Article Interview

Two Million Thanks แตกต่างอย่างเปิดกว้างกว่า 1.9 มิติ ของงานดนตรี

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Montipa Virojpan

ค่อนข้างเงียบเหงาสำหรับข่าวคราวของ Two Million Thanks เพราะถือว่าน้อยครั้งนักที่เราจะมีโอกาสได้ดูการแสดงสดของพวกเขาในช่วงนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง เราได้ทราบข่าวดีจากแฟนเพจของวงว่า พวกเขากำลังจะไปแสดงสดที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

Fungjai Zine ชวน ดุ่ย ต้า ขุน และ ภูมิ มาพูดคุยกับเราที่ Bird Sound Studio ก่อนที่วงจะเดินทางในอีกสองวันข้างหน้า กับเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน ไปจนถึงความรู้สึกที่ได้รับโอกาสครั้งสำคัญนี้ แล้วเราก็ไม่ลืมที่จะถามไถ่ว่าพวกเขาหายไปไหนมา และกำลังทำอะไรกันอยู่ 2mil-02

มารวมตัวกันได้อย่างไร

ต้า: เราสามคน (ต้า ขุน ดุ่ย) เรียนสถาปัตย์ ลาดกระบัง ตอนแรกเราเป็นวงสามคน แล้วรู้สึกว่าแค่สามคนเพลงยังไม่แน่นพอ ก็ไปเจอ ภูมิ ที่เป็นเพื่อนของดุ่ยที่ช่างศิลป์ เลยชวนภูมิมาเล่นด้วย

ทำไมถึงใช้ชื่อวงว่า Two Million Thanks

ต้า: เมื่อก่อนมีวงชื่อ Try My Shoes เขามีคลิปเล่นสด แล้วมีคำบรรยายใต้คลิปว่า Two Million Thanks กับคำอื่น ๆ ด้วย แต่คำนี้ ดุ่ย มันเห็นว่าเท่ดี เลยเอามาใช้

ดุ่ย: ไม่รู้ว่าทำไมมันเท่ มันคงไม่มีคำอื่นเท่แล้วมั้ง จำได้ว่ามันมีคำว่า sexy กับ Who am I ? ก็ไม่รู้อะ ชอบ Two Million Thanks ที่สุด ที่เอามาใช้ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะแค่ตั้งใจจะตั้งวงไปประกวดงาน Freshy แล้วตอนนั้นชอบวง Try My Shoes เลยเอามาตั้งเล่น ๆ ไม่คิดว่าจะได้ใช้ยาวจนถึงทุกวันนี้

ต้า: สะกดผิดด้วย ตอนแรกชื่อวงไม่มี s

ดุ่ย: จริง ๆ ก็ไม่ซีเรียส ถ้าเรามั่นใจว่าจะเอาอย่างนั้นก็ไม่มีใครว่าหรอก ตอนก่อนที่จะมาอยู่วง SO::ON มีเพลงชื่อ Bedroom Story แล้วมีคนมาคอมเมนท์ว่า เพลงเพราะดีครับ แต่ถ้าจะให้ถูกหลักภาษามันต้องมี s เราก็สับสนตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่าจะมีหรือไม่มี s ดีวะ พอมีคนมาถามบอกว่าจะไปทำโปสเตอร์ เราก็บอกว่า มี s ครับ แต่บางคนเข้าแฟนเพจมาดูก็เห็นว่าไม่มี s นี่หว่า เวลามีโปสเตอร์งานบางทีชื่อวงก็มี s บ้าง ไม่มีบ้าง

ต้า: เราก็เลยคิดว่า เอาวะ มี s ไปเนี่ยแหละจบ ๆ ก็ปิดแฟนเพจอันเดิมที่ไม่มี s ไปซะ แล้วตั้งใหม่ เพราะพอคนไลค์เยอะแล้วแก้ไขชื่อไม่ได้ (หัวเราะ)

ถ้าไม่ใช้ชื่อ Two Million Thanks จะใช้ชื่อวงว่าอะไร

ดุ่ย: ไม่ได้คิดเลย

ต้า: เวลาจองห้องซ้อมจะถามว่า วงอะไรครับ ก็บอก วงดุ่ยครับ

ดุ่ย: จริง ๆ เมื่อก่อนก็มีชื่อ “กลียุค” แต่ตอนนั้นสมัยผมทำช่างศิลป์ แล้วมีเก่ากว่านั้นอีกชื่อ “Psychedelic Ceramic Psycho” เซรามิกเกี่ยวเหี้ยไรด้วยไม่รู้ (หัวเราะ)

ต้า: ตั้งอย่างเท่ เอายาว ๆ ไว้ก่อนไง พวก Death of the Shadow in the End งี้ เล่นกันเหมือนตั้งชื่อของเล่น นี่ปืนอุลตร้า บลา ๆๆๆ อะไรเนี่ย เซนส์เดียวกัน

คิดว่าจุดเด่นของวงคืออะไร

ดุ่ย: ไม่มีนะ

ต้า: น่าหาอะไรปามันสักดอกอะ

ดุ่ย: ไม่น่าจะมีเนอะ ไม่มีหรอกครับ

ต้า: มึงก็ยอตัวเอง… เรื่องความบันเทิง ตลก ๆ

ดุ่ย: กูว่าคนอื่นไม่ตลกอะ

ต้า: ตลกกันเองไง แบบ นั่งแท็กซี่ไปด้วยกันแล้วตลก

ดุ่ย: ไม่เกี่ยวกัน เอาสิ่งที่เขาอยากรู้ (หัวเราะ) ไม่รู้อะ เขาจะมองว่ามันเด่นสำหรับเขาหรือเปล่า สำหรับเรา ถ้าพูดไปมันอาจจะกลายเป็นคำว่าอีโก้ มั่นใจตัวเองไป

ภูมิ: เวลามารวมกันแล้วมันสนุกดี อยากทำอะไรด้วยกัน

ดุ่ย: แต่มันใช่จุดเด่นหรือเปล่า (หัวเราะ) จริง ๆ แล้ว เอกลักษณ์ของวงเราคือ อยู่ SO::ON แต่เป็นวง 4 คน เพราะโซออนไม่มีวง 4 คน… ก็ยังไม่ใช่จุดเด่น จุดเด่นของแนวเพลง ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอบได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่กล้าตอบ เหมือนเมื่อก่อนยังเด็ก ๆ กันอยู่ ก็อยากนำเสนอตัวเอง ให้อธิบายว่าเด่นอย่างไรก็คงเป็นลูก Compose เพลงแบบ Math คือจะเดินด้วยจังหวะแปลก ๆ อย่างกลองคร่อมจังหวะ ใช้เบสคุมทางคอร์ด ไลน์กีตาร์ประสานที่ไม่สอดคล้องกันมากนัก ริฟกีตาร์ที่มันมีลูกไหล ๆ วิธีคิดของการเรียบเรียงเพลงจะเป็นแบบนั้นเสียส่วนใหญ่ มีกลิ่นของฟิวชั่นแต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนบ้าง แต่ยังเล่นกับพวกการจัดวาง สัดส่วน องค์ประกอบของเพลงว่าจะพีคตั้งแต่แรกเพลงได้ไหม หรือมันควรจะพีคตามสูตรเพลงไหม

ต้า: จุดเด่นคือพวกเราไม่ค่อยได้เล่นน่ะครับ (หัวเราะ) ถ้าถามผมว่าจุดเด่นอยู่ที่ Compose ไหม ความจริงก็ไม่ขนาดนั้นครับ คือ นึกไม่ออกอะ เพราะมีเพื่อนเคยบอกว่าจริง ๆ แล้วจุดเด่นของวงเรา คือ เป็นวงเพื่อนเยอะ เวลาไปเล่นที่ลาดกระบังก็มีคนเฮกันมาดู แบบ โฮกกกกกก (เต้นรั่ว ๆ ประกอบ)

ดุ่ย: เมื่อกี้ภูมิจะพูดอะไรนะ

ภูมิ: ลืมแล้วอะดิ เมื่อกี้ไอ้ต้าเอาซะใหญ่ ผมว่าถ้าแบบทั่วไปมอง Two Million Thanks มันจะหาดูที่อื่นได้ยากหน่อย ไม่รู้ว่าเรียกว่าแตกต่างไหมนะ แต่มันไม่เหมือนกับวงอื่น ๆ

ต้า: วงประเภทนี้ไม่ได้มีเยอะ

ดุ่ย: ก็ไม่ใช่จุดเด่นอยู่ดี (หัวเราะ) ไม่รู้อะ ความชอบมันมีเยอะ ก็เลยใส่ ๆ ไป ผสมหลาย ๆ อย่างไว้ แล้วก็ขี้เบื่อ สักพักเดี๋ยวเพลงก็ไม่ Math อีกละ

2mil-03

แล้วแนวเพลงของวงตอนนี้ เป็นแบบไหน

ต้า: ที่กำลังทำอันใหม่ ๆ มันหลายแบบ แต่ละเพลงก็เป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่ค่อยคาบเกี่ยวกันเท่าไหร่

ดุ่ย: บางคนเขาบอกว่าถ้าทำเพลง อย่าไปคิดมาก ทำให้เต็มที่ สนุก ๆ ไปก่อน เดี๋ยวเรื่องความดี ความเพราะ อะไรแบบนี้จะเป็นผลพลอยได้ แต่ลึก ๆ แล้วคนที่พูดมันก็คิดอยู่แหละ คิดมากเลยด้วยว่า กูอยากให้วงกูมีทิศทางที่ชัดเจน วงเราก็มีเหมือนกัน แต่มันไม่มีนิยามว่าอยากให้ออกมาเป็นแบบไหน คืออันก่อน ๆ มันก็มีกลิ่น Math เราก็พยายามที่จะทำอัลบั้มใหม่ไม่ให้ห่างไปมาก แต่บางเพลงก็ไม่เหลือกลิ่นเดิมเลย เรารู้ว่าถ้าเราเปลี่ยนมันก็อาจจะมีกระแสตอบรับนะ ชอบแบบเก่าอะ ทำไมไม่เหมือนเดิม ก็ยังไม่รู้จะเป็นยังไง แต่เรียกได้ว่าอัลบั้มเต็มเป็นอัลบั้มรวมไอเดีย เพราะมันเป็นช่วงอยู่ระหว่างทำเพลงก่อน ๆ ในยุคที่เราชอบอะไรแบบเดิม ๆ กับยุคที่เราชอบของใหม่แล้วมาผสมกัน คือ ไม่ได้แบ่งเป็นแนว ๆ ไป อย่างเช่น เมื่อก่อนเราชอบ Math rock เดี๋ยวนี้เราชอบ St.Vincent, James Blake แบบทางยุโรป อะไรก็ว่าไป ไม่ได้พยายามที่จะเอา Alternative ของฝรั่งมาผสมกับ Math ก็ให้เพลงหนึ่งแนวหนึ่งไปเลย ในอัลบั้มมันหลากหลายแนว แต่บางเพลงก็มีผสมกันทั้ง Math กับความเป็นยุโรปด้วย

ต้า: แต่มันจะง่ายขึ้นปะ เล่นง่ายขึ้น ฟังง่ายขึ้น มีความป๊อปมากขึ้น

ดุ่ย: ก็พยายามจะทำให้มีเพลงที่ฟังง่ายสักสองสามเพลง

บางคนเขาบอกว่าถ้าทำเพลง อย่าไปคิดมาก ทำให้เต็มที่ สนุก ๆ ไปก่อน เดี๋ยวเรื่องความดี ความเพราะ อะไรแบบนี้เป็นผลพลอยได้ แต่ลึก ๆ แล้วคนที่พูดมันก็คิดอยู่แหละ คิดมากเลยด้วยว่ากูอยากให้วงกูมีทิศทางที่ชัดเจน วงเราก็มีเหมือนกัน แต่มันไม่มีนิยามว่าอยากให้ออกมาเป็นแบบไหน

ไม่กลัวแฟนเพลงงอแงเหรอที่เพลงไม่นิ่ง ไม่เหมือนแต่ก่อน

ดุ่ย: ไม่ค่อยเห็นใครพูดอย่างนั้นนะ

ต้า: ไม่ค่อยเห็น เพราะเขาไม่ค่อยพูดถึงเพลงเรา

ดุ่ย: ไม่ เพราะว่าตอนที่เราทำตอนแรกอะ มันเป็นเพลงที่เจาะกลุ่มคนดนตรีสายไอเดีย แล้วพวกนี้จะเปิดใจ ใจกว้าง ถ้าเขาชอบเราแล้วเขาก็จะติดตาม เขาไม่สนหรอกว่าเป็นเพลงแนวไหน อย่างถ้าเราชอบ Math rock เราก็ไม่รังเกียจที่จะชอบ Folk ใช่ไหม มันก็เหมือนกัน ก็มีพวกกลุ่มคนฟังเก่า ๆ ที่น่าจะชอบ Two Million Thanks แบบใหม่บ้าง แต่ยังไงมันก็หนีไม่พ้นสำเนียงกีตาร์ของตัวเอง มันก็คล้าย ๆ กับงานเดิม ๆ นั่นแหละ ผมว่าแฟนเพลงเขาน่าจะชอบความเดาไม่ถูกของ Two Million Thanks ว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน

ต้า: นี่อาจจะเป็นคำตอบของคำถามก่อนหน้า (จุดเด่น)

ดุ่ย: อย่างเราตอนทำเพลงแบบเก่ามา แล้วพอเล่นเพลง “ยุง” คนเขาก็ชอบ มันก็ไม่ได้ Math อะไรขนาดนั้น ยิ่งเพลงอื่นออกมาก็ยิ่งเหวอกว่าอีก แค่แบบตีคอร์ดก็มี แบบสกิลจัดก็มี ยังไม่ทิ้ง มีสักเพลงสองเพลง

ภูมิ: อีกหน่อยเดี๋ยวก็ร้องอย่างเดียวอะ ไม่มีดนตรี

ดุ่ย: มึงว่าอัลบั้มนี้แตกต่างกับอันเก่าไหม

ต้า: ก็ยังมีกลิ่นเดิมนะ

ดุ่ย: ญี่ปุ่นน้อยลงนะ เมื่อก่อนจะมีกลิ่นญี่ปุ่นเยอะ กลิ่น Math

ต้า: แต่กูว่าอันใหม่ก็ไม่ได้ญี่ปุ่นในความหมายของมึงนะ ไม่ได้ญี่ปุ่นในเชิงวิธีการเล่น แต่มันให้อารมณ์ความรู้สึกว่าเป็นแบบเพลง “Sukiyaki” อะ

ดุ่ย: พวกเมโลดี้ร้องมั้ง เขาชอบใช้เมโลดี้พวก Pentatonic, major ทางคอร์ด

ต้า: เหมือนอารมณ์หนังเรื่อง Always ถ้ามีวงร็อคอยู่ในยุคนั้นคงจะเป็นแบบนั้น

ดุ่ย: ไม่รู้นะ คือ ไม่ได้ตั้งเป้าว่ามันจะเป็นยังไง แต่ด้วยสำเนียงเก่า ๆ ในยุคที่เราฟังการ์ตูนตอนเด็ก หรือซาวด์แทร็คการ์ตูนมันจะเพราะเนอะ พวกญี่ปุ่นเก่า ๆ อะ ตอนแต่งก็ไม่ได้นึกถึงญี่ปุ่นหรอก แต่พอแต่งออกมาแล้ว อ้าว มันคล้ายว่ะ

ต้า: ความจริงเหมือนว่าเราพยายามจะหนีห่างจากความเป็นญี่ปุ่น ที่มึงหมายถึง คือ สไตล์ที่วงญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้มันชอบเล่นใช่ไหม ที่มันยาก ๆ อะ แต่ปัจจุบันของวงเรามันไม่ใช่ความญี่ปุ่นแบบนั้น มัน คือ ความญี่ปุ่นในเชิงบรรยากาศ มันทำให้นึกไปถึงว่า เฮ้ย มันเหมือนนั่นนี่ของประเทศเขาเลย

ดุ่ย: แต่แม่งก็ไทยนะ เมโลดี้ก็ไทย เรานึกถึงสองชาติอะ

ต้า: ไม่รู้มันนึกถึงจริงหรือเปล่า แต่แค่กับคนเล่นเอง บางทีเวลาเล่นซ้ำบ่อย ๆ มันรู้สึกไปเองว่า เฮ้ย โดราเอม่อนว่ะ

ดุ่ย: เราว่าวิธีการมันก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบญี่ปุ่นหรอก แต่เพลงญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขาทำไม่ค่อยนิ่ง หมายถึงดนตรีทั้งเพลงนะ คือมันจะขยับตลอด ตั้งแต่ซาวด์แทรคการ์ตูนง่าย ๆ แล้ว โดราเอม่อน นารูโตะ มัน…

ต้า: ตื๊อดือดือดื่อ ดือดือดื๊อดือดือดื่อ (ทำเสียงซาวด์แทรคโดราเอม่อนประกอบ)

ดุ่ย: มันจะแบบ พุ่ง ๆ อะ เพลงที่นุ่ม ๆ ก็ยังพุ่งอยู่

ต้า: พุ่งในเสียงร้องที่แบบ ด๊า ดา ด๊าาาา

ดุ่ย: พวกญี่ปุ่นจะร้องหรือเล่นอะไรออกมาเรารู้สึกว่าเขาเต็มที่อะ ดนตรีเขาสร้างภาพชัดมากนะ เล่นดนตรีมาอย่างนี้เรานึกภาพออกเลย วงไทยบางทีมันบิ๊วให้เราอยู่กับข้างหน้าที่วงมันเล่นใช่ไหม แต่ญี่ปุ่นเล่นประกอบหนังตลอด นึกออกปะ พวกคนญี่ปุ่นเล่น คนร้องเพลงเสียงมันก็มาจากซาวด์แทรคเยอะมาก กลิ่นมันมาจากตรงนั้น แล้วเราก็เลยรู้สึกว่า วิธีคิดมันใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่นตรงนั้น เพลงไม่ค่อยนิ่ง เปลี่ยนบ่อย

ต้า: เพราะอย่างนี้พี่โค (โคอิชิ ชิมิสึ ผู้ร่วมก่อตั้งและโปรดิวเซอร์กลุ่ม SO::ON Dry Flower) เขาเลยชอบหรือเปล่า

ดุ่ย: ไม่รู้ แต่นานแล้วนะ สมัยที่ทำเพลง “ยา” เขาบอกว่า “ฟังแล้วตกใจ เพราะไม่เหมือนใครในโลก” (ต้า : โอ้โหหหหห) ในตอนนั้นนะ แต่หลังจากนั้น… ไม่ค่อยอะไรกับวงเราเท่าไหร่

ต้า: เวลาเอาอะไรให้ฟังก็ “โอ้! ดีนะ”

ดุ่ย: มันยิ่งกว่าคำว่าดีอีก เขาจะฟังนิ่ง ๆ แล้วหันมา “เชี่ย มึงแม่งอัจฉริยะ ถ้ามึงหล่ออีกหน่อยนะมึงไปไกลแล้ว” เขาไม่เคยบอกนะว่าให้ลองทำเพิ่ม แต่เขาจะตกใจมากกว่า ปะทะแรกจะทำให้รายละเอียด พวกความที่อยากจะเปลี่ยนงานของโปรดิวเซอร์หายไปได้ เออ กูโอเคละ เอาอย่างนี้แหละ แล้ว Two Million Thanks เป็นวงที่ทำปะทะแรกแรง อาจจะฟังไม่ได้นาน แต่คนฟังรอบแรกต้องตกใจ แบบ เฮ้ย เชี่ย แม่งได้ว่ะ แต่ในระยะยาวก็ไม่ค่อยฟังกัน

ต้า: อย่างให้มาฟังเพลง “ยา” ทั้งวี่ทั้งวันมันก็น่ารำคาญนะ มันยุกยิก ๆ อะ

ดุ่ย: อย่างเพลง “ดู” นี่ก็ได้ในแง่การศึกษา หรือว่าเก็บเกี่ยวไอเดีย

ต้า: เคยมีเว็บฟุตบอลเอาเพลง “ดู” ไปโพสต์ แล้วมีคอมเมนท์ว่า “เพลงเหี้ยไร สองนาทียาวเหมือนสองวัน” “เมื่อไหร่จะจบวะ เล่นอะไรของมึงเนี่ย” ตลกดี แต่ไม่ได้โกรธเขา คิดว่าคงเป็นมุมมองจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ฟังเพลง มันก็คงจะเป็นแบบนี้

ดุ่ย: นี่ก็ไม่ได้ฟังของตัวเองเท่าไหร่

ผมว่าแฟนเพลงเขาน่าจะชอบความเดาไม่ถูกของ Two Million Thanks ว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน

2mil-04

คือ อีโก้ที่พูดไว้ตอนแรกหรือเปล่า ที่ทำเพลงแบบที่อยากทำ ไม่สนใคร

ดุ่ย: ไม่อีโก้หรอก ถ้าเราอีโก้เราจะไม่ค่อยรู้ข้อเสียตัวเอง แค่ทำอะไรที่มันเป็นอีโก้ตรงที่ อยากให้มันแตกต่าง สมัยนี้ถ้าจะทำเพลงให้คนฟังก็ควรจะแตกต่างแหละใช่ไหม ถ้าเราไปเหมือนเขามันก็ต้องดีจริง ไม่อย่างนั้นมันลำบาก ก็เลยเริ่มจากการแตกต่างเป็นใบเบิกทางให้คนเข้ามาหาว่า อะไรวะ แล้วพอมาฟังปุ๊บมันก็มีดี อะไรก็ว่าไป

ต้า: อารมณ์เหมือนงานคอนเสิร์ตที่ต้องมีวัยรุ่นทำตัวเรื้อน ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากูเนี่ย เจ๋งนะ แต่ถ้าเกิดมีอีกคนสนใจดู แล้วคนนั้นเสือกหล่ออีก มันก็… ไม่มีอะไรหรอก แค่คิดเป็นภาพเฉย ๆ ตอนที่มันเล่า

สมมติในคอนเสิร์ตมีคนสองกลุ่ม ยืนนิ่ง ๆ เท่ ๆ ตั้งใจฟังเพลงเรา กับคนที่สนุกกับเพลงเราแล้วเต้นตาม ชอบแบบไหน

ดุ่ย: แล้วแต่เขาอะ อยากให้เขานั่งดูด้วยซ้ำ จริง ๆ นะ เวลาไปเล่น Youth Brush ก็แบบ ถ้าเมื่อยก็นั่งกันนะครับ

แต่อารมณ์เพลง Two Million Thanks มันต้องดีด ๆ สิ

ดุ่ย: มันดู… น่านั่งดูมากกว่านะ

ต้า: จริงเหรอ ไม่รู้ตอนไหน คือ คิดแทนคนที่มาดู ถ้าเป็นทั่ว ๆ ไปเขาน่าจะรู้ว่า อ๋อ ท่อนนี้เป็นท่อนมันหรือท่อนลอยอะไรก็ว่าไป อันนี้มันลอยได้แป๊บหนึ่งก็จบแล้ว ถ้าจะดีดแป๊บหนึ่งแล้วยืนพักมันก็เขิน ๆ เนอะ สู้ไม่เต้นดีกว่า ปลอดภัยแต่ต้น

