Article เห็ดนอกใจ

He, Art, Psychotherapy พื้นที่ดี ๆ จาก โดม Summer Stop ที่อยากให้จิตบำบัดเป็นเรื่องใกล้ตัว

ในแวดวงดนตรี พวกเราส่วนใหญ่จะคุ้นกับ โดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ ในฐานะมือกลองของวง Summer Stop จากค่าย Smallroom แต่จากในสัมภาษณ์ล่าสุดของวงทำให้เราค้นพบว่า โดม มีอีกบทบาทเป็นนักจิตวิทยาที่ทำงานกับเด็กพิเศษ และการจัดปาร์ตี้ Dome Fest ก็เป็นการเลี้ยงส่งที่เขาจะไปเรียนต่อที่ Goldsmiths, University of London มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในหลักสูตรปริญญาโทของ Art Psychotherapy หรือการทำศิลปะบำบัด ซึ่งต่อมาเขาก็เปิดเพจ He, Art, Psychotherapy ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ ถึงการพูดเรื่องยาก ๆ ในเชิงจิตวิทยาให้ดูเข้าใจง่าย

เราถือโอกาสที่โดมกลับมาเมืองไทย ถามไถ่ชีวิตนักเรียนป.โท นักจิตบำบัด ต่างกับจิตแพทย์ และนักจิตวิทยายังไง รวมไปถึงความตั้งใจสำคัญที่เขาอยากจะเปลี่ยนมุมมองว่า ‘จิตบำบัด’ เป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่ได้น่ากลัวที่จะไปปรึกษาหากเรามีเรื่องไม่สบายใจ

He, Art, Psychotherapy

ช่วงนี้ต้องกลับมาไทยเพราะ covid-19 หรอ

เปล่า ไส้ติ่งแตกที่นู่นแล้วติดเชื้อ (หัวเราะ) ต้องอยู่โรงพยาบาล 21 วัน ขาดเรียนเกินก็เลยต้องดรอป กลับมาไทยตั้งแต่ต้นมีนาก่อน covid-19 ระบาดพีค ได้ซักสองอาทิตย์ พอกลับมาเขาก็เละเลย ถือว่าเป็นโชคดีในโชคร้าย

ไปเรียนที่นู่นเจอบรรยากาศอะไรใหม่ บ้าง

ตอนแรกเราไปเรียน Pre-Masters เจอแต่เอเชียน เรียนภาษา ปรับพื้นฐาน เรียนปรัชญา post modern อะไรด้วย ก็ตื่นเต้นดี ตอนเปิดเทอมจริงก็ตื่นเต้นเพราะว่าคนส่วนใหญ่เขามี background มาจากทางศิลปะ เป็นครูศิลปะ เป็นศิลปิน ทำงานศิลปะมาก่อน แต่เรามาจากจิตวิทยา ซึ่งในการเรียนต้องทำงานศิลปะเยอะ พอเอางานมารวมกันตรงกลาง ก็จะเห็นความแตกต่างว่างานเราช่างเด็กน้อยเหลือเกิน (หัวเราะ)

ทำไมต้องเรียน post modern

การเรียนที่ Goldsmiths เขาค่อนข้างเน้นการวิพากษ์ เราได้เรียน Roland Barthes, Michel Foucault กับนักปรัชญาอีก 4-5 คน เรียนประเด็นสังคม เพราะเขาน่าจะเจอนักเรียนเอเชียนมาหลายรุ่น แล้วเขาก็น่าจะรู้ว่าเอเชียนไม่ถนัดวิพากษ์ เขาเลยจับมาปูพื้นฐาน เอาไอเดียมาแชร์ ฝึกให้ต้องฟังคนอื่น ก็เป็นการเรียนภาษาผ่านการเรียนแบบวิพากษ์ด้วย 

การเรียน Art Psychotherapy เหมาะกับ ‘คนที่คนทำงานศิลปะ แล้วสนใจจิตวิทยา’ หรือ ‘คนที่เรียนจิตวิทยา แล้วอยากใช้ศิลปะเข้ามารักษา’ มากกว่ากัน

พูดยากว่ามันเหมาะกับคนที่มี background ไหนมาก่อน เพราะอย่างที่เขารับก็มีคนทั้งสองทางมา คิดว่าไม่มีอันไหนเหมาะกว่าอันไหน แต่ที่เรียนหลัก ๆ คือการใช้ศิลปะเข้ามาบำบัด

การบำบัดโดยทั่วไปใช้การพูดคุยเป็นการสื่อสารเป็นหลัก แต่ศิลปะบำบัดคือการใช้ศิลปะเข้ามาสื่อสารเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นตอนเราไปฝึกงาน ขั้นแรกที่เราเจอตอนทำศิลปะบำบัด ไม่ใช่ไม่พูดคุยกันเลยนะ ก็มีการทำความรู้จัก สร้างปฏิสัมพันธ์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่พอเริ่มจะเข้าเรื่อง เริ่มบำบัด เราก็บอกเขาว่าจะทำอะไรก็ได้กับวัสดุที่วางอยู่บนโต๊ะ จะทำเละ จะปา เราก็ไม่ได้ห้าม เต็มที่เลย แล้วรอดูว่าเขาทำอะไร แล้วเราก็มาคุยกัน

การทำงานศิลปะบำบัด มันจะมีสามเหลี่ยมของมัน มีผู้บำบัด ผู้มารับการบำบัด และงานศิลปะ เราทำงานกับความสัมพันธ์แรก คือระหว่างคนที่มาบำบัด กับงานศิลปะของเขา เราดูว่าเขาเชื่อมโยงมันยังไง ระหว่างที่เขาสร้างงานเขามีปฏิสัมพันธ์ยังไงกับของ ใช้อุปกรณ์อะไร ใช้ยังไง เกิดอารมณ์ยังไง มีพฤติกรรมอะไรบ้าง

