Feature เห็ดนอกใจ

นักดนตรี กับ หมอ สองบทบาทที่แตกต่างกันสุดขั้วของนีน่า Why Frank

  • Writer: Teeraphat Janejai
  • Photographer: Chavit Mayot

สังคมเราชื่นชมคนฉลาดเยอะมากพอแล้ว เราควรจะชื่นชมคนที่ทำอะไรให้สังคมมากกว่า เราอยากให้ดูกันที่ผลงานมากกว่าสิ่งที่อยู่ในหัว

การเล่นดนตรีถูกจัดให้อยู่กลุ่มความสามารถจากสมองซีกขวา ซึ่งตรงกันข้ามกับความสามารถประเภทการใช้ตรรกะ ภาษา การเขียนและอ่านที่อยู่ซีกซ้าย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้สมองทั้งสองซีกได้ดีพอ ๆ กัน

หนึ่งในนั้นคือบุคคลประจำคอลัมน์ เห็ดนอกใจ ที่เราอยากนำเสนอในเดือนนี้ ด้านหนึ่งเธอคือมือกีตาร์วงดนตรีอินดี้นาม Why Frank วงป๊อปร็อกที่มีเพลงฮิตอย่าง Who am I ที่ได้พี่โหน่ง Photo Sticker Machine ร่วมปรับแต่งจนกลายเป็นเพลงฮิตติดท็อปชาร์ต ซึ่งจากฝีไม้ลายมือที่แสดงออกบนเวทีนั้น คงไม่มีใครนึกถึงว่าอีกด้านหนึ่งหรืออาชีพหลักของ นีน่า – พิรัฐิมา วชิรปราการสกุล คือ หมอ

เราตั้งเป้ากับการคุยครั้งนี้ว่าจะได้รับรู้และถ่ายทอดมุมมองของอาชีพที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุยด้วยเท่าไหร่ และน่าจะทำให้เราเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่เรามีต่อคนที่เรียนและประกอบอาชีพแพทย์ที่ใคร ๆ ก็ต่างมองว่าชีวิตของพวกเขามีเพียงการท่องตำรา

img_9934

แนะนำตัวหน่อย

พิรัฐิมา วชิรปราการสกุล เรียนจบแล้ว กำลังเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทั่วไป ปีที่สอง เป็นแพทย์ประจำบ้าน

ก่อนจะไปคุยเรื่องอื่น ‘แพทย์ประจำบ้าน’ แปลว่าอะไร?

เป็นแพทย์ที่มาเรียนต่อเฉพาะทาง คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเรียนหมอ 6 ปี คือจบแล้ว คนที่เรียนจบ 6 ปี จะเป็น general practioner ซึ่งก็ทำงานได้เช่นกัน แต่หากอยากเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดเป็นพิเศษก็สามารถเลือกเรียนต่อได้ ซึ่งก็จะมีหลายทางให้เลือก ส่วนคำว่าแพทย์ประจำบ้านคิดว่าน่าจะแปลทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า residency เพราะเวลาเรามาเรียนเฉพาะทาง ชีวิตของเราก็จะกินอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหมือน resident ในโรงพยาบาล

สนใจเรื่องไหนก่อนระหว่างการเล่นดนตรีกับการเป็นหมอ

หมอเป็นหนึ่งตัวเลือกในการเรียนมหาวิทยาลัย ตอนเด็ก ๆ เราสนใจวิทยาศาสตร์ พอโตขึ้นมาก็คิดอยากเรียนสถาปัตย์ ตอน admission ก็สอบสถาปัตย์กับหมอ เพราะส่วนหนึ่งที่บ้านก็อยากให้เรียนหมอ แต่ไม่เชิงบังคับ พ่อแม่ก็เปิดโอกาสให้เลือก เราเองคิดว่าการเป็นหมอเป็นวิชาชีพที่ไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาเป็นก็ได้ และยังได้ทำประโยชน์ให้กับทุกคนด้วย แต่ในความชอบส่วนตัวก็มีหลาย ๆ อย่างที่อยากทำและสนใจ ดนตรีก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่อยากทำ เราเริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ แม่ให้ไปเรียนเปียโน แต่เราก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เล่นแค่พอได้ เครื่องดนตรีที่มาสนใจเล่นจริงจังก็คือไวโอลิน ตอนนั้นน่าจะสัก ป.1 ได้ แล้วก็มีคุณครูที่รู้จักกันชวนให้ไปร้องเพลงประสานเสียง ก็เป็นจุดแรกที่ทำให้หันเหจากการเล่นไวโอลิน มาเริ่มจับกีตาร์และร้องเพลง ตอนนั้นเราก็จะรู้จักแต่เพลงคลาสสิก พอโตขึ้นมาถึงมารู้จักเพลงป๊อปไทย ช่วงนั้นก็ได้รู้จักเพื่อน ๆ ที่ชอบเล่นดนตรีเหมือนกัน สนใจอะไรคล้าย ๆ กัน รวมตัวเล่นดนตรีกันและก็กลายมาเป็นงานอดิเรกของเรา

