cold-brew-studio-win-wittawin

Interview

‘Multiverse of 9ww’ หลากบทบาทที่คุณอาจยังไม่รู้จากชายนามว่า ‘วิน’

  • Writer: Teramet Tongsong
  • Visual Designer: Chanikarn Charun

วิน–วิธวินท์ อมรรัตนศักดิ์ เจ้าของ COLD BREW Studio ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตผลงานของศิลปินมากมาย หนึ่งในสมาชิก mamakiss นอกจากการทำเพลงแล้วเขายังเป็นคนที่หลงใหลในดนตรีแนวซิตี้ป๊อป จนถึงขั้นศึกษาและถอดแบบจากต้นฉบับอย่างจริงจัง และด้วยความที่เขาตัวเองว่าเป็นคนขี้เบื่อจึงชอบหาอะไรให้ตัวเองมีอะไรทำอยู่ตลอดเวลา เขาจึงมีอีกหนึ่งบทบาทที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ นั่นคืออาชีพการทำเพจ ไม่ว่าจะเป็น ไดโนเศร้า หรือ โดนไล่มาเล่นในนี้ และ Ghostคือโง่ โมโหคือบ้า ที่เป็นไวรัลให้เห็นผ่านตาเรื่อย ๆ เราจะพาทุกคนไปค่อย ๆ เจาะลึกลงไปในแต่ละช่วงชีวิตของเขาและสำรวจมุมมองทางดนตรีของเขาคนนี้ด้วยกัน ไปเลย!

COLD-BREW-STUDIO-1

เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เมื่อไร

จริง ๆ แล้ว อาจจะเหมือนคนทั่วไปในสมัยก่อนเลยก็คือรู้จักดนตรีเพราะแม่ให้ไปเรียนดนตรีวันเสาร์-อาทิตย์ เด็ก ๆ 5-6 ขวบ แม่ก็ให้ไปเรียนเปียโน เพราะยุคนั้นจะเป็นความเชื่อว่าการเรียนเปียโนแล้วจะช่วยเสริมสร้างสมาธิ แม่ให้เรียนก็เรียนไปเรื่อย ๆ มันก็เริ่มซึมซับ แล้วก็เริ่มชอบฟังเพลง สักพักหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากเรียนเครื่องดนตรีที่เราชอบ เริ่มจากเรียนกีตาร์ก่อน ตอนนั้นเด็กผู้ชาย ป.5-ป.6 เล่นกีตาร์แล้วมันเท่ แล้วก็สักพักอยากตีกลอง ก็เรียนและเริ่มอิน สนุกกับมัน ช่วงม.ต้นก็ได้ฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ เล่นดนตรีกันไป

แล้วตอนนั้นมหา’ลัยดนตรีเป็นอะไรที่ฮอตมาก เราก็ตั้งเป้าตั้งแต่มัธยมฯ เลย ว่าจะเรียนดนตรี ก็จะทะเลาะกับพ่อกับแม่แทบตายกว่าจะได้เรียน สุดท้ายมหา’ลัยเราก็คือเลือกเรียนดนตรีเลย พอได้เรียนเราก็แฮปปี้กับสังคมที่มันโอบล้อมไปด้วยดนตรี ก็ชอบทำงานมาเรื่อย ๆ 

แล้วจุดเปลี่ยนอีกรอบคือประมาณปี 2556 ปีนั้นเหมือนเป็นปีที่เขาเปลี่ยนการเปิดเทอม มันจะมีช่วงว่างที่ยาวนาน โคตร ๆ ประมาณ 5 เดือน คนอื่นเขาฝึกงานกันปี 3 ปี 4 แต่เรายังอยู่ปี 2 แล้วมันมีเวลาตอนปิดเทอมประมาณสามเดือน (ช่วงนั้นคือช่วงปีที่เปลี่ยนเวลาเปิดเทอมของม.รัฐ) พี่ซันนี่ วง Sunny Trio มือเปียโนแจ๊ซอันดับต้น ๆ ของไทย กำลังหาเด็กฝึกงานพอดี เราก็ลองทักไป แล้วก็ได้ฝึกงานที่ห้องพี่ของซัน ตอนนั้นทำหน้าเป็น Sound Engineer อัดเสียง แล้วตอนนั้นก็คือมันเป็นช่วงฝึกงานที่ดีตรงที่ว่าคนที่มาทำงานที่ห้องอัดของพี่ซันจะเป็นนักดนตรีท็อป ๆ ของไทยทั้งนั้นเลย (ช่วงนั้นคือทีมแบ็คอัพของ The Voice Thaliand) เวลามาทุกครั้งจะได้ฟังเพลงเพราะ ๆ ทุกครั้ง ก็เริ่มรู้สึกว่าสนุกดี เหมือนหูเราก็เริ่มเปลี่ยน ได้เห็นพี่ซันเล่น ได้ตามไปทุกงาน อันนี้เหมือนเป็น turning point แรกของเรา

เวลานั้นก็ได้เจอ พี่รัฐ Tattoo Colour มาอัดเสียงที่ห้องพี่ซัน ตอนนั้นพี่รัฐจะโปรดิวซ์ พี่ป๊อป ปองกูล เพลงปิดประตู พี่เขาก็จะมากับทีมเขียนเพลง Welfare6 พี่รัฐ Tattoo Colour, พี่บิว Lemon Soup พี่อ๊อฟ Rats Records พวกพี่ ๆ ก็เข้ามาโปรดิวซ์งานกัน พี่สามคนนี้เวลาจะโปรดิวซ์งานอะไรก็จะไปห้องพี่ซัน แล้วก็จะเจอเราตลอดจนสักพักก็ได้คุยกัน แล้วพี่บิวก็ถามเราว่า “วินทำเพลง ทำสกอร์ ทำอะเรนจ์ ได้ไหม พี่ทำไม่ทัน” เราก็บอกไปว่าทำได้ครับ ตอบไปก่อน (ขำ) แล้วก็ได้ทำงานกับพวกพี่ ๆ เขามาจนถึงทุกวันนี้

