิ่งยอดนิยม ช่วยกันเตรียมเครื่องมือให้พร้อมแล้วเพื่อผลักดันให้ศิลปินทุกระดับมีพื้นที่ในการออกมาไลฟ์โชว์คนดู และรับบริจาคได้เข้ากระเป๋าศิลปินได้เต็มที่ ไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนั้น

Bandcamp เองก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาจะประกาศวันที่จะไม่เก็บค่าส่วนแบ่งจากศิลปิน เมื่อมีแฟนเพลงมาซื้อเพลงหรือซีดีไวนิลบนเว็บ ศิลปินก็จะได้เงินไปเต็ม ๆ เลย พร้อมทั้งปรับโฉมรูปแบบเว็บ ให้ศิลปินสามารถขายอะไรก็ได้ที่พวกเขานึกออก จะเป็นวีดีโอโชว์แบบ exclusive ไลฟ์ที่อัดเก็บไว้ วีดีโอทักทายพูดคุยขำ ๆ หรือสอนเล่นดนตรี ก็นำมาลงขายบนเว็บได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

โดย Bandcamp ก็จะคอยแนะนำศิลปินบนแพลตฟอร์มว่าสินค้าหรือวีดีโออะไรเวิร์กหรือไม่เวิร์ก พร้อมช่วยยิงโฆษณาหรือทำให้คนฟังเข้าถึงศิลปินทุกคนได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ

soundcloud เขียนบทความแนะนำศิลปินในช่วงโควิด

แม้แต่ Soundcloud ก็ยังเขียนบล็อกแนะนำศิลปินทุกคนถึงวิธีการเชื่อมต่อกับแฟนเพลงผ่านโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ เคล็ดลับในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปถึงเรื่องหลังบ้านในการผลักดันให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น แถมยังจับมือกับ Twitch เพื่อให้ศิลปินได้มีพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอีกด้วย

YouTube ก็สร้างหัวข้อแยกไว้ให้เกี่ยวกับ covid-19 หรือแคมเปญล้างมือ พร้อมเชิญชวนแนะนำศิลปินบนแพลตฟอร์มมาสร้างคอนเทนต์ให้มีคนเห็นมากขึ้น แถมยังลงไปช่วยเวิร์กช็อปวิธีไลฟ์อยู่บ้านผ่านมือถือหรือกล้องให้เข้าใจง่ายที่สุด ให้ทุกคนได้มีโอกาสโชว์อีกครั้ง พร้อมปล่อยฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้ใช้ฟรีไปเลย อย่างการอัดวีดีโอไว้แล้วตั้งเวลาไลฟ์ พร้อมช่องแชตที่สะดวกพร้อมฟีเจอร์ที่รับบริจาคได้โดยตรง

ส่วน Tidal สตรีมมิ่งชั้นสูงเองก็มีคอนเทนต์ที่สมกับราคาสมาชิก(ที่สูงตามไปด้วย)มาก พวกเขาเติมเต็มช่องว่างในจิตใจที่หายไปเพราะคิดถึงคอนเสิร์ต ด้วยไลฟ์โชว์จากศิลปินชั้นนำแถวหน้าของวงการ ส่งตรงถึงหน้าจอบ้านเราเลยทั้ง Jay Z และ Beyoncé’, Rihanna, Gucci Mane, H.E.R., Becky G, A$AP Ferg และ Travis Scott เรียกว่ามีแต่ตัวท็อป ๆ ทั้งนั้น

แล้วพวกเขายังเลือกเฟสติวัลเจ๋ง ๆ ที่ผ่านมาอย่าง Dreamville Fest หรือ Made In America และคอนเสิร์ตใหญ่ของศิลปินตัวแม่ทั้ง Alicia Keys และ Nicki Minaj มาสตรีมให้ดูแบบเต็มอิ่ม เอาให้หายคิดถึงการไปดูคอนเสิร์ตกันไปเลย

สตรีมมิ่งตัวจิ๋วอย่าง Deezer ก็คัดเลือกและสร้าง playlist เฉพาะกิจสำหรับช่วงโควิดขึ้นมา ซึ่งจัดเรียงทั้งเพลง ดีเจเปิดเพลงและ podcasts ให้หลากหลายและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม พร้อมให้ความรู้และวิธีป้องกันโควิดไปด้วย ไม่ว่าคุณจะชอบอะไรก็ต้องติดใจเพลย์ลิสต์เฉพาะกิจอันนี้แน่นอน

นอกจากการฟังเพลงบนสตรีมมิ่งเหล่านี้จะช่วยเหลือศิลปินทั้งทางตรงและทางอ้อมได้แล้ว เรายังมีอีกหลายวิธีที่จะซัพพอร์ตให้ศิลปินที่เรารักในช่วงโควิด ไม่ให้พวกเขาล้มลงยอมแพ้ต่อโชคชะตาไปซะก่อน แต่อย่าลืมว่านอกจากศิลปินแล้ว ในอุตสาหกรรมดนตรียังมีเฟืองตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย ที่ต้องหยุดหมุนลงจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งพวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างจากศิลปินเลย

เราทำได้เพียงภาวนาให้เหตุการณ์คลี่คลายลงจนกลับไปจัดคอนเสิร์ตได้อีกครั้ง หรือถ้ามีวัคซีนขึ้นมาเมื่อไหร่ เราก็อาจมีความหวังจะได้กลับไปดูคอนเสิร์ตกันไวขึ้น สิ่งที่พวกเราทำได้ตอนนี้ คือทำตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยง ล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ เราจะได้กลับไปดูคอนเสิร์ตกันเร็ว ๆ เนอะ

อ้างอิง
billboard.com
grammy.com
vibe.com
bbc.com

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา