Interview

PYRA กระเทาะเปลือกโลกจอมปลอมด้วยสองซิงเกิ้ลเสียดสี Plastic World, Dystopia

การกลับมาของ Pyra ในงานชุดใหม่ที่ตั้งใจจะนำเสนอ ‘Dystopian Pop’ ผ่านสองเพลงแรก Plastic World และ Dystopia ทำให้เราสนใจและอยากพูดคุยกับเธออีกครั้ง ว่าอะไรทำให้เธอตัดสินใจเปลี่ยนแนวเพลงไปอีกทาง และนำเสนอภาพลักษณ์แฟนตาซีที่รุนแรงขนาดนี้

ทำไมไม่เป็นศิลปินอิสระแล้ว

เพราะรู้สึกว่า vision ของเราต่องานดนตรีของตัวเองในปัจจุบันมันต้องไปไกลกว่านั้นแล้ว รู้ว่าทำคนเดี๋ยวไม่ไหวแน่ ๆ ต้องมีคนซัพพอร์ต ถึงจะเป็นคนที่มีความดื้อด้านมาก ๆ แต่ก็รู้ว่ามันถึงเวลาที่จะให้คนอื่นช่วยพาเราไปต่อ เพราะเราต้อง โฟกัสกับงานเพลงให้เต็มที่ และยอมให้ค่ายจัดการในสิ่งที่เขาถนัด

ข้อจำกัดที่ว่าคืออะไร

ที่ผ่านมาตอนเป็นศิลปินเดี่ยว สิ่งที่เราเคยทำคนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าดันทุรังไป อยากได้อะไรเราก็จะพยายามเองตลอด ซึ่งก็คือทำเกินที่ศิลปินควรจะทำ เช่น ในมุมมองของโปรโมเตอร์เขาอาจจะคิดว่า ทำไมศิลปินต้องมาทำแบบนี้เอง แต่ในตอนนั้นเราก็คิดว่า ถ้าเราไม่ทำแบบนี้แล้วใครจะทำว้า เพราะเราก็ไม่ได้มีค่ายด้วย อยากได้อะไรก็ต้องไปทำไปหามาเอง ต้อง hustle หนัก

เราว่าบางทีมันเป็นความเอเชียนที่บางประเทศเขาสบายใจจะคุยกับผู้จัดการ มากกว่าตัวศิลปินเอง แล้วบางทีศิลปินคุยเองก็อาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องเงิน อาจจะโดนเขาเอาเปรียบบ้าง สิ่งที่ควรจะได้ก็อาจจะไม่ได้

แต่ความดันทุรังของตัวเอง ก็พาให้ได้ไปเล่นหลายที่ในต่างประเทศ ที่ไหนบ้าง

Burning Man 2018, ญี่ปุ่น ไปเล่นมา 6 ที่ 4 จังหวัด ไต้หวันไปเล่น 3 รอบ เวียดนามไปเล่น 5 จังหวัด สิงคโปร์ไปเล่นเฟสติวัล 2-3 อันแล้ว

การมีคนมาช่วย ก็ได้ทำให้โฟกัสงานเพลงมากขึ้น

ใช่ตอนนั้นไม่ค่อยได้โฟกัสเพลงเลย พอทำเพลงเสร็จก็ไปดูเรื่องธุรกิจหมดเลย ไม่ค่อยได้ดูดนตรี จริง ๆ เราอยากเป็นศิลปิน แล้วไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องอื่น

ทีแรก เราทำงานกับพี่ต้า Cyndi Seui แล้วเราก็รู้สึกว่านี่มันสุดยอดในประเทศไทยของสายที่เราทำแล้ว จะไปยังไงต่อ จนมันมีก้าวต่อไปหยิบยื่นเข้ามาเอง เหมือนเราเล่นเกม Crash Bandicoot ที่ต้องกระโดดจากหินอันนึง ไปหาหินอีกอันนึง ไม่งั้นจะโดนหินกลิ้งทับอะ เราเป็น Crash ที่พยายามจะกระโดด แล้วทุกครั้งที่กระโดดก็ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า แต่ต้องไปแล้วไม่งั้นจะโดนหินทับ เราก็โดดมาเรื่อย ๆ เจอโปรดิวเซอร์ Sean Hamilton ก่อน แล้วก็โดดไปเจอ Warner Music เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าชีวิตฉันราบรื่นแล้ว แต่ก่อนไม่เคยรู้สึกแบบนี้เลย (หัวเราะ)

ไปร่วมงานกับ Sean Hamilton ได้ยังไง

ตอนเราเรียนจบนิเทศ จุฬา ฯ ตอนนั้นเราเนิร์ด ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็ พอแล้ว ไม่เอาแล้ว ไปเที่ยวอยู่สองปี แล้วตอนนั้นชอบทำอาหาร เปิดครัวให้เพื่อนมากินทุกวันศุกร์ แล้วความที่เราไม่ค่อยยุ่งกับใคร มันจะเป็นการที่เพื่อน ชวนเพื่อนอีกคนมา จนรู้จักต่อ ๆ กัน แล้วมันมี plus one ครั้งนึงที่เราจำไม่ได้ว่ามันเคยมาบ้านเรา เป็นคนไลน์มาถามว่า อยากทำงานกับคนนี้ไหม เราก็แบบมึงเป็นใครวะ แล้วโปรดิวเซอร์มึงด้วย คือใคร’ (หัวเราะ) จำไม่ได้แล้วอะ แต่เราเป็นคนเปิดรับทุกโอกาส ลองดูก่อน ถ้าไม่ดีก็ไม่เป็นไร

สรุปก็คือคนนี้คือ Sean Hamilton ถ้าเสิร์ช Wikipedia อาจจะเจอ Sean Hamilton อื่นที่ไม่ใช่เขา ซึ่งเรารู้สึกว่า จะมาหลอกกูปะว้า แต่พอคุย FaceTime กัน 2 นาที แล้วเราก็บินไป LA เลย พอทำงานด้วยแล้ว เขาตัวจริงมาก ๆ กดดันด้วยพอรู้ว่าเขาเคยทำงานกับคนนั้นคนนี้ ส่วนกูเป็นใครว้า แต่ดีที่ทีมเขาดีมาก ๆ การทำงานง่ายกว่าที่เคยทำมาก ๆ

พอทำเสร็จก็มีเพลงที่เราคิดว่า อันนี้ต้องมาแน่ ๆ ไปคุยกับค่ายนั้น ค่ายนี้มา กว่าสัญญาจะออกก็รู้สึกเฟลนิดนึง เหมือนตอนที่คุยกัน กับตอนสัญญาออกมา มันไม่เหมือนกัน เสียเวลาไป 6 เดือนก็รู้สึกเคว้ง ๆ ไม่รู้จะเอาเพลงไปปล่อยที่ไหน จนได้ไปเล่น Bangkok Music City ขอบคุณพี่พาย ฟังใจ ที่เอาเราไปอยู่ใน showcase วันนั้น ได้เล่นต่อจาก My Life As Ali Thomas ซึ่งตอนนั้นประธาน Waner Music ก็อยู่ที่นั่นพอดี รู้สึกดีใจที่ได้เจอ พาย My Life As Ali Thomas ที่รู้จักกันอยู่แล้วก็บอกว่าเขาดีมากนะ การที่คนตรง ๆ แบบพายพูดขนาดนั้น ถ้าพายว่าดีก็คงดีจริง แล้วเราก็มาเซ็นกับ Warner Music หลังจากนั้น

ทำไมถึงกำหนดแนวทางเพลงให้มาทางนี้

เพราะชอบแบบนี้อยู่แล้ว อะไรที่มีองค์ประกอบของไทยและเอเชียนเข้ามาด้วย เพราะประเทศไทยมีจุดเด่นเยอะทั้งประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมที่เราซึมซับไปโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จนมันออกมาให้เห็นในทางดนตรี แนวคิด การแต่งตัว และเราเป็นคนชอบทำพรีเซนเทชันอยู่แล้ว ก็ทำขึ้นมาเพื่ออธิบายไอเดียที่ต้องการให้เขาเข้าใจง่ายขึ้น โดยต้องเป็นแบบที่เราเป็นตัวเองได้มากที่สุด

