Article Story

Listening Bars เทรนด์ใหม่ของคนที่อยากจิบเหล้าเคล้าดนตรี (แบบจริงจัง)

ญี่ปุ่นคือจุดหมายปลายทางที่ใครหลายคนอยากจะไปเยือนให้ได้สักครั้ง นอกจากเรื่องภาษา อาหาร และการ์ตูนแล้ว ดนตรีก็เห็นจะเป็นอีกเรื่องนึงที่เชิดหน้าชูตาคนบ้านเขาได้ไม่แพ้กัน

ในมิวสิกเฟสติวัลหลาย ๆ ที่ เราสามารถไว้วางใจได้เลยว่าวงจากประเทศญี่ปุ่นจะเป็นวงที่มีคุณภาพ (หรือแม้แต่ Fuji Rock Festival ของพวกเขาเอง ก็มีคนทั่วโลกบินข้ามน้ำข้ามทะเลมา เพื่อชมไลน์อัพระดับพระกาฬที่คัดสรรมาอย่างดี) เพราะสนใจและตั้งใจจริงนี้เองพวกเขาจึงทำสิ่งต่าง ๆ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งวินัย ฝีไม้ลายมือ พลังงานในการแสดงสด หรือการเรียบเรียงดนตรีที่หลาย ๆ ครั้งก็เป็นเหมือนผู้ริเริ่ม ให้เราได้ทำความรู้จักกับซาวด์แปลกประหลาดอยู่เสมอ รวมถึงอัตลักษณ์ทางดนตรีของวงญี่ปุ่นก็มีความชัดเจน แบบที่แค่ฟังนิดเดียวก็บอกต้นกำเนิดได้ทันที

นอกจากเรื่องที่ร่ายมาทั้งหมดทั้งมวลข้างบน เราก็อยากนำเสนออีกความเป็น pioneer ของชาวญี่ปุ่น ที่สะท้อนความ geek ออกมาในหลายมิติ เมื่อมีนักดนตรีที่จริงจัง ก็ต้องมีนักฟังที่จริงจังเป็นของคู่กัน ถูกไหม?

เรื่องของเรื่องคือเราบังเอิญได้ดูคลิปหนึ่งของ Resident Advisor นิตยสารออนไลน์และคอมมิวนิตี้ที่ซัพพอร์ตนักดนตรี ดีเจ โปรดิวเซอร์เพลงอิเล็กทรอนิกทั่วโลก พวกเขาร่วมมือกับ Asahi Super Dry ทำสารคดีตอนสั้น ๆ เกี่ยวกับร้านที่ชื่อ SHeLTeR พอดูจบ เราจัดแจงใส่ชื่อร้านลงไปในลิสต์สถานที่ที่เราจะไปเที่ยวในโตเกียวทริปล่าสุดนี้ทันที

ก่อนหน้านี้เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘live house’ หรือสถานที่ที่เปิดให้นักดนตรีไปเล่น original songs ของตัวเองและมีคนมาฟังตลอดทั้งคืนอยู่บ่อย ๆ แต่ตอนนี้เรามีlistening barsที่กำลังแพร่กระจายความนิยมไปทั่วโตเกียว และ SHeLTeR ก็คือหนึ่งในร้านพวกนั้น

Listening bars คืออะไร Chee Shimizu ดีเจชาวญี่ปุ่นได้ให้คำตอบว่ามันคือคอนเซ็ปต์ของการฟังดนตรีดี ๆ ที่ถูกเล่นออกมาโดยดีเจที่รู้จักจุดเด่น หรือลูกเล่นในเพลงนั้น ๆ ดีพอที่จะถ่ายทอดมันออกมา มันไม่จำเป็นต้องเป็นบีตย่ำเท้ามัน ๆ แต่อาจจะเป็นเพลงแจ๊ส ร็อก หรือดนตรีทดลองก็ยังได้ ทว่าข้อแตกต่างของคลับกับ listening bars คือแทนที่เราจะไปเต้นปลดปล่อยพลัง กลายเป็นว่าเราจมดิ่งลงไปในโลกของดนตรี และตั้งใจฟังรายละเอียดของมันมากขึ้น