ดุ่ย: ยืนดูเฉย ๆ นะ ส่วนใหญ่

ต้า: ยกเว้น Art Muns ที่ลาดกระบัง

ดุ่ย: อันนี้ไม่ต้องเล่น พูด ๆ ทำเสียงกีตาร์ แหง่ว ๆๆ ก็มันกันละ มีคนเซิร์ฟอะ วงอินดี้ในประวัติศาสตร์พวกสาย Math สาย Post ไม่มีหรอก ที่อาร์ตมันส์วันนั้น 7 คน ที่เล่น ลอยกันเป็นทะเล เพราะมันไม่ค่อยมีคอนเสิร์ตมั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาร์ตมันส์เนี่ยแหละ Art Street มันจะเป็นวงดัง ๆ แล้ว อันนี้วงอินดี้ แล้วก็ดิบกว่าหน่อย สายปาร์ตี้

ถ้าเราอีโก้เราจะไม่ค่อยรู้ข้อเสียตัวเอง แค่ทำอะไรที่มันเป็นอีโก้ตรงที่ อยากให้มันแตกต่าง สมัยนี้ถ้าจะทำเพลงให้คนฟังก็ควรจะแตกต่างแหละ ใช่ไหม ถ้าเราไปเหมือนเขามันก็ต้องดีจริง ไม่อย่างนั้นมันลำบาก

นอกจากชื่อวงจะน่าสนใจแล้ว ชื่อเพลงก็น่าสนใจ เช่น “ยา” “ยุง” “TT” ดู ชื่อสั้น ๆ ทั้งนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร 

ดุ่ย: เป็นทั้งคนแต่งแล้วก็ตั้งชื่อเพลงด้วย แต่ก็ไม่รู้จะเอายังไง อย่าง “ยา” จะให้เป็น “ยารักษาโรค” หรือแบบไหนจะได้ยาว ๆ คือ เพลงมันเป็นแบบ “ให้ตัวฉันได้เข้าไป” กินยาอะ จะให้พูดว่ายังไง แต่จำได้ว่าเพลง “ยุง” เพราะมันเป็นเสียง แต๊วแหน่ว แต๊ว

ต้า: เหมือนสไลด์กีตาร์แง้ว ๆ น่ะ ตอนนั้นอยู่ในห้องซ้อมที่ลาดกระบัง แล้วใครสักคนบ่นว่ายุงเยอะ แล้ว เฮ้ย เสียงแม่งเหมือนยุง

ดุ่ย: ไม่ ๆ ไอ้แมมมอธ ที่เป็นต้นกำเนิดยุง ที่เป็นแมวน้ำ ที่เป็นช้าง แล้วกลายเป็นยุง

ต้า: อ๋อ ที่กูทำน่ะนะ

ดุ่ย: ที่มึงตั้งชื่อว่าอะไร กำเนิดช้าง แล้วมีคำว่า กระหาย ๆ อะ

ต้า: เป็นแอนิเมชันที่ผมทำตอนเรียน แมวน้ำสองตัวมันกินกัน แล้วเขี้ยวมันทะลุกลายเป็นสัตว์ประหลาดน่ารัก ๆ

ดุ่ย: เออ กูได้มาจากตรงนั้น ยุงนะ ส่วนเพลง “TT” (Double T) จะตั้งว่า “ขอโทษ” เหรอ มันก็… “เสียใจ” เหรอ “รู้สึกผิด” อะไรแบบนี้? เราเป็นคนเขิน ๆ ประมาณหนึ่ง ถ้าตั้งไปแล้วชื่อมันจะดูกระแดะหรือเปล่า เลยเอาให้เป็นสัญลักษณ์ก็พอ คนรุ่นเราที่มันใช้กันปกติก็น่าจะเข้าใจ มีเพลง “ดู” เราอยากให้มันพิเศษหลายอย่างเลย เนื้อเพลงด้วย คือ มั่นใจว่าเพลงของวงต้องมีการอ้างอิงถึงเรื่องที่สาม ที่ไม่ได้เกี่ยวกับปัจจุบันขณะตอนที่เล่นบนเวที เช่น ฉันรักเธอ มันก็ผ่านมาแล้ว หรือ หิวข้าวจังเลย ความจน การเมือง มันก็เป็นเนื้อหาของมัน มัน happening น่ะ อย่างท่อน “ขอให้เธอดู” เธอ คือ คนดู เหมือนเราจะเล่นแล้วบอกคนดูตรงนั้นว่า มึงดูกูเล่นสิ มันไม่ได้เป็นเรื่องอ้างอิงที่เราคิดมาจากบ้าน เป็นเพลงหนึ่งที่แต่งมาพูดกับคนดู ไม่ได้แต่งขึ้นมาจากประสบการณ์คนอื่น เป็น happening art ที่เกิดขึ้นขณะนั้น เนี่ย มัน คือ ความพิเศษ

ท่อน “ขอให้เธอดู” เธอ คือ คนดู เหมือนเราจะเล่นแล้วบอกคนดูตรงนั้นว่า มึงดูกูเล่นสิ มันไม่ได้เป็นเรื่องอ้างอิงที่เราคิดมาจากบ้าน เป็นเพลงหนึ่งที่แต่งมาพูดกับคนดู ไม่ได้แต่งขึ้นมาจากประสบการณ์คนอื่น เป็น happening art ที่เกิดขึ้นขณะนั้น

ที่ผ่านมา เล่นคอนเสิร์ตที่ไหนสนุกที่สุด

ต้า: มาเลเซียนี่มีความสุข สนุกดี เขาดูแลดี เป็นกันเอง คนก็ดี คนดูก็ดี พูดภาษาอังกฤษทั้งวัน แล้วก็ได้นั่งรวมกับวงอื่น ๆ ที่มาจากอินโดนีเซีย ได้ให้คำปรึกษาปัญหาหัวใจกับคนขับรถตู้ด้วย เป็นเจ้าของโปรเจ็คยังมาขับรถตู้

ดุ่ย: ทีมจัดงานคล้าย ๆ ฟังใจ ทำกันเอง ดูกันเอง ช่วยกันเอง คนขับรถก็เป็นนักเขียนในกอง บ.ก. ช่วยดูซาวด์ นั่นนี่ทำได้หมด คนที่อกหักเราก็ร้องเพลง Bob Marley ให้ฟัง เพลง No Woman No Cry

ต้า: เขาอายุเท่าเรา แต่เรียกพี่บ่าว ๆ เพิ่งนึกได้ตอนจะขึ้นเครื่องบินกลับว่าคุยกับเขาจนโคตรสนิท แต่ไม่รู้ชื่อเขา เรียกพี่บ่าวตลอด เป็นภาษาไทยด้วย

ดุ่ย: พี่บ่าว เขาพูดไทยได้ แต่พูดใต้ เคยมาอยู่ใต้ไง ส่วนเรื่องคนดูที่ว่าดี เหมือนเขาอิน เขาให้ค่ากับวงที่มาจากต่างประเทศ เขาอาจจะไม่รู้จัก Two Million Thanks หรอก แต่พอรู้ว่าจะมีวงนี้มา เขาก็ทำการบ้านมาเต็มที่ ซื้อแผ่นหมดตั้งแต่ยังไม่เล่น เขาก็ทักมานะว่าอยากให้ไปอีก ส่วนคอนเสิร์ตในไทยที่ชอบก็ Stone Free ทุกครั้งเลย เหมือนทุกคนคุยภาษาเดียวกัน

