Article Story

แซ็กโซโฟนพลาสติกหมายเลข 9

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photo: Vibrato Saxophone

บทความนี้ดัดแปลงมาจากเรื่อง “Plastic Sax No. 9” โดย มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ ในหนังสือ “สายใย” ของศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราคงเคยได้ยินเรื่องแซ็กโซโฟนพลาสติกฝีมือคนไทยที่โด่งดังในแวดวงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เมือหลายปีก่อน ซึ่งผลงานนี้เป็นของคุณปิยพัชร์ ธัญญะกิจ หรือคุณเอ่อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวเบรโต จำกัด แซ็กโซโฟนพลาสติกนี้ได้สร้างชื่อและทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจประดิษฐกรรมของคนไทยเป็นอย่างมาก และหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณเอ่อผลิตผลงานนี้ขึ้นมาคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

10373958_788243681218788_2109717519819511966_n

“การที่พี่เห็นภาพในหลวงทรงแซ็กโซโฟนมาตั้งแต่เด็ก ทำให้พี่คิดว่าคนไทยน่าจะเล่นแซ็กโซโฟนกันเยอะเพราะมีในหลวงเป็นต้นแบบ แต่ไป ๆ มา ๆ กลับกลายเป็นว่ามีคนไทยเล่นแซ็กน้อยมาก ด้วยสาเหตุที่ว่า ราคามันแพง ตัวนึงก็สามหมื่นขึ้นแล้ว บางตัวเป็นแสน อีกอย่างคือน้ำหนักมาก ตัวเบาสุดก็เกือบ 3 โลแล้ว เด็กสิบขวบคงซ้อมได้ไม่นาน แล้วที่สำคัญคือท่อมันบาง ดูแลรักษายาก โลหะโดนกระทบนิดนึงก็เป็นรอยแล้ว พี่เลยอยากก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งสามข้อนี้ไปให้ได้ คนไทยจะได้หันมาเล่นกันเยอะ ๆ”

ด้วยความที่คุณเอ่อก็เป็นคนหนึ่งที่เล่นแซ็กโซโฟนจึงทราบดีถึงอุปสรรคข้างต้น และมองเห็นว่าการที่แซ็กโซโฟนมีราคาแพงเป็นเพราะขั้นตอนการผลิตแซ็กแต่ละตัวต้องใช้แรงงานคน ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้นตามฝีมือและความชำนาญของช่างทำแซ็กคนนั้น ๆ คุณเอ่อจึงคิดว่าถ้าสามารถเอาคนออกจากกระบวนการผลิตได้ก็จะทำให้ราคาของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ถูกลง รวมถึงวัสดุที่ใช้ก็เป็นพลาสติก เมื่อทำออกมาแล้วก็มีน้ำหนักเพียง 850 กรัม ทนทาน และต้นทุนการผลิตถูกกว่าทองเหลืองมาก นี่จึงเป็นการตอบโจทย์ปัญหาทั้งสามข้อได้เป็นอย่างดี

แต่เพราะการที่คุณเอ่อจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักประดิษฐ์หรือผู้เชียวชาญในวัสดุที่จะสร้างเครื่องดนตรีชิ้นนี้ คุณเอ่อจึงต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัวนัก

“พี่ทำเท่าที่ทำได้ การทำของที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกก็ต้องทดลองทำขึ้นมาให้มีเสียงที่ใกล้เคียงกับตัวต้นแบบที่สุด”

คุณเอ่อใช้เวลากว่า 2 ปีในการออกแบบ และใช้เวลาอีก 4 ปีในการแก้ไข ใช้เงินลงทุนทำวิจัยและพัฒนาไปกว่าสิบล้านบาท จนสามารถผลิตแซ็กโซโฟนพลาสติกออกมาได้สำเร็จ แต่ในรุ่นแรกนี้คุณเอ่อผลิตออกมาเพียง 60 ตัว แต่ละตัวมีเลขประจำเครื่อง โดยนำออกจำหน่ายให้กับคนใกล้ตัวเพื่อให้ได้ทดลองใช้ และหวังจะนำกลับมาแก้ไขหากพบข้อผิดพลาด ตอนนี้เราคงพอเดากันได้ว่าใครคือเจ้าของแซ็กโซโฟนหมายเลข 009

“เราเป็นคนไทย ยังไงเราก็ต้องให้พ่อเราเล่นก่อน ในหลวงท่านเป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ของคนไทยที่เล่นแซ็กเลยนะ พี่เชื่อว่าทุกคนสามารถเป่าเพลงพระราชนิพนธ์ได้อย่างน้อยก็คนละเพลง”

คุณเอ่อเล่าว่า เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่ตัดสินใจฝากให้นักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ ที่เล่นดนตรีถวายในหลวง ทูลเกล้าถวายแซ็กโซโฟนพลาสติก ก็รู้สึกตุ้ม ๆ ต่อม ๆ กลัวว่าในหลวงจะไม่พอพระราชหฤทัย ซึ่งหลังจากที่ถวายไปแล้ว ก็เป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับคุณเอ่ออย่างมาก เพราะนักดนตรีวงอ.ส.วันศุกร์คนดังกล่าวนำข้อความที่ในหลวงพระราชทานตอบกลับมามอบให้คุณเอ่อหลังจากได้ทรงแซ็กโซโฟนตัวนั้น