 

เรื่องราวการเล่นดนตรีช่วงในมัธยมฯ

เมื่อก่อนตอน ม.1 เพื่อน ๆ ในรุ่นของเราก็จะเริ่มฟังเพลงกันแล้ว จะมีกลุ่มคนฟังเพลงประมาณสองกลุ่มหลัก ๆ ก็คือกลุ่มที่เป็นเมนสตรีมไปเลย ยุคนั้นน่าจะเป็น Grammy, RS, Kamikaze ถ้าฝั่งอินดี้เลยจะเป็น Smallroom อินดี้ในแง่ของเราตอนสมัยนั้นนะ เรายังไม่รู้ความหมายหรอกว่า Independent Music มันคืออะไร ตอนนั้นชอบ Tattoo Colour มาก แกะเพลง Smallroom กับเพื่อนเล่นกัน แล้วโรงเรียนเราจะมีไอดอลที่คนจะพูดถึงกันคือ พี่เอี่ยว The Richmantoy คนนี้เป็นตำนานของโรงเรียนเลย (ที่ต่อมาพอโตมาแล้วก็ได้รู้จักกัน เป็น archievement ในชีวิตเลย (ขำ)) 

ตั้งแต่ ม.1 ก็เล่นดนตรีทำวงมาเรื่อย ๆ จนถึง ม.6 เลย ศึกษาหนักมาก อินมาก คือถือ iPod ตลอดเวลา ฟังเพลงแกะเพลง พอม.ปลายก็โดนทาบทามให้ไปเล่นกับวงรุ่นพี่ (พี่เต๋า มือเบส แบ็คอัพ ของ YOUNGOHM) สมัยมัธยมก็เห็นรุ่นพี่โรงเรียนสอบติดมหาลัยดนตรีกัน เราก็ไปคลุกคลีกับเขา หาข้อมูลเตรียมสอบไป พอช่วงรอยต่อระหว่าง ม.6 กับมหา’ลัยที่จะต้องสอบเข้าคณะดนตรี มันต้องเล่นอย่างอื่นเป็นด้วย ต้องเล่นเปียโนได้ เราก็ต้องไปขุดสกิลเด็ก ๆ มา เพราะเลิกเล่นเปียโนไป 4-5 ปี แล้วก็ขุดกลับมาเล่นใหม่ 

ช่วงมัธยมฯ นี่คีย์คืองานโรงเรียนเลย เล่นกันปีละครั้งตอนวันเด็ก ต้องซ้อมเพื่อจะไปขึ้นงานโรงเรียนอันนั้นคือเป้าหมายเลย แล้วก็จะมีงานประกวดบ้างประปราย แล้วก็มีฮ็อตเวฟอยู่ นึกกลับไปแล้วก็สนุกครับ ทุกวันนี้เพื่อนที่เราเล่นดนตรีด้วยกันตอนนั้นบางส่วนก็ไม่ได้เล่นดนตรีกันแล้ว แต่ก็ยังพูดคุยกันว่า เออ ตอนนั้นมันสนุกว่ะ มีทั้งสนุก เศร้า ความผิดพลาด ไร้เดียงสา แต่ก็สนุก

 

ฝันอยากเป็นนักดนตรีมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

เด็ก ๆ เราโคตรอยากเป็นนักดนตรี อยากหาเลี้ยงชีพด้วยดนตรี แต่มันก็จะมีช่วงที่ก้ำกึ่ง ก็คือช่วงมัธยมฯ ปลายเพื่อนจะไปเรียนวิศวะฯ, เรียนสถาปัตย์, เรียนดีไซน์ เราก็คิดว่าหรือเราไปวิศวะฯ ดี แล้วค่อยเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก สักพักก็คิดได้ว่าอย่าเลย เราไม่น่ารอด (ขำ)  ตอนนั้นด้วยความที่มันต้องประนีประนอมกันระหว่างครอบครัวกับชีวิตตัวเอง ช่วงม.ปลายผมก็ต้องเลือกเรียนสายวิทย์ ฯ ให้แม่ เพราะว่าแม่ก็จะบอกว่า “เรียนสายวิทย์ไปก่อนลูก ลู่ทางมันได้เยอะกว่า” ยุคนั้นมันเป็นค่านิยมแบบนี้ไงครับ ซึ่งปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนเยอะแล้วไม่น่ามีค่านิยมแบบนี้แล้ว ตอนนั้นเราก็ต้องครึ่ง  ๆ ไปกับแม่ 

COLD-BREW-STUDIO-2

การพูดคุยกับที่บ้านในการเรียนดนตรี 

สุดท้ายเราก็แบบไม่สน ดื้อไปเรื่อย ทำแบบหูทวนลมไปเรื่อย ๆ สักพักเขาก็โอเค ปล่อยเราแล้ว ทุกคนเอาไปใช้ได้นะวิธีนี้ทำหูทวนลมไปเรื่อย ๆ เลย (ขำ) แค่บอกเขาว่าสอบติดแล้วนะ พอได้เรียนมหา’ลัย ผลงานเราก็โอเค เขาก็เลยให้เราเรียนดนตรีไป 

 

ตอนมหา’ลัยเลือกดนตรีเรียนสาขาไหน

เราเรียน Commercial Music ครับ มันคือดนตรีเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มันก็จะเรียนเป็นเชิงเราจะต้องทำงานในแบบเชิงพาณิชย์อย่างไรบ้าง ก็มีตั้งแต่เขียนเพลง, ทำจิงเกิล, ทำสกอร์, มี Business คร่าว ๆ  บ้าง ๆไปจน ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ 

 