ต้า: มันก็ไม่ได้ชอบแบบที่ต้องไปเล่นหนัก ๆ แต่ชอบบรรยากาศ ได้ดูวงอื่นด้วย เหมือนไปเที่ยว ไปพักผ่อน การได้เล่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็ที่เล่นที่อาร์ตมันส์เนี่ยแหละ กีตาร์ไม่ติดก็มันกันแล้ว

ดุ่ย: สุดแล้วอะ จะดีไม่ดีก็งานนั้น ยิ่งกว่าคำว่าเป็นกันเอง

ต้า: มีคลิปหนึ่งบน YouTube ตอนเราปีสาม ดุ่ยร้องเพลงอยู่ ท่อน หนึ่งคน… แล้วคนขึ้นมาเต้นบนเวทีแล้วชนไมค์ไอ้ดุ่ย ไมค์กระแทกปาก

ดุ่ย: ไอ้จะเด็ด ๆ แล้วเป็นท่อนที่ไม่มันด้วย… เฮ้ย ไม่ใช่ ตอนนั้นมันเพลงยา ไอ้เหี้ย สะดีดสะดิ้งเชียว

คนดูที่ว่าดี เหมือนเขาอิน เขาให้ค่ากับวงที่มาจากต่างประเทศ เขาอาจจะไม่รู้จัก Two Million Thanks หรอก แต่พอรู้ว่าจะมีวงนี้มา เขาก็ทำการบ้านมาเต็มที่อะ ซื้อแผ่นหมดตั้งแต่ยังไม่เล่น

ได้ประสบการณ์อะไรจากการไปเล่นที่ต่างประเทศบ้าง

ดุ่ย: ได้ไปเล่นให้คนที่ไม่ใช่ที่บ้านเราดู ได้ซาวด์ใหม่ ๆ ได้ไปเห็นว่าเขาทำงานกันยังไง ประสานงานดีไม่ดี จัดงานเลท ไม่เลท การรันคิว

บรรยากาศคนดูบ้านเรากับบ้านเขาต่างกันไหม

ดุ่ย: ที่มาเลย์นี่ดีมาก

ต้า: ร้องเพลง “ดู” ได้อะ แต่ก็ร้องฮัม ๆ ถ้าสิงคโปร์นี่ค่อนข้างร็อค

ดุ่ย: เพราะคนเขาเมทัลมาก เสื้อดำหมด ใส่คอนแทคเลนส์สีแดง กรีดตา วงก่อนหน้าเรานี่เล่นเมทัลคอร์เลย ว้าก ๆ กลองดึ่ม ๆ พอเราขึ้นไปร้อง “ดวงตา…” คนแม่งงงเลย

ต้า: สเตจก็เป็นแบบพี่แน็ป Retrospect เลย ส่วนผู้หญิงนี่จำได้ ทำผมเหมือนนกแก้ว สีเขียว ๆ

2mil-05

เขาเซอร์ไพรส์กับเพลงของเราไหม มี feedback อย่างไร

ดุ่ย: ไม่รู้นะ คนจัดงานเขาเลือกไปก็คงโอเค คงเซอร์ไพรส์แหละ แต่ชอบหรือเปล่าไม่รู้ ที่สิงคโปร์ก็คงจะเฉย ๆ เราว่าเขาไม่ค่อยอิน ถ้า PLOT ไปน่าจะอินกว่า เขาชอบสายมัน ๆ

ต้า: อย่างมาเลเซีย คนที่นั่นเขาบอกกูว่า มันมีวงไทยที่ดังอยู่สามวง

ดุ่ย: ไม่ได้บอกว่าดัง เขาบอกว่าชอบ

ต้า: ไม่ ๆ ที่บอกว่านิยมในมาเลเซียนะ มี Yellow Fang

ดุ่ย: เขาบอกว่าคาราบาว!

ต้า: ไม่ คนละตอนกัน อันนั้นมันวันแรกใช่ปะล่ะ ที่มี เสก โลโซ ด้วย

ภูมิ: มึงฟังมันก่อน มันก็บอกว่าคนละวันกัน

ดุ่ย: วันเดียวกันแหละ ที่อยู่ในฮอลล์ใช่ไหมล่ะ คุยกับผู้ชายอ้วน ๆ ที่มัดผม ใส่กางเกงเจเจ อันนั้นกูก็อยู่กับมึง เขาไม่ได้บอกว่านิยมที่สุด แต่ที่เขาชอบที่สุด สามอันดับ มี คาราบาว, Yellow Fang, Two Million Thanks

ต้า: เฮ้ย แล้ว Desktop Error ล่ะ มันมีอยู่ ที่เขาบอกว่าจะเอามาเล่น กูจำได้เขาบอกว่า Yellow Fang, Two Million Thanks, Desktop Error

ดุ่ย: มึงฟังจากใครวะเนี่ย

ต้า: จริงจริ๊ง ไม่งั้นมันจะมี Desktop Error ในสารบบได้ไง แต่กูก็อยู่กับมึงแหละ แก๊งที่เป็นรุ่นใหญ่ ๆ หน่อย อ้วน ๆ อะ เป็นทีมงานสักคน เขาบอกว่า Yellow Fang ดัง เพราะมันแปลก

ดุ่ย: คุยกันนอกเรื่องแล้วมึง

แล้วแฟนเพลงไทยคิดว่าเพลงเราเป็นอย่างไร

ดุ่ย: ก็โอเค เพราะไม่ได้คิดอะไรมาก หน้าเดิม ๆ นะ

ต้า: เราก็ไม่ได้ติดตามอะไรขนาดนั้น แอบรู้สึกว่าเราเป็นวงนอกกระแสที่ไม่ได้ฟังวงอินดี้เท่าไหร่ อย่างกูก็ไม่ได้คลุกคลีมากว่าตอนนี้มีวงอะไรออกมาใหม่ แต่มึง (ดุ่ย) น่าจะฟังเยอะ กูก็ทำงานของกูไป ถึงเวลามาเล่น Two Million Thanks กูก็มาเล่น ไม่ได้เป็นคนที่ไปดู event แบบคนที่เขาชอบอินดี้ แต่ก็จะมีตามช่วงเรียนมหา’ลัยเนี่ยแหละ เพราะต้องไปเล่นด้วย จะได้ดูก็ตอนนั้น

ภูมิ: อย่างผมก็ไม่เคยไปดูเลย ถึงแม้จะเป็นวงที่ชอบมาก ๆ ก็ไม่ได้ไปดู ขนาดรู้ว่าเขาจะเล่นผมก็ไม่ไปนะ อย่าง Solitude is Bliss  ก็ไม่ได้ตามข่าวด้วยว่าเขาปล่อยเพลงอะไรยังไง

ดุ่ย: อ้าว ไหนเรื่องฟีดแบ็ค (หัวเราะ) ส่วนมากจะวัดจากอะไรที่เป็นรูปธรรม พวกยอดวิวก็ถือว่าเยอะสำหรับเพลงที่ฟังยาก งงว่าไปถึงได้ไง จะมีพวกสายรุ่นใหญ่ที่มาชม เป็นคนที่มีอิทธิพลกับเรา แต่อาจจะไม่ได้มีปริมาณมาก เราก็รู้สึกดีใจกับตรงนั้น อย่างเพลง “ดู” ขึ้นชาร์ต Cat Radio ได้ไง ยังงงอยู่เลย ใครไปขอวะ

ต้า: ถ้าฟังตอนขับรถนี่กูว่าอ้วก (ดุ่ย: มีสะดุดหินปะวะ) ฟังแล้วยิ่งรำคาญรถติดขึ้นไปใหญ่

2mil-06

คาดหวังสิ่งที่จะได้รับตอนไปเล่นที่ญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง

ดุ่ย: ก็กะจะเล่นให้ดี ไม่คาดหวังเลย ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะชอบเราโดยไม่รู้ตัว เป็นอย่างนี้ตลอดเลย

