Article Story

เมื่อศิลปินล่วงละเมิดทางเพศ เราควรสนับสนุนผลงานของเขาต่อไปไหม?

  • Writer: Peerapong Kaewthae and Montipa Virojpan

หลายคนอาจผิดหวังกับการที่คอนเสิร์ต Ducktails ถูกยกเลิก แต่เราขอแสดงความนับถือต่อทีมงานผู้จัดในการตัดสินใจครั้งนี้ มีหลายเสียงที่เห็นพ้องกับเรา แต่มีบางเสียงอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมมันร้ายแรงถึงขั้นต้องแคนเซิล การล่วงละเมิดทางเพศคงเป็นปัญหาที่เราต้องหยิบมาพูดถึงกันอย่างจริงจังได้แล้ว

เมื่อไม่กี่วันก่อน Matt Mondanile ผู้ก่อตั้งและฟรอนต์แมนวง Ducktails ถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศผู้หญิงหลายคน ทั้งเพื่อนที่มหาลัยรวมถึงแฟนเพลงของตัวเอง โดยเมื่อต้นปีที่แล้วมีข่าวที่เขาออกจากตำแหน่งมือกีตาร์ของวง Real Estate และทางวงให้เหตุผลว่าเขาต้องการโฟกัสกับงานเดี่ยวของตัวเอง (Ducktails) แต่ไม่กี่วันก่อนนี้ วงออกมาประกาศอีกครั้งหลังจากโดน ‘Weinstein effect’ หรือกรณีที่มีนักแสดงหญิงและพนักงานหญิงในแวดวงภาพยนตร์พร้อมใจกันออกมาแฉ Harvey Weinstein โปรดิวเซอร์ชื่อดังผู้ก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์ Miramax ว่าเคยคุกคามล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ เช่นกันกับเคสของ Mondanile ที่ทางวงไล่เขาออกเพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสมและการล่วงละเมิดทางเพศ เหยื่อหลายคนพูดตรงกันว่าถูก Mondanile จูบหรือแตะต้องร่างกายโดยไม่ยินยอม บางคนถึงขนาดแจ้งต้นสังกัดหรือบอกเพื่อนในวงการดนตรีแล้ว แต่คำพูดของเธอก็ไม่มีน้ำหนักมากพอให้ใครฟัง

 

Mondanile คือหนึ่งในผู้ชายอีกหลายคนที่ถูกพูดถึงผ่านแคมเปญ #MeToo บนทวิตเตอร์ที่ชักชวนให้คนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศออกมาทวิตเรื่องราวของตัวเองเพื่อให้สังคมรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำมากขึ้น นักร้องและนักแสดงหลายคนออกมาทวิตติดแท็กกันอย่างล้นหลาม หลายคนร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากจนกลายเป็นเรื่องปกติ เหยื่อบางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันคือการล่วงละเมิดที่คุณมีสิทธิ์จะไม่พอใจได้ ไม่เว้นแต่ผู้หญิง เพราะมีผู้ชายหรือคนข้ามเพศอีกหลายคนที่ออกมาพูดถึงการถูกล่วงละเมิดเหมือนกัน ล่าสุดรายชื่อของศิลปินที่ถูกเปิดเผยว่าเข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง Alex Calder, The Gaslamp Killer

หลายคนคิดว่าการคุกคามทางเพศจะต้องมาในรูปของการข่มขืนหรือจับปล้ำเท่านั้น แต่ความจริงแล้วกฎหมายไทยได้อธิบายขอบเขตของการล่วงละเมิดทางเพศไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุม โดยเราขออ้างอิงจากคำสั่งข้อปฎิบัติของกระทรวงมหาดไทย ปี 2558 เรื่องมาตราการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ดังนี้

การกระทำทางสายตา

การจ้องมองที่ส่อไปในทางเพศ การมองใต้กระโปรง มองหน้าอก หรือจ้องลงไปในคอเสื้อจนทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัด หรือคนรอบข้างรู้สึกได้

การกระทำด้วยวาจา

วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา และการแต่งกายที่ส่อไปในทางเพศ / ชักชวนให้กระทำอะไรในที่ลับตาคนโดยที่ผู้ฟังไม่ต้องการทำ หรือพูดตลกเกี่ยวกับเพศ / แซว พูดจาแทะโลม ลามก เรียกอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำที่ส่อไปในทางเพศ การใช้ชื่อของอีกฝ่ายในการผวนไปในเรื่องเพศ จับกลุ่มวิจารณ์รสนิยมทางเพศของบุคคลที่สาม / แสดงความคิดเห็นต่อรสนิยมทางเพศ ถามเกี่ยวกับประสบการณ์ความชื่นชอบในเรื่องเพศ สร้างข่าวลือเกี่ยวกับชีวิตเพศของผู้อื่น

การกระทำทางร่างกาย

สัมผัส ลูบคลำ ถูไถร่างกายของผู้อื่นโดยไม่ได้รับการยินยอม ฉวยโอกาสกอดรัด จูบ หยอกล้อแตะเนื้อต้องตัวโดยมีนัยทางเพศ หรือไม่น่าพึงประสงค์ การดึงคนมานั่งตัก / การตามตื๊ออีกฝ่าย ตั้งใจยืนชิดใกล้จนเกินไป ต้อนเข้ามุม ยักคิ้วหลิ่วตา ผิวปาก ส่งจูบ เลียริมฝีปาก ทำน้ำลายหกใส่ให้เห็น แสดงพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเพศด้วยมือหรือการเคลื่อนไหวร่างกายโดยที่อีกฝ่ายไม่เล่นด้วย

การกระทำทางเพศที่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน

การสัญญาที่จะให้ผลประโยชน์ ได้มีงานแสดง ได้คนช่วยฝากงานให้ ได้เข้าถึงตัวศิลปินมากขึ้น หรือได้บัตรคอนเสิร์ตฟรีหากผู้ถูกล่วงละเมิดยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย เช่น ขอไปค้างคืน ขอมีเพศสัมพันธ์ ขอให้ทำอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเพศ / การข่มขู่ให้เกิดผลในทางลบต่อจิตใจ ความมั่นคงในชีวิต ข่มขู่ว่าจะทำร้าย บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ พยายามกระทำชำเรา

การกระทำอื่น ๆ

การแสดงรูปภาพ วัตถุ ข้อความเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ภาพโป๊ การแสดงออกเกี่ยวกับเพศ การเขียนหรือวาดภาพทางเพศในที่สาธารณะ การใช้สัญลักษณ์ที่แสดงถึงอวัยวะเพศหรือการร่วมรัก โดยที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจ

บางคนอาจมองว่าข้อห้ามเหล่านี้มีมากเกินไปและกระทบกับการใช้ชีวิตอยู่พอสมควร แต่ความจริงแล้วกฎหมายเหล่านี้ออกมาเพื่อปกป้องความรู้สึกของเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำมากกว่า อีกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกไม่สบายใจต่อการกระทำในหัวข้อข้างต้นได้ ต่อให้เป็นคำชมก็ตาม แต่ถ้าอีกฝ่ายรู้สึกละลาบละล้วงเกินไปก็เข้าค่ายคุกคามทางเพศ และอยากให้รู้ว่าความจริงแล้วการคุกคามทางเพศมาในรูปแบบต่าง ๆ มากมายจนเราคาดไม่ถึง และไม่ว่าเพศไหนก็ตกเป็นเหยื่อได้ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงฝ่ายเดียว

สิ่งที่ต้องทำเบื้องต้นเมื่อรู้สึกว่าถูกคุกคามทางเพศ อย่างแรกเลยคือต้องแสดงออกชัดเจนให้ผู้กระทำเห็นว่าเราไม่พอใจ สองคือพูดออกดัง ๆ ให้ผู้กระทำหยุดและขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวไว้เป็นพยาน พร้อมบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ สามคือปรึกษากับคนที่เราไว้ใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าเก็บไว้คนเดียว สี่คือแจ้งความถ้าเกิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันกระทบกับชีวิตประจำวันของเรา หรือเกินกำลังของเราที่จะจัดการไปแล้ว ท่องไว้ให้ขึ้นใจ เพราะอาจไม่มีใครช่วยเราได้ถ้าเราไม่ช่วยตัวเราเองก่อน

แต่เชื่อว่า ณ จุดที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นกับตัวจริง ๆ คงไม่มีใครตั้งสติที่จะปกป้องตัวเองได้ทัน และก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาคอยระมัดระวังตัวที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลายเพราะภาพที่สังคมได้หล่อหลอมให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นเพียง ‘สมบัติ’ หรือ ‘สิ่งของ’ ของสามี ไม่เห็นมีใครเคยว่าขุนแผนเป็นชายชั่วมากเมีย ขณะที่นางวันทองกลายเป็นหญิงชั่วมากชาย ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นในทั่วโลกที่ทั้งกดทับและปิดกั้นอิสรภาพทั้งทางร่างกายหรือการเลือกคู่ครอง

ด้วย mindset บางอย่างทำให้เพศที่ดูบอบบางกว่าทางสรีระกลายเป็นเพียง ‘ร่างกายใช้แล้วทิ้ง’ ในสายตาของเพศชายผู้มีอำนาจทั้งทางร่างกายและบริบทสังคม (ผู้เขียนใช้คำว่า  Guys consider our bodies disposable จากบทความของ HuffPost ซึ่งโดนใจเรามาก) ทำไมเราต้องรอให้เกิดเรื่องเหล่านี้ก่อนแล้วค่อยมาพูดว่า #MeToo กันในพื้นที่ออนไลน์ แล้วแฮชแท็กนี้นับวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ และยิ่งไปกว่านั้นคือมันไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับคนใกล้ตัวแต่เป็นตัวเราเอง! บางทีมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมารณรงค์ให้เราต้อง speak up เพื่อบอกว่า ‘ฉันโดนกระทำมา’ ยิ่งในสังคมนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเปิดปากพูดได้อย่างตรงไปตรงมา มันยังมีคนที่รอคอยจะเหยียบซ้ำเราอยู่ ‘เพราะเธอกลับดึกเอง’ ‘เพราะเธอแต่งตัวโป๊’ ‘เพราะเธอเมา’ และการ slut shame ก็ยังปรากฎอยู่รอบตัวเราในทุกรูปแบบ และพอรู้ตัวอีกที เราก็ไม่หลงเหลือสิทธิในร่างกายและการใช้ชีวิตของเราถึงเพียงนี้เชียวหรือ ?

เมื่อศิลปินชื่อดังอย่าง Matt Mondanile ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ แน่นอนว่าเราต้องยกเลิกคอนเสิร์ตหรือแสดงออกว่าไม่สนับสนุนศิลปินคนนี้เพราะเราต้องไม่มองข้ามปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศหรือความรู้สึกของผู้ถูกกระทำไป แต่เรายังควรสนับสนุนผลงานของศิลปินคนนั้นต่อไปไหม?

เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้เมื่อเราชอบฟังเพลงหรือชอบดูหนังของศิลปินคนไหนก็ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ เพราะผลงานของศิลปินกับความผิดของศิลปินเป็นเรื่องที่เราต้องแยกออกจากกัน แต่คำถามที่ว่าเราควรสนับสนุนผลงานของเขาต่อไป หรือควรตีตราเขาให้จมดินหายไปเลย เป็นเรื่องที่เราต้องขบคิดให้แตก

โดยพื้นฐานแล้วเราก็ต้องยอมรับว่าศิลปินทุกคนก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น เขาอาจทำผิดพลั้งไปบ้างก็ได้ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือเราอาจเคยได้ยินข่าวว่าดาราขับรถชนคนเสียชีวิต สิ่งที่เราควรทำคือดูว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นดาราเหล่านี้รับมือกับเรื่องทั้งหมดยังไง หลายคนรับผิดตามกฎหมายทุกกระบวนการโดยไม่โอดครวญ และรีบเข้าไปช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตทันทีทั้งเรื่องเงินและสภาพจิตใจของทุกคน เมื่อเรื่องราวเริ่มคลี่คลาย ดาราคนนั้นก็มีผลงานออกมาให้แฟน ๆ ติดตามได้ต่อไป

