Article Feature Interview เห็ดนอกใจ

ก้อง Goose — เพราะชีวิตไม่ง่าย เลยอยากให้ Kǔ Bar เป็นอะไรที่เรียบง่ายที่สุด

ในยุคนึงที่ค่าย Smallroom เป็นผู้เปิดโลกการฟังดนตรีทางเลือกให้กับวัยรุ่นหลายคน เพราะศิลปินแต่ละวงที่เขาเลือกมานำเสนอให้ผู้ฟังล้วนแต่มีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจนโดดเด่นทั้งสิ้น และหนึ่งในนั้นคือ Goose ที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการอัลเทอร์เนทิฟร็อก โพสต์ร็อก จนกลายมาเป็นต้นแบบของหลาย วงในเวลาต่อมา แต่เมื่อถึงจุดนึง สมาชิกวงต่างคนต่างแยกย้ายด้วยภาระหน้าที่และจังหวะชีวิตที่ต่างกัน การเคลื่อนไหวของ Goose จึงเงียบหายไปจากซีนดนตรีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

จนกระทั่ง Goose ได้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง จากการเชิญชวนให้มาเล่นในคอนเสิร์ต เห็ดสด #2 ของฟังใจเมื่อปี 2015 ทำให้เราได้สัมภาษณ์พวกเขากันโดยไร้เงาของ ก้องอนุภาส เปรมานุวัติ มือเบส เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กพอดี ส่วนคนอื่น ก็เลือกเส้นทางของตัวเอง นิ้ม ก็ยังดูแลค่าย Smallroom บะ ไปเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ Ductstore อาร์ต ก็ไปทำวง GHOST และค่าย Halfdry ส่วน โต้ง ทำวงใหม่ชื่อ Sunrise, Moon Bright

นอกจากเรื่องดนตรีแล้ว เรามีความสนใจเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งอย่างคือค็อกเทล ทำให้เริ่มตระเวณไปลองชิมเครื่องดื่มตามที่ต่าง จนในปี 2017 เราได้มาพบกับ Kǔ Bar (อ่านว่า ขู) บาร์เล็ก บรรยากาศเคร่งขรึม ลึกลับ ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กข้างแจ๊สบาร์ Brownsugar และเราก็ยังไม่รู้ว่า บาร์เทนเดอร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มให้เรา เวลานั้น คือก้อง วง Goose

Kǔ Bar

โห นี่เคยมาตั้งแต่เพิ่งเปิดเลยหรอเนี่ยก้องรินน้ำเปล่าใส่แก้วมาเสิร์ฟให้พวกเรา ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสองโมง ระหว่างที่เขากำลังจัดแจงข้าวของเตรียมที่จะเปิดร้าน ก็เริ่มเล่าถึงช่วงที่เขาห่างหายไปจากซีนดนตรีให้เราฟัง “ตอนนั้นเรียนจบก็ทำเพลงกับ Goose ก่อน 2 อัลบั้ม แล้วต่างคนต่างไปทำงาน ผมเรียนถ่ายรูป ก็ไปเป็นผู้ช่วยช่างภาพแปปนึง แล้วก็ไปเรียนปริญญาโทต่อที่ลาดกระบัง เกี่ยวกับศิลปะอะไรพวกนี้อีกแหละ แล้วก็ไปบวช”

ตอนนั้นเรียนลาดกระบังรุ่นเดียวกับใครบ้าง

ก็มี อาร์ต มือกีตาร์ Goose มี อ้วน โย่ง อาร์มแชร์ ถ้าเป็นรุ่นพี่ก็พี่ผึ้ง อาร์มแชร์ ก็มีอีกหลายคนแหละครับ ถ้าที่สนิท ก็เท่านี้ หลัง ก็เจอ อ๊อฟ เล็ก Desktop Error เมื่อเดือนที่ผ่านมาก็เจอ นิ้ม Goose เจอสองครั้ง ตอนกลับมาจากอเมริกาครั้งแรกตอนแม่ผมตาย ครั้งที่สองตอนพ่อรุ่นพี่ตาย ก็มาคิดว่า เราแก่จนต้องมาเจอกันเฉพาะงานศพแล้วหรอวะ

อะไรทำให้ตอนนั้นตัดสินใจไปนิวยอร์ก

ผมไปบวชปีกว่า ก็สองจิตสองใจลองสึกออกมาก่อน ไม่รู้ว่าเราคิดไปเองรึเปล่า แต่หลาย อย่างก็ยังเหมือนเดิม รู้สึกว่าเบื่อ อุตส่าห์ห่างหายไปตั้งปีกว่า อยากหาประสบการณ์ใหม่ ไม่อยากกลับมาทำอะไรเหมือนเดิม ก็เลยเลือกไปนิวยอร์ก ที่นู่นมันมีอะไรเยอะ คิดว่าถ้าเราไม่ใช่อย่างนี้ มันก็คงจะมีอีกอย่างนึงให้ทำ ถ้าไปบางประเทศอย่าง อ้วนไปเยอรมัน มันก็ต้องไปเรียนแบบที่อ้วนไป งั้นเราไปนิวยอร์ก มันค่อนข้างอิสระ แล้วเราก็ไม่ได้กลัวอะไร จะเป็นอะไรก็เป็น ไม่ได้เป็นก็ช่างมัน สำเร็จไม่สำเร็จก็แล้วแต่ อยากไป ไม่อยากอยู่ตรงนี้