ความแตกต่างของชีวิตช่วงมัธยมฯ กับช่วงมหา’ลัยสำหรับวิน

เราว่าชีวิตแฮปปี้ขึ้นนะ รู้สึกว่าชีวิตมหา’ลัยมันดูง่ายกว่ามัธยมฯ สายวิทย์ที่เราเรียนเราว่ามันคือสิ่งที่ชีวิตนี้เราคงไม่เข้าใจมันเลย แคลคูลัส ไตรเตทสารละลายไรพวกนี้ (ขำ) แต่มันก็ไม่ใช่ว่ามีช่วงที่มันไม่เครียด มันก็มีอะไรที่ไม่ถนัดนะ ก็มีบ้างแต่ก็ยังสนุกดี อย่างรุ่นมหาลัยเราเราเป็นรุ่นที่ทำอะไรมันจะเฮกันทำ ไปนั่งทำเพลงหอเพื่อนก็ไปกันทั้งแก๊ง ยกกันไปสิบ ยี่สิบกว่าคนไปนั่งทำ มันจะเป็นโมเมนต์ที่ทุกคนมันอิน แล้วรุ่นผมมันโชคดีที่ว่าคนส่วนมากในกลุ่มปัจจุบันก็ยังทำงานดนตรีด้วยกันอยู่ ผมจะเรียนมากับ mamakiss ทั้งวง แล้วก็เป็น พัด FOLK9, เกม quicksand bed รุ่นเดียวกันเลยเรียนมาด้วยกัน เวลานั่งทำงานเราก็มาทำด้วยกัน 

 

mamakiss

mamakiss วงเราเกิดขึ้นจากมหา’ลัยนี่แหละ เริ่มจากการเล่นคล้ายมัธยมฯ เลย มีงาน freshy night, งานเปิดโลกชมรม ก็เล่นกันสนุก ๆ  สักพักก็อยากมีเพลงของตัวเองก็เริ่มทำเพลงของตัวเองไป จนไปเข้าตา พี่บิว, พี่รัฐ, พี่อ๊อฟ ที่เรารู้จักกันอยู่แล้วก็ได้เข้าช่วยมาทำงานด้วยกัน พวกพี่เขาก็เห็นว่าวงเราน่าสนใจ เขารู้ว่าเราชอบซิตี้ป็อป ก็เชียร์ให้เราทำ แต่ผมกับอิคคิวตอนนั้นเราก็กลัวคนจะยังไม่เก็ต พี่บิว ก็บอกไม่ต้องกลัว ทำไปเลย แล้วแกก็จัดการให้ทั้งหมดเลย ทั้งลงทุนค่าแผ่น, ค่าภาพ, เอ็มวี, ทำอาร์ตเวิร์ก, ทำโลโก้ และอะไร ๆ ให้หมดเลยครับ เป็นผู้มีพระคุณของเราเลย แล้วก็รู้สึกไม่เสียใจเลยที่เชื่อ ตอนนั้นพี่รัฐก็กำลังยุ่ง ๆ อยู่กับการทัวร์ของอัลบั้ม สัตว์จริง แต่ก็มีเวลามาเขียนเพลง ดาวเคราะห์แคระ ให้ จำได้ว่าแกอัดไกด์เนื้อเพลงมาให้จากโรงแรมเลย เป็นพระคุณมากครับพี่  พี่ ๆ ก็จะร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน มันคือทีมโปรดิวซ์ที่ชื่อว่า Welfare6 พอมาเริ่ม mamakiss มันก็เป็นศิลปินแรกของเขาตอนที่เขาเริ่มทำ Production House 

 

City Pop คืออะไร

ถ้าจะสรุปมันก็คือเพลง 70’s, 80’s ญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งตะวันตก (AOR, Soul, Funk) แต่พอมันมาอยู่ในญี่ปุ่นมันเลยกลายเป็นสไตล์ที่มันมีเอกลักษณ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเมโลดี้ญี่ปุ่นที่มีคำอังกฤษปน, ดนตรี, เสียงซินธ์, เสียงกลองแบบนี้ แล้วเนื้อหาจะพูดถึงเมือง หรือบางเพลงจะพูดถึงวันหยุดที่เราไม่ได้อยู่ในเมือง ออกไปทะเลต่าง ๆ เพราะค่านิยมญี่ปุ่นในช่วงนั้นด้วย  มันเป็นคาแร็กเตอร์ของญี่ปุ่น จริง ๆ มันก็ไม่ใช่ว่ากดซินธ์ DX7, D-50 มาแล้วมันจะเป็น City Pop เลย มันประกอบด้วยหลาย ๆ อย่าง จริตของเพลงมันต้องใช่  เรากับ อิคคิว จะค่อนข้างอิน ก็คือซิตี้ป็อปเขาใช้อะไรกัน เราก็ไปตามหาของอันนั้นมาเลย ของก็เต็มบ้านเลยตอนนี้ (ขำ) เราอยากเหมือนอะ อยากทำให้มันเป็นซิตี้ป็อปที่ใกล้เคียงที่สุด เราก็ไปฟังเลย อันนี้เขาใช้อะไร เขาเล่นยังไง เหมือนเราถอดรหัส ถอดจิ๊กซอว์มันออกมา ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ เมโลดี้ทำไมเป็นแบบนี้ โคตรญี่ปุ่นเลยว่ะ ถอด ๆ มาแล้วก็ทำให้มันใกล้เคียงมากที่สุด

 

แนะนำ City Pop Standard สำหรับคนอยากลองฟังหน่อย

ถ้าเอาง่าย ๆ มันอยู่ในยูทูบหมดแล้ว  พวกเพลย์ลิสต์ซิตี้ป็อป อันนั้นแหละก็คือซิตี้ป็อบเวอร์ชัน 101 เวอร์ชันง่าย แล้วถ้าชอบแนวไหนก็ ค่อย ๆ เจาะลงไป ที่ดัง ๆ ก็อย่าง Mariya แล้วก็ Anri นี่ก็น่าฟัง เขาจะเป็นอีกสายหนึ่ง เพลงที่ดัง ๆ ก็จะเป็น Last Summer Whisper แล้วก็สายผู้ชายจะเป็นสายกีตาร์หน่อย ก็จะเป็น Toshiki Kadomatsu เขาจะมีอัลบั้มดังคือเป็นเพลงบรรเลงเลย Sea is Lady คือเล่นกีตาร์เป็นเมโลดี้หลัก แต่ช่วงนี้กลับมาอิน Cindy มาก ตอนนี้ทุกคนน่าจะพอเข้าใจแหละ หาเพลย์ลิสต์ซิตี้ป็อปเบื้องต้นกันได้อยู่แล้ว