ต้า: แต่ว่าครั้งนี้พี่โคเขาบิ๊วสุดอะ “วงญี่ปุ่นมันเก่งนะโว้ย มึงจำวง Sgt. ที่มาเล่นได้ป่าว อันนั้น่ะ ถือว่าเล่นธรรมดา”

ดุ่ย: วงเราก็ไม่ได้เก่งหรอก โชว์ก็ไม่ได้เพอร์เฟ็ค แต่คงไม่ไปขายขี้หน้า ที่น่าสงสัย คือ เวลาอยู่ไทยแล้วมีคนญี่ปุ่นมาดู พวกเพื่อนพี่โค หรือวงญี่ปุ่นที่มาเล่น คุยกันแล้วถามว่าชอบวงอะไร เขาจะบอกว่าชอบ Two Million Thanks เราก็งงว่าชอบเหี้ยอะไรวะ ไม่ได้เล่นดีอะไร งงว่า นี่ชอบแล้วเหรอ อย่างวง Deepsea Drive Machine ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เล่นเวทีเดียวกัน เขาเล่นก่อน เราเล่นหลัง เล่นเสร็จเขาก็เดินมาซื้อแผ่นแล้วก็คุยกับพี่โคแบบ เฮ้ย ชอบ Two Million Thanks ไม่ได้เล่นดีด้วยนะวันนั้น แถมเล่นน้อยด้วย เพราะโดนตัดเวลา ก็ไม่รู้ทำไมหลาย ๆ วงชอบ เขาก็บอกว่ามันมีความญี่ปุ่นแล้วก็มีความไทยอยู่ด้วย

ต้า: ส่วนตัวคิดว่าอยากไปเที่ยว

ดุ่ย: ได้ประสบการณ์ (ขุน: ตอแหลเหี้ย ๆ ) คิดว่าจะได้ตังค์บ้าง แต่คงไม่ได้ ได้ไปก็ดีแล้ว ทุกครั้งที่เรามาซ้อมก็จะ เชี่ย ไม่น่าไปเลยว่ะ เสียตังค์เยอะฉิบหาย มันต้องมีค่ากินค่าอยู่ มี pocket money หรือว่าก่อนจะไป ก็มีทั้งค่าเดินทาง ค่าซ้อมอะไรเยอะ เห็นบ่นอย่างนี้แต่ไปทีไรก็โอเคตลอด สนุก ไปเที่ยวเล่นกัน ไม่หวังจะไปสร้างชื่อหรอกนะ

ต้า: คิดอยู่ว่าจะบอกกับคนดูว่า รักอะไรของประเทศเขาดี

ตั้งแต่ที่เป็นคนดูวงอื่น จนกลายเป็นคนทำเพลงเอง และมีแฟนเพลงติดตาม เราเติบโต เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ต้า: สำหรับผม ถ้ามันเป็นเกมก็เหมือนเลเวลอัพ

ดุ่ย: การเปลี่ยนแปลงน่ะมันมีอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า เราได้เห็นภาพตัวเองอีกครั้ง อย่างวันนั้นไปเป็นแค่คนดู วันหนึ่งเราได้มาเล่น แล้วเราพูดว่า เมื่อก่อนผมมาเป็นคนดู แล้วตอนนี้ผมได้มาเล่นที่งาน Stone Free 2 พออีกปีหนึ่ง ก็มีวงอีกวงหนึ่งมาพูด Solitude is Bliss น่ะ เขาพูดใน Stone Free 3 แบบเดียวกันเลย แล้วบอกว่าคำพูดนี้มาจาก พี่ดุ่ย Two Million Thanks เหมือนมันต่อยอดไปจากที่เราทำ หนังเล่นภาพซ้ำกับสิ่งที่ตัวเองเคยพูด แต่วงเขาไปไกลนะ ส่วนพัฒนาการวงเรามันก็ตามสูตรน่ะนะ ไม่ได้มาตั้งแต่ Stone Free แค่อย่างเดียว สะสมมาจากหลาย ๆ งาน

ต้า: สำหรับผม จะมีพัฒนาการเรื่องชื่อเสียง มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่า เฮ้ย วงเราก็เล่นเยอะเหมือนกันนี่หว่า เกือบจะดัง ๆ แล้วมันก็หายมาช่วงหนึ่ง จนตอนนี้เราก็มาอยู่ในคอลัมน์วงหน้าใหม่ละ (หัวเราะ)

ดุ่ย: แต่เราได้รับเลือกเป็นวงเล่นเปิดให้วงต่างชาติบ่อยนะ แล้วเราเป็นวงเดียวที่ออก EP ชุดเดียวแล้วได้ไปเล่นต่างประเทศ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จตรงนี้

เมื่อก่อนผมมาเป็นคนดู แล้วตอนนี้ผมได้มาเล่นที่งาน Stone Free 2 พออีกปีหนึ่งก็มีวงอีกวงหนึ่งมาพูด Solitude is Bliss น่ะ เขาพูดใน Stone Free 3 แบบเดียวกันเลย แล้วบอกว่าคำพูดนี้มาจาก พี่ดุ่ย Two Million Thanks เหมือนมันต่อยอดไปจากที่เราทำ หนังเล่นภาพซ้ำกับสิ่งที่ตัวเองเคยพูด

พอใจกับตอนนี้แล้วหรือยัง

ดุ่ย: ยังนะ อาจจะมีเรื่องการแสดงที่ติดอยู่ เพราะพวกเราก็ไม่ได้เรียนดนตรีมาแล้วเสือกทำเพลงยาก ตอนอัดเพลงมันก็ได้หลายเท็คไง ทำเพลงดี ๆ ออกมาได้ คนฟังก็รู้สึกว่า วงนี้มันเพลงดีว่ะ แต่แสดงอาจจะไม่แน่น ข้อเสียนี้รู้อยู่แล้ว อยากพัฒนาการแสดงสด ใช่ไหม (ทุกคน: ใช่ครับ)

โดยรวมถือว่าประสบความสำเร็จไหม

ต้า: ไม่รู้ เพิ่ง EP เอง เรียกว่าไม่คาดหวังดีกว่า แต่ว่ามันมอบโอกาสให้เราหลายครั้งแล้วนะ

แล้วนอกจากจะไปทัวร์คอนเสิร์ต กับซุ่มทำอัลบั้มใหม่ ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

ต้า: ว่างงาน

ดุ่ย: อย่าเรียกว่าว่างงาน เรียกทำ freelance

ต้า: อ๋อ ทำวิดีโอครับ ก่อนหน้านี้ทำรายการ Hang Out เคยไปถ่ายฟังใจมาด้วย

ดุ่ย: เออ เป็นผู้กำกับ ภูมิเพิ่งเรียนจบ ส่วนขุนตอนแรกเป็นฟรีแลนซ์ แล้วไปทำประจำเกี่ยวกับโปรดักชั่นหนัง ภาพเคลื่อนไหว ออกไปรับฟรีแลนซ์สารคดี พอรู้สึกว่าอยากมั่นคง เลยไปสมัครทหารได้ประมาณเดือนกว่า แต่เหมือนหลังจากนั้นต้องมีคัดอะไรอีกก็เลยออกมาดีกว่า ตอนนี้ก็เลยว่างงาน ส่วนดุ่ยก็เพิ่งจบมาได้สามเดือน ทำฟรีแลนซ์ ทำซาวด์ประกอบหนังบ้าง วิดิโอบ้าง แล้วก็เป็นนักแสดง

เห็นดุ่ยเคยไปโผล่ในวิดิโอของ Chimney

ต้า: อ๋อ อันนั้นเราทำ

ดุ่ย: ได้ค่าตัวพันนึง เล่นไปแสนกว่า (หัวเราะ)