การจะไปนิวยอร์กไปยากไหม

ตอนนั้นไปด้วยวีซ่านักเรียน แล้วไปลงเรียน กะแอบทำงาน ไปถึงที่นู่นเขาให้ทำอะไรก็ทำแล้ว ขัดส้วมอะไรก็ทำเหอะ คือพี่สาวให้เงินไปหนึ่งก้อน พอซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วก็เหลือไม่ได้เยอะ บางคนเขาไปด้วยทุนที่น้อยกว่าผมอีก เขาก็ยังไปได้ แล้วช่วงที่ผมไป Radiohead ดันเล่นที่ Coachella ก็คิดว่ากูต้องดู Radiohead ให้ได้ก่อนตาย เลยเอาเงินไปซื้อตั๋วบินไปดูที่แคลิฟอร์เนีย (FJZ: ฟินเลยสิ) ไม่อะ เขาไม่ได้เล่นไม่ดีนะ แต่คนแน่น ไม่ชอบดูคอนเสิร์ตที่คนเยอะ ไม่สบายด้วยถ้าจำไม่ผิด ผมคิดว่ามันจะสนุกสุดเหวี่ยง แต่ว่ามันเหนื่อยเพราะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ มีวงนู้นวงนี้เล่น เราก็ต้องคอยดูตาราง เดี๋ยวต้องย้ายจากตรงนี้ ไปตรงนู้น ผมเบื่อ แล้ว Radiohead เล่นเวทีใหญ่ ไม่ใช่อารมณ์แบบที่อยากดูแล้ว คือวงมันดังมากก็ต้องเล่นเวทีใหญ่ พอเล่นที่ใหญ่ไปมันก็ไม่อบอุ่นมั้ง เราชอบการดูคอนเสิร์ตประมาณ 300-400 คน อันนั้นเป็นพันคน ยืน ดูคนก็เบียด นอกจากจะไปยืนดูข้างหลังไกล เราไม่ได้ต้องการความใกล้ ไม่ได้อยากไปจับมือศิลปิน ต้องการความพอดี คือเฟสติวัลไม่ใช่สำหรับทุกคนอะ

แล้วพอกลับมานิวยอร์กก็คิดว่าคงสมัครทำงานได้ ดันกลับมา หางานไม่ได้ ผมเดินยื่นใบสมัครอยู่ 4 วัน วันละ 10 ร้าน คือทำอะไรก็ได้แล้วเพราะไม่มีตัง ถ้าไม่ได้งานตอนนั้นผมก็คงเป็นโฮมเลส ผมดูวิดิโอเกี่ยวกับโฮมเลสแล้วนะว่าเขาอยู่กันยังไง เพราะผมจะกลับก็ไม่ได้ พี่ผมให้เงินไปแล้วผมดันไปแล้วใช้เงินงี่เง่าอะ (หัวเราะ) สมัครไป 40 ร้านอะ ไม่มีใครติดต่อมา

ตอนผมไปนิวยอร์กก็รู้จักคนคนเดียว คือพี่พลัมณภัทร สนิทวงศ์ เป็นคุณพ่อผมเลย ตอนยังไม่ได้งานแกก็คอยช่วยทุกอย่าง ผมนอนบ้านแกด้วยซ้ำ เบียดเสียดรบกวนคุณแม่กับพี่ชายเขา พี่พลัมก็มีความคิดดีอะ บอกเราว่าเฮ้ย ก้อง ใจเย็น เดี๋ยวก็ได้งานแล้ววันนึงเขาก็โทรมาบอกว่าวันนี้ไปร้านนี้นะ พี่คนนี้เปิดรับสมัคร ไปลองทำดู เราก็ไป

มันเป็นร้านไทยที่ใหญ่มาก ใหญ่เป็น 5 เท่าของร้านทั่วไป ผมไปก็ไม่มีประสบการณ์ เปลี่ยนชุด ใส่กางเกงเลสีเลือดหมู ใส่เสื้อยืดสีขาวอย่างเนี้ยแหละ ชุดน่าเกลียด หน่อย เข้าไปเสิร์ฟวันแรก ฝึกงาน เขาก็ให้เทคโต๊ะใหญ่ เป็นคนมาจัดงานเลี้ยงกัน ใส่ชุดงานแต่งงานมาเลย ก็ต้องเอาน้ำไปลง มันเป็นถาดใหญ่ มี 8 แก้ว เราหยิบแก้วนี้ลง หยิบอีกแก้วลง แล้วอีก 6 แก้วมันก็พลิกร่วงตู้มลงผู้หญิง ผมนี่แบบ ชิบหายแล้ว ได้งานก็ไม่ได้ ตายแน่ อะไรเงี้ย สถานการณ์ตอนนั้นพี่เขาก็บอก น้องรีบวิ่งไปเอาไม้กวาด ส่วนมากลูกค้าในร้านผมเขาจะดุ และพยายามเอารัดเอาเปรียบร้านอาหาร เช่นเขาเจอเส้นผม ก็จะ ขอให้ทำใหม่ จะพยายามทำไงก็ได้ให้ take advantage คือเขาต้องจ่าย service charge แพง ก็อยากได้นั่นนี่ ผมก็โชคดีหน่อยที่ผู้หญิงคนนั้นนิสัยดี เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็ไปทำงานต่อ

จบ shift ผมเดินหันหลังกลับบ้าน ในใจก็คอตกอะ ลาพี่ เขา เดินออกไปครึ่งทาง แล้วพี่ manager เขาก็ตะโกนว่าน้อง พรุ่งนี้เหมือนเดิมนะ สิบโมง ผมแบบ เย่ (หัวเราะ) ดีใจ กูยังได้งานวุ้ย งานผม เป็นร้านไทยที่ว่ากันว่าโหดมาก ถูพื้นกันแทบจะเอาลิ้นเลียแล้วอะ พอปิดร้าน manager เอาไฟฉายส่อง มีซีกมะนาวอยู่ตรงไหนก็อะ น้องเข้าไปเก็บ แต่เขานิสัยดี แค่เขาต้องเนี้ยบเพราะลูกค้าฟ้องกันโหด แล้วก็วุ่นวาย คนเยอะ แข่งขันสูง บังเอิญร้านนี้ไม่ได้มีแค่คนไทยคนเดียว มีบังกลาเทศ คนจีนอะไรด้วย พนักงานเสิร์ฟเขาก็ทำงานแย่งทิปกัน มีทั้งตัวละครดี ตัวละครร้าย ดราม่า