 

อินกับซิตี้ป็อปแบบนี้แล้วชอบญี่ปุ่นด้วยไหม

ผมอะชอบเที่ยวญี่ปุ่น ไปเที่ยวญี่ปุ่นมา 5 รอบแล้ว ล่าสุดที่ไปก็ไปเที่ยวกัน เราก็คือไปหาของซื้อแผ่นซิตี้ป็อป ช่วงนั้นก่อนที่จะไปก็คือผมกับอิคคิว โปรดิวซ์ให้กับวงอินดี้ญี่ปุ่น SHE IS SUMMER เพลง Moonlight เขาบินมาคุยกับเรา มาอัด มาเที่ยวไทยเลย พอโปรดิวซ์กันเสร็จปุ๊บ เขามีโชว์ที่ เมือง Nagoya พอดีก็ได้จังหวะไปดูเขาเล่น ไปแฮงค์เอาต์กัน ก็ได้ไปเจอกับ Natsuki Harada วง Evening Cinema ครั้งแรก เขาคือคนเขียนเพลงคิมิโนโต๊ะ~ (เพลง Summertime) นั่งดื่มด้วยกันเลยเจอครั้งแรก  ก็คิดจะชวนกันมาไทย แต่สุดท้ายก็โดนโควิด 

ความแตกต่างระหว่างการเป็นโปรดิวเซอร์และนักดนตรี

ผมส่วนมากบทบาทจะเป็นเบื้องหลังเยอะกว่า เรามองว่าการเล่นดนตรีของเรามันก็เป็นอาชีพบวกกับงานอดิเรกอีกชั้นหนึ่งของการทำงานทำเพลง มันจะเป็นงานอดิเรกที่ซ้อนอยู่ในงานประจำ ความรู้สึกมันต่างกันแหละ เล่นดนตรีมันเจอคน แล้วโมเมนต์ตอนเล่นดนตรีก็เป็นแบบนึง แต่พอทำงานเบื้องหลังปุ๊บก็จะเป็นอีกแบบนึง เราสามารถค่อย ๆ นั่งไล่สเต็ปจาก หนึ่ง ไปสอง ไปสาม ค่อย ๆ นั่งปั้นเพลง คือดนตรีเล่นสดมันก็จะมีความสุขอีกแบบหนึ่ง ได้เจอคน ได้เล่นดนตรีมันก็เป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่บางครั้งพอมันได้เล่นสดหนึ่งครั้งหลังจากทำเพลงมาเยอะเป็นเดือน ๆ มันก็เหมือนฮีลชีวิตเราได้มากเลย เยียวยา แบบ เฮ้ย เล่นสดดีจังวะ รู้สึกดีจังเลย ได้เจอผู้คน รับพลัง เพิ่มพลังในการกลับมาทำเพลง 

 

แสดงว่าชอบงานโปรดิวซ์มากกว่าใช่ไหม

สำหรับเรา เราตอบยากมาก มันเป็นช่วง ๆ ไป ช่วงนั้นอินอะไรก็จะทำ แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดว่าไม่เอางานเล่นสดเลย มันก็ยังสนุกทุกครั้งที่ได้เล่นอยู่ อย่างผมช่วงหลัง ๆ ก็จะมีทั้งเป็นมือกลอง แล้วก็มีเล่นคีย์บอร์ดให้ พี่แม็กซ์ เจนมานะ ด้วยเป็นเซ็ตอะคูสติก ก็สนุกดี มันเหมือนเราได้คลายเครียด แต่มันต้องบาลานซ์กัน บางคนเล่นสดเยอะเกินก็มีเบื่อ อย่างเราทำเพลงเยอะเกินบางทีมันก็เบื่อ อยากเล่นสดบ้าง มันก็เป็นการฮีลกันระหว่างบาลานซ์ของชีวิตในวงการดนตรี พอได้เล่นสดมันก็เป็นอีกฟีลหนึ่ง ทำเพลงอยู่บ้านก็เป็นอีกฟีลหนึ่ง 

 

ทำเพลงอยู่บ้านนาน ๆ ไม่เบื่อบ้างเหรอ

เราอาจจะเป็นคนขี้เบื่อ พอทำงานที่บ้านปุ๊บก็อยทกทำเพลงที่อื่นบ้าง อยากทัวร์ สตูดิโอทัวร์ ปีที่ผ่านมาช่วงประมาณเดือนธันวาคม พฤศจิกายนที่ เราก็คือจะเป็น Assistant Engineer ให้ พี่อ้วน แห่ง Sexy Pink Sound Engineer ท็อป ๆ ของไทย เวลาแกไปที่ทำงานที่สตูดิโอไหน ก็จะชวนเราไป มันก็ได้ไปเจอคน เราว่าบางทีแค่ได้ไปเจอคนใหม่ ๆ  หรือคนที่เราไม่ค่อยได้เจอแล้วเราได้พูดคุยกัน ชีวิตเรามันก็เหมือนได้พลังอะไรบางอย่าง ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันด้วย อยู่บ้านนาน ๆ ไม่ได้เจอใครเลย มนุษย์อะ สัตว์สังคม อยู่คนเดียวมันสมองอื้อ มันต้องเจอคน มันต้องพูดคุยกันบ้าง มันจะได้รีเแลกซ์หรือรีเซ็ตสมอง, ความคิด, ความเหนื่อย ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมไปทุกที่เลยครับ Karma Sound Studio, Kandee Ztudio, Studio28, Studio In Park ไปเป็นผู้ช่วยเขาก็สนุกดี 

 

นานไหมกว่าจะมาเป็น COLD BREW Studio 

ตั้งแต่เรียนจบ (ช่วง 2017) ระหว่างที่เรียนก็ทำงานไปด้วย ทุกอย่างมันเริ่มควบคู่กันไปเรื่อย ๆ เราก็ทำงานกับพี่บิวที่ Pop In The Box แล้วเราก็ออกแบบทำสตูดิโอตัวเองไปด้วย ช่วงเรียนจบ สตูดิโอก็จะเริ่มสร้างแล้ว ตอนแรกจะทำเล็ก ๆ ที่บ้าน แล้วพ่อบอกเล็กไป มีที่เหลือก็ทำแบบให้มันรับลูกค้าได้เลย พ่อรู้แล้วแหละว่าอันนี้คืองานในอนาคตเรา เขาก็เลยให้ที่ตรงนี้มาทำเป็นตึกใหญ่ ๆ ให้รองรับลูกค้าได้เลย พอสตูดิโอเสร็จงานอย่างอื่นเราก็ไม่ได้ทิ้ง ก็ยังทำเพลงกับพี่บิวทำอยู่ แล้วก็ควบคู่กับทำเพจ โดนไล่มาเล่นในนี้ อยู่ด้วย

สักพักก็มีเพจ ไดโนเศร้า ขึ้นมาอีก อันนี้ก็ชิบหายเลย (ขำ) ทำให้งานเยอะ สมองเหลวทุกวันเลย ปีที่ผ่านมาคือมันต้องคิดงานสองเพจนี้ไปด้วย แล้วก็ต้องมายุ่งวุ่นกับสตูดิโอไปด้วย ทำเพลงด้วย อัดเสียงด้วย แต่เรารู้สึกว่าเรายอมเหนื่อยแบบนี้ ดีกว่าเรานั่งเฉย ๆ ไปวัน ๆ แล้วมันไม่มีอะไร น่าจะเป็นเพราะความขี้เบื่อมันเลยทำให้อยากทำไปหมด รู้สึกสมองทำงานแล้วมันดี วันไหนที่ได้พักแล้วว่าง ก็จะไม่สบายใจ รีบหาอะไรทำเลยทันที

ก็คือถ้าพูดถึงการสร้างสตูดิโอขึ้นมาก็นั่นแหละ ทุกอย่างมันก็ควบคู่กันมา ระหว่างที่มันสร้าง เราก็ทำงานเพลงเหมือนเดิม พอมีสตูดิโอขึ้นมา เราก็จัดการงานเพลง จัดการงานอะไรได้ดีกว่า 

ทำไมถึงต้องเป็น COLD BREW

สมัยนั้นติดกาแฟหนัก ชอบกินกาแฟ เรารู้สึกว่าการกิน COLD BREW ของเรามันคือการที่ได้ตื่นมาขับรถไปร้านกาแฟ ได้นั่งร้านกาแฟ เรานั่งร้านกาแฟได้เป็นวันเลย รู้สึกว่ามันเป็นที่ผ่อนคลาย เป็นเซฟโซนของเรา เราอยากให้บรรยากาศมันชิลล์ ๆ เราชอบโมเมนต์ของการดื่มกาแฟ แล้ว COLD BREW มันมีความสดชื่นอยู่ เราชอบความสดชื่นของมัน เลยรู้สึกว่าเวลาคนมาสตูดิโอ ชีวิตก็ไม่ต้องมาเครียดตลอดเวลาไหมวะ สดชื่นกันหน่อย มานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน แต่ก็มีคนเข้าใจผิดนะว่ามันเป็นร้านกาแฟ ก็ตลกดี ในอีกแง่ก็เปรียบเทียบถึงการกินเหล้าแหละ (ขำ) อัดเสร็จ เปิดเบียร์กันไป เราอยากให้ COLD BREW Studio เป็น Community Hub ของวงการดนตรี ทุกวันนี้วงการนี้มันค่อนข้างถูกกดดัน มันเป็นวงการที่อยู่ปลายน้ำในทุก ๆ เรื่อง งานเสียงมันอยู่ปลายน้ำเลย เราตัวเล็กพอแล้ว เราอยากให้มันมี Community ที่ดี  

 

ปลายน้ำที่หมายถึงคืออะไร

มันคือสิ่งสุดท้ายถ้าเราไล่ลำดับความสำคัญ อยู่แทบจะท้ายสุดของทุกอย่าง ทั้งงานภาพมาก่อน งานเสียงอยู่ท้ายสุด เงินก็น้อยสุด หรืออะไรก็ตาม วงการดนตรีจะเป็นอะไรที่รับกรรม มันมักจะโดนก่อนตลอดในหลาย ๆ เรื่อง อาจจะหาคำอธิบายไม่ถูก แต่มันเป็นอะไรที่รู้สึกว่าถ้าเราไม่รวมกลุ่มกันไว้ เราจะค่อย ๆ เสียคนออกจากวงการทีละคน หายไปทีละคน ไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะวงการเพลงมันไม่รอด เราเคยเจอคนใกล้ตัวที่เป็นแบบนั้นตลอดเวลา เราสะเทือนใจนิด ๆ 

ที่นี่รับงานแบบไหนน้าง 

ทำหมดเลยครับ อัดเพลง, อัดร้อง, อัดพากย์, มิกซ์เสียง, อีดิต, ทำหมดเลย ครบวงจรที่เกี่ยวกับเสียง เอางานมาอีก! 

สำหรับเราแล้วการเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีเป็นยังไง 

มันมีเส้นบาง ๆ ระหว่างว่าเราเอาความคิดเราไปใส่งานคนอื่นหรือเราแค่ดันให้ศิลปินอัพเกรด คอยซัพพอร์ตเขาหรือเราลากเขา มันมีเส้นบาง ๆ อยู่ ซึ่งเรามองว่าไม่มีแบบไหนถูกและผิด แค่เราต้องเขาใจว่ากำลังทำอะไรกับใคร บางคนจะต้องซัพพอร์ต บางคนก็ต้องดึง บางคนต้องเปลี่ยน โปรดิวเซอร์ต้องรู้ตรงจุดนี้ 

 

ประสบการณ์ที่ประทับใจหรือแปลก ๆ ในการทำงานเบื้องหลัง

มันอาจจะเป็นเรื่องตลก ๆ แหละ คือเราทำเพลงเสร็จเรียบร้อย ส่งไปสักพักนึงแล้วเขาโทรมาว่า “เฮ้ย ทำไมเพลงมันดูช้าลงอะครับคุณวิน” เราก็รู้แล้วว่าพอคนฟังเพลงนาน ๆ มันจะหลอน เราก็เลยส่งไฟล์เดิมให้เขาเลย เปลี่ยนแค่ชื่อ แล้วเขาก็บอกกลับมาว่า “ได้แล้วครับ เพอร์เฟคต์” ตลกดี อันนี้ตลกจริง ทำเหมือน export ใหม่แต่ทุกอย่างเหมือนเดิมนะ แค่เปลี่ยนชื่อไปนิดหนึ่ง

 

อนาคตของ COLD BREW Studio

ตอนนี้มีแผนอยากจะขยายที่ทำห้องใหญ่ ระยะยาวอยากมีห้องที่อัดรวมได้ เรารู้สึกว่าโมเมนต์การเล่นดนตรีพร้อมกันมันกำลังจะหายไป เราอยากทำห้องใหญ่เพื่อตอบโจทย์นั้น อาจจะทำแบบซัพพอร์ตเดือนละวงเลย อยากให้เขาคีพโมเมนต์นี้ไว้ ทุกวันนี้ทุกคนอัด Overdub แบบแยก ๆ กัน เยอะ Vibe มันหาย ล่าสุดที่ลองอัดรวมกันก็คือเพลง ใครฟัง ของ FORD TRIO และอัลบั้มใหม่ของวง Rosalyn เราอยากให้คีพการเล่นดนตรีรวมกันไว้ และพยายามจะสร้าง Community Hub ของนักดนตรีขึ้นมา ใครผ่าน ๆ มา ก็แวะมา นั่งดื่ม, ชิลล์, ฟัง Vinyl กัน ตอนห้องใหญ่เสร็จอาจจะทำจุดนี้ได้ 

และตอนนี้กำลังมีความคิดว่า อยากซัพพอร์ตนักดนตรีของนนทบุรี เพราะบุคลากรชาวนนทบุเรี่ยน เก่ง ๆ เยอะมาก แล้วตอนนี้เหมือนสภาพแวดล้อม สภาพเมืองมันกำลังมาและพัฒนาไปได้สวย

 

นอกจาก โดนไล่มาเล่นในนี้ และ ไดโนเศร้า วินยังทำเพจอะไรอีกบ้าง

มีเพจใหม่ Ghostคือโง่ โมโหคือบ้า ด้วยครับ ก็จะแบบวุ่นวายเลยช่วงที่ผ่านมา แต่มันก็ยังทำให้เรารู้ว่าเรายังมีสิ่งที่ยังขับเคลื่อนชีวิตอยู่ก็คือการทำงาน มันเหนื่อยนะ ทุกวันนี้เที่ยงคืนจบงานปุ๊บหน้าตาแบบเหลวแล้วแต่มันสนุกอะ แล้วยิ่งเรามาอยู่ในแวดวงกับกลุ่มคนที่เขา Productive เหมือนกันแบบพี่เหลิมอย่างนี้ ก็คือชอบบิลด์กันเล่น ๆ “ไม่ต้องนอนมันแล้ว” “พักผ่อนคืออะไรวะ” ก็บิลด์กันไป เราว่าถ้ามันมีทีมที่ดีมันจะพากันไป เราก็ช่วยกันขับเคลื่อนงานเรา ผมว่ามันสนุก มีคนมาเหนื่อยด้วยกัน มันก็ได้แชร์ความเหนื่อย โมเมนต์นี้มันดี 

 

ตอนแรกที่ทำเพจ โดนไล่มาเล่นในนี้

เพจนี้คือมาก่อน ไดโนเศร้า ตอนนั้นแค่รวมกลุ่มกับเพื่อนอยากทำเพจตลก เมื่อก่อนเราชอบไปปั่นป่วนกรุ๊ปเฟรชชี่ของมหาวิทลัยแห่งหนึ่ง แล้วโดนเขาไล่ออกมา เขาก็บอกว่า มันไม่ใช่ที่ ๆ กลุ่มพวกคุณจะมาทำอะไรแบบนี้นะ อยากสนุกมากไปตั้งเพจเองดิ พอโดนไล่ออกมาก็เลยกลายมาเป็น โดนไล่มาเล่นในนี้ ก็เป็นจุดกำเนิดเลย คอนเทนต์ในเพจมันก็เป็นมุกตลก มันคือการรวมตัวของกลุ่มคนหลายรูปแบบหกคน ก็คือทำกันจริงจังเลย เราก็ต้องคิดงานเพจ อัพเพจ หาคอนเทนต์ หามุก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น

 

แล้ว ไดโนเศร้า เริ่มต้นมายังไง

ผมจะมีเพื่อนอีกคนชื่อบิว เป็นครีเอทีฟเลย เมื่อก่อนเป็นครีเอทีฟอยู่เพจนัดเป็ด แล้วบางทีคิดงาน โดนไล่มาเล่นในนี้ ไม่ไหวก็ให้บิวช่วย สักพักบิวก็บอกว่า “อยากทำเพจแทงมึงว่ะวิน” มันก็ค่อย ๆ เริ่มมาเป็นแนวคลั่งรัก ไดเรกชันของไดโนเศร้าก็เลยจะเป็นแซดบอยคลั่งรัก แล้วอยู่ดี ๆ ก็ดังขึ้นมา ผมก็ยังงง ๆ อยู่ เราทำเพจกันสนุก ๆ แล้วคนรอบตัวเราก็แชร์ คนรอบตัวเราเซเล็บเยอะ พอมันแชร์กันคนก็เห็นแล้วเขาก็แชร์กันต่อ เป็นอย่างนั้นขึ้นมา ถึงขั้นมีช่วงหนึ่งมีคนเอาไปวิเคราะห์กลายเป็นทฤษฎีการทำเพจ แต่จริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้นนะ ไม่ได้ทำอะไรที่มีทฤษฎีรองรับ เราทำในสิ่งที่อยากทำ ทำเพจผมไม่เคยตั้งเป้าว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นเพจล้านไลก์ มันเป็นแค่การอยากทำที่สนุก ๆ เท่านั้นเลย ฝากวงของ บิว ด้วย ชื่อ Sayhibew

วิธีการคิดในการทำเพจ

มันต้องเกิดจากการที่เรามีประสบการณ์มาก่อน แล้วเราก็พยายามเข้าทรง มันเหมือนการทำเพลงเลย สมมติว่าต้องทำเพลงเร็กเก้ เราก็ต้องเข้าทรงเร็กเก้ให้ได้ ทั้งที่เราอาจจะไม่ได้เป็นคนในแวดวงเร็กเก้ ในงานเพจเหมือนกันเราต้องเข้าทรงให้ได้ว่าคนเศร้าต้องเป็นอย่างนี้ คนกำลังจีบหญิง โอ๊ย โลกมีแต่สีชมพูมันคิดอย่างนี้ แต่ก็คือ Based on True Story บ้าง เรื่องเพื่อนบ้าง แล้วบางทีมันมาประกอบร่างนิด ๆ หน่อย ๆ ก็กลายเป็นหนึ่งคอนเทนต์แล้วโยนออกไปให้คนเสพ 

ทำหลายอย่างแบบนี้ รู้สึกว่าตัวเอง Work ไร้ Balance ไหมครับ 

เราไม่ถึงขั้นพังขนาดว่างานเละ เราค่อนข้างซีเรียสเรื่องนี้ พยายามดึงให้อยู่ มันอาจจะไร้บาลานซ์ ในแง่ของพักผ่อนน้อยหน่อย แต่ทุกอย่างแฮปปี้ ทุกคนรอบตัวแฮปปี้ ตัวเองอาจจะร่างกายเละนิดหน่อย แต่เราก็จะมีจุดของเราที่แบบวันนี้ขอพักนะ แต่จะถามว่า Life Balance ไหม จริง ๆ มันก็ทำงานหนัก เสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุดมาเป็นปีแล้วอะ ถ้าเรียกว่าไร้บาลานซ์ได้มันก็ถูกเนอะ แต่มันก็ไม่ถึงขั้นว่าชีวิตพัง เหมือนเราก็บาลานซ์ได้แล้วกับความไร้บาลานซ์นี้ ยังรู้จุดว่าถ้าดึงอีกนิดหนึ่งขาดนะ 

พวกความเหนื่อย ความล้าถ้ามันถึงจุดหนึ่งแล้วมันจะทำให้งานเราเละ เราก็กลัว เพราะบางทีสภาพร่างกายไม่ไหว มานั่งทำเพลงก็ไม่ได้อะไรแล้ว หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำ หูมันพังไปหมดแล้ว อันไหนพักได้พักเหอะ 

 

จัดการเวลาตัวเองยังไง 

จริง ๆ เราจัดการคนเดียวไม่ได้หรอก อย่างที่เราเคยพูดมัน ยังไงแล้วเราก็ต้องมีทีม เราก็ต้องหาคนช่วย แต่ว่าเราไม่ได้เป็นคนจัดการแบบกางตางรางออกมาเขียน เราแค่จัดการคร่าว ๆ อย่างเช่น ก่อนเที่ยงเราต้องคิดอันนี้ให้เสร็จ อันไหนที่เรารู้สึกมันทำไม่เสร็จ อีกวันเราต้องชดเชยให้ได้ มันจัดการจนมันเป็นออโต้ไปแล้วอะ บางคนเขาก็ทำเป็นตารางเวลาเราเคยเห็น ก็เวิร์คนะ เราชอบแบบนั้นเหมือนกันนะ จะว่าไปแล้วของเรามันก็คล้าย ๆ แบบนั้น แต่มันอยู่ในหัว ทุกวันนี้ก็คือสมองแทบไม่ทำอะไรครับ อาบน้ำก็ยังต้องคิดงานเพจ อัดเพลงเสร็จก็ต้องคิดงานเพจต่อแล้ว บางทีก็จะเดือดมาก เวลาว่างมันเลยจะไปว่างช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 โดยประมาณ ที่เราจะได้นั่งดูนู่นดูนี่ เป็นเวลาคลายเครียดเรา 

 

จากทุกสิ่งที่ทำมาทั้งหมดเราชอบบทบาทไหนในชีวิตที่สุด 

อย่างที่บอกผมเป็นคนขี้เบื่อ บางวันเราก็ชอบตัวเราเป็นไดโนเศร้า บางวันเราก็ชอบเราแบบตลกแบบโดนไล่มาเล่นในนี้ บางวันเราก็ชอบการเป็นโปรดิวเซอร์ บางวันเราชอบแบบมึงไม่รู้หรอกกูเป็นใคร มันเหมือนว่าหมวกที่เราใส่อยู่มันก็จะเปลี่ยนไปแล้วแต่อารมณ์ บางอารมณ์มันชอบอันนี้ บางอารมณ์มันชอบอันนี้กว่า มันวนกันไปวนกันมา หาคำตอบไม่ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบที่สุด