คืนหนึ่งในโตเกียว เรากับเพื่อน ๆ ไปนั่งดื่มซาว่ากันที่ร้านหนึ่งในย่านซันเก็นจายะ สิ่งที่ดึงดูดให้เราเข้าไปในร้านนี้นอกจากการที่เขาเป็น sawa specialty bar แล้ว (เครื่องดื่มที่ใช้น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมผสมกับโชจูหรือวอดก้า) คงเป็นเพราะเพลงที่เล่นอยู่คือ Crazy Dreams ของ Tom Misch ที่ทำให้เราตัดสินไปแล้วว่าพวกเขาไม่ใช่คนญี่ปุ่นทั่วไปแน่ ๆ เพราะส่วนใหญ่คงไม่ได้ฟังเพลงอะไรแบบนี้ พอนั่งไปสักพักก็มีทั้ง world music, nu disco, trip hop ก็ยิ่งเหวอหนักไปอีก ตอนจะคิดเงินเจ้าของร้านก็ถามว่าเดี๋ยวจะไปไหนต่อ เราบอกว่าเดี๋ยวจะไป SHeLTeR เขาบอกว่าเคยไปร้านนั้น เป็นร้านที่ดีมาก ๆ ส่วนเขาเองก็เป็นดีเจเหมือนกัน แล้วคนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักดนตรีไม่ก็นักเรียนศิลปะ ก็เลยถึงบางอ้อว่าทำไมร้านนี้ถึงเปิดเพลงไม่เหมือนที่อื่นในโตเกียวเลย

Listening Bars

เผอิญว่าวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ แล้วมีอีเวนต์ดีเจที่ร้านพอดีเราเลยจะพลาดไม่ได้ ด้วยเวลาอันสมควร เราเลยขอแยกจากเพื่อน ๆ (เพราะเพื่อน ๆ ไม่ใช่สายนี้กันเลย) นั่งรถไฟต่อไปยังย่านที่ชื่อ Hachioji เพื่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจไว้ ฮาชิโอจิไม่ใช่ย่านยอดนิยมของนักท่องเที่ยว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่นั่นมีอะไรดัง นอกจากว่าเป็นที่ตั้งของ SHeLTeR

ทันทีที่ก้าวขาออกจากรถไฟเมื่อถึงสถานี ฝนก็เทลงมาเหมือนแกล้งกัน แถมวันนี้ดันไม่ได้เอาร่มมาด้วยทั้งที่ปกติก็จะติดตัวตลอด เราเลยต้องวิ่งฝ่าฝนไปเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้เลยเวลาที่ดีเจเปิดเพลงแล้ว ระหว่างทางโชคดีเห็นเซเว่น ก็เข้าไปซื้อร่มใสซิกเนเจอร์ชาวญี่ปุ่น 600 เยนแล้วมุ่งหน้าตรงไปที่ร้าน

เราเดินตาม Google Map ใช้เวลาประมาณ 7 นาทีก็ถึงที่หมาย มาเจอป้ายเล็ก ๆ เขียนตัวหยุกหยิกว่า SHeLTeR เป็นอันว่ามาถูกทาง เราเดินลงไปในชั้นใต้ดินพิศวงก็ได้ยิน world music แบบ afro beat เร้าอารมณ์เป็นเพลงต้อนรับ ต่อด้วยละตินฟลาเมนโก้อะไรก็ว่าไป พอพ้นขั้นบันได เปิดประตูเข้าไปก็ได้กลิ่นบุหรี่ฉนกึ๊กเตะจมูก ก่อนจะจ่ายค่าเข้า 1,000 เยนเป็นอันดับแรก (ปกติพวกนี้จะมีค่า fee ประมาณ 300 เยนอยู่แล้วทุกที่ แต่วันนี้มีอีเวนต์เลยบวกเข้าไป)

Listening Bars

พอได้นั่งพักเหนื่อยก็มองสำรวจไปรอบ ๆ พบว่านี่เป็นร้านที่ไม่ใหญ่มาก บรรยากาศสลัว ๆ แบบไลฟ์เฮาส์ยุคเก่า ๆ มีบาร์เล็ก ๆ อยู่ครึ่งหลังของร้าน แต่งแบบญี่ปุ่น 90s สิ่งที่ทำให้ SHeLTeR พิเศษกว่าที่ไหน ๆ คือการเซ็ตพื้นที่ให้คนที่มาได้ประจันหน้ากับบูธดีเจ มีโต๊ะเก้าอี้สูง 3 ตัว ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ลำโพงยักษ์ มีพื้นที่ให้เต้นได้เหลือเฟือ ที่สำคัญคือมีโซฟาอยู่รอบ ๆ ให้เราได้เอนกายฟังดนตรีที่ดีเจในค่ำคืนนั้นตั้งใจนำเสนอ อย่างตอนนี้มีคน 3 คนถ้วนที่ไม่น่าจะรู้จักกันกำลังเต้นอยู่กับตัวเอง ส่วนเราด้วยความทำตัวไม่ถูกเลยมานั่งที่โต๊ะใกล้กับลำโพง บอกเลยว่าระบบเสียงที่นี่ดีมาก ๆ