มีวีรกรรมพีค ๆ ตอนซ้อมหรือโชว์บ้างหรือเปล่า

ดุ่ย: ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล่นผิด

ต้า: ถ้าเล่นผิดก็จะพยายามโยกแรง ๆ เข้าไว้ เหมือนว่ามันมาก

ดุ่ย: แต่วงเราเป็นวงที่เล่นผิดแล้วไม่เขิน คือ หาอะไรแก้ตัว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง ถ้าเล่นผิดก็หยุดเล่นแล้วจะพูดคั่นออกไมค์ไปเลย

ต้า: มีครั้งหนึ่งที่งานเล่นห้องสมุดอะไรนั่น เล่นเพลง “เล่นซ่อนหา” ผิดสักอย่าง ขุนมันก็ค่อย ๆ เฟดจบ แล้วทุกคนก็ดึงหน้าว่า จบแล้ว เหมือนว่าตั้งใจ แต่จริง ๆ คือ เล่นผิด

ดุ่ย: เออ เล่นผิดบ่อย ไม่ใช่เล่นไม่ค่อยเก่ง แต่ซ้อมน้อยมากกว่า ไม่ซ้อมแล้วไปเล่นก็มีเยอะแยะ ไปเจอกัน ซ้อมกันที่งานตอนซาวด์เช็คเลย

แล้วแบบนี้มีเตรียมสคริปไปพูดบ้างไหม

ดุ่ย+ต้า: ไม่มี (หัวเราะ)

ต้า: มีตอน Keep On The Grass ตอนที่เตี๊ยมมุขกัน อันนั้นดูมีการเตรียมที่สุดแล้ว

ดุ่ย: อย่างเพลง “เล่นซ่อนหา” ท่อนหลังจะเงียบ ก่อนจะร้องว่า “เธออยู่ที่ข้างซ้าย” ให้ต้ามันมองหาอะไรสักอย่าง แล้วถามว่า เฮ้ย อยู่ไหนวะ

ต้า: เฮ้ย มึงให้ตะกร้อพูดก่อนว่า เธออยู่ที่ข้างซ้าย แล้วให้ตบ คนก็เข้าใจ

คนดูขำไหม

ต้า: ไม่รู้ มันเล่นเป็นวงรองสุดท้ายของงาน ซึ่งงานมันจะเลทอยู่แล้ว ตีสามหรือตีสี่เนี่ยแหละ คนก็จะขำแบบ หึ ๆ อะ

ตอนนี้ยังยืมเครื่องดนตรีคนอื่นเล่นอยู่หรือเปล่า

ดุ่ย: ยืมดิ นี่ก็ยืมทุกคน (หัวเราะ) ตอนเล่นไม่ได้ตังค์เลย ถ้าได้ตังค์ก็เอาไปทำอย่างอื่น เอาไปใช้ชีวิต ก็มันไม่มีกินอะ ถ้ายืมได้ก็ยืม คงไม่ซื้อ ถ้าไม่ได้ก็คงเลิกยืม เลิกเล่นไปเลย มันต้องมีคนให้ยืมแหละ สักคนน่ะ นี่ก็ประกาศหา กูจะเล่นงานนี้ ใครให้ยืมมั่ง ส่วนใหญ่ก็มีนะ แบบเสนอมาให้

ต้า: ของเราเป็นของเจ (เจี่ยป้าบ่อสื่อ) เอาไปใช้ทุกที่

ดุ่ย: ของเรายืมพี่โยคี (Canning Spring Summer) ยืมเด็กด้วย ถ้ายืมรุ่นพี่ก็จะ เฮ้ย มันเป็นน้อง ให้น้องไปเถอะ แต่พอยืมน้อง มันจะ เฮ้ย พี่แม่ง มึงน่าจะเป็นคนช่วยกูมากกว่า ไม่ก็แบบใช้อำนาจความมีชื่อเสียง เฮ้ย พี่เอาเลยพี่ ให้เอาไปเล่น มันก็บอกว่าเป็นเกียรติประวัติของเบสตัวนี้

ต้า: สติกเกอร์ที่แปะเวลาขึ้นเครื่องบิน อย่าลอกออกนะพี่ หลงเหลือให้เป็นประสบการณ์ของเบสตัวนี้ไป

ดุ่ย: กล่องมึงเละหมดละ (หัวเราะ)

ต้า: กาวสติ๊กเกอร์อันที่จับเวลาขึ้นเครื่องอันใหม่เขาก็ดึงออก เหนียวหมด ก็ไม่รู้ อยากเก็บประสบการณ์อันไหนก็แปะไว้

อนาคตจะทำอะไรกันต่อ

ดุ่ย: คงหางานประจำ ให้มีข้าวกินก่อน พอมีข้าวกินก็มีปัญญา พอมีปัญญาก็ได้แต่งเพลง (ทุกคน: โอ้โหหหหหหห) (ขุน: ศาสดาดุ่ย)

2mil-07

จะได้ฟังอัลบั้มใหม่เมื่อไหร่

ดุ่ย: น่าจะอีกสามปี… หลอก ๆ เพราะเดี๋ยวปลายปีหน้าต้องไปเป็นทหารไง ไม่ได้เรียน รด. อาจจะพฤษภา ซึ่งก็อาจจะไม่ทันอัลบั้มเต็ม หรือไม่ก็ต้องรีบออกให้ทันก่อน เหลือเวลาไม่ถึงปีแล้วนะที่จะต้องทำอัลบั้มเต็มแต่ยังไม่ได้อัดสักเพลง แต่เพลงก็มีประมาณหนึ่งแล้ว เดี๋ยวรอฟังเพลงใหม่ Two Million Thanks กัน แล้วจะรู้ซึ้ง

ต้า: (ตะโกนใส่เครื่องอัด) ว่ามันจะเจ๋งขนาดไหน!

ดุ่ย: อย่าตกใจละกัน ว่านี่มันใช่ Two Million Thanks เหรอ

ต้า: (ตะโกนใส่เครื่องอัด) ป๊อปว่ะ ใครวะะะะะ

ดุ่ย: ไม่ป๊อป ๆ แต่ว่า ไม่เหมือน Two Million Thanks เลย จริง ๆ มันก็เหมือนอยู่แหละ แต่ว่าเจ๋งแน่

สรุปภาพคร่าว ๆ ของอัลบั้มใหม่หน่อยว่าจะออกมาเป็นแบบไหน

ดุ่ย: อัลบั้มยอดเยี่ยม… นี่ตกลงมึงจะอีโก้ไม่อีโก้วะเนี่ย (หัวเราะ)

ต้า: ภาพรวมอัลบั้มใหม่ที่คุณจะไม่ได้พบจาก Two Million Thanks คุณไม่พบความดีแน่นอน (หัวเราะ)

ดุ่ย: อย่าคาดหวังกับความเป็น Two Million Thanks แบบเก่าดีกว่า แต่รู้ได้ว่าจะต้องไม่รังเกียจมันแน่ อาจจะอินไปเลยก็ได้กับแบบใหม่ของพวกเรา อย่างเราชอบ Math แต่เราว่า R&B มันก็เจ๋งเหมือนกัน Surf rock มันก็เจ๋ง น่าจะชอบกันอยู่แล้วแหละ ทั้งคนดนตรี คนฟัง น่าจะฟังง่าย อันนี้เต้นได้ด้วย เพลง Yellow Pages

ต้า: (ตะโกนใส่เครื่องอัด) จำไว้เลย จำไว้ คมชัดลึก อวอร์ด ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม

มองภาพรวมของวงการเพลงอินดี้บ้านเราว่าเป็นอย่างไร

ดุ่ย: มันดีกว่าบ้านอื่น ดีกว่ามาเลย์ สิงคโปร์ วงการนอกกระแสเรานี่รองจากญี่ปุ่นเลยนะ ถ้าเทียบเอาจากยอดวิวน่ะ อย่าง Desktop Error นี่ เจ็ดแสน Stoondio นี่ล้านวิว Moving And Cut หรือ Jelly Rocket นี่ก็ล้านวิวแล้ว Two Million Thanks เนี่ย แสนวิวได้ไง