นั่นคือจุดเริ่มต้นของวง Why Frank?

ใช่ เริ่มมาจาก พราว (ร้องนำ) เป็นเพื่อนสมัยม.ปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ตอนนั้นก็แค่รู้ว่าสนใจดนตรีเหมือนกัน มาเริ่มวงจริง ๆ ก็ตอนที่แยกย้ายกันไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว น่าจะสักปี 4 ตอนนั้นทุกคนก็น่าจะพอมีเวลาว่างมาเล่นด้วยกันบ้าง พราวแต่งเพลง Who am I ทำไลน์ดนตรีมาเสร็จแล้ว ก็เอามาให้ทุกคนฟัง ซึ่งก่อนหน้านั้นทุกคนไม่ได้มีเป้าหมายว่าที่เรามารวมวงกันแล้วจะต้องทำเพลงอย่างจริงจัง แต่พอได้ฟังเพลงของพราวเราก็เริ่มสนใจที่จะทำให้มันสำเร็จ ความรู้สึกมันเหมือนว่าเพื่อนเราแต่งเพลงออกมาได้หนึ่งเพลง ทุกคนก็อยากจะสนุกไปด้วยกัน แล้วปรากฎว่ากระแสตอบรับจากคนฟังก็ถือว่าดี ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับพราวที่ผลักดันให้วงมีผลงานของตัวเอง

แต่การเรียนและเป็นหมอก็น่าจะใช้เวลาและพลังงานเยอะพอสมควร แบบนี้แล้วยังมีเวลาว่างมาเล่นดนตรีอีกเหรอ

เอาจริง ๆ ก็ไม่ค่อยว่าง (หัวเราะ) แต่ถ้ามีเวลาว่างเราก็เลือกที่จะให้เวลากับดนตรี แม้ว่าจะเป็นเวลาอันน้อยนิดที่มี แต่ปกติเราก็เป็นคนที่ชอบเล่นดนตรีอยู่แล้ว อยู่คนเดียวที่บ้านก็จับกีตาร์ร้องเพลงอยู่ตลอด ถ้ามีใครชวนไปเล่นงานไหน เวลาเรามี เราก็พร้อมไปเสมอ สมาชิกในวงทุกคนก็จะมีงานประจำเป็นของตัวเองอยู่แล้วด้วย ไม่ใช่แค่เราที่ไม่ว่าง ก็จะมีน้องคนหนึ่งที่คอยดูแลว่ามีงานอะไรเข้ามาบ้าง แล้วก็จะมาถามตารางเวลาของทุกคน ว่างก็ไป ไม่ว่างก็ไปไม่ได้จริง ๆ พอทุกคนเข้าใจตรงกันก็เลยไม่มีปัญหาเท่าไหร่ 

ทั้ง ๆ ที่ทุกคนในวงก็มีอาชีพหลักที่ต่างกัน เวลาว่างก็ไม่ตรงกัน อะไรเป็นสิ่งยึดโยงให้ทุกคนยังเล่นดนตรีด้วยกันอยู่

ก็ต้องยกเครดิตให้พราว เขาเป็นคนที่มีไอเดียเยอะ ส่วนเราก็จะเป็นคนคอยช่วยคิด ทำให้เรายังมีผลงานใหม่ ๆ ให้ทำอยู่เรื่อย ๆ และทุกคนก็สนุกเวลาได้มาเจอกัน ได้ซ้อมเพลงใหม่ ๆ ทุกคนอยากเล่นดนตรี ทำให้เราเต็มที่ทุกครั้งที่มารวมตัวกัน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจตรงกันว่าทุกคนมีเวลาจำกัด มันก็มีความลำบากอยู่บ้าง หลังจากนี้น้องมือเบสก็กำลังจะไปเรียนต่อ ก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่จะได้คุยกันว่าจะเอาอย่างไรต่อ ถ้าเรายังไหว เรายังมีเวลาให้ทำอยู่ เราก็จะทำ ถ้าไม่ได้ก็เราก็ไม่อยากที่จะต้องบังคับตัวเอง

img_9940

เพื่อนที่เรียนหมอด้วยกันรู้หรือเปล่าว่ามีวงดนตรี

ก็รู้นะ แต่อาจจะไม่รู้ว่าเรามีเพลงของตัวเอง เคยมีเพลงของเราถูกเปิดบนวิทยุ หรือไปออกงานเล่นจริงจัง

จริง ๆ แล้วสังคมของอาชีพหมอเป็นอย่างไร

คนเป็นหมอก็มีหลายประเภท ไม่ใช่ว่าจะต้องเนิร์ด อ่านหนังสือเรียนอย่างเดียว หมอที่เล่นดนตรีหรือมีงานอดิเรกที่น่าสนใจก็ยังมีอีกเยอะ แต่อาจจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ บางทีเราก็จะโดนคนอื่นแซวว่านี่ยังเรียนหมออยู่หรือเปล่า ทำไมในเฟสบุ๊กดูมีแต่ความบันเทิง ทำกิจกรรมนั่นนี่ ซึ่งเราก็จะบอกว่าเราไม่เคยลงรูปหรือแชร์อะไรในเวลางานนะ ที่เห็นทั้งหมดเราทำนอกเวลางานทั้งนั้น หมอแต่ละคนก็จะมีวิธีจัดการความเครียดของตัวเองที่ต่างกัน

มีชีวิตอยู่ระหว่างสองอย่างที่สุดขั้ว ชอบอะไรมากกว่ากัน

การทำเพลงมันก็มีมุมเครียดบ้าง แต่มันเครียดเพราะว่าเราอาจจะทำออกมาได้ไม่เหมือนกับที่คิดไว้ แต่ตอนทำงานเราเครียดเพราะเราต้องตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย การเป็นหมอก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตคน ก็จะเป็นความเครียดอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เราชอบทั้งคู่ในต่างมุมกัน

ชีวิตทั้งสองด้านมีอะไรที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกันไหม

แน่นอนว่าดนตรีมันก็ช่วยให้เราผ่อนคลายจากการทำงานได้ มีอาจารย์หมอท่านหนึ่งชอบเปิดเพลงในห้องผ่าตัด แต่ในทีนี้คือคนไข้ดมยาสลบไปแล้วนะ เขาเปิด Oasis เพลงยุค 60s 70s บ้าง funk ของญี่ปุ่นก็มี ถ้าได้เข้าห้องผ่าตัดกับอาจารย์คนนี้ก็จะมีความสุขมาก ส่วนการเป็นหมอนั้นทำให้เราเป็นคนที่มีวิธีคิดเป็นตรรกะ แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้กับการเล่นดนตรี เพราะเมื่อเราเปลี่ยนบทบาทเป็นนักดนตรี เราก็จะใช้อารมณ์ความรู้สึกในการเล่นมากกว่า

5 อันดับความยากในการเรียนและเป็นหมอ

1—การเรียนรู้ในวิชาชีพแพทย์ไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องอัพเดตความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา สิ่งที่เราเคยเรียนอาจจะถูกทฤษฎีใหม่ ๆ พิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงอีกต่อไปก็ได้

2—ต้องมีความขยันมากในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่านักเรียนแพทย์ทุกคนจะหัวดีเท่า ๆ กัน ไม่ใช่ว่าเราจะเก่งทุกเรื่อง ถ้าคิดจะเรียนทางนี้ก็ต้องพกความขยันมาบ้าง

3—ต้องอดทน เราเรียนหกปี ในขณะที่เพื่อน ๆ เราที่เรียนสาขาอื่นเขาเรียนจบกันหมดแล้ว เขาทำงานกันแล้ว