มีหลักง่าย ๆ ในการตัดสินคือนี่คือการกระทำครั้งแรกของเขาหรือไม่ แล้วเขามีความละอายหรือท่าทีสำนึกผิดและเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงรึเปล่า จะเสพผลงานศิลปินคนนี้ต่อไปดีไหมคงไม่สำคัญเท่าเขาเหล่านี้มีเจตนาเข้าใจปัญหาและความผิดของตัวเองรึเปล่า ไม่ใช่ว่าเลี่ยง ไม่พูดถึง ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ ปกปิดซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ภายใต้ผลงานใหม่ ๆ ที่ทำออกมา ถ้าเรายังอยากฟังเพลงของศิลปินที่มีข่าวล่วงละเมิดทางเพศต่อไปก็คงไม่ผิดหรอก แต่การเป็นสื่อก็คงต้องเลือกนิดนึงว่าจะพูดถึงศิลปินคนนี้ในแง่ไหนที่ไม่มองข้ามความผิดของเขา หรือทำร้ายจิตใจของเหยื่อเกินไป ในโลกก็ยังมีศิลปินหลายคนเหมือนกันที่เราหลับตาข้างหนึ่งกับการกระทำอันเลวร้ายของเขา เพียงเพราะเราชอบผลงานของเขาจริง ๆ แถมเขาก็ยังใช้ชีวิตได้เหมือนปกติไม่ทุกข์ร้อนหรือต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาเลยแม้แต่น้อย เราคิดว่ามันโอเคจริง ๆ หรือที่เขาเคยทำลายชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งแล้วยังมีชื่อเสียงมากมายต่อไปได้ โดยเฉพาะผู้มีชื่อเสียงในเมืองนอกทั้ง Woody Allen, Casey Affleck หรือ Roman Polanski ก็เคยเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดหรือทำร้ายผู้หญิงมาทั้งหมด แต่สปอตไลต์ก็ยังส่องมาที่พวกเขา ซึ่งเป็นการทำให้การล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นเรื่องสามัญโดยไม่รู้ตัว

เรามีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเมื่อมีคนพูดถึงกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ชายมักมีตรรกะที่จะยกเหตุผลสนับสนุนด้านผลงานและความสามารถของผู้กระทำ และบอกให้แยกแยะพฤติกรรมหรือชีวิตส่วนตัวว่าเป็นคนละส่วน ไม่ควรพากันล่าแม่(พ่อ)มดทำให้เขาหมดอนาคตในหน้าที่การงาน ซึ่งก็มีความสมเหตุสมผลอยู่ในส่วนหนึ่ง (โกรธนิดนึงที่มีคนแชร์โพสต์ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ต Ducktails แล้วใส่แคปชันว่า ‘Who run the world? Girls’… So what’s wrong with that? It’s not GIRLS who run this world but most guys don’t have respect for girls physically and mentally!) แต่ในขณะที่ผู้หญิงที่ส่วนมากเป็นผู้ถูกกระทำ ด้วยพื้นฐานก็เป็นเพศที่ emotional และมีความละเอียดอ่อนในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงมีการตั้งความสำคัญให้กับเรือนร่างของตัวเอง จึงพบว่าทั้งสองเพศมีชุดความคิดที่แตกต่างจนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างกัน เลยยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้คำว่า ‘ใจเขาใจเรา’ ให้มากกว่านี้ จึงเป็นเหตุผลที่เราอยากให้ผู้ชายทุกคนเป็น feminist หลายคนเข้าใจว่าเฟมินิสต์เป็นได้แค่ผู้หญิง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ว่าจะผู้ชายหรือคนข้ามเพศก็เป็นเฟมินิสต์ได้ ที่สำคัญมันไม่ใช่การบอกว่า ‘ฉันเกลียดผู้ชาย’ หรือพยายามกดทับให้เพศชายด้อยค่าลงไปอย่างที่ radical feminist บางคนทำ ไม่ใช่การยกย่องเพศแม่หรือดูแลประคบประหงมเธอดั่งเจ้าหญิง แต่คือการเข้าใจคอนเซปต์ง่าย ๆ ของการเคารพกันในความหลากหลายอย่างเท่าเทียมเท่านั้น

