Feature เห็ดนอกใจ

กิต Soundlanding

  • Writer: Teeraphat Janejai
  • Photographer: Chavit Mayot

หากใครที่เป็นแฟนเพลงนอกกระแสเมื่อประมาณสิบปีก่อนอาจจะยังไม่รู้ว่า ‘กิต’ มือกลองวง Soundlanding คือ ‘อาจารย์กิต’ ของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราจะคุยกับเขาในสัมภาษณ์นี้

แอบบอกไว้นิดนึงเลยว่านอกจากเพลงและคอนเซปต์ที่ออกแบบมาให้ติดหูติดใจแล้ว คำตอบที่ออกมาจากปากของเขาก็น่าสนใจไม่น้อยเลย

img_2959

เริ่มต้นชีวิตการออกแบบมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เป็นคนชอบคิดออกแบบนั่นนี่มาตั้งแต่เด็ก ตอนโตก็ได้มาเรียนที่สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบก็ไปทำโฆษณาได้สักพักก็รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง เลยมองหาที่เรียนต่อในแถบยุโรป เพราะเราค่อนข้างชอบลักษณะงานออกแบบในฝั่งนั้น โดยเฉพาะงานของกลุ่ม Droog Design เขาทำให้เราเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่เขาออกแบบมันมีอะไรมากกว่าฟังก์ชันการใช้งาน มันมีการเล่าเรื่องผ่านตัวงานด้วย ก็ลองหาว่าคนพวกนี้เขาไปเรียนกันที่ไหน ก็มาเจอที่ Design Academy Eindhoven ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ลงเรียนคอร์ส Conceptual Design in Context ซึ่งจะอยู่ในขอบเขตของงานดีไซน์เป็นหลัก แต่สิ่งที่เขาคิดต่างออกมาคือ งานออกแบบในยุคนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเฉพาะฟังก์ชันสำหรับใช้งานอย่างเดียว แต่มันสามารถเล่าเรื่องได้ด้วย เรียนอยู่ที่นั่นสักพัก พอจบกลับมาก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี (หัวเราะ) ก็เลยมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

แต่ก่อนเราจะเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้เราจะเริ่มคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้ทำไม พอเราตั้งคำถามแบบนี้มันทำให้เรามีวิธีคิดที่กว้างขึ้น

การไปเรียนออกแบบที่ต่างประเทศแตกต่างกับเรียนที่ไทยอย่างไร

โคตรต่าง แต่เราโชคดีตั้งแต่เรียนที่จุฬา ฯ เราได้เรียนกับอาจารย์ปิยะชาติ แสงอรุณ เขาสอนให้เราเริ่มคิดงานจากคอนเซปต์ ซึ่งถูกจริตเรามากกว่าที่จะเริ่มจากการคิดเพื่อแก้ปัญหา มันทำให้เราได้งานที่แตกต่างออกไปจากสายเมนสตรีม พอไปเรียนที่นั่น ด้วยวิธีการเรียนการสอนของคนไทยกับชาวต่างชาติมันต่างโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว ด้วยวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เด็กอายุ 4 – 5 ขวบประเทศเขาก็เดินพิพิธภัณฑ์ เดินดูงานกันเป็นกิจวัตร แต่เด็กบ้านเราในวันเสาร์อาทิตย์ก็เรียนพิเศษกันหมด ทำให้วิธีการคิด วิธีมองหรือการให้คุณค่ากับงานเหล่านี้มันต่างกัน มันก็สะท้อนไปถึงวิธีการเรียนการสอนของเราด้วย อย่างเช่น ใครเรียนทาง fine art ก็ต้องมุ่งไปทาง fine art ใครเรียน product design ก็คิดออกแบบให้ตอบโจทย์ แต่ที่ยุโรปเขาเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นแบบ multidisciplinary คือ คุณมีแก่นความคิดอยู่ตรงกลาง แต่อยากจะสร้างอยากจะทำอะไรก็ทำ เพิ่มพื้นที่งานออกแบบให้กว้าง ๆ เข้าไว้ ซึ่งเราว่ามันสนุกกว่า แต่แบบที่เราเคยเรียนมันก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแค่ว่าการเรียนของฝั่งยุโรปทำให้เราสนุกกับงานมากกว่า

2

แล้วผลิตภัณฑ์ที่ใส่คอนเซปต์จะเอาไปขายหรือใช้งานได้จริง ๆ เหรอ

มันก็มีทั้งส่วนที่ทำเพื่อการค้า อาจจะทำในลักษณะ limited มีน้อยชิ้น หรืออาจจะวางอยู่ในแกลอรี่ ซึ่งเราว่างานพวกนี้มันช่วยขับเคลื่อนงานสาย commercial ด้วย เหมือนเราดูแฟชั่นโชว์ เรามักจะคิดว่าชุดพวกนั้นใครจะซื้อเอาไปใส่เดินบนถนนจริง ๆ วะ แต่มันก็จำเป็นต้องมีงานประเภทนี้อยู่

มันช่วยขับเคลื่อนอย่างไร

อธิบายยากเหมือนกันนะ แต่ถ้าสังเกตดูคอลเลกชันเสื้อผ้าที่ขายทั่วไปก็จะเปลี่ยนสไตล์ไปตามแฟชั่นโชว์ บางชุดอาจจะเกิดจากการตัดทอนชุดจากแฟชั่นโชว์จนกลายเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน งานผลิตภัณฑ์ก็เหมือนกัน มันจะมีบางงานที่ออกแบบมาพุ่งทะลุกรอบ แต่มันก็จะถูกคิดต่อว่าถ้าจะตัดทอนหรือปรับแต่งเพื่อนำมาใช้จริง มันจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

ออกแบบทัศนคติก่อนเลย ถ้าเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนในสังคมเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญ

กว่าจะออกแบบอะไรสักอย่าง เริ่มต้นคิดอย่างไร

แต่ก่อนเราจะเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้เราจะเริ่มคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้ทำไม พอเราตั้งคำถามแบบนี้มันทำให้เรามีวิธีคิดที่กว้างขึ้น สำหรับคนอื่นเราไม่รู้ว่าเขาคิดแบบนี้กันหรือเปล่า แต่มันสนุกสำหรับเรา เพราะถ้าเราไปเริ่มคิดที่วิธีการทำก็จะกลายเป็นการตีกรอบให้ความคิดเรา

งานออกแบบที่ดีควรเป็นอย่างไร

มันก็ขึ้นอยู่กับประเภทงานนะ อย่างตอนเด็ก ๆ เราชื่นชอบนักออกแบบคนหนึ่งชื่อ Dieter Rams เขาพูดถึงบัญญัติของการออกแบบ 10 ประการ แต่พอหันไปดูนักออกแบบระดับโลกคนอื่น ๆ เขาก็จะพูดถึงการออกแบบที่ดีที่แตกต่างออกไปอีก เราเลยรู้สึกว่างานออกแบบที่ดีมันก็ขึ้นอยู่กับจริตของคน เราอาจจะชอบแบบหนึ่ง คุณอาจจะชอบอีกแบบหนึ่ง เราคิดว่ามันไม่ควรจะมีกฎตายตัวว่าสิ่งที่ดีควรเป็นอย่างไร

ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์แล้วเวลาตรวจงานหรือต้องให้คะแนนนักศึกษา ดูจากอะไร

ตอนที่ชิ้นงานเสร็จแล้วก็ยังต้องตรวจเป็นปกติ แต่สิ่งที่จะดูเป็นหลักก็คือกระบวนการทำ เราชอบดูที่กระบวนการทำมากกว่าว่าเขามีลำดับการคิดอย่างไร เพราะมันยากที่จะบอกว่างานนี้ดีหรือไม่ดี แต่กระบวนการคิดและการทำ มันบ่งบอกได้ว่างานนี้ดีหรือเปล่า

img_2946

เคยได้ยินชื่อวง The Charapaabs ที่เป็นวง Conceptual band มั้ย

รู้จัก ๆ เราว่าก็ดีที่มีเพลงที่พูดถึงหรือพูดจากมุมมองของผู้สูงอายุบ้าง อย่างก่อนหน้านี้ในประเทศเราก็พูดถึงเรื่องสังคมผู้สูงอายุกัน จริง ๆ มันเป็นเรื่องใหญ่ในโลกมาสักพักแล้ว แต่ในไทยเพิ่งจะมาตื่นตัวกัน เราเองก็เคยอ่านเจอว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นจริง ๆ ในไทยเร็วๆ นี้แล้ว