เพราะชีวิตผมมันไม่ง่าย ผมเลยอยากเป็นคนง่าย เพราะการเป็นคนง่าย มันสบายใจดี

อะไรทำให้เปลี่ยนมาทำค็อกเทล

เราก็ใช้ชีวิตปกติ ตื่นเช้าเพื่อไปเรียน ตอนเย็นไปทำงานร้านอาหาร เพื่อนคนไทยเราพอวันว่าง จากที่ใส่เสื้อยืด กางเกงเล แต่งตัวทุเรศ ก็จะเปลี่ยนการแต่งตัวใหม่ blend in ทำตัวเป็น New Yorker เข้าไปตามร้านต่าง ก็ไป Angel’s Share เป็นบาร์ที่อยู่ในร้านอาหารญี่ปุ่น คุณจะต้องเจอร้านอาหารก่อน แล้วจะมีประตูเล็ก ที่ให้ผลักเข้าไป คนก็จะงงว่าประตูนี้มันอะไรวะ มันก็คือ speakeasy bar แหละ แต่เป็นบาร์ญี่ปุ่น ทุกคนเป็นคนญี่ปุ่น ตอนแรกก็ตกใจ เหล้าอะไรวะโคตรแพง แก้วละตั้ง $15 สมัยนู้นแบบ 400-500 อะ วันนั้นที่ผมไปกิน ผมเดินออกมาเจอเพื่อนในคลาสที่โรงเรียน บังเอิญว่ามันทำงานอยู่ร้านที่ติดกับ Angel’s Share มัน บอกว่าเอ้ย มึงมาทำไรวะก้องเราก็บอกว่ามากินร้านนี้ เขาบอกว่าเขาเป็นเชฟที่นี่ จริง ไม่ใช่เชฟหรอก มันเป็น cook แต่ก็เรียกกันง่าย ว่าทำงานครัว แบบ กูเป็นคนทำราเม็งที่มึงกินอยู่เนี่ย ชื่อแคนดิโด เป็นคนมีบุญคุณกับผมมาก คราวนี้แคนดิโดบอกว่าบาร์ข้างในขาดคนเตรียมของ มาทำไหม ผมก็สน คือยังไงก็แล้วแต่ ขอให้ได้เข้าไปก่อน เราก็อยากเปลี่ยนสังคม จะได้มีเพื่อนกลุ่มอื่นบ้าง อุตส่าห์มาเมืองนอก จะได้เจอคนหลากหลาย ได้แชร์อะไรกัน ก็เลยเข้าไปทำงานที่นั่นอาทิตย์ละหนึ่งวัน ไปคั้นน้ำมะนาว ตัดน้ำแข็ง

บาร์ญี่ปุ่นต่างจากบาร์อเมริกันยังไง

ไม่เคยคุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นเรื่องนี้ คือมันคงเบื่ออะ เป็นคนญี่ปุ่นอเมริกัน มันจะบอกว่ากูไม่ใช่คนญี่ปุ่น มึงไม่ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นหรอก กูชอบให้มึงคุยภาษาอังกฤษกับกู’ (หัวเราะ) ก็ anti ชาติตัวเองเหมือนกัน ผมเลยคิดเองว่าอย่างนึง เครื่องมือที่ใช้ก็แตกต่างกันแล้ว ความคิด วิธีการทำดริงก์ก็ต่างกัน เหมือนการทำขนมอะ อย่างชีสเค้กนิวยอร์กมันจะเข้มข้น แน่น ชีสเค้กญี่ปุ่นจะละมุน ขนมปังญี่ปุ่นจะนุ่ม ของฝรั่งมันจะแข็ง ค็อกเทลก็เหมือนกัน ของฝรั่งจะเข้ม ของญี่ปุ่นก็จะละมุนจังเลย คือตอนที่ทำบาร์ที่นู่นก็มีเพื่อนฝูงสายนี้ ก็ลองไปกินตามบาร์ต่าง ในนิวยอร์ก ถ้าให้ตอบเองว่าต่างยังไงก็คือ รสชาติ balancing ต่างกัน

ชอบแบบไหนมากกว่ากัน แล้วที่เอามาทำ Kǔ Bar คือ inspired จากอะไร

ผมชอบญี่ปุ่นนะ มันก็เอเชียอะ มีความน่ารักในนั้น มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเป็นพี่เป็นน้องกันอยู่ แล้วก็มีอาหารที่เราพอจะ relate กันได้บ้าง ผมไม่เคยทำบาร์อเมริกัน เพราะงั้นก็เลยไม่รู้ ผมอาจจะชอบก็ได้ แต่ถ้าที่ผมเรียนมา ครูผมเป็นคนญี่ปุ่น แต่เขาทำบาร์ญี่ปุ่นในอเมริกา เพราะผมเชื่อว่าบาร์ญี่ปุ่นในญี่ปุ่น จะเป็นอีกแบบนึง เคยไปบาร์ที่ญี่ปุ่นไหม (FJZ: เคยไปร้านที่ชื่อ SG Club ตรงชิบุย่า) เออ Shingo Gokan เจ้าของร้านเนี้ย เขาก็เป็นครูผม เขาดังนะ คนไทยรู้จักเยอะ เขาทำ Angel’s Share ด้วย ที่ญี่ปุ่นมีบาร์หลายที่มาก มันมีเสน่ห์ ผมชอบบาร์ไม่ค่อยดังมาก มีแค่บาร์เล็ก เจ้าของร้านส่วนมากเขาก็จะทำเอง มันจะดู relax มีความเป็นธรรมชาติ เปิดมา 10-20 ปีแล้ว มันเลยมีความเป็นผีอยู่ในนั้น เป็น spirit อะ ค็อกเทลซีนในเมืองไทยมันค่อนข้างใหม่ เพราะงั้นในไทยคุณจะเจอ spirit ตามร้านข้าวต้ม ร้านเหล้า บาร์ต้องรอสักพักนึง แต่อย่างญี่ปุ่นมันเข้าไปแล้วรู้สึกขลัง อบอุ่น

ทำไมถึงกลับมาเปิดเอง ไม่อยู่ต่อ

อยู่นู่น 5 ปี เพราะวีซ่าได้มา 5 ปี หลังจากนั้นจะต้องไปลงเรียนต่อไปเรื่อย มันยังไม่ผิดกฎหมายหรอก แต่มันจะเริ่มผิดสังเกตแล้วแหละ (หัวเราะ)