ต่อมาคือเขากับเรา ระหว่างพูดคุยเขาเป็นยังไง อากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง หรือว่าระหว่างที่เขาสร้างงาน เขามีปฏิสัมพันธ์อะไรกับเราไหม ทำไปพูดไป ทำแล้วหยุด แล้วมาคุยกับเรา หรือทำแล้วไม่สนใจเรา

อีกอันคือระหว่างเรา กับงานของเขา เวลาเราดูงานเขา เราเกิดความรู้สึกอะไร แต่มันจะไม่ได้ตีความง่ายหรือตรงไปตรงมาขนาดนั้น คือการที่เราดูงานเขาแล้วรู้สึกเศร้า มันอาจจะไม่ใช่การที่เขาบอกเราว่าเขาเศร้า มันจะมีสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจว่า เรารู้สึกเศร้ากับงานเพราะอะไร หรือว่าเขาพยายามจะสื่ออะไร ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจตรงนี้

สามเหลี่ยมตรงนี้เราอาจจะไม่ได้สังเกต หรือให้น้ำหนักเท่ากันตลอดทุกครั้ง บางอันมันเด่นขึ้นมา เราก็จะดูตรงนั้นเป็นหลัก สมมติบางคนเขาปฏิสัมพันธ์กับงานเด่นชัดมาก ทำไปจิกหัวไป หรือเขวี้ยงสี ซึ่งมันชัดเจน เราจะทำงานกับตรงนี้ได้ บางคนทำไปพูดไปกับเรา เล่าทุกอย่างให้เราฟัง มันก็จะเด่นขึ้นมา เราต้องอาศัยประสบการณ์ว่า ลักษณะไหนที่เราควรจะให้น้ำหนักกับอะไร

การเพิ่มศิลปะเข้ามาเป็นตัวช่วยตีความอาการ ยากหรือง่ายกว่าการบำบัดตามปกติ

รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากกว่า แต่มันเป็นคนละแนวทางกัน เหมือนเป็นอีก tool นึงมากกว่าว่าเราจะเลือกใช้กับใคร สมมติเราถามบางคนว่าคุณรู้สึกยังไง’ เขาอาจจะอธิบายไม่ถูก แต่ถ้าลองบอกให้เขาทำอะไรก็ได้กับอุปกรณ์เหล่านี้ ให้เกิดภาพอะไรก็ได้ แล้วเขาถ่ายทอดออกมาได้ง่ายกว่า ศิลปะบำบัดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจจะเหมาะกับคนประเภทนี้ คือมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน

เห็นว่าศิลปะบำบัดต้องมาย้อนดูการตีความความรู้สึกของตัวเองกับงานศิลปะด้วย แบบนี้เคยสับสนกับตัวเองไหม

เรื่องแบบนี้มันมีคำที่เรียกว่า ‘countertransference’ คือการที่ สิ่งที่ผู้มารับการบำบัด เอามาปรึกษากับเราปกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึก เช่น เขาเพิ่งเลิกกับแฟนเพราะแฟนมีชู้ แล้วเราเคยมีประวัติว่าแฟนมีชู้เหมือนกัน เวลาบำบัดเราอาจจะมีความรู้สึกร่วม ก็จะเกิดอคติ ทำให้ทำงานต่อไม่ได้ ซึ่งถ้าเราจัดการตัวเองไม่ได้ก็ต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่นทำ

ทำไมถึงสนใจศิลปะบำบัด

ตอนปริญญาตรีเราเรียนจิตวิทยา ปี 1 ก็เรียนวิชาบังคับทั่วไป จนปี 2 ที่เขาให้เลือกสายเฉพาะทาง เราก็เลือกจิตวิทยาคลินิก มันก็จะได้เรียนเรื่องความผิดปกติของอาการทางจิตต่าง ๆ การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา การทำจิตบำบัด การให้คำปรึกษาอะไรแบบนี้ และที่สนใจเป็นพิเศษคือการทำแบบทดสอบเนี่ยแหละ การทำแบบทดสอบมันมีสองแบบ คือ objective test กับ projecttive test ที่สนใจมาก คือ projective test กับการทำจิตบำบัด

Objective test คือเทสต์แบบมีสเกลวัด มีผลลัพธ์ตายตัว เอาคำตอบมารวม ๆ กันแล้วรวมคะแนน เอาคะแนนที่ได้มาแปลผล พอนึกออกป่ะ เช่นพวก MBTI (16 personalities)

Projective มันคือ ‘การฉายออกมา’ projective test มันมีแบบทดสอบแบบให้วาดรูป แล้วเรามาวิเคราะห์รูปที่เขาวาด มันก็จะมี HTP หรือ ‘house tree person’ วาดรูปคน บ้าน ต้นไม้ เราเอารูปเหล่านั้นมาวิเคราะห์ความหมายว่ามันคือยังไงบ้าง แล้วก็มีอันที่มีรูปมาให้ดู แล้วเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรูปนี้ แล้วเราเอาเรื่องที่เขาเล่ามาวิเคราะห์ ก็รู้สึกว่ามัน amazing มาก ตอนอาจารย์ทำให้ดูเราก็แบบเชี่ย มันได้อย่างงี้เลยหรอ’ จนเราเริ่มเชื่อว่า สิ่งที่เราพูดออกมาจริง ลึก แล้วมันมีบางอย่างซ่อนอยู่

ส่วนจิตบำบัดมันเป็นอะไรที่เปิดโลกมาก เรื่องการฟัง การพูดคุย การตั้งคำถาม วิธีที่เราใช้ในการทำความเข้าใจมนุษย์ คนบุคลิกต่าง ๆ หรือเวลาเราอยากจะทำความเข้าใจคนคนนึง มันมีวิธีอย่างนี้อยู่นะ ซึ่งมันได้ผล และมันแตกต่าง ที่ผ่านมาเราไม่รู้เลย คิดว่าแค่สื่อสารกัน พูดคุยกัน ก็โอเคแล้ว เรามาเรียนรู้ตอนอายุ 18-20 ว่าที่ผ่านมาเราสื่อสารด้วยวิธีอื่นมาตลอดเลย ก็เริ่มสนใจนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ตอนเรียนปี 3 อาจารย์เชิญวิทยากรมา เป็นสาย expressive arts therapy ก็จะมี art therapy, music therapy, drama แล้วก็ dance and movement มาครบทั้ง 4 สาย จัดเวิร์กช็อปให้นักศึกษาจิตวิทยาคลินิกเนี่ยแหละ และเราค้นพบว่า 4 อันนี้มันน่าสนใจมาก และรู้สึกว่าได้ผลมาก มันมีกิจกรรมให้เราทำศิลปะ เล่นดนตรี การเคลื่อนไหว หรือเล่นละคร เราทำสิ่งต่าง เหล่านี้โดยไม่ได้คิดอะไรหรือให้ความหมายอะไร แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เราทำมีความหมายซ่อนอยู่ โดยที่วิทยากรเหล่านั้นเขาสามารถดึงมาได้ว่า เราเป็นอย่างนั้น รู้สึกอย่างงี้รึเปล่า แล้วมันใช่ เราเลยรู้สึกว่าในกระบวนการแสดงออกเหล่านี้มันมีความหมายบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งมันสามารถเอามาทำงานให้เกิดความเข้าใจในตนเองได้ และสามารถช่วยเหลือคนได้

จริง เราเลยเชื่อทั้ง 4 แขนงหมดเลย แต่เราก็มาสายดนตรี เลยสนใจดนตรีบำบัด แต่พอไปดู requirement ของมหาลัยต่าง ที่เขาจะรับ ส่วนใหญ่เขาต้องการคนที่เป็นนักดนตรีจ๋า สกิลจัด เขาจะให้เรารู้ทฤษฎีดนตรี รู้คีย์ ให้เล่นเปียโน ให้เล่นกีตาร์แบบสามารถถอยเบสได้ แล้วก็เล่นเครื่องใดเครื่องหนึ่งพร้อมร้อง ให้เล่นเครื่องเอกของตัวเองอีกเครื่องนึง แล้วก็ให้ improvise เปียโน หรือกีตาร์เนี่ยแหละ ก็รู้สึกว่าถ้าเราจะมีคุณสมบัติตรงกับที่เขาต้องการได้จะกินเวลาค่อนข้างนาน แล้วตอนนั้นเราก็มีหลายอย่างที่ต้องทำ ซึ่งถ้าให้แบ่งเวลาไปฝึกก็ค่อนข้างยาก เลยลองมาดูสายอื่นที่เราเวิร์กช็อปวันนั้น ก็เลยตัด movement กับ drama ไป เพราะมองไม่ออกว่าเราจะใช้ร่างกายยังไง

พอมาที่ art รู้สึกว่าทำได้ บางที่ก็อยากได้คนที่ทำงานศิลปะเป็น แต่บางที่เขาไม่ได้ต้องการคนที่มี background ด้านศิลปะมาก่อน บางที่บอกเลยว่ายิ่งไม่มีสกิล ไม่มีความรู้มาเลยยิ่งดี เพราะบางคนที่เรียนศิลปะมาแล้ว จะมีชุดความคิด ความรู้อะไรที่ตั้งต้นมาแล้ว พอมาเรียนอีกศาสตร์อาจจะปรับ mindset ได้ยากกว่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาโฟกัสที่ art therapy ก็เริ่มหา และเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัดสินใจเบนจากดนตรีบำบัดมาเรียนอันนี้

แต่ตอนเราเลือก Goldsmiths เราก็ไม่รู้ว่าเขาดังด้านนี้ แต่ตอนเขาพาเราไปดูงาน เพื่อไปคุย ไปถามคนที่ทำงานจริงในสถานที่ต่าง ๆ เช่นโรงพยาบาล สถานกักกัน โรงเรียน ว่าการทำงานใน setting นั้น ๆ เป็นยังไง เพื่อเราจะได้รู้ว่าควรพัฒนาตัวเองเพื่อไปทำงานที่ไหน พอไปถึงเขาก็จะถามว่าเป็น trainee หรอ มาจากไหน พอบอกว่ามาจาก Goldsmiths ทุกคนจะทำหน้าแบบ อื้มมมม (หัวเราะ) เขาบอก ที่นี่โหดนะ คือถ้ามีที่เดียวบอกแบบนี้ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ feedback เป็นแบบนี้เกือบทุกที่ เราก็คิดว่า คงมาถูกที่แล้วแหละ

พอไปดูงานมาแล้ว อยากไปทำงานที่ไหน

ความตั้งใจแรกอยากไปทำงานกับคนซึมเศร้า เพราะรู้สึกว่าคนก็เป็นกันเยอะ แต่มันก็เป็นหมวดนึงของ mood disorder ถ้าไปคงได้ทำทั้งหมด มีพวก bipolar นู่นนั่นนี่ด้วย ก็อยากทำทั้งหมดแหละ คือความตั้งใจแรกอยากมีความเข้าใจ ชำนาญในการทำงานกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แล้วพอเริ่มมานั่งคิด ถ้านอกจากกลุ่มนี้ก็อยากทำกับกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative) พวกที่เขารู้อยู่แล้วว่าเขากำลังจะไป แล้วก็อยากทำกับครอบครัว ตอนแรกเขียนไปเป็น mood disorder กับ family แล้วที่เราได้ไปฝึกก็ไปที่โรงเรียน ทำกับเด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ ได้ทำไปเกือบสองเดือน ก็ไส้ติ่งแตก (หัวเราะ) ยังไม่ได้อะไรเยอะ แต่ก็ได้เห็นภาพของการได้เข้าไปเป็นนักศิลปะบำบัดในโรงเรียน มันเริ่มยังไง เราจะปฏิสัมพันธ์กับเด็กยังไง ใช้อุปกรณ์ยังไง