Listening Bars

นั่งไปสักพัก ผู้หญิงที่นั่งโต๊ะใกล้ ๆ กันก็เข้ามาคุยกับเราด้วยภาษาอังกฤษระดับพอสื่อสารได้ ถามว่ามาจากไหน รู้จักร้านได้ยังไง เพราะเท่าที่สังเกต ฮาชิโอจิก็เป็นย่านค่อนข้าง local เพราะบาร์เทนเดอร์ไม่พูดภาษาอังกฤษ (สั่งเหล้ายากมากแม่ เลยขอนามะบีหรุคิรินไปขวด) พอเขารู้ว่าเราเป็นคนไทย รู้จักร้านนี้จากวิดิโออันนั้น เขาก็ตื่นเต้นมาก ๆ ยิ่งรู้ว่าเป็นนักเขียนก็ยิ่งดีใจหนักไปอีก เธอยืนยันอีกเสียงว่าร้านนี้โหดสุดในโตเกียวแล้ว ทุกคนเป็นเซียนดนตรีและสะสมแผ่นเสียง เจ้าของร้านเองก็เป็นตัวจริง ถึงร้านจะเล็กแต่เปิดเพลงดี ซาวด์ดีกว่าคลับใหญ่ ๆ ซะอีกจนตอนหลังเราก็ได้รู้ว่าเธอคือ YUKIHO หนึ่งในดีเจที่จะเปิดให้งานนี้เป็นรายต่อไป ปกติเธอจะเปิด progressive house แต่เธอบอกว่ารอดูก่อนว่าฟีลวันนี้เป็นไงส่วนดีเจคนที่เรามาถึงและได้ฟัง world music ก่อนหน้านี้น่าจะชื่อ World Famous

Listening Bars

สักพักนึงเพลง จากเพลงพื้นบ้านซิ่ง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนสไตล์ไปเป็น deep house แล้วเริ่มไล่บิลด์อารมณ์ไปเป็น nu disco, nu funk ซึ่งเขาใช้เปิดจากไวนิลทุกแทร็ค ตามด้วย psych trance ที่มีเอเลเมนต์ของความเป็นดนตรีแถบแคริบเบียน ฟังแล้วนึกถึงตอน DJ Tada เปิดในงาน MELA Clubnacht ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเป็นช่วงเปิดบีตให้ย่ำเท้า ก่อนจะเข้าช่วงลูป tech house และส่งเข้าเพลงเมโลดี้สว่างๆปลุกให้คนตื่นจากภวังค์ทำทีว่าจะต้องส่งไม้ต่อให้ดีเจคนต่อไป

จนได้เวลาอันสมควรที่เราต้องรีบกลับบ้านไม่งั้นจะไม่ทันรถไฟขบวนสุดท้ายซึ่งระยะทางจากฮาชิโอจิกลับไปยังบ้านที่อยู่โคมาซาว่าไดกาคุรวมแล้วก็หนึ่งชั่วโมงโดยประมาณ

ตอนที่เราจะเดินออกมาก็เจอกับ YUKIHO เลยบอกเธอว่าอยู่ต่อไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเจ้าของร้าน Nojima Yoshio หรือคุณลุงที่อยู่ในวิดิโอก็มายืนอยู่แถวนั้นพอดีเธอเลยพาไปแนะนำให้รู้จัก (เมื่อไม่กี่นาทีก่อนเขาไปอยู่ตรงบูธดีเจ เซ็ตนั่นเซ็ตนี่สายไฟพะรุงพะรัง) เรารู้สึกได้ถึงความปรมาจารย์และความถ่อมตัวของโนจิมะซังมาก ๆ

กว่าสามสิบปีที่โนจิมะซังลงแรงทำร้านนี้ เขาใส่ใจรายละเอียดหลายอย่างมาก ล่าสุดเขาได้เปลี่ยนระบบเสียงของทางร้าน แม้แต่ลำโพง JBL DD55000s 3 คู่ยังถูก customized ใหม่แทบทั้งหมด ตั้งแต่สายเคเบิ้ลไปจนถึงกรอบไม้ที่ประกรอบเป็นตัวโครง เพราะทุกองค์ประกอบล้วนมีผลกับเสียงที่ออกมา จนได้เป็นลำโพงที่ให้แชแนลเสียงแบบที่เขาต้องการ เขาตรวจเช็กหัวเข็มของ turntable และเป็นคนซาวด์เช็กก่อนเริ่มทุกโชว์ (SHeLTeR เป็นเหมือนสวรรค์ของ audiophile หรือคนรักไวนิล เพราะดีเจหลาย ๆ คนจะแบกคอลเล็กชันแผ่นเสียงมาเปิดที่ร้านนี้)