แต่มันน่าเศร้าที่เวลามีข่าวแบบนี้เกิดขึ้น ทุกคนจะโฟกัสไปที่การเอาตัวรอดของผู้กระทำ ทั้งที่คำถามสำคัญที่สุดในเหตุการณ์นี้คือเราจะปลอบประโลมผู้ถูกกระทำยังไงดี

การซัพพอร์ตผู้ถูกกระทำได้ดีที่สุดคือ เปิดพื้นที่ให้เขาได้พูดเมื่อเขาพร้อมโดยเราไม่มีอคติ ให้เขาเล่าว่าเขารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมถึงยังอภัยให้ไม่ได้ เพราะอะไรมันถึงทำให้รู้สึกว่าถูกคุกคาม เป็นบทเรียนให้ทุกคนเข้าใจ สร้างบรรทัดฐานเพื่อเฝ้าระวังเหตุการณ์ล่วงละเมิดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ทุกคนตระหนักและช่วยกันป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ได้พูดว่ารู้สึกยังไงที่ผู้กระทำยังใช้ชีวิตปกติได้ รู้สึกยังไงที่หลายคนยังสนับสนุนผลงานของคนที่ล่วงละเมิดตัวเอง เพื่อทำให้คนที่ยังสนับสนุนศิลปินคนนั้นตระหนักว่ากำลังสนับสนุนผลงานของเขาจริง ๆ ไม่ใช่สนับสนุนวัฒนธรรมการล่วงละเมิดทางเพศของเขา

แม้แต่ตัวศิลปินเองก็เป็นเหยื่ออันโอชะของมวลชนได้ โดยเฉพาะศิลปินหญิงที่โด่งดังอยู่ในซีนอินดี้ไทย มีหลายคนหลังไมค์เข้ามาหาเราเยอะพอสมควร พวกเธอบอกกับเราว่า

เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยังไงก็แก้ไม่ได้ เราทำงานตรงนี้ก็ต้องรับสิ่งนี้ให้ได้ ถ้ามัวแต่ไปคิดว่าโดน harrass ก็จบ แต่จริง ๆ เราเคยรู้สึกแย่มาก ๆ ก่อนหน้านี้เรามีแต่เพื่อนผู้หญิง อยู่หญิงล้วน ที่มหาลัยเพื่อนผู้ชายก็ดี แต่พอมาอยู่สังคมดนตรี ทุกอย่างหน้ามือเป็นหลังตีน เราค่อนข้างช็อกกับทุกอย่างที่เคยได้ยินมา ไม่ว่าเกี่ยวกับเราหรือเกี่ยวกับคนอื่นที่เรารู้จัก คนที่ภายนอกดูไม่ได้อะไร แต่สุดท้ายก็สนุกปาก ไปคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับเราแย่ ๆ เหมือนมีแค่ 2 ชอยส์ที่ผู้ชายมองผู้หญิงจริง ๆ อะ คือถ้าเราไม่เป็น sex object ไปเลย ก็เป็นอีขี้เหร่ แค่นั้นเลย — นักร้องนำหญิงของวงดนตรีวงหนึ่ง

.

คนดี ๆ ก็คงมีแหละ แต่เราว่าเขาอยู่กันเองมากเกินไป จนคิดว่ามันคือ norm ที่พูดถึงผู้หญิงแบบนั้นได้ หรือบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพูดแบบนั้นแล้วเรารู้สึกแย่ แม่งคิดว่าเป็นคำชม แบบ ควรภูมิใจดิวะถ้าติดอันดับคนน่าโดนเย็ด คือถ้าเป็นผู้ชายแล้วมีผู้หญิงมาบอกว่าผู้ชายคนนั้นน่าโดน มันก็คงชอบที่มีคนพูดกับมันแบบนั้น แต่กับผู้หญิงมันไม่ได้ไง มันไม่ใช่คำชมนะ ไอ้พวกแบบ น่าเย็ด นมใหญ่ หรืออะไรเกี่ยวกับสรีระอะ แล้วเราเป็นคนชอบแต่งตัวที่แบบพอดีตัวเพราะเราตัวเล็ก ถ้าใส่ไรใหญ่ ๆ จะดูเตี้ย แต่พอมาอยู่ตรงนี้ อยากแต่งอะไรที่ชอบก็แต่งไม่ได้ การที่ผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ ไม่ได้หมายความว่าต้องแต่งเพื่อล่อผู้ชายซักหน่อย ก็เราชอบของเราอย่างงี้อะ กูทำทุกอย่างเพื่อตัวเองงง กูเสียใจ กูจะออกกำลังทำไมถ้ากูใส่เสื้อใหญ่ ๆ แล้วดูตัวอ้วนเท่าเดิมอยู่ดี ฮือออ — สมาชิกวงป๊อปร็อกไม่ประสงค์ออกนาม