โชคดีที่ Sean มีรูมเมทเป็นคนไทยด้วยเขาเลยช่วยบอกว่า อันนี้คือระนาดนะ คือหมอลำนะ โดยคนเนี้ยเป็น mixing engineer ที่ได้ Grammy Awards 2 ครั้ง แต่ไม่มีใครพูดถึงเลย เป็นตัวละครลับ เขาเก่งมาก ๆ แต่เขาไม่ได้ขายตัวเองขนาดนั้น และ Sean ก็ฟังจากคนนั้นก็ซึมซับ แล้วเอาไปทำงานต่อได้เลย

จะไม่ทำงาน electronic r&b แล้วหรอ

จริง ๆ มันยังมี element พวกนี้อยู่นะ แค่ตอนนี้เราเรียกมันว่าdystopian pop’ เพราะ message ของเนื้อเพลง และแนวดนตรีที่น่าจะเรียกว่าง่ายขึ้น เหมือนเป็นเพลงเพื่อชีวิตของคนยุคใหม่ก็ว่าได้ ถ้าทางด้านดนตรี จริง ๆ มันได้อิทธิพลซาวด์ฮิปฮอป อิเล็กทรอนิก ร็อก ป๊อป หลายแบบเลย จะมีแร็ปผสมเข้ามาบ้างด้วย

วิดิโอสองตัวก่อนหน้าที่ออกมาคืออะไร

เป็นไอเดียบ๊อง ๆ เราแค่อยากทำอะไรแปลก ๆ ศิลปินที่ styling เยอะ ๆ เขาจะมีคอนเทนต์ประหลาด ๆ อยู่แล้ว อย่างที่อิ๊กเคยเขียนเรื่อง Poppy มันสนุกนะ เราดูแล้วไม่เข้าใจหรอก แต่ดูแล้วก็เพลินดี น่าสนใจดี แล้วในโชว์เรามันเหมือนผสมศาสตร์การแสดงอยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าการทำ monologue video ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ออกมาจากเราได้ เพราะเพลงใหม่ ๆ เราก็ยังเน้นความสำคัญของเนื้อหา เลยลองเอาเนื้อเพลงมาพูดเลย Plastic World, Dystopia เหมือนเป็นทีเซอร์ก่อนออกเพลง ที่ดูประหลาด ๆ ดี

ทำไมถึงสนใจ performing arts

เวลาเราออกแบบการแสดง เราพยายามจะตอบโจทย์ให้คนได้ประสบการณ์หลาย ๆ แบบ ทั้งได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส ตั้งใจให้คนที่มาดูได้อะไรกลับไปให้เยอะที่สุด บางทีมีการลงไปกอดคนดู แบบที่ Longlay หรือที่ NOMA หรือ Wondefruit อยากให้เขาได้ปฏิสัมพันธ์กับเราในเชิงอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่มิติเดียว อย่างน้อยถ้าเขาไม่เคยฟังเพลงเราเลย เขาก็อาจจะพอได้ความประทับใจกลับไปได้ แล้วเราก็เป็นคนทำอะไรก็ตั้งใจมาก เลยอยากกระชากความสนใจจากคนดูให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างคอนเน็กชันกับกลุ่มคนที่เข้าใจเรา ลองคิดจากมุมคนดู ก็จะอยากเสพอะไรแบบนี้แหละ 

คอนเซ็ปต์ของภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปในงานชุดนี้

เราวางไว้เป็น 3 EP จะไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องตรีมูรติ หรือ 3 มหาเทพสูงสุดของฮินดู มีพระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ อันที่แล้วเราเป็นวิษณุ เป็นผู้พิทักษ์ มันก็จะดูเป็นการเทศน์ พูดถึงโลก ณ ตอนนั้น อันนี้เราเป็นพระศิวะ เป็นผู้ทำลาย เพลงที่ออกมามันเลยดูรุนแรงมาก เพราะการที่พระศิวะลงมาบนโลก เปิดตาที่สามเพื่อจะเผาทำลายเพราะมนุษย์มันแย่ ก็ยัง spiritual อยู่แต่จะดูแรงขึ้น และมีความกวน เสียดสี