4—พอจบหกปีแล้วก็ต้องเป็น intern ใช้ทุน กรณีที่รู้ว่าอยากเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาไหนก็จะไม่มีปัญหามากนัก ก็สามารถเลือกไปฝึกงานอยู่ในรพ.ที่มีฝึกในสาขานั้น ๆ ได้เลย แต่ 70% ของคนที่เรียนจบหกปีมักจะไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนเพิ่มเติมในด้านไหน ก็มักจะไปจบที่การใช้ทุน ถ้าเคยดูหนังเรื่อง ‘หมอเจ็บ’ ก็จะนึกภาพออกที่ทุกคนต้องไปเลือกจังหวัดที่อยากไป จับฉลาก แต่ละจังหวัดก็จะมีโควตารับสมัครไม่เท่ากัน ความฮิตของแต่ละจังหวัดก็ไม่เท่ากัน มีรุ่นพี่ทำรีวิวด้วยซ้ำ โรงพยาบาลนี้สต๊าฟดี ได้เงินค่าเวรเท่าไหร่ เดินทางไปยังไง ความเป็นอยู่และการทำงานที่รพ.นั้นเป็นอย่างไร ก็ทำให้หลายคนมีจังหวัดในใจ ถ้าจังหวัดไหนคนเลือกเกินโควตาก็ต้องจับฉลาก การเรียนต่อเฉพาะทางก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องหินของการเป็นหมอ ใช้เวลาเรียนอีกสามถึงสี่ปี

5—การอยู่บนความเป็นความตายของคน

img_9959

คิดอย่างไรกับค่านิยมของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเรียนหมอ อาชีพนี้มันสวยหรูหรือการันตีรายได้จริงหรือเปล่า

มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่เข้ามาเรียนหมอคิดที่จะเป็นหมอแบบไหน อย่างเราเองเลือกที่จะอยู่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งปริมาณงานนั้นคงทำให้เราไม่ได้อยู่อย่างสบายเท่าไหร่ จริงอยู่ว่าอาชีพหมอมีความมั่นคงในตัวเองอยู่แล้ว เช่น ถ้าคุณเรียนจบ 6 ปี เป็นแพทย์ทั่วไป จะทำงานที่ไหนก็ได้ ความต้องการยังมีสูง ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าความมั่นคงด้านอื่น ๆ ที่เขามองหาคืออะไร อยากได้เงินเยอะ อยากสบาย หรืออยากทำในสิ่งที่อยากทำ ถ้าอยากได้เงินเยอะก็สามารถเปิดคลีนิกเอง ไม่ก็ทำคลีนิกโรคผิวหนัง เป็นเส้นทางที่ได้เงินเยอะมากและเป็นการทำมาหากินโดยสุจริตด้วย ส่วนเรื่องว่าสบายมั้ยก็คงตอบได้เต็มปากว่าไม่เลย ไหนจะเรื่องการเข้าเวร โดยเฉพาะเราที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน บางทีเราเข้าเวร 24 ชม. ด้วยซ้ำไป อาจมีบางวันดวงดีไม่ค่อยเจอเคสอะไรก็จะมีเวลาได้นอนพักบ้าง และแน่นอนว่าการที่เราต้องอยู่ระหว่างความเป็นความตายมันไม่สนุกอยู่แล้ว ไหนจะเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็นในข่าว ซึ่งนั่นทำให้หลาย ๆ คนคิดที่จะหนีออกจากอาชีพนี้ไปไม่น้อย แต่เราเองก็เข้าใจคนไข้นะว่าความช้าของระบบในโรงพยาบาลรัฐก็คงทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ แต่ก็อยากให้เข้าใจฝั่งเราบ้าง เพราะเชื่อว่าบุคลากรทุกคนก็พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว สุดท้ายแล้วถ้าไม่ได้ชอบหรือไม่พร้อมที่จะเจอเรื่องเหล่านี้ก็อย่าบังคับให้ใครมาเรียนหมอเลย

ถ้ามองจากมุมมองของคนเป็นหมอ คิดว่านี้เป็นสายอาชีพที่ฉลาดที่สุดอย่างที่สังคมเข้าใจหรือเปล่า