ตอนนั้นก็คือผมตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะกลับมา ถ้าอยู่ต่อก็ต้องลงเรียนไปเรื่อย ทำงานไปเรื่อย ก็คิดไปคิดมาว่า กูจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่ แล้วถ้าจะทำอะไรสักอย่างที่นิวยอร์กเป็นหลักฐาน เรื่อง license มันเยอะ อยากจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ กฎเกณฑ์มันเยอะ และยอมรับว่าอยู่นิวยอร์กก็มีช่วงเบื่อเหมือนกัน ไลฟ์สไตล์ ชีวิตอะไรก็เหมือนเดิม

อีกเหตุผลนึงคือแม่กับพ่อแก่แล้ว โดยเฉพาะแม่ ก่อนผมไปก็เป็นวีลแชร์แล้ว ถ้าแม่ผมเป็นอะไรขึ้นมาแล้วผมต้องกลับไทย ถ้าผมกลับมาแล้วผมจะกลับไปไม่ได้ ผมก็ต้องทิ้งทุกอย่าง งั้นกลับมาทำอะไรเล็ก ที่เมืองไทยดีกว่า

แต่ความที่ชอบไปดูคอนเสิร์ต นั่นนี่ เลยไม่ได้มีตังเก็บ พอผมกลับมาก็กำเงินก้อนเล็ก มาก้อนนึง ก็มีคนชวนทำบาร์นะ แต่เราตั้งใจแล้วว่าจะเปิดร้านตัวเอง

มาเจอทำเลที่นี่ได้ยังไง

มีเพื่อนบอกว่าเดี๋ยวช่วยหาที่ แต่ก็หายไป ไม่เห็นช่วย (หัวเราะ) เราก็เลยมาเดินดู อยากอยู่แถวนี้แต่ไม่มีตัง เพราะว่ามันแพง มีที่นึงชั้นล่างมีร้านตัดผมอยู่ ถามว่าเท่าไหร่ เขาบอกค่าเซ้งสองล้าน เราจะเอาเงินมาจากไหน ไม่มีตังหรอก อ้วนเลยบอกว่า มาดูไหม ตึกกู ก็คือที่ตรงเนี้ย ที่ทำงานเขาก็อยู่ข้างบน บ้านอ้วนก็ขึ้นไปอีกชั้น

คือเมื่อก่อนผมก็มาตึกนี้ตอนสมัยเรียน สมัย Goose เราก็มาแฮงเอาท์กันที่บ้านอ้วน ตอนนั้นบ้านเขายังทำธุรกิจโรงพิมพ์ แล้วตอนนี้ก็เลิกทำไป อ้วนเลยให้มาดูอีกรอบ พอมาก็เอาเลย ชอบ หนึ่ง ก็ได้อยู่ใกล้เพื่อน สอง ชอบอิฐ สวย พ่อเขาทำ เหมือนเป็นอาจารย์เกี่ยวกับศิลปะ อาจารย์กราฟิกมั้ง ก็ชอบทำของใช้เอง สวยมากเลย

อ้วนและครอบครัวเขาก็ใจดีกับผม ให้มาตั้งต้นชีวิตอะไรที่นี่ ค่าเช่าก็ราคากันเองไม่ได้คิดอะไรผมแพงมาก 6 เดือนแรกจ่ายเท่านี้พอ แล้วถ้าอยู่ตัวค่อยว่ากัน

การตกแต่งในร้าน

เราก็ชอบอะไรน้อย ก็เปิดดูพวก pinterest ซื้อหนังสือมาแต่งสวย อยากให้ออกมาเป็นงั้นงี้ พอทำออกมาก็ไม่เหมือนหรอก ไม่มีตัง ดูไปก็เซ็ง ดูไปก็ฝัน เอาจริงวันนึงก็ต้องปิดหนังสือ ช่างแม่ง จริง ผมก็ดูเป็นคนยากนะ ผนังตรงนั้น (ชี้ไปที่โถงในบาร์) ถึงขนาดที่ผม อ้วน แล้วก็เพื่อนอีกคน ซื้อสีมาทา สีขาวครีม ทาเสร็จ แล้วนั่งดู รู้สึกว่ามันไม่ใช่ว่ะ ก็เลยไปซื้อสเปรย์ที่เขาฉีดรถ มาล้างขัด สีอันที่ตัวเองทาลงไปออก ถ้าเป็นคนอื่นเขาคงใช้คอมพิวเตอร์ลองทำดูก่อนให้เรียบร้อย (FJZ: คืออาจจะเป็นคนง่ายแหละ แต่ด้วยวิธีการคือต้องลองก่อน) เอออ อะไรไม่จำเป็นก็เอาออก แต่กว่าจะรู้ว่ามันไม่จำเป็น มันก็อยากลองนู่นลองนี่ มันเลยต้องซื้อของมา แล้วสุดท้ายก็ต้องทิ้ง (หัวเราะ) เป็นบาร์เทนเดอร์มันก็ต้องลอง

เวลาผมทำก็ใช้การนั่งดู จะทำอะไรดีวะ เติมตรงนั้นตรงนี้ เวลาคนถามคอนเซ็ปต์อะ ผมตอบไม่ได้ เพราะไม่มี ผมกะแค่ว่า ขอให้มันเป็นบาร์ แล้วสามารถเสิร์ฟค็อกเทลได้ แค่นั้น อย่างที่ผมบอกว่าอะไรไม่จำเป็นก็เอาออกไปซะ จำได้ว่าที่ Angel’s Share ของเยอะ ๆๆๆ ผมคิดว่าอยากให้มีของวางน้อยที่สุด อะไรก็ได้ เอาแค่เท่าที่ใช้พอ อะไรที่ไม่ใช้ก็ไม่ต้องซื้อมา ตอนเปิดร้านใหม่ ผมมีเหล้าแค่ 6 ขวดเองนะ วิสกี้ เตกิลา จิน รัม ตอนแรกไม่มีตังด้วย แล้วเราก็ไม่ได้อยากเอาของโชว์มาก เหล้าใส่ในฟริดจ์ส่วนนึง ใส่ในตู้ส่วนนึง แทนที่จะขึ้นเชลฟ์ก็เอาเก็บให้พ้น ไป แต่ตอนนี้เหล้าต้องมาส่งทีสามลัง เมนูก็ต้องเพิ่มไปเรื่อย

