Feature เห็ดหูหนู

Playlist ของ ปราบดา หยุ่น

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam

Prabda Playlist

“เป็นคนฟังเพลงเยอะ เพลงที่ชอบจึงมีจำนวนเป็นร้อย แต่ 10 เพลงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น 10 เพลงที่มักนึกถึงหรือฟังซ้ำอยู่บ่อย ๆ และรู้สึกว่าเป็นเพลงที่คนแต่งเขียนได้ดีมาก ทั้งในมิติของคำร้องและทำนอง”

img_3449

Leonard Cohen – Hallelujah

อาจจะเป็นเพลงที่ฟังซ้ำและร้องเล่นเพลิน ๆ ระหว่างอาบน้ำบ่อยที่สุด เป็นเพลงที่ชวนให้สนุกกับการตีความเนื้อร้องและชอบทำนอง ถึงจะไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์และไม่มีความรู้สึกร่วมอะไรเลยกับคำว่า “hallelujah” แต่ความเป็นบทกวีของมัน รวมทั้งภาพที่ปรากฏขึ้นในหัวระหว่างฟัง ก็สร้างความประทับใจที่ยากอธิบายให้ทุกครั้งที่ได้ยินและได้ร้องตาม

Bob Dylan – Simple Twist of Faith

https://www.youtube.com/watch?v=B8r9k45gVL4

ชอบเพลงส่วนใหญ่ของ Bob Dylan และฟังเกือบทุกอัลบั้มซ้ำไปมาบ่อย ๆ แต่เพลงที่รู้สึกว่าดีแลนเขียนได้ดีที่สุดคือเพลงประเภทเล่าเรื่องความสัมพันธ์เศร้า ๆ เหมือนได้ฟังเรื่องสั้นหรือได้ดูหนังสั้น ๆ สักเรื่อง จับต้องได้และสะเทือนใจกว่าเพลงยุคแรก ๆ ที่ทำให้เขาโด่งดัง

Molly Drake – I Remember

Molly Drake เป็นแม่ของ Nick Drake เธอเป็นนักดนตรีและแต่งเพลงไว้ไม่น้อย ถึงจะชอบผลงานของ นิค เดรค มาก แต่พอได้ฟังเพลงของมอลลี่แล้วพบว่าเธอเขียนเนื้อเพลงได้ลึกซึ้งกว่าลูก เพลงนี้เป็นเพลงที่พูดถึงความโดดเดี่ยวของความเป็นปัจเจกบุคคลที่แม้จะมีความรักต่อกันก็มี “ความทรงจำ” ในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เป็นเพลงที่เศร้าแต่งดงามที่สุดเท่าที่เคยฟังมาเพลงหนึ่ง

Tom Waits – Martha

Tom Waits เป็นนักแต่งเพลงอีกคนที่เล่าเรื่องได้อย่างมีชั้นเชิงและมีเอกลักษณ์ นี่เป็นเพลงหนึ่งที่ฟังทีไรก็อดนึกภาพตามตัวละครในเนื้อเพลงไปด้วยไม่ได้ แทบจะมีกลิ่นเหล้าเคล้าควันบุหรี่ลอยออกมาเลยด้วยซ้ำ

Cy Coleman – Why Try To Change Me Now

เนื้อเพลงยียวนแบบน่ารัก เวอร์ชันที่ร้องโดย Fiona Apple อาจจะดีที่สุด (คนที่นำเพลงนี้มาร้องจนเป็นที่รู้จักคือ Frank Sinatra) ฟังแล้วขนลุก เป็นอีกเพลงที่ชอบร้องเล่นระหว่างอาบน้ำ

Paul Simon American Tune

Paul Simon เป็นนักแต่งเพลงอีกคนที่เขียนเนื้อเพลงได้เป็นบทกวี มีความเป็นวรรณกรรม เล่าเรื่องได้น่าประทับใจ ใช้คำเก่ง เพลงนี้ถึงจะพูดถึงอเมริกาหรือความเป็นอเมริกัน แต่ฟังแล้วกลับรู้สึกร่วมได้เพราะมีความเศร้าหม่นที่เป็นสากลอย่างยิ่งอยู่ในนั้น

Sam Cooke – A Change Is Gonna Come

ฟังแล้วซาบซึ้ง ฮึกเหิม มีความหวัง ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเป็นความหวังแบบหม่น ๆ

Serge GainsbourgLa Javanaise

Gainsbourg เป็นนักแต่งเพลงและนักร้องอีกคนที่ชอบมาก ถึงจะฟังเนื้อเพลงภาษาฝรั่งเศสไม่ออก (ต้องไปหาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกที) แต่เพลงของเขามีเสน่ห์ประหลาดที่ทำให้หลงใหล โดยเฉพาะเมโลดี้ที่ฟังแล้ววนเวียนอยู่ในหัวต่อไปอีกเป็นวัน ๆ

Pixies – Where Is My Mind?