อย่าง Plastic World เราเห็นคนเม้นว่าไม่ชอบออโต้จูน เราอยากบอกว่าคนที่เม้นแบบนั้นอะ เขาเข้าใจถูกเลย มันเป็นเพลงเดียวที่เราทำออกมาให้ bubblegum pop เพื่อเสียดสี pop culture จริง ๆ มันมาตั้งแต่เสียงอะ Sean บอกว่าเดี๋ยวไอจะทำเสียงยูให้เป็น Barbie girl ไปเลย เพราะมันคือ ‘plastic world’ มันมาตั้งแต่ชื่อเพลง และเพลงอื่นมันไม่มีแบบนี้แล้ว ก็ทำให้มันดู sarcastic ไปเลย ทั้งภาพ และเสียง

ทำไมสนใจเรื่องเทพ

เราว่ามันเป็นอะไรที่ไทยดี เพราะเราเป็นคนไทย แค่พยายามสื่อกลิ่นอายไทย ๆ ออกไป เรื่องนี้เป็นอะไรที่อยู่กับคนไทยมานาน มาทำเป็นเป็น aesthetic แล้วก็มาบิดให้เป็นเรื่องเสียดสีด้วย ออกตลกร้าย สไตล์ที่มีความเป็นเรา เช่น สมมติเราเห็นน้ำแดงแฟนต้าเราจะคิดถึงของเซ่นไหว้ แต่ประเทศอื่นเขาไม่คิดแบบนั้น

จริง ๆ เราศึกษาทุกศาสนาเพราะเราสงสัย ว่าทำไมเราต้องไหว้ ต้องเคร่ง ต้องนับถือ เราโตมาในโรงเรียนคริสเตียน แล้วก็เริ่มหาอ่านเยอะพวกฮินดู พุทธ จนการที่เราได้รู้จากทุกศาสนาว่าเขาสอนอะไร ก็ทำให้เราไม่เคร่งศาสนาอะไรเลย แล้วเราก็ได้ดูหนังเรื่อง ‘Zeitgeist’ ได้รู้ว่าทุกศาสนามันได้มาจากพระอาทิตย์ บอกว่ามนุษย์คิดมาตั้งแต่ตอนที่ยังเพิ่งวิวัฒนาการมาจากลิงว่าเราบูชาพระอาทิตย์ พระอาทิตย์เป็นสิ่งที่ให้ชีวิตแก่โลกนี้ แล้วพระอาทิตย์ก็เปลี่ยนไปเป็นพระเจ้าของแต่ละศาสนา อียิปต์ก็มีชื่อนึง คริสเตียนก็มีชื่อนึง

พอไม่เชื่ออะไรพวกนี้แล้วมีอะไรยึดเหนี่ยว

เชื่อตัวเอง เราไม่รู้ว่าเราสวดมนต์ เสียเวลาอ้อนวอนอะไรไป มันจะได้อะไรคืนมาหรือเปล่า สู้เอาเวลาไปลุยต่อข้างหน้า ไปพยายามกับชีวิตดีกว่า เราไม่รู้ว่านั่งรอขอพรแล้วมันจะเกิดขึ้นจริงไหม

Plastic World

พูดถึงทุนนิยม กับบริโภคนิยม การที่เราชอบซื้อของเพราะเราต้องมานั่งสร้างความประทับใจให้คนที่เราไม่ได้รู้จัก บางทีเราไม่ได้ต้องการของสิ่งนั้น การซื้อของเยอะ ๆ บางทีก็ไม่ดีต่อโลก พวก fast fashion แล้วสมัยนี้เทคโนโลยีทำให้พวกเราเสพไลก์ มันเป็นโลกปลอมมาก เมื่อเทียบกับสมัยที่เรายังไม่มี iPhone เรื่องพวกนี้ที่เราเห็นเป็นเรื่องโกหกทั้งหมด