แล้วการเรียนที่ Goldsmiths โหดอย่างที่เขาบอกไหม

ความหนักของคอร์สไม่ได้หนักในปริมาณงาน หรือเนื้อหา ทุกมหาลัยในอังกฤษสายนี้จะเรียนคล้าย กัน คือมีเลคเชอร์ มีฝึกงาน มีสิ่งที่เรียกว่า experiential group คือทำกลุ่มบำบัดกันเองในกลุ่มนักศึกษา แล้วมีอาจารย์คอยเป็น facilitator เหมือนมานั่งคุยกันว่าเป็นยังไง เจออะไรมา มาสร้างงานศิลปะกัน แล้วมาคุยกัน มี reading group มี supervision group แค่นี้เลย ทำไปเหมือนเดิม 2 ปี แต่ที่หนักคือการทำงานกับตัวเอง

การทำงานกับตัวเองคือเราต้องสะท้อนตัวเองตลอดเวลา เขาจะฝึกให้เราอยู่กับความรู้สึกตัวเองให้ได้ ไม่ว่าเราจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา อย่างเช่น ตอนฝึกงาน คณะจะส่งไปที่ต่าง ๆ ก็จะมีคนที่ได้ที่ฝึกแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่ได้จะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจว่า ‘ทำไมฉันยังไม่ได้’ ก็ถามไปที่อาจารย์ อาจารย์จะตอบกลับมาว่าอืม แล้วรู้สึกยังไงล่ะ’ (หัวเราะ) กูต้องการคำตอบ แต่ดันได้คำถามว่า ‘How does that make you feel? Stick with your feelings.’ เขาบอกให้ trust the process ขบวนการมันจะเป็นยังไงก็ให้เป็นไปตามนั้น สุดท้ายแล้วมันก็จะได้ เพราะเรื่องฝึกงานมันมี timeline ของมัน แต่ตอนนี้ยังไม่ถึง deadline แล้วตอนนี้รู้สึกยังไง อะไรทำให้คุณรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ

โชคดีที่เราเป็นคนที่ความรู้สึกเราค่อนข้างจะนิ่ง คือขึ้นก็ขึ้นนิด ลงก็ลงนิด ไม่ได้สวิงอะไรมาก เลยไม่ได้มีปัญหากับสถานการณ์ต่าง มาก จะมีก็มีเรื่องภาษา ความประหม่าที่ต้องไปพูดต่อหน้าคนหลาย คน เวลาต้องพูดถึงงานศิลปะตัวเอง หรือว่าเวลาต้องโชว์งานศิลปะในช่วงแรก แบบ เห็นงานคนอื่นแล้วมาดูงานตัวเอง แม่งเอ๊ยยย งานเด็กประถม แต่เราก็รู้สึกว่า เขารับมาแล้วก็แปลว่าเราเรียนได้ดิวะ อันนี้คือพอร์ตที่เราส่งไป

คือเรากำลังจะไปเรียน แล้วรู้จักพี่ที่เป็นนักศิลปะบำบัดคนนึง เขาเคยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลมนารมย์ เราก็ถามเขาว่ามหาลัยอยากให้ส่งพอร์ตผลงานไป แต่เราไม่มี background ศิลปะ ไม่มีผลงานอะไรเลย เขาต้องการสกิลแค่ไหน พี่เขาก็บอกว่า จริง เขาไม่ได้ต้องการสกิล เขาต้องการเห็นว่าเรา relate กับศิลปะยังไงมากกว่า แล้วพี่เขาเลยเสนอว่า มาทำ self-reflect session ไหม เดี๋ยวเขาทำให้ฟรี เราก็เลยไป อันนี้ก็เป็นผลงานที่เกิดจากการทำศิลปะบำบัด reflect ยังไง เช่น เขาจะถามว่า รู้สึกยังไงกับส่วนต่าง ของร่างกาย ให้ระบายสี แล้วเล่า

อันนี้อยู่ใน session ให้วาดรูปผู้ชายกับผู้หญิง เราค่อนข้างมีความเข้าใจประมาณนึงว่าเราจะสื่อยังไงก็ได้ ผู้ชายผู้หญิงไม่ต้องวาดเป็นคนก็ได้ รู้สึกยังไงมันก็ออกมาทางนี้

อันนี้นอก session มาทำเอง เรารู้สึกยังไงก็พยายามทำไปเลย ตอนนั้นรู้สึกเบื่อ กังวล เครียดเรื่องเรียนต่อเนี่ยแหละ เราเห็นกระดาษอยู่ใกล้ มีดินสอ รู้สึกยังไงก็ทำไปเลย แล้วเขียนอธิบายว่ามันเกิดจากอะไร

จากพอร์ตพวกเนี้ย เราก็ส่งไป เขาไม่ได้ต้องการให้เราเขียนวิเคราะห์ว่าเรา reflect อะไรได้จากภาพ แต่เราเขียนไปด้วย เราเลยคิดว่าส่วนที่เขารับเราเข้าไปเรียนมาจากส่วนที่เราเขียนไป จะได้รู้ว่าเรา relate กับงานตัวเองยังไง สามารถ reflect ตัวเองผ่านงานศิลปะได้ไหม