เราขอยกคำพูดของแม่มา แม่จะพูดว่า เราอาจจะเป็นคนเก่งแต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมี EQ หมอที่ IQ ทะลุ 180 นั้นมีแน่ ๆ แต่ EQ ไม่เหลือเลยก็มีเยอะ คนที่บาลานซ์ดีทั้งสองอย่างก็มี เราเองก็ไม่ได้ต้องการให้คนมายกย่องเราว่าเราฉลาด เราเก่ง อยากให้มองว่าหมอก็คือคนทั่วไปเหมือนกัน แต่ละอาชีพก็มีความถนัดของเขา มีความฉลาดในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญ สังคมเราชื่นชมคนฉลาดเยอะมากพอแล้ว เราควรจะชื่นชมคนที่ทำผลงานและทำอะไรให้สังคมมากกว่า เราอยากให้ดูกันที่ผลงานมากกว่าสิ่งที่อยู่ในหัว เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนในสังคมที่น่าพูดถึง ทุกอาชีพก็มีเกียรติเหมือนกัน เราไม่ได้อยากให้ใครต้องมาจัดอันดับให้หมอเป็นอาชีพที่มีเกียรติที่สุด และเราก็เชื่อว่าหมอส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการการยกย่องจากสังคมมากมายอย่างที่เป็นอยู่

มองอนาคตตัวเองกับการเป็นแพทย์ไว้อย่างไร

ถ้าเรียนจบก็คงเลือกอยู่โรงพยาบาลรัฐสักแห่งหนึ่ง ถ้าพูดเรื่องเงินโรงพยาบาลเอกชนก็ดีกว่าอยู่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นของเราในการมาเรียนคือเราอยากรักษาคน ไม่ได้อยากรวยจากอาชีพนี้

แล้วอนาคตกับเรื่องดนตรี

เดี๋ยวจะได้ไปเล่นที่งาน Noise Market ซึ่งก็น่าจะเป็นงานสุดท้ายก่อนที่น้องในวงจะไปเรียนต่อ ส่วนเพลงใหม่ก็มีอยู่ในสต็อกไว้พอสมควรเพียงแต่ยังทำไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ก็หวังว่าจะได้ทำและปล่อยให้ฟังเร็ว ๆ นี้

เคยเจอคำถามที่ว่า ‘ทำไปทำไม’ บ้างไหม ในเมื่อไม่ได้มีความคิดที่จะหารายได้จากการเล่นดนตรีอยู่แล้ว

โชคดีที่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลยรวมทั้งคนในวง ไม่มีใครในวงเคยสงสัยว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ เคยมีแค่ช่วงหนึ่งที่น้อง ๆ ในวงอยากทำอะไรให้มากกว่านี้ แต่ด้วยความที่เรากับพราวโตสุดในวง เราก็ต้องอธิบายให้ทุกคนฟังว่าเราก็อยากทำ แต่ถ้าใครอยากไปไกลกว่านี้ มุ่งทำเพลงให้มากกว่านี้ เราก็คงจะไม่ไหว และก็ไม่อยากรั้งใครไว้ แต่พอสุดท้ายเมื่อน้อง ๆ เริ่มทำงานมีภารกิจของตัวเองเขาก็เข้าใจ วันข้างหน้าเราอาจจะไม่มีเวลาที่จะให้กับดนตรีแล้วก็ได้ แต่ ณ ตอนนี้ทุกคนพอใจกับสิ่งที่ทำอยู่

ในฐานะที่มีชีวิตอยู่ในสองโลกที่ใช้สมองคนละซีก พอจะสรุปได้ไหมว่าตัวตนของทั้งสองโลกนั้นแตกต่างกันอย่างไร

ในโรงพยาบาลเราก็จะเป็นคุณหมอใจดีคนหนึ่ง เป็นศัลยแพทย์สายซอฟท์ ทำงานเต็มที่ แต่พอหลุดออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ค่อยเหมือนหมอเท่าไหร่ (หัวเราะ) เราก็เล่นทุกอย่าง เฮฮาปาร์ตี้ ทำกิจกรรมเยอะ ก็เต็มที่ในอีกแบบหนึ่ง มีเล่นดนตรีที่ไหน จะซ้อมดึกแค่ไหนเราก็ไป ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เราชอบเหมือนกัน พยายามรักษาสมดุลระหว่างสองอย่าง งานก็ไม่เสีย และดนตรีก็ยังได้เล่น

img_9931

รับฟังเพลงจาก Why Frank บนเว็บไซต์ฟังใจได้ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Teeraphat Janejai

ธีรภัทร์ เจนใจ กองบรรณาธิการ Fungjaizine ที่มักสนุกกับการเปิดเพลงในรถมากกว่าการไปคอนเสิร์ต และชอบนั่งสวนพอๆ กับนั่งบาร์