คนที่มาฟังเพลง Plastic World อาจจะคิดว่า Pyra เป็นป๊อปใส ๆ เราเห็นคนที่ชอบ ก็ดีใจที่มีคนชอบ แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบ เราก็มองว่าเออ มันถูกของเขาเหมือนกัน อาจจะถูกจุดมากกว่าด้วยซ้ำ การที่คนชอบเพลงนี้เหมือนผลพลอยได้ แต่การที่คนรู้สึกรำคาญ คือใช่เลย (หัวเราะ)

Dystopia

เราปล่อยสองเพลงนี้เพราะเห็นเป็นหยินหยาง แต่ถ้าเพลงหลัง ๆ ออกไปก็อย่าตกใจเพราะมันจะตลกร้ายมาก ทุกเพลง เสียดสีสังคมมาก ๆ อย่าง Dystopia ก็ให้เขาเห็นว่าเรามีอีกด้านนึงเหมือนกัน เราคงไม่มีแสงสว่างถ้าไม่มีความมืด แต่คนก็ยังไม่ค่อยได้ฟังเพลงนี้เพราะยังไม่ได้โปรโมต ถ้ามาฟังก็อาจจะรู้ว่า Pyra ไม่ใช่แค่แบบ Plastic World เพราะ Dystopia คือตัวเราจริง ๆ อันนั้นล้อเลียนเฉย ๆ

เพลงนี้สำหรับเรามีหลายความหมาย คอนเซ็ปต์แรกพูดเรื่องความเศร้าเรา ยึดติดกับความเศร้ามากไปแล้วมันไม่ดี เราเอาสิ่งนี้มาเป็นอาวุธทำลายคนอื่น อีกคอนเซ็ปต์นึงคือเหมือนเพลงชาติของมนุษย์ชายขอบทั้งหมด ทุกในสังคมไม่มีใครเข้าใจเรา เอาแต่ว่าเรา

มีมุมมองกับโลกตอนนี้ยังไง

ทั้งอัลบั้มที่จะออกมา จะพูดเรื่องแย่ ๆ บนโลกที่เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ตอนแรกเราทำเพลงมาเพื่อที่จะให้คนมองย้อนกลับมาว่า ‘เฮ้ย Pyra เตือนเราแล้ว แต่เราไม่ฟัง’ เวลาเราดูหนังพวกวันสิ้นโลก มันชอบบอกว่า dystopia มันจะมาในอีก 200 ปีข้างหน้า มีรถบินได้ มีไฟนีออนทั้งเมือง ก็รู้สึกว่า พอทำเพลงเสร็จ เข้า 2020 มันมาพอดีเลย อะไรภัยพิบัติต่าง ๆ เพลงเราดูทันเหตุการณ์มาก ๆ แต่หารู้ไม่ จริง ๆ เราอยู่ใน dystopia มา 50 กว่าปีได้แล้วมั้ง ทั้งโลกมันเพี้ยนไปหมดแล้ว

อยากให้โลกเป็นยังไง

เราอยากให้โลกสงบสุข อยากให้ทุกคนเท่ากัน เราคงต้องโปรโมตแนวคิดของยูโทเปียต่อไป เหมือน Björk ทำอัลบั้มชื่อ Utopia เราเข้าใจว่าเขารู้แหละ ว่าเราไม่มีทางไปถึงยูโทเปียได้ แต่การที่พูดให้มันดูเกินจริงไปก่อน มันก็ทำให้คนรู้สึกอยากไปถึงตรงนั้น ถ้าเราพูดแค่เรื่องความเท่าเทียมกัน มันอาจจะไม่ได้มีแรงผลักให้ได้เกิดขึ้นจริง เพราะมนุษย์ชีวิตดียังไงก็ยังสรรหาปัญหาให้ตัวเองอยู่ดี

ตอนโชว์แล้วแจกกระดาษ ก็เป็นกิมมิกในโชว์ เราพับกระดาษแบบญี่ปุ่น มันเรียกว่า ‘purification wand’ เวลาพระใช้ไล่สิ่งไม่ดี ใช้ปัดรังควาน ในกระดาษนั้นเราก็เขียนว่า ‘May you thrive to be a better being’ มันเป็นชื่ออัลบั้มด้วยแล้วเราก็อยากให้โลกเราเป็นอิสระขึ้นด้วย