เปิดเพจ He, Art, Psychotherapy มานานหรือยัง

เปิดธันวาคม 2019 แต่มาเริ่มจริงจังคือมกราคม 2020 เริ่มใช้ความคิดมากขึ้นกับเพจ จุดประสงค์เพราะว่าเราก็คงจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ แล้วก็อยากเผยแพร่ความรู้ ทำให้คนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาและนักจิตบำบัดมากขึ้น ถ้าเขาได้ความรู้แล้วก็เอาไปปรับใช้ได้ มันก็จะเป็นผลดี เราพยายามทำให้มันเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ต่างกับเพจจิตวิทยาอื่น ยังไง

เราพยายามเอาเรื่องวิชาการมาเขียนให้เข้าใจง่ายที่สุด ตั้งใจใช้ภาษาพูด หลายคนมาบอกว่าเพจอ่านง่ายมาก รุ่นพี่ที่ทำงานในวงการคอนเทนต์ หนังสือ เขาจะบอกว่า เขียนเรื่องพวกนี้ แต่มันอ่านง่ายเนอะ ก็เป็นความตั้งใจของเรา ตอนแรกพอเราไม่รู้ feedback ก็ไม่รู้ว่าประมาณไหน แต่พอรู้ก็คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นความแตกต่างจากเพจอื่น เหมือนอันนี้เป็นความตั้งใจแรก และเราสามารถทำได้ตามที่คิดไว้

เลือกประเด็นมาเขียนยังไง

พอมองย้อนกลับไปรู้สึกว่าคอนเทนต์ที่เขียนแรก ค่อนข้างลึก เช่นการวิเคราะห์ภาพศิลปะ หรือ Freudian psychodynamic theory มันเป็นทฤษฎีนึงของจิตบำบัด เอาเรื่องยาก มาเชื่อมโยงให้ใกล้ตัวที่สุด เอามาชี้ให้ดูว่ามันเกี่ยวข้องกับเรายังไง เอาไปใช้กับอะไรได้บ้าง แต่คนก็ยัง relate ได้ยาก

คอนเทนต์หลัง เลยปรับดู ลองเขียนเรื่องง่าย แมส เช่นความเศร้าจากการสูญเสีย มันมีทุกคน แล้วเอามาเขียนยังไงให้มันเกิดประโยชน์ที่เขาจะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง มันก็จะมีวิธีจัดการขั้นพื้นฐานว่าจะทำยังไงได้บ้างถ้าเราเจอคนที่เพิ่งสูญเสียคนรัก หลัง มันก็ค่อนข้างจับต้องง่ายกว่า ใกล้ตัวมากกว่า นี่ก็สังเกตได้จากยอดแชร์ว่ามันเพิ่มขึ้น

He, Art, Psychotherapy

จิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยา ต่างกันยังไง

จิตแพทย์ คือเรียนหมอ แล้วไปต่อจิตเวช การทำงานของหมอคือวินิจฉัยโรค บอกแนวทางการรักษาว่ารักษายังไงต่อ แล้วก็สั่งยาเป็นหลัก แต่หมอบางคนก็สามารถทำจิตบำบัดด้วยได้

นักจิตวิทยาคลินิก คือเรียนจิตวิทยา แล้วไปสอบใบประกอบโรคศิลปจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาทำจิตบำบัด ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา

นักจิตบำบัด จะเน้นทำจิตบำบัดอย่างเดียว จะเป็นสายไหนก็เฉพาะทางไป อย่างเราเป็นนักจิตบำบัดโดยใช้ศิลปะบำบัด ก็จะเฉพาะทาง

ในไทยไม่มีปริญญาทางจิตบำบัด แต่เมื่องนอกมี เขาจะแบ่งชัดเจนว่า คนนี้เป็นนักจิตบำบัดเฉพาะทางไหน ในไทยค่อนข้างครอบจักรวาล นักจิตวิทยาคลินิกทำได้ทุกอย่าง จะไม่ค่อยได้ยินคำว่านักจิตบำบัด นักจิตบำบัดจะต้องไปเรียนโทต่อเฉพาะทาง อย่างเช่นเราเป็นต้น

ทั้งหมดก็คือทำงานร่วมกัน ถ้าไปโรงพยาบาล ด่านแรกที่เจอคือหมอ จะวินิจฉัยบอกว่าเราเป็นอะไร ป่วยหรือเปล่า ป่วยแบบนี้ต้องรับการรักษาแบบไหน ยาอย่างเดียว ยาควบคู่การบำบัด หรือบำบัดอย่างเดียว ถ้าเขาบอกว่ามีบำบัด ก็จะส่งมาปรึกษาว่าคนไข้เป็นแบบนี้ เหมาะกับการบำบัดแบบไหน

การจะเป็นนักจิตบำบัด ต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง

ต้องรู้ทฤษฎีก่อนนะ แล้วก็คุณลักษณะต้องฟังเป็น ถามเป็น มีความมั่นคงในอารมณ์ แยกเรื่องเขากับเรื่องเราให้ออก เก็บความลับได้ หลัก น่าจะประมาณนี้

 

มาฝั่งผู้ต้องการได้รับคำปรึกษาบ้าง เมื่อไหร่ที่เราควรจะไปปรึกษา

มันจะมีตำรา หนังสือ คู่มือบอกเลย ว่าอันนี้ป่วยละ ถ้าป่วยก็ควรต้องไป แต่เคสคนทั่วไปที่ไม่ได้หนัก ไม่ได้ป่วย แล้วมาถามว่าเท่านี้ไปได้หรือยัง ก็เหมือนบางคนที่ปวดหัวนิดเดียวก็อาจจะไปหาหมอหรือกินยาแล้ว แต่บางคนไมเกรนขึ้น อาจจะคิดว่า ไม่ต้องไปหาหรอก แค่นอนพักเดี๋ยวก็หาย