เมนูแรก ที่ทำมีอยู่แค่ 4-5 ตัว ชิงโกะมาเขานั่งนับในเมนู แบบหืม มึงมีแค่นี้เองหรอแล้วเปิดกี่วัน เปิดสามวัน ปิดกี่โมง เที่ยงคืน เพราะผมเหนื่อย ตอนอยู่ Angel’s Share ผมกลับบ้านเกือบเช้าอะ พอเรามีร้านตัวเองก็คิดว่าจะปิดเที่ยงคืน หลังจากนั้นเราจะได้ไปเที่ยวที่อื่นต่อได้ ก็ชิล ผมตั้งใจว่า บาร์มี 12 ที่นั่ง แล้วก็มีโต๊ะอีกนิดนึง ตกประมาณ 20 แหละ คำนวณดูว่าวันนึงมีคนมากินสิบแก้ว ได้เดือนนึงก็หมื่นห้า พอแล้ว

มีคนเคยบอกไหมว่าทางขึ้นมาร้านแอบหลอน แต่ดู ไปก็ดิบ ลึกลับดี

ผมไม่เคยคิดว่าหลอนเลยรู้ปะ มีช่วงนึงผมมาเช่าหอพักอยู่ฝั่งตรงข้าม ห้าพันบาท ตอนกลางวันผมก็มาที่นี่ เปิดร้านละ ส่วนการตกแต่งก็แค่ทำให้มันสวยอย่างที่เราคิดว่าสวย พออยู่ตัวแล้วก็เท่านี้ เพราะผมทำร้านอยู่ทุกวันเลยชินมั้งครับ ปกติผมมาตั้งแต่ 4 โมง ยังไม่มืดไง อยู่ตั้งแต่กลางวันก็ไม่รู้สึกหรอก จนมีอยู่วันนึง มาเดินเข้าร้านตัวเองตอนกลางคืน ตอนสองทุ่ม คือพอมีน้องมาเปิดให้ เราไม่ต้องมาเปิดเองละ ก็เพิ่งรู้สึกว่า เออ ร้านมึงหลอนว่ะ (หัวเราะ)

แล้วผมไม่ได้จะทำเป็น speakeasy เลย แค่มันมาอยู่ในที่ตรงนี้ ถ้าจะทำแบบนั้นต้องไม่ป่าวประกาศเลยนะ ผมไม่มานั่งให้สัมภาษณ์แบบนี้หรอก ผมต้องไม่มีเฟซบุ๊ก มันต้องตั้งใจจริง ไม่ใช่เอามาขายกันว่าบาร์ลับ ลับอะไรโปรโมตอินสตาแกรมทุกวัน โคตรต๊องอะ (หัวเราะ)

ไอเดียการคิดเครื่องดื่มแต่ละตัว

เมนูต่าง ที่คิดก็คือมาจากที่ตัวเองชอบ มันเลยไม่ได้เป็นคอนเซ็ปต์ตายตัว คอนเซ็ปต์มันก็คือตัวผม ไปกินอะไรอร่อยมาก็ลองทำ เราเจอประสบการณ์อะไรมาเราก็เอามาลองทำดู มีวันนึงที่ผมไปเยี่ยมพ่อที่ทำงาน แล้วเห็นพ่อกินชามะตูม เราก็แอบจิบเรื่อย รู้สึกว่าก็อร่อยดี เลยลองเอามะตูมมาแช่ในเหล้า มันก็กินได้ คือเหล้ามันมีศักยภาพในการดึงรสชาติของวัตถุดิบที่ใช้ออกมา

การทำบาร์เทนเดอร์มันก็ดีเหมือนกัน การคิดค็อกเทลหนึ่งแก้วตอนนั้นรู้สึกว่ามันไม่ง่าย ระยะทางในการคิดให้ได้หนึ่งอันมันมีอะไรเข้ามาทำให้เรารู้สึกสนุก กว่าที่จะได้ผลลัพธ์ ของที่พวกอาจารย์เราทำกิน มันทำให้เราคิดว่าเราจะทำยังไงให้ได้อย่างเขา

การเป็น mixologist นี่ยากไหม

ผมว่าทุกอย่างถ้าจะเอาให้มันดี มันก็ยากหมดทุกอาชีพอะ จะทำก๋วยเตี๋ยวยังยากเลย จะว่าง่ายมันก็ง่าย จะว่ายากมันก็ยาก พอมันถึงขั้นนึงแล้วมันก็แข่งกันเรื่องเล็ก น้อย ผมไม่เข้าใจคำว่า mixologist ให้ตายเหอะ ผมไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร แฟนผมขายไวน์ ก็เป็นแค่ wine lover ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น sommelier เคยมีครั้งนึงเราตั้งป้ายหน้าร้านว่า ‘No Somm, No Chef’ ผมเป็นบาร์เทนเดอร์นะ ใครจะทำก็ทำได้ บาร์เทนเดอร์อะ เรียกผมว่าผมเป็นคนชงเหล้าแค่นั้นก็พอ แต่มันจะมีอีกขั้นนึงที่เราสงสัยว่าเขาทำได้ขนาดนั้นเลยหรอ อันนี้ก็ค็อกเทล ไอ้นี่ก็ค็อกเทล แต่ทำไมแก้วนี้มันอร่อยกว่า ทำไมแก้วนี้สร้างความรู้สึกหลายมิติให้เราได้มากกว่า หรือค็อกเทลที่เราเคยชอบ เป็นมัทฉะ ชิงโกะเขาคิดมา มันเป็นค็อกเทลแรกที่ผมจิบแล้วรู้สึกว่า โห มันอร่อยจังเลยวะ นั่นเป็นเส้นทางที่มันทำให้เรารู้สึกว่ามันมีอะไรที่เราต้องฝึกฝนอีก เพื่อที่จะทำผลลัพธ์ให้ได้อย่างนั้น ให้ดีขึ้นไปอีกเรื่อย