Pyra

มีคนจัด Pyra ไปอยู่กับ Björk, Poppy, FKA Twigs แล้วรู้สึกยังไง

ไม่ใกล้เลย ถ้าบอกว่าฟัง Plastic World แล้วเหมือนก็ไม่ใช่แล้ว Björk เขาทำ avant garde มาก ๆ เราแค่ป๊อปอะ แต่รู้สึกว่าความที่เขาดังในสาย aesthetic แรง ๆ มันทำให้คนโยงไป มนุษย์แค่ต้องหาอะไรโยง เราว่าลุคเราตอนนี้ใกล้ Kyary Pamyu Pamyu มากกว่าอีก ทำไมไม่มีใครโยงไปตรงนั้นว้า แล้วเพลงก็เป็น bubblegum pop เหมือนกันด้วย แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าโยงเข้า Björk ก็อาร์ตดี ถือเป็นคำชมสำหรับเรา

เดี๋ยวนี้ visual เป็นส่วนสำคัญ จะขายแต่เพลงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

เราชอบดีไซน์ ชอบภาพ เหมือนสื่อที่เราเสพก็เป็น i-D, Dazed ไม่ได้รู้สึกว่าผิดปกติอะไร ก็เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว ก็เป็นตัวเองดี แต่เข้าใจว่ามันประสบความสำเร็จได้ยาก เราเห็นภาพตั้งแต่อัลบั้มก่อนว่ามันต้องใช้เงินเยอะกว่าจะทำให้ถึงจุดนี้ มันเลยไม่ค่อยสุดเท่าไหร่ พอมาตอนนี้มีทุกอย่างพร้อมแล้วก็เลยไปสุดได้

ได้ใครมาทำมิวสิกวิดิโอให้

ตอนแรก เอม ถาวรสิริ แนะนำสอง (Song Sasawat) ให้ บอกว่าน่าจะเหมาะ เราก็แบบ ใครวะ ไม่อยากคุย กลัวเขาด่า (หัวเราะ) จนเมย์ Chucheewa โทรมาอีกรอบ บอกว่ามึง กูขอร้อง เอาสองไปทำ mv ให้มึงเหอะแล้วให้เมย์ติดต่อให้ คือตอนเราดู reel เขาแล้วเราไม่กล้าจ้างเขา มันดูเฉพาะทางมาก จนพอเจอสอง สองก็บอกว่า ใครดู reel เราก็ไม่อยากจ้างเราทั้งนั้นอะ (หัวเราะ) แต่ความจริงสองทำได้ทุกแนว แค่บางทีพอทำงาน art pop ก็โดนจ้างทำแต่ art pop ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน แต่ก็ตอบโจทย์นะ สองเป็นอีกคนนึงที่เหมือนรู้จักกันมาเป็นสิบปีทั้งที่เจอกันแค่สองวัน เหมือนเจอตัวเอง 

Pyra

แผนโปรโมต

เราจะปล่อยซิงเกิ้ลไปเรื่อย ๆ ปีนี้คงมีอีก 3 เพลง ก็แทบจะทุกเดือนที่จะปล่อย คงดูกระแสด้วยมั้งว่าเมื่อไหร่เหมาะที่จะปล่อย ดู Rihanna เลื่อนมาไม่รู้ตั้งกี่ปี เราก็ต้องดูตอนที่พร้อม มาสเตอร์เสร็จไปแล้ว 20 เพลง ตอนแรกว่าจะหั่นแยกออกเป็นชุด ๆ แต่ทีมบอกไม่ต้องหั่นหรอก เราก็ไม่อยากหั่น เพราะทั้งหมดมาทำมาไว้สำหรับอยู่ด้วยกัน น่าจะปลายปีหน้าได้ฟัง แล้วเดี๋ยวจะมีร้องกับนักร้องเกาหลีชื่อ Ocean in the Blue เป็น K-r&b จะทำเป็นอะคูสติกเวอร์ชันให้ Plastic World