แล้วถ้าจะออกแบบระบบหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสังคมผู้สูงอายุในไทย

เราว่าออกแบบทัศนคติก่อนเลย ถ้าเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนในสังคมเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญ เดี๋ยวการออกแบบก็ตามมาเอง 

img_2938

เราควรออกแบบชีวิตไหม

คนเราชอบกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ถ้าเราออกแบบไว้บ้าง ก็น่าจะทำให้เรามองเห็นชีวิตในอนาคตคร่าว ๆ ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็จะเกิดความสบายใจ แต่มันก็เป็นดาบสองคม เพราะการวางแผนชีวิตก็อาจจะสร้างกรอบให้กับเรา ก็คงขึ้นอยู่ที่แต่ละคนว่าชอบใช้ชีวิตแบบไหน

แล้วตอนเด็กๆ เคยออกแบบชีวิตไว้อย่างไร มันเป็นไปอย่างที่ออกแบบไว้ไหม

ไม่ใช่เลย (หัวเราะ) ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าจะต้องมาเป็นอาจารย์ แต่เผลอแปปเดียวก็สอนมาหลายปีแล้วนะ เคยมีนักศึกษามาถามเราเหมือนกันว่าเราจะสอนไปจนถึงเมื่อไหร่ เราก็ตอบไม่ได้ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเลย ตอนเด็กก็คงเคยวาดฝันไว้บ้าง อยากมีชีวิตดี ๆ เท่ ๆ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องโตมาทำอาชีพอะไร แต่พอมาถึงตอนนี้แล้วเราแค่อยากใช้ชีวิตสนุก ๆ มีความสุขไปวัน ๆ

มันเป็นอย่างไรเมื่อต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยวางแผนไว้

ก็แปลกดี ไม่เคยชินกับการที่คนให้ความเคารพเรา เคยไปยืนดูคอนเสิร์ตแล้วมีนักศึกษาเดินมาไหว้เต็มไปหมดเลย โคตรเขิน จะเต้นยังไม่กล้าเลย (หัวเราะ) แต่หลัง ๆ เราก็ไม่ค่อยเกร็งเท่าไหร่ เพราะเราก็ไม่ได้ทำผิดอะไร

คิดว่าการออกแบบจำเป็นต่อโลกนี้ไหม

นั่นสิ (หัวเราะ) บางทีเราก็คิดว่าการออกแบบบางอย่างก็ทำให้ชีวิตแย่ลงด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างพวก gadget มือถือ หรือ ซอฟต์แวร์ในมือถือ ไม่รู้ว่าเราแก่ไปแล้วหรือเปล่า แต่พอมีอะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น มันกลับใช้ยากขึ้นด้วย มันไม่เป็นมิตรกับเราเลย เราต้องใช้เวลาในการศึกษามันใหม่ หรืออย่างรองเท้าที่ออกแบบมาใหม่ ๆ โคตรสวยเลย แต่สุดท้ายแล้วคู่ที่เราใส่อยู่ทุกวันก็คือคู่ที่ใส่สบาย

เราคงตอบไม่ได้จริง ๆ ว่าเรื่องบางอย่างมันจำเป็นต้องออกแบบใหม่อยู่เรื่อย ๆ หรือเปล่า แต่ก็อย่างที่เราบอกไปตอนต้นว่าการออกแบบบางอย่างมันช่วยขับเคลื่อนงานออกแบบอื่น ๆ แต่คนใช้อย่างเราอาจจะยังไม่เข้าใจ

img_2942

Quick quiz

คอนเสิร์ตหรืองานดนตรีในอนาคต

อาจจะยังคิดเป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ แต่มันน่าจะเป็นงานที่เข้ากับวิถีการฟังเพลงออนไลน์ 

ถ้าต้องไปออกรายการ The Mask Singer จะใส่หน้ากากอะไร

ไม่ต้องใส่หรอก ปกติคนเราก็ใส่หน้ากากกันอยู่แล้ว

img_2964

รับฟังเพลงของ Soundlanding บนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Teeraphat Janejai

ธีรภัทร์ เจนใจ กองบรรณาธิการ Fungjaizine ที่มักสนุกกับการเปิดเพลงในรถมากกว่าการไปคอนเสิร์ต และชอบนั่งสวนพอๆ กับนั่งบาร์