ขุน: มึงคนเดียวก็เก้าหมื่นแล้ว นั่ง F5

ดุ่ย: อ้าว แล้วที่คอมเมนท์น่ะ หลายยูสเซอร์ มาเมนท์คุยกันเองเหรอ (หัวเราะ) เรียกว่าดีเลยแหละ วงการเพลงสำหรับประเทศไทยนี่มันไปไหนไปกัน ดูเอาจริงเอาจังขึ้นเรื่อย ๆ อย่างพอเห็นว่ามีงานนี้ ก็ชวน ๆ กันไป เริ่มอินกับแนวเพลงนี้ ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ต คนก็เลือกได้ หรือเทศกาลเพลงอินดี้อย่าง เห็ดสด คนไปกี่คนนะสองพันกว่าคน มันก็เยอะแล้วนะ คอนเสิร์ตอินดี้แล้วมีคนไปเยอะขนาดนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว รองจากญี่ปุ่นนะ รู้สึกได้

2mil-08

จะทำอย่างไรให้วงการเพลงอินดี้ไทยไปไกลกว่านี้

ต้า: ทำไปเรื่อย ๆ มั้ง มีคนเคยบอกว่า วงดนตรีถ้ามันอยู่ได้เกิน 8 ปี ก็ไม่มีทางตายแล้ว

ดุ่ย: ใครพูดวะ

ต้า: ไม่รู้

ดุ่ย: เราว่าเรื่องเวลา มีสองอย่าง ไม่ปล่อยไปตามเวลา ก็เร่งเวลา ปล่อยไปตามเวลาก็ คือ เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนตอนนี้ แต่ถ้ารีบเร่งก็ คือ โปรโมทปากต่อปากมันก็ช่วย เหมือนก่อไฟจุดเล็ก ๆ เวลาเพื่อนฟังเพลงก็ถาม มึงฟังไรวะ ไหนฟังมั่งดิ เวลาอยู่ในหอพวกอินดี้มันจะเปิด ไอ้พวกที่ฟังอย่างอื่นมันก็ฟังเพลงทั่วไป เราก็ป้อนแบบ เฮ้ย มึงเอา Desktop Error ไปฟัง ตรงนี้น่าจะช่วยได้เยอะ ให้เพื่อนลองฟัง

ต้า: หรือแบบ เฮ้ย อาทิตย์นี้มีงานที่นั่นที่นี่ ไปเป็นเพื่อนหน่อยดิ มันก็ปากต่อปาก

ดุ่ย: ถ้าอยากสนับสนุนก็จัดแบบ ถ้าคุณมีเพื่อนมาฟังด้วย มีบัตรอีเวนท์ให้ฟรีหนึ่งใบ มาสี่คน แถมใบหนึ่ง ไอ้คนที่ไม่ฟัง เพื่อนก็ต้องลองชวน เฮ้ย มึง บัตรฟรี ไปเถอะ อะไรทำนองนี้

ต้า: แต่ความจริงมันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามรูปแบบของมันอยู่แล้ว เพราะเขาก็มีคนที่โต ๆ พยายามจะบุกเบิกให้มันดีขึ้นกว่าเดิม อย่างพี่ตั้ม (โตคิณ ฑีฆานันท์) เขาก็ตั้งใจทำ หรือวงการหนังก็ช่วย อย่าง Mary is Happy ทำให้ดนตรีนอกกระแสบูมได้นะ

ดุ่ย: แล้วพอมีอินเทอร์เน็ต พวกที่ดังอย่าง Lana Del Rey หรือ James Blake มันเริ่มจะแมส เมื่อก่อนมันไม่ค่อยดัง แต่พอได้รางวัลก็ทำให้คนไปฟังแนวนั้นมากขึ้น พอเขารู้ว่ามันมาจากอินดี้ ก็เริ่มหาอินดี้ของฝรั่งมาฟัง แล้วพอเขารู้ว่าไทยก็มีอินดี้นะ ก็กลับมาฟังของไทย

เดี๋ยวนี้มีช่องทางการซื้อเพลงที่สะดวกมากขึ้น พวกดิจิทัลดาวน์โหลด มันยังทำให้เราอยากทำแผ่นออกมาขายอีกไหม ถ้าคนหันไปซื้อเพลงจากทางนั้นกันหมดแล้ว

ดุ่ย: ทำนะ ถึงมันจะไม่ค่อยได้ตังค์ เป็นวงดนตรีมันก็ต้องมีแผ่นปะ

ต้า: อาจจะเป็นความเชื่อที่ไม่รู้ว่าล้าสมัยหรือเปล่านะ แต่มันก็อยากทำ เป็นของสะสม เป็นรูปธรรม มันน่าจะจับต้องได้ พอเราเห็นเราก็จะนึกว่า เฮ้ย นี่เราทำอัลบั้มนี้ว่ะ

ฝากอะไรกับผู้อ่านฟังใจหน่อย

ต้า: คมชัดลึก อวอร์ด (หัวเราะ) มีตังค์ซื้อตั๋วไปญี่ปุ่นก็ตามมา ไม่มีก็อยู่บ้านไป (หันไปหาภูมิ: ไอ้ภูมิ มึงเล่นอะไร!)

ดุ่ย: ถ้าอยากสนับสนุนจริง ๆ ซื้อแผ่นดีกว่า ฟังฟรีก็ดีใจแล้ว แต่ซื้อแผ่นนี่กราบตีน

ต้า: เพราะมีอาร์ตเวิร์คสวย ๆ แล้วก็จะได้รู้ว่าเราเขียนขอบคุณใครบ้าง

ดุ่ย: มีสะกดคำผิด คำว่า บุคคล ตก ค ควาย ไปตัวหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เช็คแล้ว… ตอนฟังเพลงเราก็ดีใจแล้วนะ โหลดจาก YouTube ก็ดีใจที่ยังอุตส่าห์เอาไว้รกเครื่อง เครื่องมีค่าควรจะเก็บข้อมูลที่มันดี เสือกเอาเพลงเราไปไว้ก็บุญละ แต่เสือกซื้อแผ่นเราเนี่ย

ต้า : โง่ มึงน่ะมันโง่! (หันไปหาภูมิ: ไอ้ภูมิ ไอ้เหี้ย !)

ดุ่ย : ขอบคุณมากแหละ ถ้าซื้อแผ่นทุกวงเลย เพราะเดี๋ยวนี้มันถูกนะ มันถูกมานานล่ะ แผ่นสองร้อยเก็บสองวันก็ได้เงินแล้ว สามวัน อาทิตย์หนึ่งก็ได้ เก็บวันละ 20 บาท เลิกนั่งวินสักสองสามวัน อย่างในเมือง วินก็หกสิบแล้วถ้านั่งไปกลับ นั่นแหละ ไม่รู้จะสนับสนุนทางไหนก็ฟังฟังใจละกัน เพราะทุกคนก็ได้จากฟังใจ เพราะเขาจะให้วงละหมื่น เรอะ ? (หัวเราะ)

2mil-09

ก่อนกลับ สมาชิก Two Million Thanks เดินมาส่งเราและพูดคุยอย่างมีอัธยาศัย อีกไม่กี่วันพวกเขาก็จะได้ไปพบประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้น ส่วนเราคนฟังก็คงได้แต่รอผลงานที่กำลังจะออกมาของพวกเขาที่ผ่านการขัดเกลาอย่างตั้งใจ หวังว่าเราเองก็จะได้รับประสบการณ์ใหม่จากอัลบั้มต่อไปที่ไม่เหมือนเดิมของพวกเขาอีกเช่นเดียวกัน

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้