“ข้อมูลที่ท่าน feedback กลับมาแน่นมาก ทรงเป็นกูรูแซ็กโซโฟนจริง ๆ E flat ต้องแข็งขึ้น ตัวนี้เบาไป ในใจเราก็อยากปรึกษาท่านมาตลอดเพราะคิดว่าแซ็กผ่านมือท่านไม่ใช่น้อย ท่านเล่นแซ็กตั้งแต่สิบกว่าจนแปดสิบก็ยังไม่เลิกเล่น ซึ่งพี่ก็เอาข้อมูลตัวนั้นมาปรับแก้ไปเรื่อย ๆ เป็นข้อมูลที่ใช้มาจนทุกวันนี้ แซ็กโซโฟนพลาสติกมีได้ทุกวันนี้เพราะพ่อแก้ให้”

14900489_1233497966693355_5296106637263086208_n

หลังจากที่คุณเอ่อพัฒนาและผลิตแซ็กโซโฟนพลาสติกมาอีกหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่ารุ่นไหนก็ตาม แซ็กโซโฟนหมายเลข 009 จะต้องนำทูลเกล้าถวายในหลวง คุณเอ่อทราบว่าช่วงหลังที่พระองค์เสด็จประทับวังไกลกังวลหรือที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านก็จะทรงแซ็กโซโฟนของคุณเอ่อมาโดยตลอดเพราะน้ำหนักเบา และอีกใจก็เชื่อว่าเพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย

“พอวันอาทิตย์นักดนตรีวง อ.ส. วันศุกร์ที่พี่เคารพรักจะโทรมาบอกว่าท่านทรงดนตรี เราก็ถามว่าเป็นไง เขาก็บอกว่าท่านทรงเพราะเลย ท่านทรงดนตรีตั้งแต่ห้าทุ่มจนตีสอง อาทิตย์ต่อมาก็โทรมาอีกทุกครั้งที่ท่านทรงดนตรี เราก็เกรงใจเพราะเขาก็อายุไม่ใช่น้อยแล้ว ต้องเล่นดนตรีถวายต่อหน้าพระพักตร์แล้วยังต้องตื่นมาโทรหาพี่ พี่ก็บอกเขาว่าไม่ต้องโทรแล้ว แล้วเขาว่าไงรู้ไหม ‘ไม่ได้ครับ ท่านรับสั่งให้โทรบอกคุณ จะได้มีกำลังใจทำต่อไป’”

ครึ่งหนึ่งของความสำเร็จของคุณเอ่อ คือการได้ทูลเกล้าถวายแซ็กโซโฟนแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การได้รับพระมหากรุณาธิคุณนี้ถือเป็นการเติมเต็มในสิ่งที่คุณเอ่อเชื่อมาตลอด

“ถามว่าพี่ได้อะไร คนเราเกิดมาครั้งนึงแล้วได้ถวายของเล่นให้ท่าน และได้รู้ว่าของเล่นนั้นกลายเป็นของใกล้ชิดและทำให้ท่านทรงพระเกษมสำราญ นั่นคือสิ่งที่พี่ได้”

เมื่อสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทยชิ้นนี้ได้รับโอกาสที่จะถูกนำออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ก่อนที่คุณเอ่อจะออกเดินทางจากโรงแรมไปยังงานเปิดตัวแซ็กโซโฟนพลาสติกที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี คุณเอ่อเล่าว่าเขาได้สวดมนต์ขอพระบารมีของพระองค์คุ้มครองและช่วยให้ชาวต่างชาติเห็นคุณค่าของงานชิ้นนี้ และเมื่อถึงงาน บูธ Vibrato เป็นบูธเดียวที่มีคนให้ความสนใจมารอทดสอบแซ็กโซโฟนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นผลตอบแทนความพยายามก้าวแรกในความสำเร็จและสร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณเอ่อมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อถึงคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต คุณเอ่อจึงไม่มีโอกาสได้ถวายแซ็กโซโฟนหมายเลข 009 รุ่นใหม่ ๆ ที่ผลิตออกมาให้ท่าน หรือนำออกจำหน่ายแก่ใครอีก หากแต่เก็บไว้เพื่อระลึกถึงพระปรีชาสามารถแห่งพระองค์ท่าน และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คุณเอ่อได้ทำโปรเจกต์เล็ก ๆ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน รับสอนแซ็กโซโฟนให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 10-80 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผู้นั้นมีความสนใจจะเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ให้ได้สักครั้งในชีวิต

screen-shot-2559-11-15-at-10-34-54-am

“นี่เป็นโอกาสที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนมาเล่นแซ็กโซโฟนกันมากขึ้น พี่ไม่ได้เก่งอะไร แล้วก็ยังไปค้นแซ็กโซโฟนเก่าในสต๊อกมาลดราคาขายให้คนที่มาเรียนด้วย แซ็กโซโฟนไม่ใช่เครื่องดนตรีที่เล่นง่ายเท่าไหร่หรอก แต่ถ้ามีความพยายามและตั้งใจจริง ยังไงก็เล่นได้”

ขอขอบคุณ สมาคมศิษย์เก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้