ทำไมถึงเปิด ค้างคาวบาร์ natural wine bar ข้างล่าง

ผมทำร้านนี้ก็มีผมกับแฟน ผมก็ชงค็อกเทลไป เมื่อก่อนเขาขายไวน์แล้วมายืนล้างแก้วด้วย ก็ช่วยกันตรงนั้น มีกันสองคนอะครับ คนมากินเหล้าที่นี่สมัยแรก ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำข้างล่าง แล้วมีพื้นที่เหลืออยู่ มันเป็นผลพลอยได้ตอนเซ็นสัญญาเช่าตึกกับอ้วน อ้วนบอกว่าเฮ้ย มึง ห้องน้ำอะ จะทำอะไรเพิ่มเปล่าก็บอกว่าให้เพิ่มไปกับค่าเช่าอีกไม่กี่บาท แล้วเอาชั้นสองไปด้วยเลย เมื่อก่อนก็ชอบซื้อต้นไม้ ไปเดินจตุจักร มาวาง ตายบ้าง รอดบ้าง เราก็เลยเปลี่ยนจากพื้นที่ว่างมาทำเป็นบาร์ คิดว่าเปิดตรงนี้มาปีกว่าแล้วน่าจะมีอีกบาร์เล็ก ได้

ตอนอยู่นิวยอร์กเขาก็ชอบกินไวน์ มันไม่ใช่ของฟุ่มเฟือยอะไร เป็นของธรรมดาทั่วไป แล้วตอนมาถึงไทยมันก็มีแค่ร้านอาหารที่เขาขาย แต่เราอยากให้มันเป็นไวน์บาร์อย่างเดียวเลย เราทำอาหารก็ไม่เป็น และมันก็ยังไม่มี natural wine bar ให้นักดื่ม แฟนเขาก็เลยอยากทำ

Natural wine ต่างกับไวน์ทั่วไปยังไง

(ระหว่างนั้น อีเลน ภรรยาของก้องเดินผ่านเข้ามาเพื่อจะไปเตรียมร้านด้านล่างพอดี)

ก้อง: เบ๊บ natural wine คืออะไร อธิบายหน่อย

อีเลน: คุณไม่ได้เกริ่นไปหน่อยนึงละหรอ

ก้อง:  ยัง เล่าหน่อยหน่า (อีเลนยิ้มแห้ง) (FJZ: แสดงว่าคนถามบ่อยใช่ไหม) ใช่ (หัวเราะ)

อีเลน: ก็คือปกติแล้วการผลิตไวน์เขาจะใส่สารสังเคราะห์เข้าไปเยอะมาก แต่ถ้าเป็น natural wine เขาจะทำจากองุ่นที่ปลูกแบบออแกนิก ไม่ใส่อะไรเพิ่ม การหมักก็หมักตามธรรมชาติ ยีสต์เลี้ยงธรรมชาติ อย่างไวน์ที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีสารปนเปื้อนอื่น เยอะมาก อย่างสารกันเสีย สีผสมอาหาร สารที่ทำให้ไวน์ใส หรือสารที่ใช้ปรับความหวาน หรือความเปรี้ยว (acidity) เพราะธุรกิจเขาก็อยากให้ได้ผลผลิตเร็ว ประหยัดต้นทุน เขาเลยทำแบบ mass production เลยเสียคุณภาพตรงนั้นไป อันนี้ก็เลยเหมือนเราทำให้ไวน์กลับมาผ่านกรรมวิธีแบบที่มันควรจะเป็น

ก้อง: จริง มันไม่มีอะไรเป็นของใหม่เลยนะ มันเป็นของดั้งเดิม แต่เราเกิดมาในยุคที่ทุกอย่างมันสำเร็จรูปจนเราลืมตรงนั้นไปแล้ว พอตอนนี้คนมองว่า natural wine มันเก๋ ก็โอเค้ เป็นเทรนด์อะไรก็ปล่อยมันไปเถอะ ก็เรื่องของคุณ ต่อให้มันจะฮิตหรือมันไม่ฮิต ถ้ามันมีขายผมก็กินคุยแบบบ่น หน่อยนะ (หัวเราะ) ผมไม่ใช่ trend setter แค่รู้สึกว่าของมันกินแล้วดี ผมเริ่มทำ natural soda ทำน้ำส้มสายชูเอง อะไรที่มันทำง่าย ช่วยเหลือตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด ผมก็ทำหมด ผมชอบตรงนั้น เพราะชีวิตผมมันไม่ง่าย ผมเลยอยากเป็นคนง่าย เพราะการเป็นคนง่าย มันสบายใจดี

คิดว่าหลังจากทำมาได้สักพักแล้ว spirit ของ Kǔ Bar คืออะไร

ที่ผมคิดเอาเอง ตั้งกฎเกณฑ์แล้วมันมีจิตวิญญาณของคนที่ทำ พวกบาร์เก่าที่เปิดมาสักพัก เวลาไปบาร์แถวข้าวสาร Blues Bar เข้าไปแล้วแบบ โห มันมีกาลเวลาอะ พอเข้าไปแล้วรู้เอง มันจะมีความจริงจัง ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วก็รู้สึกขลังสำหรับผม

ทุกอย่างถ้ามันจะเปลี่ยน ก็ปล่อยให้มันเปลี่ยนไปเหอะ จะไปฝืนอะไรมากมาย ถ้าทำไปแล้วมันทุกข์ใจก็ไม่ใช่แล้ว