ดังนั้นการไปรับบริการนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกว่าอยากไป ไม่ติดเงื่อนไขทางการเงินหรือเวลา ก็ไปได้เลย ไม่ต้องรอให้เป็นหนัก สติแตก ถึงจะไป ถ้ารู้สึกว่ามันมีเรื่องอะไรที่จัดการไม่ได้ มีสภาวะอารมณ์ที่คั่งค้างมา 1-2 อาทิตย์ ก็ไปเลยไม่ต้องรอให้หนักกว่านี้ อย่าไปคิดว่าคนอื่นเขาเจอแบบเดียวกัน เขายังจัดการเองได้เลย แต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน เรื่องไหนใครรับได้มากกว่า ดูที่ตัวเองแหละ มันไม่มีเส้นแบ่งตายตัวว่า 5 วันไปต้องไป 7 วันแล้วไปเถอะ อยากไปก็ไปได้เลย

รู้สึกยังไงที่สมัยก่อน การไปรับคำปรึกษาเป็นสิ่งที่คนไม่กล้า แต่คนสมัยนี้เห็นเป็นเรื่องปกติและไปรับการรักษามาขึ้น

รู้สึกดี เป็นทิศทางที่มันควรจะเป็น พอคนเปิดก็เหมือนว่ามันก็มีการกีดกันน้อยลง ถ้าคนไม่เปิดแล้วมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ก็ทำให้คนอื่น ๆ ไม่กล้าเข้าหา แต่พอคนมองเป็นเรื่องปกติมากขึ้นมันก็ดี

มักจะมีคำถามว่า การที่คนจะทำร้ายตัวเอง เป็นการ reach out หรือ เรียกร้องความสนใจ เราจะมีวิธีรับมือหรือช่วยเหลือเขายังไง

คือมันแยกยากมากจริง ๆ ว่า reach out หรือแค่เรียกร้องความสนใจ ส่วนตัวเราถ้าไม่ได้ติดอะไร จะคิดว่ามันเป็นการ reach out เพื่อกันพลาด คือเราไปคิดว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่จริง ๆ เขากำลังต้องการช่วยเหลือเนี่ย worst case ที่ตามมามันไม่คุ้มกัน

ประเด็นแรกที่ถามว่าป่วยหรือไม่ป่วย สิ่งที่แยกได้ดีที่สุดคือให้หมอวินิจฉัยหรือยัง ทำไมเขาถึงบอกว่าตัวเองป่วย คนเดียวที่จะบอกได้คือหมอ เราก็เห็นด้วยนะว่ามันอาจจะเป็นหนึ่งในสภาวะอาการที่ทำให้เขาทำแบบนั้น

ส่วนการรับมือให้ความช่วยเหลือ ต้องดูว่าเขามาเรียกร้องยังไง เขาอยากให้เราช่วยเหลือยังไง มันต้องดูแยกไปเลยเป็นคน ไป บางคนก็ป่วย แล้วเขาพยายาม reach out หาความช่วยเหลือก็มี หรือคนที่ป่วยแล้วหายไปเลยก็มี มันก็เป็นความยากที่ต้องทำความเข้าใจในแต่ละคนไป

มีวิธีบอกคนที่มีปัญหา แต่ไม่กล้าไปหาหมอ ให้ไปได้ยังไงบ้าง

ราต้องทำความเข้าใจว่าคนคนนั้นไม่กล้าไปเพราะอะไร อาจจะกลัวถูกมองไม่ดี โดนสังคมตีตราว่าเป็นบ้า ไร้ศักยภาพ ดูแลตัวเองไม่ได้ ไม่ไปเพราะเงื่อนไขเวลา มีภาระเยอะ เหนื่อย เรื่องการเงิน ไม่ไปเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นเยอะขนาดนั้น แล้วสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาเหมือนกันนะ ว่าทำยังไงที่จะทำความเข้าใจ และปรับความเข้าใจเขา

วิธี push ว่าเออ ไปเหอะ มันจะดีขึ้น เชื่อดิ ลองสักครั้ง’ อันนี้จะไม่ค่อยได้ผล เราลองมาคุยถามความคิดเห็นว่าอ๋อ ที่ไม่ไปเพราะกลัวตรงนี้ใช่ไหม’ แล้วก็พยายามหาอะไรมาซัพพอร์ตว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด เช่น ถ้ากลัวเรื่องคนจะมองไม่ดี ถ้าเราสามารถหาตัวอย่างได้ว่า มันมีคนทั่วไปเขาไปกันเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยกให้เขาเห็น ลองบอกว่า ‘อยากลองไปก็ไปได้นะ มันมีคนที่เป็นคล้าย กันเขาก็ไป แล้วถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็มาบอก เดี๋ยวไปเป็นเพื่อนด้วย’

ถ้าเขาคิดว่ามันต้องเป็นหนักก่อนแล้วค่อยไป มันก็ไม่ใช่เรื่อง emotional แต่เป็นที่ความคิด เราก็ต้องมาดูว่าต้องพยายามหาอะไรมาปรับความคิดเขาว่าไม่ต้องเป็นหนักก็ไปได้ มันอาจจะไม่ได้ผลทันทีหรอก แต่เหมือนเราแค่เปิดประตูไว้ แล้วถ้าเขาพร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยให้เขาเดินไป ไม่ใช่พยายามผลักเขาไป มันเป็นเรื่องยากจริง คนที่ไม่เชื่อ ให้พูดยังไงมันก็ยาก ถ้าคนมีความอยากปรับจริง เขาก็จะยอมไป

เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการรักษาโดยไม่ใช้ยา เพราะบางคนกลัวว่าถ้ารักษา ต้องกินยา

ไม่ได้มีประสบการณ์ส่วนตัว แต่เคยเจอคนที่รักษาโดยไม่ใช้ยา อันนี้ก็แล้วแต่กรณีอีก ความหนักความเบาในสิ่งที่เป็น อาการมันเป็นยังไง บางอาการรักษาด้วยการบำบัดอย่างเดียวอาจจะหายก็ได้ ซึ่งอันนี้เราไม่ได้ qualified ที่จะพูด หมอเป็นคนที่จะบอกว่าคุณเหมาะกับวิธีการรักษาแบบไหน อย่างคุณใช้ยาอย่างเดียวพอ ก็ลองดูก่อน ถ้ามันไม่เวิร์กก็ค่อยไปหาอย่างอื่น การบำบัดสายไหนก็ว่ากันไป แต่ถ้าถามว่ามีเคสที่รักษาด้วยการบำบัดอย่างเดียวแล้วหายไหม ก็มี

เท่าที่เจอมา คนมีปัญหากับเรื่องอะไรมากที่สุด

พูดไม่ได้เลยเพราะเคสที่เราเจอค่อนข้างแตกต่างกันไปหมดเลย เราเจอทั้งครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ที่ทำงาน การเงิน ความรัก ที่เจอมันเฉลี่ยมาก เราอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้จะได้เจอกลุ่มที่จะบอกได้ว่า สิ่งที่เราเจอเริ่มจะหนักไปทางไหน

แต่ละคนให้น้ำหนักกับแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน

แต่ละคนให้ความสำคัญกับปัญหาต่างกัน เรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กของบางคน มันก็เป็นปัญหาใหญ่ของบางคนนะ อย่างเลิกกับแฟน หรือคุยกับผู้ชายคนนึงมา แล้วพบว่าเขามีคนอื่นอยู่แล้วโดยที่เขาไม่ได้บอก แล้วเราก็อยากจะก้าวออกมา แต่มันก็ทำได้ยากเหลือเกิน บางคนยกเรื่องเพื่อนรวมงานมาเป็นปัญหา ทำไมแต่ก่อนคุยเล่นได้ คุยงานได้ ตอนนี้คุยได้แต่เรื่องงาน เรื่องเล่นไม่คุยเลย เรื่องพวกนี้มันก็ทำให้เกิดความกังวลว่าได้นะว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ของเรา

‘คงจะดีถ้าเราพยายามจะเข้าใจกัน’ VS ‘เราแคร์เขาเกินไปหรือเปล่า’

เราต้องแยกให้ได้ว่าเรื่องของเขาก็คือเรื่องของเขา เรื่องของเราก็คือเรื่องของเรา ใส่ใจได้ แต่อย่าเก็บมาเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเราใส่ใจแล้วเก็บมาคิด แปลว่าเราแยกไม่ได้ เราอยากช่วยเขาได้ อยากรู้สึกร่วมกับเขาได้ถ้าเขามาปรึกษาเรา ช่วยส่วนที่เราช่วยได้พอ คุยจบแล้วเราก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของเราต่อ ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ มันจะไม่มีคำว่าเราใส่ใจกับเรื่องนั้นมากไป

ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สื่อสารกัน

หลาย เรื่องที่มาจากการสื่อสาร แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่มาจากการสื่อสาร เรื่องที่มาจากการสื่อสารก็เช่น แม่กับลูก แม่อยากให้ลูกรับผิดชอบมากขึ้นกับการเรียน อยากให้พูดครั้งเดียวก็ทำเลย แล้วพอลูกเป็นไม่ได้ดั่งใจ หรือผลการเรียนไม่ดี สิ่งที่ทำคือทำโทษ ด่า ตี

เราได้คุยกับผู้ปกครองที่มาปรึกษาเราแบบนี้ ก็ถามว่าผลการเรียนลูกไม่เป็นดั่งใจ แล้วมันเป็นยังไง เขาก็บอกว่ารู้สึกเครียด กังวล เราก็ถามต่อว่า เครียดหรือกังวลอะไร ก็บอกว่า กลัวว่าเขาโตไปจะไม่ได้รับโอกาสดี แข่งกับคนอื่นไม่ได้ เราก็ อ๋อ รู้สึกเป็นห่วงใช่ไหม เขาบอก ใช่ เราก็ถามว่า แล้วได้สื่อสารความเป็นห่วงออกไปไหม การเป็นห่วง แต่ตี แต่ด่า แล้วลูกรับรู้ไหมว่าเป็นห่วง เนี่ยคือหนึ่งประเด็นที่ปัญหาเกิดจากการสื่อสาร อันนี้คือสื่อสารไม่ตรง สื่อสารไม่ดี เขาคิดว่าวิธีการสื่อสารคือการตี การด่า แล้วคิดว่าลูกรับรู้ว่าอะไร เขาก็ได้มาทบทวนว่า เออ ลูกไม่ได้รู้ถึงความเป็นห่วงเลย เราก็ถามว่าคิดว่าจะทำยังไงได้บ้างให้เขารับรู้

แล้วก็มีแบบไม่สื่อสาร’ คือมีปัญหาอะไรกันสักอย่าง แล้วคิดไปเองว่าเขาโกรธ เขางอน ไม่ไปสื่อสาร ไปคุย ไปถาม ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วมาเกิดความรู้สึกลบกับตัวเอง เราก็ถามเขาว่า คิดว่าทำไมคนนั้นถึงโกรธ ก็เล่าว่า เขาทำงี้ ๆๆๆๆ เราก็ถามต่อว่าอันนี้คือรู้แล้วใช่ไหมว่าคนนั้นโกรธ เขาก็บอกว่า ไม่รู้ แล้วทำไงถึงจะรู้ ก็ต้องไปถามเนาะ แล้วถามว่า คิดว่าถามแล้วน่าจะได้คำตอบมั้ย เขาก็บอกว่าน่าจะได้แหละ ถามต่อ คิดว่าคำตอบจะเป็นอะไรได้บ้าง ก็อาจจะโกรธ และอาจจะไม่โกรธ แล้วถ้าโกรธทำไงต่อ ก็คงจะง้อมั้ง ถ้าไม่โกรธล่ะ ก็คงจะดี