เป็นคนชอบฟังเพลงพังก์ เพลงหนัก ๆ แรง ๆ แต่เพลงแบบนี้มักจะฟังด้วยอารมณ์ความรู้สึก ไม่แคร์เรื่องเนื้อเพลงมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เพลงแนวนี้ก็มักมีเนื้อหาเข้าใจง่าย ใช้คำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ไม่กี่ประโยค แต่เพลงนี้มีความเป็นนามธรรมที่สร้างความค้างคาใจและทำให้เกิดความรู้สึกปลดปล่อยโดยที่ไม่รู้ว่าปลดปล่อยอะไร

The Magnetic Fields – All My Little Words

สำหรับคนทำงานเขียน เนื้อหาของเพลงนี้น่ารักและโดนใจ

อยากให้หนังอิสระไทยสามารถอยู่ได้ด้วยคนดูที่เป็นคนไทยเพราะการฉายในเมืองไทยมากกว่า เพราะว่าระบบเทศกาลเนี่ยมันอาจจะได้ชื่อเสียง แต่ว่ามันไม่สามารถทำให้คนทำหนังมีอาชีพทำหนังได้อย่างแท้จริง

Exclusive Talk

img_3467

ทำไมถึงมาทำหนังของตัวเอง

เป็นความสนใจหนึ่งที่คิดไว้เสมอมานานแล้วว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองทำ แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำอย่างจริงจังมาก่อน จนมันเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นแบบที่ไม่ได้ตั้งใจเพราะไม่แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า คือมันก็ประจวบเหมาะกับ คุณชนานันท์ โชติรุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นตากล้องของเราแล้วก็เป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกันมานานแล้ว ช่วยเอาไอเดีย “Motel Mist โรงแรมต่างดาว” นี้ไปเสนอให้กับคุณทองดี (โสฬส สุขุม) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้ แล้วคุณทองดีก็ไปเสนอให้กับช่อง True ที่จะให้ budget กับคนทำหนังเพื่อทำหนังมาฉายในช่อง True Thai Film ที่ก่อนหน้านี้เคยทำกับเรื่อง Snap มาแล้ว

ทำไมไม่เอาหนังสือที่เขียนมาทำเป็นหนัง

เพราะว่าเวลาเขียนหนังสือไม่เคยเขียนโดยที่มีความตั้งใจว่าจะเอาไปทำเป็นหนัง สำหรับเราวรรณกรรมกับภาพยนตร์มันค่อนข้างจะต่างกัน แล้วเวลาเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายเราจะไม่เคยนึกภาพว่ามันจะเป็นภาพยนตร์ หมายถึงว่า ถ้าอยากจะเขียนเรื่องสำหรับภาพยนตร์ ก็จะคิดอีกแบบนึง มันเป็นความชอบที่ต่างกันด้วย รสนิยมในการอ่านหนังสือกับการดูหนังของเรามันก็ไม่ค่อยคล้องจองกันเท่าไหร่ คือหนังสือเราก็ชอบวรรณกรรมโดยเฉพาะที่อยู่ในยุคสมัยใหม่ มีการเล่นคำ มีการทดลองกับโครงสร้างของตัวบท ในขณะเดียวกันวรรณกรรมคลาสสิกก็ชอบ เราจะมีความสนใจที่กว้างพอสมควร ส่วนภาพยนตร์เนี่ย จริง ๆ ก็สนใจกว้างเหมือนกัน แต่ถ้าจะทำเอง เราก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่จะทำหนังได้เฉพาะบางแบบที่เราคิดว่าเราน่าจะทำได้หรือว่าพอถูไถไปได้ ก็คือหนังเกรดบีหน่อย ๆ คือเป็นคนชอบดูหนังเกรดบี หนังที่ไม่ได้ถูกยกย่องว่าดีเลิศทางศิลปะ แต่มีความน่าสนใจในแง่อารมณ์ขัน หรือความบ้าบิ่นในการทดลองกับภาพบางอย่าง

อย่างตอน “เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล” ก็คิดมาเป็นบทหนังเลยหรือเปล่า

“เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล” เป็นไอเดียที่มาจาก คุณเป็นเอก รัตนเรือง อยู่แล้ว แล้วคุณเป็นเอกชวนให้เราเขียนเพราะอาจอยากได้มุมมองจากคนเขียนคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวแกเอง มีความน่าสนใจแล้วก็อยากทำงานด้วยกันในตอนนั้น แต่ว่าไอเดียหลัก ๆ ของตัวละครก็มาจากคุณเป็นเอก

หนังเรื่องแรกที่ทำก็เลยเป็นแนวอีโรติก ทริลเลอร์ sci-fi

มันก็ไม่เชิง มันมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในหนัง แต่ถ้าไปดูก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่ มันไม่ได้เน้นความเป็นอีโรติก มันไม่ได้เป็น sci-fi มาก มันไม่ได้เน้นความหวือหวาของ genre พวกนี้เท่าไหร่ แต่ว่าเราใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อนำเสนออะไรบางอย่างในหนังมากกว่า มันเป็นคล้าย ๆ แบบฝึกหัดเหมือนกันนะ สำหรับเราในการทำภาพยนตร์ก็ค่อนข้างจะใหม่ ก็มองว่าตัวเองยังอยู่ในขั้นเรียนรู้ เป็นนักเรียนอยู่ ก็คิดว่ามันน่าจะเป็นหนังที่มีความแปลกของมัน มีความไม่ลงตัวบางอย่างอยู่ด้วยเหมือนกัน ในขณะเดียวกันเราก็ได้ทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่อยู่ในความสนใจในเชิงศาสตร์ภาพยนตร์ ถามว่ามันเป็น cult แบบที่ตั้งใจหรือเปล่า มันก็คงมีความเป็น cult เหมือนกันในแง่ที่ว่าบางคนก็จะเกลียดมันมาก คนที่ชอบก็อาจจะมี มันไม่ใช่หนัง feel good สำหรับคนทั่ว ๆ ไปเท่าไหร่ คงต้องเป็นรสนิยมจำเพาะมาก ๆ เหมือนกัน อย่างหนังบางเรื่องเราชอบดู แต่รู้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ชอบ จะเป็นลักษณะอย่างนั้นมากกว่า