ทำไมถึงชวนเพื่อน มาเล่นดนตรีที่ร้าน

ไม่ได้มีไอเดียอะไรเลย แบงค์เปิดร้านกาแฟอยู่ข้าง ในระหว่างที่ร้านยังไม่เสร็จ ผมก็ไปนั่งกินกาแฟร้านแบงค์ พอร้านเราเปิด แบงค์มาเห็นก็ถามว่าขอมาเล่นดนตรีได้ไหม ผมก็แบบ ได้สิ แต่เล่นวันอาทิตย์วันเดียวนะ เพราะตอนนั้นร้านผมไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรให้ดู อยากให้โฟกัสที่การกินค็อกเทลอย่างเดียว ไม่อยากให้มีอะไรมารบกวนมาก แบงค์ก็โอเค โดยที่ไม่มีข้อผูกมัดใด คือถ้าจะมาต้องเปิดประตูมา สามทุ่มเล่น ไม่มีการโทรตาม มาก็มา ไม่มาก็คือไม่มีเล่น ส่วนใหญ่ก็เล่นแอมเบียนต์ แล้วก็มีทอมมี่วง Yaan ก็มาเล่นด้วย

ได้ข่าวว่าจะเปิดเป็น listening bar

คือผมกะให้มีทุกวันอังคาร ติดต่อเอาไว้คนนึง เขาจะมาเปิด เป็นอาจารย์ศิลปะ เราก็อยากรู้ว่าเขาฟังเพลงอะไรวะ เปิดจากคอมเนี่ยแหละ คือถ้าทำเป็นไวนิลเนี่ย บางคนเขาไม่ได้ฟังไวนิลอะ อย่างผม เพลงที่ชอบ ผมซื้อไวนิลจริง แต่ 50% ของไวนิลที่เคยซื้อก็แทบจะไม่ได้ฟังแล้ว ผมมีแผ่นแบบ The Strokes แต่ถึงตอนนี้ผมคงไม่มีอารมณ์จะเดินไปหยิบมาฟังเพราะมันไม่ใช่เพลงในตอนนี้ที่ผมฟังแล้ว ถ้างั้นก็เลยคิดว่าเปิดด้วยอะไรก็ได้

เพลงที่ผมเปิดในร้านก็เป็น 80% ที่ผมฟัง อีก 20% ก็ฟังแต่เปิดในร้านไม่ได้ พวก music composer เพลง 20-30 นาที มันก็นานสำหรับคนอื่นเกินไป เนี่ย ซื้อของมาเตรียมละ คือผมก็ดูจากคลิปเดียวกันแหละ (Shelter— Listening Bars เทรนด์ใหม่ของคนที่อยากจิบเหล้าเคล้าดนตรี (แบบจริงจัง)) แล้วรู้สึกว่าอยากมีที่ฟังเพลง เป็นเพลงที่เราชอบฟัง พวกแอมเบียนต์ คนที่มาเปิดเพลงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นดีเจต่อเพลง ถ้าเพลงหยุดก็เดินไปหยิบแผ่นมาเปลี่ยนก็ได้

มีอีกร้านที่ทำด้วย ชื่อ Alonetogether

คุณเติร์ก Sugarray มาชวนทำบาร์ เป็นบาร์แรกที่ผมทำแล้วมีหุ้นส่วน คือเขาอยากให้ทำแบบ Kǔ Bar แต่ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง เพราะบาร์ผม location มันค่อนข้างไกล ตอนแรกก็นึกถึงสไตล์ Bamboo Bar เป็นบาร์ที่ดี แต่เราต้องมาคิดว่า ใส่รองเท้าแตะมา ใส่ขาสั้นมาจะเข้าได้ปะวะ เลยถามว่า เฮ้ย ทำไมไม่เปิดบาร์แจ๊สอะ แต่แต่งตัวไงก็ได้ เขาก็ชอบเพราะเขาก็เล่นดนตรี ก็อะ บาร์แจ๊ส เลยไปดูที่ แล้วข้างบนมันก็มีที่ เขาก็มีไอเดียจะทำร้านขายแผ่นเสียง เติร์กก็ไปชวนพี่โอ ร้านขายแผ่นเสียง มา เขาชอบสูบซิการ์ด้วย ก็มีหลาย คนก็สนุกดี ผมก็ดูบาร์ข้างล่างไป แล้วมีพี่เป็นอาจารย์มหิดลมาเป็น music director คอยคัดเลือก live band เพราะเราไม่รู้จักนักดนตรีเลยว่าจะไปเลือกใครมา เขาก็ไปเลือกเครื่องดนตรี ดูเปียโน ดูกลองให้เรา คือการทำงานเป็นทีมมันก็จะแบ่งส่วนกันไปเลย ดริงก์เขาจะไม่มายุ่งอะไรกับผม แก้ว เหล้า เครื่องมือ จะสั่งอะไรเท่าไหร่ก็แล้วแต่ผมเลย

เร็ว นี้จะทำอะไรอีกรึเปล่า

ตอนนี้ผมจะชอบอะไรที่มัน local ธรรมชาติ ล่าสุดผมไปบาหลีมา เขาก็พาไปลงคอร์สทำอาหาร สั้น วันนึงเงี้ย เขามีวัฒนธรรมด้านอาหาร มีประวัตินานมาก มีคนกินขมิ้นเป็นช็อต เรียกว่าจามูผมก็เลยรู้สึกว่าถ้าผมทำเอง ใส่ให้คนไทยกิน ใส่ไปเลย 3 แง่งต่อช็อต เน้น ไปเลย เดือนหน้าเลยจะเปิดบาร์ที่บาหลี คงเหมือน Kǔ Bar ตรงที่ใช้ local ingredients มันมีอะไรหลาย อย่างที่บาหลีที่น่าสนใจ ก็เลยตัดสินใจทำบาร์ที่นั่น

Kǔ Bar

คิดถึงช่วงเวลาเล่นดนตรีไหม

คิดถึงครับ อย่างตอน Goose ขึ้นเห็ดสดผมก็ยังอยู่อเมริกา แต่หลังจาก Goose ผมก็ทำเพลงกับเพื่อนที่อยู่หอเดียวกัน ทำเล่น ควักเงินคนละครึ่ง เป็นเทปออกมาตอนอยู่นิวยอร์ก ยังมีอยู่ใน YouTube อยู่เลยชื่อ Anupas Premanuwat & Teerapat Parnmongkol