แล้วก็ Lab XR เป็น extended reality เหมือน vr กับ green screen แต่มันสามารถเล่นสดได้โดยไม่ต้องมี green screen แล้วก็มีงาน 3D ป๊อปลงมาได้ ทุกอย่างจะ real time หมด ซึ่งเขาจะมีโชว์แรกเขาทำกับเรา วันที่ 15 สิงหา มี showcase 2 เพลง น่าจะเป็นโชว์ XR แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกเดี๋ยวจะมีคอนเทนต์เพี้ยน ๆ เตรียมไว้เยอะ อย่างร้อง Plastic World ในโลงศพ เดี๋ยวร้อง Dystopia ตอนสักมือ ก็จะทำเป็น weird performance ไป

ร้องเพลงในโลงศพ ไม่กลัวหรอ

ไม่กลัว เราไม่ religious แล้วก็ไม่เชื่ออะไรเลยนอกจากตัวเอง ก็เลยทำให้รู้สึกว่าการที่จะสื่ออะไรตรงนี้ก็ดูเป็นอะไรที่ใช่ดีถ้าจะทำแบบนี้ เหมือนอัลบั้มนี้มาเพื่อที่จะล้มล้างทุกความเชื่อ ล้มล้างทุกมายาคติที่มีความเป็นไปได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ก็เลยอยากเป็นหนึ่งคนที่นำเสนอตรงนี้ออกมา เหมือนเราเห็น Ted Talk ของ อาจารย์พิเชษฐ กลั่นชื่น เขาทำโขนประยุกต์ เมื่อวานมันเป็นตัวอย่าง เขาบอกให้ใครก็ได้ถอดรองเท้าแล้วช่วยโยนขึ้นมาบนเวทีให้หน่อย แล้วอาจารย์ก็เอารองเท้ามาวางบนหัว เขาถามว่า มันผิดตรงไหนวะ ห้ามเอารองเท้ามาไว้บนหัวเนี่ย มันก็เป็นมโนคติหนึ่งเหมือนกัน ทำไมไม่ให้ใส่เสื้อมือสอง จะมีผีตามมาหรอ คิดแบบนี้มันทำให้โลกร้อนเว่ย ถ้าจะซื้อของใหม่อย่างเดียวเพราะกลัวผีตาม ความคิดแบบนี้มันทำให้โลกของเราแย่ลง เราว่าอาจารย์เขาเป็นคนที่ดื้อคนนึง แต่เขาก็ทำอะไรมาเยอะ แล้วเขาก็ไม่สนใจใครด้วย จนเขาเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับประมาณนึง ซึ่งเราว่าเราก็คล้าย ๆ เขาแหละ (หัวเราะ)

ได้ข่าวว่าเพิ่งไปสักมา ลายนี้มีความหมายอะไรไหม

ไม่มีนะ แค่เป็นคนชอบเฮนน่ามากอยู่แล้ และรู้สึกว่าตอนนี้เรามีอิสระพอที่จะทำอะไรที่ยังไม่เคยได้ทำ เลยบอกแทนไท (ช่างสัก)ให้เอาลายที่เป็น signature เค้าเลย และก็เอาอะไรที่ชอบมาผสม ๆ กัน อย่างดอกบัวก็เป็นสัญลักษณ์ที่เราชอบและใช้มาตลอดอยู่แล้ว เพิ่มความ futuristic แบบ Evangelion ไปอีกหน่อย (หัวเราะ)

Pyra

ฝากผลงาน

ฝากเข้าใจว่า Plastic World กับ Dystopia มันต้องฟังด้วยกัน ฝากเข้าใจว่าทำมาเพื่อเสียดสี Plastic World จะเป็นเพลงเดียวที่ bubblegum อย่าคาดหวังว่าเพลงอื่นจะเป็นแบบนั้น มีเท่านี้แหละความป๊อปที่ให้ได้

อ่านต่อ

Pyra ทั้งวงการต้องจับตาดูเธอคนนี้

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้