ทำไมอยากเล่าเรื่องมนุษย์ต่างดาว

ประเด็นมนุษย์ต่างดาวจริง ๆ มันเป็นนามธรรมในหนังมากกว่า คือเราอยากจะใช้มันเป็นประเด็นที่จะสื่อสารเกี่ยวกับความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกแตกต่าง ความรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับสังคม มันก็เป็นสิ่งที่เราสนใจอย่างนึงในแง่ความลึกลับ ความเป็นปริศนา คำถามที่ไม่มีคำตอบ หรือว่าความรู้สึกไม่สื่อสารกับคนรอบข้างหรือสภาพแวดล้อม แต่จริง ๆ แล้วมันก็เป็นความสนใจหนึ่งเหมือนกัน เพราะเราก็เป็นคนชอบหนัง sci-fi ด้วย แต่อาจจะไม่ใช่ sci-fi จ๋าแบบฮอลลีวู้ดที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ แต่ความเป็น sci-fi ในแง่ขององค์ประกอบของความแปลกประหลาด ความเหนือจริง มันก็เป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็มาจากตัวเราเองด้วย

โรงแรมม่านรูดดูเป็นสิ่งแปลกแยกไหม

ใช่ หมายถึงในแง่ของสิ่งที่มีอยู่ในสังคมโดยที่ไม่มีการพูดคุยกันหรือไม่ใช่ว่าทุกคนในสังคมจะรับรู้ว่ามันคืออะไร มันก็เหมือนกับการแฝงอยู่ของสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งต้องห้ามบางอย่างที่ทุกคนในสังคมไทยรู้จัก แค่ไม่ใช่ทุกคนจะคุ้นเคย แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะ ignore ได้ง่าย ๆ อย่างเช่น อาบอบนวดบางแห่งมันใหญ่โตมโหฬารมาก มันไม่ใช่สิ่งที่คนจะสามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่เห็นมัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกพูดถึงในสังคมแบบเปิดเผยว่า อะไรเกิดขึ้นในนั้น สำหรับเราโรงแรมม่านรูดก็มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กัน คือ คนทั่ว ๆ ไปถ้าไม่ได้จะใช้บริการก็จะไม่มีคอนเซปต์เลยว่าต้องใช้ยังไง ห้องข้างในเป็นแบบไหน เราก็จะไม่คุ้นเคยกับมันเลย แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่ามันมีอยู่ในสังคม

ซึ่งใน ‘Motel Mist’ จะพาคนดูไปให้รู้จักกับมันมากขึ้น

เราทำให้เห็นในแง่ที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องแต่ละห้องของโรงแรมม่านรูดเนี่ย ในมุมมองของคนนอกคือจริง ๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ มันคือความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เราถึงคิดว่ามันเหมาะกับเรื่องลึกลับ เรื่องปริศนา เรื่องต่างดาว sci-fi เพราะมันเหมือนกับเป็นหลุมดำที่เราไม่เข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถจินตนาการอะไรก็ได้ที่จะเกิดขึ้นภายในนั้น

สถานที่กับตัวละครในเรื่องมีความเชื่อมโยงกันยังไง

ใช้คำว่าโรงแรมต่างดาวเพื่อจะบอกว่าสถานที่นี้มีความแตกต่างหรือแปลกประหลาดไปจากที่อื่นที่แวดล้อมมันอยู่

เป็นการสะท้อนถึงคนชายขอบด้วยหรือเปล่า

ก็น่าจะ คือจริง ๆ หนังก็มีเมสเสจบางอย่างของมัน แต่เราก็อยากให้คนดูเป็นคนตีความเองมากกว่า ไม่อยากจะชี้นำว่ามันเกี่ยวกับอะไรเป็นพิเศษ

งานภาพในหนังเรื่องนี้ทำให้ดูเป็นหนังสไตล์จัด

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่คนพูดถึงเรื่องสไตล์ของหนังตอนหนังไปฉายเทศกาลต่างประเทศ เรื่องภาพ ซึ่งมันก็เป็นความตั้งใจอยู่แล้วนะ เราไม่ได้แปลกใจที่ได้ยิน feedback แบบนี้ เพราะตัวเองก็เป็นคนสนใจสไตล์ในงานศิลปะอยู่แล้ว แล้วก็เป็นคนที่ค่อนข้างจะอยู่ในสำนักความเชื่อของ style with substance คือ สไตล์ก็เป็นเนื้อหาของตัวมันเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่เราคิดถึงภาพยนตร์หรือคิดอยากจะทำหนังสักเรื่อง เราก็จะเห็นภาพ เห็นสไตล์ของมันค่อนข้างชัดเจนด้วยเหมือนกัน คือไม่ใช่แนวธรรมชาติจ๋า ชอบปรุงแต่ง (หัวเราะ) ความฉูดฉาดมันก็มาจากคอนเซปต์ของหนังด้วยแหละ ไอเดียเกี่ยวกับโรงแรมม่านรูด ความเป็นต่างดาว ความเป็น sci-fi มันก็เปิดพื้นที่ให้กับการเล่นกับสี กับแสง กับการจัดฉากอะไรด้วย

บางคนอาจจะมีพรสวรรค์หรือว่ามีความรู้เยอะ แต่ว่าถ้าไม่ได้ให้เวลากับมัน สิ่งที่เขาสนใจมันก็จะกลายเป็นแค่ความสนใจอย่างเดียว

ทำไมถึงให้ ดุ่ย Two Million Thanks, Youth Brush กับมอร์ Ten to Twelve มารับบทในหนังเรื่องนี้