มีโอกาสที่ Goose จะกลับมา reunion กันรึเปล่า

ไม่รู้ ไม่แน่ ต้องลองเจอ ลองคุยกันก่อน คือเพื่อนกันเจอกันมันก็อะไรปกติแหละ แต่อย่างที่บอก เราก็มีภาระอะไรกัน การทำวงดนตรีมันยาก คือพอมันเป็นวงผู้ชาย 5 คนก็จะมีความคิดหลาย แบบ ไอ้โน่นชอบอย่างนี้ ไอ้นี่ชอบอย่างนั้น แล้วพอมันมีบางคนไม่ compromise ทำตัวยาก มันก็ยากเข้าไปอีก เรื่องการประคับประคองวงมันยาก วงเลยแตก คือถ้าทุกคนถอยกันคนละก้าว แล้วไม่เอาตัวเองเข้ามามาก มันก็โอเค

ตอนทำ Goose วงอยู่ Smallroom แต่ทำไมไปสนิทกับชาวแก๊ง SO::ON Dry Flower

เราเป็นเพื่อนกันมานานมาก ก็คือพี่พลัมณภัทร สนิทวงศ์ เขาเอาซีดี Goose ไปให้พี่ Koichi Shimizu มิกซ์ เราเลยรู้จักเขามานานแสนนาน แล้วตอนเขาทำเพลง ทำวง ทำค่าย เขาก็ชวนว่ามาทำด้วยกันไหม ผมก็ไปช่วยเขาทำโปสเตอร์ กับน้องอีกคนนึง เพราะงั้น Desktop Error กับ Goose เลยรู้จักกัน

Kǔ Bar

คิดยังไงกับ SO::ON Dry Flower

มันเป็นค่ายที่ให้อะไรกับซีนเยอะมากเลยนะ ผมว่าพี่โคอิชิเป็นคนที่น่าชื่นชม แกทำอะไรเยอะ คุณคิดดูดิ ใครจะทำงานดนตรีแบบนั้น บ้านเราเนี่ย จนก็จน เมียก็ด่า ยอมเจ็บตัวขาดทุน แล้วเขาทำตอนอายุ 30-40 อะ บางคนเขาเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย มั่นคง แต่นี่จัดคอนเสิร์ตทีก็ต้องมาลุ้นกันว่าจะขายได้รึเปล่า แต่ก็ทุกครั้ง เขาโชคดีที่มีคนฟังแหละ พอบอกว่าวงนี้จะเล่น คนก็ซื้อบัตรมาดู ก็เลยรู้สึกว่าเยี่ยมมาก รู้สึกดีใจที่ได้อยู่ในซีนสมัยนั้น

ตอนนี้ได้ตามฟังเพลง ตามดูคอนเสิร์ตบ้างไหม

0 เลย ไม่เคยดูคอนเสิร์ตอะไรอีกเลย หนึ่ง ทำบาร์ สอง อยากไปนะ แต่รอพี่โคอิชิจัด (หัวเราะ) ไม่รู้อะ เพลงเราก็ฟังคนละแบบกันแล้ว ผมไม่ได้ฟังเพลงอย่างที่เขาจัดกันแล้ว วงที่มาไม่ได้ฟัง ก็ไม่ได้ไป หรือวงไหนน่าไป ก็ติดงานอีก เขาชอบจัดกัน พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ บางทีเราต้องยืนบาร์

ตอนกลับมา เชื่อไหม คิดอยู่สองอย่าง ว่าจะทำบาร์ หรือทำดนตรี พี่โคอิชินัดเจอ กินหมูกะทะกัน พอถามไถ่เขาก็บอกว่ากูกำลังจะยุบ SO::ON Dry Flower’ ผมก็แบบ เอาเลยพี่ เอาที่พี่สบายใจ จะไปแบกภาระทำไม คือเราจะไปเห็นแก่ตัวว่าทำต่อเถอะพี่มันก็ไม่ได้ พี่โคอิชิเขาอยากทำอัลบั้มแกเองด้วยไง ทำ hard techno เขาสายอิเล็กทรอนิก เล่นโมดูลาร์ ทอมมี่ก็เล่นโมดูลาร์ เป็นเครื่องที่ยังไม่ทันเล่นแต่แค่ดูก็สนุกแล้ว ก็เลย ดีละ ทุกอย่างถ้ามันจะเปลี่ยน ก็ปล่อยให้มันเปลี่ยนไปเหอะ จะไปฝืนอะไรมากมาย ถ้าทำไปแล้วมันทุกข์ใจก็ไม่ใช่แล้ว

เป็นเวลาสี่โมงเย็นพอดีที่ประตูหน้าร้านถูกเปิดออก ลูกมือของก้องเดินเข้ามาทักทาย ต่างคนต่างหิ้วถุงผัก ผลไม้ถุงใหญ่ในมือราวกับเพิ่งไปจ่ายตลาดกัน ซึ่งอันที่จริงแล้วเหล่านั้นคือวัตถุดิบที่พวกเขาใช้ทำส่วนผสมในค็อกเทล เห็นทีว่าเราต้องจบบทสนทนาไว้เท่านี้เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมเปิดร้านกันต่อ เราบอกลาทีมงานบาร์ทุกคน ก้องทิ้งท้ายอย่างเป็นกันเองก่อนพวกเราจะเดินลับประตูไป

ไว้ว่าง มานั่งคุยกันต่อก็ได้

Kǔ Bar

 


Kǔ Bar

ชั้น 3 ซอยข้างร้าน Brownsugar
469 ถนนพระสุเมรุ แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร
กรุงเทพ ฯ 10200

เปิดวันพฤหัสบดี-อาทิตย์ 19.00-00.00 น.
โทร 02-067-6731
Facebook https://www.facebook.com/ku.bangkok/


อ่านต่อ

Head Talk : Have A Goose Day!
เมื่อชาวตลาดลองฟังเพลงวง Goose

จาก Goose สู่ความสุกสกาวครั้งใหม่ในนาม Sunrise, Moon Bright
GHOST ปล่อยเพลงโพสต์ร็อกแสนเหงา เคล้ากลิ่นฝน ‘SOAK ( RAINY )’
Strange Fruit ไวนิลบาร์ย่านสุขุมวิท เปิดบ้านต้อนรับเพื่อนใหม่ที่รักแผ่นเสียง

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้