เนี่ย มนุษย์มันซับซ้อน แต่ที่ทำงานก็สนุกดี ช่วงนี้ที่กลับมาคือว่าง เพราะเราไม่ได้มีงานประจำ เลยเริ่มมาทำเพจจริงจังได้ แล้วก็ลองรับเคส หาชั่วโมงบิน ก็มีคนติดต่อมาเยอะกว่าที่คิด เดี๋ยวกลับไปเรียนเทอมหน้า กันยา ตุลา

กลับมาทำเพลงหรือยัง

ช่วงนี้แหละ ตอนเราอยู่นู่นไม่ได้ยุ่งเรื่องเพลงเท่าไหร่ เขาทำอะไรมาก็ส่งให้เราฟัง ที่เราทำคือคอมเมนต์นิดหน่อย พอกลับมาเราก็ได้มีส่วนร่วมตามครรลอง (หัวเราะ)

เด็กลอนดอนน่าอิจฉาเพราะได้ดูคอนเสิร์ตบ่อย

เออ มันมีแอปชื่อ DICE มันจะบอกอีเวนต์ทุกอย่าง ตั้งแต่ฟรี จัดผับไหน ถึงคอนเสิร์ตใหญ่ แล้วมันก็จะจองคอนเสิร์ตได้ในแอปเลย ซึ่งถ้าเป็นอีเวนต์ฟรี แต่จำกัดจำนวนคนมันก็จะดีตรงที่บอกได้ว่าใครจองก่อนหลัง แล้วก็จะมีอีกแอปที่เขาขายบัตรเจ้าใหญ่ อย่างคอนเสิร์ตใหญ่ที่เราชอบมาก ขายผ่านแอปแล้วจะไม่มีบัตรผี คือสมมติไปไม่ได้ อยากขายต่อ ก็ต้องผ่านแอปเท่านั้น อัพราคาไม่ได้ มันก็แก้ปัญหาดีนะ

ตอนนั้น 3-4 เดือนแรก ไปประมาณ 6 งาน วงที่เราคิดว่าดังแบบ Muse เนี่ย รุ่นใหญ่จริง Two Door Cinema Club ที่ว่าดังแล้ว อยู่ที่นู่นก็ต้องกั้นโซนนะ คนไม่เต็ม ก็ได้เห็นกลุ่มคนที่ไปดูวงนี้อายุเท่าไหร่ บุคลิกภาพรวมของแฟนคลับเป็นยังไง เฮ้วมากน้อยแค่ไหน แล้วเราเลือกจะไปดูวงเล็ก ฟรี แบบผับเล็ก จะเห็นตั้งแต่วงที่มีอายุแล้ว แต่ก็ยังทำเพลง มีเพลงของตัวเอง แล้วมาโชว์ โชว์ก็ดูรู้ว่าไม่ใช่มืออาชีพ การต่อเพลงยังมีการมองกัน จะจบยัง (หัวเราะ)

ที่นู่นก็ดูมีพื้นที่ให้ศิลปินอิสระเยอะนะ

มันก็ดีนะ มีพื้นที่ให้เขา พอมันมีแอพมันก็มีคนให้ความสำคัญ ไม่ต้องเป็นมืออาชีพ หรือมีผลงานค่ายใหญ่ เขาก็มีที่เล่น บางทีเพลงก็อะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้ป๊อป ไม่แมส ไปดูก็ไม่ได้ชอบ แต่ไปให้รู้ว่ามันมีแบบนี้ แต่เราก็เจอวงที่ชอบใหม่ ๆ Among the Citizens กับ The Manatees

วันนั้นเหมือนเคยคุยกันอยู่ เราว่ามันก็คล้าย ไทยนะ ถ้าเป็นวงอินดี้อยากจัดอีเวนต์ ก็เข้าไปตกลงกับผับสักผับ แบ่งรายได้กันยังไง เราไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าสถานที่ แต่รายได้จากการขายบัตรก็เป็นของร้าน แล้วเราเอานิดเดียวพอ แล้วแต่ว่าจะแบ่งกันยังไง ก็จะคล้าย ไทย แต่เราว่าที่ไทยถ้าเทียบกับที่นู่นก็ยังขาดแหละ ถ้ามีอะไรคึกคักแบบนั้นมันก็ดี แต่มันก็ต้องมีผู้สนับสนุน เพราะตรงนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่มันไม่ได้สร้างรายได้ขนาดนั้น

ฝากอะไรทิ้งท้าย

เพจนี้ก็ตั้งใจทำให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนรู้สึกว่าเรื่องจิตบำบัดเป็นเรื่องธรรมดามาก อยากจะให้ลองมาอ่าน ดู แล้วก็จะมีเรื่องที่ลึก เอามาพูดให้มันเข้าใจง่าย จะพยายามหาจุดที่มันเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ถ้ากดติดตามไว้ วันนึงจะได้เอาไปใช้แน่นอน 

ส่วนวงก็ทำเพลง ใกล้ปล่อยรึยังไม่รู้ (หัวเราะ) ยังทำเรื่อย มีเพลงที่เสร็จแล้ว แล้วก็ยังตั้งใจทำให้เป็นอัลบั้มอยู่ ก็คอยเป็นกำลังใจให้ด้วยครับ

อ่านต่อ

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ Summer Stop ก้าวใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้