ดุ่ย เล่นเป็น ทศ เป็นพนักงานรับแขกอยู่ที่โรงแรม ดุ่ยเป็นคนที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าอยากจะชวนมาเล่น เพราะว่าตอนเราเจอดุ่ยก็รู้สึกเหมือนกันว่าเขาน่าจะเป็นตัวละครในหนังที่น่าสนใจ เขามีคาแรกเตอร์อะไรอยู่ในตัวเองที่น่าสนใจอยู่แล้ว แล้วพอดีเคยได้ดูหนังสั้นที่เขาเล่นของลาดกระบัง ก็รู้สึกว่าเขาเล่นได้ เขามีธรรมชาติของการแสดงอยู่ เขาเล่นเป็นเด็กแว้นซ์นิดนึง แต่ว่ามีบางพาร์ตที่เอาชีวิตเขามาใช้ มันก็มีส่วนที่เป็นตัวเขาอยู่เหมือนกัน ส่วนบทของมอร์เป็นบทที่สำคัญ เป็นอดีตดาราเด็กที่คิดว่าตัวเองสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวได้ เพราะฉะนั้นเขาคือตัวละครที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องที่จะเชื่อมโยงตัวละครตัวอื่น ๆ เข้าด้วยกัน บทนี้เป็นบทที่หาแคสติ้งยาก คิดถึงนักแสดงหลาย ๆ คนจนกระทั่งมาถึงมอร์ แล้วให้มอร์มาอ่านบท แล้วเราคิดว่ามอร์ทำได้ คุยกับมอร์แล้วมอร์ก็สนใจ จริง ๆ แล้วมันเป็นตัวละครที่อาจจะสามารถพลิกเปลี่ยนไปได้ตามนักแสดงที่มาเล่น แต่ว่าเดิมทีตัวละครตัวนี้จะเป็นคนที่อายุมาก ก็เหมือนกับเป็นอดีตดาราที่ตอนนี้ควรจะอยู่ในวัย 50 กว่า ๆ แล้วเราก็อยากจะได้คนที่มันมีความสมจริงประมาณนึงในแง่ของการเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในสังคม แต่ว่ามันยากมากในการแคสต์บทนี้ ได้มอร์มาก็ถือว่าโชคดี เพราะว่าเขาทุ่มเทให้กับมันมาก แล้วก็พยายามศึกษา inner ตัวละครจนเราตกใจเหมือนกัน เพราะว่าถึงแม้ว่าบทจะสำคัญ แต่เวลาจริง ๆ ที่เขามีอยู่ในหนังกลับไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับตัวละครอื่น แต่ว่ามอร์ก็ทุ่มให้เต็มที่ทีเดียว คือคุยไม่รู้เรื่องเลย เขาอินไปกับโลกของตัวละคร จนเขาไม่สื่อสารกับคนรอบข้าง (หัวเราะ) เจ๋งดี

ทำไมถึงเลือกไผ่ Plot กับเต๊นท์ Summer Dress มาทำเพลงประกอบ

เราเป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ก็มีความสนใจในการทำงานกับนักดนตรีอยู่ตลอดเวลา ตอนที่ทำหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงดนตรีประกอบหนัง หรือ soundtrack อะไรพวกนี้ หรือแม้กระทั่งเพลงที่จะอยู่ในหนัง ก็คิด ๆ อยู่ตลอดว่าจะชวนใครมาทำด้วยกันดี แล้วก็นึกถึง Plot เพราะเราชอบวง Plot คือเราก็เลือกจากความชอบของสิ่งที่เราได้ฟังโดยที่ไม่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัวมาก่อน แล้วก็ชอบเพลงของ Plot ในแง่ที่มันมีความเป็นพังก์อยู่ แต่เวลาคุยกับเขาเขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นนะ แต่สำหรับเรามันดูมีความเป็นพังก์แล้วก็มันคือ mood ที่เราต้องการในหนังเรื่องนี้เหมือนกัน คือไม่ใช่พังก์แบบดิบเถื่อน ไม่ใช่ยุค 70s แต่เป็นพังก์แบบร่วมสมัยหน่อย มีซาวด์ของอุปกรณ์สมัยใหม่ มีการบิดเสียง มีการปรุงแต่งอะไรบางอย่างด้วย แล้วก็ชอบเพลงของ Plot โดยเฉพาะเพลงที่อยู่ใน soundtrack ของ “Marry is Happy, Marry is Happy” เพราะมันแตกต่างมั้ง คือเราคิดว่าวงดนตรีไทยร่วมสมัยฝีมือดีหลาย ๆ วงมีเยอะมากในช่วงนี้ หมายถึงวงอินดี้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ว่าโดยคาแรกเตอร์แล้ว เรารู้สึกว่าความแตกต่างก็ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ โดยเฉพาะในแง่เนื้อหามันก็จะมีความป๊อปอยู่ ถึงแม้ว่าจะอินดี้ก็ป๊อป ในเชิงการสื่อสาร แต่ว่า Plot ไม่ใช่แบบนั้น เขามีความแปลกในวิธีคิดของการสื่อสารของเขา หรือว่าการเขียนเนื้อร้องเราก็สนใจ คือมันไม่ใช่ขนบแบบเดิม แต่ว่าในขณะเดียวกันมันก็ติดหูอะ มันป๊อปเหมือนกันในแง่ที่ทำให้เราสนใจและอยากฟังซ้ำ ก็เลยอยากลองคุยดูว่าสนใจไหม

บรีฟเขาไปยังไงบ้าง

เราก็แชร์เพลงที่เราชอบ หรือว่า soundtrack ที่เราสนใจ หรือเสียงที่เราคิดว่าควรจะอยู่ในหนัง มันก็มีทั้งเสียงจริง เช่น เสียงบันทึกของเสียงที่อยู่ในอวกาศ มันจะมี NASA ที่เขาบันทึกเสียงดวงดาวอะไรต่าง ๆ เสียงดาวหาง แล้วก็ส่งพวกดนตรีที่เราคิดว่าเหมาะกับเรื่อง แล้วบังเอิญว่าความสนใจก็ใกล้เคียงกัน หมายถึงดนตรีที่ชอบ ส่งไปให้ไผ่ ก็แปลกใจเหมือนกันว่าเราชอบฟังเพลงอะไรคล้าย ๆ กัน

ไผ่กับเต๊นท์บอกว่าอยากเอากลับมาแก้อีก

อ๋อ ใช่ ๆ คือช่วงที่จะต้องส่งหนังไปรอตเทอร์ดามมันมีเวลาน้อยมาก ก็สงสารเขาเหมือนกัน เขาเหมือนต้องกดดันว่าต้องทำงานเร็ว

img_3454

คิดไหมว่าหนังจะได้ไปส่งประกวดที่ต่างประเทศ

ไม่คิดครับ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าสำหรับเรายังอยู่ในขั้นเหมือนเป็นนักเรียน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่คิดว่าจะข้ามขั้นเร็วมาก หมายถึงว่าทำเรื่องนี้ออกมามันอาจจะเล็ก ๆ คนอาจจะดูไม่มาก แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่ม แล้วก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป แต่ว่าก็โชคดีตรงที่พอเกือบ ๆ จะทำเสร็จ โปรดิวเซอร์ก็ส่งไปที่เทศกาลหนังแห่งรอตเทอร์ดาม แล้วเขาก็เลือกให้มันเป็นหนังสายประกวดเลย ซึ่งเราก็แปลกใจเหมือนกันตอนนั้น แค่ได้ฉายในงานก็ดีใจแล้ว จริง ๆ คงเพราะบารมีของโปรดิวเซอร์มากกว่าเพราะเขามีประสบการณ์และมีหนังที่ส่งไปเทศกาลต่างประเทศเยอะแล้ว ก็ถือว่าเป็นโชคดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโชคดีที่มาเร็วไปหรือเปล่าไม่รู้ หมายถึงมันทำให้มีความคาดหวังบางอย่างในตัวหนัง

หนังแนวนี้จะขายได้เฉพาะเทศกาลหนังต่างประเทศหรือเปล่า

เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่า ณ สถานการณ์ตอนนี้มันเหมือนว่าจะเป็นแบบนั้น และคำว่าขายได้มันก็ไม่ใช่เงินด้วยนะ เหมือนได้ไปฉายตามเทศกาลต่างประเทศ แล้วดูเหมือนว่าคนทำหนังไทยรุ่นใหม่ที่เป็นสายเทศกาลก็จะเป็นที่รู้จักตามเทศกาล และในแวดวงต่างประเทศมากกว่าในเมืองไทยด้วยซ้ำ ซึ่งเราคิดว่ามันค่อนข้างจะผิดเพี้ยนนิดนึง แล้วก็จริง ๆ แล้วในอุดมคติของเราคือ ถ้าเราทำหนังไทย เราก็อยากให้มีคนดูที่เป็นคนไทย แล้วก็อยากให้หนังอิสระไทยสามารถอยู่ได้ด้วยคนดูที่เป็นคนไทยเพราะการฉายในเมืองไทยมากกว่า เพราะว่าระบบเทศกาลเนี่ยมันอาจจะได้ชื่อเสียง แต่ว่ามันไม่สามารถทำให้คนทำหนังมีอาชีพทำหนังได้อย่างแท้จริง มันเหมือนกับไปแสดงงานศิลปะมากกว่า คือบางคนที่เขาไปถึงจุดนึงเขาสามารถทำได้ เช่น พี่เจ้ย อภิชาติพงษ์ เขาสามารถอยู่ในระบบนั้นได้โดยที่ก็เป็นอาชีพจริง ๆ ได้ด้วย แต่ว่าเด็ก ๆ หรือคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ได้มี support ในการสร้างหนังได้สม่ำเสมอมันก็ยากมาก ถ้าเราสามารถทำให้ตลาดไทยเปิดกว้างสำหรับหนังอิสระไทยมากขึ้น มันก็จะดีต่อระบบ ดีต่อคนทำหนัง ดีต่ออนาคตของหนังไทยที่จะสามารถผลิตบุคลากรใหม่ ๆ ขึ้นมาได้มากกว่า

จะทำยังไงในเมื่อตอนนี้โรงหนังต่างจังหวัดหรือชานเมืองถูกผูกขาดด้วยหนังจากค่ายใหญ่เท่านั้น

จริง ๆ มันก็สะท้อนสภาพสังคมเหมือนกัน เพราะว่าอะไรหลาย ๆ อย่างในบ้านเรามันเหมือนกับว่าไม่มีพื้นที่พอสำหรับความหลากหลาย สตูดิโอทำหนังที่ประสบความสำเร็จก็มีไม่กี่สตูดิโอ เราว่ามันเป็นทัศนคติของคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือมองอนาคตแบบมีวิสัยทัศน์มากพอ เพราะถ้าพูดกันตามตรง หนังฮอลลีวู้ดเองก็ไม่ได้ทำรายได้ดีมากอีกต่อไปแล้วในบ้านเรา หนังไทยที่สตูดิโอไทยตั้งใจทำเพื่อจะขายแมส ก็ไม่ได้ขายดีหรือทำรายได้ดีอีกต่อไปแล้วเหมือนกัน บางเรื่องได้เป็นหลักหมื่น มันน่าตกใจที่คุณยังพร้อมจะลงทุนกับหนังที่ได้รายได้หลักหมื่น แต่ไม่สนับสนุนคนทำหนังอิสระ คุณลงทุนกับการ pr เป็นล้าน ๆ ให้หนังเรื่องนึงที่สุดท้ายไม่ได้อะไรกลับมาแถมยังขาดทุนด้วย แต่คนทำหนังอิสระขอเงินทำหนังล้านสองล้านไม่ได้ ระบบมันค่อนข้างจะผิดเพี้ยน ซึ่งมันเกิดจากผู้ที่ให้การสนับสนุนนั่นแหละ ถ้าเรามีคนที่มีวิสัยทัศน์ หรือว่าคนที่ให้โอกาสสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิด มันก็ย่อมต้องเกิดได้

การมาถึงของ Bangkok Screening Room พอจะเป็นความหวังใหม่ให้หนังทางเลือกของไทยได้ไหม

มันเป็นตัวเลือกของคนรักหนังมากกว่า ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นทางออกของอุตสาหกรรมได้ไหม แต่สำหรับคนชอบดูหนัง มันก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่เพิ่มสีสันให้กับสังคมไทยในตอนนี้ เพราะว่า ถ้าเราอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ ของโลกเช่นนิวยอร์ก โตเกียว ลอนดอน มันก็จะมีโรงหนังแบบนี้ที่ทำให้เราสามารถดูหนังหลากหลาย ดูหนังเก่า ดูหนังคลาสสิก หนังที่ออกจากโรงไปนานแล้ว ในบรรยากาศของโรงหนังได้โดยที่คุณไม่ต้องฟังกระแสของโรงหนัง multiplex ทั่วไป ซึ่งมันก็ดีในแง่นั้น มันทำให้เราได้ดู Hitchcock ตอนไหนก็ได้ ซึ่งก็รู้สึกดีใจนะที่กรุงเทพ ฯ มี ก็อยากให้เขาอยู่ได้ แล้วก็มีคนไปใช้บริการสม่ำเสมอ

img_3465

เห็นว่ากระแสตอบรับของ “Motel Mist” หลังจากโปรโมตในไทยดีมาก

กระแสตอบรับดีก็ดีครับ (หัวเราะ) มันดีแหละ แต่เรื่องแบบนี้มันมีสองความรู้สึกเสมอแหละ คือพอกระแสตอบรับดีแล้วเราก็มีความกดดันเหมือนกันว่า คนดูตื่นเต้นกับ trailer แต่พอไปดูหนังจริงแล้วจะรู้สึกยังไง คือมันก็มีความลุ้นแบบนั้นอยู่ แต่ก็ดีครับที่กระแสตอบรับดี

จากที่ไปฉายในเทศกาลเป็นยังไงบ้าง

มันก็จะมีทั้งคนที่ไม่ชอบเลย กับคนที่ชอบมาก แทบจะทุกที่จะเป็นปฏิกิริยาแบบนี้ เพราะตัวหนังมันค่อนข้างจะเป็นรสนิยมเฉพาะพอสมควร แล้วบางคนเขาก็จะรับไม่ได้เลยกับการที่จะต้องดูอะไรแบบนี้ เกือบ 2 ชั่วโมง คนไม่เก็ตก็เยอะ

วางแผนทำหนังเรื่องต่อไปหรือยัง

อยากทำ แล้วก็มีโปรเจกต์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำอยู่บ้าง แต่มันก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนมาก คือการทำหนังมันแปลก พอบทที่จะได้ทำปุ๊บก็จะได้ทำเลย บทที่จะต้องรอไปนาน ๆ ไม่รู้เมื่อไหร่ว่าจะได้ทำ อยู่ที่เรื่องทุนเป็นหลักเลย เพราะหนังเนี่ย แทบจะทุกคนที่อยู่ในวงการหนังอินดี้ที่เรารู้จักก็มีโปรเจกต์มากมายรออยู่ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ funding ก็จะเริ่มอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นได้ funding ปุ๊บมันถึงจะเป็นจุดเริ่มของทุกอย่าง

การทำหนังกับการเขียนหนังสือสนุกต่างกันยังไง

เขียนหนังสือมันเป็นโลกของเราเองที่เรากำหนดทุกอย่าง มันก็มีความน่าพึงพอใจในแบบของมัน มันเหมือนกับเราตอบสนองตัณหาของตัวเองได้เต็มที่ สมมติเรายังไม่พอใจ เราจะรอเวลาเพื่อให้มันพอใจเพื่อที่จะแก้มากแค่ไหนหรือจะเปลี่ยนมันไปยังไงก็ได้ มันขึ้นอยู่กับเราทั้งหมด แต่การทำหนังมันคือการทำงานกับทีม การต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันที่เราคาดเดาไม่ได้ มันเริ่มตั้งแต่แรกเลย ในทุกขั้นตอนของการทำหนังมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะฉะนั้นเราจะเดาไม่ได้เลยว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นยังไง และบางช่วงก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ด้วยเพราะมันผ่านไปแล้ว เช่น การถ่ายหนังเนี่ย พอเราถ่ายจบแล้ว โดยเฉพาะถ้าเราไม่มี budget ที่จะถ่ายซ่อม เราก็มีแค่วัตถุดิบที่เรามี เราไม่สามารถจะทำอะไรเพิ่มเติมจากนั้นได้อีกต่อไปแล้ว อะไรที่พลาดไปแล้วก็พลาดไปเลย เพราะฉะนั้นมันเป็นความท้าทายแบบนึง แต่เรารู้สึกว่า ณ จุดนี้ของชีวิตเราสนุกกับความท้าทายแบบนี้เหมือนกัน เพราะการทำงานศิลปะหรือเขียนหนังสือมันอยู่กับตัวเองตลอด มันก็เป็นอีกความรู้สึกนึงที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก และต้องบริหารเวลา ต้องบริหารความสัมพันธ์กับคนระหว่างทำงาน

เร็ว ๆ นี้จะได้อ่านงานของปราบดาอีกไหม

ในงานหนังสือนี่ก็จะมีไกด์บุ๊กแนะนำร้านหนังสือในนิวยอร์ก แต่ว่าถ้าเป็นนวนิยายหรือบทความที่จริงจังหน่อยก็น่าจะปีหน้า

แนะนำให้คนที่ยังไม่เคยอ่านงานปราบดาเริ่มอ่านเป็นเล่มแรก

“ฝนตกตลอดเวลา” มั้ง เพราะว่ามันมีส่วนผสมของความไร้เดียงสาของวัยหนุ่มกับการทดลองอะไรบางอย่างอยู่ คือมันก็ไม่ใช่เล่มที่เราชอบที่สุด แต่ว่าสำหรับคนที่เพิ่งเริ่ม เขาจะเก็ตเซนส์ของเราได้จากเล่มนี้พอสมควร มันก็มีการเล่นมุขตลกอะไรในแบบของเรา หรือว่าการทดลองกับโครงสร้างของการเขียนอะไรแบบนี้อยู่ในนั้น

แล้วชอบเล่มไหนที่สุด

ก็ไม่ได้มีเล่มที่ชอบที่สุดขนาดนั้น แต่เล่มที่รู้สึกสนุกที่ได้เขียนคือ “กระทบไหล่เขา” เป็นรวมเรื่องสั้น

สังคมสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่มีความแตกต่าง โดยที่มีการแบ่งแยก มีการถกเถียงและความไม่เห็นด้วยอยู่ตลอดเวลา และสังคมที่มีความแตกต่างต่างหากที่จะเป็นสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

*ต่อไปนี้เป็นคำถามจากแฟนคลับทางบ้าน* ยังฟัง Damien Rice กับ Nick Drake อยู่ไหม

Nick Drake ฟังบ้างครับ แต่ Damien Rice ไม่ค่อยได้ฟังแล้ว

ตอนนี้ฟังอะไร

ฟังไปเรื่อยเลย แต่ว่าก็เป็นคนที่พยายามจะลองฟังอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าใหม่ ๆ ที่ชอบล่าสุดก็อัลบั้มใหม่ของ Bon Iver แต่ทุกวันนี้ก็พยายามจะออกกำลัง เวลาเราออกกำลังก็จะฟังเพลงที่มันเหมาะกับการออกกำลัง ก็จะเป็นยุคเก่า Weezer, The Strokes เพื่อให้มันมีจังหวะหนัก ๆ หน่อย

คิดยังไงกับการที่ตัวเองเป็นต้นแบบการฟังเพลงของวัยรุ่นเมื่อหลายปีก่อน

เพราะเมื่อก่อนเคยเขียนคอลัมน์ลงในนิตยสาร MTV หรือเปล่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ฟังเยอะเท่ากับคนที่เขาเป็นคอดนตรีจริง ๆ อาจจะเป็นเพราะความชอบ คือความตื่นเต้นที่จะติดตามอะไรใหม่ ๆ มั้ง ก็ไม่ค่อยยึดติดกับยุคสมัยของตัวเองเท่าไหร่ เราก็ชอบแสวงหาอะไรใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วพอเจออะไรที่รู้สึกว่ามันอยู่กับเรา มันสื่อสารกับเราได้ เราก็พยายามที่จะแบ่งปันให้คนอื่น

ปราบดาเป็นไอดอลของคนอายุ 25 ขึ้นไป ตอนนี้มีคนที่อายุน้อยกว่านั้นอ่านงานของปราบดาไหม

ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็น่าจะมี อันนี้วัดจากงานหนังสือแล้วคนมาคุยด้วยหรือเด็กมาขอลายเซ็น เรารู้สึกว่างานเรามันจะถูกจริตกับคนอายุน้อยอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีคนอ่านส่วนใหญ่เป็นมัธยมปลาย หรือมหาลัยมากกว่าคนวัยอื่น ๆ คิดว่าเพราะตัวเนื้อหามันเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาวมากเป็นพิเศษ แม้แต่ตอนนี้ที่เราอายุ 40 กว่าแล้วเนี่ย เวลาเราคิดจะเขียนเรื่องอะไรบางอย่าง เรายังคิดถึงตัวละครที่อายุ 25 – 30 ไรงี้อยู่เลย เพราะฉะนั้นมันอาจจะเป็นการเชื่อมโยงกับคนหนุ่มสาวมากกว่า

ทำไม

เพราะเราไม่โตมั้ง (หัวเราะ) เรายังติดกับยุคนั้น มันเป็นวัยที่เข้มข้น โดยประสบการณ์ส่วนตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นวัยที่เราเรียนรู้อะไรเยอะ ลองผิดลองถูกเยอะ เป็นวัยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เป็นวัยที่ไม่แคร์เรื่องความถูกต้องอะไรเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัยแห่งการทดลอง และสำหรับเรา การทำงานศิลปะมันคือการทดลอง ถ้าเราหยุด ถ้าเราคิดว่านี่คือสุดยอดแล้วเราจะทำแต่สิ่งนี้ ทำซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ เราจะรู้สึกว่ามันไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรายังพูดถึงวัยหนุ่มสาว ยังพยายามรักษาความตื่นเต้นนั้นเอาไว้ มันช่วยในการทำงานเหมือนกัน

ติดตาม pop culture บ้างไหม

บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับฟัง คือเราจะไม่รู้ว่าเพลงไหนเป็นเพลงของใคร แต่บางคนอย่าง Drake เราก็จะรู้จักแล้วก็ชอบฟัง หรืออย่าง Justin Bieber เราก็โอเคนะ ล่าสุดเรายังชอบเพลง Love Yourself เลย แต่ไม่ถึงกับจะซื้อมาฟังนะ เพราะทุกวันนี้มันมี YouTube เราก็ฟังแค่นั้น ไม่ถึงกับติดตามความป๊อปมากเท่าไหร่

สังคมไทยเปิดกว้างขึ้นไหมในทุกวันนี้

เราคิดว่าบางทีเราอยู่ในโลกที่แวดล้อมไปด้วยคนคล้าย ๆ กัน คนที่สนใจอะไรคล้าย ๆ กัน เราจะไม่ค่อยเห็นภาพกว้างของสังคม เราอาจจะเห็นเพื่อน ๆ ของเราในเฟซบุ๊กแสดงออกแบบหนึ่ง แล้วเราจะรู้สึกเหมือนว่าสมัยนี้สังคมมันเปิดกว้างขึ้น คนพูดอะไรแรง ๆ ได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ได้ อาจจะเป็นแค่กลุ่มเพื่อนของเรา แล้วเวลาบางทีเราเห็นคนถูกโจมตีเยอะ ๆ จากสังคม เวลาที่มันมีประเด็นใหญ่ ๆ เช่น ประเด็นทางการเมือง ประเด็นเรื่องศาสนา ประเด็นที่มันล่อแหลมอะไรต่าง ๆ เราก็ยังเห็นคนที่ถูกโจมตีเยอะอยู่เหมือนกัน เพราะงั้นบางทีเราไม่สามารถตัดสินจากสิ่งที่เราเห็นจากสิ่งรอบข้างเราได้เท่าไหร่ว่าอะไรมัน controversial อะไรมันโอเค เราอาจจะอยู่ในแวดวงที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างที่จะเสรีนิยม ก็พูดอะไรก็ได้ แสดงออกแบบไหนก็ได้ เราเป็นคนที่ไม่อ่อนไหวง่ายกับการแสดงออกของคนอยู่แล้ว แต่คนอื่นเขาอาจจะอ่อนไหวก็ได้

ความคิดอะไรที่ล้าหลังที่สุดที่เคยเจอมาในตอนนี้

มันแทบจะทุกวันเลยนะ (หัวเราะ) เราคิดว่าสังคมไทยยังเข้าใจว่าความสุขสงบคือต้องมีความเหมือนกัน คำว่าสามัคคีแปลว่าคนต้องเชื่อแบบเดียวกัน ทำแบบเดียวกัน และความแตกต่างหรือความแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายคือปัญหา คือวิกฤต ซึ่งเราคิดว่าสำหรับเรามันเป็นมุมมองที่ผิด เป็นทัศนคติที่ผิด เราคิดว่าสังคมสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่มีความแตกต่าง โดยที่มีการแบ่งแยก มีการถกเถียงและความไม่เห็นด้วยอยู่ตลอดเวลา และสังคมที่มีความแตกต่างต่างหากที่จะเป็นสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันเหมือนกับมีแรงเสียดทานเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไอ้ความพยายามของคนบางกลุ่ม หรือของผู้มีอำนาจในสังคมเราที่พยายามจะทำให้สังคมนิ่ง หรือทำให้ทุกคนอยู่ในฟอร์มเดียวกัน บล็อกเดียวกัน เราคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมล้าหลังแล้วก็ตายไปในที่สุดมากกว่า

อยากบอกอะไรกับตัวเองตอนอายุ 25

ไม่บอกอะไร ให้มันงง ให้มันหาเอง เพราะตอนอายุ 25 เรายังไม่กลับมาเมืองไทย แล้วเราไม่เห็นอนาคตด้วยว่าอนาคตตัวเองจะเป็นยังไง เมื่อกี้คิดว่าหรือจะบอกว่าอย่ากลับมาเมืองไทย (หัวเราะ) แต่ว่า คิดอีกทีเราคิดว่าดีแล้วที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้นแบบที่มันเป็น เพราะฉะนั้นอย่าให้รู้อะไรเลย

ปราบดาทำงานได้หลายอย่างมาก มีอะไรที่ทำได้อีกแต่คนอื่นยังไม่รู้

ไม่มีนะ ทุกอย่างมันเป็นงานหมดแล้ว เพราะเวลาเราอยู่บ้านก็ทำงานอย่างเดียว

มีโอกาสจะได้ฟังเพลงจากปราบดาอีกไหม

คงอีกนานเลยครับ เพราะว่าดนตรีเป็นสิ่งที่เราทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องชักชวนคนที่เห็นอะไรคล้าย ๆ กันหรือชอบอะไรคล้าย ๆ กันมาทำ ซึ่งมันยากที่จะเจอคนที่อยากมาทำงานร่วมกับเราขนาดนั้น

img_3451

ทิ้งทายถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังตามหาตัวเอง

พูดเฉพาะกับคนที่มีความสนใจอย่างชัดเจน เพราะว่าคนที่กระจัดกระจายอะ เราบอกไม่ได้หรอก ชีวิตเขามันเป็นเรื่องของเขา แต่สำหรับคนที่มีความสนใจชัดเจน เช่น สนใจภาพยนตร์มาก ๆ สนใจดนตรีมาก ๆ สนใจงานเขียนหรือวรรณกรรมมาก ๆ จากประสบการณ์ของเราและสิ่งที่เห็นจากคนรอบตัวและจากตัวเอง คือ ถ้าคุณจริงจังกับมัน ถ้าคุณทุ่มเทเวลาให้กับมันจริง ๆ และถ้าคุณสนใจมันจริง ๆ เนี่ย วันนึงคุณจะได้อะไรคืนจากมันแน่ ๆ มันไม่ค่อยมีใครที่จริงจังแล้วไม่ประสบความสำเร็จในทางใดทางนึงเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นคือต้องทุ่มเทเวลาให้กับมันจริง ๆ ด้วย บางคนอาจจะมีพรสวรรค์หรือว่ามีความรู้เยอะ แต่ว่าถ้าไม่ได้ให้เวลากับมัน สิ่งที่เขาสนใจมันก็จะกลายเป็นแค่ความสนใจอย่างเดียว

“Motel Mist โรงแรมต่างดาว” จะเข้าฉายในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

 

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้