.

เราเคยโดนกระชากในคอนเสิร์ต จริง ๆ มันก็ปกตินะ แบบถ้าเขาเมาหรืออะไรเขาก็จะควบคุมกิริยาไม่ได้ มันเยอะจนจำไม่ได้แล้วอะ แต่เคยโดนพิธีกรในคอนเสิร์ตพูดว่า ‘ที่มาดูกันเยอะ ๆ นี่มาทำไม มาดูนมนักร้องหรอ’ เราอยู่ backstage นี่หน้าชาเลย นึกว่าได้ยินผิด — นักดนตรีสาวสงวนนาม

ฟังใจ ยืนยันว่าการโดนกระชากในคอนเสิร์ตไม่ใช่เรื่องปกติ ต่อให้ผู้กระทำเมาก็ตามแต่ก็ไม่มีสิทธิมากระชากตัวคนอื่น แม้แต่ เมย์ มือกีตาร์และนักร้องนำแห่งวง Fwends ก็ยังต้องเจอกับอะไรแบบนี้

บางทีเราจะรู้สึก insecure มาก ๆ เวลาโดนจ้องหนัก ๆ แล้วทำหน้ากรุ้มกริ่ม เราจะไม่มีสมาธิเล่น เหมือนแบบ เชี่ย มาฟังเพลงกูปะเนี่ย ก็จะนอย แต่ไม่เคยมีใครมาทำอะไรไม่ดีนะ มีแต่บางทีเวลาคนแชร์รูปเราในเฟซบุ๊กส่วนตัวหรือในเพจวงออกไป ก็จะมีการแท็กเพื่อนมาบอกว่า ‘น่าโดน’ แล้วเพื่อนก็เม้นกลับว่า ‘โดนไร’ เคยเห็นประมาณ 3-4 รอบแล้ว เราไม่ชอบอะ

นักดนตรีสาวอีกคนที่ขอพื้นที่พูดบ้างคือ มัดหมี่ แห่งวง Gym & Swim

ที่เราโดนส่วนใหญ่จะเป็นทางวาจามากกว่า เวลาไปเล่นก็จะเคยโดนพูดประมาณว่านมเด้งอะไรแบบนี้ หรือบางทีเคยเจอคนแชร์โพสต์ที่เกี่ยวกับวงเราไป แล้วเขาก็พิมพ์หยาบคายเกี่ยวกับเราว่า ห ต ค — มัดหมี่ Gym & Swim

 

img_6129

 

สงสัยอยู่เหมือนกันว่าการพูดถึงใครสักคนอย่างคะนองปากแบบนี้มันสนุกตรงไหน เคยคิดบ้างหรือเปล่าว่าถ้าวันหนึ่งคนที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ต้องมาอ่านคำพูดคุกคามแบบนี้แล้วเขาจะรู้สึกยังไง เราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เวลาใครบอกว่าคุณกำลังทำร้ายจิตใจเขา อย่ามาตอบว่าเปล่าหรือไม่ได้ตั้งใจ เพราะคุณเลือกได้ที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร แต่คุณก็ยังทำและไม่มีทางรู้หรอกว่าอีกฝ่ายเจ็บปวดแค่ไหน

 

 

อ้างอิง
Former Real Estate Guitarist Matt Mondanile Has Been Accused Of Sexual Assault
การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
Why do we continue to support artists who have been accused of sexual violence?
The Problem With Asking Women To Say ‘Me Too’
Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา