curs-2022

Interview

คุยกับ CURS ในวันที่ได้แสดงความเป็นตัวเอง 100% ผ่านดนตรี

คุยกับ CURS หรือ อาฟเตอร์ – ชาติศิริ ศุภศิณเจริญ ศิลปินเดี่ยวมากฝีมือที่อยากให้ทุกคนจดจำ CURS ไว้ในฐานะที่เป็นวงดนตรี ถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่เริ่มรักในเสียงดนตรี ไปจนเรื่องราวของการสื่อสารสิ่งที่ตัวเองไม่ได้พูดในชีวิตจริงออกมาผ่านบทเพลงที่เขาได้เล่าเรื่องราวของตัวเองไว้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

CURS-interview

จุดเริ่มต้นในเส้นทางดนตรี 

ที่จริงเริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่มัธยมต้น พอจะเข้ามหา’ลัยก็เลือกเรียนดุริยางคศิลป์ อยากเรียนสายนี้ ตอนแรกอยากทำวงร็อก ก็เลยทำกับเพื่อน แต่พอทำไปสักพักหนึ่ง การทำงานยังไม่ค่อยเข้ากัน เราเลยออกมาทำคนเดียวรู้สึกว่าจัดการอะไร ๆ ได้โอเคกว่า ทั้งแนวเพลง ทั้งเรื่องราวที่อยากเล่าก็จะตรงใจเรากว่า ตัดสินใจได้เองจบภายในคนเดียว

ผมเริ่มทำ CURS ตอนประมาณปีสี่ ก่อนจะมีโปรเจกต์จบของมหา’ลัย หลังออกจากวงเก่ามาก็ยังอยากทำดนตรีอยู่ เลยลองแต่งเพลงเอง ขึ้นเพลงเอง แต่ตอนนั้นยังทำไม่ค่อยเป็น เลยทำเดโม่มาก่อน ก็คือ แล้วทำไม กับ อยากให้พัก แล้วให้พี่แดน YEW ช่วยโปรดิวซ์ว่าทำอะไรยังไง เราก็ดูแล้วก็จำว่าเวลาทำเพลงจริง ๆ มันต้องทำยังไง ครูพักรักจำมาเลย

 

ความสนุกของการทำเพลงคนเดียว

น่าจะเป็นตรงที่พอทำคนเดียว ในตอนเริ่มเราต้องคิดเองหมดเลยทุกอย่าง เราต้องเข้าไปรู้จักทุกอย่างเองทั้งหมดประมาณหนึ่ง กีตาร์ต้องเล่นยังไง เบสต้องเล่นยังไง กลองต้องคลิกยังไง ตอนจะไปอัดเพลงต้องเตรียมอะไรบ้าง ตอนจะทำเอ็มวีที่จะปล่อยต้องทำอะไรบ้าง มันสนุกตรงที่เราได้มีส่วนร่วมในทุกด้านของการทำเพลงไปจนถึงปล่อยเพลง แต่ก็เหนื่อยอยู่เหมือนกัน

 

แล้วมันมีจุดที่ไม่สนุกบ้างไหม

น่าจะเป็นเรื่องตังค์ เวลาจะทำอะไรก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เหมือนพอเป็นคนเดียวเราก็รับหน้าที่ตรงนี้ทั้งหมด แต่ถ้าในกระบวนการทำเพลงที่ไม่สนุกยังไม่เจอ เพราะเราเอ็นจอยกับตรงนี้จริง ๆ

 

อยากให้คนจดจำ CURS เป็นวงดนตรี มากกว่าเป็นศิลปินเดี่ยว

ที่ชอบให้คนจำเป็น CURS มากกว่า เพราะเหมือนเวลาใช้โซเชียลมีเดีย ก็จะแยกไปอีกอันเลย ไม่ต้องร่วมกับบัญชีส่วนตัวเรา ถ้าชอบเพลงเรา ก็จะได้ตามทางนั้นได้เลย เพราะหากไม่ได้ชอบชีวิตส่วนตัวของอาฟเตอร์ ก็จะได้ปล่อยตัวตนของพวกเราไปได้เลย แยกระหว่างผลงานกับไลฟ์สไตล์เราเลย เราก็จะได้พรีเซนต์ด้าน CURS ให้เต็มที่ด้วยสำหรับคนที่อยากตาม

Track by Track

แล้วทำไม

เป็นเพลงแรกที่แต่งเลยครับ เหมือนเวลาเราเขียนเพลง เราเขียนจากเรื่องที่เราไม่ค่อยได้พูดในชีวิตประจำวัน ซึ่งมันโฟลวกว่าเวลาเขียน ซึ่งเพลงนี้ก็เล่าเรื่องราวที่เราผิดหวัง โดนทิ้ง เหมือนเราจะเข้าใจทุกอย่าง แต่ก็เหมือนเราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเรายังไม่ลืม เข้าใจเหตุผลทุกอย่างดีแล้ว แต่แค่ติดว่ายังไม่ได้คำตอบว่าทำไมเราเองยังถึงไม่ลืมมากกว่า จริง ๆ แล้วทำไมแต่งมาพร้อมกับอยากให้พัก ซึ่งพี่แดนโปรดิวซ์ทั้งสองเพลงเลย อัดไล่เลี่ยกันไม่กี่อาทิตย์

 

อยากให้พัก

มันมีคนที่ซัฟเฟอร์กับหลาย ๆ เรื่องอยู่ เราก็เลยแต่งมาเป็นเพลงเพื่อให้กำลังใจ ว่ามันไม่เป็นไรนะ ให้ความเสียใจมันได้ออกมา แล้วรู้สึกว่าพอเราเป็นคนที่พูดไม่เก่งเวลาปลอบใจคน เลยอยากให้เพลงเป็นตัวแทนของการปลอบใจคนครับ

 

ยังไม่ได้

เป็นเพลงที่ทำเองเต็มตัว อะเรนจ์เอง อะไรเองทั้งหมดเลย เป็นมุมมองที่คล้ายกับแล้วทำไม ว่าสุดท้ายเรายังเสียใจและจมปลักกับความอกหักอยู่ดี แต่เราอยากเล่าให้มันเข้มข้นมากขึ้นในแง่ของอารมณ์ ซึ่งดนตรีจะค่อนข้างหนักกว่าเพลงอื่น ๆ ให้ดนตรีมันร้องไห้แทนเราไปเลย เนื้อเพลงน้อย ๆ 

 

ในตอนนี้

เพลงนี้ตอนทำเราอยากให้มันออกแนวโยก ๆ ด้วยความที่เป็น 6/8 ก็เลยให้มันดูร็อกมากขึ้นอีกนิดนึง แต่ด้วยเนื้อเพลงที่เป็นแบบนี้ ก็อยากให้มันระบายอารมณ์ออกมา อึดอัด ๆ ทรมาน ๆ กว่าปกติ ซึ่งเนื้อเพลงก็เล่าประมาณว่า เหมือนเราเริ่มรู้ว่าอีกคนหมดใจแล้ว แต่เขาก็ยังไม่เลือกที่จะบอกเรา เราก็เลยบอกเขาเองก่อนเลย ว่าถ้ารู้สึกว่ามันไปต่อไม่ได้แล้ว ก็พอเถอะ ยิ่งอยู่ก็ยิ่งบั่นทอนกันเปล่า ๆ ในเนื้อเพลงที่มันพูดไป จริง ๆ แล้วเราไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น ไม่ได้อยากให้มันจบ แต่ก็ไม่ได้อยากให้บั่นทอนกันจนทำร้ายกันมากกว่านี้ครับ

‘ชอบอะไรมาก ๆ อย่าไปเรียน’ การเรียนดนตรีทำให้มุมมองเปลี่ยนจากตอนที่ยังเป็นคนนอกอยู่ไหม

 

ผมโอเคที่เรียนคณะนี้ แต่รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่โอเคกัน เหมือนด้วยวิชาที่เรียนมันอาจจะมีบางวิชาที่นอกเหนือจากการเรียนตามเอก มันจะมีวิชาที่เราต้องเรียนตัวอื่น ๆ พื้นฐานภาคบังคับไปด้วย เอาจริงมันก็น่าจะมีหลายปัจจัยมาก ๆ ที่ทำให้หลาย ๆ คนไม่โอเค นักศึกษาบางคนก็มองว่าบางวิชาที่ต้องเรียน มันไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายไปในแต่ละเทอม อย่างเพื่อนผมก็มีเข้าไปแล้วสุดท้ายก็ซิ่วออก เพราะอาจเจอคำพูดที่บั่นทอน หรือบางวิชาบังคับที่กว่าจะไปถึงเอกจริง ๆ ก็รู้สึกเสียเวลากัน ความคาดหวังของนักศึกษาก็หวังว่าจะได้เรียนอย่างคุ้มค่ามากกว่านี้ 

แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าอยากเรียนดูดีไหม ลองไปลงคอร์สร้องเพลงข้างนอกก่อน ว่าเราชอบจริง ๆ หรือเปล่า เพราะที่จริงอยากทำเพลงไม่ต้องเรียนคณะดนตรีแล้วก็ได้เหมือนกัน ศิลปินหลาย ๆ คนก็ไม่ได้เรียนดนตรีมากันแบบเข้มข้น แต่ก็ยังทำเพลงออกมาให้ฟังกันเพราะได้เลย แต่ความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน ทฤษฎี ที่มาของดนตรีต่าง ๆ การที่เรียนก็ได้รู้เบื้องลึกมากกว่า มันตอบได้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

ความเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง ทำให้มีปัญหากับการสื่อสารในเพลงบ้างหรือไม่

 

ปกติถ้าผมอยู่กับเพื่อน ผมก็เป็นคนพูดปกติ แต่พอเป็นเรื่องความรู้สึก ผมเป็นคนที่ค่อนข้างเลี่ยงที่จะพูดมัน เหมือนถ้ามีคนถามว่าเศร้าไหม เราก็จะไม่ค่อยตอบ เลี่ยงดีกว่า แต่พอได้มาเขียนเพลง พอในชีวิตจริงไม่ค่อยได้พูด เลยมีไอเดียเยอะเลยที่มาเขียนได้ ก็คิดว่า เออเราไม่ค่อยได้พูดเลย ซึ่งไม่ใช่คนไม่พูดนะ แต่เป็นคนที่ไม่ได้พูดเรื่องส่วนตัวมากกว่า 

 

ทิ้งท้ายและฝากข้อความถึงแฟนเพลงสักหน่อย

ตอนนี้ก็เริ่มมีคนฟังเพลงผมประมาณหนึ่งแล้ว ก็ขอบคุณทุก ๆ คนมาก ๆ ครับ มันเป็นเพลงที่เราแต่งจากเรื่องราวของตัวเอง พอเจอคนที่อินไปกับเรื่องราวของเราเราก็ดีใจมากจริง ๆ บางทีเจอคนเมนชันมาตามโซเชียล เราดีใจมาก ๆ แต่ก็ทำได้แค่ขอบคุณกับกดหัวใจจริง ๆ แต่ขอบคุณมาก ๆ จริง ๆ (ตะโกน) ก็สามารถติดตามเพลงผมที่ยูทูบ และทุก ๆ สตรีมมิงได้เลยครับ ขอบคุณครับ

ติดตาม Facebook, Twitter และ Instagram ของ CURS ได้ที่นี่ 

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่

‘ฟังไร’ รวมเพลงใหม่น่าฟังต้อนรับเดือนกุมภาพันธ์ 2022

Facebook Comments

Next:


Donratcharat

นัท มีหมาน่ารักสองตัวชื่อหมูตุ๋นกับหมูปิ้ง กาแฟดำยังจำเป็นต่อชีวิต และยกให้กาแฟใส่นมเป็นรางวัล