ในย่านฮาชิโอจิอันเงียบเหงาของโตเกียว ตอนที่โนจิมะซังยังอายุ 26 ปี เขาคิดกับเพื่อนว่าอยากให้มีสถานที่สำหรับหย่อนใจในละแวกบ้านเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองหลวง แต่ก็ไม่อยากให้มันน่าเบื่อจนเกินไป หลายปีต่อมา SHeLTeR จึงเกิดขึ้น ในความรู้สึกของเขามันไม่เหมือนบาร์ แต่เป็นเหมือนห้องห้องหนึ่งในบ้านของเขาเอง

น่าเสียดายที่อยู่คุยนานไม่ได้เพราะเดี๋ยวจะตกรถ ไม่คุ้มกันเท่าไหร่ถ้าจะเสียค่าแท็กซี่ในโตเกียว บานแน่ ๆ

Listening Bars

อันที่จริง listening bars ไม่ใช่สิ่งใหม่นัก แต่คือการที่คนคนนึงใส่ใจเรื่อง soundsystem ในสถานบริการนั้น ๆ เป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือบาร์ ซึ่งลูกค้าที่มาร้านเหล่านี้แทนที่จะมารับประทานอาหารเลิศรส หรือดื่มด่ำกับค็อกเทลชั้นเยี่ยม พวกเขาก็เลือกที่จะมารับประสบการณ์การฟังชั้นยอดจากดีเจดี ๆ selection เพลงดี ๆ ในระบบเสียงดี ๆ และเริ่มมีสถานที่แบบนี้ทั่วโลก

ที่ลอนดอนมี listening bar แห่งหนึ่งคือ Brilliant Corners ที่แต่เดิมเขาก็เปิดเป็นร้านอาหารนั่นแหละ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็มีการติดตั้งเครื่องเสียงจริงจังขึ้นมา โดยเจ้าของเองก็บอกว่ากะจะเป็นโปรเจ็กต์ทดลองดูสักสองปี และตอนนี้กระแสตอบรับก็เป็นไปได้สวย

ที่กรุงเทพ ฯ เองก็มีเหมือนกัน แถมยังมีมานานแล้วด้วย นั่นคือ Studio Lam เราจะสังเกตได้จากลำโพงตัวขนาดมหึมาที่บอกได้เลยว่า sound system ไม่เป็นสองรองใครและมีแผ่นเสียงหายากถูกนำมาเปิดให้เราได้ฟังอยู่เสมอๆ

Listening bars เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงความรักในเสียงดนตรีที่คนคนนึงจะมองว่า ดนตรีสามารถให้ความพิเศษกับพวกเขาได้ มันไม่ใช่แค่การได้ฟังเพลงที่ชอบจากศิลปินที่ชอบอีกต่อไป แต่เป็นการที่ผู้บริโภคที่ทรีตดนตรีไปในอีกระดับหนึ่ง

การได้ยินเสียงที่คุณไม่เคยคิดว่า หูของคุณจะมีประสิทธิภาพทางการได้ยินถึงขนาดนั้น ถือเป็นการปลดปล่อยอย่างหนึ่ง

แถม

สรุปว่าไม่ตกรถจ้า คำนวณเวลาเก่งมาก แต่พอกลับถึงบ้านแล้ว รุ่นพี่ที่เราไปขอเขาอาศัยที่โคมาซาว่าไดกาคุ บอกว่ามึงบ้ารึเปล่าทำไมไปไกลขนาดนั้น ขนาดมีวัดไทยกูยังไม่ไปเลย!’ และที่พีคกว่าคือมึงไม่รู้หรอว่าเขามีฆ่าหั่นเก้าศพ!’ ดีแล้วที่ไม่รู้ไม่งั้นคงไม่กล้าฉายเดี่ยว และคงพลาดประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้ไปอีกพักใหญ่เลย อย่างไรก็ดีขอขอบคุณ เจ้ยุ้ย ควีนออฟโคมาซาว่าไดกาคุ เอ็มเพรสออฟซันเก็นจายะ มา ณ ที่นี้

อ้างอิง
The Rise of Listening Bars: Brilliant Corners
Japan’s Hidden Listening Bars: SHeLTeR
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้