2022 สิ่งที่ควรหมดไปสำหรับวินคือการให้คะแนนเพลงและหนัง

มันไม่ควรให้คะแนนกันอยู่แล้ว ทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่ควรให้คะแนน มันไม่โอเคที่คนหนึ่งคนใช้เวลาเป็นปีทำเพลงทำหนัง แล้วมีใครไม่รู้มาบอก “อะ เอ็งเอาไป 4/10 พอ ข้าไม่ชอบ”

ถามว่าคนให้คะแนนรูปโมนาลิซาเขาให้คะแนนเท่าไรกัน มันตอบเป็นคะแนนไม่ได้หรอก มีแค่ชอบไม่ชอบ ยิ่งเพลงนี่ให้คะแนนเพลงกันไปแล้วได้อะไร มันก็ไม่ได้อะไร สมมติถ้าคนไม่ได้ฟังร็อกไปฟังเพลงร็อกแล้วก็ไปให้คะแนนเพลงร็อก 3 เพราะความที่เขาไม่ได้ฟังร็อกมามาก มันก็ไม่ใช่

เราว่ามันหมดยุคไปแล้ว มาคุยกันเรื่องเชิงวิเคราะห์ดีกว่าว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ มานั่งแตกอัลบัมกันดู คุยกันว่าอัลบัมนี้เขาร้อยเรียงกันมาแบบนี้เขาคิดอะไร ผมว่าดิสคัสกันเรื่องนี้สนุกกว่าเยอะ และได้อะไรมากกว่า

 

แล้วทีนี้เพลงดีกับไม่ดีจะวัดกันยังไง 

คุณภาพของเพลงก่อนเลยอย่างแรก โอเคถ้าคุณภาพมันดีที่เหลือก็เป็นเรื่องความชอบแล้ว เราเป็นคนตัดสินแค่เรื่อง คุณภาพ เพลงดีกับเพลงดังมันแยกกันอยู่แล้ว มีเพลงดีไม่ดังเยอะแยะ อย่างที่เป็นศิลปินอิเล็กทรอนิกส์เบอร์ต้นของโลก ยอดวิวในยูทูปไม่ถึงสองแสนด้วยซ้ำ แต่ทัวร์ยับเลยนะ ทำไมจะบอกว่าเขาคือคนไม่เก่งเหรอ ก็ไม่ใช่ เพลงดีกับเพลงดังมันเลยต้องแยกจากกัน บางคนติดกับดักตรงนี้ ซึ่งมันเป็นความคาดหวังด้วยแหละ โลกมันบีบให้เราต้องเอาสิ่งนี้ไปเปรียบเทียบกับสิ่งนี้เป็นหลัก เปรียบเทียบเป็นตัวเลข ซึ่งเขาไม่ได้มองเป็นแบบระบบนิเวศ สมมติหนึ่งบ่อน้ำ มันจะมีแต่ปลาดุกไม่ได้ มันต้องมีต้นไม้ มีพืชมีโขดหินให้ปลาเกาะ มีน้ำที่ดี ไม่งั้นระบบนิเวศมันจะเสียถ้ามันมีแต่เพลงที่เป็นแบบเดียว เราพูดกันเป็นระบบนิเวศ ถ้าเรามีเพลงดีในระบบนิเวศมันโอเคมากแล้ว แต่พอทุกอย่างมันกดดันให้เราถูกเปรียบเทียบ ถ้าไม่ทำแบบนี้มันไม่ดังนะ มันเลยเป็นกับดักชีวิตเรามาก ๆ ซึ่งเราว่ามันจะยากตรงนี้แหละ เราว่าสมัยนี้ทุกคนทำเพลงดีหมด แทบจะปิดประตูเรื่องเพลงไม่ดีไปได้แล้ว ที่เหลือก็เป็นแค่เรื่องของความชอบแล้ว ทำเพลงดี สักวันก็มีคนมองเห็น

สุดท้ายแล้ว คิดว่าคนทำไมคนเราถึงต้องฟังเพลง แล้วตัววินเองมองว่าดนตรีมีความสำคัญอย่างไรกับชีวิต

มันคือสิ่งที่เยียวยาความรู้สึก เยียวยาจิตใจเรา เรามีตามองอะไรที่มีความสวย มีปากที่เรากินของอร่อย เรามีจมูกที่เราดมกลิ่นหอม แล้วทำไมหูเราถึงจะไม่มีอะไรที่มันจรรโลงต่อหูเราได้บ้าง แล้วถ้าเราพูดถึงเสียงนะ มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกในแบบรูปแบบการฟัง บางคนที่เขามองว่าดนตรีไม่สำคัญ เขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าโลกใบนี้มันมีดนตรี หรือมีเสียงอยู่ในบรรยากาศรอบ ๆ ตลอดเวลา แค่เดินห้างเราก็มีเพลงแล้ว ทำไมเดินห้างแล้วมันสบาย อยากเดินห้างเพราะมันมีเพลง ทำไมเราจำเพลง Donki Mall ได้ เราจำ Title รายการได้ ดนตรีมันอยู่ในชีวิตประจำวันเราอย่างแนบเนียนไปแล้ว  เคยเดินในที่ ๆ เงียบกริบไม่มีเพลงดู มันก็แอบเหงาเนอะ

เราชอบเปรียบเทียบเพลงกับงานออกแบบ เหมือนเวลาไปคอนโดสวย ๆ ทำไมมันจัดเรียงแบบนี้สวยจัง มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากโครงสร้างเพลง เราว่าความสำคัญมันไม่ต่างจากตาเห็นและแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว มันเป็นสัมผัส ดนตรีมันเป็นจังหวะของชีวิต

Facebook Comments

Next:


Donratcharat

นัท มีหมาน่ารักสองตัวชื่อหมูตุ๋นกับหมูปิ้ง กาแฟดำยังจำเป็นต่อชีวิต และยกให้กาแฟใส่นมเป็นรางวัล