คอนเสิร์ต เสียงดัง ทำให้เราหูอื้อ หูวิ้ง หูชั้นใน คืออาการอะไร

Article Guru

เกิดอะไรขึ้นในหูเรา ระหว่างเสียง *วิ้งงงงงงง* หลังคอนเสิร์ตจบ

  • Writer: Peerapong Kaewtae

คอนเสิร์ต คือหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้สมองเราหลั่งโดปามีนหรือสารแห่งความสุขออกมาได้มากที่สุด ทุกคนมาเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ร่วมที่ท่วมท้นเต็มเปี่ยม กระโดดไปพร้อมกันในเพลงเดียวกัน ยิ่งเครื่องเสียงดีมากเท่าไหร่ คนดูอย่างเราก็ยิ่งสนุกสุดเหวี่ยงมากขึ้นเท่านั้น แต่หลังจบคอนเสิร์ตเนี่ย สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวเรานอกจากความฟินแล้ว ก็มีเสียง *วิ้งงงงง* ที่ดังอยู่ในหูของเราทุกครั้งเนี่ยแหละ ว่าแต่เกิดอะไรกับหูของเราระหว่างที่มัน *วิ้งงงง* แบบนี้กันนะ

คำว่า ‘เสียงดัง’ ที่ผู้เชี่ยวชาญพูดถึงก็อยู่ที่ประมาณ 85 เดซิเบล ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความเสี่ยงจะทำให้เราหูหนวกอยู่แล้ว แล้วรู้มั้ยว่าคอนเสิร์ตทั่วไปความดังอยู่ที่ 110-125 เดซิเบลเลยทีเดียว

ตารางเดซิเบล

จากตารางข้างบนเราจะเห็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนว่าเสียงกระซิบอยู่ที่ 5-45 เดซิเบลเท่านั้น และเสียงไซเรนรถพยาบาลแม้จะดังถึง 125 เดซิเบลใกล้เคียงกับคอนเสิร์ต แต่เมื่อมันขับผ่านเราไป ทำให้ได้ยินไม่นานเกินไปก็ทำอันตรายกับรูหูเราไม่ได้ แต่กับคอนเสิร์ตที่เราต้องใช้เวลาอยู่ในนั่นเป็นชั่วโมง หูของเราก็อาจจะบาดเจ็บได้

หูชั้นในบริเวณก้นหอยจะมีขนเส้นเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่รับคลื่นเสียงเข้ามาและแปลงสัญญาณเหล่านั้นกลับไปว่าเรากำลังได้ยินเสียงอะไร เสียงที่ดังเกินไปจะทำร้ายเส้นขนเหล่านี้ ซึ่งทำให้เราสูญเสียการได้ยินบางส่วนไป แต่สมองของเราไม่รู้ว่าเส้นขนเหล่านั้นอ่อนแออยู่ จึงชดเชยด้วยการขยายสัญญาณการได้ยินของเราออกไปเพื่อให้เส้นขนที่ยังเหลืออยู่ทำงานได้ดีขึ้น ให้การได้ยินของเรากลับมาปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อขนบางจุดไม่สามารถส่งคลื่นเสียงกลับไปได้ สมองจริงแปลงเสียงที่ไม่มีอยู่จริงกลายเป็นเสียง *วิ้งงงงง* ที่ทุกคนน่าจะจำได้ดี

โดยทั่วไปเราจะใช้เวลามากสุด 16-48 ชั่วโมงที่การได้ยินของเราจะกลับมาปกติอีกครั้ง แต่บางคนอาจจะนานกว่านั้นตามความบอบช้ำที่เคยเจอมา ยิ่งถ้าต้องเจอเสียงดัง ๆ แบบนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็อาจทำให้เส้นขนเหล่านั้นเสื่อมถาวรได้เหมือนกัน และแน่นอนว่าการได้ยินของเราก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ และถ้าอยู่ในคอนเสิร์ตอาจจะลดปริมาณแอลกอฮอลที่จะกินลงบ้าง เพราะความดันที่มากขึ้นจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงหูเหมือนกัน ทำให้เสียง *วิ้งงงงง* อยู่กับเรานานขึ้นด้วย

Fungjaizine เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้บ่อย ๆ เช่นในบทความ ใครชอบไปคอนเสิร์ตต้องฟัง ระวังหูดับไม่รู้ตัว!? เพื่อเตือนภัยให้คนชอบฟังเพลงรักษาหูอันค่าของตัวเองไว้ให้ดี ๆ เราคงไม่มีหูสำรองให้เปลี่ยนแน่นอน อย่ามัวนั่งจินตนาการถึงโลกที่ฟังเพลงไม่ได้ แล้วหันมาดูแลหูของเราตั้งแต่วันนี้ดีกว่าจ้า ลองหา earplug ที่เหมาะกับเราดูและใส่ให้เป็นกิจลักษณะ เดี๋ยวจะหาว่าเราไม่เตือนน้า

อ้างอิง

Decibel Exposure Time Guildlines

Tinnitus: Ringing in the ears and what to do about it

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา